‘ความกล้า’ เป็นหนึ่งในคุณธรรมสูงส่งของของบรมครูปรัชญา ทั้งอริสโตเติลและเพลโต มันสะท้อนถึงความเด็ดเดี่ยวและไม่หวั่นเกรงต่อความกลัว
ในบริบทของการเมืองไทย นอกจากความกล้าจะเป็นคุณธรรมที่เรายกย่อง มันยังถูกนำมาตั้งเป็นชื่อพรรคน้องใหม่ในนาม ‘พรรคกล้า’
พรรคกล้าเปิดตัวในเดือน มิ.ย.2563 โดยมี กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลังสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค และ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. 2 สมัย เป็นเลขาธิการพรรค โดยยืนยันสม่ำเสมอว่ามีนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองสร้างสรรค์เป็นธงนำ
แต่ขณะเดียวกัน เมื่อสังคมพูดคุยกันถึงบางประเด็นที่แหลมคม มีหลายครั้งหลายคราที่พรรคกล้าเลือกที่จะไม่เอ่ยถึงเรื่องดังกล่าว
และทำให้สังคมบางส่วนตั้งคำถามถึงจุดยืนและนิยาม ‘ความกล้า’ ของ ‘พรรคกล้า’
“ผมคิดว่าที่สังคมต้องการมากที่สุดคือการเมืองที่สร้างสรรค์ อันนี้คือความกล้าที่แท้จริง เพราะการเมืองช่วงที่ผ่านมา ผมจะใช้คำว่ามันเป็นการเมืองที่ค่อนข้างสกปรกเลยก็ได้ มีการขายความขัดแย้ง ทุจริตคอร์รัปชั่น มีประเด็นปัญหามากมาย เพราะฉะนั้นการที่จะเลือกที่จะอุทิศตนเพื่อที่จะทำการเมืองที่ขึ้นตรงกับประชาชนต้องอาศัยความกล้าครับ”
ด้านบน คือคำตอบจากหัวหน้าพรรคกล้าถึงนิยามความกล้าของพรรคน้องใหม่กับ The MATTER โดยย่นย่อ
ส่วนด้านล่าง เป็นเนื้อหาการพูดคุยแบบเต็มๆ ถึงจุดยืนทางการเมือง นโยบายของพรรคในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องความเท่าเทียม รัฐสวัสดิการ ตลอดจนถึงประเด็นแหลมคมอย่างคดี 112 และสถาบันพระมหากษัตริย์
อยากถามแบบนี้ก่อนว่า พรรคกล้า กล้าอย่างไร..กล้ากับอะไรบ้าง
ผมคิดว่า ถ้าเราถามทุกคนที่มาร่วมตั้งพรรคกล้าว่า กล้าอะไรเนี่ย ทุกคนคงตอบเสียงเดียวกันว่า เรากล้าที่เป็นตัวของตัวเราเอง กล้าที่จะมาตั้งพรรคใหม่ในช่วงที่เขามองว่าพรรคใหญ่มีแต่ความได้เปรียบ นี่คือความกล้าที่หนึ่ง
แต่ว่าเพียงแค่นั้น มันไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ผมคิดว่าที่สังคมต้องการมากที่สุดตอนนี้คือ การเมืองที่สร้างสรรค์ อันนี้คือความกล้าที่แท้จริง เพราะอย่างที่เรารู้กัน การเมืองช่วงที่ผ่านมา ผมจะใช้คำว่ามันเป็นการเมืองที่ค่อนข้างสกปรกเลยก็ได้ มีการขายความขัดแย้ง ทุจริตคอร์รัปชัน มีประเด็นปัญหามากมาย เพราะฉะนั้นการที่จะเลือกที่จะอุทิศตนเพื่อที่จะทำการเมืองที่ขึ้นตรงกับประชาชนต้องอาศัยความกล้าครับ
กลับคำถามนิดหนึ่ง แล้วมีอะไรที่ไม่กล้าบ้างไหมครับ?
ยังคิดไม่ออกนะครับ (หัวเราะ)
พรรคกล้าคิดอย่างไรกับการยึดอำนาจ และการแทรกแซงทางการเมืองนอกระบบครับ
ผมไม่เห็นด้วยอยู่แล้วนะครับ (ถอนหายใจเบาๆ) ชีวิตนักการเมืองตลอด 17 ปีของผม โดนยึดอำนาจมาแล้ว 2 ครั้ง คิดรวมน่าจะประมาณ 7 ปีนะครับ
แล้วถามว่าการเมืองดีขึ้นไหม เหมือนกับคำกล่าวอ้างไว้แต่แรกว่าจะเข้ามาปฏิรูป มาทำให้การเมืองมันใสสะอาด ผมว่าวันนี้แย่กว่า 17 ปีที่ผมทำงานการเมืองมา ในแง่ของการใช้เงิน การใช้อำนาจ การรวมศูนย์อำนาจ ผมไม่เห็นมีการปฏิรูปอะไรที่ไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้แต่รัฐธรรมนูญที่จะปรับกติกาการเลือกตั้งให้มันมีความสมดุล ก็มีการใช้อำนาจเสียงข้างมากแก้มันกลับไปอีก
เพราะฉะนั้นถ้าถามผมว่า เห็นด้วยไหมกับระบบตอนนี้ ถ้าเห็นด้วยผมคงไม่ลงมาสมัครเป็นผู้แทนในระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตั้งแต่แรกนะครับ
แต่สมมติเปลี่ยนคำถามว่า แล้วนั่นหมายความว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเนี่ยดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเสมอหรือเปล่า คำตอบก็คือไม่ใช่อยู่ดี มันไม่ใช่สูตรสำเร็จนะครับ เพียงแต่ว่าสำหรับผม ถ้าเขามาจากประชาธิปไตย ประชาชนต้องร่วมกันรับผิดชอบนะ แล้วถ้ามันไม่ดีประชาชนมีสิทธิที่จะเปลี่ยนมันได้ นี่คือความต่างที่เป็นสาระสำคัญสำหรับผม
คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่มีความพยายามแก้ไขหลายรอบแต่สุดท้ายมักจะถูก ส.ว.ตีตก
ผมเท้าความนิดหนึ่งนะครับ ผมเป็นหนึ่งในคนที่ออกมาแสดงความเห็นต่อสาธารณะว่าผมไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ตั้งแต่ทำประชามติในปี 2559 โดยเฉพาะตัวคำถามพ่วงเรื่องอำนาจ ส.ว.
เพราะฉะนั้นพอมาตั้งพรรคกล้าเนี่ย เราเลยแสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่า อย่างน้อยที่สุดขอให้แก้เรื่องเดียวคือ อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ สำหรับผมประเด็นนี้ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นี้มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยที่สุด ถ้าแก้ตรงนี้ได้ ผมคิดว่าเรื่องอื่นๆ ยังพอว่ากัน ค่อยๆ ใช้ระบบรัฐสภาในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกันต่อไปได้ มีบางเรื่องที่ผมมองว่ามันเป็นการทดลองที่น่าสนใจด้วยซ้ำ เช่น เรื่องระบบเลือกตั้งที่เอาทุกคะแนนมานับเพื่อไม่ให้มีเสียงตกน้ำ ผมว่าหลักคิดนั้นเนี่ยเป็นหลักคิดที่ยุติธรรมต่อทุกคะแนนเสียง
จริงๆ ผมไม่คัดค้านการมี ส.ว. เลยนะ ผมมองว่าสำหรับประเทศอย่างเรา การมีองค์กรที่ไม่มาจากแหล่งอำนาจเดียวกัน มันอาจสร้างความสมดุลในการใช้อำนาจ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศได้นะครับ แต่การที่มี ส.ว. เพื่อการสืบทอดอำนาจเนี่ย มันผิดวัตถุประสงค์
ในมุมมองคุณกรณ์ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร เมื่อปี 2557 ซึ่งได้เสียงโหวตจาก ส.ว.แต่งตั้งจำนวนมาก กระทั่ง) ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ถือว่าสืบทอดอำนาจไหม
ผมว่าตามกติกา ต้องถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นนายกฯ โดยรวบรวมเสียงข้างมากในสภาล่าง (หมายถึง ส.ส.) ได้ ตรงนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเป็นนายกฯ รอบสองและตั้งรัฐบาลนะครับ ที่ผมไม่เข้าใจและก็ไม่เคยเห็นใครอธิบายว่า ทำไมเพื่อไทยถึงไม่ส่งใครลงแข่ง ทั้งที่มี ส.ส. มากที่สุดในสภา มีแคนดิเดตนายกฯ ตั้ง 3 คน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์, คุณชัยเกษม นิติสิริ แต่ไม่เสนอชื่อเลยสักคน กลับให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับสามเป็นผู้เสนอชื่อแทน ก็คือคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่ ณ ขณะนั้น)
เทียบกันระหว่างคุณประยุทธ์กับคุณธนาธร คุณประยุทธ์ ส.ส. มากกว่า popular vote ก็มากกว่า เพราะฉะนั้นผมถือว่าตามกติกา ไม่ได้มีอะไรที่ผิด แล้วก็แถมรวบรวมเสียงข้างมากได้เกินครึ่ง ถ้ารวบรวมไม่ได้เนี่ยผมว่าตั้งรัฐบาลไม่ได้หรอก
ส่วนตัวผม ไม่แน่ใจว่า ส.ว. จะกล้าสนับสนุนใครเป็นนายกฯ ทั้งๆ ที่ไม่มีเสียงข้างมากในสภาล่างไหม แต่ในวันนั้นเนี่ยประเด็นนี้ไม่ได้เป็นประเด็นขึ้นมาเพราะว่าพลังประชารัฐเขาสามารถรวบรวมเสียงได้
ผมแถมให้อีกประเด็น ย้อนกลับไปหลายยุคหลายสมัย เวลามีทหารมายึดอำนาจฝั่งการเมือง มักจะคล้ายท้าทายว่า แน่จริงลงเลือกตั้งสิ เราก็ต้องยอมรับนะครับว่า เออเขาก็แน่จริง แล้วเขาก็ลงเลือกตั้งจริง ผลออกมาจะอย่างไรก็แล้วแต่เราอย่าไปปฏิเสธคนที่เลือกเขานะครับ ความหมายของผมคือคนที่เลือกเขามาเพราะอยากได้เขาจริงๆ อย่าไปด้อยคุณภาพเสียงที่สนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่ง
เพราะถ้าคุณเริ่มด้อยค่าเสียงที่เลือกพรรคที่คุณไม่ชอบ นั่นคือคุณไม่มีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงนะครับ
คนที่จะเป็นนายกฯ ควรจะต้องเป็น ส.ส. ด้วย หรือว่าเป็นคนนอกได้
ในกรณีนี้ มันต่างจากสถานการณ์ทั่วไป ถึงคุณประยุทธ์ไม่ได้เป็น ส.ส. เราต้องยอมรับว่าแกเป็นแคนดิเดตนายกฯ อย่างเป็นทางการ เพราะกติกามันเปิดช่องให้ทำอย่างนั้น แต่แกไม่ได้เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียวที่ไม่ได้เป็น ส.ส. นะ ใครเป็นอีกคนหนึ่ง คุณชัชชาติครับ ถ้าจะกล่าวหาคุณประยุทธ์แบบนั้น ก็ต้องกล่าวหาคุณชัชชาติด้วยในตรรกะเดียวกัน
แต่ถ้าสมมติมันไม่มีกติกานี้ ผมคิดว่าอันนี้เนี่ยเป็นปัญหา เพราะว่านายกฯ ควรที่จะมาจากการเลือกตั้ง ไม่โดยตรงก็ทางอ้อมโดยประชาชน
พรรคกล้าประกาศว่าเป็นพรรค ‘ปฏิบัตินิยม’ แปลว่า พรรคกล้าพยายามวางตัวเองอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองหรือเปล่า
ไม่ถูก 100% เพราะเราเป็นพรรคการเมืองนะครับ การที่เราให้ความสำคัญเรื่องปากท้อง ไม่ได้หมายความว่าเราแยกเรื่องปากท้องจากการเมือง แต่ตรงกันข้ามเรากำลังบอกว่าเรื่องสำคัญที่สุดของการเมืองคือปากท้อง เศรษฐกิจนี่แหละสำคัญที่สุดทางการเมือง
เราไม่ได้ด้อยค่าเรื่องอื่นนะครับ เพียงแต่ว่าถ้าคนอยู่ดีกินดี มีโอกาส มีความก้าวหน้าในชีวิต สังคมมันจะมั่นคง แล้วหลายๆ ประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่ ณ วันนี้มันจะคลี่คลายไป
นโยบายเศรษฐกิจคือธงนำของพรรคใช่ไหมครับ
ใช่ครับ
ถามต่ออีกหน่อยว่า ทีนี้พรรคกล้านิยามของ ‘การเมือง’ ว่าอย่างไร
การเมืองคือเรื่องสาธารณะ มันเป็นเรื่องของทุกคน อยากใช้คำว่าหน้าที่ด้วยซ้ำที่ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการเมือง เพราะการเมืองมีผลต่อชีวิตของคนทุกคนนะครับ ส่วนร่วมในที่นี้มันมีได้หลายระดับ อย่างน้อยคือออกมาใช้เสียงมากขึ้นมาหน่อยคือ มาเป็นสมาขิกพรรค มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในพรรค ขึ้นมาอีกระดับหนึ่งก็คือมาเป็นผู้สมัคร มาเป็นทีมงาน สุดแล้วแต่ที่คุณจะเลือก
ที่สำคัญคือไม่ควรที่จะปล่อยให้การเมืองมันเป็นเรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือกลุ่ม elite ที่จะมากำหนดแนวทาง และสร้างกฎเกณฑ์กติกาให้กับคนอื่นทุกๆ คนครับ
สังคมเรากำลังเผชิญภาวะความเหลื่อมล้ำถ่างกว้าง หัวโตตัวลีบ มองปัญหาตรงนี้อย่างไร มีวิธีแก้มันไหม
สำคัญที่สุดคือคำว่า ‘โอกาส’ แล้วผมคิดว่าพรรคกล้ามีหน้าที่สร้างโอกาสให้กับประชาชนคนไทยทุกคน ถ้าคุณมีโอกาสแล้วจะไขว่คว้าต่อไหม มีโชคไหม หรือมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะใช้โอกาสนั้นให้เป็นโอกาสสูงสุดอย่างไร มันเป็นประเด็นต่างหากแล้วครับ แต่จุดเริ่มต้นที่ดีคือต้องมีโอกาส ซึ่งประเทศไทยเราตรงนี้ยังเป็นปัญหา
สมมติเทียบกับสมัยผมเริ่มทำงานเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นอารมณ์ความรู้สึกของคนรุ่นผมที่เรียนจบแล้วกำลังเริ่มชีวิตการทำงานคือ ประเทศไทยเราโอกาสโคตรดีเลย ตอนนั้นผมจบปริญญาตรีแล้ว ทำงานเมืองนอกได้ 2 ปี ผมตั้งคำถามกับตัวเองนะว่าจะอยู่เมืองนอกเลยไหม หรือจะกลับมาสร้างเนื้อสร้างตัวที่บ้านเกิด สุดท้าย ผมไม่ต้องใช้เวลาคิดมาก ผมตัดสินใจกลับมาเลย เพราะตอนนั้นเนี่ย ไม่มีที่ไหนที่ให้โอกาสได้ดีเท่ากับประเทศไทยหรอก
แต่ถามว่าคนรุ่นนี้ที่เพิ่งจบปริญญาตรีหรือโท มันมีความรู้สึกแบบที่พวกรุ่นผมเคยมีไหม ผมสัมผัสได้ว่าคำตอบคือ ไม่มีนะครับ และไม่ใช่แค่ความรู้สึก เพราะถ้าเทียบตัวเลข GDP สมัยนั้นโตปีละ 7-8% สมัยนี้ 1-2% ถือว่าเก่งแล้วนะครับ
สมัยนั้นการลงทุนต่างประเทศทะลักเข้าในประเทศไทย สัดส่วนการลงทุนตรง (FDI) จากต่างประเทศที่เข้ามาในอาเซียน 10 ประเทศเนี่ยมาที่ไทยเกือบครึ่งคือ 40% เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่แค่ผมที่มองว่าโอกาสประเทศเราดี คนทั้งโลกเขาก็มองว่าประเทศเราน่าลงทุน แต่ถ้าเราไปดูตัวเลขวันนี้เหลือประมาณ 10% มันสะท้อนให้เห็นว่าบรรยากาศมันต่างกัน บรรยากาศที่ต่างกันคือโอกาสที่ต่างกันนะครับ
สมัย 30 ปีก่อนหน้านี้มันมีความเชื่อเลยว่า ภายใน 30 ปีฐานของชนชั้นกลางจะใหญ่มาก แล้วมาตรฐานชีวิตของชนชั้นกลางในประเทศไทยจะดีขึ้นมาก แต่วันนี้เนี่ยผมคิดว่ามันกลับกัน คนที่ถูกบีบมากๆ คือชนชั้นกลาง ทั้งภาษี รายได้ไม่เพิ่ม ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมาก ชนชั้นกลางรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนไม่ไหวแล้ว ส่งลูกเรียนโรงเรียนเอกชนไม่ไหวเหมือนกัน
ผมเชื่อเรื่องของนโยบายอย่างแรงกล้า แต่หลายปัญหาที่เกิดขึ้น มันเริ่มต้นจากการเมืองที่ไม่สุจริต การเมืองที่นับวันเนี่ยพึ่งพาการใช้ใช้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงระดับที่ผมคาดไม่ถึง คือเข้ามาในวงการการเมืองเกือบ 20 ปี เราต้องหวังใช่ไหมว่าเวลาผ่านไปอิทธิพลของเงินต่อการเมืองมันจะต้องน้อยลง กลับกลายเป็นตรงกันข้าม การเมืองที่ต้องพึ่งพาเงินมากขึ้น แล้วเงินนั้นมาจากไหน ก็มาจากผู้ที่ต้องการได้ความได้เปรียบจากอำนาจทางการเมือง ก็อาจจะเป็นเรื่องสัมปทานบ้าง เรื่องงานที่ได้จากรัฐบ้างนะครับ ซึ่งทั้งหมดนี้เนี่ยมันก็เท่ากับสุดท้ายแล้วเป็นการปิดโอกาสการแข่งขันที่เป็นธรรม เมื่อไม่มีการแข่งขันที่เป็นธรรมเนี่ย สิ่งที่จะเห็นก็คือสภาพโครงสร้างเศรษฐกิจแบบที่เรามีอยู่วันนี้
เปรียบเทียบกับอเมริกา เมื่อ 20 ปีที่แล้วกับวันนี้เนี่ย รายชื่อบริษัทชั้นนำของเขาพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ GE, Walmart ..หายไปไหน เดี๋ยวนี้กลายเป็น tech company หมด หันมาดูประเทศไทยเรา ชื่อเดิมหมดเลยครับ ปตท., การท่าอากาศยาน และที่น่าสังเกตคืออะไร ส่วนใหญ่ถ้าไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็รับสัมปทานจากรัฐ หรือมีอำนาจผูกขาดทางการตลาด
พวกนี้เนี่ยไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่งนะครับ เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้ช่วงชิงความเป็นผู้นำจากนวัตกรรม เขาช่วงชิงความเป็นผู้นำจากความสัมพันธ์ที่มีกับรัฐบาล นี่คือหนึ่งในประเด็นปัญหาโครงสร้างของเราที่ต้องมีการแก้ไข เราถึงจะเกิดโอกาสและการแข่งขันที่เป็นธรรมได้
สิ่งที่สังคมไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มองว่าเป็นปัญหามาก คือระบบที่เอื้อนายทุนใหญ่
ที่น่าเศร้าคือไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ตอนนี้ แต่พูดกันมานานแล้ว ตั้งแต่ผมยังเป็นคนรุ่นใหม่นะครับ
ผมขอแนะนำนิดหนึ่งนะเพื่อไม่ให้จิตตก และเพื่อให้รู้สึกมีพลังบวกนะครับ ผมอยากเห็นทุกคน รุ่นใหม่รุ่นเก่าทำในสิ่งที่ตัวเองสามารถจะทำได้ แทนที่จะรอวันที่จะมีใครมาแก้ระบบที่เรามองว่าเป็นปัญหา เพราะการแก้ระบบเนี่ยมันเป็นเรื่องที่ต้องมีกระบวนการ
ความหมายของผมคือ ถ้าผมลองเปรียบเทียบกับตัวเอง ผมโตเมืองนอก โตในประเทศที่เขามีเวลาในการหลุดออกจากระบบอุมถัมภ์ไปได้แล้วระดับหนึ่ง ผมก็เรียนรู้ว่าสาเหตุที่ระบบอุปถัมภ์มันยังมีอิทธิพลสูงมากในสังคมไทยเป็นเพราะความยากจน และนี่คือสาเหตุที่ผมมองว่าปากท้องและเศรษฐกิจสำคัญที่สุด มันจะนำไปสู่การมีประชาธิปไตยในรูปแบบที่เราอยากเห็นได้นะครับ อันนี้คือความเชื่อส่วนหนึ่งของผม
สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ชอบตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ คือ การอาศัยเส้นสายพรรคพวกในการสร้างความก้าวหน้าหรือความได้เปรียบ ผมอยากเห็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับ merit ให้ความสำคัญกับความสามารถและการกระทำมากกว่า ผมอาจจะเป็นหนึ่งในนักการเมืองไม่กี่คนที่ไม่เคยเข้าเรียนหลักสูตรอะไรเลย คือผมไปบรรยายให้กับหลักสูตรโน้นหลักสูตรนี้ ผมเห็นประโยชน์ว่ามันหลักสูตรที่ได้เรียนรู้พอสมควร แต่ถามจริงเถอะเหตุผลและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงเกือบ 100% ของคนที่เข้าไปเรียนเนี่ย เพราะอะไร…
คอนเน็กชั่น
คอนเน็กชั่น คำนี้นี่มันเป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้งและกว้างขวางมากในสังคมไทย สิ่งที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะในแวดวงเศรษฐกิจคือคอนเน็กชั่น และวิธีดีที่สุดในการหาคอนเน็กชั่นคือไปเรียนหลักสูตรที่เผื่อว่าจะได้เจออธิบดีจากกระทรวงนั้น ว่าที่นายกรัฐมนตรีจากพรรคโน้น หรือนายทุนใหญ่ที่อาจมาร่วมทำธุรกิจอะไรต่อไปในอนาคต คนไทย/นักบริหารไทยใช้เวลากับการหาคอนเน็กชั่นสูงมาก ซึ่งสำหรับผมหลักสูตรพวกนี้มันคือการปลูกฝังระบบอุปถัมภ์อย่างเป็นระบบ
นั่นคือสิ่งหนึ่งที่ผมตัดสินใจกับตัวผมเองว่า เอาหละ ผมจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วม
ผมไม่เคยไปว่านะที่อยากจะเรียน ผมเข้าใจเลยจริงๆ แต่ถามว่า ถ้ายกเลิกมันไปได้เลยซะทั้งหมดเนี่ยจะดีไหม ผมว่าดีนะครับ แล้วก็มันก็จะทำให้คนที่เขาอยู่ข้างนอกวงเนี่ย เขาจะไม่ได้เสียเปรียบมากเกินไป เขามีโอกาสที่อาจจะเท่าเทียมกันมากขึ้นนะครับ
วิกฤตโรคระบาด ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนปัญหาโลกร้อน ทำให้สังคมรู้สึกไม่มั่นคงและมักพูดถึงแนวคิด ‘รัฐสวัสดิการ’ ขึ้นมาบ่อยครั้ง พรรคกล้ามองประเด็นนี้อย่างไร
นั่นคือเป้าหมายในอุดมคติเลย เรื่องความมั่นคงและการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว แต่ทางด้านสังคม ผมมองว่าการดูแลผู้ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ และส่งเสริมผู้ที่มีความสามารถให้เขามีความก้าวหน้า รัฐควรมีบทบาททั้งในฐานะโค้ชหรือผู้สนับสนุน และบทบาทในฐานะหมอและพยาบาลในการดูแล
เมื่อเทียบกับชีวิตตอนที่ผมทำธุรกิจก่อนที่จะมาทำงานการเมือง สมัยนั้นชีวิตค่อนข้างตรงไปตรงมา เป้าหมายของเราชัดเจนคือช่วงชิงลูกค้า ไม่จำเป็นต้องสนใจว่าคู่แข่งของเราจะเป็นอย่างไร ความรับผิดชอบเรามีแค่ stakeholder คือลูกค้า-ผู้ถือหุ้น-เจ้าหนี้-พนักงาน 4 กลุ่มเท่านั้น แต่พอมาทำงานการเมือง ทุกคนเป็น stakeholder ที่เราต้องดูแล แม้แต่คนที่ไม่ได้เลือกเรามา เพราะฉะนั้น ในส่วนนี้ผมมองว่าการเมืองสลับซับซ้อนกว่าการทำธุรกิจ และหน้าที่ของผู้มีอำนาจทางการเมืองคือดูแลผู้ที่แข่งขันไม่ได้ หรือไม่สามารถที่จะดูแลตัวเองได้ด้วยเหตุผลต่างๆ อาจจะเป็นเพราะชราภาพ หรือเพียงแค่กูไม่เก่งอะ อะไรอย่างนี้นะครับ
สำหรับแนวคิดรัฐสวัสดิการ คำที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่คือ ‘รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า’ (universal basic income หรือ UBI) หลักคิดของ UBI ที่ว่ารัฐมีหน้าที่ดูแลให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดี มันเป็นหลักคิดที่ผมเห็นด้วยนะครับ แต่สุดท้ายแล้ว ก็ต้องขึ้นกับศักยภาพของประเทศเรา
ผมเคยนั่งคำนวณดูว่า ถ้าประเทศไทยจะมี UBI แจกให้ทุกคนประมาณ 10,000 บาท/เดือน ทำได้ไหมและต้องใช้เงินเท่าไร ผมพบว่ามันต้องใช้เงินมหาศาล แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ซะทีเดียว แต่ก็ต้องมานั่งตั้งคำถามกันดีๆ อีกว่า มันจะส่งผลข้างเคียงอย่างไร เพราะไม่ว่านโยบายดีแค่ไหน ก็มีผลข้างเคียงหมด ซึ่งหน้าที่ของผู้มีอำนาจบริหารก็คือตัดสินใจว่า มันคุ้มหรือไม่คุ้มนะครับ
เปรียบเทียบดูกับประเทศในอุดมคติในเรื่องรัฐสวัสดิการ กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ที่รัฐดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ในแง่ของอัตราภาษี ประเทศสแกนดิเนเวียมีรายได้จากภาษีประมาณ 55% ของ GDP ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกลุ่ม OECD ทุกประเทศมีรายได้จากภาษีเฉลี่ยที่ 35% ของ GDP ขณะที่ไทยมีรายได้ตรงนี้อยู่ที่ 17% ของ GDP ถ้าเราเพิ่มภาษีขึ้น 2 เท่า ไทยเราจะมีเงินภาษีเพิ่มกลับเข้ามาในมือรัฐบาลประมาณ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถเอาไปทำเรื่องสวัสดิการได้อีกเยอะเลย
แต่ยกตัวอย่าง ทุกวันนี้คนก็ออกมาโวยวายเรื่องราคาน้ำมันแพง ซึ่งคุณก็รู้ว่าราคาน้ำมันมันแพงเพราะอะไร เพราะภาษีสรรพสามิต ดังนั้น ถ้าจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลงคือยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิต สิ่งที่ผมกำลังจะบอกคือ เราพร้อมจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะได้รัฐสวัสดิการมาไหม แล้วใครจะเป็นคนจ่ายบ้าง เพราะขนาดน้ำมันแพง เรายังด่ารัฐบาลอยู่ทุกวันเลย อยากให้เขายกเลิกภาษีสรรพสามิตน้ำมัน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการรัฐสวัสดิการด้วยนะ แล้วคุณจะให้เขาไปเก็บภาษีจากใคร
ผมยอมรับว่ามันมีภาษีบางตัวที่วันนี้เราเก็บน้อยไป เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่รัฐบาลขยายเวลาปรับลดไปอีก 2 ปี มันก็สะท้อนให้เห็นว่าแทนที่รัฐบาลจะลดภาษีที่คนยากจนแบกอยู่อย่างภาษีน้ำมัน กลับไปลดภาษีที่ดินฯ ซึ่งโดยนิยามก็คือภาษีที่คนมีทรัพย์สินต้องจ่าย มันจึงเป็นคำถามว่า ถ้าเราจะเก็บภาษีมากขึ้นจริงๆ มันจะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจ และจะมีผลอย่างไรต่อผู้ต้องเสียภาษีรายอื่นๆ
พูดโดยสรุป รัฐสวัสดิการเป็นเป้าหมายที่ดี และสังคมไทยก็ค่อยๆ คืบไปสู่จุดนั้นมาโดยตลอด อย่างที่ผ่านมาก็เริ่มมีเบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยดูแลเด็กแรกเกิด มีการดูแลรายได้ของเกษตรกร เช่น จำนำข้าวหรือประกันรายได้ มันมีกลไกท่ีดูแลกลุ่มที่อ่อนแอที่สุดตามความเหมาะสมแล้ว เพียงแต่เรายังไปไม่ถึงจุดที่เราจะดูแลทุกคนในรูปแบบของ universal เท่านั้นเอง
เราพยายามจะไปถึงจุดนั้นจริงๆ ใช่ไหม
ผมวกกลับมาประเด็นที่ผมมองว่าสำคัญที่สุดทางการเมืองคือเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจเราดีขึ้น รายได้ของรัฐมีมากขึ้น รัฐก็สามารถที่จะมีรายได้เพียงพอดูแลประชาชนมากขึ้น หรือมองในแง่ตรงกันข้าม ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น โอกาสทำมาหากินของประชาชนดีขึ้น อารมณ์ความรู้สึกพึ่งพารัฐก็จะน้อยลงเช่นกัน
เรื่องเศรษฐกิจจึงสำคัญที่สุด และบางทีเราไปโฟกัสที่ความขัดแย้งในบางเรื่องที่ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องที่เราอยากได้หรืออยากพัฒนาครับ
ในมุมมองของพรรคกล้า ความเท่าเทียมมีความหมายอย่างไร
อันดับแรกคือเรื่องของโอกาสครับ เกิดมาจน เกิดมารวยมันเป็นเรื่องปกติ แต่เกิดมาแล้วทุกคนควรจะต้องมีความมั่นใจว่ามีโอกาสที่จะก้าวหน้าในชีวิต
แต่ว่าบางทีที่จะสร้างความเท่าเทียมในโอกาส บางครั้งมันต้องมี ‘ระบบแต้มต่อ’ ไม่งั้นเนี่ยมันก็ไม่ได้เป็นการแข่งขันที่ยุติธรรมซะทีเดียว สมมติมีแข่งกีฬาที่ต่างรุ่นกันมากๆ มันก็ต้องมีแต้มต่อให้ตามศักยภาพ เพื่อมันจะได้มีการแข่งขันที่สมน้ำสมเนื้อมากขึ้น มีความเป็นธรรมมากขึ้น ความเท่าเทียมสำหรับพรรคกล้าน่าจะเป็นประมาณนี้
ขณะอนุญาตข้ามไปถามเรื่องการเมือง ระยะหลังมีการหยิบประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาพูดกันมากขึ้น คุณกรณ์คิดว่าเรื่องนี้ควรจะถกเถียงกันได้ไหม
เอิ่ม (ลากเสียง) ผมมองว่าใครจะเอาเรื่องอะไรมาพูดมันก็เป็นเรื่องของเขา แต่ถามว่าในทางปฏิบัติ นี่คือเรากลับมาที่หลักปฏิบัตินิยมของพรรคว่า พูดแล้วมันนำไปสู่อะไร พูดแล้วมันนำไปสู่อะไร เป้าหมายของผมคือให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ประชาชนมีโอกาสที่จะมีความก้าวหน้าในชีวิต ซึ่งจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ ผมว่ามีเรื่องที่ต้องทำเยอะมาก เช่น แก้ระบบราชการ
ในขณะที่การหยิบยกบางเรื่อง เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมา มันเกิดความขัดแย้งทันที สภาพสังคมในความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น ซึ่งเมื่อไปเกิดความขัดแย้งแบบนี้เนี่ย มันมีผู้ได้ประโยชน์นะครับ แต่ไม่ใช่ประชาชน ไม่ใช่ประเทศชาติ ถามหน่อยครับตลอดช่วงความขัดแย้งกัน ประเทศเราไปไหนได้ไหม มีความก้าวหน้าไหม แล้วพวกเราก็มานั่งบ่นกันว่าสูญเสียโอกาส ก็เป็นเพราะว่ามามัวแต่ทะเลาะกัน หรือมีความขัดแย้งกันในเรื่องที่สังคมมันยังมีความเห็นที่ต่างกันในระดับสูง
มันมีศัพท์ภาษาอังกฤษศัพท์หนึ่งที่เขาใช้ในทางธุรกิจ เขาบอกว่าเป็นหลักการ ‘agree to disagree’ เรามีความเห็นในเรื่องนี้ที่ไม่ตรงกัน แล้วพักเรื่องนั้นไว้ก่อน แล้วก็เรื่องอื่นมีเรื่องอะไรอีกที่คุณมองว่าสำคัญมาก รัฐสวัสดิการ เรามาดูกันว่าทำอย่างไรได้บ้าง หรือการแข่งขันไม่เป็นธรรมในภาคธุรกิจ มาดูว่าแก้กันอย่างไรดี ถ้าเป็นแบบนี้ เราเดินไปข้างหน้าได้นะครับ นั่นคือมุมมองผม
ยังมีกรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีเสียงเรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไข หรือกระทั่งยกเลิกไปเลย พรรคกล้ามีจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างไร
ผมมองว่า มาตรา 112 ต้องมีนะครับ เพราะว่าเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะฉะนั้นเราต้องมีกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองสถาบัน จะให้ตัวสถาบันฯ หรือกษัตริย์ใช้สิทธิในการฟ้องร้องประชาชน ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเขาทำกัน
พรรคกล้าเนี่ยเราพูดชัดมาตลอดว่า เราต้องพยายามสร้างกระบวนการที่จะขวางไม่ให้ใครเอากฎหมายนี้ไปใช้ทางการเมือง หรือกลั่นแกล้งคู่ขัดแย้งนะครับ สมัยที่ผมเป็นรัฐบาล (ระหว่างปี 2551-2554 กรณ์เป็น รมว.คลังในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เราทดลองและประสบความสำเร็จในการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาว่ามีความเหมาะสมไหมที่จะดำเนินมาตรา 112 กับจำเลย เราต้องยอมรับว่าบางทีทั้งตำรวจและอัยการไม่กล้าที่จะใช้วิจารณญาณในคดีนี้ ใครร้องเรียนมาสั่งฟ้องเลย ฉะนั้นเราต้องมีระบบอะไรบางอย่างที่จะทำให้เขามีที่ยึด โดยไม่ต้องมีการใช้กฎหมายนี้ ซึ่งผมว่ามันจะดีกับทุกคน รวมไปถึงดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย
คุณอรรถวิชช์ (สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า) เคยไปยื่นข้อเสนอให้ รมว.ยุติธรรมคนปัจจุบันพิจารณาว่า รัฐบาลควรพิจารณาตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ การใช้มาตรา 112 กลับมาอีก
ระยะหลังๆ มีคนมองว่า มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่ากฎหมายคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์
ถูก นี่คือสาเหตุที่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราตั้งคณะกรรมการนี้ขึ้นมา เพราะว่ามันเป็นเช่นนั้นมาทั้งตอนนั้นและยุคก่อนหน้านั้นด้วย นั่นทำให้รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ขึ้นมาก็เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้
แต่ผมคิดว่าขณะเดียวกัน เราต้องไปดูตามกรณีเหมือนกัน ไม่ว่าน้องที่ถูกจำคุกหรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า ในสาระของข้อกล่าวหา มันมีข้อเท็จจริงอย่างไร พูดง่ายๆ ผมกำลังจะบอกว่ามันไม่ใช่ทุกกรณีที่มีการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งทางการเมือง แต่เราต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง
คุณกรณ์เคยเรียนและอยู่ที่อังกฤษ มองว่าระบบ constitutional monarchy ของอังกฤษเป็นอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกับไทยไหม
ผมคิดว่าทั้ง 2 ประเทศมองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีความสำคัญกับสังคมนะครับ ทั้งเป็นเสน่ห์ด้วย แล้วย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ต้องถือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีผลอย่างมากต่อตัวตนของประเทศนั้นๆ จนถึงวันนี้ มันมีอะไรคล้ายกันเยอะ แน่นอนที่สุดคือ ในส่วนของบทบาทตามรัฐธรรมนูญ
ช่วงที่ผมอยู่ที่อังกฤษมีบางช่วงที่ประชาชนตั้งคำถาม หรือบางช่วงก็พึงพอใจต่อท่าทีของกษัตริย์เขา มันขึ้นๆ ลงๆ เหมือนกัน แต่สุดท้ายความรู้สึกรวมๆ คือ ทุกคนพยายามช่วยกันรักษาสถาบันไว้ ประมาณนี้ครับ
ระบบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในความเข้าใจของคุณกรณ์และพรรคกล้าเป็นอย่างไร
(เงียบคิด) เป็นระบบที่ผู้มีอำนาจจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารจัดการงบประมาณที่มาจากประชาชน แล้วก็มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่พึ่งทางใจ รวมกับเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของความเป็นไทย นั่นคือสาเหตุที่ในฐานะนักการเมือง ผมพยายามหลีกเลี่ยงพาดพิงถึงพระองค์ท่าน เพราะผมมองว่าจริงๆ แล้วสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง
สาเหตุที่ต้องอยู่เหนือการเมืองเพราะเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าการเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางความคิด ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ้างถึงสถาบัน มันก็มีแนวโน้มโอกาสที่จะทำให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับชุดความคิดของฝ่ายนั้น กลายเป็นไม่เอาสถาบันไปด้วย ซึ่งผมคิดว่านั่นคือความเสียหายอย่างมหันต์ของบ้านเมือง
ถ้าพูดกันตามตรง ผมมองว่านั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเราบางคนเลือกที่จะแสดงความจงรักภักดีด้วยการยึดท่านไว้เหนือความขัดแย้ง เหนือการเมือง ด้วยความเชื่อว่าท่านรักประชาชนคนไทยทุกคนเท่ากัน ท่านไม่เคยเลือกข้าง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่าประเด็นปัญหาก็จะลดน้อยลง
ผมคิดว่าพรรคการเมืองควรแข่งกันที่เรื่องนโยบายอื่น เช่น เศรษฐกิจ วิธีการพัฒนาประเทศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม มีปัญหามากมายที่ต้องการข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ของนักการเมืองและพรรคการเมือง นั่นแหละคือหน้าที่ของพวกเรา และนั่นคือความหมายของการเมืองสร้างสรรค์ของพรรคกล้า นั่นคือความเสี่ยงที่พวกเราพยายามที่จะทำอยู่ทุกวันนี้ ยาก แต่ว่าถึงได้บอก บอกว่าสุดท้ายคือมันต้องอาศัยความกล้าที่จะทำงานการเมืองแบบนี้
เวลามีคนถามผมบอกว่า “เอ๊ะทำไมไม่ชัดเจน?” ผมรู้เขากำลังหมายถึงอะไร ผมมีคำตอบของผมก็คือ แล้วทำไมผมต้องชัดเจน เมื่อผมชัดเจนในเรื่องนโยบายอยู่แล้วว่าจะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้อย่างไร ทำไมผมต้องไปชัดเจนในเรื่องที่คุณเลือกให้ผมชัดเจน
ถ้าผมมองว่าเรื่องที่สำคัญกับประชาชนมากกว่าคือเรื่องปากท้อง ผมก็เลือกที่จะชัดเจนในเรื่องนี้ ถามกลับว่าคุณชัดเจนไหมในเรื่องนั้น
[ หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2564 ]