“คนทยอยล้มป่วย ไม่ก็เสียชีวิต เด็กรุ่นใหม่ที่อยากเข้าอุตสาหกรรม ก็เลือกที่จะไม่เข้าเพราะเห็นสภาพการทำงานที่เลวร้าย คนที่อยู่ก็อยากออกเพราะต้านทานการทำงานหนักไม่ไหว” ณัฐนันท์ สมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ กล่าว
เมื่อไม่นานมานี้ เกิดเหตุสลดขึ้นเมื่อพนักงานตีสเลทเสียชีวิต จากการโหมงานหนัก จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อคุณภาพชีวิตอันเลวร้ายของแรงงานในกองถ่าย โดยเฉพาะทีมงานใต้เส้น (below-the-line) เช่น ผู้ช่วยผู้กำกับ ฝ่ายแต่งหน้าทำผม ทีมจัดไฟ และนักศึกษาฝึกงาน
อย่างไรก็ดี แรงงานเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ ‘คนกอง’ หรือ ‘แรงงานกองถ่าย’ ที่ทุกคนต่างยึดโยงเข้าหากันภายใต้กระบวนการผลิตภาพยนตร์ (production) ต่างเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม
แต่ระหว่างเดียวกันนั้น กองถ่ายยังขาดการส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัย การคุ้มครองชั่วโมงการทำงานและรายได้ที่เป็นธรรม จนส่งผลคนกองส่วนมากประสบอุบัติเหตุและเหนื่อยล้าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรภาคแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีอายุงานสั้น ไม่สามารถทำงานนี้ไปจนวัยเกษียณ
ด้วยปัญหาที่ทับถมในแวดวงกองถ่าย The MATTER จึงพูดคุยกับแรงงานถึงสภาวะการทำงานที่พวกเขาประสบ รวมถึงสอบถามข้อคิดเห็นจาก ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์ ที่ออกมาแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ และตัวแทนจากกลุ่มสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ (CUT) เพื่อตีแผ่เรื่องราวและแนวทางการแก้ไขที่อาจเป็นไปได้
เรื่องมากไม่มีงาน รับงานน้อยไม่พอกิน
กอล์ฟ (นามสมมติ) ช่างภาพฟรีแลนซ์ ระบุถึงแวดวงกองถ่ายให้เราฟังว่า การทำงานเพื่อผลิตมิวสิควีดิโอและโฆษณาส่วนใหญ่ใช้เวลาในการทำงานอยู่ที่ 12 ชั่วโมง หากเป็นซีรีส์จะอยู่ที่ราว 14 ชั่วโมง
เขาชี้ว่า แม้กองมิวสิควีดิโอจะมีระยะการทำงานเท่ากับโฆษณา แต่โดยหลักแล้วหากทำงานเกิน 12 ชั่วโมง กองโฆษณาจะมีค่าล่วงเวลาให้ (OT) เนื่องด้วยงบประมาณที่สูงกว่า
“สำหรับผมแล้ว ผมค่อนข้างรับไหว ต่างกับคนที่ไม่ใช่ key man อย่าง ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ตากล้อง พวกเขาจำเป็นต้องรับงานเยอะมากๆ เพราะด้วยค่าตอบแทนที่ไม่พอ”
เขากล่าวถึงทีมงานที่เป็นช่างไฟว่า บางคนทำงาน 12 ชั่วโมง ได้รับค่าจ้างประมาณ 1,000-1,500 บาท หรือแม้แต้ทำงานยาวถึง 14 ชั่วโมงก็ได้เงินเท่าเดิม ทว่าหากทำเกิน 14 ชั่วโมง ก็จะได้ OT ที่นำค่าตัวมาหาร 6 อีกที เช่น ค่าจ้าง 1,500 หาร 6 เท่ากับ 250 บาท ต่อชั่วโมง
แต่หากนำเงินจำนวนนี้เทียบกับสิ่งที่พวกเขาต้องทำ มันไม่คุ้มเลย เพราะตามความจริงแล้ว ก่อนจะออกกองครั้งหนึ่งต้องไปขึ้นของที่ออฟฟิศ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าชั่วโมง พอเขาออกกองเสร็จเขาก็ต้องกลับไปลงของที่ออฟฟิศ ซึ่ง 14 ชั่วโมง ไม่ใช่ 14 ชั่วโมงจริงๆ แต่ตีเป็น 16-17 ชั่วโมง และถ้ามีงานต่อก็ต้องรับ
และสำหรับคนกองบางคน ก็ไม่สามารถรับหนึ่งงาน แล้วมีชีวิตอยู่ได้กับสภาวะทางสังคมที่ต้องใช้จ่ายตลอดเวลา ถ้าเขาไม่ทำ ก็จะมีคนอื่นเข้ามาทำแทน ซึ่งสำหรับเราต้องแก้ไขได้แล้ว แต่มองว่าแก้ค่อนข้างยาก จนเด็กใหม่จะหวังพึ่งการเติบโตในวงการนี้อย่างไร
เขาบอกว่า การแข่งขันในวงการนี้สูงมาก ถ้าไม่ทำ เรื่องมาก ไม่พอใจ ก็จะไม่มีงานทำ เพราะมีคนมากมายที่พร้อมจะเข้ามาแทนที่ กอล์ฟยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า บางทีคนที่ออกกองด้วย เพิ่งเสร็จอีกงานเมื่อตอนตี 5 ต้องรีบกลับบ้านไปเพื่ออาบน้ำ เพราะงานถัดมาเริ่มช่วงเช้า ทำให้พวกเขาไม่มีเวลาแม้แต่จะพักผ่อน
“ผมรู้สึกว่าลิมิตในการทำงานของมนุษย์ควรไม่เกิน 12 ชั่วโมง เพราะเท่าที่ประสบมากับตัวเอง หลังจาก 12 ชั่วโมง สมองแทบจะไม่รู้เรื่องอะไรแล้ว เคยหลับคากล้อง”
ดังนั้นเขาคิดว่า กองถ่ายจำเป็นบริหารงบประมาณและเนื้องานให้สอดคล้องกัน สมมติโปรดิวเซอร์รู้ว่างานนี้ต้องลากยาวแน่ๆ ก็ควรปรับเป็นถ่าย 2 วัน เพื่อให้คนทำงานได้ turn around เพื่อไปพักผ่อน
“พวกเขาเหมือนเลือกไม่ได้ ถ้ามีงานมาก็ต้องรับไว้ก่อน และการทำงานเกินหลายชั่วโมงก็ไม่ได้รับ OT ด้วย นอกจากนี้ คนที่ไม่ใช่ key man ยังถูกเลือกปฏิบัติ” เช่น กองโฆษณาเวลากินข้าว ลูกค้า ผู้กำกับ หรือโปรดิวเซอร์ จะได้รับอาหารที่ถูกห่อด้วยพลาสติกไว้อย่างดี ตรงกันข้ามกับทีมงานใต้เส้นที่มักต้องไปต่อแถวเพื่อตักอาหาร ซึ่งทำให้รู้สึกถึงความเป็นชนชั้น แต่ยอมรับว่าในปัจจุบันเกิดขึ้นน้อยลงแล้ว
กอล์ฟพูดว่า ปัญหากองถ่ายเป็นปัญหางูกินห่าง เพราะคนข้างบนเคยจัดงบไว้เท่านี้ เขาก็คิดว่าทำไมต้องจ่ายเพิ่มเพียงเพื่อให้คนทำงานมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น ทำให้คนที่รับงานต่อลงมาเรื่อยๆ ก็ต้องจัดการกับงบที่ได้รับ ดังนั้นแล้ว จึงต้องแก้ที่กฎหมายถึงจะแก้ที่นายทุนได้ เพราะนายทุนต้องจัดการประมาณให้เหมาะสมกับสเกลงาน และต้องไม่กระทบกับสวัสดิการของคนทำงาน
“นับถือคนที่ออกมาตีแผ่ปัญหาในกองถ่ายมากเลย เพราะการพูดสิ่งนี้ไปอาจทำให้ไม่มีงานได้ เพราะวงการนี้เล็กมาก นิดเดียวก็รู้แล้วว่าเป็นใคร มันน่ากลัวมาก”
ส้ม (นามสมมติ) ฝ่ายจัดการกองถ่าย เธอทำตำแหน่งนี้มาราว 7 ปี ซึ่งปัจจุบันเน้นทำเป็นมิวสิควิดีโอและโฆษณา เธอกล่าวว่าตลอดที่ผ่านมา ไม่เคยพอใจกับการทำงานเลย เพราะส่วนใหญ่ทำเกิน 12 ชั่วโมง และหลังจากนั้นยังต้องเคลียเอกสารและของอีก ตีไป 2-4 ชั่วโมง และการทำงานล่วงเวลาไม่เคยได้รับ OT เลย เพราะตำแหน่งที่เราทำเป็นรูปแบบการเหมา
“ที่หนักสุดที่เคยเจอคือ เริ่มงาน 11 โมง แต่เลิกอีกที 6 โมงเช้าของอีกวัน ซึ่งไม่ตรงตามที่ดีลกันไว้ และเรายังมีต้องไปทำงานอีกงานต่ออีกด้วย และยังเคยทำงานติดกัน 2 วัน”
ส้มระบุว่า ตำแหน่งเธอคือคอย check up ทีมงานว่า ไหวหรือไม่ไหว จึงพอทราบว่าตำแหน่งที่รับงานซ้อนและทำงานเกือบทุกวัน มักจะเป็นทีมกล้อง ทีมไฟ ทีมอาร์ต ซึ่งก็มีบ่นกับเธอบ้างว่า “เหนื่อย ไม่ได้นอน” จบลงที่หลับในกอง เธอก็ปล่อยให้หลับ เพราะรู้ว่าเหนื่อยล้าจากการรับงานเยอะ
“การล้มป่วยและเสียชีวิตของคนกองเป็นเรื่องผิดปกติและไม่ใช่เรื่องใหม่ๆ ที่ผ่านมาเกิดประเด็นเช่นนี้บ่อยครั้ง”
ส้มชี้ว่า งบตั้งต้นมาน้อย แต่อยากได้เงินเยอะ ทำให้คนข้างล่างต้องบริหารงบประมาณ การทำงานจึงมักล่วงเลยเกิน 12 ชั่วโมง ฉะนั้นต้องมีตรงกลางหรือกฎหมายที่กำหนดว่างบตั้งต้นต้องมีจำนวนเท่าไหร่ ถึงจะเพียงพอเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ และแรงงานไม่ถูกกดขี่ แรงงานกองถ่ายส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ และตอนนี้เหมือนทุกคนทำงานเพื่อนำไปรักษาสุขภาพตัวเองในท้ายที่สุด
“ทุกวันนี้ที่เราทำงานก็รู้สึกว่าจะไม่ทำงานนี้ไปตลอดชีวิต จึงพยายามทำงานให้หนักเพื่อเก็บเงิน แต่ตามจริงถ้าคุณภาพชีวิตการทำงานกองถ่ายดีกว่านี้ ก็อยากจะทำต่อไป” ส้ม อธิบาย
กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เป็นบทสรุปที่ดีที่สุด
ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์ กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าเสียใจ ไม่มีใครควรตายในวิชาชีพที่ตัวเองทำ การสูญเสียครั้งนี้เกิดจากการ overload ของการทำงาน เพราะหากรับแค่งานเดียวก็อาจจะไม่พอต่อการดำรงชีวิต ก็เลยต้องรับซ้อนหลายงาน กลายเป็นไม่มีเวลาพักผ่อน”
เขาเสริมว่า ถ้าเป็นต่างประเทศจะมีกฎหมายที่กำหนดอย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้อง turn around ไม่ต่ำกว่า 10-12 ชั่วโมง แต่ของไทยไม่มีตัวบทกฎหมายนี้ ดังนั้นแล้วต้องมีตัวกลาง และหากจะพูดประเด็น soft power รัฐบาลก็ต้องเร่งแก้ไขเรื่องนี้ เพราะทรัพยากรกองถ่ายไทยมีคุณภาพ แต่ติดปัญหาเรื่องสวัสดิการแรงงาน
“ผมทำโปรเจ็กร่วมกับ Netflix เขาก็จะมีกฎบอกอย่างชัดเจนว่า ทำงาน 12 ชั่วโมงได้ หากจำเป็นจริงๆ แต่ต้องคุยกันว่าจะเกินไปเท่าไหร่ และส่วนที่เกินต้องจ่ายจำเป็นต้องจ่าย OT ให้กับแรงงาน และอีกวันถ้านัดมาทำงานต่อ ต้องมีเวลาให้พวกเขา turn around ด้วย”
ก้องเกียรติ ชี้ว่า การพยายามคุมกองไม่ให้ทำงานเกิน 12 ชั่วโมงไม่ใช่ว่าไม่แบก ที่ไม่ใช่เพียงการแบกเม็ดเงิน แต่ต้องใช้วิธีตัดฉากเพื่อไม่ให้งานเกิน 12 ชั่วโมง และการทำให้ซีนที่ถูกตัดไป มีคุณภาพเหมือนเดิม และการทำเช่นนี้ปริมาณวันถ่ายก็จะเพิ่มขึ้น
“สำหรับผมการทำงาน 12 ชั่วโมงกำลังดี เพราะเกินกว่านั้นผมก็ไม่ไหวเหมือนกัน ไม่ใช่แค่ทีมงาน ซึ่งเมื่อก่อนยอมรับว่าทำมากกว่านี้ ด้วยคติที่ว่าทำเพื่อฝัน แต่ในปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว”
เขาระบุต่อว่า การออกกองหนักอยู่แล้ว หนังไทยไม่มีสหภาพแรงงาน ที่เป็นทางการ ทำให้ต่างคนต่างออกมาพูด แต่เป็นการพูดระบายความอึดอัดมากกว่า จึงคิดว่าต้องเปิดเวทีหาข้อสรุปกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เช่น ถ้านายทุนยอมที่แบกงบประมาณ เพื่อให้แรงงานมีสวัสดิการที่ดี ก็ต้องหาทางเลือกให้เขา อย่างได้ส่วนลดภาษีไหม รัฐบาลเข้ามาดูแลอย่างไรได้บ้าง
“ทีมรอด เราก็รอดด้วย งานหนังไม่สามารถทำได้คนเดียว เราต้องใช้พวกเขา ไม่มีทีมงานก็ไม่มีผม” ก้องเกียรติ กล่าวปิดท้าย
ณัฐนันท์ เทียมเมฆ อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และสมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ ระบุว่า เหตุการณ์การเสียชีวิตของพนักงานตีสเลท ไม่ต่างกันมากกับตอนที่เขาเก็บข้อมูลเพื่อทำงานวิจัยในช่วงปี 2564 เพราะค้นพบว่า
การทำงานหนักของแรงงานในกองถ่าย ที่ทั้งถูกบีบบังคับให้ทำงาน 16 ชั่วโมง หรือจวบจน 24 ชั่วโมง ค่อนข้างเกิดมาจากหลายปัจจัย แบ่งออกเป็น 3 ปัจจัยได้แก่ ปัจจัยเชิงการผลิต
“ผมมองว่ามันเกี่ยวกับการจัดการและบริหารโดยตรงของกองถ่าย การบริหารงบประมาณ การจัดสรรสวัสดิการและเวลา”
ช่วงที่มีการสูญเสียแรงงานกองถ่ายมักมีการแสดงความเห็นว่า หากปฏิเสธงาน หรือปฏิเสธเงื่อนไขบางอย่างที่ทางกองถ่ายมอบหมายให้ อย่างกองนี้ต้องทำงาน 16 ชั่วโมง ก็จะเกิดกระบวนการรับคนอื่นเข้ามาหน้าที่แทน ปัญหาจากปัจจัยการผลิตจึงเป็นการผลักแรงงานและเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมออกไป
ณัฐนันท์ กล่าวว่า ต่อมาคือปัจจัยเชิงวัฒนธรรม ในแง่ของแนวทางการปฏิบัติของแรงงานเอง ทั้งทัศนคติ ชุดความคิด หรือความเชื่อบางอย่าง ที่บางทีไปเปิดโอกาสให้ตัวเองต้องทำงานหนัก
ยกตัวอย่าง การมองว่าการทำงานจนอดหลับอดนอนถือเป็นความอึดถึกทน และสุดท้ายคือ ปัจจัยเชิงโครงสร้าง ที่ครอบวิถีชีวิตและรูปแบบการทำงานกองถ่ายเอาไว้ ซึ่งปัจจัยนี้จะหลีกเลี่ยงไม่พูดเรื่องกฎหมายไม่ได้เลย เพราะแรงงานในกองถ่ายมักจะเป็นแรงงานนอกระบบ เป็นฟรีแลนซ์ หรือไม่ได้เซ็นสัญญาจ้างที่ชัดเจน ด้วยเงื่อนไขและช่องโหว่ตรงนี้ ทำให้ผู้ว่าจ้างและแหล่งทุนเอารัดเอาเปรียบหรือฉกฉวยโอกาสแรงงานได้ง่าย
“สำหรับผมปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็น priority หลัก ที่ส่งผลกระทบให้ปัจจัยเชิงการผลิตและวัฒนธรรมมีปัญหา เพราะปัจจัยเชิงโครงสร้างครอบปัจจัยอื่นๆ ไว้อยู่ ฉะนั้นแล้วขณะนี้โครงสร้างของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโครงสร้างของประเทศไทย ยังไม่แข็งแรงมากขนาดนั้น แรงงานหลายคนจึงล้มป่วยไม่ก็เสียชีวิต”
“3 ปัจจัยนี้ที่เหมือนเป็น 3 เหลี่ยมที่วนเวียนเข้าหากันอยู่เสมอ จะขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไปไม่ได้ พวกมันต่างเรียงร้อยเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ”
ณัฐนันท์ยังพูดถึงกลุ่มสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ว่า เป็นสหภาพที่ไม่ได้มีกฎหมายรองรับอย่างเป็นทางการ แต่รวมตัวกันเพราะด้วยมุมมอง อุดมการณ์ และทัศนคติที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้นส่วนนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญ เพราะการไม่มีกฎหมายมาเป็นฐานให้สหภาพฯ ทำให้สหภาพทำงานในเชิงสหภาพเป็นหลัก คือ การสร้างความตระหนักรู้ พูดคุย และเวิร์คช็อป แต่ไม่ function เท่ากับของสหภาพแรงงานด้านสื่อของสหรัฐอเมริกา ที่จะถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการ มี process ที่ค่อนข้างแข็งแรง จึงสามารถไปปะทะ สร้างข้อเรียกร้อง เจรจาต่อรองกับเหล่านายทุนและแหล่งทุน (collective agreement) ได้
เขาเสริมว่า ความตระหนักรู้ของภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สิ่งต่างๆ ยั่งยืน แต่ถ้าไม่ให้ความสำคัญ ประเด็นนั้นๆ ก็จะถูกพูดถึงเป็นคลื่นระลอกเท่านั้น แล้วก็หายเงียบไป ซึ่งไม่แฟร์กับคนทำงานและไม่ยั่งยืนกับอุตสาหกรรมเท่าไหร่
“รัฐมักจะไปโฟกัสที่ผลงานหรือผลลัพธ์มากกว่า แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการที่จะทำให้งานเหล่านั้นเกิดขึ้น”
ณัฐนันท์ ชี้ว่า การให้ความสำคัญกับคนทำงาน และกระบวนการเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทาง ก่อนที่จะเกิดผลลัพธ์สำคัญไม่แพ้กัน เพราะการให้ความสำคัญจะทำให้ผลงานออกมาดี มีคุณภาพ ซึ่งแรงงานทุกคนควรได้รับถูกปฏิบัติและได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี
“การทำเช่นนี้จะทำให้คนที่เป็นรากฐานอุตสาหกรรม ไม่ล้มหายตายจากไป ก็ถูกผลักออกไป ผมมองว่าการแก้ไขปัญหาส่วนนี้เป็นภารกิจหลักของรัฐด้วยซ้ำ”
หากกองถ่ายไม่สามารถจบงานภายใต้กรอบ 12 ชั่วโมง ก็ควรใช้วิธีการ turnaround หรือการให้แรงงานพักผ่อน 8-12 ชั่วโมงก่อนที่จะเริ่มงานอีกครั้ง ซึ่งนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ เคยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้นด้วยกลไกเชิงวัฒนธรรมในกองถ่าย เพื่อสร้างธรรมเนียมปฏิบัติด้านชั่วโมงการทำงานด้วยวิธีข้างต้น
ที่แปลตรงตัวว่า ระยะการพักผ่อนของแรงงานเพื่อวนกลับมาทำงานอีกครั้ง โดยกระบวนการนี้เปรียบเสมือนการแก้ไขปัญหาด้วยเงื่อนไขขั้นต่ำ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถควบคุมชั่วโมงการทำงานได้อย่างเหมาะสม
“12 ชั่วโมงเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการทำงาน ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ต่างประเทศใช้กัน ถึงแม้ว่ารูปแบบการทำงานในกองถ่ายจะหนักเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่กลไกส่วนนี้จะช่วยส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพแรงงานไม่ให้ย่ำแย่ลง”
เช่น สตรีมมิ่ง Netflix ที่เข้ามาในไทย คนในวงการก็มักจะได้ยินว่า ทำงานแค่ 12 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งณัฐนันท์มองว่า มาตรฐานตรงนี้ไทยสามารถดึงมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมได้ โดยขณะนี้หลายกองก็พยายามปฏิบัติตามให้ได้ แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่มีอย่างจำกัดก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ก็ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าว่าทำไมเราต้องจัดการกันเอง ในขณะที่ภาครัฐมีอำนาจที่คุ้มครองและดูแลในส่วนนี้ แต่กลับปล่อยให้ปัจจัยในเชิงวัฒนธรรมจัดการกันเอง
“การมีกฎหมายที่ดีจะบังคับผู้ว่าจ้างและแหล่งทุนให้ทำตาม เป็นการช่วยเหลือแรงงาน และการมีกฎหมายที่ช่วยให้เกิดสหภาพแรงงานอย่างเป็นทางการ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน” ณัฐนันท์ ระบุ