ดูเหมือนว่าความเจ็บปวดจากการเหยียบเลโก้จะเป็นประสบการณ์ที่มนุษย์โลกเคยเผชิญร่วมกัน เราต่างเข้าใจความเจ็บปวดเมื่อเท้าของเรากดลงไปบนของเล่นชิ้นเล็กๆ ที่หลงเหลือกระจัดกระจายอยู่ตามพื้น หลังจากที่เราเก็บลงกล่อง ของเล่นที่แทบทุกบ้านมี และเป็นของที่เราเคยจับเคยเล่นกันมา
จากของเล่นชิ้นเล็กๆ แต่ก็ดูเป็นเรื่องที่ใหญ่พอสมควร จากของเล่นที่ผลิตขึ้นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กลายมาเป็นของเล่นที่เราเชื่อกันว่าการเล่นเลโก้นอกจากจะสนุกแล้วยังส่งผลดีในด้านต่างๆ ของเด็กๆ ด้วย ซึ่งเลโก้ก็มีมากว่า 60 ปีแล้ว
เลโก้เป็นของเล่นที่อนุญาตให้เด็กๆ ได้ทดลอง ได้ลองประกอบสิ่งที่ตัวเองคิดและจินตนาการขึ้น ข้อสำคัญของเลโก้จึงเป็นการที่เราสามารถค่อยๆ ต่อชิ้นส่วนทีละชิ้นไปพร้อมๆ กับการถอดและพังสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อลองแนวทางใหม่ๆ ไปตามจินตนาการของเรา
ของเล่นเพื่อเด็กๆ ในช่วงสงครามโลก
เลโก้ถือเป็นของเล่นที่พิเศษและเก๋ไก๋ที่สุดชิ้นหนึ่งของโลก เป็นตัวต่อที่แสนจะเรียบง่ายแต่ก็สลับซับซ้อน เลโก้จึงเป็นสิ่งที่เล่นได้ซ้ำๆ ในตัวเอง ไม่ได้มีกฏเกณฑ์อะไรเฉพาะตัวนอกจากการปักแต่ละส่วนเข้าหากัน เพื่อสร้างสิ่งที่เราจินตนาการไว้
ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1900s นาย Ole Kirk Christiansen ผู้มีธุรกิจโรงไม้และผลิตเฟอร์นิเจอร์ในเดนมาร์กเริ่มผลิตของเล่นจากไม้ โดนตอนนั้นเป็นช่วงระหว่างสงครามโลก ครอบครัวในเดนมาร์กมักซื้อของเล่นไม้ของนาย Christiansen เพื่อประโลมใจเด็กๆ ที่ต้องอยู่ภายใต้ความกดดันของนาซี แต่ด้วยภาวะสงครามทำให้ไม้ขาดแคลน หลังสงครามโลกครั้งที่สอง พลาสติกก็เริ่มเป็นวิทยาการที่แพร่หลาย นาย Christiansen จึงเอาเทคโนโลยีแม่พิมพ์พลาสติกมาผลิตของเล่น หลังจากนั้น เจ้าตัวต่อพลาสติกก็ถือกำเนิดขึ้น
เจ้าตัวต่อพลาสติก ในฐานะของเล่นสมัยใหม่ ถือเป็นการสืบทอดการเล่นตัวต่อไม้ที่เราเคยเอามาเล่นเป็นบ้านกันในสมัยก่อน แต่การออกแบบแบบใหม่ได้ทำให้ทางเลโก้สามารถสร้างตัวต่อพลาสติกที่กลวง น้ำหนักเบา มีช่องเพื่อให้แต่ละชิ้นติดและซ้อนต่อกันขึ้นไปได้ โดยระยะแรกลูกค้าก็ใช่ว่าจะตอบรับกับของเล่นพลาสติกในทันที พวกเขายังคงอยากได้ของเล่นที่ผลิตจากไม้หรือโลหะแบบดั้งเดิมมากกว่า ทางบริษัทเองก็ต้องค่อยๆ พัฒนาตัวเลโก้ เช่น ทำให้ระบบล็อกระหว่างตัวต่อแต่ละตัวดีขึ้น ปรับประเด็นเรื่องสารพิษในพลาสติก ไปจนถึงตั้งศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาและหาประโยชน์ในทางพัฒนาการจากการเล่นเลโก้
การเล่นอย่างจริงจัง
ทางเลโก้พยายามบอกว่าการเล่นเป็นเรื่องจริงจัง ซึ่งตัวบริษัทเองก็พยายามทำงานร่วมกับนักศึกษาทั่วโลกเพื่อโปรโมตประโยชน์ของการเล่นตัวต่อ โดยหลักๆ แล้วเลโก้ส่งเสริมพัฒนาการค่อนข้างรอบด้าน ตั้งแต่การพัฒนาทักษะทางร่างกาย พัฒนากล้ามเนื้อของเด็กๆ จากการหยิบจับ การกดตัวต่อเข้าด้วยกัน การเล่นตัวต่อทำให้เด็กๆ มีพัฒนาการทางสังคมจากการเล่นด้วยกันและการอวดผลงานการต่อของตัวเองกับคนอื่น แถมการต่ออะไรเสร็จขึ้นมาชิ้นหนึ่งเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็กๆ ด้วย
ประเด็นสำคัญในการเล่นเลโก้คือศักยภาพในการ ‘สร้าง’ โดยเฉพาะในทางสถาปัตยกรรม แต่ในกระบวนการการสร้างในการเล่นเลโก้ของเราอยู่ที่ศักยภาพในการลองผิดลองถูก คือเราสามารถนึกถึงภาพปลายทางที่เราต้องการต่อ แล้วค่อยๆ ลองต่อไปทีละบล็อก ทีละบล็อก เพื่อไปสู่ภาพที่เราคิดไว้ ซึ่งระหว่างทางที่เราค่อยๆ ต่อ ก็มีการดึงออก ลองเปลี่ยนใหม่อยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นการเล่นเลโก้จึงค่อนข้างเกี่ยวกับวิธีคิดในเชิงนวัตกรรม ทำให้เรากล้าที่จะคิด กล้าลงมือทดลองทำและพังสิ่งที่เราสร้างเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ต่อไป
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องสร้างอะไรบางอย่าง แต่ในการสร้าง บางครั้งเราก็กลัวที่จะผิด การต่อเลโก้จึงตอบสนองเราทั้งในแง่ของความชอบที่จะสร้างและความกลัวที่จะผิดพลาด
อ้างอิงข้อมูลจาก