“วันนี้รู้สึกขอบพระคุณท่านคณบดีฯ และทุกคนที่ได้ให้โอกาส ป้ามายืนอยู่ตรงนี้เป็นคนยินดีกับบัณฑิต ขอแสดงความยินดีในความสำเร็จขอทุกคนในวันนี้นะคะ ป้าขอให้บัณฑิตทุกคนนำความรู้ที่ได้จากท่านอาจารย์สอนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และขอให้ทุกคนเติบโตไปได้เป็นเจ้าคนนายคนนะคะ”
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ภายหลังการแสดงความยินดีจากคณบดี, ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เชิญ ป้ามัส – ทองร้อย เชื้อสาวะถี แม่บ้านประจำคณะขึ้นไปกล่าวแสดงความยินดีกับบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา และข้อความข้างต้นคือประโยคสั้นๆ ที่ป้ามัสกล่าวบนโพเดียม
ทางด้าน วนิดา แสดงสารพันธ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ให้สัมภาษณ์ Thai PBS ถึงสาเหตุที่ให้ป้ามัสขึ้นมากล่าวแสดงความยินดีว่า ความสำเร็จของนักศึกษาต้องอาศัยพลังของหลายคนช่วยกัน ดังนั้น อยากให้บัณฑิตตระหนักถึงสิ่งนี้
ถึงแม้ชาวเน็ตส่วนมากจะมองว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของ ม.ขอนแก่นเป็นการให้ความสำคัญกับคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักศึกษา แต่ในบางหลืบ อุไรวรรณ เอกพันธ์ เจ้าของรางวัลคนดีสงขลา 2562 กลับออกมาวิจารณ์ว่านี่สิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะในวันต่อไปกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาจะมากล่าวแสดงความยินดีบนเวทีเดียวกัน ถือว่าเป็นการ “ดึงฟ้าต่ำ”
ฟ้าจะต่ำเมื่อดินขึ้นไปยืนที่เดียวกันหรือไม่ เราไม่ทราบ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม่บ้านมหาวิทยาลัยเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ไม้กวาดแทนสะพานสู่ดวงดาวให้นักศึกษา คอยปิดทองหลังพระ ดูแลรักษาความสะอาดของพื้นที่ส่วนกลาง และลืมไม่ได้เลยว่าปราศจากพวกเขาและเธอแล้ว บัณฑิตอาจได้รับปริญญาบัตรแถมโรคภูมิแพ้ฝุ่นติดไปด้วย
1 วันของแม่บ้านมหาวิทยาลัย
“เรามาแต่เช้า 4.00 น. เราถึงที่นี่แล้ว เพราะเราต้องดูแลตึกออฟฟิศด้วย ซึ่งบางคนตี 5 เขาก็ถึงออฟฟิศแล้ว และถ้าเราทำตอนที่เขามาแล้ว มันไม่สะดวก เราก็เลยมาตั้งแต่ 4.00 – 15.00 น.” ป้าแมว แม่บ้านประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว ก่อนที่เธอจะมาประจำที่คณะนี้ เธออยู่ที่ตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์และบัญชีมาก่อน
ป้าแมวทำงานเป็นแม่บ้านที่จุฬาฯ มาได้ 8 ปีแล้ว โดยหลังจากที่พ่อของเธอเสียชีวิต เธอตัดสินใจออกจากบ้านแล้วมาเช่าบ้านอยู่ หลังจากนั้นเธอได้ยินข่าวว่าในจุฬาฯ มีงานให้ทำ จึงนั่งรถเมล์มาถึงนี่แล้วเดินดุ่มเข้ามาถามหางาน ก่อนได้งานในตำแหน่งแม่บ้านในที่สุด
วันแรกที่ป้าแมวเข้ามาทำงาน เธอมีหน้าที่ดูแลห้องเรียนของตึกคณะวิศวะที่มีทั้งหมด 8 ห้อง วันนั้นเธอยอมรับว่าเกือบถอดใจไปแล้ว เพราะไม่เคยเห็นปริมาณขยะที่เยอะขนาดนี้มาก่อน
“ตอนที่มาทำงานวันแรก เราเจอขยะเรางง ขยะมันเยอะมาก เกือบถอดใจแล้วว่าจะไหวไหม แต่ไปมาเราก็ทำได้ ค่อยๆ ฝึกตัวเองไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็เริ่มเก่งขึ้นแล้ว” ป้าแมวพูดพร้อมรอยยิ้ม
เนื้องานของป้าแมวแตกต่างจาก ปราณี สองคำ หัวหน้าแม่บ้านประจำอาคารนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ปราณีเล่าว่าหน้าที่ของเธอส่วนใหญ่เป็นการบริหาร จัดแจงคนทำความสะอาดรายวันตามจุดต่างๆ ส่วนในช่วงบ่ายก็จะเป็นงานที่มหาวิทยาลัยมอบหมายให้ทำ แล้วแต่วันนั้นๆ
“มันไม่มีห้องไหนสกปรกเป็นพิเศษหรอก เพราะพนักงานทุกคนทำความสะอาดสม่ำเสมอ แต่ถ้ามีกิจกรรมก็จะเหนื่อยหน่อย ต้องแบกโต๊ะ แบกอะไรมันหนัก (หัวเราะ) แต่ก็มีความสุขนะ เพราะพวกเรารักงานตรงนี้ เพื่อนร่วมงานดี” ปราณีเล่า
ตั้งแต่ปราณีเข้ามากรุงเทพฯ ในวัย 18 ปี (ตอนนี้เธออายุ 54 ปี) เธอทำอาชีพแม่บ้านมาตลอด โดยมาอยู่ที่ มศว ได้ราว 10 ปีแล้ว ในช่วงแรกเธอเป็นแม่บ้านประจำคณะศึกษาศาสตร์ ก่อนไปเป็นแม่บ้านประจำบ้านของอาจารย์ท่านหนึ่ง แล้วย้ายกลับมาทำที่นี่ต่อเพราะความผูกพันธ์และสะดวกสบายในการเดินทาง
“ปกติคนอื่นเขาก็ย้ายไปตามบริษัท แต่ใจพี่รัก มศว ก็เลยอยู่แต่ตรงนี้และมันอยู่ใกล้บ้าน เรามีเงิน 100 บาทก็มาทำงานได้แล้ว แต่ถ้าไปอยู่ไกลบางทีภาระมันเยอะ” ปราณีกล่าว
ปราณีให้เหตุผลต่อ “และบางทีไปจุดอื่น ก็อาจไม่มีเพื่อนร่วมงานรู้ใจแบบนี้ แต่เราอยู่นี่เรารู้จักอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาบางคน เข้าใจเนื้องานหมดแล้วว่าจุดไหนทำก่อน จุดนี้ทำอะไร มันก็เลยมีความสุขในการทำงาน มันไม่บีบตัวเราด้วย”
“ถามว่าเหนื่อยไหมก็เหนื่อย มีความสุขไหมก็มีความสุข ยิ้มได้ทุกงานเพราะเราต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว” ปราณีพูดถึงงานตัวเอง
พักร้อนไม่มี ค่าแรงก็ถูก – คุณภาพชีวิตแม่บ้านมหาวิทยาลัย
จากการสัมภาษณ์ จุฬาฯ, มศว และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ใช้ระบบจ้างแม่บ้านจากบริษัทจัดหาแม่บ้าน ทำให้แม่บ้านส่วนใหญ่มักหมุนวนเวียนไปตามแต่บริษัทจะประมูลได้ ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยยังไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบเรื่องสวัสดิการและค่าแรงของแม่บ้านเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
การจ่ายเงินเดือนแม่บ้านจะจ่ายทุกๆ 15 วัน โดยจะจ่ายเป็นค่าแรงขั้นต่ำตามจำนวนวันที่ทำงาน หรือแปลว่าถ้าวันไหนป่วยก็จะไม่ได้รับค่าแรง นอกจากนี้ แม่บ้านยังไม่มีประกันชีวิตหรือสุขภาพให้ ไม่มีลาพักร้อน และส่วนใหญ่จะได้หยุดเพียง 1 วัน/ สัปดาห์
ในตำแหน่งหัวหน้าแม่บ้าน ปราณีได้เงินราว 18,000 บาท/ เดือน ซึ่งในมุมของเธอมันถือว่าสูงพอสมควร สำหรับคนที่มีวุฒิการศึกษาชั้น ป.6 อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่ารายได้เท่านี้ทำให้ลำบากในการอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ
“ค่าใช้จ่ายพอบ้างไม่พอบ้าง มันมีทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัวเรา ค่าเทอมปริญญาโทลูก ค่าผ่อนบ้าน และต้องส่งให้แม่ที่อุดรธานีด้วย 3,000 บาท/ เดือน” ปราณีกล่าว
ด้านป้าแมวซึ่งเป็นแม่บ้าน เธอเล่าว่าทุกวันนี้ต้องทำ 2 งานอยู่ตลอด โดยนอกจากงานแม่บ้านมหาวิทยาลัยที่ได้เงิน 400 บาท/ วัน ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ เธอจะไปขายลูกชิ้นทอดเพื่อหาเงินเสริมให้กับตัวเองและหลานอีก 2 คนที่ลูกของเธอฝากดูแล
“ไม่พอมันก็ต้องพอ บางทีก็อดนะแต่ไม่ได้อะไร เราอดได้เพื่อให้หลานได้กิน หลานไปโรงเรียนเราต้องให้เขาคนละ 100 บาท/ วันแล้ว ทำให้เราต้องหารายได้เพิ่มวันหยุด เพราะเงินมัน 15 วันออกที ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้จะหาเงินจากไหน” ป้าแมวเล่า
“แต่ที่นี่ (จุฬาฯ) นานๆ ทีเขาก็มีประชุมกัน เช่น ประชุมศิษย์เก่า เราก็ได้ทำ OT ถึง 20.00 น. เขาก็ให้ 500 บาท/ วัน ถ้าได้ทุกวันก็รวยเลย (หัวเราะ)” ป้าแมวเล่าถึงรายได้ของตัวเอง
ทั้งป้าแมวและปราณีพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รายได้ทุกวันนี้ยังไม่เพียงพอ และอยากมีรายได้เพิ่มจากอาชีพแม่บ้าน
“อยากให้ปรับเงินให้มันเป็น 400 บาท/ วัน ทุกวันนี้แม่บ้านกินเงินรายวันตามค่าแรงขั้นต่ำของกรมแรงงาน (353 บาท/ วัน) แต่บางทีตึกเรามีกิจกรรมพิเศษ เราต้องดูแล เราก็ได้ทำ OT อีก 2 ชั่วโมง ก็จากปกติเข้างาน 6.30 – 16.30 น. ก็เลิก 18.30 น. ก็ทำงานวันละ 12 ชม.” ปราณีกล่าว
“ใครก็อยากให้ปรับเงินเดือนทั้งนั้น ป้าว่าสัก 450 บาท/ วัน โอเคอยู่นะ เพราะเดี๋ยวนี้ข้าวมันแพง เราต้องหุงข้าวมาจากบ้านแล้วมาซื้อกับข้าวฝั่งนู้น (รพ.ตำรวจ) เพราะมันถูก 25 บาท/ ถุง เราต้องประหยัดมากๆ เราฟุ่มเฟือยไม่ได้เลย แย่” ป้าแมวกล่าว
ภายใต้รัฐบาล เศราฐา ทวีสิน นายกฯ การปรับค่าแรงขั้นต่ำยังเป็นเรื่องที่ถกเถีงกัน โดยล่าสุด คณะกรรมการไตรภาคียืนยันให้การปรับค่าแรงขั้นต่ำในปี 2567 ยึดอัตราเดิมที่ 2-16 บาท ซึ่งยังห่างไกลจากที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ว่าจะปรับให้ถึง 600 บาท/ วัน ภายในปี 2570
ซื่อสัตย์และขอให้ทำให้ดีที่สุด – ข้อความถึงบัณฑิตจบใหม่
ในช่วงท้ายของการพูดคุย เราชวนให้ป้าแมวและปราณีส่งข้อความถึงนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ และอวยพรให้กับบัณฑิตจบใหม่ป้ายแดง
“อยากให้ช่วยดูแลความสะอาด รักษาของหลวงให้มันดูดีเหมือนเดิม ตอนมาสถานที่เรียบร้อย พอใช้เสร็จอยากให้ช่วยเก็บขยะ เก็บของให้เรียบร้อย เอาโต๊ะเก็บให้เป็นที่เป็นทาง” ปราณีกล่าวถึงนักศึกษาที่เรียนอยู่
“ความซื่อสัตย์ดีที่สุด ถ้าเราซื่อสัตย์ไม่คดโกง ไม่ทุจริต มันโอเค” ปราณีกล่าวสั้นๆ ถึงนักศึกษาที่กำลังเข้าสู่โลกการทำงาน
ด้านป้าแมวเล่าว่า นิสิตที่จุฬาฯ มักซื้อขนมหรือของกินมาฝากเธอเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่คณะมีกิจกรรม บางคนมาจากคณะแพทยศาสตร์ก็บอกว่าถ้าเธอป่วยให้ไปหานิสิตคนดังกล่าวได้เลย หรือบางคนที่จบไปแล้วก็มักวนเวียนมาทักทายกันเสมอ
“อยากให้เขาทำงานดีๆ เจอสิ่งดีๆ ชีวิตก้าวหน้าไปเรื่อยๆ” ป้าแมวกล่าวต่อถึงชีวิตการทำงานฝากให้บัณฑิตทุกคนทิ้งท้ายว่า
“การทำงานสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบ ทำให้เขาเชื่อถือเราให้ได้ เราอยู่ในจุดนี้แล้วต้องทำให้ดีที่สุด อย่าไปทำอะไรตามอำเภอใจ เราต้องนอบน้อม” ป้าแมวกล่าว