อกหักแล้วทำตัวยุ่งเข้าไว้ เสียใจเมื่อไรให้หาอะไรทำเยอะๆ
บางครั้งเวลาที่เราหยุดความฟุ้งซ่านไม่ไหว เลยต้องหาอะไรทำเพื่อหันความสนใจไปยังเรื่องอื่น แต่พอทำอย่างแรกเสร็จแล้ว บางคนกลับเริ่มหาสิ่งใหม่ทำไปเรื่อยๆ จนตารางแน่นเอี๊ยดไม่มีเวลาหายใจ หักโหมแค่ไหนก็ไม่ยอมให้ตัวเองว่าง เพราะ ‘กลัว’ การอยู่เฉยๆ โดยเฉพาะการอยู่เงียบๆ คนเดียว
ถ้าความยุ่งเหล่านี้เริ่มมีข้อดีน้อยกว่าข้อเสีย นั่นอาจไม่ใช่การหยุดฟุ้งซ่านหรือถอยมาตั้งหลักก่อนเผชิญกับปัญหา แต่อาจหมายความว่า เรากำลังวิ่งหนีปัญหาและเลี่ยงการเผชิญความรู้สึกของตัวเองอยู่
ทำไมเรารู้สึกดีขึ้นเวลาทำตัวยุ่งๆ ?
‘เช้าประชุม บ่ายทำงานออฟฟิศ เย็นทำงานอีกชิ้น ดึกไปเจอเพื่อนต่อ เสาร์-อาทิตย์ไม่เคยมีวันว่าง’ เหตุผลที่บางคนมีตารางแน่นเอี๊ยดแบบนี้ อาจเพราะความจำเป็นต้องรับผิดชอบหลายๆ อย่างในชีวิต แต่บางคนกลับเต็มใจที่จะใช้ชีวิตยุ่งๆ ซึ่งมีงานวิจัยที่ชี้ว่าระดับความยุ่งเชื่อมโยงกับการมองคุณค่าในตัวเอง เพราะการทำนู่นทำนี่ตลอดเวลาให้ความรู้สึกว่าเราเป็นที่ต้องการ มีความสำคัญ หรือบางคนอาจจะใช้เพื่อเยียวยาตัวเอง เห็นได้จากข้อมูลใน The National Institute of Mental Health (NIMH) ที่แนะนำว่า การทำตัวเองให้แอ็กทีฟเป็นหนึ่งในวิธีที่เฮลตี้สำหรับการดูแลใจหลังผ่านสถานการณ์เลวร้าย เพราะช่วยดึงเราออกจากความคิดลบๆ แล้วแทนที่ด้วยการทำบางอย่างที่ให้ผลลัพธ์เชิงบวก ร่างกายจึงหลั่งสารแห่งความสุขอย่างเอ็นโดรฟินออกมา ทำให้เรารู้สึกว่ามีพลัง มีความมั่นใจมากขึ้น เหมือนได้กลับมา ‘ตั้งหลัก’ ก่อนกลับไปเผชิญกับปัญหา
นอกจากนี้ การศึกษาในปี 2016 ยังพบว่าการทำตัวให้ยุ่งๆ จะส่งผลดีก็ต่อเมื่อยุ่งแล้ว ‘โปรดักทีฟ’ หรือมีผลลัพธ์ที่ดีออกมาด้วย ไม่ใช่การยุ่งเพื่อให้ ‘มีอะไรทำ’ ไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย หรือยุ่งมากเกินไปจน work ไร้ balance เพราะแบบนั้นจะทำให้เราเริ่มรู้สึกเหมือนควบคุมอะไรในชีวิตไม่ได้ ร่างกายไม่ได้พักผ่อน ตามมาด้วยความรู้สึกเหนื่อย หมดไฟ นำไปสู่ความเครียดเรื้อรังได้ ทั้งยังเป็นการกดความรู้สึกแย่ๆ ของตัวเองเอาไว้ โดยในเว็บไซต์ millennial therapy เปรียบเทียบว่า การทำตัวยุ่งเพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความรู้สึก ก็เหมือนกับการเขย่าขวดโซดาไปเรื่อยๆ เพื่อสะสมแรงดัน และถ้าเปิดขวดออกมาเมื่อไร น้ำในขวดคงทะลักออกมาจนเหมือนลาวาระเบิดเลยล่ะ
เส้นบางๆ ระหว่าง หยุดฟุ้งซ่าน กับ หนีความรู้สึกตัวเอง
อย่างที่บอกว่าความแตกต่างนั้นมีเพียงเส้นบางๆ กั้นอยู่ คือเรายุ่งแล้วรู้สึกดีขึ้น หรือยุ่งแบบสุดโต่งจนสุขภาพกายและใจเริ่มแย่ลง แต่ถ้ายังไม่แน่ใจอาจจะลองสังเกตตัวเองผ่านสัญญาณต่อไปนี้
- มักจะหาอะไรทำทันทีที่มีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้น และไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองรับรู้ว่ากำลังรู้สึกอะไรอยู่
- ตารางแน่นเอี๊ยดโดยไม่จำเป็น และแน่นชนิดที่ไม่ได้พักผ่อน ไม่ได้ดูแลตัวเอง แม้จะรู้สึกหมดไฟหรือเหนื่อยแค่ไหน แต่กลับรู้สึกว่า ‘การอยู่เฉยๆ’ เป็นเรื่องยากกว่า
- รู้สึกว่าตัวเองหงุดหงิดง่าย ใจร้อน และวิตกกังวลมากกว่าปกติ
- คนรอบข้างเริ่มทักว่าช่วงนี้ดูทำนู่นทำนี่เยอะเกินไปจนน่าเป็นห่วง หรือเดี๋ยวนี้ดูรีบๆ วุ่นๆ มากกว่าปกตินะ เพราะบางทีเราอาจไม่ทันได้สังเกตความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง
- พอลองมองย้อนไปแล้วพบว่าเราไม่ได้คุยกับตัวเองนานมาก หรือจำครั้งสุดท้ายที่ถามตัวเองว่า ‘โอเคไหม รู้สึกยังไงบ้าง’ ไม่ได้แล้ว
- รู้สึกอยากอยู่กับผู้คน อยู่ท่ามกลางสังคมตลอดเวลา ถ้ามองเผินๆ อาจจะเหมือน extrovert แต่ความต่างคือคนที่ทำตัวยุ่งเพื่อเลี่ยงความรู้สึก มักจะมีปัญหาในการอยู่คนเดียวจนถึงขั้นกลัวใช้เวลากับตัวเอง
- รู้สึกเหมือนรีบตลอดเวลา จนเริ่มไม่สังเกตรายละเอียดรอบข้าง เช่น จำไม่ได้ว่ามื้อเช้ากินอะไร รสชาติแบบไหน จำรอยยิ้มของคนที่บ้านก่อนออกมาทำงานไม่ได้ เรียกง่ายๆ ว่าไม่สามารถใช้ชีวิตให้ช้าลงเพื่อดื่มด่ำกับปัจจุบันได้
วิ่งช้าลงสักหน่อย แล้วค่อยๆ สังเกตความรู้สึก
ถ้ากำลังรู้สึกว่าความยุ่งนี้สุดโต่งจนเกินไปโดยไม่จำเป็น หรือพบว่าเรากำลังทำสิ่งต่างๆ เพื่อวิ่งหนีความรู้สึกของตัวเองอยู่ เราอยากจะบอกว่าไม่เป็นไรเลย เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่บางครั้งเราไม่รู้ว่าจะจัดการกับความรู้สึกที่ท่วมท้นยังไงดี แต่อย่างน้อยๆ การที่เรารับรู้และยอมรับว่ากำลังรู้สึกแบบนี้อยู่ ก็นับเป็นก้าวแรกของการรับมือที่ดีแล้วล่ะ ส่วนขั้นต่อไปคงเป็นการทำให้ทุกอย่างช้าลงอีกนิด แล้วกลับมาดูแลใจตัวเองอีกหน่อย เช่น
- ลองสังเกตรายละเอียดของสิ่งรอบตัวมากขึ้น เช่น กาแฟเช้านี้รสชาติเป็นยังไง เจ้าแมวแถวบ้านทำสีหน้าแบบไหน ท้องฟ้าวันนี้ครึ้มหรือสดใส หรือจะลองร้องเพลงที่กำลังเปิดบนรถก็ได้เหมือนกัน ขอแค่ได้ดื่มด่ำกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าในขณะนั้นก็พอ
- จัดเวลาเพื่ออยู่กับ ‘ตัวเอง’ แล้วลองสังเกต จดบันทึก หรือพูดออกมาว่าเรากำลังรู้สึกอะไรอยู่ ถ้ายังไม่กล้าแตะความรู้สึกภายในใจ อาจจะลองสังเกตร่างกายก่อน เช่น รู้สึกเกร็งตรงไหน ปวดตรงไหนไหม แล้วค่อยๆ ขยับไปที่ใจว่ากำลังรู้สึกยังไงบ้าง
- ลองนึกภาพว่าเรากำลังคุยกับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง เพราะบางทีเราอาจเคยชินกับการกดดันและตัดสินตัวเอง แต่กลับคอยให้กำลังใจและใจดีกับคนอื่นๆ ดังนั้นการสวมบทเป็น ‘คนอื่น’ อาจทำให้เราได้มองตัวเองอย่างอ่อนโยนมากขึ้น จากนั้นลองคุยกับตัวเองเหมือนกำลังปลอบใจเพื่อนสนิทโดยเน้นไปที่การยอมรับและโอบกอดตัวตนมากกว่าการตัดสิน แต่ถ้าอยู่คนเดียวไม่ไหวจริงๆ ก็อาจจะลองเล่าให้เพื่อนสนิทหรือคนที่ไว้ใจฟังก็ได้นะ
แต่ต้องบอกก่อนว่า บทความนี้เป็นแค่วิธีการสังเกตและรับมือ ‘เบื้องต้น’ เท่านั้น ถ้าลองทุกวิธีแล้วไม่เวิร์คหรือยังไม่แน่ใจ เราแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์และนักจิตวิทยาไปเลยดีกว่า แต่ไม่ว่าเราจะเป็นคนทำนู่นทำนี่ตลอดเวลา หรือแค่ชอบนอนกลิ้งไปมาในวันหยุด สิ่งที่เราอยากจะย้ำอีกสักครั้ง คืออย่าลืมดื่มด่ำกับช่วงเวลาตรงหน้าและหมั่นถามใจตัวเองบ่อยๆ ว่า
“วันนี้เราโอเคไหม? รู้สึกยังไงบ้างนะ?”
อ้างอิงจาก