มองไปยังร่างเปลือยเปล่าที่นอนอยู่ข้างเรา หลังได้ใช้เวลาบนเตียงร่วมกัน
นี่ไม่ใช่เตียงของเรา และก็ไม่ใช่เตียงของเขา เราพบกันแค่นอกบ้านเท่านั้น พบกันนอกพื้นที่ส่วนตัวของกันและกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ชิ้นส่วนตัวตนของตัวเองถูกทิ้งอยู่ในบ้านของอีกคนโดยบังเอิญ ไฟอันร้อนแรงของเซ็กซ์มักเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่คราวในสักห้องหนึ่งของโรงแรม หลังจากนั้นเมื่อออกจากห้องแล้ว เราอาจจะไปกินข้าว นัดกินกาแฟ ไปซื้อของให้กัน หรือแม้แต่อาจจะคุยเรื่องอะไรบางอย่างที่เพื่อนคุยกันก็ยังได้ แต่สถานะนอกห้องนั้น เราไม่เป็นอะไรกันไปมากกว่าเพื่อน
ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีการพัฒนาความสัมพันธ์
มีแค่ปัจจุบันและสิ่งที่เกิดขึ้นในห้อง นั่นคือข้อตกลง
มองไปยังเสียงหายใจเบาๆ ของเขาที่อยู่ใต้ผ้าห่ม เราคุยกันว่าจะขอนอนอยู่ในห้องแปลกหน้านี้อีกสักพัก ก่อนจะกล่าวลาแล้วแยกย้ายกันไป แม้จะยืดเวลาของเราทั้งคู่ที่จะได้เป็นผู้ใกล้ชิดกันที่สุดออกไปอีกสัก 1-2 ชั่วโมง แต่ความคิดที่เกิดขึ้นเสมอมา หลังจากห้วงเวลาบนเตียงที่เรามีร่วมกันก็วนมาอีกครั้งว่า “เราอยากตื่นมาเจอเธอแบบนี้ทุกวันตลอดไปเลยได้หรือเปล่า?” ความคิดชั่ววูบแต่ติดค้างในใจ เป็นแค่ความคิดซึ่งล้มทุกคำสัญญาที่เราให้กับตัวเองและใครอีกคน
แน่ล่ะ ก็สัญญากันไว้แล้ว เราสะบัดหัวเล็กน้อยให้กล่องความคิดที่มีระเหยไปในอากาศ ก่อนเดินเข้าห้องอาบน้ำ เพื่อเตรียมตัวกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงในนอกห้องที่จะไม่มีเรา แม้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้จะเกิดขึ้นได้อีก แต่แน่นอนว่าความคิดดังกล่าวที่สะบัดหายไปแล้ว อาจควบรวมกลายเป็นก้อนเมฆของความสับสน ซึ่งจะกลับมาเยี่ยมเยียนเราได้ในอีกสักวันหนึ่ง และเราเองก็ไม่รู้ว่าทุกอย่างจะจบลงยังไง
การสร้างข้อตกลงระหว่างกันถือเป็นส่วนสำคัญของความสัมพันธ์ ทว่าขอบเขตของมันอยู่ตรงไหน? หรือเราอยากได้อะไรจากมัน? บ่อยครั้งเหลือเกินที่ข้อตกลงของเราล้มคะมำลงเพราะความรู้สึกของมนุษย์ ความรัก เซ็กซ์ ความรู้สึกที่เชื่อมโยงกัน หรือการทำข้อตกลง รวมถึงข้อห้ามต่างๆ ทำไมมันจึงยากเย็นขนาดนั้น? แล้วความเชื่อมต่อทางความรู้สึกและเซ็กซ์เกี่ยวข้องกันยังไง?
เพราะ (ฮอร์โมน) รักเป็นเหตุ
ความสัมพันธ์แบบ Friends With Benefits (FWB) คือความสัมพันธ์ที่เรากับคู่ของเราวางตัวกันเป็นเพื่อน แต่จะมีเซ็กซ์กันเป็นครั้งคราวโดยไม่ผูกมัด ไม่คาดหวังในกันและกันว่าจะต้องเป็นอะไรกันต่อไปในอนาคต และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรู้สึกต่อกันมากกว่าเพื่อน เป็นความสัมพันธ์อิสระ ปราศจากความรับผิดชอบในความรู้สึก แถมยังเปิดโอกาสให้เรามีเซ็กซ์กับคนที่เราถูกใจได้ ทำให้ FWB ดูจะเป็นความสัมพันธ์ที่ผ่อนคลาย แต่หลายต่อหลายครั้ง ใครคนหนึ่งก็มักสะดุดขาตัวเองได้ง่ายๆ เพราะเซ็กซ์
เวลาเรามีเซ็กซ์กับใครสักคน ร่างกายของเราจะหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินออกมา เพื่อสร้างความรู้สึกผูกพันและเชื่อใจให้กับเรา แม้ว่าการสัมผัส การกอด หรือการร่วมรักจะนำไปสู่การหลั่งฮอร์โมนดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ก็มีการรายงานว่าฮอร์โมนออกซิโทซินจะหลั่งมากที่สุดเมื่อผู้หญิงถึงจุดสุดยอดด้วย
อย่างไรก็ดี ออกซิโทซินหรือฮอร์โมนแห่งรักนี้ ต้องมาจากเซ็กซ์ที่เติมเต็มกันและกันเท่านั้น หากเป็นเซ็กซ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือการมีเซ็กซ์แบบขอไปที มักไม่ทำให้เราหลั่งออกซิโทซินออกมา และเหตุผลสำคัญนี้เอง ทำให้เรามักตกหลุมรักคนที่สัญญากันไว้ว่าจะไม่รักได้อย่างง่ายดาย เพราะในกรณี FWB นั้นคือการที่เรามีความสัมพันธ์กับใครสักคน ผ่านข้อตกลงว่าเราและเขาจะเข้าขากันได้อย่างดีในเรื่องเซ็กซ์ ซึ่งอาจแปลได้ว่า เรายิ่งมีโอกาสผูกพันกับคนคนนั้นได้มากนั่นเอง
หลังจากพาไปดูคน (พยายามจะ) ไม่รักกันไปแล้ว งั้นถ้าหันมาดูคนที่มีความสัมพันธ์แบบคู่รักกันบ้างจะเป็นยังไงนะ?
ตัวชี้วัดความใกล้ชิด และเครื่องมือเพื่อความผูกพัน
แน่นอนว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของคนรักนั้นมีมากกว่าเซ็กซ์ ไม่ว่าจะเป็นอนาคตที่เราเห็นเหมือนกัน การใช้ชีวิตด้วยกัน ครอบครัว การงาน หรือแผนการในการดำเนินชีวิต ฯลฯ แล้วแต่ว่าคู่ไหนให้ความสนใจอะไร แล้วถ้ามีเรื่องมากมายให้กังวลขนาดนี้ เซ็กซ์จึงดูจะเป็นเรื่องเล็กไปเลยหรือเปล่า?
คำตอบของคำถามดังกล่าวมาจากงานวิจัย The associations of intimacy and sexuality in daily life นำโดยฌาคส์ ฟาน แลนเวลด์ (Jacques van Lankveld) นักวิจัยสายจิตวิทยาและเพศวิทยา จาก Open University of the Netherlands เป็นงานวิจัยที่เสาะหาความเชื่อมโยงระหว่างความใกล้ชิดในความสัมพันธ์กับความต้องการทางเพศ
นักวิจัยพบว่าในคู่รักชายและหญิง ผู้ที่มีความสัมพันธ์ระยะยาวและมีค่าความใกล้ชิดสูง จะถูกเชื่อมโยงเข้ากับความปรารถนาทางเพศที่สูง ซึ่งนำไปสู่โอกาสในการเกิดกิจกรรมทางเพศสูงด้วยนั่นเอง ฉะนั้น จึงสามารถเรียกได้ว่า เซ็กซ์อาจทำหน้าที่เป็นตัวชี้วัดความใกล้ชิดของคู่รักได้ในระดับหนึ่ง และในบริบทของความสัมพันธ์แบบคู่รัก ความรักกับเซ็กซ์ก็ไม่ได้แยกออกจากกันเสียทีเดียว
จากมุมมองของลีอา โนเรน (Leigh Noren) นักเพศวิทยาและนักบำบัดทางเพศ เธอวางความสัมพันธ์ระหว่างความผูกพันกับเซ็กซ์ไว้บน 3 ปัจจัยใหญ่ๆ ปัจจัยแรกคือฮอร์โมนที่เราพูดถึงกันไปแล้วข้างต้น ปัจจัยต่อมาคือวัฒนธรรม ซึ่งโนเรนกล่าวว่า เราไม่อาจแยกความรักและเซ็กซ์ออกจากกันได้ผ่านการนำเสนอของสื่อที่มักนำเสนอว่า เซ็กซ์เป็นส่วนหนึ่งของความรักอยู่เสมอ
ปัจจัยสุดท้ายคือเซ็กซ์ก่อให้เกิดความผูกพันทางจิตวิทยา เพราะเซ็กซ์ไม่ใช่แค่เซ็กซ์ แต่ในแง่หนึ่งมันถือเป็นเครื่องมือด้วย “เซ็กซ์หยิบยื่นวิธีที่จะเชื่อมต่อเราเข้ากับคนอีกคน ก่อนจะช่วยให้เราพบกับความใกล้ชิดทางความรู้สึก” ฉะนั้น ในบางแง่มุม การมีเซ็กซ์และการสัมผัสของเรานั้น จึงทำหน้าที่คล้ายกับบทสนทนาของคู่รักที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยคำพูด
เซ็กซ์ดีขึ้นได้ผ่านการสื่อสาร
จากที่เล่ามาข้างต้น เราพอจะวาดภาพความเชื่อมโยงระหว่างเซ็กซ์กับความรักได้ แต่ว่าจะทำอย่างไร หากเรารู้สึกว่ากำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรักดี แต่มีเซ็กซ์ไม่ดี? ดังนั้น การสื่อสารนั่นเองคือหนึ่งในคำตอบ ซึ่งพบได้จากงานวิจัย Couples’ sexual communication and dimensions of sexual function: A meta-analysis นำโดยแอเลน แมลอรี่ (Allen Mallory) นักวิจัยจากคณะพัฒนาการมนุษย์และวิทยาศาสตร์ครอบครัว มหาวิทยาลัยเท็กซัส
งานวิจัยนี้เล็งวิเคราะห์ผลกระทบของการสื่อสารเกี่ยวกับเซ็กซ์ระหว่างคู่รัก ต่อประสบการณ์การมีเพศสัมพันธ์ของคู่รักเหล่านั้น พบว่าการสื่อสารเกี่ยวกับเซ็กซ์ มีความเชื่อมโยงในแง่บวกต่อความปรารถนาทางเพศ การมีอารมณ์ทางเพศ การหล่อลื่น การถึงจุดสุดยอด การแข็งตัวของอวัยวะเพศ และการลดความเจ็บปวดในการมีเซ็กซ์ ผลดังกล่าววาดภาพชัดเจนว่า คู่รักที่พูดคุยเรื่องนี้กันอย่างเปิดเผย มีโอกาสที่จะมีประสบการณ์ทางเพศที่ดีกว่าคู่รักที่ไม่พูดคุย และจากที่เราบอกไปทั้งหมดในข้างต้น ก็อาจมีความเชื่อมต่อกันทางความรู้สึกมากกว่าอีกด้วย ความรัก เซ็กซ์ และการสื่อสาร ทั้งหมดนี้จึงเชื่อมโยงกันและกัน
การสื่อสารที่ดีจะนำไปสู่เซ็กซ์ที่เติมเต็มกัน
และเซ็กซ์ที่เติมเต็มกันจะนำไปสู่การสร้างความผูกพัน
ทั้งหมดนี้ถูกเชื่อมโยงและผูกอยู่ด้วยกัน จึงไม่แปลกเลยที่ความสัมพันธ์ของเราไม่ว่าจะแบบใดก็ตาม ช่างมึนงงและซับซ้อนเสียเหลือเกิน นอกจากนั้น ยังไม่มีคำตอบครอบจักรวาลที่เราจะพูดได้ว่า ทำแบบนั้นแล้วทุกอย่างจะโอเค เพราะเราทุกคนล้วนแตกต่างกัน เรามีความต้องการและข้อตกลงที่ไม่เหมือนกันในความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนที่ทำให้ทุกอย่างถือเป็นเรื่องของแต่ละคู่ ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดในการมีความสัมพันธ์ เพราะไม่มีใครรู้เรื่องของเราดีไปกว่าตัวของเราเอง
ไม่ว่าจะเป็นการเผลอรักใครสักคนที่เราตั้งใจจะไม่รัก หรือการติดหล่มกับความสัมพันธ์ที่เซ็กซ์ไม่เติมเต็มกันและกัน การสื่อสารจึงสามารถเป็นก้าวแรกที่จะพาให้อะไรหลายๆ อย่างเข้าที่เข้าทางได้
อ้างอิงจาก