มันอาจจะเป็นหนอนจิ๋ว ‘สุดฮอต’ ที่สุดประจำปีนี้ ยิ่งกว่าศิลปินเกาหลีมาเปิดคอนฯในไทย เพราะหากมือถือคุณเติมตังค์ทุกเดือน ก็คงไม่พลาดชื่อ ‘หนอนตัวแบนนิวกินี’ อย่างแน่นอน นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของแวดวงชีววิทยาไทยที่สัตว์ต่างถิ่นชนิดรุกรานจะขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ เพจทุกเพจพูดถึงมันต่างๆ นานา ในลักษณะ ‘อสูรกาย’ ที่เขมือบทุกอย่างราวกับหนังวิทยาศาสตร์ล่มสลาย “มันจะครองโลกไหม” “น่ากลัวเว่อร์” “ฆ่าไม่ตายเป็นอมตะ” ซึ่งออกจะเกินจริงและอภินิหารไปอยู่มาก กลายเป็นการสร้างความตื่นตระหนกมากกว่าความเข้าใจลักษณะเฉพาะของหนอนตัวแบนในธรรมชาติจริงๆ
แต่ก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ผู้คนในสังคมเริ่มสนอกสนใจกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมากขึ้น พวกเรารู้สึกเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งในการอัญเชิญเจ้าหนอนตัวแบนต่างถิ่นมาอยู่ในบ้านเรา ซึ่งมันจะอยู่อย่างถาวรหรือไม่นั้น อาจจะต้องทำความเข้าใจลักษณะชีวิตและวิธีรับมือกับหนอนนักล่าผู้มาพร้อมกับคำร่ำลือที่จริงบ้างมั่วบ้าง เพราะในขณะนี้ นักวิจัยไทยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาชีวิตของหนอนตัวแบนนิวกินีในเชิงลึกอันเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าอัศจรรย์ใจ
TheMATTER มีโอกาสพูดคุยกับหนึ่งในสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ไทยที่มีผลงานวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพมือหนึ่งที่ใครๆ ต่างเรียกว่า ‘อาจารย์หอย’ ศ. ดร.สมศักดิ์ ปัญหา เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สกอ. และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะแม้แต่หนอนตัวจิ๋วเองยังซุกซ่อนความลับของธรรมชาติอย่างไม่น่าเชื่อ
“หลังจากมีข่าวพบหนอนตัวแบนนิวกินี มีคนโทรหาผมเป็นร้อยๆ สาย ถามว่า หอยทากของไทยเราจะหมดประเทศหรือไม่ มันจะกินหอยพันธุ์พื้นเมืองจนสูญพันธุ์เลยหรือเปล่า?” ศ. ดร.สมศักดิ์ ปัญหา กล่าว
“ไม่ต้องห่วง ต่อไปคุณจะได้ยินชื่อสัตว์ Alien Species ใหม่ๆ มารุกรานอีกเพียบ”
‘หนอนตัวแบนนิวกินี’ ผู้มาเยือนสายพันธุ์รุกรานเป็นใคร
กระแสข่าวเริ่มจากมีการค้นพบหนอนตัวแบนนิวกินีที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งการปรากฏตัวของมันอาจมีผลกระทบต่อประชากรหอยทากอันเป็นอาหารโอชะของมันโดยตรง หนอนตัวแบนนิวกินี (New Guinea Flatworm) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Platydemus manokwari มีการดำรงชีวิตแบบอิสระและเป็นผู้ล่าสัตว์ชนิดอื่นเป็นอาหาร มีลักษณะลำตัวแบนและเรียวยาว ปลายด้านหัวแหลมกว่าด้านท้ายลำตัว บริเวณหัวส่วนต้นพบตา 1 คู่ ลำตัวยาวประมาณ 5 เซนติเมตร กว้าง 0.5 เซนติเมตร ด้านหลังมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีเส้นกลางลำตัวสีครีมหรือเหลืองอ่อนพาดยาวตลอดลำตัว ด้านท้องมีสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน มีปากและคอหอยอยู่กลางลำตัวด้านท้อง เป็นสัตว์ในกลุ่มเดียวกันกับหนอนตัวแบนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่บนบก เช่น พลานาเรียบกและหนอนหัวค้อน ซึ่งประเทศไทยเองก็มีหนอนในกลุ่มพลานาเรียอยู่หลายชนิดเป็นสัตว์ท้องถิ่นเช่นกัน แต่ที่ทำให้หนอนตัวแบนนิวกินีเป็นจุดสนใจ เพราะมันเป็นนักล่าที่ดุดันรุกฆาต (Aggressive) และเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นชนิดรุกราน (Invasive Alien Species)
หนอนชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดบริเวณเกาะปาปัวตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย และแพร่กระจายไปตามหมู่เกาะแปซิฟิกข้างเคียง เนื่องจากพบว่าหนอนตัวแบนชนิดนี้สามารถล่าหอยทากบกเป็นอาหาร ทำให้มีการนำเข้าหนอนดังกล่าวเพื่อช่วยกำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกา Achatina fulica ในประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ล่าสุดหนอนชนิดนี้ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 100 ชนิดสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกรานของโลก (World’s Worst Invasive Alien Species) เนื่องจากมีรายงานว่าหนอนดังกล่าวล่าหอยทากบกพื้นถิ่นเป็นอาหารด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้จำนวนและความหลากหลายของหอยทากบกในพื้นที่นั้นลดลง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าหนอนชนิดนี้สามารถล่าไส้เดือนดิน หนอนริบบิ้น หนอนตัวแบนชนิดอื่นๆ เหาไม้ รวมทั้งสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินขนาดเล็กเป็นอาหารได้ ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในระยะยาว
“เจ้าหนอนตัวแบนนิวกินีเป็นหนอนกินหอย ซึ่งหอยท้องถิ่นของปาปัวนิวกินีสวยงามหลายชนิดถูกล่า แม้จะยังไม่ถึงกับสูญพันธุ์ แต่อยู่ในสถานการณ์ค่อนข้างแย่ แต่เราไม่สามารถเหมารวมไปยังหนอนตัวแบนนิวกินีได้ เพราะที่แย่อย่างแท้จริงคือ มนุษย์เข้าไปตัดต้นไม้ ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด” ศ. ดร.สมศักดิ์ ปัญหา กล่าว
ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศฟิลิปปินส์มีการนำหนอนตัวแบนนิวกินีเข้าไปโดยจงใจโดยมนุษย์ ผ่านการคิดแบบสมการชั้นเดียว เพียงเอาไอ้ตัวนั้นมากินตัวนี้ แต่กลายเป็นว่าหนอนตัวแบนนิวกินีเลือกกินหอยสายพันธุ์ท้องถิ่นแทน ซึ่งในญี่ปุ่นพบหนอนตัวแบนนิวกินีมานานถึง 7 – 8 ปี กินหนอนตัวแบนสายพันธุ์อื่นที่อ่อนแอกว่า
“ผมมีเพื่อนทำฟาร์มหอยอยู่ที่เมืองโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น มีหอยทากสายพันธุ์พิเศษที่เชื่อว่างดงามที่สุด และหนอนตัวแบบนิวกินีรุกรานมานานกว่า 7 ปีแล้ว แต่เขาก็รับมือได้ หอยสวยงามเขายังคงอยู่ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกสายพันธุ์ต่างถิ่นมากนัก เพราะเป็นเรื่องปกติของธรรมชาติ”
หนอนตัวแบนนิวกินีขยายพันธุ์โดยการวางถุงไข่ ภายในมีตัวอ่อน 3-9 ตัว พวกมันใช้เวลา 6-9 วันในการฟักจากถุงไข่ และเมื่อผ่านไป 3 สัปดาห์หนอนนิวกินีจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยพร้อมสืบพันธุ์ได้อีกครั้ง จากรายงานพบว่าหนอนชนิดนี้มีอายุขัยได้ถึง 2 ปีในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้หนอนตัวแบนนิวกินียังมีกลไกการป้องกันตนเองด้วยการขาดออกเป็นท่อนๆ เมื่อถูกรบกวน แต่ละท่อนสามารถเจริญเติบโตเป็นตัวที่สมบูรณ์ได้ภายในเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันหนอนตัวแบนนิวกินีได้แพร่กระจายไปทั่วโลก เชื่อว่าแพร่ระบาดไปกับดินเพาะปลูกและต้นไม้ประดับต่าง ๆ โดยมีรายงานว่าพบในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรัฐฟลอริดาเมื่อปี ค.ศ. 2012 ส่วนในทวีปยุโรปพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 2013 และพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี ค.ศ. 2010
ทีมวิจัยของ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ได้ศึกษาหนอนตัวแบนในห้องปฏิบัติการโดยการวิเคราะห์ DNA พบว่าหนอนตัวแบนนิวกินีที่พบในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์เดียวกับในเกาะปาปัวตะวันตก ทีมงานใช้ยีน COI ให้ได้นิวคลีโอไทด์ที่นำไป blast บนฐานข้อมูลจนพบว่า เป็นสายพันธุ์เดียวกัน 100% ยืนยันแล้วอย่างเป็นทางการ ประเทศไทยจึงเป็นบ้านใหม่ของหนอนตัวแบนสายพันธุ์นิวกินีเรียบร้อยแล้ว
สิ่งมีชีวิตรุกราน เรื่องธรรมดาของปรากฏการณ์โลก
พอคนส่วนใหญ่ได้ยินคำว่าสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกราน (Invasive Alien Species) ก็คิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมอันตรายราวกับเดินทางมาด้วยอุกกาบาต แต่แท้จริงแล้วทุกๆ วันในทุกพื้นที่ทั่วโลกมีการย้ายถิ่นฐานของสิ่งมีชีวิตอยู่ตลอดเวลา โดยชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเหล่านี้สามารถตั้งถิ่นฐานและยึดครองจนเป็นชนิดพันธุ์เด่น ส่งผลต่อชนิดพันธุ์ท้องถิ่นเดิมจนอาจทำให้สูญพันธุ์ รวมถึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัย
การจัดการสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกรานจึงต้องมีการจัดการผ่านตามหลักวิชาการสากล เพราะประเทศไทยมีสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นมาเป็นเวลายาวนาน เช่น หอยเชอรี่ ปลาซัคเกอร์ ต้นไมยราบยักษ์ ผักตบชวา ต้นบัวตอง ซึ่งคุณก็รู้ว่าปัญหาเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว และกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ทำให้การศึกษาวิจัยขั้นพื้นฐานด้านสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกรานมีความสำคัญอย่างยิ่ง
“ประเทศไทยเรามีทั้งอุณหภูมิและความชื้น ใกล้เคียงกับปาปัวนิวกินี อาจจะทำให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย หนอนตัวแบนนิวกินีจะกินโดยใช้ท้องที่มีท่อดูด และปล่อยน้ำย่อยออกมาภายนอก ดูดสารอาหารจากสิ่งมีชีวิตอื่น โดยมีพฤติกรรมแบบรุมกิน ซึ่งคล้ายหนอนหัวค้อนบ้านเราเอง แต่หนอนตัวแบนนิวกินีมีพฤติกรรมที่ aggressive กว่า”
รับมือได้ ถ้าเข้าใจหนอน
การประเมินระดับความรุนแรงการรุกรานของหนอนตัวแบนนิวกินีจะต้องอาศัยการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศและชนิดพันธุ์ของหอยทากหรือเหยื่ออื่นๆ ในท้องถิ่นอย่างรอบคอบ เพราะในประเทศไทยยังมีหนอนท้องถิ่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศอย่าง หนอนหัวค้อน และหนอนริบบิ้น ที่มีสีและลักษณะลำตัวแตกต่างกันกับหนอนตัวแบนนิวกินี แต่มีบทบาทเป็นผู้ล่าและช่วยควบคุมปริมาณของสัตว์หน้าดินให้เหมาะสม หากกำจัดหนอนตัวแบนทุกตัวที่พบ พวกมันอาจโดนลูกหลงไปด้วย
“การสังเกตเบื้องต้นพบว่า หนอนนิวกินีจะอยู่ในพื้นที่ที่มีคนอยู่อาศัย น่าจะกินหอยที่อาศัยในพื้นที่ทางการเกษตรที่ค่อนข้างเสื่อมโทรม ยังไม่มีรายงานพบในพื้นที่อนุรักษ์ในธรรมชาติ และน่าจะเข้ามาในประเทศไม่นาน”
แม้หนอนตัวแบนนิวกินีจะร้ายกาจในระบบนิเวศ แต่ตัวมันเองก็ยังเป็นอาหารของสัตว์ขนาดใหญ่อื่นๆ อีก อย่างเช่น นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมฟันแทะ ไม่ใช่ไร้เทียมทานโดยปราศจากผู้ล่าเลย ในกรณีที่จำเป็นต้องกำจัดแนวทางปฏิบัติเมื่อพบหนอนตัวแบนนิวกินีที่เหมาะสมที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง หากต้องการกำจัดให้ใช้เกลือโรยหรือใช้น้ำร้อนเทราดตัวโดยตรง (น้ำผสมเกลือ 30 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือน้ำร้อน 100 องศาเซลเซียสก็จะทำให้มันตายทันที) ห้ามสับหรือทุบ เพราะตามธรรมชาติของพลานาเรียมักงอกใหม่ได้เสมอ ส่วนคำถามที่ว่าหนอนตัวแบนนิวกินีจะเป็นศัตรูในภาคเกษตรกรรมโดยตรงหรือไม่ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่ามันทำลายพืชผลหรือผลผลิตทางการเกษตร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังและสำรวจบริเวณแปลงเกษตรกรรมเพื่อประเมินผลกระทบอีกต่อไป
หากคุณพบหนอนตัวแบนนิวกินีให้โทรติดต่อที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ 02-218-5228 เพื่อให้ทีมวิจัยทำการศึกษาและสำรวจต่อไป
ปัญหาการชักนำสายพันธุ์ต่างถิ่นโดยผู้คนที่จงใจและไม่ได้จงใจ สร้างผลกระทบอันซับซ้อนต่อระบบนิเวศที่เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงและละเอียดอ่อน การทำความเข้าใจผู้มาเยือนอาจเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำใจให้คุ้นเข้าไว้และเป็นหูเป็นตาอยู่เสมอว่า ใครมาใหม่ในบ้านคุณ
ขอขอบคุณ
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สกอ.
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)