คุณเคยรู้สึกแพ้ในความรักความสัมพันธ์ไหม? การรู้สึกแพ้อาจจะหมายถึงการไม่ได้ความรักตอบ การไม่ถูกเลือก หรือการรู้สึกว่าถูกรักน้อยกว่าใครอีกคน
การมีผู้แพ้และมีผู้ชนะ แปลว่าในความสัมพันธ์นั้น เราเองอาจจะมองว่าความรักมีลักษณะเป็นเกมอย่างหนึ่ง ซึ่งอันที่จริงก็เป็นความคิดที่เป็นสากลอยู่เหมือนกัน เรามีการเปรียบความรักเป็นเหมือนเกมที่มีการวางหมาก มีการต่อสู้แข่งขัน และหลายครั้งที่เรารู้สึกว่าเกมที่เราพยายามเล่นอยู่นั้นมันช่างไม่ยุติธรรมซะเลย
เกมที่มีผู้แพ้ชนะนั้น ถ้าพูดอย่างเฉพาะเจาะจงก็น่าจะพอนิยามได้ว่า เป็นเกมแบบ zero-sum game คือเป็นเกมหรือการแข่งขันที่มีได้มีเสีย และมีคนได้กำไรจากการลงอะไรบางอย่างในเกมนั้น และมีคนที่เสียผลประโยชน์—ถ้าเป็นความรักก็อาจจะเป็นความรู้สึก ซึ่งการได้คือการได้ทั้งหมด และการเสียคือการเสียทั้งหมด ฟังดูร้าว และความรักอันหมายถึงความรักโรแมนติกก็ฟังดูจะเป็นแบบนั้น โดยความคิดเรื่องเกมในทำนองของการแบ่งสันผลประโยชน์ก็มาจากการที่เราอยู่ในโลกแบบทุนนิยม ที่เราต่างเข้าใจถึงความจำกัดของสิ่งต่างๆ รวมถึงความรักด้วย ความจำกัดที่ทำให้ในที่สุดโลกของเกมและการลงทุนไม่สามารถชนะกันได้ทุกคน
อันที่จริง ถ้าเราพูดอย่างอุดมคติ ความรักไม่น่าจะใช่ zero-sum game ซะทีเดียว เพราะถ้าเราเผลอเอาความรู้สึกไปเปรียบกับทรัพยากร เราอาจจะรักได้อย่างไม่ได้จำกัด ทั้งยังกะประมาณการแลกเปลี่ยน หรือใช้หมดไป—คือเอาความรักไปลงจนเราหมดตัว—ก็คงไม่ได้ขนาดนั้น แต่ทว่า ถ้าเรามองว่าการเดท คือ การก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์แบบโรแมนติก การเดทอาจจะมีลักษณะเป็นเกมที่เรายอมเสี่ยงเอาหัวใจของเราเข้าแลกเพื่อให้ได้ความรู้สึกกลับคืนมาบ้าง
ความสัมพันธ์แบบแพ้ชนะ
เราอยู่ในโลกทุนนิยม ในเชิงทฤษฎี โลกทุนนิยมทำให้เรามองโลกด้วยมุมมองแบบทุนนิยม ดังนั้น ไม่แปลกที่เราจะคิดเรื่องการแข่งขัน การคิดว่าเราได้หรือเสียอะไรไป ใครคือคนที่ชนะหรือพ่ายแพ้โดยแม้ในส่วนที่ละเอียดอ่อนที่สุดในเรื่องความรักความสัมพันธ์ เราเองก็อาจจะเผลอใช้วิธีคิดของทุนนิยมเข้าไปกะประมาณซึ่งอันที่จริง ในมิติของความสัมพันธ์ คือ ถ้าเรารักกันแล้ว เป็นคนรักหรือกระทั่งเป็นครอบครัวเดียวกัน ในเชิงจิตวิทยาก็มีบ้างที่ในความสัมพันธ์นั้นๆ จะกลายเป็นความสัมพันธ์แบบ zero-sum game
ประเด็นเรื่องการแพ้ชนะในความสัมพันธ์ก็มีหลายแง่ บางความสัมพันธ์อาจจะกลายเป็นเกมที่หาคนแพ้หรือคนชนะด้วยการดูว่าใครผิดใครถูกมากกว่า ในบางระดับเช่นครอบครัว เราอาจจะปัญหาเรื่องทรัพยากรอื่นๆ เช่นเวลาหรือการให้สิ่งต่างๆ ทำให้เราเริ่มรู้สึกว่ามีการรักคนอื่นมากกว่าและนำไปสู่การเห็นว่าความรักนั้นเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างหนึ่ง
ความรักในฐานะทรัพยากร และโลกของการลงทุนหัวใจ
ในแง่นี้ ความรักหรือความรู้สึกจึงเริ่มถูกโยงเข้ากับมิติของทรัพยากรอื่นๆ ที่อาจจะอยู่รอบๆ และมองว่าความรักนั้นไปสัมพันธ์กับการใช้หรือให้ไป เช่น การให้เวลา ใช้เงิน และที่สำคัญคือการให้ความรู้สึกลงไป การที่ความรักเริ่มเป็นเกมที่มีคนแพ้ก็เลยเริ่มชัดเจนขึ้น เพราะเราเริ่มประเมินการลงทุนของเราลงไป และเราเริ่มคิดคำนวนถึงผลตอบแทน หรือการคาดหวังที่อีกฝ่ายจะรักเราตอบอย่างเท่าเทียมไปกับสิ่งที่เราให้ลงไป
พออรรถาธิบายออกมาอย่างเป็นระบบ เราก็จะพอเห็นว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ความรักมันไม่เชิงว่าจะเป็นการกะประมาณ การไปคิดคำนึงและคิดคำนวนว่า เออ เราให้เวลาให้ใจไปเท่านั้นเท่านี้ แล้ว ทำไมอีกฝ่ายถึงไม่ตอบกับมาอย่างเสมอกัน ในแง่หนึ่งระบบการแลกเปลี่ยนของความรักและรู้สึกแน่นอนว่ามันไม่มีค่ากลาง ไม่มีการค้ำประกันที่มันชัดเจนไปจนถึงไม่มีการระบุสัญญาที่จะผูกพันต่อกันได้อย่างแน่นอนตายตัว
อันที่จริงการเข้าแลกเปลี่ยนสัมพันธ์กันในมิติของความรักความสัมพันธ์ มันก็อาจจะทำให้เราเห็นว่าวิธีคิดแบบทุนนิยมมันอาจจะไม่เวิร์ก และมันก็อาจจะไม่ยุติธรรม มันไม่ใช่ระบบแลกเปลี่ยนที่แน่นอนตายตัว และเราเรียนรู้ที่จะแพ้มากกว่าจะชนะ แต่ในแง่ของความรัก การมองเห็นเรื่องการแลกเปลี่ยนที่ไม่เท่าเทียมอาจจะนำไปสู่ความเข้าใจที่สวยงามขึ้น ตำราเรื่องการใช้ชีวิตส่วนใหญ่หรือนักคิดก็จะพูดถึงการเรียนรู้ที่จะให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ความรักในฐานะความปรารถนาดี
ก่อนจะไปสู่ความรัก ขั้นเดทอาจจะเป็นเกมขั้นหนึ่ง
อันที่จริงคำว่าความรักที่เราจะเข้าใจ ไม่รู้สึกเสีย ไม่เจ็บปวด มีความรักให้ไม่จำกัดนั้นเป็นปลายทางที่แสนไกลสำหรับปุถุชนแบบเรา ยิ่งถ้าเป็นขั้นตอนก่อนที่จะความสัมพันธ์ต่อกัน ในขั้นตอนของการเดท อันที่จริงขั้นเดทก็อาจจะนับว่ามีลักษณะเป็นเกมอย่างหนึ่ง ไม่เชิงว่าเป็นการเล่นเกม แต่ในการทำความรู้จัก เราเองก็ต้องมีการบริหารจัดการ มีการวางหมากบางอย่างเพื่อทำให้เกิดเงื่อนไขที่ต่อการสร้างความสัมพันธ์ต่อไป
เบื้องต้นที่สุด ในการเดทเราเองก็รู้กันโดยนัยว่า มันคือการแข่งขันแบบหนึ่ง ที่เราเองน่าจะอยู่ในหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันที่กำลังสร้างความประทับใจและก้าวไปสู่สถานะความสัมพันธ์ต่อไป ขั้นเดทนี้บางคนก็เปรียบว่าเป็นเกมในทำนองโป๊กเกอร์ คือมีการลงเดิมพันบางอย่าง และมีขั้นตอนการเผยไต๋ ทิ้งไพ่ วางหมากเพื่อที่จะเอาชนะใจ (และเอาชนะคู่แข่งคนอื่นๆ) ได้ หลายครั้งเราเองก็ต้องเลือกระหว่างการโดดเข้าใส่ การวางเดิมพันสูงขึ้นเพื่อหวังว่าจะได้ผลหรือสถานการณ์ที่ก้าวไปข้างหน้า ยอมออกจากจุดที่เรารู้สึกปลอดภัยและยอมเสี่ยงมากขึ้น ลงใจไปมากขึ้น
ตรงนี้อาจจะทำให้เราเริ่มมองเห็นการแพ้ชนะเป็นปลายทางที่ชัดขึ้น เวลาที่เราอยู่ในการเดท หลายครั้งที่เราอยู่ในจุดว่าเราจะเทความรู้สึกลงไปในความสัมพันธ์นี้เพิ่มขึ้นดีไหม ปลายทางจะได้ผลไหม อันที่จริงการลงความรู้สึกในที่นี้ก็อาจจะไม่เชิงเป็นการคาดหวังกำไรหรืออยากจะชนะ แต่มันคือการที่เราป้องกันตัวเองจากความรู้สึกเจ็บปวดที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หลายครั้งที่เราเริ่มรู้สึกว่าถ้าเรารู้สึกมากกว่า ลงทุนไปมากกว่า แต่ถ้าไม่ลง ก็ย่อมไม่เกิดดอกผล หรือบางทีเราเองอาจจะลงความรู้สึกไปมาก แต่ทำท่าเหมือนไม่ได้รู้สึกรู้สามากนักเพื่อป้องกันตัว
อันที่จริง แม้ว่าเราจะบอกว่าในการสานสัมพันธ์มันมีกลยุทธ์ มีขั้นตอนแต่เอาเข้าจริง หลายครั้งที่เรื่องของหัวใจ ก็จัดการได้ยากเนอะ ถ้าจะเผลอเอาใจให้ไป บางทีเราเองก็ไม่ได้ตัดสินใจเอง แต่หัวใจเราเลือกที่จะไปเอง
หลายครั้งในความสัมพันธ์เลยเป็นเรื่องของการยอมรับความเสี่ยง การก้าวไปสู่พื้นที่ที่เราไม่แน่ใจ ไม่แน่ใจถึงผล ถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย และอันที่จริงเป็นสัจธรรมที่เราเองรู้อยู่แก่ใจว่า ในโลกของความสัมพันธ์ โอกาสที่ความสัมพันธ์จะนำไปสู่ชัยชนะที่ไม่ใช่ zero-sum game คือชนะทั้งสองฝ่ายก็อาจจะเป็นจังหวะที่ไม่เกิดขึ้นง่ายนัก การลงทุนลงใจของเราจึงมักเป็นการแทงเผื่อเสียเหมือนการแทงหวย ที่เราเองก็อาจจะสนุกไปกับการได้ลุ้น และเรียนรู้ที่จะเสียหรือแพ้อย่างยิ้มร่าและน้ำตาตกใน
มีคำพูดคมๆ ที่มักจะใช้เตือนใจนักพนันและนักลงทุนในโลกของความรัก ว่า เราเองก็มักจะเป็นคนแพ้ในโลกของความรักเสมอ
และเรายอมรับสถานะคนแพ้ด้วยความภาคภูมิใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon