อายุ 15 ก็มาเป็นสาวรำวง แต่สำหรับศิลปินไอดอลเกาหลี อายุน้อยกว่าสาวรำวง ก็เริ่มเดบิวต์แล้ว
นอกจากเพลงฮิต ท่าเต้นฮอต ไอดอลเจน 4 ที่มาแรง อีกประเด็นที่พูดถึงในวงการ K-Pop ในช่วงปีที่ผ่านมาคงไม่พ้นเรื่องกระแสไอดอลผู้เยาว์ ที่เดบิวต์ด้วยอายุที่น้อยลง มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในวงการ จนเรียกได้ว่าอายุยืนพื้นของเหล่ามักเน่ของวงกลายเป็น 14 หรือ 15 ปี ที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยมัธยมต้นไปแล้ว
ซึ่งประเด็นไอดอลผู้เยาว์นี้ ไม่ใช่เพียงแค่พวกเขายังเป็นวัยรุ่นแรกเริ่ม แต่ยังตามมาด้วยเรื่องอื่นๆ อย่างการแสดงออกทางเพศที่อาจไม่สมควร การแต่งกาย การที่ไอดอลต้องโดดเรียน มาฝึกซ้อม ทำงาน และอาจไม่ได้เติบโตอย่างสมวัย ที่ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เริ่มแสดงความกังวลว่าจะส่งผลเสียต่อตัวไอดอล และวงการ K-Pop ที่ต้องหาทางป้องกันก่อนจะสายเกินแก้ด้วย
13 ปี 7 เดือน สถิติไอดอลที่อายุน้อยที่สุด
จริงๆ แล้ว ไอดอลเคป็อปที่เดบิวต์ตั้งแต่อายุยังน้อยไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการ K-Pop เลย เพราะศิลปินเดี่ยวตัวแม่อย่างโบอา ก็เดบิวต์ในปี 2000 ด้วยอายุเพียง 13 ปี หรือแทมินจากวงบอยแบนด์ SHINee ก็เดบิวต์ด้วยอายุเพียง 14 ปี ในปี 2008 และตกเหล่าๆ พี่สาวไปด้วยเพลง 누난 너무 예뻐 (Replay) ไป แต่ในตอนนั้นเองก็ถือเป็นเรื่องตกใจของสาธารณชนที่ไอดอล เดบิวต์ด้วยอายุที่เด็กขนาดนี้
แต่ในช่วงปี 2021-2022 ที่ผ่าน กลับเป็นปีที่ไอดอลเดบิวต์ด้วยอายุที่น้อยลง จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และในปี 2023 นี้ มีท่าทีว่าจะน้อยลงเรื่อยๆ อีกด้วย อย่างเช่น อีซอ สมาชิกล่าสุดของเกิร์ลกรุ๊ป IVE ที่เกิดในปี 2007 หรือ 14 ปีตอนที่เดบิวต์ หรือ ฮเยอิน วง NewJeans ที่อายุเพียง 14 ปี เช่นกัน และทำให้อายุเฉลี่ยของสมาชิกวง New Jeans คือเพียงแค่ 16 ปี 6 เดือน จนได้รับฉายาจากแฟนคลับไทยว่า แก๊งนมผงด้วย
ในปีที่ผ่านมานั้นเอง ยังมีการทำลายสถิติไอดอลที่อายุน้อยที่สุดในตอนเดบิวต์ ซึ่งตอนนี้อายุที่น้อยที่สุดคือ 13 ปี 7 เดือนของ ฮาอึน สมาชิกวง Lapillus
รวมไปถึงข่าวการเดบิวต์เกิร์ลกรุ๊ปน้องใหม่ Baby Monster ของค่าย YG Entertainment ที่ถึงแม้จะยังไม่มีรายละเอียดทางการออกมานอกจากชื่อวง และคลิปวิดีโอเปิดตัว แต่ชาวเน็ตก็ได้ตามหาสมาชิกในวง และพบว่าหนึ่งในไลน์อัป คือเด็กสาวชาวไทย Chikita หรือ แคนนี่—พรเดชาพิพัฒน์ น้องสาวของคอปเปอร์ The Star idol ที่เกิดวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2009 หรือมีอายุเพียง 13 ปีในตอนนี้เท่านั้น
แน่นอนว่าเมื่อมีข่าวออกมานั้น กระแสเรื่องอายุที่น้อยลงของไอดอลที่เดบิวต์ก็ถูกพูดถึงอีกครั้ง โดยความเห็นส่วนหนึ่งพูดถึงสิ่งที่แตกต่างจากสมัยก่อนคือ แม้ว่าการที่ไอดอลอายุน้อยเดบิวต์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าสมาชิกทั้งวงมีอายุที่เด็กมากๆ อย่าง 13-17 ปี หรือเรียกว่าเด็กมากทั้งวงไปแล้ว
ประเด็นเรื่องเพศล่อแหลมที่มักมากับการไอดอลรุ่นเยาว์
เมื่อมีประเด็นเหล่านี้ออกมา หลายคนมักจะพูดถึงการมีกฎหมายคุ้มครองไอดอลที่อายุน้อย ซึ่งจริงๆ แล้ว เกาหลีใต้ผ่านกฎหมายนี้ ตั้งแต่ปี 2014 โดยกฎหมายนี้ ห้ามไม่ให้นักร้อง ไอดอล และนักแสดงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมีส่วนร่วมในการแสดง และการทำงานการผลิตข้ามคืน หรือจากการถูกบังคับให้แสดงภาพทางเพศที่ไม่เหมาะสม โดยคนบันเทิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการเรียนรู้ พักผ่อน และนอนหลับ แม้ว่าจะมีข้อยกเว้นสำหรับงานบางอย่างที่ต้องเดินทางไกลก็ตาม
ชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีต้องไม่เกิน 35 ชั่วโมง ในขณะที่ผู้เยาว์อายุมากกว่า 15 ปี (อายุ 15-18 ปี) จำกัดไว้ที่ 40 ชั่วโมง ทั้งผู้เยาว์ไม่สามารถทำงานได้ระหว่างเวลา 4 ทุ่ม ถึง 6 โมงเช้าได้ เว้นแต่ผู้ปกครองจะยินยอม และนอกจากนี้ การบังคับให้ผู้เยาว์สวมเครื่องแต่งกายบนเวทีที่เปิดเผยหรือเต้นท่าเต้นที่ส่อไปในทางเพศ ก็ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายเช่นกัน
แต่ถึงอย่างนั้นในปีที่ผ่านมา แม้จะมีกฎหมายที่พยายามคุ้มครอง สิ่งที่ตามมากับกระแสไอดอลอายุน้อยที่เดบิวต์เร็ว คือประเด็นเรื่องเพศในการแสดงของพวกเขา โดยประเด็นนี้ถูกพูดถึงขึ้นมาจากเพลง Cookie ของวง NewJeans ที่ผู้ฟังทั้งชาวเกาหลี และต่างชาติมองว่า เนื้อเพลงสามารถตีความได้ว่าเป็นการเสียดสีทางเพศ โดยคำว่าคุกกี้ ที่ในเนื้อเพลงมีการเชิญชวนให้มาลองชิม ลองกิน อาจจะแปลได้ถึงส่วนลับแทนคุกกี้ก็ได้ ซึ่งเมื่อเนื้อเพลงที่ดูส่อเสียดนี้ ถูกร้องโดยสมาชิกแก๊งนมผง ที่มีอายุระหว่าง 14-18 ปี และทุกคนยังไม่บรรลุนิติภาวะในเกาหลี ทำให้มีการวิจารณ์โปรดิวเซอร์ถึงการแต่งเพลงนี้ให้กับผู้เยาว์ด้วย
ยกตัวอย่างความคิดเห็นบางส่วนใต้วิดีโอเพลง Cookie ของ NewJeans ต่อเพลงนี้ เช่น “ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะมอบเพลงที่เหมาะกับวัยให้พวกเขา” และ “พวกเขาน่าจะรอสัก 2-3 ปีเพื่อมอบเพลงที่มีเนื้อเพลงเหล่านี้ให้พวกเขา”
นอกจากเพลงแล้ว โปรดิวเซอร์ของ NewJeans ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากมิวสิกวิดีโอเพลง Attention ที่ให้น้องๆ ที่ยังเป็นผู้เยาว์แต่งตัวที่ดูเหมือนจะล่อแหลมเกินไปเกินกว่าวัยของพวกเขาด้วย
จริงๆ แล้วประเด็นเรื่องเพศ และไอดอลผู้เยาว์ ก็ไม่ได้เพิ่งเกิดกับ NewJeans เท่านั้น ดร.คิม เยรัน ศาสตราจารย์คณะสื่อและการสื่อสารแห่งมหาวิทยาลัยกวางอุน ผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมและเพศศึกษา กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงปี 1970s ถึงปัจจุบัน ตลอดประวัติศาสตร์วัฒนธรรมป๊อปของเกาหลีมักมีเซ็นส์ของความกำกวมต่อความปรารถนาในเด็กสาวไอดอล “ภาพที่ชัดเจนของวิธีการแสดงของเด็กสาวเหล่านั้นเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และเด็กผู้ชายก็ถูกทำให้เป็นวัตถุในรูปแบบต่างๆ ตามทัศนคติแบบแผนทางเพศ” เธอกล่าว
เธอเสริมว่าสิ่งที่แน่นอนก็คือ มันมีประวัติความเป็นมาที่ดึงดูดทางกาย และจิตใต้สำนึกทางเพศของวัยรุ่น “ความจริงแล้วการยกย่องวัยรุ่นเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในวัฒนธรรมป๊อปของประเทศอื่นๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจในกรณีของเกาหลีก็คือ ความรู้สึกดังกล่าวนั้นอยู่ในวัฒนธรรมที่เราเรียกว่า K-pop และได้รับการสนับสนุนจากระดับชาติ”
ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญยังเน้นย้ำว่าการวิพากษ์วิจารณ์ต่อผู้เยาว์ทางเพศไม่ได้หมายความว่าวัยรุ่นไม่ควรแสดงออกเกี่ยวกับเรื่องเพศ “แต่ปัญหาของวัยรุ่น K-Pop ที่เร้าอารมณ์ทางเพศไม่ใช่ว่าพวกเขาถูกมองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตทางเพศ แต่มันคือเรื่องเพศของวัยรุ่นที่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างผลกำไร ในขณะที่ชีวิตจริง สังคมเกาหลีแบบอนุรักษ์นิยมยังคงกดขี่วัยรุ่นและเพิกเฉยต่อความเป็นจริงที่สำคัญเช่นเรื่องเพศ ความรุนแรงและการแสวงประโยชน์จากพวกเขา”
ได้เรียน ได้เล่น ได้เติบโตกับเพื่อน สิ่งที่ไอดอลรุ่นเยาว์อาจขาดหาย
พูดถึงความทรงจำวัยรุ่น หลายๆ คนคงนึกถึงสมัยเรียน ประสบการณ์ในห้องเรียน โดนครูดุ แอบแหกกฎกับเพื่อน หรือการนั่งอ่านหนังสือ ติวสอบกับเพื่อนๆ หรือการได้ไปทัศนศึกษา ท่องเที่ยวกับเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน แต่การเป็นไอดอลตั้งแต่วัยเยาว์อาจส่งผลให้ช่วงชีวิตเหล่านี้หายไป ส่งผลต่อการเติบโต และอนาคตได้
ฮา แจคอน นักวิจารณ์วัฒนธรรมป๊อปกล่าวว่า “ไอดอลที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นกำลังอยู่ในช่วงเติบโต ซึ่งในช่วงนั้นพวกเขาควรจะเข้าสังคมผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่โรงเรียน และสนุกกับการสร้างความทรงจำในวัยเด็ก การเดบิวต์ตั้งแต่อายุยังน้อยมักจะหมายความว่าพวกเขาพลาดประสบการณ์แบบนั้นไป ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในฐานะคนดัง พวกเขาจะถูกทิ้งให้มีตัวเลือกอาชีพที่จำกัด เพราะพวกเขามักจะพลาดการศึกษาส่วนใหญ่เนื่องจากกิจกรรมของไอดอล”
เช่นเดียวกับ ลิม มยองโฮ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยดันกุก ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นกล่าวว่า เมื่อวัยรุ่นกลายเป็นไอดอล K-Pop โดยทั่วไปแล้วพวกเขาจะเข้ารับการฝึกกลุ่มแยก “ความโดดเดี่ยว และการขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมีผลผูกพันต่อพัฒนาการทางจิตใจของเด็กและกลไกการเผชิญปัญหาในภายหลังเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แม้ว่าพวกเขาจะก้าวขึ้นเป็นดารา แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่พวกเขาจะพบว่าเป็นการยากที่จะจัดการกับอารมณ์หรือปรับตัวเมื่อต้องเผชิญกับความเครียด พวกเขาอาจได้รับผลกระทบอย่างมากจากความคิดเห็นที่แสดงความเกลียดชัง จากนั้นจึงไม่สามารถรับมือได้และกลายเป็นพฤติกรรมทำลายตนเอง ซึ่งเราเห็นคนดังหลายคนทำ การกีดกันทางสังคมเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าแค่การไม่ได้เข้าเรียน”
ถึงอย่างนั้น ฮา แจคอนก็มองว่า การเดบิวต์ตั้งแต่วัยเยาว์อาจจะมองในแง่ดีได้ว่า พวกเขาได้ทำในสิ่งที่พวกเขารักได้ตั้งแต่อายุยังน้อย และบางคนแม้จะอายุ 13-14 ปี แต่ก็มีทักษะ ความสามารถพอๆ กับสมาชิกที่อายุมากกว่า รวมถึง
กรณีของวงบอยแบนด์ แฟนๆ หลายคนยินดีที่สมาชิกหนุ่มสาวชาวเกาหลีมีเวลาเหลือเฟือในการสร้างอาชีพก่อนที่จะต้องเกณฑ์ทหารในช่วงปลายอายุ 20 ด้วย
แต่ผู้เชี่ยวชาญยังเห็นตรงกันว่า ความเด็กเกินไปของไอดอล ทำให้พวกเขาขาดประสบการณ์ในการเข้าถึงเพลง หรือเข้าใจเนื้อเพลงด้วย โดย อี กยูแท็ก ศาสตราจารย์ด้านดนตรีป๊อปและสื่อศึกษาที่ George Mason University Korea มองว่า ไอดอลที่เป็นเยาวรุ่นเกินไป ไม่สามารถสื่อสาร หรือส่งอารมณ์ในเพลงบางประเภทได้ เพราะพวกเขาเด็กเกินไป
“สิ่งที่ฉันพบว่าน่าหนักใจคือเมื่อไอดอลในช่วงวัยรุ่นตอนต้นแสดงตัวตนที่พวกเขายังเด็กเกินไปที่จะเข้าใจ เมื่อฉันเห็นดาราอายุน้อยร้องเพลงที่มีอารมณ์รุนแรง ฉันสงสัยว่าพวกเขาเข้าใจสิ่งที่พวกเขาร้องจริงๆ หรือไม่ เพราะการแสดงเพลงของพวกเขาขาดความลึก”
ไม่เพียงแค่การเดบิวต์เป็นไอดอล แต่เราน่าจะได้เห็นรายการเซอร์ไวเวิลออดิชั่นมากมายของเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะ Produce 101, Girl Planet 999 หรืออีกมากมาย โดยอียังเล่าว่า เหตุผลหนึ่งมาจากการแข่งขันรายการเพลงทร็อตหรือแนวเพลงลูกทุ่งของเกาหลี ที่มีนักร้องเด็กๆ จำนวนมากเข้าแข่งขัน และได้รับความนิยม เนื่องจากแนวเพลงทร็อตเป็นเพลงที่ผู้สูงวัยมักติดตาม การเห็นเด็กๆ แสดงในรายการแบบนี้จึงเหมือนกับการดูการแสดงความสามารถที่น่ารักและไม่อึดอัดที่จะดู แต่เรื่องนี้กลับลามมาถึงวงการเพลงเคป๊อป ที่ผู้เข้าแข่งขันรายการเซอร์ไวเวิลออดิชั่น ค้นหาไอดอลอายุน้อยลงเรื่อยๆ
“ปัญหาคือ ในขณะที่รายการเพลงทร็อต คาดหวังให้ผู้เข้าแข่งขันเด็ก แสดงเหมือนพวกเขาเป็นเด็ก แต่การออดิชั่นไอดอลยังกำหนดให้แม้แต่เด็กที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ต้องทำตัวเหมือนศิลปินเคป๊อปมืออาชีพ ผมไม่แน่ใจว่ามันเหมาะสมแค่ไหนที่เด็กจะทำตัวเป็นผู้ใหญ่เกินไปสำหรับอายุของพวกเขา”
รายการเหล่านี้มุ่งเน้นผู้เข้าแข่งขันที่เป็นเด็กฝึกหัด นำเสนอแม้แต่ความหวังให้เด็กๆ ที่อายุน้อยในรายการโทรทัศน์ อย่างที่เราเห็นคือ จาง วอนยองที่สมาชิกของ IVE ที่เมื่ออายุ 13 ปี ได้ปรากฏตัวในรายการออดิชั่นของ Mnet ‘Produce 48’ ในปี 2018 เมื่ออายุ 14 ปี ได้เดบิวต์ในฐานะสมาชิกของเกิร์ลกรุ๊ป IZ*ONE จากการเป็นผู้ชนะของรายการ หรืออย่างรายการ ‘My Teenage Girl’ ของช่อง MBC ก็มีหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันที่อายุเพียง 11 ปีเท่านั้น
โดยหนึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ เมื่อหนึ่งในผู้ชนะรายการ My Teenage Girl ที่มีเพียงอายุ 14 ปี ออกรายการเรียลลิตี้ หนึ่งในสมาชิกได้ดื่มสูตรสำหรับทารกเพื่อเพิ่มความสูงอีก เพราะเธอยังอยู่ในวัยเติบโต และเมื่อรายการออกฉาย ก็ได้รับเสียงวิจารณ์ และคอมเมนต์มากมายว่าเป็นความคิดที่แปลกประหลาดที่ให้เธอดื่มนมสูตรทารกด้วย
ลิม มยองโฮ ยังมองว่า รายการเหล่านี้ ที่เด็กๆ ต้องเข้าแข่งขันตั้งแต่เด็กส่งผลต่อการเติบโต และจิตใจของวัยรุ่นได้ โดยเฉพาะการที่ถูกวิจารณ์จากเมนเทอร์ในรายการ หรือกระทั่งการปล่อยคลิปบนอินเทอร์เน็ต ที่กลายเป็นดิจิทัลฟุตปรินต์ ซึ่งคำวิจารณ์ คอมเมนต์ต่างๆ อาจสร้างปม และความเจ็บปวดให้กับเด็กๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
“มันเป็นรูปแบบหนึ่งของการล่วงละเมิดทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้ชื่อธุรกิจการแสดง ผู้เข้าแข่งขันที่เป็นเด็กเหล่านั้นไม่ได้รับการคุ้มครองเลย เด็กไม่ควรได้รับอนุญาตให้ผ่านประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจเช่นนี้ ควรมีกฎหมาย หรือการจำกัดอายุของผู้เข้าแข่งขันรายการออดิชั่นที่สูงขึ้น”
พวกเขาต่างมองว่า แนวโน้มการเดบิวต์ของผู้เยาว์ที่อายุน้อยลงเรื่อยคงจะไม่หายไป แต่วงการบันเทิงเกาหลีควรต้องวางแผนรับมือมากขึ้น
“จากกระแสปัจจุบัน ฉันคิดว่าอายุเดบิวต์ของไอดอลเคป๊อปจะยังคงเด็กลงเรื่อยๆ” ลิมกล่าว “หากเราไม่สามารถทำอะไรได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือค่ายต้นสังกัดควรเตรียมระบบสนับสนุนสำหรับการเข้าสังคม และสุขภาพจิตของศิลปินรุ่นใหม่ มันจำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของไอดอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาว”
ด้านฮาเอง มองว่า “หากเอเจนซี่จะให้ไอดอลสาวนำเสนอเพลง หรือท่าทางต่างๆ ในแบบที่ผู้ใหญ่เกินไปสำหรับอายุของพวกเขา ผู้บริโภคควรจะสามารถแยกแยะและวิจารณ์ว่าอะไรที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ตัวไอดอลเอง รวมถึงพ่อแม่และต้นสังกัดของพวกเขา จำเป็นต้องคิดอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาจะทำหากอาชีพของพวกเขาไม่รุ่ง นั่นเป็นเหตุผลที่พวกเขาไม่ควรละเลยการศึกษา แม้ว่าพวกเขาจะฝันถึงการเป็นดารา K-Pop ตั้งแต่อายุยังน้อยก็ตาม”
อ้างอิงจาก