เราอยู่ในสังคมที่กำลังโหยหาอดีต
เราอาจจะหวนถึงนึกภาพอดีตที่สวยงาม นึกถึงบ้านเมืองที่สงบ เนิบช้า นึกถึงวิถีไทยๆ พายเรือ ผู้คนรักใคร่กลมเกลียวกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นตรงข้ามกับภาพของ ‘สังคมสมัยใหม่’ ที่เราใช้ชีวิตอยู่สิ้นเชิง
เราต่างอยู่ในยุคสมัยของความรวดเร็ว การสื่อสารต้องเร็ว ชีวิตเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ทุกอย่างเป็นไปตามตารางเวลา ความสัมพันธ์ของคนเราในเมืองก็เต็มไปด้วยคนแปลกหน้า ความสัมพันธ์อื่นๆ ก็ถูกลดทอนลง ผู้คนต่างเหินห่างกันด้วยเทคโนโลยี
‘อดีต’ มักสวยงามเสมอ อาการคิดถึงอดีตและไม่ค่อยพอใจกับปัจจุบัน เป็นอาการที่แสดงออกแม้แต่ในระดับรัฐ ซึ่งฟังดูแล้ว การหวนหาอดีตมันน่าจะเป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่าเหตุผล ไม่ค่อยน่าจะไปเกี่ยวข้องกับรัฐหรือการบริหารประเทศเท่าไหร่ แต่ถ้าเราดูสื่อทั้งหลายที่เราต้องดูช่วงเย็นๆ ไม่ว่าจะเพลงหรือมิวสิกวิดิโอ เนื้อความและภาพที่ถูกสร้างขึ้นมักเกี่ยวข้องกับ ‘อดีตอันแสนหวาน’ ที่พึงปรารถนาและอยากที่จะย้อนกลับไป
ทุกวันนี้เราจึงมีคำสัญญาและคำสำคัญมากมายที่เกี่ยวข้องกับการกู้คืน การคืนกลับ หรือการกลับมาของความงดงามบางอย่าง…บางอย่างที่ ‘หายไป’
ดังนั้นอาการโหยหาอดีตหรือ Nostalgia ที่เป็น ‘การหวนหาสิ่งที่หายไป’ จึงมีความเกี่ยวข้องกับปัจจุบันด้วย การจินตนาการหรือการเลือกภาพอดีตบางชุดขึ้นมา มันคือการ comfort สิ่งที่เรากำลังขาดไป (lack) ในปัจจุบัน และการคิดถึงอดีตมันคือการบอกว่า ถึงทุกวันนี้เราจะไม่มีสิ่งที่เราฝันถึง แต่อย่างน้อยเราก็ ‘เคย’ มี/เป็น ในสิ่งที่เราเห็นว่ามันสวยงามน่าพึงปรารถนาอันนั้นนะ
อดีตคืออะไรกันแน่?
อดีตสำหรับเรา โดยเผินๆ แล้วมันก็ดูจะเป็น ‘เส้นเรื่อง’ หรือ ‘เส้นเวลา (timeline)’ บางอย่าง ที่มันมีความต่อเนื่องเป็นสายธารจนกระทั่งกลายมาเป็นปัจจุบัน ดังนั้นอดีตเลยดูเหมือนจะมีความตายตัวบางอย่างอยู่
แต่ถ้าเราลองนึกถึงอดีตจริงๆ ก็มีมิติทางจินตนาการอยู่ เพราะแน่ล่ะอดีตคือชุดเหตุการณ์บางอย่างที่ล่วงผ่านไปแล้ว แล้วถูกเรา ‘นึกถึง’ หรือ ‘เรียก’ มันขึ้นมาจากความทรงจำของเรา ถึงจะมีบันทึก มีรูปถ่าย หรือมีวิดีโอก็ตาม แต่สุดท้ายเราก็ต้องเอาความนึกคิด เอาเรื่องราวที่อยู่ในลิ้นชักในสมองของเราเข้าไปอธิบาย ไปเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นไปแล้วนั้น
ซึ่งถ้าลองนึกถึงห้วงขณะที่เหตุการณ์ต่างๆ กำลังเกิดขึ้น เหตุการณ์ทั้งหลายมันก็เกิดขึ้นอย่างมากมายนับล้านๆ แต่การที่เราจะเลือกเหตุการณ์ใด จากแง่มุมไหนขึ้นมา ไม่มากก็น้อย มักจะเกี่ยวโยงกับภาวะปัจจุบันบางอย่างของเรา
โหยหาอดีต…จากความฝันของวันนี้
อดีตมีภาวะเป็นความฝันของปัจจุบัน ไม่ต่างอะไรกับอนาคต
มนุษย์เรานี่มีความซับซ้อนและยอดเยี่ยม เรามีชีวิตอยู่ในห้วงขณะปัจจุบัน แต่มิติทางเวลาที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา – ทั้งปัจจุบันและอนาคต เราต่างสร้างมันขึ้นมาโดยเชื่อมโยงหรือเพื่อรับมือกับปัจจุบันทั้งนั้น – ในสภาวะของการเป็น ‘ความฝัน’
‘การนึกถึงอดีต’ คือการที่เราหลบออกจากชั่วขณะในปัจจุบัน และสร้างภาพอดีตที่สวยงามและเป็นอุดมคติขึ้นมา ภาพในอดีตรวมไปถึงภาพในอนาคตจึงเป็นเหมือนความฝันและความปรารถนาของวันนี้ คือสิ่งที่เราอยากมี อยากให้เป็น เป็นสิ่งที่มักจะดีกว่าตอนนี้เสมอ และด้วยความซับซ้อนของจิตใจ ภาวะที่ดีกว่าทั้งจากอดีตและจากอนาคตทำให้เรามีความสุขและความหวังที่จะอยู่ในโลกอันห่วยแตกนี่ต่อไปได้
อดีตคือการคัดเลือกและคัดกรองบางแง่มุม บางเหตุการณ์ การหวนหาอดีต เราไม่ได้หวนหาหรือนึกถึงทั้งหมดของเหตุการณ์เสมอไป
Alan R. Hirsch เสนอรายงานทางวิทยาศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจการโหยหาอดีตของคนเรา ชื่อ Nostalgia: A Neuropsychiatric Understanding ว่าการหวนไห้หาอดีตคือการโหยหาที่ถูกทำให้เป็นอุดมคติ (an idealized past) การนึกถึงอดีตในทางจิตวิเคราะห์คือกระบวนการที่เราคัดกรองความทรงจำของเรา ไม่ใช่การหวนหาตัวอดีตจริงๆ แต่เป็นการควบรวมผสมปนเปเอาความทรงจำต่างๆ เข้าด้วยกันและกรองเอาอารมณ์เชิงลบทั้งหมดออกไป
ในระดับบุคคล เวลาที่เรานึกถึงอดีตวัยเยาว์มันก็มักจะเต็มไปด้วยภาพสีซีเปียที่สวยงาม ภาพสนามเด็กเล่น ความอบอุ่น อ้อมกอด รสชาติอาหารบางอย่าง แต่เราได้คัดกรองเอาภาพการถูกครูฟาด การฉี่รดที่นอน ความเจ็บปวดของการหกล้ม รสชาติของดินหรือขี้มูกในปากออกไป ในระดับสังคม อดีตที่เราฝันถึงคือความเนิบช้า งดงาม ไม่มีความขัดแย้ง ความยากลำบาก โรคระบาด ความอดอยาก และการกดขี่ข่มเหงเข้ามาเจือปน
พลังของการโหยหาอดีต
ถ้าเราเชื่อมโยงลักษณะของการโหยหาอดีตเข้ากับความฝัน ทั้งยังเป็นการที่เราพยายามที่จะโยงมิติทางเวลาระหว่างสิ่งที่เกิดไปแล้วกับตัวตนในปัจจุบัน ในแง่ของการเป็นพลังเชิงบวก-เพราะคิดถึงเรื่องดีๆ นี่นา ดังนั้นการหวนหาอดีตอันดูจะเป็นสิ่งธรรมดาในความรู้สึกของเรา ก็เป็นกระบวนการของจิตใจที่เป็นประโยชน์กับความรู้สึกและตัวตนของเรา
ใน Nostalgia: Past, Present, and Future อันเป็นงานศึกษาจากคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งจากในอังกฤษและสหรัฐ บอกว่าการโหยหาอดีตเป็นกระบวนการที่เสริมสร้างพลังให้กับมนุษย์เรา ให้พลังกับเราเพื่อรับมือและก้าวไปสู่อนาคตที่กำลังมาถึงอย่างแข็งแกร่ง การนึกถึงอดีตทำให้เราสร้างความต่อเนื่องของตัวตนของเรา สร้างพื้นฐานให้เรายืนหยัดเพื่อก้าวต่อไป อะไรประมาณนั้น
แกนกลางสำคัญของการหวนหาอดีตจึงอยู่ที่การเชื่อมโยงอดีต เข้ากับปัจจุบัน เพื่อก้าวไปสู่อนาคต
แต่ถ้าเราหวนหาและพยายามรื้อฟื้นกลับไปสู่อดีต ที่มีจริงหรือไม่มีจริงก็ไม่รู้ แต่อยู่ในจินตนาการที่สลัวๆ
การที่ไม่สามารถปักหมุดของอดีตเข้ากับปัจจุบัน และเชื่อมโยงเข้าสู่อนาคตได้ มันก็อาจจะเป็นการ ‘จ่อมจม’ หรือ ‘จมปลัก’ อยู่กับอดีต ที่สุดท้ายแล้วก็ไม่นำไปสู่อะไร นอกจากความหม่นเศร้าและการที่ไม่อาจก้าวไปไหนต่อได้