มหาสมุทรอันตรายขนาดนั้น แต่ทำไมใครหลายคนถึงยังอยากจะลงไป?
ความมืด ความหนาวเย็น แรงดันมหาศาล สิ่งมีชีวิตประหลาดโลกมากมาย และอีกหลากหลายอย่างที่ไม่รู้จัก คือสิ่งที่รอเราอยู่ใต้มหาสมุทร แต่ความไม่รู้จักเหล่านั้นเองกลับเป็นแรงดึงดูดที่พาให้คนอยากจะลงไปยังท้องทะเล หากอวกาศคืออนาคต ท้องทะเลก็คืออดีตยุคดึกดำบรรพ์ของสรรพสิ่งทั้งปวง และมนุษย์เรากลับรู้จักความมืดมิดอันเวิ้งว้างนอกโลกกับมวลน้ำอันหนาวเหน็บไร้แสงอาทิตย์ไม่มากไปกว่ากันเลย
เขตของมหาสมุทรแบ่งออกได้หลายแบบ หนึ่งในวิธีแบ่งแบบแนวตั้งคือการใช้ Pelagic Zone ที่เป็นความลึก 5 ชั้น จำแนกโดยลักษณะสภาพแวดล้อมของน้ำที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละชั้น โดยวิธีการที่มองไปยังท้องทะเลด้วยสายตามนุษย์ ไม่ว่าจะมองจากชายหาด บนเรือ หรือแม้แต่สายตาของนักประดาน้ำ ทำให้ส่วนมากแล้วเรามักมองได้ไม่ลึกนัก เนื่องจากข้อจำกัดของร่างกายมนุษย์และเทคโนโลยีที่ยังเหลือพื้นที่ในการพัฒนาอีกมาก การสำรวจมหาสมุทรจึงเกิดขึ้นอย่างจำกัด
แล้วเท่าที่พอจะรู้จักได้ในขณะนี้ มีอะไรกำลังรอเราอยู่ใต้ความลึกในแต่ละชั้นของมหาสมุทร?
Epipelagic Zone
ชั้นความลึกที่เริ่มนับจากผิวน้ำแล้วลงไปอีก 200 เมตร ลักษณะสำคัญคือเป็นชั้นเดียวที่แสงอาทิตย์และสายลมไปถึง ซึ่งคือที่มาของชื่อเล่นว่า Sunlight Zone การที่แสงอาทิตย์ไปถึงก็หมายความว่า เป็นชั้นที่อุดมสมบูรณ์ในแง่ของอาหารและอากาศหายใจ เนื่องจากเป็นชั้นที่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้และยังมีอุณหภูมิอบอุ่นที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่มีสัตว์ทะเลอาศัยอยู่มากที่สุด เรียกได้ว่า 90% เลยทีเดียว
Mesopelagic Zone
ชั้นที่มีความลึกลงต่อมาชื่อว่า Twilight Zone มีความลึกราวๆ 201-1,000 เมตรจากผิวน้ำ และมีแสงสว่างไปถึงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้สัตว์น้ำหลายๆ ชนิดในชั้นนี้มีลักษณะเรืองแสง นอกจากนั้นสัตว์หลายชนิดในชั้นนี้ยังว่ายน้ำขึ้นชั้นบนเพื่อหาอาหารในยามค่ำคืน และด้วยความมืด ปลาจึงมีตาที่โตกว่าปกติเพื่อให้มองเห็นได้ชัดขึ้น
หากเรานำตึกที่สูงที่สุดในโลก ณ ขณะนี้อย่างตึกบุรจญ์เคาะลีฟะฮ์ (Burj Khalifa) ที่สูงถึง 830 เมตร มากลับด้านลง ความสูงของตึกนี้จะมีความลึกอยู่ถึงเพียงเขตนี้เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการเปรียบเทียบระดับได้ดีที่ทำให้เราเริ่มรู้ว่ามหาสมุทรนั้นลึกขนาดไหน
Bathypelagic Zone
แสงอาทิตย์ไม่สามารถส่องมาถึงชั้นนี้ เพราะมีความลึกถึง 1,001-4,000 เมตรจากผิวน้ำ เราเรียกมันว่า Midnight Zone และเพราะการไร้แสง จึงส่งผลให้อุณหภูมิของชั้นความลึกนี้คงที่ โดยในแง่ของสิ่งมีชีวิต เมื่อไร้แสง อาหารก็น้อยตามมา ฉะนั้นแล้วสัตว์น้ำในชั้นนี้จึงมีระบบเมตาบอลิซึมที่ทำงานช้าเพื่อประหยัดพลังงาน
หากต้องการจะมาเยี่ยมชมซากเรือไททานิค จะต้องลงมายังเขตความลึกนี้ที่ราวๆ 3,800 เมตรจากผิวน้ำเลยทีเดียว
Abyssopelagic Zone
ชั้นนี้มีลักษณะเช่นเดียวกันกับ Midnight Zone ความลึกอยู่ที่ 3,001-6,000 เมตรจากผิวน้ำ สิ่งมีชีวิตมีการปรับตัวให้อยู่กับสภาพแวดล้อมที่หฤโหด ทั้งอุณหภูมิต่ำ แรงดันสูง อาหารและออกซิเจนอันน้อยนิด ทำให้หน้าตาของพวกมัน บ้างก็ไร้ตาและปาก ผิวลื่นและโปร่งใส พร้อมทั้งมีฟันที่แหลมคม ซึ่งหนึ่งในแหล่งอาหารสำคัญของสิ่งมีชีวิตในชั้นนี้ คือซากศพที่ร่วงลงมาจากชั้นก่อนหน้า
Hadalpelagic Zone
ในปัจจุบันนี้ เขตนี้คือชั้นลึกที่สุดของมหาสมุทรอยู่ที่ 6,001-10,994 เมตรจากผิวน้ำ ความแตกต่างของชั้นนี้กับชั้นอื่นๆ ก่อนหน้านี้ คือเป็นชั้นที่เจาะลึกลงจากร่องลึกก้นสมุทรไปอีก ทำให้ความลึกดังกล่าวมาพร้อมกันกับแรงดันที่หนาแน่นถึง 1,100 เท่าจากบนบก และในสภาพเช่นนี้ก็น่าแปลกใจว่ายังคงมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้คือ Pseudoliparis snailfish สัตว์น้ำที่อยู่ลึกที่สุดในโลกที่มนุษย์เราพบเจอ ณ ร่องลึกก้นสมุทรอิซุ-โอกาซาวาระ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ด้วยความลึกถึง 8,336 เมตร
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงสิ่งที่เราพอจะรู้จักเท่านั้น ความลับของทะเลลึกอีกมากมายยังคงเพรียกหามนุษย์อยู่แม้จะอันตรายเพียงไหน ซึ่งเราจะสามารถไขปริศนาของมันได้ก็ต่อเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไปได้ไกลมากพอและการตรวจเช็กอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน
อ้างอิงจาก