ถ้าเราเหนื่อยล้า…จงเดินเข้าป่า
คิดถึงภูเขา คิดถึงทะเล ใช้ชีวิตเหน็ดเหนื่อย ทำงานมาทั้งวัน ช่วงอากาศเปลี่ยน ฝนโปรยปราย คิดถึงบรรยากาศชื้นๆ ของภูเขา บางคนอาจจะนึกถึงหาดทรายและสายลมเย็นๆ ของท้องทะเล แค่คิดก็อยากสูดหายใจเข้าไปเต็มปอด ให้พื้นที่สีเขียวและสีฟ้า ช่วยรักษาซ่อมแซมทั้งร่างกายและหัวใจของเราจัง
ชอบทะเลหรือภูเขา? – เรามักถามกัน – นั่นสินะ เพราะการที่เราชอบทะเลหรือชอบภูเขา ดูจะบอกอะไรเกี่ยวกับตัวเราได้บ้างเหมือนกัน มีงานศึกษาบอกว่าความชอบพื้นที่ธรรมชาติที่ต่างกันนี้ พอจะบอกลักษณะนิสัยคร่าวๆ ได้ คนที่ชอบภูเขา ชอบความเย็นเยียบ ถอยห่างจากความวุ่นวายไปสู่ความสงบเงียบมีแนวโน้มเป็นคนไม่ค่อยสังคม ในขณะที่คนชอบทะเลจะตรงข้าม จะเป็นคนฮอตๆ เปิดเผย ชอบเข้าสังคม
ดังนั้นดูเหมือนว่า คงไม่มีใครไม่ชอบธรรมชาติ ถ้าไม่ชอบภูเขาก็ชอบทะเล หรือไม่ก็ชอบทั้งสองอย่าง พื้นที่ธรรมชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์อย่างเราๆ เป็นพื้นที่ๆ เรากลับไปเพื่อเยียวยารักษา ไปฟื้นฟู รับพลังบางอย่าง … นั่นสินะ ทำไมป่าเขาและทองทะเลจึงมีอำนาจรักษาเราได้ และนี่คือเหตุผลที่ควรเอาตัวกลับไปอาบป่าเขียว เอาเท้าไปเหยียบย่ำฝืนทรายบ้าง นานๆ ครั้งก็ยังดี
ยิ่งอยู่ใกล้ยิ่งดี
เราต่างรู้ – รู้สึก – ดีว่าป่าเขาลำเนาไพรเป็นพื้นที่พึงปรารถนาของเรา เรารู้ว่าเราควรจะอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ รู้สึกดีทุกครั้งที่อยู่ท่ามกลางป่าเขาและสายน้ำ มีรายงานจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษ University of Exeter Medical School ศึกษาคนเมือง 10,000 คนแล้วพบว่า คนที่อาศัยใกล้กับพื้นที่สีเขียวมีแนวโน้มที่จะมีความเครียดน้อยกว่า ซึ่งผลกระทบของธรรมชาตินี้ดูจะมีอิทธิพลสูงสุดแม้ว่าจะเทียบกับรายได้ ระดับการศึกษาและลักษณะการทำงาน ในปี 2009 นักวิจัยชาวดัตช์เองก็พบผลการศึกษาในทำนองเดียวกันว่าคนที่อาศัยอยู่ในระยะครึ่งไมล์จากพื้นที่สีเขียวมีแนวโน้มเป็นโรคต่างๆ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล โรคระบบหัวใจ ภูมิแพ้ หรือไมเกรน รวมแล้ว 15 โรคต่ำกว่าชาวบ้าน
นักวิจัยชื่อ Richard Mitchell แห่ง University of Glasgow ในสกอตแลนด์บอกว่า เนี่ยสงสัยจังว่าธรรมชาติจะมีผลอะไร หรือการที่อยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวทำให้คนออกไปเดินเล่นในป่า ไปเดินในสวน พี่แกเลยลงมือทำงานการศึกษาเก็บข้อมูลแล้วก็พบว่า คนที่อยู่ใกล้สวนและพื้นที่สีเขียวอื่นๆ มีอัตราการตายและเป็นโรคต่างๆ ต่ำกว่า โดยไม่เกี่ยวว่าคนพวกนั้นจะเข้าไปใช้ ไปเดินออกกำลังในพื้นที่เขียวๆ หรือไม่
พลังของสนามและต้นไม้ใบหญ้า
สีเขียวๆ ของใบไม้และผืนหญ้าอาจจะไม่ได้มีประโยชน์แค่การตกแต่ง มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งรวมทั้งของคุณพี่ Richard Mitchell พบว่า เทียบกับคนที่อยู่ใกล้เมืองอันวุ่นวาย คนและสถานที่ที่อยู่ใกล้กับต้นไม้ใบหญ้า ดูจะได้รับพลังพิเศษจากสีเขียวๆ นั้น เช่น คนป่วยในโรงพยาบาลมีแนวโน้มที่จะหายเร็วขึ้น เด็กๆ ในโรงเรียนดูจะเรียนรู้ได้ดีกว่า แม้แต่ย่านที่มีพื้นที่สีเขียวเยอะๆ ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงน้อยกว่า นอกจากนี้ผลการศึกษาบอกว่า ต่อให้ไม่ได้อยู่ใกล้หรือเห็นสีเขียวๆ ฟ้าๆ ของจริง แค่ดูภาพธรรมชาติก็ส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างมีความสงบมากขึ้นและทำงานต่างๆ ได้ดีขึ้นด้วย – กัปตันแพลนเน็ตที่แท้จริง
อาบป่าเพื่อฟื้นฟู
แม็กซ์ เจนมานะ บอกว่าถ้าเราเหนื่อยล้า ให้เดินเข้าป่า การเดินทางเดินเท้าเข้าไปในป่าถือเป็นการฟื้นฟูจิตใจและร่างกายอย่างหนึ่ง เราได้กลับไปสู่ธรรมชาติ กลับไปสู่ความสงบเงียบ ที่ในปี 1982 ที่ญี่ปุ่นมีการส่งเสริมกิจกรรมเข้าไปซึมซับป่า (forest bathing) หรือ shinrin-yoku เป็นวาระเพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ถือว่าการกลับไปชมนกชมไม้ถือเป็นกิจกรรมประจำชาติที่ส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ และแสดงให้เห็นปรัชญาและความชาญฉลาดในการดำรงชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่มีความใกล้ชิดกับธรรมชาติ ซึ่งการที่รัฐกำหนดทิศทางข้างต้นนี้ ญี่ปุ่นก็ไม่ได้ประกาศขึ้นมาลอยๆ แต่ได้ทุ่มเทงบจำนวนสี่ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อศึกษาผลกระทบเชิงบวกของธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์
งานศึกษาหนึ่งพบว่า การเข้าไปใช้เวลาว่าง เดินเล่นในป่าส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันเกิดจากบรรยากาศภายในป่า เช่น อากาศและกลิ่นของป่าประกอบขึ้นด้วยต้นไม้ใหญ่ พืชผัก ผลไม้ทั้งหลายที่ปล่อยน้ำมันหอมระหายออกมาเรียกว่า Phytoncide นักวิจัยบอกว่าอากาศในป่ามีเจ้า Phytoncide สูง ทำให้อากาศในป่าสดชื่นและคุณภาพดีกว่าอากาศทั่วๆ ไป การหายใจเอาอากาศดีๆ เข้าไปเยอะๆ นักวิจัยกล่าวว่าช่วยเพิ่มพลังระบบภูมิคุ้มกันของเรา งานศึกษาของมหาวิทยาลัยชิบะทดลองให้กลุ่มตัวอย่างไปเดินในป่า 30 นาที พบว่าผลของบรรยากาศในป่าส่งผลเชิงบวกกับร่างกายของเรา ฮอร์โมนความเครียดลดลง อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง ความดันโลหิตลดต่ำลง ระบบประสาทต่าง ทำงานดีขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในบรรยากาศในเมือง
ทะเล แม่น้ำ ลำธารกับพลังเยียวยาของพื้นที่สีฟ้า
เวลาที่เราไม่สบายใจ เรามักไปทะเล ทะเลไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ของการเยียวยาหัวใจเท่านั้น แต่ ‘ลมทะเล’ ยังมีพลังในการเยียวยาร่างกายอีกด้วย แพทย์ในสมัยวิกตอเรียนมีการใช้ลมทะเล (sea air) เป็นส่วนหนึ่งของการรักษา คือให้ไปทะเลแหละ ไปรับลมเค็มๆ ของทะเลเพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกาย โอเคเราอาจจะมีงานที่สนใจว่าพื้นที่สีเขียวๆ ส่งผลดีอย่างไร นักวิจัยจำนวนหนึ่งก็บอกว่า แล้วพื้นที่สีฟ้า ธรรมชาติที่เป็นสายน้ำล่ะ ส่งผลยังไงบ้าง นักวิจัยบางกลุ่มเช่น Roger Ulrich เป็นกลุ่มคนที่บอกว่าพื้นที่สีฟ้าก็มีผลที่ดีต่อผู้คนเหมือนกันนะ จากการวิจัยก็พบว่าพื้นที่สีฟ้า ผลกระทบของท้องทะเล แม่น้ำ ทะเลสาบ แม้แต่พวกแหล่งน้ำในเมืองทั้งหลายส่งผลดีต่อสุขภาพและความกินดีอยู่ดีของมนุษย์ งานศึกษาบางชิ้นบอกว่าอากาศที่บริเวณทะเลประกอบขึ้นด้วยแร่ธาตุต่างๆ รวมไปถึงบรรยากาศจังหวะเสียงคลื่น ทั้งหมดนี้ส่งผลกับสุขภาพจิต ลดความเครียด
ความหลากหลายทางชีวภาพ กับพลังธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น
เราพูดเรื่องธรรมชาติ แต่ธรรมชาติที่ดีไม่ใช่แค่ธรรมชาติเฉยๆ มีงานศึกษาพบว่าธรรมชาติที่ยิ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีพืช มีสัตว์ที่อุดมสมบูรณ์ก็จะยิ่งส่งผลดี ยิ่งทำให้มนุษย์รู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้มากขึ้น คณะนักวิจัยจาก University of Sheffield ประเทศอังกฤษพบว่ามนุษย์เราสามารถแยกแยะป่าที่มีพืชพันธ์หลากหลายได้จากการมองเห็น และเจ้าพื้นที่สีเขียวนี้ถ้ายิ่งมีความหลากหลายมากๆ ทั้งพีชและชนิดนกก็จะยิ่งส่งผลดีทั้งในทางจิตวิทยาและในทางกายภาพต่อผู้คนที่เข้าไปใช้พื้นที่สีเขียวนั้นๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก