“ปมไตรวจี (Know of the Three Words) นี่คือสถานที่ซึ่งเกิดปฐมปาฏิหาริย์ เมื่อกระทาชายเปี่ยมศรัทธาและทนทรมาน นายหนึ่งร้องขอการลงทัณฑ์จากเจตจำนงสูงส่ง เขานำท่อนไม้มาวาง นั่งลงและพร่ำภาวนา ภาวนาขอให้เสียงของเขาได้ยิน ภาวนาร้องขอความเจ็บปวดมาบรรเทาความรู้สึกผิดมหันต์อันทิ่มแทงทะลุขั้ววิญญาณ จากนั้นปาฏิหาริย์ก็บังเกิดโดยพลัน”
– ดีโอกราซีอาส (Deogracias)
ในบรรดาดราม่าทั้งมวลในสังคมอุดมดราม่าอย่างไทย หนึ่งในเรื่องร้อนประจำปี พ.ศ. 2562 หนีไม่พ้นจิตรกรรมซีรีส์ พระพุทธรูปอุลตร้าแมน ซึ่งถูกคนจำนวนมากโจมตีว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพุทธศาสนา ร้อนถึงนักศึกษาเจ้าของผลงานต้องออกมาขอโทษขอโพย และพยายามอธิบายว่าวาดภาพนี้เพราะต้องการสื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็น ‘ฮีโร่’ เหมือนอุลตร้าแมน มิได้มีเจตนาจะลบหลู่แต่อย่างใด
ในเวลาเดียวกัน คนอีกจำนวนไม่น้อยก็มองว่าผู้วาดภาพนี้ไม่ผิดอะไร ดีเสียอีกที่แสดงความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเห็นในแวดวงพระสงฆ์ก็มีหลากหลายไม่แพ้นอกรั้ววัด อาทิ พระมหาไพรวัลย์ วรวัณโณ มองว่าเจ้าของผลงานมีเจตนาบริสุทธิ์ อีกทั้งทุกคนควรวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาผ่านงานศิลปะได้ อยากให้สังคมมองและตีความสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในภาพวาดมากกว่า และขยายความว่า –
“ในอดีตพระพุทธรูปไม่ใช่รูปเคารพของคนไทย เพราะคนไทยกราบไหว้ต้นโพธิ์และรอยพระพุทธบาทมาก่อน และพระพุทธรูปก็มีหลายปาง อย่าง พระเศรษฐีนวโกฏิ มี 9 เศียร หรือ พระพุทธรูปปางทรงกษัตริย์มีการสวมชุด สวมชฎา หรือแม้แต่พระปูนปั้นของวัดตะคร้อ จ.นครสวรรค์ ที่มีรูปร่างประหลาด เรายังกราบไหว้และสักการะ การวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของนักศึกษาคนนี้จึงเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนได้ว่า ชาวพุทธในไทยส่วนหนึ่งยังมีมุมมองที่ไม่เข้าใจแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา”
ในสังคมสมัยใหม่ สิทธิเสรีภาพการแสดงออก กับความปรารถนาของศาสนิกชนที่อยากให้กฎหมายห้ามการกระทำที่ตนมองว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาที่ตนนับถือ ดูเหมือนจะเป็นขั้วตรงข้าม หรืออย่างน้อยก็มีแรงตึงเครียดที่ยากจะหยั่งรู้ว่าจุด ‘พอดี’ ควรอยู่ที่ใด หลายประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งก็มีกฎหมายที่บัญญัติให้การกระทำที่ ‘ดูหมิ่น’ หรือ ‘ลบหลู่’ ศาสนา เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ฝ่ายที่สนับสนุนมองว่าการวางข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพเช่นนี้มีเหตุมีผลเพราะช่วยธำรงความสงบเรียบร้อยในสังคม ส่วนฝ่ายตรงข้ามก็แย้งว่ากฎหมายทำนองนี้มักถูกใช้ในการกดขี่ประชากรส่วนน้อยที่ไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกันกับคนส่วนใหญ่ และถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง ด้วยความที่นิยามของ ‘ดูหมิ่น’ หรือ ‘ลบหลู่’ ถูกเขียนไว้กว้างมากจนจะตีความอย่างไรก็ได้
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเราควรแสดงออกแบบไหน
จึงจะไม่ให้ใครมองว่า ‘ลบหลู่’ สิ่งที่เขานับถือ
เพราะต่างคนย่อมต่างความคิด และผู้ที่นับถือศาสนาเดียวกันก็อาจมองไม่เหมือนกัน แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า การ ‘ลบหลู่’ แบบใดที่ควรนับว่า ‘ผิดกฎหมาย’ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยังไม่นับว่าสถานการณ์ในแต่ละสังคมก็อาจแปรเปลี่ยนเมื่อเวลาผ่านไป ไม่เหมือนกับตอนที่ออกกฎหมายห้ามลบหลู่ศาสนาใหม่ๆ
ยกตัวอย่างเช่น วันนี้นักรณรงค์สิทธิเสรีภาพในอังกฤษหลายคนชี้ว่า เหตุผลของคริสตจักรในการสนับสนุนกฎหมายนี้ในอดีตคือ “สังคมควรร่วมกันปกป้องสำนึกแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ถ้าหากไร้ซึ่งขีดจำกัดใดๆ ในการพูดและเขียนเกี่ยวกับพระเจ้าหรือความเชื่อทางศาสนาใดๆ แล้วไซร้ เราจะสูญเสียคุณค่าบางอย่างไป” แต่ในปัจจุบันคนอังกฤษจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ประกาศว่าไม่นับถือศาสนา นับถือชุดศีลธรรมแบบที่ไม่อิงศาสนา ก็ไม่แปลกใจที่คนเหล่านี้จะมองว่าศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล ไม่ใช่ความเชื่อรวมหมู่ของคนทั้งสังคม ฉะนั้นกฎหมาย – ซึ่งต้องบังคับใช้อย่างเสมอภาคทั้งสังคม – จึงไม่มีหน้าที่คุ้มครอง
การดูแลความตึงเครียดระหว่างสิทธิเสรีภาพการแสดงออกกับศรัทธาของผู้นับถือศาสนาจึงเป็นเรื่องที่คนในหลายประเทศมองว่าควรเป็นเรื่องของ ‘กลไกกำกับดูแลกันเอง’ หรือ self-regulation อย่างเช่นค่านิยม ธรรมเนียมปฏิบัติ หรือกติกามารยาทในการใช้พื้นที่ออนไลน์ มากกว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 2018 ชาวไอร์แลนด์ออกเสียงประชามติ 65% ต่อ 35% ให้ตัดสินความผิดอาญาในข้อหา ‘การตีพิมพ์หรือพูดเนื้อหาที่ลบหลู่’ ออกจากรัฐธรรมนูญของชาติ และต่อมาในปีเดียวกัน ศาลฎีกาของปากีสถานก็ตัดสินยกเลิกคำสั่งประหารชีวิตหญิงสาวผู้นับถือคริสต์ที่ถูกกล่าวหาว่าลบหลู่ศาสดาโมฮัมหมัดของอิสลาม (จากนั้นทางการก็ต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้พิพากษาจากชาวมุสลิมที่โกรธแค้นจำนวนมาก และสั่งตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือชั่วคราวด้วยความกลัวว่าการประท้วงจะลามเป็นความรุนแรงจากความแค้นที่ระบายลงโซเชียลมีเดีย)
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ก็ใช่ว่าจะมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกันหมด และความตึงเครียดน่าจะยังคงอยู่กับเราไปอีกนานตราบเท่าที่ยังมีคนนับถือศาสนา ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมองว่าความผิดฐาน ‘ลบหลู่’ ศาสนา เป็นข้อยกเว้นการคุ้มครองสิทธิที่มีเหตุมีผล ดังตัวอย่างคำตัดสินปี ค.ศ. 2018 ที่ศาลนี้ลงมติยืนตามคำตัดสินของศาลออสเตรีย ซึ่งลงโทษผู้หญิงที่วิพากษ์วิจารณ์ศาสดาโมฮัมหมัดในศาสนาอิสลามว่าไม่ใช่ต้นแบบที่ดี โดยศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมองว่าศาลออสเตรีย “ได้หาสมดุลอย่างระมัดระวังแล้วระหว่างสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของเธอ กับสิทธิของผู้อื่นในการได้รับความคุ้มครองเรื่องความรู้สึกทางศาสนาของพวกเขา และเป้าหมายเรื่องการอนุรักษ์สันติภาพทางศาสนาในออสเตรียก็เป็นเป้าหมายที่ชอบธรรม” ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินนี้ของศาลก็มองว่า จำเลยกล่าวคำวิจารณ์ในวงเสวนาขนาดเล็ก มีผู้เข้าร่วมเพียง 30 คน มิได้มุ่งเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยเฉพาะชาวมุสลิมส่วนใหญ่ ไม่น่าจะทำให้คนโกรธแค้นเป็นวงกว้าง ดังนั้นการลงโทษเธอจึงไม่น่าจะเข้าข่าย ‘การรักษาสันติภาพ’ หรือ ‘ลดการกระพือความเกลียดชัง’ อันเป็นเป้าหมายของกฎหมายห้ามลบหลู่แต่อย่างใด
นักออกแบบเกม ในฐานะที่เป็นทั้งศิลปะและสื่อบันเทิง ก็นิยมนำเรื่องการลบหลู่และความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนามาทำเป็นเกมอย่างไม่ขาดสาย แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นไปในทางยั่วล้อหรือล้อเลียน ฉายภาพบรรดา ‘นักคลั่งศาสนา’ ราวกับเป็นตัวตลกหรือวายร้ายน่าหัวร่อและไร้เหตุผล (ดังเช่นใน Far Cry หรือ Bioshock Infinite) มากกว่าจะนำมาเป็นแรงบันดาลใจหรือสืบค้นลึกลงไปในความเชื่อทางศาสนาและผลสะเทือนต่อปัจเจกบุคคล
‘Blasphemous’ เกมแอ๊กชั่นแฟลตฟอร์มสองมิติ (มุมมองด้านข้าง) จาก Game Kitchen สตูดิโออินดี้จากสเปน นำประวัติศาสตร์ทั้งด้านสว่างและด้านมืดของโบสถ์คาทอลิก คริสตจักรในประเทศบ้านเกิด รวมถึงสถาปัตยกรรมและแก่นความเชื่อ มาสร้างเกมที่ทั้งโหดหิน เข้มข้น และลืมไม่ลงทั้งในแง่ของกราฟิก บรรยากาศ เนื้อเรื่อง และสารที่ต้องการจะสื่อเกี่ยวกับความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ และการลบหลู่ทางศาสนา
เรื่องราวของ Blasphemous ดำเนินไปในดินแดนแฟนตาซีชื่อ ซิสโตเดีย (cvstodia) แต่ก็ชัดเจนตั้งแต่กราฟิกเปิดเกมและการออกแบบตัวเอกปริศนา ชื่อ ‘ผู้สารภาพบาป’ (penitent one สวมอาภรณ์คล้ายกับที่ผู้สารภาพบาปถูกโบสถ์บังคับให้ใส่ประจานตัวเองในสเปนยุคกลาง) ว่าทีมออกแบบได้แรงบันดาลใจล้นเหลือมาจากยุคกอธิค (gothic) ในสเปนและเมืองอื่นๆ ในยุโรป ระหว่างยุคกลางจนถึงศตวรรษที่ 18
และทุกสิ่งในเกมนี้ก็ให้ความรู้สึกราวกับว่าสามารถเกิดขึ้นได้ในจินตนาการอันคลุ้มคลั่งฟั่นเฟือนของผู้เปี่ยมศรัทธาที่ฟาดแส้ทุบตีตัวเอง ลงทัณฑ์ตัวเองเป็นวิธีไถ่บาป
ตลอดทั้งเกมเราในฐานะ ‘ผู้สารภาพบาป’ ผู้ถูกเลือกจากสวรรค์ จะสวมหน้ากากเหล็กหนักอึ้งเลือดโชก หน้ากากทั้งปิดบังตัวตนที่แท้จริงและอารมณ์ความรู้สึกใต้หน้ากาก พยายามกอบกู้โลกต้องสาปด้วยการวิ่งฆ่าสัตว์ประหลาด อสุรกาย และมนุษย์วิปริตมากมายหลายรูปแบบในปราสาท ซากปรักหักพังของโบสถ์ ภูมิประเทศแปลกประหลาดในความฝัน ทะเลทรายแห้งแล้ง ยอดเขาผจญเพลิง ดินแดนแห่งความหนาวเหน็บ ท่อระบายน้ำและส้วมลึกสุดกู่ ห้องสมุดอาถรรพ์ และภูมิประเทศเปี่ยมจินตนาการอีกมากมาย ศัตรูและตัวละครจำนวนมากในเกมนี้น่าจะทำให้ชาวคริสต์นิกายคาทอลิกที่ศรัทธาแบบ ‘คลั่งศาสนา’ ก่นด่าทีมออกแบบว่าลบหลู่ ไม่ว่าจะเป็นบาทหลวงนั่งเก้าอี้คอยทิ่มหอกเหล็กใส่เรา ผองผู้ไถ่บาปแบกกางเขนไม่ต่างจากพระเยซู ‘บอส’ ตัวหนึ่งในเกมเป็นซากศพแสยะยิ้มสวมเสื้อคลุมแพรราคาแพง ขานสร้อยท้ายชื่ออย่างตรงไปตรงมาและชวนคลื่นไส้ว่า ‘หัวหน้าบาทหลวงผู้ถูกขุดศพขึ้นมาจากหลุม’ (exhumed archbishop)
โลกของซิสโตเดียเป็นโลกแห่งความสิ้นหวังราวกับหลุดออกมาจากยุโรปในยุคกลาง ผู้คนล้มป่วยด้วยโรคระบาดไม่รู้สาเหตุ เฝ้าทรมานตัวเอง ถูกคนอื่นทรมาน และภาวนาร้องขอปาฏิหาริย์ ตัวเราในเกมนี้ก็เพิ่มพลังพิเศษด้วยการเอาดาบเฉือนเนื้อตัวเอง ตัวละครในเกมบางคนก็มอบภารกิจเสริมด้วยการขอให้เราไปหาวัตถุอะไรสักอย่างที่จะทำให้ความเจ็บปวดของเขาเข้มข้นขึ้นอีก เพราะเชื่อสุดใจว่านั่นคือหนทางสู่การหลุดพ้น
Blasphemous ทำให้การทรมานของทั้งตัวเอกและคนอื่นๆ ในเกมเป็นสิ่งที่เรา ‘อิน’ และบางครั้งก็เกิดความรู้สึกร่วม ด้วยความเอาใจใส่อย่างน่าทึ่งในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่ลายตะเกียงประดับห้องหับ ไปจนถึงการเคลื่อนไหวของศัตรู แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราจะอินกับความทุกข์ทนในโลกนี้เพราะความโหดหินของเกม ตลอดเวลาเกือบ 30 ชั่วโมงที่ผู้เขียนจมจ่อมอยู่หน้าจอ ตายแล้วคืนชีพใหม่ (หน้าโต๊ะหมู่บูชา) หลายร้อยรอบ แทบทุกครั้งกัดฟันอย่างหัวร้อนพลางนึกในใจว่าเกมอะไร!
ผู้สร้างไม่พูดเกินจริงเลยที่ว่าได้แรงบันดาลใจมาจากซีรีส์ Dark Souls หลายฉากกว่าจะผ่านได้เลือดตาแทบกระเด็น ต้องกะจังหวะกระโดดหรือเหวี่ยงดาบแบบเป๊ะเว่อร์ ขาดหรือเกินไม่กี่พิกเซลหมายถึงความตายทันที แถมเวลาจะเพิ่มพลังชีวิตยังต้องยืนนิ่งๆ แต่ศัตรูไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้การหาจังหวะเพิ่มพลังชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ จะทำสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ แถมการเติมพลังชีวิตในเกมนี้คือเราจะสาดโถเลือดอาบหน้าตัวเอง เพิ่มความขยะแขยงระคนสมเพชเข้าไปอีก
กราฟิก ระบบเกม สถาปัตยกรรมกอธิค ความยาก(มาก) เพลงประกอบ เนื้อเรื่อง ภารกิจเสริมของตัวละคร การต่อสู้กับบอส และองค์ประกอบอื่นทั้งหมดใน Blasphemous รวมกันให้ความรู้สึกทั้งขยะแขยง สังเวช สงสาร และตื่นตะลึงไปพร้อมกัน ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้เราขบขัน ชัดเจนว่าซิสโตเดียคือดินแดนที่เอ่อท้นไปด้วยศรัทธาในศาสนา ผู้คนปรารถนาเพียงการบรรเทาทุกข์ชั่วครู่ยาม หรืออย่างน้อยก็ประคองความหวังอันริบหรี่ว่าบาปของพวกเขา (บาปใดกันเล่า? บางครั้งก็ไม่อาจหยั่งรู้) จะได้รับการไถ่ถอนหรือบรรเทา
ตัวเราเองในเกมก็จ่าย ‘ซื้อ’ ใบไถ่บาปได้ไม่ต่างจากชาวคริสต์ที่พอมีฐานะในยุคกลาง ทุกครั้งที่เราตาย เศษเสี้ยวของ ‘ความสำนึกผิด’ (guilt) บางส่วนจะคงค้าง ณ จุดที่เราตาย ถ้าไม่ถ่อกลับไปเก็บมันมาเราก็ต้องซื้อใบไถ่บาป ไม่อย่างนั้นแถบค่าพลังพิเศษจะถูกหนามเกาะกินจนใช้ได้น้อยลงเรื่อยๆ
โลกใน Blasphemous ถึงแม้จะเป็นโลกแนวนอนสองมิติ แต่ก็ให้อิสระในการเล่นกับเราค่อนข้างมาก เราจะตัดสินใจประมือกับบอสตัวไหนก่อนหลังก็ได้ จะทำภารกิจเสริมที่ได้รับมอบหมายโดยตัวละครต่างๆ หรือไม่ทำก็ได้ ทำในลำดับไหนก็ได้ และภารกิจจำนวนมากก็ไม่จำเป็นต่อการจบเกม และความน่าสนใจในแง่ของการเล่าเรื่องราวของซิสโตเดียทำให้ตำนาน ประวัติศาสตร์ และความเชื่อต่างๆ ในโลกนี้ฟังดูมีน้ำหนักและน่าพิศวง ของทุกชิ้นที่เราเก็บได้ในเกม ตั้งแต่กระดูกนักบุญและไอเท็มเพิ่มพลังหรือความสามารถต่างๆ ล้วนแต่มี ‘ตำนาน’ (lore) ของมันให้เราอ่านได้ตามใจชอบ (และบางครั้งการอ่านตำนานของข้าวของบางชิ้นก็จำเป็นต่อการบรรลุภารกิจเสริม)
ความรู้สึกหลงทางหรือขาดแคลนที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจในโลกของคาทอลิกคือประสบการณ์แสนรันทด เพราะทั้งความรู้สึกกังขา (ทั้งในตัวเอง และในพระเจ้า) และความรู้สึกสำนึกผิดอาจกัดกินจิตใจจนเกินต้านทาน เราจะข้องใจว่าเรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องอยู่หรือไม่ ในโลกที่เข็มทิศทางศีลธรรมทั้งมวลดูจะแตกสลายหายไปแล้ว และเราจะอดสงสัยไม่ได้ว่า พระเจ้าหรือแม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่า ‘ความหวัง’ ยังมีอยู่จริงไหมในโลกที่ความทารุณโหดร้ายแวดล้อมเราทุกย่างก้าว
เมื่อได้สัมผัสความรู้สึกและความคิดที่เกมกระตุ้นให้เราสงสัย จึงชัดเจนว่า Blasphemous มิใช่เกมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อลบหลู่ศาสนาอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าบางคนมองกราฟิกปราดแรกอาจปักใจเชื่ออย่างนั้น
ขึ้นชื่อว่า ‘เกม’ ควรต้องลองเล่น ผ่านประสบการณ์การเล่น จึงจะได้เข้ามาใกล้ชิดกับเจตนาของผู้สร้างเกม
ในโลกสมัยใหม่ที่ศิลปินจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ มุ่งสำรวจ ‘การลบหลู่’ และ ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ อย่างท้าทาย และกระตุกให้คิดหรืออย่างน้อยก็มองความเชื่อทางศาสนาในมุมใหม่ และในสังคมพหุนิยมที่มีความหลากหลายทางความคิดและความเชื่อ ผู้ที่นับถือศาสนาใดก็ตามไม่สามารถเรียกร้องให้รัฐคุ้มครองความเชื่อของตนโดยไม่แยแสว่าคนอื่นจะคิดได้อย่างไร้แรงเสียดทานอีกต่อไปอย่างไร ในบริบทแบบนี้ Blasphemous ก็เป็นเกมเจ๋งที่อยากยั่วล้อให้เราคิดถึงประเด็นเหล่านี้มากกว่าจะล้อเลียนอย่างมักง่าย
อย่างเช่นประเด็นที่ว่า เราควรรับมืออย่างไรกับเหล่าผู้มีอำนาจที่อ้างศาสนา อ้างว่าตนเป็น ‘คนดี’ มากดขี่คนอื่น ปิดปากและลงทัณฑ์คนอื่นด้วยข้อหา ‘ลบหลู่’ เพียงเพราะอยากรักษาสมบัติและอำนาจของตัวเองเอาไว้ในโลกที่กำลังเสื่อมโทรม มองเห็นความผิดคนอื่นเท่าภูเขา ของตัวเองเท่าเส้นผม
ครั้นเมื่อโค่นผู้มีอำนาจที่เหิมเกริมเหล่านั้นลงได้แล้ว เราจะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะไม่ลุแก่อำนาจเสียเอง
ความหมายของ ‘การลบหลู่’ และ ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ ควรแปรเปลี่ยนไปอย่างไร เพื่อดูแลสังคมให้เกิดความสงบสุข ความปรารถนาของเสียงส่วนใหญ่ได้รับการตอบสนอง ขณะเดียวกันสิทธิของเสียงส่วนน้อยก็ไม่ถูกละเมิด?
สถาบันศาสนาในสังคมสมัยใหม่ควรปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสังคมพหุนิยมที่มีความคิดและความเชื่อที่หลากหลายกว่าที่แล้วมาในอดีตได้อย่างไร ?
ชื่อเกม Blasphemous ซึ่งแปลว่า ‘การลบหลู่’ จึงไม่ใช่คำอธิบายเกมนี้ เท่ากับการสื่อธีมหลักของเกม ถึงแม้ว่าทั้งเกมจะเต็มไปด้วยเลือด ความรุนแรง และฉากสยดสยองหลากรูปแบบ มันก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าทีมออกแบบจงใจใส่มาเพื่อเรียกร้องความสนใจ เหมือนฉากเซ็กซ์หรือฉากความรุนแรงที่ไม่จำเป็นในภาพยนตร์หลายเรื่องแต่อย่างใด