เรารู้ดีว่านักแสดงคนไหนรับบทเป็นแฮร์รี่ พอตเตอร์ หรืออย่างน้อยก็พอจะจำใบหน้าของเขาได้ แต่จะมีสักกี่คนที่เคยเห็นหน้าของ ‘สตันต์แมน’ ผู้อาสาเสี่ยงตายแทนในบทบาทนี้ และอันที่จริง หลายคนอาจไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าตัวละครพ่อมดผู้โด่งดังก็มีสตันต์แมนกับเขาเหมือนกัน
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมา สารคดีที่น่าจับตาเรื่องหนึ่งได้เข้าฉายทาง HBO Max หากสังเกตจากชื่อเรื่องอย่าง David Holmes: The Boy Who Lived บรรดาสาวกโลกเวทมนตร์คงเดาได้ไม่ยากว่าเนื้อหาน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม่มากก็น้อย เพราะคำว่า ‘The Boy Who Lived (เด็กชายผู้รอดชีวิต)’ นั้นหมายถึงตัวของแฮร์รี่ที่ครั้งหนึ่งเคยรอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์จากการสังหารของลอร์ดโวลเดอร์มอร์
แต่สิ่งที่หลายคนสงสัยคือ แล้วคุณเดวิด โฮล์มส (David Holmes) คนนี้คือใคร เกี่ยวอะไรกับภาพยนตร์ 8 ภาค และทำไมถึงต้องมีสารคดีที่เป็นชื่อของเขาด้วย
เดวิด โฮล์มส คือสตันต์แมนหรือผู้แสดงแทนในฉากเสี่ยงตายของแฟรนไชส์แฮร์รี่ พอตเตอร์ โดยเจ้าตัวเข้ามารับตำแหน่งนี้ตั้งแต่อายุเพียง 19 ปี แล้วจากนั้นก็กลายเป็นเพื่อนซี้ แสดงแทน แดเนียล แรดคลิฟฟ์ (Daniel Radcliffe) ตัวเอกของเรื่องในฉากผาดโผนที่คนทั่วไปไม่สามารถทำได้
อย่างไรก็ดี หลังทำหน้าที่สตันต์แมนในบทบาทที่ไม่มีใครไม่รู้จัก เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็ดันเกิดขึ้นกับเดวิดในปี 2009 เขาประสบอุบัติเหตุจากการถ่ายทำฉากระเบิดใน Harry Potter and the Deathly Hollows: Part 1 เป็นเหตุให้เขาต้องเป็นอัมพาตครึ่งล่างไปตลอดชีวิต ปิดฉากอาชีพสตันต์อย่างไม่มีวันหวนคืน และกิจวัตรตั้งแต่ตื่นถึงเข้านอนของเขาก็ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกเลย
ทั้งที่งานของเขาคือการเสี่ยงชีวิตแทนนักแสดงผู้เป็นที่รักของคนทั่วโลก แต่กลายเป็นว่าโศกนาฏกรรมของเดวิด โฮล์มส์กลับไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปจะรับรู้มากนัก แม้กระทั่งผู้ที่ติดตามแฟรนไชส์นี้เองยังแทบไม่รับรู้
ข้อสันนิษฐานหนึ่งบ่งชี้ว่า สาเหตุที่เรื่องราวของเดวิดถูกปิดเงียบ เป็นเพราะค่ายหนังพยายามกลบข่าวเพื่อไม่ให้ส่งผลกับรายได้ของภาพยนตร์ในภาคสุดท้าย แต่อีกมุมหนึ่ง มันก็สะท้อนได้กลายๆ ว่า ทีมงานที่เสี่ยงตายที่สุดในอุตสาหกรรมฮอลลีวูดแทบจะไม่ถูกเหลียวแลจากค่ายหรือนายทุน แทบไม่มีรางวัลการันตีความสามารถ แถมยังน้อยมากที่พวกเขาและเธอจะได้รับการจดจำในฐานะทีมงานเบื้องหลังคนหนึ่ง
อาชีพที่ต้องทุ่มทั้งชีวิต
กว่าจะก้าวขึ้นมาประกอบอาชีพผู้แสดงแทน สตันต์แมนทุกคนต่างต้องฝึกฝนทักษะด้านร่ายกายหลากหลายแขนง บ้างชื่นชอบศิลปะการต่อสู้เป็นทุนเดิม จึงทุ่มเทซักซ้อมจนได้เข้ามาทำงานในกองถ่าย ยกตัวอย่าง Jackie Chan Stunt Team หนึ่งในทีมสตันต์ที่ประสบความสำเร็จ นำโดยนักแสดงมากความสามารถอย่าง เฉินหลง (Jackie Chan) หรืออย่างเดวิด โฮล์มส เขาก็เติบโตมาในฐานะนักกีฬายิมนาสติก สามารถตีลังกาและโหนตัวได้อย่างคล่องแคล่ว จนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ระดับตำนานอย่างแฮร์รี่ พอตเตอร์
ลำพังจุดเริ่มต้นว่าหนักแล้ว เส้นทางของอาชีพสตันต์นั้นหนักยิ่งกว่า อุบัติเหตุ ความผิดพลาด บาดแผล เป็นสิ่งที่พวกเขาประสบพบเจอเสมือนเป็นเพื่อนสนิทที่แยกจากกันไม่ได้ เลือดตกยางออกมีให้เห็นเป็นประจำ ทำแผลและเข้าโรงพยาบาลกันเป็นว่าเล่น ครั้งหนึ่ง ซูเปอร์สตาร์ระดับ ทอม ครูซ (Tom Cruise) ที่ลงทุนเล่นฉากเสี่ยงตายเองในหนัง Mission: Impossible – Fallout ก็ได้รับบาดเจ็บ กระดูกข้อเท้าแตกจากการกระโดดข้ามตึก หรือนักแสดงที่แจ้งเกิดจากการเป็นสตันต์อย่างเฉินหลงก็ได้รับบาดเจ็บตลอดอาชีพไม่ต่ำกว่า 20 จุดบนร่างกาย
แต่การบาดเจ็บแขนขาหักก็คงไม่เลวร้ายเท่าการเป็นอัมพาตอย่างที่เดวิด โฮล์มสประสบ แต่สิ่งที่เดวิด โฮล์มส ประสบ แม้จะน่าเศร้า แต่ก็ยังไม่น่าจะหดหู่เท่ากับการที่บางคนถึงกับต้องสังเวยชีวิต
ข้อมูลจากสำนักข่าว abc news ระบุว่า ระหว่างปี 1990-2016 มีทีมงานอย่างน้อย 43 คนที่เสียชีวิตขณะถ่ายทำภาพยนตร์ และมีผู้ที่บาดเจ็บสาหัสอย่างน้อย 150 ชีวิต แน่นอนว่าสตั๊นต์แมน รวมถึงทีมงานทุกคนต่างตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกองถ่าย พวกเขาตัดสินใจเล่นฉากเสี่ยงตายเหล่านั้นด้วยตัวเอง ได้รับค่าตัวเป็นสิ่งตอบแทน ทว่าคำถามที่น่าสนใจคือหน้าที่ของพวกเขา แท้จริงแล้วยังจำเป็นอยู่ไหมสำหรับการสร้างภาพยนตร์แต่ละเรื่อง และที่น่าคิดกว่านั้นคือ ความเสี่ยงที่พวกเขาต้องเผชิญคุ้มค่ากับสิ่งที่พวกเขาได้รับตอบแทนหรือไม่
รู้ว่าเสี่ยง แต่คงต้องขอลอง
สำหรับคำถามแรก ความจำเป็นของเหล่าสตันต์แมน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่เทคโนโลยีสามารถเนรมิตฉากผาดโผนต่างๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องให้มนุษย์ออกไปเสี่ยงชีวิต แอนดี อาร์มสตรอง (Andy Armstrong) สตันต์จากภาพยนตร์ดังอย่างThe Amazing Spider-Man, Thor, Planet of the Apes และ Total Recall เผยว่า ทีแรกที่ซีจีไอเข้ามาสู่วงการภาพยนตร์ เหล่าสตันต์ก็คิดว่า มันคงเป็นจุดจบของธุรกิจ พวกเขากำลังจะถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ความจริงกลับสวนทางสิ้นเชิง เพราะความสมจริงบางอย่างยังต้องอาศัยการแสดงจริงของมนุษย์ ซึ่งเมื่อมนุษย์ต้องแข่งขันกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น ฉากเสี่ยงตายต่างๆ จึงต้องอันตรายขึ้น ยากขึ้น ทั้งยังต้องสมจริงกว่าครั้งไหนๆ
“ถ้าสตันต์ทำอะไรที่ดูธรรมดา คุณก็คงไม่อยากไปดูหนัง เพราะงั้นผู้สร้างจึงต้องขอร้องให้ใครสักคนทำอะไรสักอย่างที่อยู่นอกกรอบ และนั่นเองคือฉากสตันต์ที่รับประกันความปลอดภัยได้ยาก” แอนดีระบุ
ดังนั้น ตำแหน่งแห่งที่ตรงนี้ยังคงจำเป็น หรืออย่างน้อยที่สุด ยังเป็นที่ต้องการของตลาดภาพยนตร์ หนทางการแก้ปัญหาจึงอาจไม่ใช่การนำเทคนิคคอมพิวเตอร์เข้าแทนที่ แต่คือการหากรรมวิธีที่ช่วยให้ผู้แสดงแทนทุกคนได้รับความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่อย่างที่ทุกอาชีพควรได้รับ
ได้โปรดออสการ์ หันมาสักที!
ต่อกันที่คำถามที่ 2 ผลตอบแทนของสิ่งที่สตันต์แมนอุทิศทั้งชีวิตนั้นคุ้มค่าหรือไม่ มีคนมองเห็นคุณค่าในเนื้องานของพวกเขาบ้างหรือเปล่า และทำไมรางวัลอันทรงเกียรติอย่างออสการ์จึงไม่ยอมเหลียวแลแผนกเสี่ยงตายนี้เสียที
จริงอยู่ที่ว่านักแสดงบางคนก็เลือกที่จะเล่นฉากผาดโผนด้วยตัวเอง ทว่าทุกการกระโดด ตีลังกา หรือไล่ล่าบนรถยนต์ สตันต์แมนยังคงช่วยให้ฉากเหล่านั้นปลอดภัยต่อการถ่ายทำเสมอ กลุ่มนักแสดงแทนจึงคาดหวังจากก้นบึ้งของหัวใจที่จะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลต่างๆ บ้าง โดยเฉพาะรางวัลที่เป็นดั่งโนเบลของวงการภาพยนตร์อย่างออสการ์
แจ็ค กิลล์ (Jack Gill) อดีตทหารผ่านศึกผู้ผันตัวมาเป็นสตันต์ตัดพ้อว่า ทุกคนเคยเห็นภาพยนตร์ที่วิเศษมากมายได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ แต่กับสตันต์ที่ดีที่สุดหรือคนออกแบบฉากแอ็กชั่นที่ดีที่สุด เราไม่เคยเห็นแม้กระทั่งการหยิบยกมาปรึกษาหารือเลย ราวกับว่ามันถูกปิดกั้นจากการแจกรางวัลอย่างจงใจ
ทุกๆ ปี เวทีที่เป็นดั่งความฝันของนักทำหนังทั่วโลกจะแจกรางวัลให้กับบุคคลทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้า ซึ่งนั่นรวมไปถึงรางวัลเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม กำกับภาพยอดเยี่ยม ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ไปจนถึงแต่งหน้ายอดเยี่ยม แต่รางวัลสำหรับทีมสตันต์ยังถูกมองข้ามในคืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฮอลลีวูดมาโดยตลอด
ตั้งแต่ปี 1991 แจ็ค กิลล์พยายามโน้มน้าวให้สถาบันแห่งศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ (the Academy of Motion Picture Arts and Sciences) เพิ่มรางวัลสาขาใหม่เพื่อมอบให้พี่น้องร่วมวงการของเขา นักแสดงดังอย่างแบรด พิตต์ (Brad Pitt) กับเฮเลน มิร์เรน (Helen Mirren) เองก็ให้การสนับสนุน แต่สถาบันก็ยังไม่เพิ่มรางวัลนี้อยู่ดี
“ผมเริ่มเรียกร้องในปี 1991 พวกเขาบอกว่ามันจะใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี และบางที ผมอาจจะได้รางวัลในตอนนั้น แต่วันนี้ผมรอมาเกือบ 30 ปีแล้ว มันยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย” แจ็คว่าไว้เมื่อปี 2020
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีแสงสว่างปรากฏขึ้นที่ปลายเส้นทางอาชีพของกลุ่มสตันต์ เพราะเมื่อเดือนมีนาคมปี 2020 คณะผู้อยู่เบื้องหลังรางวัล The Canadian Screen Awards ได้ริเริ่มรางวัลสาขา ‘Best Stunt Co-ordination’ เป็นครั้งแรก ก่อนที่สำนักอื่นๆ เองจะเริ่มให้ความสำคัญต่อคนกลุ่มนี้ในเวลาต่อมา แต่แน่นอนว่ากับออสการ์ก็ยังไม่เกิดขึ้น
ขณะนี้มีผู้คนกว่า 13,000 คนที่ร่วมลงชื่อออนไลน์เพื่อเรียกร้องให้ออสการ์เห็นคุณค่าของทีมสตันต์ ส่วนแจ็ค กิลล์ที่ดำเนินการเรื่องนี้มาตลอด 3 ทศวรรษก็บอกว่า เขาและเพื่อนๆ จะไม่มีวันยอมแพ้
“พวกเขาบอกแล้วบอกอีก แต่ก็ลืมและเดินจากไป แต่ผมจะไม่ทำแบบนั้น ผมจะไม่เดินหนีไปเด็ดขาด” แจ็คประกาศอย่างแข็งกร้าว
ในระหว่างนี้ แจ็คเผยว่า ตัวเขาคงทำได้เพียงเฝ้ามองกลุ่มเพื่อนในตำแหน่งอื่นๆ จากหนังเรื่องเดียวกันก้าวขึ้นไปรับรางวัล พร้อมน้อยใจอยู่ลึกๆ ว่า ทั้งที่เราเองก็อยู่ตรงนั้นร่วมกับนักแสดง แต่เรากลับไม่มีทางได้รับรางวัลใดๆ สอดคล้องกับคำเปิดหัวที่เว็บไซต์ cbc ว่าไว้
“พวกเขาให้รางวัลการแสดงเพียงครึ่งเดียว โดยไม่สนใจอีกครึ่งหนึ่งได้อย่างไร”
นอกจากรางวัลจากฝั่งแคนาดาแล้ว ปี 2023 นี้ก็นับเป็นปีทองของทีมสตันต์อย่างแท้จริง เพราะภาพยนตร์ทั้ง Mission: Impossible – Dead Reckoning Part One และ John Wick: Chapter 4 ต่างก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแผนกแอ็กชั่นที่ทั้งตระการตา น่าจดจำ และยังทำให้ผู้ชมตื่นเต้นจนนั่งไม่ติดเบาะ พร้อมกันนี้ นักแสดงนำของหนังทั้ง 2 เรื่องอย่างทอม ครูซ กับคีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves) ก็พร้อมใจให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานของทีมสตันต์ในหนังของตัวเองอย่างจริงจัง ซึ่งสิ่งที่อยู่เบื้องหลังผลงานเหล่านี้คือความหลงใหลคลั่งไคล้ต่องานที่ทำ เป็นความชื่นชอบที่อดีตสตันต์แมนผู้ต้องใช้ชีวิตบนรถเข็นอย่างเดวิด โฮล์มสเล่าไว้ว่า
“ผมยังคงรักวงการสตันต์ ผมคิดว่ามันเป็นงานที่ดีที่สุดในโลก มันทั้งตื่นเต้นและท้าทาย แต่ผมคิดว่ามันน่าเสียดายที่ผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างบางคนมองเห็นเราเป็นเหมือนทหารที่ใช้แล้วทิ้งในสงคราม (Cannon Fodder)”
ท้ายที่สุด ต่อให้เลือกใหม่สักกี่ครั้ง เราคิดว่าทีมสตันต์ก็คงยินดีทำหน้าที่ที่เขารัก ยอมเสี่ยงชีวิตเดียวที่มีเพื่อแลกกับความบันเทิงทางหน้าจอที่ผู้ชมอาจได้เห็นเพียงไม่กี่วินาที ในวันนี้ พวกเขาส่วนใหญ่คงต้องการเพียงสิ่งเดียว นั่นคือการถูกรับรู้ว่ามีอยู่ ถูกมองเห็นว่าเขาและเธอเองก็สำคัญต่อหนังเรื่องหนึ่งไม่แพ้ตำแหน่งไหน พวกเขาทุกคนควรถูกเข้าใจจากผลงานที่ลงมือทำ โดยไม่จำเป็นต้องตะเกียกตะกายก้าวขึ้นมาอยู่หน้าม่านเหมือนอย่างที่เฉินหลงหรือจา พนมต้องฝ่าฟัน หรือไม่ควรต้องรอให้เพื่อนร่วมอาชีพที่เป็นนักแสดงดังออกมาพูดถึง
บางที มันคงถึงเวลา (มานาน) แล้วที่ตำแหน่งซึ่งอันตรายที่สุดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะต้องถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมแท้จริงเสียที
อ้างอิงจาก