อ่านหัวข้อแล้วบางทีในใจเราก็นึกอยากจะวีนว่า เอ้อ ทำไมหัวใจมันยากเย็นสร้างเรื่องซับซ้อนเก่ง กับความรู้สึกที่ว่าเหงา แต่ก็ไม่ได้อยากออกไปเจอใคร ไม่อยากคุยกับใคร อยากอยู่คนเดียวตามลำพัง ทว่าในความลำพังนั้นมันก็ดันเหงาวนไปวนมาจนน่าปวดหัว
อย่างแรกที่สุดคือ ความรู้สึกเหงาขึ้นมาเฉยๆ ที่มาพร้อมกับความเบื่อจะเข้าสังคม นับเป็นอีกหนึ่งความรู้สึกซับซ้อนที่เกิดขึ้นได้ เช่น ถ้าเราไปดูในพื้นที่พูดคุยอย่างเว็บบอร์ดก็จะเจอคำถามว่า ถ้าเหงาแล้วไม่อยากเจอคนนี่มันแปลกไหม? เรามักจะเจอกับผู้คนที่รู้สึกแปลกๆ ในความเหงาอีกหลายคน ซึ่งเข้ามาร่วมเป็นทีมเหงา แต่ก็ไม่อยากเจอใคร
ปรากฏการณ์เหงา แต่ก็อยากอยู่ตามลำพัง จึงนับเป็นอีกปรากฏการณ์ความรู้สึกซับซ้อนของมนุษย์เรา โดยเฉพาะความแปลกประหลาดของความเหงาที่เป็นเรื่องของความรู้สึก เช่น แม้ว่าเราจะอยู่ท่ามกลางผู้คน หรือการเชื่อมต่อกันอยู่ตลอดเวลา เราก็อาจจะรู้สึกเหงาขึ้นมาได้ จำนวนคนจึงอาจไม่สัมพันธ์กับความรู้สึกหรือการคลายเหงา และความรู้สึกเหงา ไม่อยากเจอใครนี้ก็อาจเป็นภาวะเบื่อๆ อาจเป็นสัญญาณของการโหยหาความสัมพันธ์ หรือการเชื่อมต่อกับผู้คนหรือความหมายของชีวิตได้
ความยากของความเหงา
สำหรับท่านที่มีภาวะเหงาพร้อมๆ กับการไม่อยากเจอสังคม และท่านที่รู้สึกว่าทำไมเรื่องนี้ถึงวุ่นวายน่าปวดหัว ก่อนอื่นต้องอ้างอิงว่า ความเหงาด้วยตัวมันเองเป็นเรื่องซับซ้อน มักเป็นความรู้สึกที่อธิบายยาก และมีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้ความเหงามีหลายลักษณะ ตัวตนของความเหงาจึงเป็นอีกพื้นที่ที่ทั้งนักจิตวิทยาและนักคิดพยายามจับต้อง เพื่อหาทางแก้ไปจนถึงพยายามอธิบายความเป็นไปของสังคม เช่น ความเหงาอาจเป็นปรากฏร่วมของยุคสมัยใหม่ ยิ่งอยู่ท่ามกลางคนยิ่งรู้สึกเหงา ยิ่งเราเชื่อมต่อกับผู้คนมากเท่าไรก็อาจเหงามากขึ้นเท่านั้น สมัยก่อนการอยู่ตามลำพังอาจหมายถึงความสงบสันโดษ ซึ่งเป็นความสุขอย่างหนึ่ง
ข้อเขียนสำคัญมาจากงานของฟรีดา ฟรอมม์-ไรชมันน์ (Frieda Fromm-Reichmann) จิตแพทย์หญิงภรรยาของอีริค ฟรอมม์ (Eric Fromm) ทั้งคู่ร่วมยุคกับซิกมันด์ ฟรอยด์ และเป็นนักจิตวิทยาเชิงสังคม โดยงานเขียนว่าด้วยความเหงามีชื่อบทความตรงตัวว่า Loneliness ตีพิมพ์ในวารสารจิตแพทย์ช่วงทศวรรษ 1990 นับเป็นงานเชิงการแพทย์ชิ้นแรกๆ ที่พูดถึงความเหงาในฐานะภาวะหรืออารมณ์ที่มีความซับซ้อน และสัมพันธ์กับมิติทางสังคมวัฒนธรรมในตัวเอง
ในบทความเธอเองพูดถึงความรู้สึกเหงาที่ปรากฏขึ้น และความซับซ้อนที่สังคมมองว่าความเหงาเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นความรู้สึกส่วนบุคคล และในยุคนั้นยังโยงเข้ากับอาการอื่นๆ เช่น ความวิตกกังวล หรือซึมเศร้า ประเด็นสำคัญของงานเขียนนี้ชี้ให้เห็นว่า ความเหงามีความยากในตัวเอง โดยเฉพาะการสื่อสารความเหงานั้นๆ ออกมา
ในงานเขียนของฟรีดา ส่วนหนึ่งเธอจึงพยายามจำแนกความเหงาออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น ความเหงาเชิงกายภาพ (Physical Loneliness) ที่อาจเกี่ยวกับการขาดการสัมผัสกับผู้คนในเชิงกายภาพ เช่น สังคมที่ห้ามการสัมผัสจนทำให้ผู้คนห่างเหินกัน หรือความเหงาจากภาวะชั่วคราว (Transient Loneliness) เช่น ความโดดเดี่ยว การเหงาจากการสูญเสียคนที่รัก การต้องอยู่ตามลำพัง หรือจังหวะที่เราย้ายที่อยู่ เปลี่ยนสังคม หรือบางความเหงาก็เป็นภาวะเรื้อรัง ซึ่งบางส่วนสัมพันธ์กับบริบททางวัฒนธรรมที่มีความซับซ้อน
เดียวดายไร้ก้นบึ้งกับอุปมาของเม่น
ทีนี้ในเงื่อนไขของความรู้สึกเหงา แต่ไม่อยากจะพบเจอใคร อาจมีหลายระดับ ถ้าเหงาในระดับโดดเดี่ยวอย่างยิ่ง อาจเป็นความเหงาระดับ Existential loneliness คือรู้สึกโดดเดี่ยวและตัดขาดออกจากบริบทและความสัมพันธ์รอบตัว ซึ่งความเหงาที่นิยามเช่นนี้ก็ยังเป็นประเด็นถกเถียงอยู่ มีงานศึกษาเช่นการสำรวจถึงความเหงาอย่างยิ่งจนอธิบายไม่ได้ ความเบาหวิวไร้ก้นบึ้ง ไปจนถึงความเหงาที่เหมือนกับการถูกชกเข้าที่ท้อง ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้คนในหลายช่วงอายุพบเจอ
ในระดับทั่วไป ความเหงาที่มาพร้อมกับการโดดเดี่ยว มักอธิบายเชื่อมโยงเข้ากับปัญหาของความสัมพันธ์ ดังกล่าวว่าการมีหรือไม่มีใครอาจไม่ใช่เงื่อนไขของความรู้สึกเหงา แต่อาจเป็นความรู้สึกของเราที่เชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ในเชิงความรู้สึกได้ไม่ดีเพียงพอ คืออาจจะเจอหน้า หรือคุยๆ แล้ว ไม่ได้รู้สึกว่าเชื่อมโยงกันในทางความรู้สึกได้ ในบางนิยามความเหงาอาจเรียกว่าเป็น Relational loneliness หรือการขาดมิตรภาพและความสัมพันธ์ในครอบครัวที่มีคุณภาพ (perceived absence of quality friendships or family connections.)
จริงๆ ความเหงาและความเบื่อคนอาจเป็นปัญหาความสัมพันธ์ที่เรียบง่าย เช่น การรักษาระยะและความเหมาะสมของความสัมพันธ์ หลายความเห็นชี้ให้เห็นว่า ความเหงาแต่ไม่อยากเจอใคร อาจมาจากเรื่องพื้นฐานอย่างความสัมพันธ์ที่เราอยากได้ คือเราอยากมีมิตรภาพ แต่อาจเป็นเรื่องการเชื่อมต่อกันที่มีคุณภาพ ตรงนี้จึงอาจกลับมาที่ปัญหาความสัมพันธ์ในอุปมาของเม่นหรือ Hedgehog’s dilemma
อุปมาของเม่น หมายถึง ปัญหาของเม่นที่อยากจะรู้สึกอบอุ่น แต่เมื่อซุกตัวเข้าหากันโดยใกล้เกินไป หนามของเม่นแต่ละตัวจะทิ่มแทงซึ่งกันและกัน ประเด็นจากความซับซ้อนของเม่น จึงอาจสะท้อนภาพของความสัมพันธ์ที่ความใกล้ชิด หรือจำนวนอาจไม่สัมพันธ์กับการเติมเต็มซึ่งกันและกันในเชิงความรู้สึก เช่น เราอาจไปปาร์ตี้ ไปเจอกับผู้คนมากมาย แต่ท้ายที่สุดแล้วเราอาจพบว่า สายสัมพันธ์หรือการเชื่อมต่อกันในสังคมที่เราเจอ ไม่นำไปสู่ความรู้สึกที่เราต้องการ หรือในบางมุมเราอาจรู้สึกเหมือนเม่นว่า เมื่อเราพบเจอผู้คนแล้ว เราอาจเข้าใกล้กันเกินไปจนทำให้เราอยากถอยห่าง
การรักษาระยะและรูปแบบความสัมพันธ์ ซึ่งตอบสนองความรู้สึกเดียวดายของเรา จึงอาจเป็นหัวใจและการขบคิดเพื่อเยียวยาความเหงาของเราอีกครั้ง ในแง่ยาแก้เหงาที่สัมพันธ์กับสังคม เพื่อนฝูง และครอบครัวนี้เป็นการขบคิดเบื้องต้น คือการเข้าใจความคิด และความต้องการในความสัมพันธ์ของเรา อย่างมิตรภาพและครอบครัวว่ายังเป็นเรื่องสำคัญอยู่ แต่ก็ปรับมุมมองและระยะห่าง เพื่อตอบสนองกับความรู้สึกเหงาภายในใจ
ในระดับที่อาจจะซับซ้อนขึ้นของความเหงาจากการไม่มีใคร คือการกลับไปสู่แนวคิดเรื่องความสันโดษ หรือการที่เราสามารถอยู่กับตัวเอง และการกลับไปสู่ความคิดบางอย่างที่ทำให้เราใช้ชีวิตตามลำพังได้โดยไม่รู้สึกเดียวดาย การเรียนรู้ที่จะยื่นมือออกไปสู่ความสัมพันธ์ หรือการชักมือกลับมาสวมกอดและดูแลตัวเอง หลายครั้งความเหงาจึงมักเกี่ยวข้องกับการสูญเสียความสัมพันธ์ (relationship) ที่ไม่ใช่แค่กับผู้คน แต่อาจเป็นการสูญเสียการเชื่อมต่อ (connection) ระหว่างเรากับโลก กับความหมายของชีวิต กระทั่งกับตัวเราเอง
ทั้งหมดนี้จึงยังคงกลับไปเน้นย้ำว่า ความเหงามีหลายระดับ บางระดับสัมพันธ์กับการปรับเปลี่ยนเชิงมุมมอง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่ถ้ามีภาวะเหงาอย่างอธิบายไม่ได้ ยาวนาน หรือดำดึ่งซับซ้อน ก็อาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
อ้างอิงจาก
bmcpsychology.biomedcentral.com