ในโลกออนไลน์คล้ายว่าเราถูกรายล้อมด้วยคนขี้เหงา หรือเราอาจจะเป็นคนขี้เหงาเอง
ใครๆ ก็บ่นว่านก ใครๆ ก็บอกว่าเหงา มองไปทางไหนก็มีแต่คนบอกว่าไม่มีใคร
มันตลกดีนะ ทำนองเดียวกับกับเมือง คือเมืองเป็นพื้นที่ที่อัดแน่นด้วยไปด้วยผู้คน บนท้องถนน บนสี่แยก บนรถไฟฟ้า บนรถเมล์ ในร้านกาแฟ เมืองไม่เคยร้างผู้คนเลย แต่ในใจของผู้คนในเมืองกลับเต็มไปด้วยช่องว่างและความอ้างว้าง
ยิ่งโลกเราพัฒนาขึ้น ด้วยเทคโนโลยี โฆษณาสารพัดค่ายโทรศัพท์ก็ต่างบอกว่าเราต่อติด ติดต่อกันง่ายขึ้น เรามีแอพพลิเคชั่น เรามีไลน์ มีเฟซบุ๊ก มีทินเดอร์ ทั้งหมดนี้ดูเหมือนว่าเรามีปฏิสัมพันธ์กันง่ายขึ้น เราสามารถเชื่อมต่อกันได้แทบจะตลอดเวลา แต่ปฏิสัมพันธ์จำนวนมากมาย กลับไม่นำไปสู่ความสัมพันธ์ (relationship)
ในโลกแห่งความรวดเร็ว ทำให้การลงหลักปักฐานอาจเป็นเรื่องที่เราไม่ต้องการกันอีกต่อไป
Meanwhile, in Japan แดนเดียวดาย
เรื่องความสัมพันธ์อาจจะเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นความเหงาส่วนบุคคล แต่ในญี่ปุ่น มนุษย์ที่เดียวดายกันจนเป็นนิสัย ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ กำลังกลายเป็นวาระแห่งชาติ
อย่างที่เราอาจจะเคยได้ยินมาแว่วๆ ว่าประเทศเขากำลังเจอปัญหาประชากรกำลังเข้าสู่ช่วงสูงอายุ ในขณะเดียวกันอัตราการเกิดก็ลดต่ำลง ล่าสุดสำรวจพบว่า หนุ่มสาวทั้งหลายในดินแดนแสนเดียวดายนี้กำลังเผชิญวิกฤติความสัมพันธ์ (เชิงโรแมนติกรักใคร่) กันอย่างจริงจัง
นิตยสาร The Japan Times บอกว่าในบรรดาหนุ่มสาวชาวเจแปนอายุ 18-34 ที่ยังไม่แต่งงาน พบว่า 70% ของหนุ่มๆ และ 60% ของสาวๆ โสดสนิท (คือไม่ได้คบหากับใคร) ที่โหดไปกว่านั้นมันไม่ใช่แค่เอ้อ คาสโนว่าไม่อยากผูกพัน แต่มีชายหนุ่ม 42% และหญิง 44% บอกว่า ไม่เค้ยไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์แบบใกล้ชิดอย่างการถึงเนื้อถึงตัวหรือการกอด เอาเป็นว่าเกือบครึ่งของคนโสดนี่โสดสนิทถึงขั้นซิง เวอร์จิ้นกันไปเลย
รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็กังวลกับปรากฏการณ์วัยรุ่นโลนลี่ที่ไม่ยอมมีความสัมพันธ์กัน Futoshi Ishii หัวหน้าส่วนวิจัยทางประชากรศาสตร์บอกว่า เนี่ย จริงๆ แล้วหนุ่มสาวก็ต้องการความสัมพันธ์นะ แต่ปัญหาหลักๆ คือ หนุ่มๆ สาวๆ ดั๊นมีภาพอุดมคติของความสัมพันธ์บางอย่างอยู่ ซึ่งมันไม่ตรงกับภาพความเป็นจริง ตรงนี้เองที่ทำให้หนุ่มสาวไม่ยอมแต่งงานหรือลงหลักปักฐานกันซักที หรือไม่ก็อยู่เป็นโสดกันไปตลอด
เราไม่ต้องการความสัมพันธ์ หรือเราไม่พยายามเพื่อความสัมพันธ์?
งานที่พูดถึงปัญหาความสัมพันธ์ของคนในยุคปัจจุบัน ค่อนข้างเพ่งเล็งไปที่เจนเนอร์เรชั่นเป็นหลัก ไม่แน่ใจว่ามันจะเรียกว่าเป็นอคติที่คนยุคหนึ่งมองคนอีกยุคหนึ่ง หรือด้วยการเติบโตขึ้นท่ามกลางรูปแบบชีวิตใหม่ๆ โลกออนไลน์ อินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง และเทคโนโลยีอื่นๆ มันทำให้นิสัยของผู้คนเปลี่ยนไป
เช่นงานเขียนชื่อ We Are the Generation That Doesn’t Want Relationships รวมๆ แล้วก็พูดทำนองว่าเราอยู่ในยุคที่อะไรก็มาง่ายๆ เราอาจเดท อยากเจอคนใหม่ๆ ก็ปัดแอพหาคู่ เราออกไปแฮงค์เอาท์ ไปเจอกัน อยากมีความรักที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ไม่ยอมพยายามเพื่อทำให้ไอ้ความสัมพันธ์ที่เราเจอๆ กันให้มันยั่งยืน ซึ่งไอ้ความยั่งยืนมันก็ต้องอาศัยการลงแรง การปรับตัว และความพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ฟังดูเป็นอคตินิดหน่อย แต่คิดว่าหลายคนคงเจอความสัมพันธ์ประมาณนี้กันบ้าง คือคุยๆ กันไป เหมือนจะยืดยาว เหมือนจะลงลึกแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือการ ‘โดนเท’
โดนเท – แปลว่าการหายไปเฉยๆ อย่างไร้ร่องรอย เป็นการยุติความสัมพันธ์แบบลึกลับ เหมือนโดนมนุษย์ต่างดาวลักพาตัวไปเฉยๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีความขัดแย้งใดๆ สวัสดีทักทาย บ๊ายบายฝันดีกันปกติ แล้วก็กลายเป็นบุคคลสูญหาย
อาการที่คนจะเทกันแบบเทย์เลอร์ สวิฟต์เทพี่ทอม จริงๆ มันก็มีหลายสาเหตุเนอะ แต่ถ้าลองเชื่อมโยงข้อคิดเห็นของลุงหัวหน้าหน่วยวิจัยของญี่ปุ่น กับความเห็นบางส่วนที่มองความสัมพันธ์ของคนรุ่นใหม่ ประเด็นหนึ่งมีความเห็นตรงกันคือ เราต่างมองหาคนที่เป็นรักแท้ เป็นภาพที่เวรี่อุดมคติ เราอยากเจอคนที่เหมือนฝัน อยากเจอเหตุการณ์เหมือนที่เราเจอในซีรีส์ ในเอ็มวี และคงด้วยความรวดเร็วมั้งที่ทำให้เราหวังว่าคนต่อไปมันจะเป็นคนที่ต้องตามตำราคุณลักษณะคนในฝันของเราได้
ซึ่งคนแบบนั้นมันมีจริงซะที่ไหนละเฟ่ย
ฟังดูก็พอมีเหตุผล แต่ก็อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด บางทีในโลกยุคใหม่ คำว่า ‘ความสัมพันธ์’ หรือการตกลงปลงใจ (commitment) ระหว่างคนสองคน มันอาจจะไม่ได้เป็นเหมือนที่คนยุคก่อนๆ มองอีกต่อไป บางทีเราอาจจะหวังสิ่งที่เป็นอุดมคติในความสัมพันธ์ชุดต่อไป เราอาจจะกลัวความสัมพันธ์ เราอาจกลัวความผิดหวัง ไปจนถึงเราอาจรักอิสระของเรา ก็สุดแท้แต่
แต่สุดท้าย ถ้ายังคงร้าวรานกับความเหงา
อย่าลืมว่า เรายังมีคนอื่นที่ยังเหงาอยู่ด้วยกัน