พูดถึงเครื่องดื่มประจำหน้าร้อนทุกคนนึกถึงอะไรกัน?
สำหรับคนไทยคงนึกถึงน้ำแข็งไสเย็นๆ หรือน้ำหวานสีแดง แต่สำหรับคนญี่ปุ่น เมนูที่ขึ้นชื่อหน้าร้อนอันดับแรกๆ คงเป็นเมล่อนครีมโซดา น้ำหวานซาบซ่าสีเขียวมรกตในแก้วทรงสูง โปะด้วยไอศกรีมวานิลลา วางเชอร์รี่ด้านบนแบบพอดี เมนูประจำในร้านกาแฟญี่ปุ่น แถมยังได้ปรากฏบนสื่อและอยู่ในป๊อปคัลเจอร์ตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ จนใครๆ ก็ยกให้เป็นเครื่องดื่มไอคอนิกประจำหน้าร้อน
ทุกวันนี้ไม่ว่าใครก็สามารถลิ้มรสเมล่อนครีมโซดาได้ง่ายๆ หากไม่เข้าไปดื่มที่คาเฟ่ของญี่ปุ่น ก็อาจพบเจอรสชาติได้ในขนมหลากชนิด หรือจะทำเองที่บ้านก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะวัตถุดิบทั้งหมดก็หาซื้อได้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป แต่ใครจะคิดว่าเมนูที่แม้แต่เด็กๆ ก็ดื่มได้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องดื่มสุดหรูหราของญี่ปุ่นมาก่อน แถมยังพบเจอได้เฉพาะที่ญี่ปุ่นเท่านั้นด้วย
เมล่อนครีมโซดา กลายเป็นสัญลักษณ์หน้าร้อนและคาเฟ่ของญี่ปุ่นได้ยังไง เราชวนไปรู้จักที่มาของเมนูนี้ให้มากขึ้นกัน
ความหรูหราของเมล่อนครีมโซดา
ถ้าถามทุกวันนี้เมล่อนครีมโซดากลายเครื่องดื่มที่ทุกคนรู้จักได้ยังไง คงต้องย้อนกลับไปช่วงต้นศตวรรษที่ 19 จุดเริ่มต้นของครีมโซดาครั้งแรก
ในช่วงปี 1850 ที่สหรัฐอเมริกา ได้ประดิษฐ์ตู้กดน้ำอัดลม หรือ ‘โซดาฟาวน์เทน’ แต่ไม่ได้ตั้งอยู่ในร้านขายของชำอย่างที่เราคุ้นเคย แต่ถือกำเนิดในร้านขายยยา ด้วยการผสมไซรัปหรือน้ำตาลกับโซดา เพื่อใช้ในการรักษาอาการปวดหัว เพราะในเครื่องดื่มจะมีคาเฟอีนและโคเคนที่ช่วยระงับอาการได้ (ไม่ต้องตกใจไป เพราะก่อนปี 1914 โคเคนนี้ยังเป็นสิ่งถูกกฎหมายอยู่)
ไม่ว่าใครๆ ก็ชื่นชอบน้ำหวานซาบซ่า แถมช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ดังนั้นในปี 1874 จากร้านขายยาก็ค่อยๆ ตกแต่งให้ดูหรูหราขึ้น มีเมนูใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา หนึ่งในนั้นคือครีมโซดา เมนูที่ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่เพิ่มไอศกรีม 1 สกู๊ปโปะลงไปบนน้ำโซดารสหวานเท่านั้น เครื่องดื่มนี้ไปโดนใจหมู่วัยรุ่นเข้าอย่างจัง จนทำให้มีตู้กดน้ำอัดลมตั้งขายไปทั่วประเทศอเมริกา
จนในปี 1902 ฝั่งญี่ปุ่นเองก็ไม่น้อยหน้า ความนิยมตู้กดเครื่องดื่มจากอเมริกาได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับ ฟุคุฮาระ อาริโนบุ (Fukuhara Arinobu) ผู้ก่อตั้งร้านขายยา ชิเซโด (Shiseido) เจ้าของเดียวกับแบรนด์เครื่องสำอางสุดหรูในปัจจุบัน เขานำเข้าเครื่องทำโซดา ไซรัป แก้ว ช้อน หลอด เปิดโซดาฟาวน์เทน ที่ร้านขายยาชิเซโด ย่านกินซ่า
สิ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับหลายๆ คนทันที นอกจากจะเป็นเครื่องดื่มแปลกตา กับรสชาติไอศกรีมหลากรสแล้ว ที่สำคัญยังราคาแพงเกินเอื้อมอีกด้วย เพราะในยุคที่ขนมปังถั่วแดง 1 ชิ้น ราคาแค่ 100 เยน แต่เครื่องดื่มนี้ 1 แก้ว กลับมีราคาถึง 2500 เยน ดังนั้นครีมโซดาจึงกลายเป็นของหรูหราไปโดยปริยาย
ความหรูหราไม่ได้มาจากการนำเข้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่ย้อนกลับในปี 1960 แม้จะเป็นช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คนญี่ปุ่นเริ่มมีเงินเยอะขึ้น แต่ข้าวของบางอย่างก็ยังมีราคาแพงมากอยู่ดี เช่น ตู้เย็นที่มีช่องแช่แข็งถือเป็นของราคาแพง ที่ไม่ได้มีทุกบ้าน การกินไอศกรีมที่บ้านจึงแทบเป็นไปไม่ได้
นอกจากนี้เมล่อน ที่ปัจจุบันกลายเป็นรสชาติยอดนิยมของครีมโซดา ก็ถูกมองว่าเป็นของชนชั้นสูงเช่นกัน ด้วยความราคาแพง คิดเป็น 1 ใน 4 ของเงินเดือนโดยเฉลี่ยพนักงาน เพราะเป็นผลไม้ที่นำเข้ามาจากยุโรป การเพาะปลูกต้องอาศัยความพิถีพิถันอย่างมาก แต่เพราะความหวานฉ่ำ สีสันสดใสมีชีวิตชีวา เหมาะกับช่วงแดดจ้า เลยทำให้เมล่อนจึงกลายเป็นผลไม้ประจำฤดูร้อนที่คนญี่ปุ่นหลงรัก
ด้วยเหตุนี้เองเมล่อนครีมโซดา จึงเหมือนการรวม 2 ความหรูหราเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งเมล่อนและไอศกรีม แถมส่วนผสมทั้งหมดยังเป็นช่วยคลายร้อน เหมาะกับวันที่อุณหภูมิสูงอย่างมาก จึงไม่แปลกที่เมล่อนครีมโซดาจะได้รับความนิยมตามร้านกาแฟ หรือ คิสสะเตน (kissaten) ที่ไม่ว่าใครก็อยากลิ้มลองเมนูนี้กันสักครั้ง เพราะไม่ได้เป็นเมนูที่ทำเองได้ง่ายๆ นี่นา
เมนูยอดฮิตประจำร้านคิสสะเตน
ทุกวันนี้เมล่อนครีมโซดากลายเป็นเครื่องดื่มที่ผู้ใหญ่ชาวญี่ปุ่นรู้สึกผูกพันมาก เพราะตอนเด็กๆ หลายคน มักมีความทรงจำแสนอบอุ่นกับเมนูนี้
นับตั้งแต่ช่วงฟื้นฟูประเทศหลังสงครามเป็นต้นมา ความนิยมของคิสสะเตนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคิสสะเตน แต่เดิมหมายถึงร้านน้ำชา มาจากตัวคันจิ 3 ตัวที่แปลว่า ‘บริโภค ชา และร้านค้า’ เกิดขึ้นมาในยุคที่ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลการดื่มชาจากจีน แต่ต่อมาความหมายของคำนี้ก็กว้างขึ้น รวมไปถึงเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น กาแฟ และน้ำผลไม้ด้วย
แม้จะดูเผินๆ จะคล้ายกับคาเฟ่ แต่อันที่จริงก็มีความแตกต่างอยู่บ้างในเรื่องของบรรยากาศ และวิธีการให้บริการ เช่น คิสสะเตนส่วนใหญ่มักตกแต่งในแนวเรโทรแบบอบอุ่น ยุค 80 (นึกภาพง่ายๆ คงเทียบได้กับร้านกาแฟโบราณบ้านเรา) ในร้านเสิร์ฟเครื่องดื่มและอาหารง่ายๆ ไม่มีแอลกอฮอลล์ เมนูประจำร้านที่เห็นได้บ่อยๆ เช่น นโปลิตัน ข้าวห่อไข่ ข้าวแกงกระหรี่ พุดดิ้ง และแพนเค้ก ส่วนเครื่องดื่ม นอกจากชาและกาแฟแล้ว ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือเมล่อนครีมโซดานั่นเอง
นั่นเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเรามักเห็นเมล่อนครีมโซดาในคิสสะเตนเกือบทุกที่ เมื่อเห็นร้านกาแฟบรรยากาศย้อนยุคเมื่อไหร่ ภาพโซดาสีเขียวสดใสตัดกับไอศกรีมสีขาวก็ลอยขึ้นมาทันที กลายเป็นเมนูที่คนญี่ปุ่นหลงรักจนถึงกับมีไกด์บุ๊กรวมคิสสะเตนที่มีเมนูเมล่อนครีมโซดาเลยทีเดียว
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เมื่อเห็นเมล่อนครีมโซดาทีไร ก็นึกถึงญี่ปุ่นเมื่อนั้น นั่นก็เพราะเป็นเครื่องดื่มที่เห็นเฉพาะในญี่ปุ่น (ในอดีต) เท่านั้น โดยครีมโซดาที่มีจุดเริ่มต้นจากอเมริกา มักหมายถึงเครื่องดื่มที่ใช้โคล่าและรูทเบียร์ แล้วปรุงรสด้วยวานิลลา แต่ไม่ค่อยใช้ไอศกรีม จึงทำให้มีสีน้ำตาลตัดกับขาว ในขณะที่ครีมโซดาของญี่ปุ่น มักหมายถึงใช้น้ำหวานเมล่อน จึงทำให้ได้เครื่องดื่มสีเขียวตัดด้วยขาวของไอศกรีมวานิลลา จะเรียกว่าเป็นเครื่องดื่มญี่ปุ่นยุคใหม่ก็ไม่ผิดนัก
อย่างไรก็ตาม แม้อดีตคิสสะเตนจะเป็นร้านที่ได้รับความนิยมทั่วไป แต่ปัจจุบันร้านคิสสะเตนในบรรยากาศแบบเรโทรก็เริ่มเหลือน้อยลง และทดแทนด้วยร้านคาเฟ่แบบสมัยใหม่แทน ทำให้เมล่อนครีมโซดาไม่ได้เป็นเครื่องดื่มที่ป็อปปูลาร์เท่าเมื่อก่อนอีกแล้ว
แต่ถึงอย่างนั้นเครื่องดื่มสีเขียวสดก็ยังเป็นเมนูในความทรงจำของใครหลายคน การเดินทางอันยาวนานกว่า 100 ปี จึงทำให้เมล่อนครีมโซดากลายเป็นสัญลักษณ์ชวนให้นึกถึงวัยเด็กอันสดใส ในบรรยากาศหน้าร้อน พร้อมรสชาติหวานหอมเจือด้วยความซาบซ่าที่อยู่ในใจของคนญี่ปุ่นเสมอมา
ส่วนหน้าร้อนนี้ถ้าใครอยากได้ไวบ์หน้าร้อนแบบญีปุ่นบ้าง อย่าลืมดื่มเมล่อนครีมโซดาสักแก้วกันนะ
อ้างอิงจาก