สิ่งที่คุณจำได้จากการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา คืออะไร .. อริยสัจ 4 การเดิน 7 ก้าว หรือวิธีกราบพระ?
เรารู้กันดีว่า ศาสนาพุทธสอดแทรกอยู่ในทุกๆ เรื่องรอบตัวเรา ทั้งในกฎหมาย วันหยุดราชการ รวมถึง การเรียนการสอนในโรงเรียนด้วย ตั้งแต่พิธีการหน้าเสาธง ไปจนถึงการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา
แต่ไม่นานมานี้ คำถามถึงการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาก็ถูกยกขึ้นมาอีกครั้ง โดยหลายคนมองว่าวิชาพระพุทธศาสนายังคงมีเนื้อหาล้าหลัง ไม่เปลี่ยนแปลงตามสภาพสังคม แถมยังเน้นให้เด็กต้องท่องจำหลักธรรมคำสอนต่างๆ ไปเสียอย่างนั้น ขณะที่ เรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ ก็มีปรากฎอยู่เพียงน้อยนิดเหลือเกิน
The MATTER เลยอยากชวนทุกคนมาร่วมกันคิดว่า คิดเห็นอย่างไรกับการเรียนวิชาพระพุทธศานา ควรต้องปรับกันแบบไหน รวมถึง สรุปแล้วเราควรเรียนเรื่องของศาสนาแบบไหนกันแน่?
พระพุทธศาสนากับหลักสูตรการเรียนของไทย
ในโรงเรียนรัฐบาล พระพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญของการใช้ชีวิตในโรงเรียน นับตั้งแต่พิธีหน้าเสาธง ที่ต้องเข้าแถว สวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังโอวาทพระ ไปจนถึงวิชาในห้องเรียน โดยวิชาพระพุทธศาสนา โดยถือเป็นวิชาที่แยกย่อยออกมาจากวิชาแม่อย่าง สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดเอาไว้
โดยเนื้อหาในวิชานี้มีตั้งแต่ พุทธประวัติ หลักธรรมคำสอน วันสำคัญทางศาสนา ศาสนสถาน และพิธีกรรมทางศาสนาในศาสนาพุทธ ซึ่งหลายครั้งถูกสอนในรูปแบบของการท่องจำ หรือจำเพื่อนำไปสอบเสียมากกว่า ยิ่งกว่านั้น บางโรงเรียนยังมีให้สอบนักธรรม สอบสวดมนต์ สอบกราบพระ หรือบังคับให้นักเรียนเข้าร่วมพิธีกรรมปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ
แล้วทำไมพระพุทธศาสนาถึงถูกให้ความสำคัญขนาดนั้น?
หนึ่งในคำตอบที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ก็คือ เพราะคนไทยส่วนมาก นับถือศาสนาพุทธ หรือศาสนาพุทธนั้น เป็นศาสนาประจำชาติของบ้านเรา จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องรู้เรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาประจำชาติของตัวเอง
ถ้าเราย้อนไปดูที่มาของวิชานี้จะเห็นว่า หลักสูตรการศึกษาช่วงปี พ.ศ.2435-2452 ซึ่งตรงกับช่วงที่มีการล่าอาณานิคม ส่งผลให้การศึกษากลายเป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับประเทศจากประเทศมหาอำนาจ ขณะเดียวกัน รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้วัดทำหน้าที่เป็นโรงเรียนเพื่อที่จะประหยัดงบประมาณ ทั้งด้านสถานที่และบุคลากร จนที่มาเหล่านี้สร้างความสำคัญต่อการจัดหลักสูตรการศึกษาโดยเฉพาะวิชาพระพุทธศาสนาไปโดยปริยาย
ต่อมา ในหลักสูตรการศึกษาช่วงปี พ.ศ.2454-2464 ก็มีการปรับหลักสูตรให้วิชาพระพุทธศาสนากลายเป็นวิชาจรรยา และอัตราการเรียนหรือชั่วโมงเรียนก็ลดลงไปจากปีก่อนๆ ไปมาก รวมถึง เนื้อหาการเรียนก็เปลี่ยนจากหลักธรรม เป็นเรื่องของความจงรักภักดีต่อประเทศแทนด้วย
แล้วในหลักสูตรการศึกษาช่วงปี พ.ศ.2533-2544 กระทรวงก็ได้บรรจุเนื้อหาวิชาศาสนาอื่นๆ เข้าไปในหลักสูตรด้วย เช่น วิชาคำสั่งสอนของพระเยซูคริสตเจ้า วิชาอัลกุรอาน เป็นต้น นับได้ว่าเป็นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนศาสนาหลากหลายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่เมื่อต้องเพิ่มเนื้อหาของศาสนาอื่น เนื้อหาของศาสนาพุทธก็ถูกลดลงไป
เมื่อการเรียนศาสนาพุทธถูกปรับลดลงไปนั้น ก็มีกลุ่มชาวพุทธที่ไม่เห็นด้วย และออกมาเรียกร้องให้วิชาพระพุทธศาสนาเป็นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ จนกระทรวงศึกษาธิการต้องกำหนดเนื้อหาการเรียนวิชาพระพุทธศาสนาอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ก็ยังกำหนดเนื้อหาของวิชาพระพุทธศาสนา ให้กลับไปคล้ายคลึงกับเมื่อปี พ.ศ.2533 ที่เน้นเรื่องของหลักธรรม คำสอนต่างๆ อีกด้วย
ป.อ. ปยุตฺโต หนึ่งในผู้ที่คัดค้านการเปลี่ยนแปลงนั้น ได้เขียนหนังสือ ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา? ข้อพิจารณาเกี่ยวกับวิชาพระพุทธศาสนาและจริยศึกษาในหลักสูตรการศึกษาของชาติ ซึ่งระบุถึงเหตุผลในการเรียนวิชานี้ โดยสรุปใจความหลักๆ ได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นหัวใจหลักของคนไทย และควรแก้ปัญหาที่ตัวเนื้อหาที่เรียน มากกว่าจะไปยกเลิกการเรียนพระพุทธศาสนา
แม้จะเป็นการเสนอให้เปลี่ยนวิธีการเรียน แต่ข้อโต้แย้งที่ต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการ คงวิชาพระพุทธศาสนาเอาไว้เป็นวิชาบังคับเหมือนเดิม โดยมองว่า ‘พระพุทธศาสนาเป็นหัวใจหลักของคนไทย’ ก็สะท้อนให้เห็นว่า พระพุทธศาสนานั้น มีความสัมพันธ์แนบแน่นไปกับรัฐและระบอบการปกครองในประเทศเราเป็นอย่างมาก และขัดแย้งกับแนวคิดโลกวิสัย (secularism) ที่เชื่อว่า รัฐกับศาสนาต้องแยกเป็นอิสระจากกัน เพื่อปกป้องเสรีภาพในความเชื่อของประชาชน
ถ้าเรียนแต่พระพุทธศาสนาจะเป็นอย่างไร?
เมื่อต้องเรียนพระพุทธศาสนาเป็นวิชาแยกออกมา การเรียนเนื้อหาที่เกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ ก็ถูกลดลงไปเสียอย่างนั้น ซึ่งถ้าเราไปดูตามหนังสือเรียน หรือวัดจากสัดส่วนคำถามในข้อสอบศาสนา จะเห็นได้เลยว่า เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องราวของศาสนาพุทธแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ ประเด็นเรื่องการเรียนพระพุทธศาสนาถูกหยิบไปเป็นข้อถกเถียงในรายการ นโยบาย By ประชาชน ซึ่งเล่าถึงข้อเสนอให้ยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับในระดับมัธยมศึกษา โดยเรณุวัชร์ สุนันทวงศ์ นักเรียนที่ยกข้อเสนอนี้ขึ้นมานั้น มองว่า การเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคหลายอย่างๆ เช่น หลักสูตร เนื้อหาที่กำหนดให้เรียน ตัวครูผู้สอน เทคนิควิธีการสอน สื่ออุปกรณ์ในการสอน หนังสือตำราประกอบการเรียน การวัดประเมินผล ทัศนคติของผู้เรียน เป็นต้น
เรณุวัชร์กล่าวว่า วิธีการเรียนการสอนแบบนี้ ทำให้เกิดความล้มเหลวในการสอนวิชาพระพุทธศาสนานั้นมากกว่าความสำเร็จ และเสนอว่า ควรเปลี่ยนวิชาพระพุทธศาสนาไปเป็นวิชาเลือกเสรี แล้วให้การสอนศาสนาเปรียบเทียบ เข้ามาเป็นวิชาบังคับแทน
ขณะเดียวกัน สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาละศาสนา เคยเขียนบทความถึงเรื่องการเรียนศาสนาเอาไว้ว่า การศึกษาด้านศาสนา (religious education) แบ่งออกเป็น 2 แบบ โดยแบบแรก คือการศึกษาที่มุ่งให้เกิดความรู้และศรัทธาในคำสอน การปฏิบัติพิธีกรรม การสร้างอัตลักษณ์ทางศาสนา หรือความเป็นศาสนิกที่ดีของศาสนานั้นๆ
ส่วนแบบที่สอง คือการศึกษาศาสนาเชิงวิชาการที่มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องศาสนาแบบกลางๆ เช่น การศึกษาศาสนาในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา หรือศึกษาเปรียบเทียบคำสอนของศาสนาต่างๆ ในวิชาศาสนาเปรียบเทียบ เป็นต้น
สุรพศ ระบุว่า ในหลายประเทศที่เป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) และยึดถือเคร่งครัดในหลักการที่ว่ารัฐต้องเป็นกลางทางศาสนาจะห้ามการศึกษาศาสนาแบบแรกในโรงเรียนของรัฐ แต่ให้เรียนได้ในโรงเรียนเอกชน ซึ่งโรงเรียนเอกชนหลายแห่งที่สอนศาสนาก็เป็นโรงเรียนเอกชนขององค์กรศาสนานั้นๆ หรือนิกายนั้นๆ เอง หรือไม่ก็จัดการเรียนรู้ในกลุ่มทางศาสนาต่างๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน ส่วนการศึกษาศาสนาแบบที่สองมีการเปิดให้เลือกเรียนได้อย่างเสรีในระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย
แต่ระบบการศึกษาไทยแตกต่างจากที่อื่น คือการศึกษาบ้านเรากำหนดให้วิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับในโรงเรียนของรัฐ ซึ่งเท่ากับว่า เป็นการบังคับให้คนทุกศาสนา และคนไม่มีศาสนาต้องเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ไม่อย่างนั้น ก็จะเรียนไม่จบตามหลักสูตรภาคบังคับ ซึ่งขัดกับหลักการที่รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา และขัดหลักเสรีภาพทางศาสนา แม้ว่าจะไม่ใช่การบังคับให้คนศาสนาอื่น หรือคนไม่มีศาสนาหันมานับถือพุทธศาสนา แต่ก็เป็นการบังคับให้พวกเขาต้องเรียนในสิ่งที่ขัดต่อเจตจำนงของตนเอง
ว่าด้วยวิชาศาสนาที่เราควรเรียน
หลายคนมักบอกว่า เราเรียนพระพุทธศาสนาเพื่อทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ แต่คำถามก็คือ ถ้าเราไม่ได้เรียนรู้เรื่องราวของคนศาสนาอื่นๆ ให้มากพอแล้ว เราจะเข้าใจเขาได้อย่างไร?
เชอร์รี่ (นามสมติ) วัย 23 ปี ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม และเคยเรียนอยู่ในโรงเรียนสังกัดรัฐบาลซึ่งบังคับให้ทุกคนต้องเข้าเรียนวิชาพระพุทธศาสนา แสดงความเห็นว่า วิชาศาสนาที่เธออยากเรียน คือวิชาที่สอนเรื่องราวของศาสนาอื่นๆ ด้วย
“อย่างเช่น ศาสนาโซโรอัสเตอร์ อยากรู้ว่าเขานับถืออะไร แบบไหน มีที่มาอย่างไร รวมถึง อยากเรียนรู้เกี่ยวกับการนับถือผีในไทย ซึ่งมีอยู่เยอะมาก และเป็นความเชื่อที่เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของสังคมไทยด้วย”
อันที่จริง การเรียนการสอนศาสนาในโรงเรียน เป็นหัวข้อถกเถียงในสังคมโลกมานานแล้วเช่นกัน แต่หัวข้อในการถกเถียงจะแตกต่างไปจากของบ้านเราตรงที่ ส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งคำถามว่า เนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาควรรวมอยู่ในหลักสูตรอย่างไร และการศึกษาเกี่ยวกับโลกทัศน์ที่หลากหลายมีบทบาทในการสร้างสังคมให้คนอยู่ร่วมกัน และป้องกันลัทธิหัวรุนแรงที่รุนแรงได้หรือไม่
การศึกษาศาสนาอย่างหลากหลาย เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ โดยแนวทางการสอนนี้จะแตกต่างจากการสอนทางศาสนาที่สอนโดยครูหรืออาสาสมัครจากชุมชนทางศาสนา ซึ่งมักจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างศรัทธาในศาสนาใดศาสนาหนึ่งมากกว่าที่จะสอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเพณี ความเชื่อ และโลกทัศน์อื่นๆ เช่น หลักมนุษยนิยม หรือเหตุผลนิยม เป็นต้น
งานวิจัยระดับชาติในออสเตรเลีย ระบุว่า ประมาณ 80% ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาที่ได้เรียนศาสนาที่หลากหลาย มีมุมมองในเชิงบวก มีความเข้าอกเข้าใจ และยอมรับฟังผู้ที่เป็นชนกลุ่มน้อยค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาอีก 70% ที่ไม่ได้เรียนเรื่องของศาสนาอื่นๆ เลย
ขณะเดียวกัน นักเรียนกว่า 90% ในออสเตรเลียที่ได้เรียนศาสนาที่หลากหลาย ยังมองว่าการมีความเชื่อที่แตกต่างและหลากหลายอยู่ในออสเตรเลียนั้นเป็นเรื่องที่ดีอีกด้วย
แม้ว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะไม่สามารถแทนประชากรโลกทั้งหมดได้ แต่ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนให้เราเห็นว่า การศึกษาเกี่ยวกับศาสนาที่หลากหลาย ส่งผลให้นักเรียนมีทัศนคติในเชิงบวกกับชนกลุ่มน้อยทางศาสนา และยังเป็นการสร้างความเข้าใจถึงพื้นฐานทางความเชื่อที่แตกต่างกัน รวมถึง การรับฟังผู้อื่นอีกด้วย โดยจากผลการวิจัย ยังระบุว่า มีนักเรียนกว่า 82% ที่เห็นว่า การเรียนศาสนาที่หลากหลายเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง
ดังนั้นแล้ว การเรียนเรื่องศาสนา ก็เป็นหัวข้อที่เราควรทบทวนกันว่า เราอยากเรียนรู้ศาสนากันแบบไหน แล้วจะดีกว่าไหม หากเราได้เรียนเรื่องราวความเชื่อในโลกแห่งความหลากหลาย ที่ผู้คนต่างยึดถือความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป
อ้างอิงจาก
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (2533). ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา? ข้อพิจารณาเกี่ยวกับวิชาพระพุทธศาสนาและจริยศึกษาในหลักสูตรการศึกษาของชาติ . กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม.
ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์. (2549).หลักสูตรการศึกษาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนไทย: รุ่งเรืองหรือร่วงโรย. วารสารศิลปศาสตร์, 6(2), 128-152.