เคยรู้สึกหรือเปล่าว่าความรู้สึกของเราต่อความรักนั้นซับซ้อนกว่าที่คิดไว้?
“การรัก” และ “การเป็นที่รัก” ในเกือบๆ ทุกกรณีเป็นคำที่มีความหมายในแง่บวก การที่มีคนรู้สึกดีๆ กับเราอย่างลึกซึ้ง การที่ตัวตนของใครบางคนสื่อสารกับตัวตนของเราอย่างไม่เหมือนใคร การที่เราตกลงปลงใจจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตใครสักคนแบบที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน ห้วงเวลาเหล่านั้นนำมาซึ่งความรู้สึกที่สวยงามอย่างไม่ต้องตั้งคำถาม แต่เมื่อถึงเวลาที่เรารักใครสักคน หรือถูกรักโดยใครสักคนจริงๆ บ่อยครั้งบางความรู้สึกที่ขัดแย้งกลับโผล่หน้าออกมาให้เราเห็น
ค่ำคืนที่เราร้องไห้อย่างไม่รู้สาเหตุหลังตอบตกลงเป็นแฟนใครสักคน การตัดสินใจว่าจะเลิกคุยกับคนที่เราชอบโดยไม่มีเหตุอะไรเลย ใจที่หล่นวูบเมื่อเราย้ายของเข้าไปอยู่ร่วมกับแฟนที่คบหามาอย่างยาวนาน จังหวะเต้นของหัวใจที่เราเดาไม่ออกว่าคือความตื่นเต้นหรือตื่นกลัวก่อนจะมีเซ็กซ์กับใครสักคนเป็นครั้งแรก หรือชั่วขณะเสี้ยววินาทีของความลังเลเมื่อถูกขอแต่งงาน
ความรู้สึกเหล่านั้นนำมาซึ่งคำถามว่า ทำไมความรักจึงน่ากลัวกว่าที่มันควรจะเป็น?
ในยามสุขและยามยาก
เราหมายถึงอะไรเมื่อเราพูดว่ารัก? แน่นอนว่าเรื่องมุมมองต่อความรักและความสัมพันธ์ของเราแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป การจะถามหาคำตอบจากคำถามดังกล่าวอาจมากมายเกินกว่าจะจดไว้ได้หมด อาจจะหมายความว่าเราต้องการใช้ชีวิตกับคนคนหนึ่ง เราอาจเห็นเขาเป็นคนที่อยู่ในอนาคตของเรา อาจเป็นคนเติมเต็มปัจจุบันขณะของเรา คนที่เราขาดไม่ได้ คนที่รับเราไว้เมื่อเราล้มลง ฯลฯ โดยพื้นฐานที่สุด ความรักในที่นี้อาจหมายถึงการเกี่ยวดองกันอย่างลึกซึ้งระหว่างคนรัก ซึ่งแม้จะฟังดูโรแมนติก แต่ในเชิงปฏิบัติแล้วมันอาจทำให้เรากังวลใจอยู่ไม่น้อย
ลองนึกภาพว่าตลอดทั้งชีวิตของเราที่ผ่านมา เราเป็นคนที่รู้จักตัวเองดีที่สุดในชีวิต ทุกจุดบกพร่อง ทุกรอยแผล ทุกนิสัยเสียที่เราเก็บงำไว้ เรารู้จักและจัดการกับมันได้ทั้งหมด ผ่านการฉายภาพที่เราคิดว่าคนอื่นอาจจะอยากเห็นออกไป มากพอที่พวกเขาจะไม่เห็นตัวตนที่คนอาจรับไม่ได้ของเรา แล้วลองนึกภาพว่าอยู่มาวันหนึ่งจะต้องมีคนที่บกพร่องพอๆ กัน เดินเข้ามาในพื้นที่ที่ไม่มีใครเห็นนั้น ทั้งเราและเขาอาจคาดหวังให้ทั้งคู่สมบูรณ์กว่าที่เป็น หากแจงออกมาอย่างนั้นแล้ว นั่นดูจะน่ากลัวอย่างบอกไม่ถูก
ความกลัวดังกล่าวไม่ใช่เพียงเพราะความเขินอาย หรือการไม่ได้รับความยอมรับเท่านั้น แต่มันอาจจะเป็นความกลัวเพราะการอยู่ร่วมกันในความสัมพันธ์ระยะยาวเช่นนั้น ตั้งอยู่บนฐานของการเปลี่ยนแปลงก่อนจะวิวัฒนาการจากตัวตนเดิมไปสู่ตัวตนใหม่ การปรับลักษณะนิสัยก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่การวิวัฒนาการนั้นๆ อาจหมายรวมไปถึงการก้าวเดินออกจากสังคมเดิมๆ ของเรา ออกจากอ้อมอกของพ่อแม่ จากการอยู่ตัวคนเดียว อาจหมายถึงการที่เราต้องละทิ้งตัวตนเดี่ยวๆ ของเรา ก่อนที่จะนำตัวตนของเขาผู้นั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของเรา และนั่นไม่ใช่เพียงความรู้สึกส่วนตัว แม้แต่ในมุมกฎหมาย บ่อยครั้งก็ยังมองคู่สมรสเป็นการมีอยู่เดียวกัน
ความกลัวเหล่านั้นอาจจะมาจากความกลัวการเปลี่ยนแปลงก็ได้ มีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับประสาทวิทยาบอกว่า การเปลี่ยนแปลงสร้างความรู้สึกไม่มั่นคง และสมองของเราเองก็มองความมั่นคงไม่ต่างไปจากการมองความผิดพลาดที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่เป็นไปได้หรือเปล่าที่ความกลัวของเรานั้นอาจจะลึกลงไปกว่าการทำงานของระบบประสาท? หรือลึกลงไปกว่าความเปลี่ยนแปลง? เพราะหากมองจากมุมนี้ การมีรักอาจหมายความมากไปกว่าการมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งระหว่างคน แต่มันคือการเปลี่ยนตัวเองจากคนคนเดียว กลายเป็นอีกครึ่งเดียวของสิ่งสิ่งใหม่
มองจากมุมนี้ในแง่หนึ่ง ความรักอาจหมายถึง ‘ความตาย’ ของเรา
รัก เซ็กซ์ และความตาย
ความเรียงวิชาการที่เชื่อมโยงรัก ความสัมพันธ์ และความตายเข้าด้วยกัน มีชื่อว่า Destruction as a Cause of Coming into Beings โดยนักจิตวิเคราะห์ชาวรัสเซีย ซาบีน่า ชปีลไรน์ (Sabina Spielrein) เธอตั้งคำถามเกี่ยวกับความรู้สึกที่เธอมักพบเมื่อมนุษย์มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเพศ “ทำไมแรงผลักดันที่ทรงพลังที่สุดของเราอย่างสัญชาตญาณในการสืบพันธุ์ นำมาซึ่งความรู้สึกแง่ลบที่พ่วงติดมากับการตั้งตารอซึ่งเป็นบวก?” เธอเขียนถามในบทเปิด ก่อนจะยกมุมมองของนักจิตวิเคราะห์ คาร์ล ยุง (Carl Jung) โดยเธอเห็นตรงกันว่า ความกลัวไร้ชื่อเรียกที่พ่วงติดมากับความรักอีโรติกนั้นไม่ใช่เพียงความกลัวเชิงสังคม แต่คือความกลัวที่เกี่ยวข้องกับความตาย
ชปีลไรน์อธิบายมุมมองของเธอผ่านกระบวนการการผสมพันธุ์ว่า “เมื่อการสมรสระหว่างเซลล์เพศเมียกับเพศผู้เกิดขึ้น การสมรสนั้นๆ จะถูกทำลายสิ้น และผลผลิตจากการทำลายเหล่านั้นก็คือสิ่งมีชีวิตใหม่” เธอพูดพร้อมไล่เรียงการผสมพันธุ์ทั้งเชิงเดี่ยวและคู่ ด้วยจุดประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นว่าโดยพื้นฐานที่สุด ความต้องการที่จะดำรงเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจะนำไปสู่ความตายของสัตว์โตเต็มวัยที่ทำมัน และผลผลิตหรือลูกหลานจะมาแทนที่พวกเขา “ปัจเจกจำต้องกระหายในการสร้างผลผลิตนั้นๆ อย่างแรงกล้า จึงจะวางการมีอยู่ของตัวเองไว้ในความอันตรายของการถูกทำลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของสรรพสิ่ง” เธอเขียน
ภาพที่เธอวาดขึ้นมาจากตัวอย่างนั้นชัดเจนว่า การผสมพันธุ์จะคืออะไรหากไม่ใช่การรุกล้ำกันและกันของสิ่งมีชีวิต 2 สิ่ง? การรุกล้ำที่นำไปสู่การถูกทำลายล้างของทั้งคู่ และเธอกล่าวว่ามันไม่ได้จบที่ระดับเซลล์ แต่มาถึงในระดับของบุคคลเลยทีเดียว เพราะความกลัวของเราที่มีต่อเซ็กซ์มาจากความตายที่ฝังรากลึกๆ อยู่ในการกำเนิดของเราเอง และเป็นไปได้หรือไม่ที่เราเชื่อมโยงระหว่างรักกับเซ็กซ์ในระดับที่ความกลัวเหล่านั้นจะไปโผล่หน้าอยู่ เมื่อเราพูดถึงความรัก?
การพูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างการรุกล้ำกับความรักและเซ็กซ์นั้นไม่ใช่เรื่องยาก การจูบ การสอดใส่ การกัดด้วยความรัก มิติพลังที่สังคมมอบให้คู่รักโดยไม่รู้ตัว การให้สัญญาว่าจะเป็นหนึ่งเดียวกัน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ในบางแง่มุมคือภาพของการรุกล้ำบางประการ เป็นภาพการเจาะผนังเซลล์ การเจาะทะลุกรอบขอบเขตที่เคยจำกัดความตัวบุคคลของเราและเขา การทำลายล้างความเป็นปัจเจกของทั้งคู่ เราทั้งเป็นเราและไม่เป็นเราอีกต่อไป เส้นที่เคยแบ่งเราออกจากคนอีกคนค่อยๆ เบลอออก เราเริ่มยิ้มด้วยกล้ามเนื้อชิ้นเดียวกันบนใบหน้า หรือกระทั่งตัวตนบางอย่างของเขาติดตัวเรามาอย่างไม่รู้ตัว
ภาพดังกล่าวนั้นทั้งสวยงามและน่าสะพรึงกลัวไปพร้อมๆ กันใช่หรือไม่?
แล้วทำไมเราจึงยังปรารถนาที่จะรัก?
ในสุนทรพจน์เกี่ยวกับความรักของนักเขียนบทละคร อริสโตฟาเนส (Aristophanes) ที่ถูกบันทึกไว้ในซิมโพเซียม โดยเพลโต (Plato) เล่าว่า ก่อนที่มนุษย์จะถูกแบ่งแยกออกเช่นปัจจุบัน เราเคยเป็นสิ่งมีชีวิตอีกรูปแบบที่มี 4 มือ 4 ขา 2 หัว 2 อวัยวะเพศ แต่ด้วยกำลังวังชาและความหยิ่งยโสของมนุษย์เหล่านั้น เทพซีอุสจึงตัดแยกมนุษย์เหล่านั้นออกเป็น 2 ส่วน และพวกเขาก็จำต้องหาอีกครึ่งหนึ่งของกันและกันตลอดทั้งชีวิต
แม้ว่าเรื่องราวดังกล่าวจะขัดแย้งต่อความรู้ และวิทยาการปัจจุบันของมนุษย์ปัจจุบันทั้งสิ้น แต่เหตุที่เรายังนึกถึงเรื่องราวของอริสโตฟาเนสเป็นเพราะว่า มันคือภาพสะท้อนเก่าแก่เกี่ยวกับความรักและความปรารถนาของมนุษย์ ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ ความรู้สึกโหยหาใครอีกคนที่ขาดหายไปนั้นอยู่คู่กับความรัก โดยเฉพาะรักแบบที่อริสโตฟาเนสพูดถึงอย่าง ‘รักอีโรติก’ หรือ ‘อีรอส’ (Eros)
รักอีโรติกมักถูกเชื่อมโยงกับรักที่เกิดจากความต้องการทางเพศ แต่ในความเป็นจริงความรักรูปแบบนี้มีรายละเอียดมากกว่านั้น เพราะรักอีโรติกเกี่ยวข้องกับความปรารถนาเบื้องลึกของมนุษย์ และความปรารถนาก็คือการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป ซึ่งช่องว่างเหล่านั้นอาจมีหน้าตาเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกวัน และนั่นจึงทำให้หลายๆ คนมองรักอีโรติกว่าฉาบฉวย เป็นดั่งไฟที่เผาไหม้อย่างแกร่งกล้า และดับลงในชั่วพริบตา อย่างไรก็ตาม ใครกันเลือกที่จะปรารถนาในรัก ในเมื่อความรู้สึกขาดหายในตัวเรานั้นมาหาเราได้โดยไม่ได้ขอ?
ที่พูดมาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับความรักและความตายอย่างไร? ในบางห้วงเวลา ช่องว่างขนาดใหญ่ในใจของเราเปิดกว้างด้วยความปรารถนา ไม่ว่าอะไรก็ไม่อาจเติมช่องว่างนั้นๆ ให้เต็มได้ ซื้อของก็แล้ว กินของอร่อยก็แล้ว เปลี่ยนงานก็แล้ว แต่ก็เพราะเราแต่ละคนต่างมีความปรารถนาที่แตกต่างกัน และในบางวันความปรารถนานั้นอาจมาในรูปแบบของอีกครึ่งที่หายไปของเรา บางวันเราอาจจะปรารถนาในความรัก
นั่นคือที่มาของความย้อนแย้ง ความปรารถนาแห่งรักและความกลัวในความตาย บ่อยครั้งแม้เราจะกลัว และรู้ว่าหากเรารักใครสักคนแล้วมันอาจจะนำมาซึ่งความเจ็บปวด การสูญเสียตัวตน หรือการเสียพื้นที่ส่วนตัวที่เราหวงแหน แต่บางครั้งเราเองก็อาจตัดสินใจโดยไร้เหตุผล เนื่องจากความปรารถนาที่เรามีนั้นอยู่เหนือทุกอย่าง เราเลยอาจจะพร้อมลองเดินดิ่งลงไปเพื่อดับความกระหายนั้น
ทั้งที่รู้ว่านั่นคือความตายบางรูปแบบ
อ้างอิงจาก