เราไม่เก่งใช่ไหม? ดีไม่พอหรือเปล่า? จะทำพลาดอีกไหม?
ในชีวิตเรา อาจมีบางครั้งที่รู้สึกหลงทาง กลัวพลาด ไม่มั่นใจจนเริ่มดูถูกความสามารถของตัวเอง ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Self-doubt หรือความสงสัยในตัวเอง
ในเว็บไซต์ goodtherapy ระบุว่า จริงๆ แล้วความรู้สึกนี้มีข้อดีที่ทำให้เราได้กลับมาทบทวนข้อบกพร่องเพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ แต่ถ้าสะสมไว้นานๆ จนไม่สามารถก้าวผ่าน ความรู้สึกเหล่านี้อาจบั่นทอนจิตใจจนเกิดความเครียดและทำให้ไม่กล้าลงมือทำอะไรใหม่ๆ
สำหรับใครที่กำลังรู้สึกแบบนี้ เราอยากชวนมาฟัง 5 เรื่องราวของผู้คนที่เคยเผชิญความรู้สึก self-doubt รวมทั้งวิธีการเยียวยาหัวใจจนสามารถก้าวผ่านไปได้
มะเขือเทศ, 26 ปี, คอนเทนต์ครีเอเตอร์
ช่วงหนักสุด คงจะเป็นช่วงทำงานประจำเป็นครั้งแรก จำได้ว่าซัฟเฟอร์ถึงกับต้องไปพบแพทย์ เราตัดสินใจลาออกทั้งที่เราอยากทำงานเกี่ยวกับประเด็นนั้นมากๆ แต่เราไม่สามารถหลอมรวมตัวตน ชุดคำ ชุดความคิดของเราให้ผสานกับตัวตนขององค์กรนั้นได้อย่างที่มันควรจะเป็น เรารู้สึกถึงความไม่ชัดเจนในหน้าที่รับผิดชอบและบรรยากาศบางอย่างที่ทำให้เราทำงานด้วยความรู้สึก ‘กลัว’ ความผิดพลาดอยู่ตลอดเวลา มากกว่าจะ ‘กล้า’ ลงไปเรียนรู้จากมัน
ทุกอย่างรวมกันไปสู่ความรู้สึกด้อยค่าและสงสัยในตัวเองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ตอนนั้นแทบจะเชื่อว่า ตัวเองทำงานที่อื่นหรือที่ไหนให้ดีไม่ได้อีกแล้ว ไม่สามารถสื่อสารหรือพูดในที่ประชุมของที่ทำงานใหม่ที่ไหนได้อีกแล้ว เราร้องไห้จนลืมนับว่ากี่ครั้ง สุดท้ายเลยตัดสินใจ ‘ถอยดีกว่า’ แล้วก็หยุดยาว
ช่วงนั้นกลับไปอยู่บ้าน ว่างงานไปเกือบ 6 เดือน ส่วนหนึ่งที่ทำได้เพราะที่บ้านพอซัปพอร์ตในระดับหนึ่ง เราพอเหลือเงินเก็บเล็กน้อยจากงานด้วยแหละ
ในช่วงที่พัก เราปลูกต้นมะเขือเทศเพราะไม่มีอะไรทำ เราจินตนาการไว้ว่า ทันทีที่หย่อนเมล็ดลงบนดิน มันจะงอกออกมา พรั่งพรูและมีลูกเต็มต้น การจินตนาการมันง่าย รวดเร็ว และชวนฝันแบบนั้น
แต่กว่าจะสุกเป็นลูกสีแดงแบบที่เคยจินตนาการไว้ เมล็ดมันเจอ ‘เงื่อนไข’ หลายอย่างมากๆ ทั้งลม แดด ฝน แมลง ดิน ช่วงเวลา สิ่งที่แวดล้อมต้นมะเขือเทศต้นนั้นอยู่ ซึ่งทำให้เข้าใจว่าระหว่างการเติบโต เราไม่อาจหลีกหนีการปะทะกับเงื่อนไขยากๆ เหล่านี้ไปได้ ต้นมะเขือเทศโคตรเก่ง ที่สำคัญคือต้นมะเขือเทศ ‘ไม่ได้ผิดเลย’ ถ้าจะงอกออกจากดินมาช้ากว่าใคร ดอกร่วงแล้วร่วงอีก ออกผลน้อย หรือสุกช้า เพราะมีเงื่อนไขตั้งมากมายที่ต้นมะเขือเทศหนึ่งต้นต้องรับมือขณะเติบโต กว่าแต่ละต้นจะพบวิธีที่สามารถยืนต้นอย่างมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับเรา ไม่ว่าในตอนที่ดอกร่วง ผลไม่ออก หรือตอนออกดอกผลพรั่งพรู มันจึงไม่ได้น่าชื่นชมไปมากกว่ากัน เพราะเรื่องน่าชื่นชมที่สุด คือการที่ต้นมะเขือเทศเป็นต้นมะเขือเทศ เป็นชีวิตหนึ่งในโลกใบนี้ที่งอกออกมา ทำงานกับแต่ละช่วงของการเติบโต เผชิญกับเงื่อนไขมากมาย ส่วนผลผลิตออกมาได้ดีหรือไม่ นั่นเป็นเพียงเรื่องดอกผลปลายทางเท่านั้น ไม่ใช่แก่นแกนสำคัญของชีวิตแต่อย่างใด
นั่นแหละคือจุดที่ทำให้เราเห็นว่า ถึงงานที่เราทำมันจะทำให้เราดูเหมือนล้มเหลว แต่ภายในของเรามีพลังชีวิตซ่อนอยู่ และเรายังเติบโตต่อได้ เราทุกคนเป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์บางอย่าง มีพลังชีวิตรอการงอกงามออกมา เมื่อได้พบดินที่ถูกต้อง กับธรรมชาติและบริบทที่สนับสนุน
โบธ, 25 ปี, อาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชน
ช่วงที่เจอหนักๆ ของเราจะเป็นช่วงทำวิทยานิพนธ์จบ ช่วงนั้นรู้สึกว่าตัวเองโคตรไม่เก่งอะ ไม่รู้จะทำงานยังไงให้ออกมาดี ก็เราทำได้แค่นั้น ตอนนั้นก็เลยตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยมากว่าตกลงเราทำอะไรได้บ้าง ตอนนั้นมันเหมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความสงสัยในตัวเองแบบจริงจัง ยิ่งเล่นโซเชียลเห็นชีวิตคนอื่นละยิ่งหนักเลย นี่เราทำอะไรอยู่วะ
ถ้าถามว่าก้าวผ่านไหม จะเรียกว่าก้าวผ่านได้มั้ยนะ เหมือนเราค่อยๆ เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันมากกว่า ทุกวันนี้ก็บอกตัวเองตลอดว่าเรายังเป็นแค่คนตัวเล็กๆ มีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะเลย (โดยเฉพาะสายงานเรา) แล้วก็คาดหวังว่าตัวเราเองในอนาคตจะจัดการความรู้สึกตรงนี้ได้ดีขึ้น
พอได้ใช้เวลากับตัวเองให้เข้าใจตัวเองผ่านพวกพอดแคสต์ ผ่านหนังสือ บวกกับการคาดหวังกับตัวเราในอนาคตมันก็ค่อยๆ ทำให้เราอยู่กับความรู้สึกพวกนี้ได้เก่งขึ้น
แทนนี่, 23 ปี, คอนเทนต์ครีเอเตอร์
ตอนนั้นเราแอบไม่มั่นใจและกดดันตัวเองเสมอเวลาที่ต้องรับงานวิทยากรเดี่ยว พยายามบอกตัวเองว่าต้องทำให้ได้ดี เพื่อให้คนไม่มองเราว่า ‘ไม่เป็นมืออาชีพ’ จนกลายเป็นว่าเราไปสนใจแต่จุดที่เราจะพลาด พยายามดูถูกความสามารถตัวเองที่มีอยู่ไปเลย
ยอมรับว่าเราผ่านไปได้ด้วย ‘หลักการย้อนกลับ’ ซึ่งเป็นเหมือนการตั้งคำถามถึงสิ่งที่เราหลงลืมคิดไป คือสมมติว่าเรามัวแต่สนใจแต่จุดที่เราจะพลาด เราก็จะเตือนตัวเองตลอดว่า ‘แล้วมีจุดไหนที่เราเอาอยู่บ้าง’ พยายามไม่คิดดูถูกความสามารถตัวเองที่มีอยู่ เราจะปลุกตัวเองด้วยคำถามว่า ‘แล้วสิ่งที่เรามีล่ะ’ เพราะแน่นอน เราแต่ละคนล้วนมีเรื่องราว มีจุดดี มีแรงกระตุ้นคอยเป็นพลังที่นำพาชีวิตเรามา อย่างน้อยที่สุดคือ มันเป็นพลังที่ทำให้เรายังหายใจอยู่ตรงนี้นี่แหละ
หม่อม, 26 ปี, สถาปนิก
ตอนนั้นเป็นเรื่องงานที่เราใช้เวลาคิดเยอะ และรู้สึกมันยังออกมาไม่ดีเท่าที่คิดว่าจะทำได้ เราทั้งรู้สึกไม่ดี อึดอัด เครียดๆ แล้วเวลาก็น้อยลงเรื่อยๆ เราเลยกลับมาทวนถึงจุดสำคัญที่สุด (bottom line) ที่ยอมรับได้ ถอยความคาดหวังลงเพื่อการบริหารงานและเวลา ไม่งั้นงานไม่จบ
จริงๆ ตอนนั้นสิ่งที่ทำไปมันตอบเป้าที่ตั้งไว้ได้ทุกข้ออยู่แล้ว ไอ้ที่เอามาเครียดเองคือทำได้ไม่ถึง ‘ความคาดหวังตัวเอง’ เท่านั้น ซึ่งจริงๆ มันถอยได้ เราเลยกลับมาทบทวนสติว่า การส่งงานครั้งนี้ถ้าตอบเป้าหลักได้ครบ สื่อสารได้ ก็โอเคแล้ว ยังไม่ต้องไปเครียดเรื่องความคาดหวังของตัวเอง มันยังไปทำครั้งต่อไปได้ ถ้าเวลาเยอะกว่านี้หรือมีช่องให้ทำได้ ก็ค่อยๆ ทำเพิ่มเข้าไป หรือค่อยทำมากกว่านี้ในครั้งต่อๆ ไป
สรุปคือทำเท่าที่ทำได้ หรือยอมถอยออกมา เพื่อไปต่อ เพราะรู้ตัวว่าไม่ชอบอยู่ในจุดที่รู้สึกเครียดแบบนั้นวนๆ ไปเรื่อยๆ
ระพี, 48 ปี, ทนายความ
เราคิดว่าการจะก้าวผ่านอะไรไปแต่ละอย่างของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วแต่สถานการณ์ แล้วแต่ช่วงวัยด้วย
ตอนช่วงวัยเด็ก ครั้งที่ต้องทำกิจกรรมที่เพื่อนๆ ต่างทำได้หมด แต่มีเพียงตัวเองที่พลาด ทำมันไม่ได้ เรารู้สึกเสียความมั่นใจไป แต่ก็ยิ่งอยากจะทำสิ่งนั้นให้ได้เพราะอยากจะเอาชนะ ‘ความไม่พร้อม’ ของตัวเองมากขึ้น ช่วงวัยรุ่น เราใจร้อน คิดไว ทำไว พอทำไม่ได้ก็ไม่อยากทำแล้ว ทั้งที่ถ้าใจเย็นอดทนพยายามเพิ่มขึ้นอีกหน่อย ต้องทำได้แน่ๆ แต่อาจเป็นเพราะว่า ถ้าเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบ จะพยายามมาก แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่สนใจ ก็จะหยุด ทั้งที่อาจทำได้อยู่ก็ตาม
เราพบว่าบางเรื่องเราไม่สามารถใช้ความมั่นใจอย่างเดียวเพื่อจะผ่านไปให้ได้ บางอย่างเหมือนเรามีความจำเป็นต้องผ่านสิ่งนั้นไปให้ได้เพื่อความอยู่รอด เราจึงต้องอดทน ไม่ลังเลที่จะตัดสินใจทำสิ่งนั้นและต้องทำได้เท่านั้น ต่อให้ไม่มั่นใจก็ต้องทำ เช่น ตอนขับรถครั้งแรก เรากล้าๆ กลัวๆ แต่พอขับไปแล้ว เรารอดมีชีวิตกลับมาก็ไม่กลัวแล้ว แต่ถ้าขับไปเจออุบัติเหตุ ก็จะกลัว หลอนฝังใจ ไม่กล้า ไม่มั่นใจ พอมาเจอสถานการณ์จำเป็นฉุกเฉินมากๆ สุดท้ายเราก็ต้องขับมันออกไปอยู่ดี
พอย้อนมองกลับไป เราผ่านมาได้เพราะสติ ไม่คาดหวังมากเกินไป คิดแค่ว่าจะทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด แล้วถ้าผ่านจุดนั้นมาได้และทำได้สำเร็จเมื่อไหร่ เราจะมีความมั่นใจมากขึ้น และเมื่อนั้น ถ้าเราพลาด เราก็สามารถปรับตัว เข้าใจความผิดพลาดว่าต่อไปต้องรับมือยังไง แก้ไขตรงไหน และเข้าใจว่าชีวิตเรามันเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้ตลอดทุกคน ไม่ได้รู้สึกว่าขาดความมั่นใจ เราว่า มันขึ้นอยู่กับช่วงวัย วุฒิภาวะ วัยหนึ่งแบบหนึ่ง วัยหนึ่งก็รู้สึกอีกแบบหนึ่ง ต่างกัน ทุกอย่างต้องเรียนรู้ และค่อยๆ ใช้เวลาในการเรียนรู้ชีวิต