เราเปลี่ยนฟูกที่นอนครั้งล่าสุดเมื่อไร?
เรา 2 คนนั่งพิงไหล่กันบนฟูกที่นอนเก่า พร้อมผ้าปูเตียงผืนเดิมที่เดินเลือกด้วยกัน ตั้งแต่เราทั้งคู่ตัดสินใจย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกันบ้านหลังนี้ เราก็จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่า นอกจากขนาดแล้ว เราเลือกมันจากอะไรอีกในตอนเลือกซื้อด้วยกัน เพราะเรารู้แค่ว่านี่คือเตียงที่จะมีคน 2 คนนอนอยู่ด้วยกัน และอายุขัยของมันก็เป็นอีกสิ่งที่เราจำได้อย่างดี จากระยะเวลาที่เราคบกัน ลบด้วยระยะเวลาที่เราตัดสินใจย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกัน ในห้วงเวลานั้นเราทั้งคู่ต่างเติบโต เราเองเปลี่ยนงานมาแล้ว 3 ครั้ง ส่วนคุณก็ค่อยๆ เติบใหญ่ในสายงานเดิมเรื่อยไปในเวลาเดียวกัน
งานเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ความสนใจเปลี่ยน เป้าหมายเปลี่ยน โลกก็เปลี่ยน ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่เราทั้งคู่แน่ใจเสมอ คือเมื่อไรก็ตามที่เรามานั่งพิงอยู่ข้างกันท่ามกลางความมืดในห้องที่ประดับแค่ไฟอ่านหนังสือแห่งนี้ เราทั้งคู่จะไม่เปลี่ยนไป
ในระดับหนึ่งนั่นคือเรื่องจริง แต่…
เราเปลี่ยนฟูกที่นอนครั้งล่าสุดเมื่อไรกันนะ? ความคิดดังกล่าวเข้ามาในหัว หลังจากคุณพูดให้ฟังว่า ปวดหลังจากทำงานมากเกินไปไม่เคยเปลี่ยน ก่อนคำตอบจะเข้ามาหลังจากเรานึกถึงเสียงสปริงที่ค่อยๆ ดังขึ้น พร้อมกับความรู้สึกแข็งขืนน้อยๆ เมื่อเราทิ้งตัวลงบนเตียง ซึ่งต่างจากตอนเราซื้อมาใหม่ๆ รู้สึกแม้กระทั่งสัมผัสของผ้าปูที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา มันยังเป็นเตียงนอนที่เรานอนได้ และเป็นเตียงนอนที่มีเรื่องราวมากมายในชีวิตให้นึกถึง
เมื่อไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย แต่ทำไมทุกอย่างกลับรู้สึกแตกต่าง?
บางอย่างในชีวิตเป็นเหมือนเดิมมานานจนเราคิดว่า ความแน่นิ่งของมัน คือความแน่นอน คือความธรรมดาที่มั่นคง แต่อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อเราหันกลับไปมองมันจริงๆ ระยะห่างไม่ทราบชื่อก็ปรากฏขึ้นมาให้เราเห็น ทั้งๆ ที่มันเป็นแบบนั้นมาตั้งแต่แรกแล้ว และบ่อยครั้ง บางอย่างที่ว่านั้นก็ไม่ใช่เพียงสิ่งของหรือฟูกที่นอนเก่า แต่เป็นความสัมพันธ์ที่หยุดการเติบโต
ที่พักใจในโลกที่เราต้องวิ่งไปข้างหน้าอยู่ตลอด
ในแง่หนึ่ง ชีวิตมนุษย์คือการจัดสรรความสำคัญแก่ปัจจัยหลายๆ อย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเงิน งาน สุขภาพกาย สุขภาพใจ หรือตัวตน บ่อยครั้งบางปัจจัย (หรือทุกปัจจัย) ก็ตีกันยับอยู่ภายใน แต่นั่นยังไม่นับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน จนทำให้เราต้องใช้เวลาและพลังงานมากกว่าเดิมในการคงความสมดุล เมื่อโลกเรียกร้องเรามากขึ้น การนิ่งเฉยคงสภาพจึงไม่ใช่คำตอบที่ดีพออีกต่อไป เพราะโลกบังคับให้เราผลักดันตัวเองเพื่อให้มีพัฒนาการอยู่เรื่อยๆ
การพัฒนาไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับมนุษย์ เพราะตั้งแต่กำเนิดเผ่าพันธุ์มนุษย์เมื่อราวๆ 200,000 ปีก่อน โลกให้สัญชาตญาณเอาชีวิตรอดเป็นเครื่องมือที่ติดตัวเราทุกคนมาจนทุกวันนี้ โดยในบริบทของสังคมชนเผ่าที่ต้องล่าสัตว์และเก็บเกี่ยวพืชผลกิน สัญชาตญาณดังกล่าวได้มอบความสามารถต่อการเรียนรู้เกี่ยวกับความอันตรายของโลก ทั้งนักล่า อาหารที่มีพิษ ความเจ็บปวด และความหิวโหย ฯลฯ เพื่อให้เราพร้อมจะปรับตัวไปกับมันอยู่เสมอ
เมื่อมองมาที่โลกปัจจุบัน การล่าและเก็บเกี่ยวเดียวที่เราต้องทำ คือการเดินเข้าไปซื้อวัตถุดิบในแพ็กพลาสติกตามซุปเปอร์มาร์เก็ต เพราะงั้นแล้วเราถือว่ายังมีสัญชาตญาณเหล่านั้นอยู่หรือเปล่า? ซึ่งสำหรับประเด็นนี้ ไนเจล นิโคลสัน (Nigel Nicholson) ศาสตราจารย์สาขาพฤติกรรมวิทยาองค์กร จากมหาวิทยาลัยลอนดอน บิสสิเนส สคูล ได้เขียนคำอธิบายเอาไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสารโดย Harvard Business Review ว่า
“เราสามารถนำคนออกจากถ้ำได้
แต่เราไม่สามารถเอาความเป็นมนุษย์ถ้ำออกจากคนได้”
แม้ว่าเราจะไม่ต้องต่อสู้กับเสือเขี้ยวดาบเพื่อเอาตัวรอดอีกต่อไปแล้ว แต่ลึกๆ เราต่างมีสัญชาตญาณที่คอยกระซิบในหูอยู่เสมอว่า แกอยู่นิ่งไปแล้วนะ วิ่งสิ ย้ายงานสิ ขอขึ้นเงินเดือนสิ หรือแกต้องไม่พอใจในที่ที่แกยืนอยู่มากเกินไป ฯลฯ เราไม่พอใจในสิ่งที่เรามีสักที เพราะนั่นคือวิธีการคิดที่บรรพบุรุษส่งต่อมาให้เพื่อการอยู่รอด เราถูกโปรแกรมให้ต้องต่อสู้ เพื่อจะได้มาซึ่งความรู้สึกปลอดภัยเสมอ
สัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด ยังส่งผลให้มนุษย์เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าหากันอีกด้วย ทั้งการหลบสิ่งมีชีวิตมีเขี้ยวเล็บตัวนั้น อย่ากินเห็ดมั่วซั่ว เพราะมันอาจมีพิษ ความมืดและสีดำ คือเป็นตัวแทนของความไม่รู้และความกลัว หรือสีหน้าแบบนี้คือมิตร สีหน้าอีกแบบคือศัตรู ซึ่งที่ต้องยกความสามารถในการเชื่อมโยงขึ้นมานั้นเป็นเพราะคำถามสำคัญว่า เราเชื่อมโยงอะไรบ้างกับความปลอดภัย? ไม่ว่าจะเป็นกองไฟ แสง ที่อยู่อาศัย เพื่อน ครอบครัว และที่สำคัญสำหรับประเด็นที่เรากำลังพูดถึงก็คือ ‘คนรัก’
ในชีวิตของผู้ใหญ่คนหนึ่ง เราตามหาความรักด้วยหลากหลายสาเหตุเหลือเกิน แต่หนึ่งในนั้นเป็นเหตุผลที่โบราณและพื้นฐานที่สุดในสมองของเรา นั่นคือเราต้องการมีความรัก เพราะมันหมายถึงความปลอดภัยนั่นเอง โดยความปลอดภัยจะพาเราหลีกหนีจากการเอาชีวิตรอดในโลกที่เคลื่อนไปข้างหน้าทุกวัน หลีกหนีจากความเหนื่อยอ่อนของการต้องพัฒนาตัวเองในทุกวัน เป็นคอมฟอร์ตโซนของกันและกัน
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตแห่งการเชื่อมโยง และบางครั้งการเป็นพื้นที่ปลอดภัยเอง ก็ถูกเชื่อมโยงกับความไม่เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน
ความสัมพันธ์ที่แน่นิ่งนั้นนิ่งแน่?
แม้ว่าเราทุกคนจะเป็นมนุษย์ ซึ่งมีความหลากหลาย และความต้องการของเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยิ่งพูดถึงความรักที่แตกออกได้เป็นล้านเฉดสียิ่งแล้วใหญ่ แต่เราทุกคนล้วนหาความรักที่ปลอดภัยเท่านั้นรึเปล่า? แล้วเรารู้สึกปลอดภัยและเติมเต็มกับความรักรูปแบบนั้นมากขนาดไหน?
มีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวชื่อว่า Growth Potential in Relationships: A Promotion-Focus Perspective โดยอแมนดา โคห์เลอร์ (Amanda Kohler) นักศึกษาปริญญาเอก สาขาจิตวิทยาสังคม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย Wilfrid Laurier ที่มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจความต้องการของผู้ที่หาความสัมพันธ์แบบมุ่งเน้นไปที่การเติบโตว่า พวกเขาพึงใจในความสัมพันธ์แบบไหน และมีอะไรมากกว่าความต้องการหาจุดร่วมในกันและกันที่งานวิจัยส่วนใหญ่ใช้หรือไม่ ซึ่งสมมติฐานหลักของงานวิจัยนี้ คือพวกเขาต้องการความเป็นไปได้ที่จะเติบโต (Growth Potential)
งานวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มองหาความสัมพันธ์แบบมุ่งเน้นการเติบโต จะรู้สึกพึงใจเมื่อพวกเขาได้เขียนอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงแง่บวกที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ และเมื่อได้รับการตอบรับจากความสัมพันธ์ จะมีโอกาสนำไปสู่การเติบโตมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่โฟกัสความปลอดภัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนความมีอยู่ของ Growth Potential ในฐานะปัจจัยที่ก่อร่างความเติมเต็มในความสัมพันธ์ตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
“งานวิจัยส่วนมากมักแสดงผลว่า ความรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นเสมอ แต่งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าข้อสรุปนั้นไม่จริงสำหรับทุกกรณี” ผู้วิจัยกล่าว สิ่งที่ตรงข้ามกับปลอดภัยในที่นี้ ไม่ใช่ความรู้สึกเป็นอันตราย แต่คือการไม่นิ่งเฉยต่อกันและกัน การพยายามเรียนรู้ซึ่งกันและกันเสมอ การก้าวไปในที่ใหม่ๆ การลงมือทำ การเห็นอนาคตด้วยกัน และการคลี่คลายตัวตนของกันและกันให้กว้างขวางขึ้น
ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงเสมอ
เราอาจไม่ได้เปลี่ยนฟูกที่นอน แต่นั่นไม่ได้แปลว่าสภาพของมันจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกัน ความรักก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา หากประเด็นอื่นๆ ที่รายล้อมเราเปลี่ยนไป แล้วมีหรือที่เราเองจะเป็นคนเดิมได้ตลอดเวลา? เมื่อเราเปลี่ยน คนที่เป็นดั่งคอมฟอร์ตโซนของเราเองก็เปลี่ยนไปเช่นกัน และนั่นก็ไม่ใช่ความผิดของใครเลย เพราะความเปลี่ยนแปลงถือเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์
แม้แต่เป้าหมายในความรักของเราก็เปลี่ยนแปลงได้ ในวันหนึ่งเราอาจเคยต้องการความสัมพันธ์ที่มั่นคงแต่แน่นิ่ง ทว่าวันถัดมา เราคนหนึ่งอาจต้องการสัมพันธ์อีกแบบหนึ่ง ที่งอกงามและเปลี่ยนแปลงไปในทางกลับกันก็เกิดขึ้นได้ เพราะเราทุกคนล้วนเปลี่ยนไปวันละน้อยโดยไม่ได้ตั้งใจในที่สุด
เช่นเดียวกับทุกๆ เรื่อง เมื่อความรักเรียกร้องให้เราเปลี่ยนแปลง ความแน่นิ่งจึงไม่ได้หมายความว่า เรายืนอยู่จุดเดิมที่เราเคยรัก แต่เป็นการสร้างระยะห่างออกจากจุดนั้นไปเรื่อยๆ
สิ่งที่เราทำได้ คือการอย่าลืมหันมามองกันและกันอยู่เสมอ พูดคุยกันว่าตอนนี้จุดโฟกัสของเราอีกคนคืออะไร ยังต้องการความแน่นิ่งอยู่ไหม หรือว่าต้องการจะเติบโตระหว่างกัน แล้วจับมือเดินร่วมทางกันไปเพื่อปรับให้จุดหมายของเราเป็นหนึ่งเดียวกัน
แม้ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่อาจจะยังเหมือนเดิมอยู่ คือความรักที่เราต่างมีให้กัน และนั่นเองอาจเพียงพอที่เราจะเอนหากันมากขึ้น
อ้างอิงจาก