“เธอคิดไปเอง มันไม่มีอะไรเลย”
“เธอคิดมากเกินไป”
“ใช่สิฉันมันผิดหมด”
เมื่อไม่นานมานี้ หลายๆ คนคงจะได้ยินเรื่องราวของผู้เสียหายรายหนึ่งที่ออกมาเล่าเรื่องราวว่า เธอถูกคุกคามทั้งทางกายและจิตใจ ซึ่งการเปิดเผยดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย จนหลายๆ คนหันมาให้ความสนใจกับคำว่า ‘การถูกปั่นหัวจนทำให้เรารู้สึกผิด หรือ Gaslighting’ กันมากขึ้น
หรือบางทีอาจจะเรียกว่า เป็นอีกครั้งหนึ่งก็ได้ที่เกิดเรื่องราวทำนองนี้ขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ในลักษณะนี้เป็นที่พูดถึงในสังคมไทยมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็มักจะเกิดคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมนี้เสมอ เช่น ที่จริงแล้วมันคืออะไร ส่งผลอย่างไร หรือแม้แต่ทำไมผู้เสียหายไม่รีบหลีกหนี และทำไมถึงไม่เปิดเผยหรือขอความช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ
ดังนั้น สื่อหลายสำนักจึงพยายามออกมาอธิบายคำดังกล่าวอยู่ตลอด เพื่อให้ผู้คนเข้าใจถึงสภาวะการถูกครอบงำหรือปั่นหัวอย่างแจ่มแจ้งมากขึ้น วันนี้ The MATTER จึงขอรับหน้าที่ขยายความส่วนนี้เพิ่มเติม ด้วยการพูดคุยกับผู้คนที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนั้น หรือหลุดพ้นมาแล้ว ทั้งจากแฟน ครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน ให้อ่านกัน
ที่มาของคำว่า Gaslighting
เราขอย้อนไปตั้งแต่ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะนั้นมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งชื่อว่า Gaslight ออกฉายในปี 1944 ซึ่งเนื้อเรื่องของมันจะเล่าถึงสามีที่มีความต้องการครอบครองสมบัติของภรรยาตัวเอง จึงหลอกลวงว่าเธอมี ‘อาการทางจิต’ เพื่อให้เธอสงสัยในความคิดของตัวเอง และให้รู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเธอล้วนปกติ ยกเว้นตัวเธอ
สิ่งที่สามีคนนี้กระทำต่อภรรยาของเขาล้วนเป็นการปั่นหัว ครอบงำ ทำให้ชื่อเรื่องของภาพยนตร์ดังกล่าว ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของการควบคุมจิตใจในความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่ง (psychological manipulation) ที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่เพียงกับความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์อื่นๆ อีกด้วย
ลักษณะของ Gaslighting
ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า Gaslighting คือ การปั่นหัวให้อีกฝ่ายรู้สึกสับสนกับการรับรู้ความเป็นจริง เพื่อเป็นการควบคุมและบงการอีกฝ่าย ซึ่งเกิดได้ในทุกความสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม Gaslighting แตกต่างจากการควบคุมทั่วไป แม้ว่าจะมีการโกหกเหมือนกันก็ตาม แต่สำหรับจอมบงการ (Gaslighter) จะโกหกโดยที่ไม่มีเหตุผลแน่ชัด แต่จะกระทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สับสนและอ่อนแอลง
ขอยกตัวอย่างตอนหนึ่งของภาพยนตร์ที่เรากล่าวถึงข้างต้น ตัวสามีทำการหรี่ไฟตะเกียงแก๊สในบ้าน และทำให้มันกะพริบเพื่อให้ภรรยาเกิดความสงสัยว่า ตะเกียงมันมืดลงหรือเปล่า แต่สามีจะปฏิเสธและบอกว่าเธอคิดไปเอง ซึ่งสามีทำสิ่งที่คล้ายๆ กันแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนในท้ายที่สุดภรรยาก็เสียสติจริงๆ
อย่างไรก็ดี ถ้าพูดถึงจอมบงการแล้ว จะไม่พูดถึงผู้ถูกกระทำก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะพวกเขาเป็นฝ่ายที่ถูกหลอก ปั่นหัว ซึ่งผู้คนเหล่านี้จะมีอาการสงสัยในตัวเอง หรือมีปัญหาในการตัดสินใจ และที่สำคัญที่สุดคือ พวกเขาจะรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง และจะเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าแท้จริงแล้วเราหรือเปล่าที่เป็นฝ่ายผิด และจะเกิดความรู้สึกที่ไม่มีความสุข หรือทุกข์ทรมานตามมาอีกด้วย
จอมบงการที่มาในรูปแบบความสัมพันธ์โรแมนติก
เฟย์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เป็นบุคคลแรกที่ให้สัมภาษณ์กับเรา โดยเฟย์ยอมรับว่า ขณะนี้เธอกำลังถูก Gaslight จากแฟนที่กำลังคบหากันอยู่ ทว่าเธอตั้งธงกับตัวเองไว้ว่า ถ้าเขายังไม่เปลี่ยนภายในเร็วๆ นี้ เธอจะตัดความสัมพันธ์กับเขา
“เขามักจะทำให้เรารู้สึกสับสน ไม่มั่นคง และไม่มั่นใจ ซึ่งทำให้สภาพจิตใจของเราย่ำแย่”
เธอเล่าถึงพฤติกรรมที่เขามักกระทำต่อเธอว่า แฟนของเธอมักจะโมโหจากที่อื่นมา ซึ่งเธอไม่ได้เกี่ยวข้องหรือรู้เรื่องอะไรด้วยเลย แต่เขามักจะนำอารมณ์เหล่านั้นมาลงที่เธอ ซึ่งทุกครั้งก็จะมีคำถามผุดขึ้นมาในหัวของเธอเสมอว่า “เราทำอะไรผิด ทำไมเขาถึงทำกับเราแบบนี้”
สิ่งนี้มักจะทำให้เธอรู้สึกเศร้าและโทษตัวเองเสมอ แต่ตอนนี้เฟย์กลับรู้สึกว่าต้องรักตัวเองให้มากๆ พร้อมกับขีดเส้นไว้แล้วว่า ถ้าแฟนยังไม่ปรับปรุงตัว ทุกอย่างก็คงต้องจบลง เพราะคงไม่มีใครอดทนที่จะอยู่กับปัญหาแบบนี้ไปได้ตลอด
“เราอยากจะบอกคนที่เจอปัญหาเหมือนเราว่า อย่าให้ใครมาทำให้เรารู้สึกเหมือนเราไม่มีค่า ทุกคนควรได้รับการเคารพ…คนที่โทษเรามักจะไม่รู้ว่าตัวเองนั่นแหละที่มีปัญหาเสียเอง”
ซูซี่ พนักงานบริษัทเอกชน คืออีกคนที่เผชิญกับการถูก Gaslight เธอเริ่มต้นเล่าเรื่องของเธอว่า เวลาที่เธอทะเลาะกับแฟน โดยเฉพาะเรื่องแชทที่เขาคุยกับผู้หญิงคนอื่น เธอเสริมว่าแม้ว่าในบทสนทนาในแชทดังกล่าวจะไม่ได้ไปในเชิงชู้สาวขนาดนั้น แต่ก็เป็นการคุยเล่นที่ค่อนข้างข้ามเส้นระหว่างความสัมพันธ์แบบเพื่อนร่วมงาน
ซูซี่ยกตัวอย่างให้เราฟังว่า แฟนเธอได้ส่งรูปเปลือยท่อนบนของตัวเองให้กับผู้หญิงคนนี้ ซึ่งเธอเล่าว่า “เราก็ถามเขาตรงๆ ทันที แต่ทุกครั้งเขาจะแก้ตัวเสมอว่า มันไม่มีอะไรเลย เธอคิดมากไปเอง และเขามักจะปิดท้ายด้วยคำพูดที่ว่า เขาเป็นของเขาแบบนี้อยู่แล้ว และตอนนี้เขาดูเหมือนทำอะไรก็ผิดในสายตาของเราไปหมด แต่เขาไม่เคยระบุเจาะจงว่าเขาผิดเรื่องอะไร”
“เรารู้สึกว่าเขาพยายามทำให้เรารู้สึกผิด และคิดว่าเราเป็นฝ่ายที่กำลังบงการชีวิตเขาอยู่ ซึ่งในบางครั้งมันก็ส่งผลให้เรารู้สึกกังขาในตัวเองเหมือนกัน อย่างเราเป็นฝ่ายที่งี่เง่าเกินไปเองหรือเปล่า”
ทว่าซูซี่ระบุว่า ส่วนใหญ่แล้วเธอก็ยังรู้ตัวว่าเธอไม่ได้เป็นฝ่ายผิด เพราะคิดว่าเธอมีสิทธิที่จะคุยและถาม ดังนั้นเธอจึงกล่าวว่าแฟนของเธอไม่สามารถปั่นหัวเธอได้ขนาดนั้น เพราะเธอยังมีความตระหนักรู้ แต่ในบางครั้งเธอจะรู้สึกว่าไม่น่าขุดเรื่องนี้มาพูดจนทะเลาะกันเลย และหลังจากนั้นก็ไปขอโทษเขา
“เหตุที่เราไปขอโทษเขา เนื่องจากเราแคร์ความรู้สึกของเขา แต่ไม่ใช่ขอโทษเพราะเราเป็นฝ่ายผิด”
เธอเสริมว่า เขาอาจจะพยายามเปลี่ยนตัวเองอยู่ก็ได้ แต่เพราะความอีโก้สูงจึงทำให้เขาไม่สามารถยอมรับความผิด และอาจจะด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างอีก เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง และสภาพสังคม ที่ทำให้เขาไม่เข้าใจหรือไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นผิด
อย่างไรก็ตาม ซูซี่ยอมรับว่าตอนนี้เธออยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อทั้งสองฝ่าย (Toxic Relationship) เพราะทั้งคู่ไม่สามารถตัดกันได้จริงๆ สักที แต่เธอยึดมั่นว่า ถ้าเห็นว่าแฟนนอกใจเธอจริงๆ เธอจะยุติความสัมพันธ์ทันที “ผู้ที่ชอบครอบงำคนอื่น ควรพูดคุยกับคนอื่นเยอะๆ ไม่ใช่จมอยู่แค่ในความคิดของตัวเอง” เธอกล่าวปิดท้าย
ถัดมาที่คนสุดท้าย ลลิล Content Creator เล่าว่า แรกเริ่มเธอถูก Gaslight โดยไม่รู้ตัว เพราะในขณะนั้นเธออยู่ในความสัมพันธ์ที่อยู่กันอย่างใกล้ชิด ใช้ชีวิตไปด้วยกัน มีอะไรก็คุยกัน แต่เธอระบุว่า ทุกครั้งที่เราเล่าอะไรให้เขาฟัง เขามักจะมีความเห็นตอบกลับมา แต่มันเป็นความเห็นที่เราจะคิดในใจว่า “เออวะ จริงด้วย” เช่น เราเล่าให้เขาฟังว่าเราทำข้อสอบรอบนี้แทบไม่ได้เลย ซึ่งเขาตอบกลับว่าเพราะเราไม่พยายามพอ และคะแนนที่ออกมาก็จะไม่ดีไปมากกว่าเขา หรือเหตุการณ์ที่ลลิลเห็นรูปดาราในโซเชียล และชมว่าพวกเธอสวยจัง แฟนของเธอก็จะบอกว่า “ดูตัวเองสิ แต่ยังไงเธอก็ไม่มีทางดูดีเท่าพวกเขา”
ซึ่งลลิลพูดว่า “หลังเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ มันก่อให้เรารู้สึกแย่และไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะคำพูดของเขาทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่สมบูรณ์แบบ”
แต่เหตุที่เธอเริ่มฉุกคิดได้นั้นเกิดมาจากเพื่อนรอบข้างเธอ ไม่ใช่เพราะตัวเธอเอง เนื่องจากในตอนนั้นเธอรู้สึก ‘ชิน’ และมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็น ‘เรื่องปกติ’ ไปแล้ว ซึ่งเพื่อนของลลิลสังเกตเห็นว่า กิจวัตรของเธอเปลี่ยนไป ทำไมเธอถึงไปคลินิกบ่อยขึ้น และมีนิสัยที่เปลี่ยนไป “แต่ในขณะนั้นเรารู้สึกว่าทุกอย่างก็ปกติดี แค่เราอยากจะดีได้กว่านี้ แต่เพื่อนของเราถามย้อนกลับว่า ‘แล้วต้องดีแค่ไหน เพื่อใคร เพื่ออะไร?’ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เรานึกคิดได้ว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยไม่พอใจในตัวเองเลย”
ทำให้หลังจากนั้นเวลาเราได้ยินคำพูดในลักษณะนี้จากแฟน เราก็จะคิดว่าเขาคิดอะไรอยู่ถึงพูดแบบนี้ออกมาได้ แต่ในตอนนั้นเธอยอมรับว่ายากมากที่จะหลีกเลี่ยงคนที่ปั่นหัวเรา แม้ว่าคำพูดของเพื่อนจะทำให้เธอฉุกคิดก็ตาม แต่เธอคิดว่าเพื่อนไม่ได้เห็นส่วนอื่นๆ ของแฟนเราทั้งหมด แต่ในท้ายที่สุด การหลีกเลี่ยงของเราเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่ไหวแล้ว เพราะคิดว่าเราจะพยายามแค่ไหน ก็ไม่มีทางดีพอสำหรับเขา
“เหมือนเป็นการปลดล็อก เรารู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องดีพอ มันเป็นเรื่องของเราไหม จุดนี้แหละที่ทำให้เราหลุดพ้นออกมาจากตรงนั้น”
แต่เธอกล่าวว่า การจากลากับความสัมพันธ์ลักษณะนี้ถือว่าค่อนข้างยาก เพราะต้องใช้เวลาในการฉุกคิด หรือเรื่องของอำนาจระหว่างกัน และความใกล้ชิด ไว้เนื้อเชื่อใจอีก ทั้งนี้ ลลิลกล่าวว่า หลังจากที่หลุดออกมาจากความสัมพันธ์นี้ และลองมองย้อนกลับไปจะเห็นว่าเหตุที่แฟนเก่าพยายาม Gaslight เธอเพราะเขามีอีโก้สูง ต้องการอยู่เหนือกว่า และควบคุมเธอ ด้วยการทำให้เธอดูด้อยกว่าเขา
การถูกครอบงำโดยครอบครัว
เราได้พูดคุยกับ เลย์-รัฐโรจน์ นักเรียนมัธยมปลาย อายุ 17 ปี ซึ่งเขาระบุว่า เขาเริ่มรู้ตัวว่าถูกปั่นหัวเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยเขารู้สึกว่า พ่อแม่ ‘ยึดติด’ กับเขามากเกินไป เขาได้ยกสถานการณ์หนึ่งให้เราฟังว่า “มีวันหนึ่ง อยู่ดีๆ พวกเขาก็เปิดคลิปตอนที่ผมเด็กๆ และพูดว่าตอนเด็กผมน่ารักมากนะ แม้ว่าพวกเขาไม่ได้พูดต่อ แต่ผมก็พอเดาประโยคหลังได้ ซึ่งน่าจะเป็น ‘ทำไมโตมาถึงเป็นอย่างนี้’ เพราะพวกเขาเพิ่งพูดประโยคนี้กับผมไปไม่นาน อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่เคยอธิบายว่าผมทำอะไรผิดจริงๆ เพียงต่อว่าผมเท่านั้น เช่น โตมาแล้วเหลวไหล ไม่ค่อยเชื่อฟัง”
เลย์กล่าวต่อว่า เขารู้สึกว่าพ่อแม่ต่างห่างที่ไม่ปรับเปลี่ยนความคิดไปพร้อมๆ กับเขา อย่างเวลาเขาจะไปไหน ก็จะโดนว่าก่อนโดยไม่มีการอธิบายเหตุผลว่าทำไม แต่เขาก็อธิบายให้พวกเขาฟังตลอด เช่น เหตุผลที่กลับบ้านช้า เพราะเขาแค่รู้สึกยังไม่อยากกลับ เนื่องจากรู้สึกเบื่อและอึดอัดเวลาอยู่ที่บ้าน แต่พวกเขาไม่ฟังเลย
“การไม่ค่อยอยู่บ้าน อาจจะเป็นวิธีการหลีกเลี่ยงของผมก็ได้ เพราะผมไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรแล้ว เพราะในทุกๆ เรื่องพวกเขาทำเหมือนจะเข้าใจผม แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย”
แต่เลย์เน้นย้ำว่า เขาไม่เคยโกหกว่าไปไหน พร้อมยังบอกรายละเอียดทั้งสถานที่และระยะเวลากลับอย่างชัดเจนเสมอ เช่น บอกว่าจะไปหาเพื่อนนะ แต่พวกเขามักจะพูดประชดเสมอก่อนที่เขาจะก้าวออกจากบ้านว่า ก็ไม่ต้องคุยกันแค่นั้นแหละ
“ทุกครั้งที่พ่อแม่ผมเริ่มรู้สึกโกรธ ผมก็จะรีบอธิบายเหตุผลให้พวกเขาเข้าใจ แต่พวกเขามักปัดว่าไม่อยากฟัง”
เลย์เสริมว่า เขาไม่ได้ต้องการให้พ่อแม่เปลี่ยนความคิด หรือต้องปล่อยให้เขาใช้ชีวิตขนาดนั้นก็ได้ แต่อย่างน้อยควรรับฟัง และทำความเข้าใจว่าเขาก็ต้องมีเวลาส่วนตัวบ้าง อย่างการไปพบปะกับเพื่อนหรือแฟน
“ผมเคยร้องไห้เพราะพ่อแม่หลายรอบมาก แบบน้ำตาไหลออกมาเอง หลังจากที่พวกเขาพูดกับผมว่าทำไมทำตัวแบบนี้ ตอนเล็กๆ น่ารักกว่าเยอะ ซึ่งผมไม่เข้าใจว่าจะพูดแบบนี้ทำไม เพราะมันยิ่งทำให้ผมอยากหลีกหนีจากพวกเขายิ่งขึ้นไปอีก พวกเขาแทบจะไม่รับฟัง และยังโทษว่าผมผิดเสมอ แม้ว่าผมจะทำถูกก็ตาม”
เขาระบุว่า ตอนนี้เขารู้สึก ‘ชิน’ กับสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว แต่เขายังมีความหวังว่า เขาจะได้รับโอกาสที่จะรู้สึกสบายใจในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ โดยไม่มีพ่อแม่ผุดขึ้นมาในหัวในสักวันหนึ่ง “แต่ตอนนี้ผมยังรู้สึก ‘ระแวง’ ตลอดเวลาว่าพวกเขาจะโกรธผมไหม ผมจะโดนต่อว่าหรือเปล่า”
แต่ในขณะนี้ เราก็พยายามผลักตัวเองให้ทำในสิ่งที่อยากทำให้มากที่สุด แม้ว่าจะรู้สึกไม่ค่อยสบายใจก็ตาม “ย้อนดูตัวเองเยอะๆ บ้างนะครับ เพราะพ่อแม่ก็สามารถทำผิดได้เช่นกัน และผมไม่ใช่ที่รองรับอารมณ์” เลย์กล่าวปิดท้าย
การปั่นหัวโดยเพื่อนร่วมงาน
ในประเด็นนี้เราได้มีการพูดคุยกับคนสองคน ซึ่งจะแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับเพื่อนร่วมงาน ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ไม่เก่ง จนกระทบกับสุขภาพจิตและการทำงาน
ดิว-อาลันดา กราฟฟิกดีไซน์ วัย 24 ปี ดิวระบุถึงสิ่งที่เธอพบกับเพื่อนร่วมงานตัวเองว่า เธอเริ่มตระหนักว่ากำลังโดน Gaslight เมื่อหัวหน้าคอมเมนต์งานด้วยเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เพราะว่าเนื้องานมันถูก ผิด สวย ไม่สวย แต่มันคืออคติที่เขามีกับเธอ และให้แก้ด้วยการไม่ให้คำแนะนำอย่างชัดเจน โดยช่วงแรกๆ เธอจะปัดความคิดนี้ทิ้งไปด้วยการบอกกับตัวเองว่า
“เออไม่เป็นไร งานนี้เพิ่งเป็นงานแรกของเราหลังเรียนจบ เรายังต้องเรียนรู้อะไรอีกเยอะ ก็ฟังๆ เขาไป” อย่างไรก็ตาม จุดที่ทำให้เขารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องแล้วคือ หัวหน้าต้องการให้เราออกจากงาน ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่อยากให้เราทำงานที่เราไม่ได้อยากทำ แต่เธอคาดว่า น่าจะเกิดมาจากเหตุผลที่เธอมักจะทำงานเสร็จเร็ว และกลับบ้านตรงเวลาตามที่บริษัทกำหนด ซึ่งแตกต่างกับพนักงานส่วนใหญ่ในบริษัทที่จะอยู่ยันดึก
ถัดมาที่ เจ นักเขียนบทความ ที่เล่าถึงประสบการณ์ถูกพี่ที่ทำงานเก่าปั่นหัวว่า “เราเริ่มรู้สึกว่างานที่เราทำนั่นไม่เคยดีในสายตาของเขาเลย”
เขากล่าวต่อว่า “คำพูดของพี่เขาทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่ดีพอ” แม้ช่วงแรกเจจะตัดสินใจนำคำติเหล่านั้นมาเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตัวเอง แต่ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เจตัดสินใจลาออกจากงาน คือ พี่คนดังกล่าวแนะนำแคมเปญจากบริษัทหนึ่งที่ต้องการนักเขียนไปร่วมกิจกรรม โดยเจก็ตอบกลับว่า เขาสนใจ อยากลองทำดู แต่พี่คนนี้กลับพูดว่า “ถ้าสมัครไปคิดว่าจะได้เหรอ บริษัทนี้ดูต้องการคนที่เก่งนะ” ซึ่งเจรู้สึกเหมือนโดนดูถูก แม้ไม่ได้คล้อยตามคำพูดเขา แต่เขารู้สึกไม่อยากทำงานร่วมกับพี่คนนี้อีกต่อไปแล้ว ก็เลยตัดสินใจลาออก
อย่างไรก็ดี เจกล่าวว่า มันยากมากที่เราจะรู้ตัวว่าเราถูก Gaslight อยู่หรือเปล่า จนกว่ามันจะสร้างผลกระทบจนเราทนไม่ไหว ซึ่งบางทีที่เราไม่สามารถผ่านจุดนั้นไปได้ อาจเป็นเพราะเราเชื่อมั่นในตัวเองไม่มากพอ ดังนั้นจงเชื่อมั่นในตัวเอง และคำพูดแย่ๆ ก็จะเข้ามาหาเรายากขึ้น
“วิธีของเราคือ ลองถอยออกมา และรับฟังคนที่เขาซัพพอร์ตเราจริงๆ ดีกว่า”
ท้ายที่สุดแล้ว ความเชื่อมั่นในตัวเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ที่ไม่ควรให้ใครเข้ามาทำลายมันได้ การยืนหยัดในความคิดที่ถูกต้องของตนเอง จะช่วยให้เรารอดพ้นจากพฤติกรรมใดๆ ก็ตาม ที่ก่อให้เรารู้สึกไม่สบายใจ
อ้างอิงจาก