เมื่อเร็วๆ นี้หลายคนคงทราบดีเกี่ยวกับกรณีรูปวาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมน ที่กลายเป็นกระแสดราม่าใหญ่โตในหมู่ชาวพุทธในประเทศไทย จนผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราออกมากดดันศิลปินผู้สร้างงาน ซึ่งอันที่จริงยังเป็นศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ให้เข้าไปกราบขอขมาเจ้าคณะจังหวัดฯ ทั้งน้ำตา อันที่จริงเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย เมื่อศิลปินคนไหนหยิบเอาประเด็นเกี่ยวกับศาสนามาทำในแง่มุมที่ตรงกันข้ามกับการยกย่องเชิดชู ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ เสียดสี เย้าหยอก ล้อเลียน ไปจนถึงการตั้งคำถาม หรือแม้แต่ตีความใหม่ ก็มีอันต้องประสบเคราะห์กรรมจากดราม่ากันถ้วนหน้า
ในเวลาใกล้เคียงกันก็ได้ยินหลายๆ คนพูดว่า เหตุการณ์เช่นนี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันยากจะหาใครเสมอเหมือนของศาสนิกชนในประเทศไทย (รวมถึงประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย) ส่วนในประเทศที่เจริญแล้ว อย่างเช่นโลกตะวันตก มักไม่ค่อยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เพราะมีเสรีภาพในการแสดงออกมากกว่า ซึ่งอันที่จริงพูดแบบนี้ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว ก็เลยอยากยกตัวอย่างเกี่ยวกับผลงานศิลปะในเชิงศาสนาที่เกิดดราม่าใน ‘ประเทศที่เจริญแล้ว’ มาให้อ่านกันพอหอมปากหอมคอ
เริ่มต้นด้วยผลงานของ เมาริสซิโอ คัตเตลาน (Maurizio Cattelan) ศิลปินชาวอิตาเลียนสุดยียวนจอมป่วนแห่งวงการศิลปะ เจ้าของอารมณ์ขันตลกร้ายท้าทายสังคม เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมหุ่นขี้ผึ้งเหมือนจริงแบบไฮเปอร์เรียลลิสม์ ขนาดเท่าคนจริง ของบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนรอบตัวในวงการศิลปะ บุคคลผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และไม่มีชีวิต
ผลงานในเชิงท้าทายศาสนาที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักอย่างอื้อฉาวที่สุด
ของเขาคือ La Nona Ora หรือ The Ninth Hour (1999)
ประติมากรรมจัดวางหุ่นขี้ผึ้งเหมือนจริงขนาดเท่าจริงของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ที่สวมเสื้อคลุมบาทหลวงสีขาว มือถือไม้เท้ากางเขน นอนหลับตาอยู่บนพรมสีแดง โดยมีหินอุกกาบาตทับอยู่บนร่าง!
ผลงานชิ้นนี้ถูกแสดงเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1999 ที่ศูนย์ศิลปะ Kunsthalle Basel สวิตเซอร์แลนด์ โดยตัวหุ่นขี้ผึ้งถูกจัดวางอยู่ภายใต้หลังคากระจกที่แตกทะลุเป็นรู แถมข้างๆ หุ่นขี้ผึ้งยังมีเศษกระจกแตกกระจัดกระจายอยู่ราวกับเพิ่งถูกอุกกาบาตตกทะลุลงมายังไงยังงั้น!
ชื่อของผลงานชิ้นนี้ ได้มาจากท่อนหนึ่งของไบเบิลที่กล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูบนไม้กางเขนที่ว่า “ในชั่วโมงที่เก้า (เวลาบ่ายสามโมง) พระเยซูทรงร้องเสียงดังว่า “Eli, Eli, lama sabachthani?” ที่แปลว่า “พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ เหตุใดจึงทรงละทิ้งข้าพระองค์เสีย?” (มัทธิว 27:46)
ผลงานสุดช็อกชิ้นนี้ท้าทายสถาบันสูงสุดของคริสตศาสนาจนเป็นที่เลื่องลืออื้อฉาว และถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีอย่างเผ็ดร้อนจากคริสต์ศาสนิกชนเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันมันก็ถูกตีความในหลายแง่มุม บ้างก็ว่าผลงานชิ้นนี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์คริสตจักรคาทอลิก เกี่ยวกับพฤติกรรมอื้อฉาวและผิดศีลธรรมที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังฉากหน้าอันศักดิ์สิทธิ์ บ้างก็ว่าเป็นอุปมาถึงการพิพากษาของพระผู้เป็นเจ้าผ่านอุกกาบาตจากสวรรค์ ที่มีต่อศาสนจักรซึ่งเสื่อมถอยด้วยอัตตา ความโลภ และบาปนานับประการ หรือแม้แต่ตีความว่า เป็นอุปมาถึงตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าอย่างพระสันตปาปา ที่กำลังแบกรับความทุกข์ทรมานจากบาปแทนมวลมนุษยชาติ
หลังจากแสดงที่ Kunsthalle Baselในปี ค.ศ. 1999 ผลงานชิ้นนี้ก็ถูกนำไปจัดแสดงที่ รอยัลอาคาเดมี ลอนดอน ในปี ค.ศ. 2000 และในหอศิลป์ร่วมสมัย Zacheta ในวอร์ซอว์ โปแลนด์ ซึ่งบังเอิญว่าเป็นประเทศบ้านเกิดของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 แถมในช่วงนั้นสภาพแวดล้อมทางการเมืองของโปแลนด์ก็เอียงไปทางขั้วอนุรักษ์นิยมขวาจัด คงเดากันไม่ยากว่าต้องมีดราม่าแน่ๆ ซึ่งก็มีจริงๆ โดยในขณะที่งานกำลังแสดงอยู่ สมาชิกรัฐสภาโปแลนด์สองคนเดินทางบุกเข้าไปในหอศิลป์ ผลักหินอุกกาบาตออกจากหุ่นขี้ผึ้งและพยายามยกหุ่นขี้ผึ้งพระสันตะปาปาให้ยืนขึ้น (ซึ่งแน่นอนว่าทำไม่ได้ เพราะเขาปั้นไว้ในท่านอนน่ะนะ!) สมาชิกรัฐสภาทั้งสองยังยื่นจดหมายร้องเรียนร่วมกับสมาชิกรัฐสภาอีกเก้าสิบคน ให้ไล่ผู้อำนวยการหอศิลป์แห่งนี้ออกด้วย
ตัวคัตเตลานออกความเห็นถึงกรณีนี้ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นในโปแลนด์
เป็นปาฏิหารย์แบบกลับหัวกลับหาง เพราะมันทำให้ผมรู้ว่าการไถ่บาป
ไม่ได้มาจากฟากฟ้า แต่มาจากโลกมนุษย์ ด้วยน้ำมือของมนุษย์นี่แหละ”
เขายังบอกอีกว่า “สำหรับผม มันเหมือนคุณเล่าเรื่องตลกแต่ไม่มีใครขำสักคน ผมว่า การยั่วยุขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนนะ ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรผิดในการแสดงออกถึงด้านที่เปราะบางของคน ถึงแม้คนคนนั้นจะเป็นที่เคารพบูชาของคนส่วนใหญ่ก็เถอะ ผมไม่คิดว่าสิ่งที่ผมทำเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์หรือสภานภาพของพวกเขานะ ตรงกันข้าม ผมว่ามันอาจจะช่วยลบเลือนเส้นแบ่งบางอย่าง หรือแม้แต่ตอกย้ำความเชื่อว่า พวกเขาเป็นบุคคลหรือสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์และทรงพลังอย่างแท้จริงเสียด้วยซ้ำไป”
อย่างไรก็ดี ผลงานชิ้นนี้ก็สร้างชื่อเสียงให้กับคัตเตลานอย่างมาก และถูกแสดงในหอศิลป์, พิพิธภัณฑ์ชั้นนำหลายแห่งทั่วโลก ท้ายที่สุดยังถูกประมูลขายโดยสถาบันคริสตี้ส์ไปในราคา 886,000 เหรียญสหรัฐฯ เลยนั่นเอง
ตามมาด้วยผลงานของ แอนเดรส เซอร์ราโน (Andres Serrano) ศิลปินช่างภาพชาวอเมริกัน ผู้มีชื่อเสียงจากผลงานภาพถ่ายสุดอื้อฉาว ที่ผสมผสานเรื่องราวทางศาสนาเข้ากับประเด็นหมิ่นเหม่ล่อแหลม ความรุนแรง เรื่องเพศ และความตาย ในช่วงปลายยุค 1980s เขาสร้างชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพถ่ายที่ดูเหมือนจงใจท้าทายและช็อกผู้ชม ด้วยการนำเรื่องราวทางศาสนาเข้าไปเกี่ยวกับสิ่งที่คนทั่วไปมองว่าหยาบช้าและมีนัยยะทางเพศ
อาทิเช่นผลงาน Heaven and Hell (1984) ภาพถ่ายชายชราที่แต่งกายเหมือนพระคาร์ดินัลในศาสนาคริสต์ ยืนหันหลังอย่างไม่แยแสให้หญิงเปลือยร่างกายโชกเลือดที่มือถูกมัดโยงเอาไว้เหนือหัว ผลงานชิ้นนี้แสดงนัยถึงความสัมพันธ์ที่คริสต์จักรมีต่อเพศหญิง โดยตั้งคำถามว่าศาสนจักรเห็นพวกเธอเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกหรือแค่มองข้ามพวกเธอไปอย่างไม่ใยดี
แต่ผลงานที่อื้อฉาวที่สุดของเขาคือ
ภาพถ่ายรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา
ที่ถูกแช่อยู่ในของเหลวจากร่างกายมนุษย์
อย่างเลือด (จากเส้นเลือดหรือเลือดประจำเดือน)
อสุจิ, ฉี่ หรือน้ำนมจากเต้าสตรีมีครรภ์
ซึ่งผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาในชุดนี้ก็คือ Piss Christ (1987) ภาพถ่ายพระเยซูพลาสติกบนไม้กางเขน ที่แช่อยู่ในฉี่ และ Madonna and Child II (1987) ภาพถ่ายรูปปั้นพระแม่มารีและพระกุมาร ที่แช่อยู่ในฉี่อีกเหมือนกัน ซึ่งฉี่ที่ว่านี้ก็เป็นของเขาเองนั่นแหละ
ผลงานชุดนี้ของเซอร์ราโนก่อให้เกิดความอื้อฉาวในวงกว้างตั้งแต่ครั้งแรกที่มันถูกแสดง มันถูกคริสตจักรและเหล่าอนุรักษ์นิยมโจมตีว่าสร้างผลงานที่น่ารังเกียจและล่วงละเมิดศาสนา แต่ตัวเซอร์ราโนเองกลับยืนยันว่าผลงานชุดนี้ของเขาไม่ได้มีเจตนาลบหลู่หรือท้าทายศาสนาเลยแม้แต่น้อย หากแต่เป็นการสรรเสริญต่างหาก ด้วยการแสดงออกถึงความเสียสละของพระเยซูคริสต์ ผู้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และแสดงให้เห็นว่าการถูกประหารชีวิตด้วยการตรึงกางเขนน่าจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการถูกทรมาน เย้ยหยัน และปล่อยให้สิ้นใจตายอย่างเจ็บปวดทุกขเวทนาเป็นเวลาหลายชั่วโมง
เขากล่าวว่า “พระเยซูไม่เพียงเสียเลือดจนตาย แต่พระองค์อาจมีของเหลวไหลออกมาจากร่างกายที่ค่อยๆ ล้มเหลวอย่างช้าๆ ถ้าผลงานชิ้นนี้ทำให้คนหงุดหงิดโกรธเกรี้ยว ก็อาจเป็นเพราะมันทำให้พวกเขาเผชิญหน้ากับความเป็นจริงอันโหดร้ายนี้อย่างใกล้ชิดที่สุดมากกว่า” เขายังกล่าวอีกว่า ผลงานชิ้นนี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำให้ศาสนาเป็นธุรกิจ ผ่านอุตสาหกรรมของชำร่วยทางศาสนาราคาถูกอย่างไม้กางเขนหรือรูปเคารพพลาสติกอีกด้วย
ผลงานชุดนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่อื้อฉาวที่สุดในศตวรรษที่ 20 มันก่อความโกรธแค้นในหมู่ผู้ชมหลายต่อหลายครั้ง ถูกสาปแช่ง ถูกคนบุกเข้าไปทุบทำลาย ถูกชุมนุมประท้วง ถูกเซ็นเซอร์โดยนักการเมืองและทางการ ตัวเขาเองก็ถูกข่มขู่เอาชีวิตหลายครั้ง แม้แต่อดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา ผู้เคยออกโรงปกป้องผลงานชิ้นนี้ ก็ยังถูกกลุ่มเคร่งศาสนาโจมตีอีกต่างหาก แต่อย่างไรก็ดี สื่อมวลชนและนักวิจารณ์หลายคนก็ออกมาปกป้องเซอร์ราโนในนามของเสรีภาพในการแสดงออกทางศิลปะ แถมในปี ค.ศ. 1999 ผลงาน Piss Christ ของเขายังขายไปได้ราคา 277,000 เหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
ต่อด้วยผลงานสุดอื้อฉาวของศิลปินชาวอังกฤษ คริส โอฟิลี (Chris Ofili) แห่งกลุ่ม YBAs (Young British Artists) อย่าง The Holy Virgin Mary (1996) ที่แสดงในนิทรรศการอันสุดอื้อฉาว Sensation (1997) ในลอนดอน ภาพวาดขนาดใหญ่ในสไตล์ศิลปะแอฟริกันรูปผู้หญิงผิวดำสวมเสื้อคลุมสีน้ำเงิน บนพื้นหลังมีเหลืองแกมส้ม ผู้หญิงในภาพเป็นตัวแทนของพระแม่มารีผิวดำ
ภาพวาดสีน้ำมันสื่อผสมชิ้นนี้ ประดับด้วยกากเพชร โพลีเอสเตอร์เรซิ่น พระแม่มารีผิวดำในภาพถูกห้อมล้อมด้วยภาพคอลลาจรูปบั้นท้ายและอวัยวะเพศสตรีที่ตัดมาจากหนังสือโป๊ โดยวางตำแหน่งเลียนแบบเหล่าเทวทูตที่โบยบินอยู่รอบๆ พระแม่มารีในภาพวาดเชิงศาสนายุคโบราณ หน้าอกเปลือยด้านขวาของพระแม่มารีผิวดำมีขี้ช้างแห้งห้อยติดอยู่ แถมตัวภาพเองก็วางตั้งอยู่บนขี้ช้างแห้งสองก้อนที่มีเข็มหมุดสีปักเรียงเป็นตัวอักษรข้างหนึ่งเขียนว่า ‘Virgin’ อีกข้างเขียนว่า ‘Mary’ ผลงานอันสุดแสนจะท้าทายอย่างบ้าบิ่นชิ้นนี้ ก่อให้เกิดความโกรธเกรี้ยวและการต่อต้านจากเหล่าบรรดาคริสต์ศาสนิกชนและองค์กรคริสต์ทั่วโลกอย่างรุนแรง
ซึ่งตัวโอฟิลีเองก็ออกโรงโต้แย้งว่า ในซิมบับเวที่เขาเคยไปเยือนนั้น ขี้ช้างนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ แต่มีความหมายถึงความงดงามและอุดมสมบูรณ์ เขายังกล่าวว่าผลงานของเขาเป็นภาพของพระแม่มารีในเวอร์ชั่นฮิปฮอป และเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเขาที่จะวาดภาพพระแม่มารีผิวดำออกมา
แต่ถึงกระนั้น ข้อโต้แย้งของเขาก็ไม่ได้ยุติกระแสดราม่าที่มีต่อผลงานชิ้นนี้ เมื่อนิทรรศการ Sensation เดินทางไปแสดงในนิวยอร์กในปี ค.ศ. 1999 ที่พิพิธภัณฑ์บรูคลิน ภาพวาดนี้ก็ถูกชายผู้หนึ่งบุกเข้าไปก่อวินาศกรรมด้วยการเอาสีขาวละเลงบนภาพวาด โดยอ้างว่าผลงานของโอฟิลีเป็นการทำให้ศาสนาเปื้อนมลทิน ตัวเขาพยายามทำให้ศาสนากลับมาขาวสะอาดบริสุทธิ์อีกครั้ง โชคดีที่ภาพวาดถูกป้องกันด้วยพลาสติกใสชั้นหนึ่ง หลังจากทำความสะอาดแล้วก็ไม่มีอะไรเสียหาย ตัวรปภ. ของพิพิธภัณฑ์ที่เฝ้าดูแลภาพวาดนี้อยู่ออกปากเตือนสติชายคนดังกล่าวว่า “ใจเย็นๆ น่าลุง นี่ไม่ใช่พระแม่มารีตัวจริงเสียหน่อย มันเป็นแค่ภาพวาดภาพนึงเท่านั้นเอง!”
ก่อนหน้านั้นนายกเทศมนตรีแห่งเมืองนิวยอร์กในเวลานั้น ก็ยื่นคำร้องต่อพิพิธภัณฑ์บรูคลิน เรียกร้องให้แบนผลงานของของโอฟิลีชิ้นนี้ โดยกล่าวว่าภาพวาดนี้เป็นอะไรที่น่ารังเกียจและน่าขยะแขยง แถมยังเรียกร้องให้รัฐบาลตัดงบประมาณประจำปีจำนวน 7 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่พิพิธภัณฑ์ได้รับ และยังขู่ให้ไล่ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ออกด้วย แต่ทางพิพิธภัณฑ์ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐบาลกลาง ฟ้องร้องนายกเทศมนตรีคนดังกล่าวในข้อหาล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ผลปรากฏว่าทางพิพิธภัณฑ์ชนะคดีเสียด้วย!
อย่างไรก็ดี ภาพวาดนี้ก็ส่งให้ชื่อเสียงของโอฟิลีโด่งดังไปทั่วโลก ผลงานในซีรีส์นี้ก็ส่งให้เขากลายเป็นศิลปินผิวดำคนแรกที่ได้รับรางวัลเทอร์เนอร์ในปี ค.ศ. 1998 แถมตัวภาพวาดเองก็ถูกประมูลโดยสถาบันคริสตี้ส์ไปในราคา 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อีกต่างหาก
ปิดท้ายด้วยเหตุการณ์ล่าสุด เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ฮาร์โมเนีย โรซาเลส (Harmonia Rosales) ศิลปินแอโฟร-คิวบันจากชิคาโก สร้างสรรค์ผลงาน ‘พระเจ้าสร้างอาดัม’ (The Creation of Adam) ที่หลายคนรู้จักกันดีในฐานะผลงานชิ้นเอกของศิลปินยิ่งใหญ่ในยุคเรอเนสซองส์ ไมเคิลแองเจโล (ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่) ขึ้นมาใหม่ในเวอร์ชั่นของเธอเอง แต่แทนที่จะวาดภาพพระเจ้าเป็นชายชราผมขาวหนวดเคราขาว สัมผัสนิ้วกับมนุษย์เพศชายคนแรกเพื่อสร้างเขาขึ้นมา พระเจ้าและมนุษย์คนแรกในภาพวาดของเธอกลับกลายเป็นผู้หญิงผิวดำแทน!
ถึงแม้ผลงานของเธอจะได้รับความสนใจและเรียกไลก์อย่างมากเมื่อเธอโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดกระแสดราม่าในแง่ลบอย่างมาก นักวิจารณ์หลายคนก่นด่าว่างานของเธอน่ารังเกียจ บ้างก็ว่าเธอสร้างความเสื่อมเสียแก่ผลงานชิ้นเอก และเป็นนักฉวยโอกาสทางวัฒนธรรม การวาดภาพพระเจ้าเป็นผู้หญิงผิวดำยังก่อให้เกิดความโกรธเกรี้ยวต่อศาสนิกชนผู้เคร่งศาสนา บางคนประณามเธอว่าเป็นศิลปินมักง่าย ที่หยิบเอาผลงานของศิลปินชั้นครูอย่างไมเคิลแองเจโลมาดัดแปลง แทนที่จะสร้างอะไรใหม่ๆ ของตัวเองขึ้นมา
ในขณะที่โรซาเลสกล่าวถึงเหตุผลในการสร้างงานชิ้นนี้ของเธอว่า เธอต้องการใช้ผลงานศิลปะชิ้นสำคัญที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนสามัญสำนึกหรือแม้แต่จิตใต้สำนึกของผู้คน เกี่ยวกับค่านิยมชายผิวขาวเป็นใหญ่และเป็นผู้มีอำนาจในสังคมแต่เพียงผู้เดียว เธอยังกล่าวด้วยว่า เพศชายผิวขาวมักจะเป็นตัวละครหลักในผลงานศิลปะคลาสสิคชิ้นเอกที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ทั่วโลก ทั้งๆ ที่อันที่จริง การวาดภาพพระเจ้าและมนุษย์คนแรกเป็นผู้หญิงผิวดำเป็นอะไรที่ออกจะสมเหตุสมผล เพราะในความเป็นจริง มนุษย์ทุกคนถือกำเนิดจากทวีปแอฟริกาที่เป็นเหมือนสวนอีเดนดีๆ นี่เอง (แถมมนุษย์ทุกคนก็ต้องถือกำเนิดจากผู้หญิงกันทั้งนั้น หรือไม่จริง?) นอกจากภาพวาดของไมเคิลแองเจโลแล้ว เธอยังวาดภาพของศิลปินชั้นครูอื่นๆ อย่าง เลโอนาร์โด ดา วินชี หรือ บอตติเชลลี (Sandro Botticelli)ในเวอร์ชั่นผู้หญิงผิวดำออกมาอีกด้วย (ดูภาพวาดเพิ่มเติมได้ที่)
เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้เห็นว่า แม้แต่ประเทศโลกตะวันตกก็มีดราม่าเรื่องงานศิลปะที่มีประเด็นเกี่ยวกับศาสนาเหมือนกัน แต่ก็ชวนมองว่าในบ้านเขา ผู้มีอำนาจในสังคมเหล่านั้นออกมาให้ความเห็นไปในทางไหน ตัวศิลปินหรือสถาบันที่ศิลปินสังกัดหรือแสดงผลงานคิดเห็นอย่างไรกับการสร้างสรรค์เหล่านี้ แล้วสถาบันทางศิลปวัฒนธรรมหรือสื่อมวลชนออกมาปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของคนทำงานสร้างสรรค์ หรือร่วมผสมโรงโจมตีไปด้วยหรือเปล่า?
อ้างอิงข้อมูลจาก