สัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างที่บ้านเรากำลังดราม่ากับข่าวรูปวาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมย ผมก็กำลังกำลังประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่วัดญี่ปุ่น ใช่ครับ ผมเองประกาศตนว่าเป็นคนไร้ศาสนามาได้หลายปีแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นพวกแอนตี้ศาสนา ต้องไปต่อยพระ เผาโบสถ์อะไร แค่ไม่ได้นับถือศาสนาอะไร แต่ไม่มีปัญหากับการร่วมพิธีกรรมทางศาสนา หลักเกณฑ์ของผมก็คือ ไม่บังคับใคร และไม่ให้ใครบังคับ เพียงเท่านั้น ใครจะนับถืออะไรก็นับไป แค่ไม่ควรเอาสิ่งที่ตัวเองนับถือไปเบียดเบียนคนอื่น และที่ไปวัดที่ญี่ปุ่น ก็เพราะว่าครอบครัวฝ่ายภรรยาทำพิธีทำบุญให้กับตาและยายของภรรยา ซึ่งพอสองเหตุการณ์มาประจวบตรงกันในช่วงเวลาเดียวกันเช่นนี้ ก็ทำให้ชวนฉุกคิดอะไรหลายอย่างครับ
หลายครั้งเวลาเขียนเรื่องงานเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น พอมีเรื่องอะไรแย่ๆ ก็มักจะเจอคอมเมนต์ว่า แบบนี้ล่ะ ประเทศไม่มีศาสนา เอาเข้าจริงๆ ผมก็ว่าเป็นความเข้าใจผิดไปไกลมากเหมือนกัน เอาง่ายๆ ก่อนว่า ประเทศญี่ปุ่นไม่มีศานาประจำชาติจริง ซึ่งก็เป็นไปตามแนวทางแยกศาสนาออกจากรัฐ และจริงๆ แล้ว ไทยก็ไม่มีศาสนาประจำชาตินะครับ ถือเป็นรัฐฆราวาศเช่นกัน (ตามนิตินัย) เพียงแค่มีชาวพุทธเยอะสุดในประเทศเท่านั้น
แต่ประโยคที่ว่า “ประเทศไม่มีศาสนา” ก็มักจะสื่อถึงชาวญี่ปุ่นที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุว่าตัวเองนับถือศาสนาอะไร แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีศาสนาหรอกนะครับ ไม่อย่างนั้นผมจะไปวัดเพื่ออะไร แล้วเวลาคนไทยไปญี่ปุ่น ก็เห็นไปเที่ยววัด ไปเที่ยวศาลเจ้ากันตั้งเยอะ แถมหลายต่อหลายคนยังแยกไม่ออกว่าทั้งสองอย่างนี่ต่างกันยังไง และจริงๆ แล้ว ศาสนาสำหรับชาวญี่ปุ่นอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องระบุไว้ในเอกสารทางการอะไร (ผมเคยช่วยน้องนักศึกษาญี่ปุ่นที่มาสมัครเรียนมหาวิทยาลัยที่ไทย แล้วเขาก็งงช่องที่ต้องกรอกว่า ‘ศาสนา’ เพราะไม่เคยเจอมาก่อน)
ศาสนาดูเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเขามากกว่าครับ ทั้งพุทธและชินโตก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตแต่ละวัน คนญี่ปุ่นอาจจะตื่นมาแล้วเปิดหิ้งพระที่เก็บเถ้าของบรรพบุรุษไว้ แล้วสวดบทสวดของศาสนาพุทธ แล้วค่อยมายกมือไหว้หิ้งเทพชินโตอีกที คนทำการค้าขายก็เอาเกลือใส่ถ้วยเล็กๆ มาวางไว้หน้าร้านเพื่อปัดรังควาน และชีวิตคนญี่ปุ่นก็สัมพันธ์กับศาสนาตลอด ลูกผมเกิดมาหนึ่งเดือนก็พาไปทำพิธีทางชินโต เดี๋ยวก็มีพิธีนั่นพิธีนี่เรื่อยๆ จะบอกว่าไม่มีศาสนาเลยมันก็ไม่ใช่น่ะครับ แค่เขาใช้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ได้แบกไว้เพื่อให้ได้ชื่อว่ามีศาสนา แล้วเอาไปฟาดๆ คนอื่นๆ แต่ไม่ทันได้ฉุกคิดว่า อะไรคือการนับถือศานาและการเป็นศาสนิกชนที่เหมาะที่ควร
โอเคล่ะครับ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าญี่ปุ่นกับไทยเป็นคนละนิกายกัน แน่นอนว่า ‘นิกายมหายาน’ ของญี่ปุ่นเน้นพาคนหมู่มากไปสู่การบรรลุ แต่ ‘นิกายหินยาน’ ของไทยเน้นไปที่การปฏิบัติธรรมของนักบวช (อันนี้คร่าวๆ ในความเข้าใจผมนะ) ซึ่งมุมมองที่มีต่อศาสนาก็อาจจะแตกต่างกันไปมากเหมือนกัน แต่เรากอาจจะเอาวิธีคิดของเขามาเป็นบทเรียนของเราได้ไม่มากก็น้อย
เพราะความเป็นมหายานของญี่ปุ่น (จะนับรวมจีนก็ได้)
เลยทำให้แม้ศาสนาจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่พอโลกเข้าสู่ยุคปัจจุบัน
มุมมองที่มีต่อศาสนาก็เปลี่ยนไป
แต่เดิมญี่ปุ่นในอดีตก็นับถือศาสนาชินโต ที่จริงๆ จะเรียกว่านับถือชินโตก็คงหมายถึงการเรียกรวมๆ เพราะแต่ละที่ก็เป็นการไหว้ผีในท้องถิ่นของตัวเอง ไหว้ธรรมชาติ ไหว้ปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไหว้สัตว์ต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเอง ก่อนที่ราชสำนักจะนำศาสนาพุธเข้ามา เพื่อเป็นการจัดระเบียบสังคม และเป็นวิธีการในการปกครองประชาชนได้อีกด้วย ซึ่งศาสนาเองก็เคยมีอำนาจขนาดที่สามารถคัดง้างกับอำนาจปกครองได้เลยทีเดียว แต่พอเข้ายุคใหม่ที่มีการแยกศาสนาออกจากรัฐ ความเข้มข้นของอำนาจศาสนาก็ลดทอนลง กิจกรรมทางศาสนาส่วนใหญ่ก็กลายมาเป็นธรรมเนียมเสียมากกว่า แต่พอมานึกจริงๆ ก็ไม่ต่างอะไรจากการที่เราเข้าวัดเฉพาะวันที่มีกิจกรรมทางศาสนาสำคัญๆ ซึ่งเป็นธรรมเนียมเช่นกัน
แล้วพอเป็นนิกายมหายานที่ต้องการให้คนหมู่มากได้เข้าถึงศาสนา และตัวนักบวชเองก็ไม่ได้วางตัวเข้มงวดนัก (หลังจากการแยกศาสนาพุทธกับชินโตในช่วงปฏิรูปเมจิ) ชาวญี่ปุ่นจึงไม่ได้รู้สึกแปลกแยกกับศาสนา แต่เขายังสามารถ ‘รับ’ ศาสนาในรูปแบบอื่นๆ ได้ ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ พระพุทธรูปใหญ่ที่คามาคุระ ที่ผมไปทีไรก็ประทับใจความยิ่งใหญ่และยืนยงอยู่ทนมานาน แต่เมื่อไว้พระเสร็จ เดินออกมาเราก็เจอร้านขายของที่ระลึกที่มีการเอาพระพุทธรูปมาฟีทเจอริ่งกับตัวละครดังๆ ตั้งแต่ คิตตี้ ลูฟี่ ไปจนกระทั่งมีตัวไททันมาขัดเศียรพระด้วย และยังมีของอื่นๆ ที่มีรูปพระอยู่เต็มไปหมด
ถ้าวัดทำขายเองแบบนี้แล้วจะถือว่าเป็นมารศาสนาไหม เขาก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกันอย่างนั้น มันก็ไม่ได้ถือว่าเป็นการเผยแพร่ศาสนา แต่ศาสนาก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเขา เจออะไรแบบนี้ก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรนัก แน่นอนว่ามันก็อาจจะมีคนฮาร์ดคอร์ ไม่พอใจ ต่อว่าบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย และคงไม่มีใครสนใจอะไรมาก เพราะถือว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงออกอย่างหนึ่ง (คุณต่อว่าไม่พอใจได้ แต่คุณไม่สามารถไปรังควาญหรือลงมือกระทำผู้อื่นได้) ผมเองก็ซื้อลูกบอลที่เอาไว้เด้งๆ กับพื้น ที่ข้างในมีรูปพระพุทธรูปกลับมาด้วย
ยังไม่นับงานศิลป์และวัฒนธรรมป๊อปที่สามารถนำศาสนามานำเสนอมากมาย
มีการเอารูปปั้นพระโพธิสัตว์ต่างๆ หรือเทพทั้งหลายมาตีความใหม่เป็นเรื่องปกติไปแล้ว
ขนาดของเล่นกาชาปองที่หมุนออกมาแล้วได้พระพุทธรูปขนาดย่อยังมีหลายรุ่นครับ (ผมเองก็สะสมบ้าง เพราะผมชอบพระพุทธรูปของหินยาน ผมว่ามีความสวยงามเฉพาะตัว และมีพระโพธิสัตว์ที่คนไทยไม่คุ้นอยู่เยอะมาก จนทำให้ต้องไปหาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติมเรื่อยๆ) มีการทำตัวมาสคอตที่มีแบบมาจากพระพุทธรูป ล่าสุดก็มีกาชาปองสัตว์ทำท่าเหมือนกับพระออกมาขายอีก มีดราม่ามั้ย ก็คงน้อยซะจนไม่มาเข้าหูครับ
ที่เป็นที่นิยมสุดก็คงเป็นมังงะนี่ล่ะครับ ที่มีการนำเอาพุทธศาสนามานำเสนอในรูปแบบต่างๆ ซึ่งคนไทยเคยได้ยินแต่คงไม่มีโอกาสได้อ่านกันอย่างถูกกฎหมาย (ยกเว้นจะอ่านไฟล์ภาษาญี่ปุ่น) ก็คือเรื่อง Saint Young Men ที่พาสองศาสดาของศาสนาพุทธและคริสต์มาเขียนเป็นมังงะตลก ถ้าคนไม่ชอบอาจจะบอกว่าล้อเลียน แต่ถ้าได้อ่านแล้วจะพบว่าคนเขียนต้องทำการบ้านอย่างมาก เพราะต้องเข้าใจและมีความรู้เรื่องศาสนาทั้งสองสูงเอาเรื่องถึงจะเขียนมุกแบบนี้ออกมาได้
เอาจริงๆ แล้วนี่ยังอาจจะสามารถสร้างความสนใจให้กับพุทธศาสนาได้มากกว่าที่คิดด้วยซ้ำ นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องอื่นๆ ตั้งแต่ ナヴァグラハ-DefenD 9 Triggers- หรือ นพเคราะห์ นั่นเอง ที่เป็นมังงะแปลงร่าง โดยตัวละครในเรื่องก็เป็นอวตารของพระโพธิสัตว์ต่างๆ อ่านไปผมก็ต้องเปิดหาอ้างอิงไปเรื่อยๆ เอาจริงๆ เรื่องที่เปิดโลกให้ผมมองอีกมุมได้ก็คือเรื่อง เทวฤทธิ์พันมือ หรือ Butsu Zone ที่ทำให้คิดว่า เออ สามารถตีความศาสนาแบบนี้ได้ด้วยนะ แล้วไม่รู้สึกว่าเป็นการหมิ่นหรือล้อเลียนอะไร
ยังไม่นับ Buddhaโดยปรมจารย์ เทซึกะ โอซามุ (Tezuka Osamu) ที่ไม่มีโอกาสได้พิมพ์ในไทยเสียที เพราะไม่ว่าใครก็กลัวดราม่า ทั้งๆ ที่เป็นมังงะที่ทำให้เข้าใจพุทธประวัติในอีกแง่มุมได้ (เลยได้แค่อ่าน วิหกเพลิง ไปก่อน) ซึ่งก็น่าคิดว่า เพราะเป็นสื่อที่ป๊อปแบบมังงะรึเปล่า คนเลยพร้อมจะกล่าวหาว่าไม่เหมาะสม แต่พอเป็นนิยายอย่าง สิทธารถะ ของ เฮอมานน์ เฮสเส (Hermann Hesse) ที่ตีความพุทธประวัติในอีกแง่หนึ่ง กลับไม่มีใครสนใจอะไรนักหนา บางทีก็คิดเสียดายโอกาสที่จะหาความรู้เพิ่มนะครับ หรือบางทีรัฐเองก็อาจจะกลัวการตีความหรือเรื่องเล่าที่ไม่ได้ตรงกับแนวทางของตัวเองก็ได้ (ย้อนกลับไปดูว่า รัฐไทยเป็นรัฐฆราวาศ อีกครั้งนะครับ)
นั่นก็แค่ส่วนของเรื่องสื่อบันเทิงครับ ยิ่งถ้าเรามาดูในส่วนของ ‘นักบวช’ หรือ ‘พระ’ ก็ยิ่งน่าสน จริงๆ ผมเคยเขียนลงใน เอ๊ะ! เจแปน ไปแล้วแต่ก็นานหลายปี ก็มีอัพเดตใหม่ๆ บ้าง สำหรับชาวญี่ปุ่นในปัจจุบัน พระส่วนใหญ่ก็เหมือนอาชีพหนึ่ง ตื่นเช้ามาออกไปทำงาน รับสวด กลับบ้านก็มีครอบครัว บางคนก็ทำงานพิเศษอื่นด้วย ไม่ได้แปลกอะไร
แต่ก็มีสายที่เคร่งจริงๆ ครับ คือผมเป็นคนอีสาน โตมาก็เห็นพระป่าสายอีสานที่เคร่งๆ มาเยอะ แต่ของญี่ปุ่นสายเคร่งนี่ไปอีกทาง คือเขามี 苦行 (คุเกียว) หรือการทรมานร่างกายเพื่อเป็นการทำสมาธิ ที่เราเคยเห็นแบบแมสๆ หน่อยก็การยืนแช่น้ำตกเย็นๆ นั่นล่ะครับ แต่ก็มีที่โหดมากๆ แบบ แทบไม่ได้ฉันอาหาร แต่ต้องใส่ชุดพระเต็มยศแล้วเดินวนสวดตามจุดต่างๆ ในเขา เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน เรียกได้ว่าคล้ายๆ กับวิ่งเทรลตลอดทั้งวันแต่ไม่ได้กินอะไรน่ะครับ บางรูปก็อาพาตถึงชีวิตก็มี แต่เขาก็ยังทำอยู่เพราะถือเป็นกิจกรรมสำคัญ ใครบอกพระญี่ปุ่นไม่เคร่งก็ให้ลองมองสายนี้ดูบ้างครับ
แต่สำหรับพระมหายานแล้ว การเผยแพร่ธรรม
ช่วยให้คนหมู่มากหลุดจากความทุกข์ก็เป็นเรื่องสำคัญ
จึงไม่แปลกที่มีการพยายามดึงคนเข้าวัดด้วยวิธีต่างๆ
บางวัดก็อาศัยจุดขายเรื่องตัวมาสคอตน่ารักโมเอ้ที่เรียกชาวโอตาคุได้ วัดบางแห่งก็มีการเปิดเพลงเทคโนผสมบทสวด บางที่ก็โปรดิวซ์ไอดอลของวัด บางวัดก็มีพระหล่อประจำวัดอยู่ (มีหนังสือรวมพระหล่อครับ) บางรูปก็เล่นกีตาร์โชว์การเทศน์ บางรูปก็ทำเค้กเก่ง ส่วนนึงก็เป็นเพราะวัดก็เป็นกิจการอย่างหนึ่งครับ นอกจากคนนิมนต์ไปสวดแล้วได้ปัจจัยแล้ว (อันนี้ก็เหมือนกันนะ) ก็ต้องค้าขายกันบ้าง ก็ยอมรับกันตรงๆ ไม่งั้นวัดก็ล่มได้เหมือนกัน แต่ยังไงซะ การเผยแพร่ธรรมและช่วยให้คนพ้นทุกข์ก็เป็นเป้าหมายหลักนั่นล่ะครับ บางแห่งถึงขนาดที่ตั้งบาร์ที่มีพระเป็นบาร์เทนเดอร์ คอยให้คำปรึกษากับลูกค้าที่มานั่งดื่ม จริงๆ แล้ว บาร์เทนเดอร์นี่ก็เป็นอาชีพที่ต้องมีทักษะในการเป็นเพื่อนคุยและปลอบโยนคนเยอะครับ การให้พระมาทำงานตรงนี้ก็อาจจะเหมาะก็ได้
ที่ผมยกพระญี่ปุ่นมาให้ดูก็เพราะเราเองก็ควรมองความสัมพันธ์ของ พระ วัด และสังคม ตามยุคสมัยด้วยหรือไม่ ในอดีตผมก็เข้าใจว่า วัดคือศูนย์กลางของสังคมจริงๆ ไม่ใช่แค่เป็นที่ทำบุญ แต่ยังเป็นที่สาธารณะให้คนในท้องถิ่นมาใช้ร่วมกัน ซึ่งเราก็ยังพบในต่างจังหวัดได้ แต่กับสังคมเมือง วัดมีบทบาทอย่างไรบ้าง ผมเห็นบางแห่งก็เอาดีกับการจัดงานศพ กลายเป็นสถานที่จัดงานศพครบวงจร พระมีหน้าที่จัดคิวคอยสวดตามศาลาต่างๆ เข้าวัดไปเห็นแต่ศาลากับเมรุ ไม่ได้รู้สึกถึงความร่มรื่นอะไรเลย จนปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระและชุมชนกลายเป็นอะไรไปก็พูดยาก
รวมไปถึงว่าในโลกสมัยใหม่ ความรู้อยู่แค่ปลายนิ้วมือ บทบาทความเป็นผู้ทรงความรู้ในชุมชนก็เลือนรางลงไม่เหมือนเดิม จนในปัจจุบันคงต้องมองกันอีกทีว่าสังคมเราอยู่กับวัดและพระอย่างไร และวัดควรทำเช่นไรเพื่อให้ฆราวาสได้เข้าถึงศาสนา หรือคอยช่วยเหลือให้เดินในทางที่ถูกต้องได้ และมีแรงจูงใจให้เข้าวัดโดยไม่ได้หวังโชคลาภหรือให้ได้บุญ แต่เป็นการเข้าวัดเพื่อความสงบของจิตใจ (แน่นอนว่าจะให้เล่นกีตาร์ชวนญาติโยมแบบญี่ปุ่นก็คงใช่ที่ แต่ก็น่าจะเอามาปรับท่าทีอะไรได้หลายอย่างอยู่)
เขียนมาซะยืดยาว จริงๆ ก็ไม่มีบทสรุปอะไรเป็นรูปธรรมได้หรอกครับ ผมเองก็เป็นแค่คนๆ หนึ่งเท่านั้น เพียงแต่อยากให้มองออกไปกว้างๆ ว่าโลกมันมีอะไรอีกมากมายหลายต่อหลายอย่าง และเราสามารถเอามาปรับใช้ได้เพื่อประโยชน์ของเรา แทนที่จะถืออะไรบางอย่างไว้แล้วบอกว่า ของเราคือดีที่สุด แล้วเอาไปฟาดคนอื่นที่ไม่เชื่อตนเอง ผมว่าอันนั้นไม่ใช่การนับถือศาสนา แต่เป็นการเอาศาสนามารับใช้อีโก้ของตนเองเสียมากกว่า และไม่คิดว่ามีศาสดาท่านไหนสอนอะไรเช่นนั้น บางที ถอยออกมาก้าวหนี่ง แล้วคิดอีกทีว่า ตกลงเรานับถืออะไร ก็น่าจะดีเหมือนกันนะครับ