‘เรื่องนี้ไม่บอกไปน่ะดีที่สุดแล้ว’ เป็นสิ่งเราตัดสินใจในหัวตัวเอง เมื่อคิดถึงเรื่องที่อาจกระทบต่อใจคนรักของเรา
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เราไม่พอใจในตัวอีกฝ่าย เรื่องเก่าๆ ของเราที่ไม่เคยพูดออกไป หรือแม้แต่ความรู้สึกในใจที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับความสัมพันธ์แล้ว เราต้องแบกรับอะไรบางอย่างเอาไว้ใช่หรือเปล่า? แล้วถ้าเรารับไหว เราก็ควรเก็บมันเอาไว้ และทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันคนรักของเรา ไม่ให้เขาต้องมาเจ็บปวดกับเรื่องที่เขาไม่จำเป็น นั่นคือสิ่งที่คนรักดีๆ ทำกันจริงหรือ?
‘เราไม่พูดเพื่อปกป้องความรู้สึกของเขา’ เมื่อมองจากมุมนี้ อาจดูเหมือนทุกอย่างจบแล้วในตัว ความหวังดีไม่ว่าจะแสดงออกมาในรูปร่างรูปทรงไหนนั้นย่อมเป็นสิ่งดีถูกไหม? แต่มันเป็นแบบนั้นแน่หรือเปล่า หากการไม่บอกข้อมูลที่สำคัญในระดับที่กระทบใจใครสักคนได้นั้นทำไปโดยมีเจตนาที่ดี? มันนับเป็นการโกหกหรือไม่? และที่สำคัญคือเรากำลังปกป้องอะไรจากการกระทำแบบนี้?
ไม่บอก = โกหก?
ในสายตาของเรา การโกหกอาจเป็นสิ่งรุนแรงที่สุดอย่างหนึ่งที่คนคนหนึ่งจะทำต่อคนรักของเขาได้ลง แต่เมื่อลองพิเคราะห์ดูแล้ว การโกหกอาจซับซ้อนมากกว่านั้น คือใน 1 วันของการใช้ชีวิต มนุษย์เราโกหกอยู่ตลอดเวลา เราทำตัวนอบน้อมต่อคนที่เราเหม็นขี้หน้า เราบอกว่าวันนี้เป็นวันเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่น้ำหนักของโลกกำลังกดลงมาที่บ่าของเรา และเรายังเขียนลงท้ายอีเมลว่า “ด้วยความเคารพอย่างสูง” ฯลฯ ซึ่งระดับหนึ่ง เราโกหกในชีวิตประจำวันเพื่อความอยู่รอด และในบริบทเหล่านั้นก็ล้วนเป็นการโกหกที่ไม่ได้มีพิษภัยอะไร
ดังนั้นการโกหกอาจมีทั้งที่เป็นภัยต่อความรู้สึกหรือไม่มีพิษภัยก็ได้
นำมาสู่คำถามว่า การปกป้องใครสักคนจากข้อมูลที่อาจทำร้ายเขาถือว่าเป็นการโกหกไหม? ในเมื่อเราไม่ได้พูดอะไรที่ไม่จริงนี่แค่เลือกจะไม่บอก เพียงแค่นั้นก็ไม่นับเป็นการโกหกถูกไหม? แล้วถ้ายังนับเป็นการโกหก มันเป็นการโกหกที่เป็นภัยต่อความรู้สึกหรือเปล่า? เราลองมาดูทีละคำถามไปด้วยกัน
จากคำถามว่า การปกป้องใครสักคนจากข้อมูลที่อาจทำร้ายเขา ถือว่าเป็นการโกหกไหม? คำตอบคือ นับว่าเป็นการโกหก ซึ่งเราเรียกการกระทำรูปแบบนี้ว่า Lying by Omission หรือการโกหกอย่างจงใจให้ข้อมูลไม่หมด ในบทความวิชาการ Psychology of Lying โดยฟาริชา เอ.ที.พี (Farisha A.T.P) ที่ตีพิมพ์ลงในวารสารจิตวิทยานานาชาติอินเดีย ให้คำนิยามข้างต้นไว้ว่า “การนิ่งเงียบโดยมีความตั้งใจในการลวง” หมายถึงการกระทำที่ไม่ได้อาศัยข้อมูลเท็จ แต่อาศัยการเลือกที่จะไม่ให้ข้อมูล
ส่วนคำถามถัดมาว่า เป็นการโกหกที่เป็นภัยต่อความรู้สึกหรือเปล่านั้น หากไม่มีบริบทแวดล้อมก็อาจเป็นคำตอบที่ตอบได้ยาก เช่นเดียวกันกับทุกรูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ การโกหกมีความซับซ้อนในตัวของมันเอง ตั้งแต่เหตุผลที่อาจมาจากความกลัวการปะทะ ความรู้สึกผิดในการกระทำ หรือความอับอายที่จะต้องมีคนรับรู้การกระทำของเรา ซึ่งนี่ยังไม่นับไปถึงลักษณะนิสัยของคนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย และมิติของความสัมพันธ์เหล่านั้นเลย
โกหกในโกหก
การโกหกนั้นมีมิติ โดยเฉพาะการโกหกอย่างจงใจให้ข้อมูลไม่หมดนี้เอง ที่มีมิติลึกลงไปกว่าการโกหกแบบอื่นใด เนื่องจากบ่อยครั้งมันมาจากความ ‘หวังดี’ ซึ่งอาจเป็นเรื่องดี หากเราสามารถมองลึกลงไปในความหวังดีเหล่านั้นได้ว่า มันมีอะไรมากกว่าการปกป้องใครอีกคน
ในบทความวิชาการเกี่ยวกับจิตวิทยาเบื้องหลังการโกหก Psychology of Lying ที่อ้างอิงไปก่อนหน้า มีการพูดคุยเกี่ยวกับเหตุผลที่คนคนหนึ่งจะโกหกจากหลากหลายมุม ว่าเราอาจโกหกเพื่อหลบหนีความผิด หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการทำร้ายใจคน ซึ่งหากใช้ทฤษฎีมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) จะพบว่าเราอาจโกหกเพราะมันเป็นหนึ่งในหนทางของการไต่เต้าลำดับขั้นความต้องการ
ในมุมมองจิตวิเคราะห์โดยซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) อธิบายไว้ว่า การโกหกมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่าง id, ego และ super-ego เช่น id อาจบอกให้เราหลีกหนีความจริง เนื่องจากความจริงนำมาซึ่งความวิตกกังวล แต่ ego อาจไม่สามารถรับสิ่งเร้าที่สร้างความกังวลใจได้ มันจึงผลักให้เราหาความจริงจากทางเลือกอื่นๆ ผ่านการโกหก หรือที่น่าสนใจที่สุดคือ super-ego มองว่าเราจำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ โดยอาจมีส่วนในการโกหกเพื่อแสดงออกตัวตนที่เรา ‘ควรจะเป็น’ ไปสู่สายตาคนนอก
เราอาจโกหกเพื่อให้คนอื่นมองเราแบบที่เราควรจะเป็น ลองนึกถึงเวลาที่เราบอกว่าตัวเองสนใจในอะไรสักเรื่อง หรือเวลาที่เราทำความรู้จักใครคนสักคน เพราะสิ่งเหล่านี้มันทำให้เราดูดีขึ้น เราอาจเล่าไม่ครบทุกแง่มุม เพื่อปิดบังบางอย่างในตัวเราที่ไม่อยากให้ใครรับรู้ หรือเราอาจหาแง่มุมที่ดูดี เพื่อสนับสนุนการกระทำบางอย่างของเราที่อาจเป็นเรื่องแย่
คำถามจากการมองลงไปยังจุดนั้นคือ แล้วหากเราบอกว่ากำลังปกป้องเขาคนนั้นผ่านการโกหก ถือเป็นคำโกหกอีกชั้นหนึ่งที่เรากำลังบอกตัวเองอยู่หรือเปล่า?
เมื่อเรารวบรวมทุกอย่างที่กล่าวมา ฟาริชาได้เขียนทิ้งท้ายหัวข้อเรื่องเหตุผลที่คนมักโกหกว่า “ผู้โกหกมีลักษณะหลงตน (narcissistic trait) สูง กล่าวคือเราโกหกเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และเพราะความรักในตัวเองอันเหลือล้นนี้เองที่ทำให้เราโกหก” โดยไม่รู้ตัว เราทุกคนมีความเห็นแก่ตัวเป็นส่วนหนึ่งภายในจิตใต้สำนึก ที่พุ่งทะยานไต่ระดับขั้นความต้องการ แต่ในขณะเดียวกัน การไต่ระดับนั้นอาจนำมาสู่ความรู้สึกเห็นแก่ตัว ดังนั้นการโกหกในโกหก เพื่อรักษาภาพที่เราอยากฉายให้ผู้อื่นเห็นจึงกำเนิดขึ้น และนั่นอาจเป็นคำอธิบายหนึ่งสำหรับการโกหกอย่างจงใจให้ข้อมูลไม่หมด
อย่าดูถูกคนรักของเรา
หลังจากสรุปกันไปแล้วว่า การไม่บอกนับว่าเป็นการโกหกแบบหนึ่ง คุยไปแล้วว่าบางครั้งการหวังดีอาจไม่ได้หมายความอย่างนั้นทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งก็ถือว่าเป็นการหาเหตุผลมารองรับการกระทำของเรา และสิ่งสุดท้ายที่ต้องคำนึงถึงคืออีกฟากฝั่งของความสัมพันธ์ว่า ‘อย่าดูถูกคนรักของเรา’
ในความสัมพันธ์ระยะยาว คนคนหนึ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจและปรับตัวเข้าหาอีกคน นั่นคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเสมอ เมื่อคนทั้งคู่มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง ยาวนาน และรู้จักกันมากกว่าใครในโลกนี้จะรู้จักซึ่งก็อาศัยการปรับตัวมาก และหากเราอยู่ในความสัมพันธ์รูปแบบนั้น บ่อยครั้งคนรักของเราควรจะต้องพร้อมรับฟังเรื่องของเรา เพราะหากไม่มีใครรับฟังกัน การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงย่อมไม่อาจเกิดขึ้น
หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมของเขาที่เราไม่เห็นด้วย การคุยกันอย่างตรงไปตรงมา สามารถนำไปสู่การอธิบายให้อีกฝ่ายเข้าใจมุมมองของเหตุที่เกิดขึ้นได้ และถือเป็นก้าวแรกสำหรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น หรือหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเราเองที่ไม่กล้าเล่าออกไปให้ใครฟัง การลองพูดคุยกันก็อาจทำให้อีกฝ่ายเข้าใจอะไรบางอย่างที่นำมาสู่ตัวตนของเราได้เช่นกัน แม้อาจจะเป็นมุมมองจากบุคคลภายนอกที่เราไม่เคยได้เห็นก็ตาม ซึ่งนอกจากจะหมดเรื่องหนักใจแล้ว ยังอาจเป็นการก้าวพาความสัมพันธ์ไปในทิศทางที่ดีขึ้นสำหรับทั้งคู่ได้ด้วย
สุดท้ายจนแล้วจนรอด หากเรายังคิดว่าเป็นเรื่องที่เล่าออกไปไม่ได้อยู่ดี สิ่งที่ต้องทบทวนจริงๆ อาจไม่ใช่เพียงเรื่องของการบอกออกไปแล้ว
แต่มันคือการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น หรือสิ่งที่เราทำไว้มากกว่า
อ้างอิงจาก