ตัวอักษรเพียง 4 ตัว สามารถเล่าอะไรเกี่ยวกับตัวเราได้ขนาดนั้นจริงๆ เหรอ?
คำถามดังกล่าวเข้ามาในหัวของเรา ไม่ว่าเราจะเป็นคนที่เชื่อหรือกังขาต่อการทดสอบลักษณะนิสัย MBTI (Myers–Briggs Type Indicator) ซึ่งเมื่อเราทำแบบสอบถามเกี่ยวกับตัวเราแล้ว ระบบจะจัดเราเข้าไปอยู่ตามหมวดหมู่อักษรทั้ง 4 ตัวที่บอกว่าเราเป็นใคร โดยแต่ละตัวอักษรแทนความต้องการเข้าหาผู้คน วิธีรับรู้ข้อมูล วิธีตัดสินใจ และวิธีใช้ชีวิต
มีเสียงและความคิดเห็นมากมายที่เกี่ยวข้องกับแบบทดสอบ MBTI บางคนมองว่ามันเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้เราเข้าใจตัวเองได้ บางครั้งยังเป็นตัวช่วยที่ทำให้เราสามารถคาดเดาได้ว่า คนคนหนึ่งเป็นคนยังไงก่อนจะทำความรู้จักกับเขา ในขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากก็เรียกมันว่าวิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience) เพราะมันใกล้เคียงกันกับโหราศาสตร์และการดูดวงรูปแบบต่างๆ มากกว่าวิทยาศาสตร์หรือจิตวิทยา
สิ่งที่แปลกเมื่อพูดถึงแบบทดสอบนี้คือ ไม่ว่าเราจะอยู่ในฝั่งไหนของข้อถกเถียง แม้แต่เป็นผู้ที่กังขาก็ตาม อย่างน้อยชิ้นส่วนหนึ่งในตัวของเราอาจเห็นว่า MBTI นั้นก็พูดถูกเกี่ยวกับเราเหมือนกัน แต่ทำไมกัน อะไรทำให้เราแต่ละคนเชื่อในแบบทดสอบที่เชื่อในตัวมันเองสามารถจำแนกคนทั้งโลกเป็น 16 หมวดได้?
เช่นเดียวกับการดูดวง ทายลักษณะนิสัยจากกรุ๊ปเลือด และการใช้พลังจิตอ่านใจ แบบทดสอบลักษณะนิสัยของผู้คนก็อาศัยจุดบอดในความเป็นมนุษย์ ที่มีความบิดเบือนเบี่ยงเบนตรรกะและมุมมองของเราอยู่เสมอ ในกรณีนี้อธิบายได้ด้วยปรากฏการณ์ที่ชื่อว่า Barnum Effect
การทดลองที่นำไปสู่การกำเนิดขึ้นของชื่อปรากฏการณ์อย่าง Barnum Effect ของนักวิจัยชาวอเมริกัน เบอร์แทรม ฟอร์เรอร์ (Bertram Forer) ชื่อว่า The Fallacy of Personal Validation: A Classroom Demonstration of Gullibility เมื่อปี 1948 ฟอร์เรอร์ให้นักศึกษาของเขาทำข้อสอบเกี่ยวกับลักษณะนิสัยของตัวเอง และเมื่อทำเสร็จเรียบร้อยฟอร์เรอร์ก็เก็บข้อสอบเหล่านั้นแล้วแจก ‘ผลทดสอบ’ กลับไปยังนักศึกษาของเขา ด้วยรูปแบบของคำอธิบายลักษณะนิสัยของนักศึกษาแต่ละคน หลังจากนั้นก็ให้นักศึกษาทุกคนให้คะแนนคำอธิบายเหล่านั้นว่าตรงกับพวกเขาขนาดไหน ซึ่งนักศึกษาให้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.26 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนนที่แปลว่าตรงที่สุด
ทว่าทุกอย่างกลับหักมุมตรง ‘ผลทดสอบ’ ที่ฟอร์เรอร์แจกให้นักศึกษานั้น ไม่ใช่การวิเคราะห์คำตอบแยกของแต่ละบุคคลเลย แต่นักศึกษาทุกคนได้รับข้อความเดียวกันหมดไม่ว่าจะทำแบบทดสอบยังไง และที่สำคัญคือสิ่งที่ฟอร์เรอร์นำไปแจก แท้จริงแล้วเป็นหนึ่งในย่อหน้าจากหนังสือดูดวงของร้านขายหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งอีกต่างหาก
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้ยังไง? หากลองดูตัวอย่างของประโยคที่นักศึกษาได้รับอาจจะทำให้เราเริ่มถึงเห็นสาเหตุของมัน เช่น “คุณต้องการอย่างมากที่จะทำให้คนรอบข้างชอบและยกย่อง” “คุณยังไม่ได้ใช้ความสามารถของคุณอย่างเต็มที่ที่สุด” “บางครั้งคุณไม่มั่นใจอย่างมากว่าคุณเลือกอะไรอย่างถูกต้องจริงหรือไม่” “คุณเป็นคนที่มีความคิดเป็นปัจเจกและไม่ยอมรับอะไรจนกว่าจะมีเหตุผลสนับสนุน” “บางครั้งคุณก็เป็น Extrovert เป็นมิตร ชอบเข้าสังคม แต่บางครั้งคุณก็เป็น Introvert ที่กังวลและสุขุม”
ตัวอย่างข้อความข้างต้นเรียกว่า Barnum Statement เป็นข้อความบอกบริบทกว้างๆ ที่คนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการการยอมรับอยู่ลึกๆ นักศึกษาย่อมรู้สึกว่าพวกเขายังมีอะไรอีกมากที่พวกเขาต้องทำ หรือแม้จะโตแล้วก็ยังไม่พอใจในตัวเองเสียที เราทุกคนอาจสงสัยในทางเลือกที่เราไม่ได้เลือก และเราทุกคนก็มีเวลาที่อยากจะพบเจอผู้คนและอยากอยู่คนเดียว ฉะนั้นสิ่งแรกที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวคือการจำกัดคำที่กว้างของคำบรรยายเหล่านั้น
ในปี 1985 มีการศึกษาเรื่อง Barnum Effect เพิ่มเติมชื่อว่า The ‘Barnum Effect’ in Personality Assessment: A Review of the Literature โดยไอแวน เคลลี่ (Ivan Kelly) นักวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยซัสแคตเชวัน ประเทศแคนาดา เป็นงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นถึงอีกส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ปรากฏการณ์ Barnum Effect อย่างน่าสนใจไม่แพ้ความกว้างของคำบรรยาย แต่ท่าทีของคำบรรยายเหล่านั้นเองก็มีผลเช่นกัน
ผู้วิจัยพบว่า หากเทียบสัดส่วนแง่บวกและแง่ลบในข้อความโดยรวม ผู้คนมักเลือกยอมรับคำบรรยายที่อธิบายตัวเองในแง่บวกมากกว่าแง่ลบ เรามักคิดว่าตัวเราเองเป็นคนที่มีความคิดเป็นปัจเจก เรามักจะคิดว่าเรามีการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองเสมอ และเราอยากเชื่อว่าตัวเองเป็นคนที่พยายามที่สุดเท่าที่เราทำได้
‘ความอยากจะเชื่อ’ เป็นส่วนหนึ่งของ Barnum Effect ในหลากหลายการทดลอง และเป็นที่พิสูจน์มาแล้วว่าหากให้ Barnum Statement ชุดเดียวกันแล้วแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นชุดข้อมูลตัวเลข 1-12 อีกกลุ่มหนึ่งแทนตัวเลขเป็นราศีของคนแต่ละคน กลุ่มตัวอย่างที่ได้เลือกจากราศีมักเกิดความลังเลว่าจะเลือกจากราศีของตัวเองมากกว่าคำอธิบายที่ตรงกับตัวเขา
รูปแบบข้อมูล สัดส่วนความบวกลบ และบริบทที่โดนนำเสนอ นั่นคือเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ Barnum Effect แต่อีกส่วนสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เลยคือผู้ที่ให้ข้อมูลพวกนั้น หนึ่งในข้อสรุปของงานวิจัยนี้พบว่าลำดับชั้นอำนาจของผู้ให้ข้อมูลมีผลต่อการเชื่อและไม่เชื่อในข้อมูล และสิ่งนี้เองที่นำไปสู่การถอดรหัสว่าจะทำยังไงผู้ให้ข้อมูลเหล่านี้ ทำให้เรารู้สึกเหมือนว่าเรากำลังถูกอ่านใจอยู่ได้
หมอดูจำนวนหนึ่ง คนทรงบางรูปแบบ และในการทดสอบลักษณะนิสัยบางแห่ง ใช้วิธีที่เราเรียกว่า Cold Reading และ Hot Reading เพื่อทำเหมือนว่าพวกเขารู้อะไรมากกว่าที่จะสามารถรู้ได้ หากเริ่มกันที่ Cold Reading นั่นคือการใช้ Barnum Statement อย่างเต็มที่ผ่านการพูดที่กว้างพอ บิดไปทางไหนก็ได้ ซึ่งจะเหลือช่องว่างให้ผู้ฟังตีความเข้าหาตัวเองได้อย่างมากที่สุด และเมื่อสังเกตจากผลตอบรับของผู้ฟังและคำตอบของพวกเขาแล้ว หมอดูก็จะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับคนคนนั้นมากขึ้น
ในทางกลับกัน Hot Reading คือการใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วของบุคคลบุคคลหนึ่ง เพื่อเป็นฐานสำหรับการคาดเดาที่เกี่ยวกับตัวคนนั้น ตัวอย่างการอ่านใจที่โด่งดังในรูปแบบนี้คือ ปีเตอร์ พ็อปออฟ (Peter Popoff) นักเทศน์ผู้สามารถรู้ได้ทันทีว่ามีเทวดารออยู่ที่บ้านของผู้เข้าร่วมพิธีในโบสถ์ของเขาและยังบอกได้ถึงบ้านเลขที่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หูของพ็อปออฟมีเสียงภรรยาของเขาคอยพูดข้อมูลที่มาจากใบลงทะเบียนเข้างานให้ฟัง
ดูเหมือนว่าการอ่านใจทั้ง 2 แบบไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายเลย แต่หากลองนึกถึงวิธีที่เราใช้ในโซเชียลมีเดียปัจจุบัน จากคำถามที่แบบทดสอบถาม เราอยู่ในโลกที่สามารถหยิบยื่นวัตถุดิบให้คน ‘อ่าน’ เราได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจเรียกได้ว่าแบบทดสอบลักษณะนิสัยเป็นตัวอย่างการอ่านทั้ง 2 แบบที่เราเข้าถึงได้ง่ายที่สุดเลยก็ว่าได้
ยิ่งไปกว่านั้น Barnum Effect ยังอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากกว่าที่คิด เพลย์ลิสต์สำหรับคุณจากสตรีมมิ่งดนตรีเจ้าโปรด หนังที่คุณน่าจะชอบ โพสต์แบบที่คุณต้องเห็น คนที่ชอบเกมแบบคุณซึ่งกำลังเล่นอยู่ การสื่อสารของแบรนด์ที่ดูเข้าอกเข้าใจราวกับว่าเขากำลังคุยกับเราเป็นการส่วนตัว หรือแม้แต่การเจอผู้คนใหม่ๆ Barnum Effect ถูกใช้เพื่อสร้างความรู้สึกส่วนตัวในทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรา สร้างความรู้สึกว่าแบรนด์นี้หรือคนคนนี้ช่างรู้จักและสังเกตเราดีเหลือเกิน
และเมื่อเห็นแล้ว เราแทบจะละสายตาจากมันไม่ได้เลย
อ้างอิงจาก
apsychoserver.psych.arizona.edu