เวลาเดินข้างถนน ขึ้นรถไฟฟ้า หรือนั่งร้านกาแฟ เคยรู้สึกเหมือนว่าเราเป็นตัวเอกในภาพยนตร์หรือหนังสือสักเรื่องบ้างมั้ย? คล้ายกับมีกล้องคอยตามติด มีซาวด์แทร็กประกอบชีวิตทุกอิริยาบท หรือรู้สึกเหมือนเราคือผู้กำหนดว่าเส้นเรื่องทั้งหมดจะเป็นยังไงต่อ อย่างที่เขาพูดกันว่า “โลกคือละคร” ไม่แปลกถ้าบางครั้งเราจะคิดว่าการใช้ชีวิต ก็เหมือนกับการรับบทเป็นตัวเอกในเรื่องราวของตัวเราเอง แต่แล้วปัญหามันอยู่ตรงไหนนะ?
หลายคนคงเคยดูภาพยนตร์ชื่อดังเมื่อปีค.ศ. 1998 เรื่อง The Truman Show แล้วเห็นด้วยกับไอเดียที่ว่าเราอาจจะเป็นตัวเอกในภาพยนตร์หรือรายการโชว์อะไรสักอย่าง ซึ่งตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นพ้องต้องกันว่า อาการ ความคิด หรือพฤติกรรมนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพียงแต่มี ‘โซเชียลมีเดีย’ เข้ามาช่วยสนับสนุนมากขึ้น โดยเราเรียกอาการนี้อย่างเข้าใจง่ายว่า Main Character Syndrome / Protagonist Syndrome หรือ ‘อาการของตัวละครหลัก’ นั่นเอง
ไมเคิล เวตเตอร์ (Michael Wetter) นักจิตวิทยา อธิบายว่า main character syndrome คือผลที่ตามมาจาก ‘ความปรารถนาตามธรรมชาติของมนุษย์’ ที่อยากจะได้รับ ‘การยอมรับ’ หรือเป็นหนึ่งเดียวกับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิด ‘การโฆษณาจุดเด่นของตนเอง’ (self-promotion) ในทันที
อาการโดยทั่วไปของ main character syndrome ก็คือการคิดว่าตนเองคือตัวละครหลักในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มีสุทรียศาสตร์ จะเดินไปไหน จะทำอะไร ก็คิดว่ากำลังอยู่ในภาพยนตร์ที่มีคนกำลังดูอยู่ ส่วนคนอื่นๆ รอบข้างก็กลายตัวประกอบหรือเอ็กซ์ตราที่เข้ามาสนับสนุนเรื่องราวของเราเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญยังระบุอีกว่า อาการนี้มักจะพบในคนรุ่น Gen Z ที่เติบโตมาพร้อมกับโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะแอปพลิเคชัน TikTok ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในช่วงโรคระบาดใหญ่ ซึ่งปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา ผู้ใช้งานคนหนึ่งเริ่มนำเทรนด์ให้ผู้คน ‘โรแมนติไซส์’ ชีวิตของตนเอง โดยเธอโพสต์วิดีโอที่มี mood แบบหนังฟิล์มสวยๆ และใช้เสียงโทน low-fi เพื่อที่จะกล่าวว่า “คุณต้องเริ่มคิดว่าตัวเองเป็นตัวละครหลักได้แล้วนะ ไม่เช่นนั้นชีวิตจะล่วงเลยผ่านไปแบบเฉยๆ”
ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องเสียหายที่เราจะทำให้ชีวิตของเราดูโรแมนติกบ้าง แต่ ชุนกู ฮิลดา มากาดซาห์ (Shungu Hilda M’gadzah) หัวหน้านักจิตวิทยาการปรึกษาที่ Inclusion Psychologists Limited กล่าวว่า อาการนี้อาจมีผลกระทบที่รุนแรงแตกต่างกันไป หากร้ายแรงมากก็จะส่งผลให้คนคนนั้นสูญเสียการสัมผัสหรือการรับรู้โลกความจริง และถูกกลืนกินไปกับโลกที่พวกเขาสร้างขึ้นแทน
“เป็นเรื่องปกติที่วัยรุ่นจะรู้สึกอยากหนีจากโลกความจริงของตนเองอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โรคระบาดหรือความกดดันจากสังคมก็ตาม ซึ่งโซเชียลมีเดียก็ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้พวกเขาหลบหนีจากความจริงเหล่านั้นได้สำเร็จ แต่อาจจะทำให้พวกเขามีการสร้างตัวเองขึ้นมาแบบไม่จบสิ้น” ซุนกูอธิบาย
การหลบหนีจากความจริงชั่วคราวอาจมีประโยชน์ในการเสริมสร้างความพึงพอใจในกับชีวิต ทำให้เรารู้สึกมีพลังหรือความมั่นใจในตนเองมากขึ้น แต่หากมากเกินไปก็มีแนวโน้มที่จะเกิดความอันตราย เพราะไม่เพียงแต่เราจะหลงลืมโลกความจริงเท่านั้น เราอาจจะหมกมุ่นอยู่กับตนเองจนคิดว่าเราคือ ‘ศูนย์กลางของโลก’ เลยก็ได้ ซึ่งในทางจิตวิทยาเรียกว่า Self-centered อธิบายถึงคนที่เอาตัวเองเป็นหลัก เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และไม่แคร์คนรอบข้าง ไปจนถึงอาจคาบเกี่ยวกับอาการทางจิตอื่นๆ เช่น ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) หรือความผิดปกติอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการหลงผิด
แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าตอนนี้เราแค่อยากสร้างความพึงพอใจให้กับชีวิต หรือเรากำลังเข้าข่าย main character syndrome จนสถาปนาว่าตนเองคือศูนย์กลางของโลกเข้าแล้ว? มีวิธีสังเกตง่ายๆ ก็คือ เรามองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเราหรือปัญหาของเรามากไปหรือเปล่า? เพราะหากเรามีอาการของตัวละครหลัก แน่นอนว่าเราจะต้องสวมบทบาทหรือแสดงพลังของตัวละครหลักออกมาบ้าง นั่นก็คือการเป็นผู้นำหรือกำหนดเรื่องราวต่างๆ เพียงคนเดียว ทุกคนจะต้องฟังฉัน เข้าใจฉัน ช่วยเหลือฉัน คอยสนับสนุนให้เรื่องราวของฉันดำเนินไปอย่างราบรื่น และเราจะมีพื้นที่รับฟังเรื่องราวของผู้อื่นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากมองว่าพวกเขาไม่ใช่ตัวละครที่สำคัญอะไร
นอกจากนี้ ลองสังเกตว่าเราตีกรอบชีวิตมากไปหรือเปล่า? เนื่องจากเราพยายามควบคุมให้ทุกอย่างเป็นไปตามโลกที่เราสร้างขึ้น หรือตามเส้นเรื่องของภาพยนตร์ที่เราคิดว่าตัวเองเล่นเป็นตัวละครหลัก ซินเธีย แคตชิงส์ (Cynthia Catchings) นักจิตบำบัด กล่าวว่า คนที่มีอาการของตัวละครหลักมักจะอัพโหลดรูปภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง มีการจัดการข้อมูลส่วนตัวของตนเองบนโลกออนไลน์อย่างระมัดระวัง (ไม่ใช่ในแง่ของความปลอดภัย แต่เป็นในแง่ของภาพลักษณ์มากกว่า) เพื่อสะท้อนให้คนอื่นเห็นว่าตนเองเป็นคนแบบไหน ซึ่งความเสี่ยงก็คือเราอาจจะควบคุมภาพลักษณ์ของตนเองมากเกินไป จนตำหนิใครก็ตามที่เข้ามาแสดงสิ่งที่ขัดแย้งกับเรา หรือบางครั้งก็ถึงขึ้นตัดผู้คนออกจากชีวิตไปเลย เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามภาพลักษณ์ที่เราต้องการ
ต้องย้ำอีกครั้งว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร หากเราจะมองชีวิตของตนเองให้เป็นเรื่องสวยงามบ้าง ยิ่งอยู่ในสภาพแวดล้อม สังคม หรือประเทศที่ยากจะหาความโรแมนติก เราอาจจะต้องพึ่งพาจินตนาการเพื่อให้ชีวิตเราดูน่าพึงพอใจมากขึ้น และการมีอาการนี้ในปริมาณที่พอเหมาะ ก็ช่วยทำให้เราค้นหาด้านดีๆ ในชีวิตเจอ และอยากที่จะเป็น better version ของตนเอง
แต่สุดท้ายแล้ว เราจะต้องกลับมาแก้ไขปัญหาในโลกความเป็นจริงอยู่วันยังค่ำ หากเราแยกแยะไม่ได้ว่าเรากำลังเป็นใคร อยู่ในโลกแบบไหน เพราะบางครั้งหากเราอยู่ในอาการของตัวละครหลักมากไป เราจะเลือกไม่แก้ไขปัญหานั้นเพราะมองว่ามันคือส่วนหนึ่งของการเติบโตของตัวละครหลัก จนท้ายที่สุดปัญหานั้นนำมาสู่สถานการณ์ที่ยากจะแก้ไข และกระทบต่อความสัมพันธ์ในโลกความเป็นจริง
“Live in the moment” จึงเป็นสิ่งที่ควรตระหนักหรือบอกตนเองอยู่เสมอ หากใครที่รู้ตัวว่าตนเองกำลังเข้าข่าย main character syndrome ลองละตัวเองออกมาจากโซเชียลมีเดียดูสักพัก และอยู่กับปัจจุบันให้มากขึ้น อาจจะออกไปเดินเล่นข้างนอกหรือหากิจกรรมอะไรที่ทำให้เราหลุดออกจากการหมกมุ่นเรื่องตนเองสักพัก จนความคิดที่ว่ามีกล้องคอยติดตามหรือมีผู้ชมกำลังดูเราหายไป เพราะในโลกของความเป็นจริงไม่มีใครสนใจหรือคอยมองเราตลอดเวลา นอกเสียจากคนๆ นั้นจะเป็นสตอล์กเกอร์ ซึ่งถ้ามีจริงคงต้องรีบไปลงบันทึกประจำวันแทน
ที่สำคัญ อย่าลืม ‘ตระหนักรู้ในตนเอง’ หรือมี Self-awareness อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากอาการนี้อาจทำให้เราหลงลืมตัวตน หรือโมเมนต์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง การเพิ่มการตระหนักรู้ในตนเอง เช่น ฉันกำลังคิดอะไร กำลังทำอะไร ต้องการอะไร ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรฝึกบ่อยๆ อาจจะฝึกด้วยการทำสมาธิ จดบันทึก พูดคุยกับตนเอง หรือขอความเห็นจากคนรอบข้างที่ไว้ใจก็ได้ เพื่อให้เรามองเห็นสัญญาณของ main character syndrome มากขึ้น และแก้ไขได้อย่างทันเวลา
และการตระหนักถึงความจริงที่ว่า โลกทุกวันนี้ทุกคนจดจ่อหรือสนใจปัญหาของตนเองมากเกินกว่าจะสนใจเรื่องคนอื่นตลอดเวลา ก็อาจช่วยเรียกสติเราให้มีความคิดว่าตนเองเป็นตัวละครหลักในปริมาณที่พอเหมาะพอดีได้
อ้างอิงข้อมูลจาก