ตัวเลขเป็นสิ่งที่มีความหมายกับเรา นอกจากเรื่องสำคัญเช่นการซื้อหวยแล้ว ตัวเลขเป็นชุดความหมายบางอย่างที่สัมพันธ์กับการให้ความหมายของมนุษย์เราเสมอ แน่นอนเรื่องดวงเป็นตัวอย่างหนึ่ง แต่กรณีของ 4Kings รวมถึงความหงุดหงิดที่จตุรเทพมี 5 คนนั้น ก็สัมพันธ์กับความหมายที่มนุษย์มีต่อตัวเลขด้วยเช่นกัน
ทำไมจตุรเทพต้องมี 4 คน ทำไมเวลาที่เราพูดถึงกลุ่มคนที่ปกครองดูแล หรือสมดุลตัวละครหัวหน้าแก๊งที่คุมพื้นที่ต้องมี 4 คน 4 พื้นที่เหมือนกับทิศ ในทำนองเดียวกันเลขอื่นๆ ก็มีนัยความหมายที่ใกล้เคียงกันแม้ว่าจะมาจากพื้นที่ที่แตกต่างกัน เช่น เลข 3 มักเป็นเลขศักดิ์สิทธิ์ ปรากฏแทบทุกศาสนา ซึ่งหมายถึงความสมดุล, เลข 1 หมายถึงพลังอำนาจ-ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน-วงกลม, เลข 2 หมายถึงการแยกออก-คู่ตรงข้าม, และเลข 4 เองก็หมายถึงความมั่นคง-รากฐาน
ตัวเลขจึงเป็นหนึ่งในชุดความหมายอันสำคัญของมนุษย์ คาร์ล กุสตาฟ ยุง เป็นหนึ่งในนักวิชาการ-นักจิตวิทยาที่สนใจความเป็นสากลและความหมายบางอย่างที่มนุษย์มีร่วมกัน รวมถึงสนใจเรื่องความหมายของระบบตัวเลขอย่างสำคัญด้วย คาร์ล ยุง เป็นนักจิตวิทยาร่วมสมัยที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นลูกศิษย์สายตรงหรือเพื่อนร่วมงานของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ซึ่งยุงนั้นมีรากฐานความคิดและความสนใจคล้ายกับฟอนด์คือสนใจเรื่องจิตใจ แต่ยุงเองได้พัฒนาแนวคิดทางจิตวิทยาโดยขยายจากปมเพศไปสู่มิติทางวัฒนธรรม สัญลักษณ์ และเรื่องเล่าที่ยุงเสนอว่า มนุษย์มีจิตไร้สำนึกร่วม (collective unconscious)
ความเข้าใจเรื่องตัวเลขสัมพันธ์กับกรอบความคิดเรื่อง archetype (แม่แบบ/ต้นแบบ) รวมถึงความหมายของเลข 4 นั้นยุงเองก็พัฒนาไปสู่ทฤษฎีบุคลิกที่ทำความเข้าใจวิธีการรับรู้โลกของจิตใจที่มีกระบวนการรับรู้ 4 รูปแบบคือ การคิด ความรู้สึก ญาณ และผัสสะ โดยกรอบดังกล่าวนั้นก็ถือเป็นรากฐานหนึ่งของทฤษฎีเรื่องบุคลิกภาพที่เน้นการนิยามและแบ่งแยกลักษณะของผู้คนออกเป็นกลุ่มต่างๆ รวมถึงแนวคิดเรื่องอินโทรเวิร์ต-เอ็กซ์โทรเวิร์ตยอดฮิตด้วย
คาร์ล ยุง, ตัวเลข, และแนวคิดเรื่อง archetype
ในระดับจิตวิทยา ฟรอยด์ซึ่งบุกเบิกการกลับเข้าไปสำรวจในจิตใจ พูดเรื่องเพศ เรื่องการห้าม ที่ส่วนหนึ่งนั้นค่อนข้างว่าด้วยมุมของปัจเจกบุคคล แต่ยุงเป็นกึ่งๆ ลูกศิษย์ผู้สนับสนุนของฟอยด์ ยุงสนใจจิตใจของมนุษย์ในระดับที่กว้างขึ้น ยุงกลับสนใจว่าทำไมมนุษย์เราถึงได้มีชุดความหมายบางอย่างที่คล้ายกันในแง่ของจิตสำนึก สิ่งที่ยุงเสนอแล้วค่อนข้างกลายเป็นรากฐานของการศึกษาในเชิงวัฒนธรรมและคติชนวิทยา คือ การเสนอมุมจิตวิทยาที่กว้างขึ้นจากระดับปัจเจก เช่น แนวคิดเรื่อง collective unconscious หมายถึงการที่มนุษย์นั้นมีจิตไร้สำนึกบางอย่างร่วมกัน มีสัญชาติญาณบางอย่างในการรับรู้ ตีความ ให้ความหมายโลกในทำนองเดียวกัน เช่น มองเห็นต้นไม้หมายถึงการเติบโต สายน้ำหมายถึงปัญญา-ความสงบเย็น
จากแนวคิดเรื่องจิตไร้สำนึกร่วม ยุงเลยเสนอแนวคิดที่สำคัญมากคือแนวคิดที่เรียกว่า archetype โดยลงไปศึกษาว่าในจิตไร้สำนึกร่วมของมนุษย์เนี่ย เรามีลักษณะที่เป็น ‘แม่แบบ’ แบบไหนบ้าง เช่น ตัวละครแม่ เรื่องเล่าน้ำท่วม จิ้งจอกตัวโกง รากฐานความคิดเรื่องแม่แบบส่งอิทธิพลในการศึกษาเรื่องระบบสัญลักษณ์ ชุดความหมาย และบางส่วนก็ไปสัมพันธ์กับการวางความคิดเรื่องบุคลิกภาพ ทำนองว่ามนุษย์เราก็มีประเภทที่ต่างกัน นำไปสู่การออกแบบระบบเพื่อส่งเสริมพัฒนาการหรือเข้าใจตัวเองต่อไป ซึ่งยุงเองรวมถึงการจัดระบบในยุคหลังก็ถูกวิจารณ์ว่าอาจจะตายตัวเกินไป เชื่อเรื่องแก่นสารมากไป แต่โดยรวมแล้วก็เป็นรากฐานที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง
ทีนี้ ตัวเลขก็เลยเป็นหนึ่งในระบบสัญลักษณ์ที่แน่นอนว่าสำคัญกับมนุษย์เรา และค่อนข้างมีความเป็นสากล คือ ไม่ว่าวัฒนธรรมไหนก็มีระบบการนับ ยุงเองก็มักจะพูดถึงตัวเลขและความสำคัญของตัวเลข รวมถึงมีโน้ตเฉพาะเกี่ยวกับตัวเลข (Jung’s Note on Number) ยุงมองว่าตัวเลขเป็นอีกหนึ่งระบบความหมายที่สำคัญมาก ไม่ได้มีนัยแค่การนับจำนวนเท่านั้น แต่ตัวเลขต่างๆ มีความเชื่อมโยงกับตัวเลขอื่นๆ ในขณะเดียวกันตัวเลขก็มีความลึกลับบางอย่าง ตัวเลขสำคัญเช่น 0–9 มีความศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงตัวเลขอื่นๆ เช่น 10, 12, 13, 14, 28, 32 ล้วนมีความนัยบางอย่าง
อันที่จริงประเด็นเรื่องตัวเลขในมิติทางจินตนาการที่ถ้าอธิบายแบบยุง คือ อาจจะเป็นจิตไร้สำนึกหรือสัญชาตญาณบางอย่างที่ทำให้เรื่องเล่าทั้งหลายใช้ตัวเลขอย่างเฉพาะเจาะจง ปกรณัมตำนานมักพูดถึงพร 3 ข้อ, ลูกหมู 3 ตัว, ของวิเศษ 3 อย่าง, ทวีป 4 ทวีป, ทิศทั้ง 4, บุตร 7 คน, แมว 9 ชีวิต, หรือจิ้งจอก 9 หาง
ในการวิเคราะห์ตัวเลขเหล่านี้ นักวิชาการก็อธิบายว่าน่าจะมาจากการที่มนุษย์มองและตีความโลก ตัวเลขต่างๆ เป็นตัวแทนจินตนาการของเราที่มีต่อความเป็นไปและสิ่งอันเป็นนามธรรม ตัวเลขสำคัญเช่น 3 มักมีนัยทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นตรีเอกานุภาพ เทพทั้งสามของอียิปต์ คื อไอซิส โอซีริส และฮอร์รัส ตำนานนอสเทพสำคัญล้วนถือครองอาวุธ 3 สิ่ง พร้อมกับโลก 3 แดน คือ นีฟเฟไฮม์ มิดการ์ด และแอสการ์ด และแน่นอนในแถบเอเชียเราก็มีเทพเจ้าทั้ง 3 ของศาสนาพราหมณ์ หรือโลกแบบพุทธก็ประกอบด้วย 3 โลก
เลข 3 ในแง่หนึ่งสัมพันธ์กับการที่มนุษย์ตีความและนิยามช่วงเวลาหรือวงจรของสิ่งต่างๆ อันประกอบด้วยการเกิด การดำรงอยู่และการสิ้นสุดลง เลข 3 หมายถึงการมีบางสิ่งอยู่ตรงกลางระหว่างคู่ตรงข้าม หมายถึงความเคลื่อนไหว การเคลื่อนผ่าน หรืออาจสัมพันธ์กับความสมดุล
ทีนี้ กลับมาที่เลข 4 อันที่จริงเลข 4 อาจจะไม่ได้มีความหมายเท่าเลข เช่น 3, 7, หรือ 9 แต่ว่าเลข 4 เองมีนัยสำคัญ หลักๆ แล้วเลข 4 หมายถึงความมั่นคง หมายถึงรากฐานดังเช่นที่เราเห็นภาพของสี่เหลี่ยมที่นำไปสู่รากฐานของโครงสร้างที่มักประกอบขึ้นด้วยมุม 4 มุม ในทางคริสตศาสนาหมายถึงรากฐานก่อร่างขึ้น เลข 4 หมายถึงตรีเอกานุภาพและพระแม่มารีย์
เลข 4 และตัวตน ฐานความคิดเรื่องจิตใจของ คาร์ล ยุง
แม้ว่าในระดับตำนาน เรื่องเล่า เราอาจจะไม่ค่อยพบเลข 4 บ่อยครั้งเท่าไหร่นัก ทว่าด้วยความที่เลข 4 สัมพันธ์การวางรากฐาน การประกอบขึ้นเป็นโครงสร้างบางอย่าง ประกอบกับยุงเองก็อธิบายว่าตัวเลขนั้นสัมพันธ์กับตัวตน (symbols of the Self) ถ้าเราดูในส่วนทฤษฎีที่เกี่ยวกับจิตใจของยุง ยุงจะเสนอโครงสร้างของจิตใจโดยมีเลข 4 เข้ามาเกี่ยวข้องในหลายแง่ เช่น โครงสร้างจิตใจของยุงที่โด่งดังก็แบ่งเป็นสี่ด้านคือ Persona, Shadow, Anima/Animus, The Self คือพัฒนาจาก Id, Ego และ Superego ของฟรอยด์โดยมีจิตไร้สำนึกร่วมเข้ามาเกี่ยวด้วย
นอกจากทฤษฎีว่าด้วยจิตใจข้างต้นที่พัฒนาโครงสร้างจาก 3 เป็น 4 จากฟรอยด์แล้ว ยุงยังวางรากฐานเกี่ยวกับกรอบคิดเรื่องบุคลิกภาพ คือ ยุงพูดถึงฟังก์ชั่น 4 ประเภทของจิตสำนึก อธิบายไว้ใน ‘Psychological Types’ ว่าจิตใจของมนุษย์เรามีการรับรู้สิ่งต่างๆ ด้วยวิธีการ 4 แบบที่แตกต่างกันคือ การคิด (thinking), การรู้สึก (feeling), ญาณ (intuition), และผัสสะ (sensation) อันที่จริงยุงเองจะนำเอากระบวนการรับรู้ทั้ง 4 เป็นตัวย่อคือ T, F, N, S แบบไปผสมกับลักษณะที่เรียกว่า introversion และ extraversion คือเหมือนรับรู้โดยเน้นรับจากภายนอก หรือย้อนกลับเข้าไปภายในจิตใจ ปลายทางก็เลยจะได้แบบทั้งหมดแปดรูปแบบ เป็น Ti, Fi, Te, Fe เป็นต้น
จิตวิทยาตรงนี้ของยุงก็เลยค่อนข้างเป็นรากฐานของการพยายามนิยาม จัดประเภทผู้คนออกเป็นลักษณะต่างๆ อันที่ทฤษฎีที่ยุงวางไว้ค่อนข้างซับซ้อนและเหลื่อมทับกัน ด้านหนึ่งจะไปสัมพันธ์กับกรอบคิดเกี่ยวกับจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก (consciousness/unconsciousness) แต่กรอบกว้างๆ คือรูปแบบการรับรู้ทั้ง 4 ที่ยุงเสนอไว้ก็ค่อนข้างทำให้เรามองเห็นวิธีการมองโลกที่เราเองอาจจะพอนิยามเข้าใจตัวเองได้ว่า ตัวเองเป็นสายไหน เป็นสายคิด สายรับรู้-รู้สึก สายผัสสะ-เน้นประสบการณ์ หรือเป็นสายบันดาลใจ ต่อมากรอบของยุงได้รับการพัฒนาต่อเป็นทฤษฎีจิตวิทยา Myers-Briggs Type Indicator (MBTI) อันโด่งดังนั่นเอง
คิด รู้สึก นิมิตร และสัมผัส คุณเป็นสายไหนในแนวคิดของยุง
จากตัวเลข 4 และนิยามกระบวนการการรับรู้ 4 รูปแบบของคาร์ล ยุง สำหรับฟังก์ชั่น 4 ด้านที่ยุงเสนอ จริงๆ เป็นกระบวนการทำงานของจิตใจ- จิตรู้สำนึกหนึ่งๆ ที่เราเองอาจจะมีด้านใดด้านหนึ่งหนักกว่าด้านอื่นๆ (dominant) ซึ่งเราจะเห็นว่าวิธีการวางระบบจะคล้ายกับการวางรูปแบบบุคลิกภาพในยุคหลัง ซึ่งก็สัมพันธ์กับความคิดเรื่อง archetype รวมถึงเรื่องลักษณะของจิตใจด้วย ทีนี้ ขอชวนไปดูว่าฟังก์ชั่นทั้ง 4 ที่ยุงวางไว้นั้นแตกต่างกันอย่างไร และเราเองถือว่าเป็นประเภทที่ใช้การรับรู้ประเภทไหนเป็นหลักใน 4 ฟังก์ชั่นหลักคือ T F N S และแต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกันตรงไหน
การคิด – Thinking (T)
ต้องออกตัวก่อนว่ากระบวนการ (function) ทั้งหลาย คือ ยุงก็จะอภิปรายไว้แล้วก็มีนักวิชาการรุ่นหลังมาถกเถียงต่อ ถ้าเอาตามยุงพูดเลยจะไม่มงคืองงมาก เช่น การคิดยุงอธิบายว่าคือการนำเอาเนื้อหาความคิดทั้งหลายมาสร้างเป็นระบบ และหาความเชื่อมต่อแก่กัน (brings the contents of ideation into conceptual connection with one another.) พูดง่ายๆ การคิดก็คือการครุ่นคิดที่เราเอาเนื้อหาต่างๆ มาคิดต่อกันเป็นทอดๆ เหมือนเราคิดเรื่อง A ต่อเนื่องกับ B แล้วมันมีความเชื่อมโยงกันยังไง การคิดในความหมายของยุงจึงคล้ายๆ กับการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ สัมพันธ์กับกระบวนการทางตรรกะ คือ คิดเป็นทอดๆ เป็นวิธีการที่ยุงนิยามว่ามีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป (slow pace) ซึ่งจะต่างกับวิธีการของจิตใจอื่นๆ เช่นญาณที่จะเน้นการเกิดขึ้นฉับพลันทันที ซึ่งการคิดยุงค่อนข้างแยกขาดออกจากอารมณ์ เน้นไปที่การใช้เหตุผล
ความรู้สึก – Feeling (F)
การรับรู้ด้วยการรู้สึก หรือ feeling ถือว่าซับซ้อน ฟังครั้งแรกอาจจะแปลกหน่อยเพราะยุงจัดไว้ให้อยู่ในประเภทการใช้เหตุผล (rationality) ในประเภทเดียวกับการคิด ซึ่งต่างกับญาณและผัสสะที่ยุงจัดให้อยู่ในประเภทไม่เป็นเหตุเป็นผล (non-rationality) คำว่าการรับรู้ด้วยการรู้สึก (to feel) ของยุงจะเน้นไปที่การที่เรารับรู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีค่าหรือไม่มีค่า ยอมรับหรือไม่ยอมรับ (a definite value in the sense of acceptance or rejection.) ในแง่นี้ทำให้การรับรู้ด้วยการรู้สึกสำหรับยุงไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ แต่เป็นเรื่องของการประเมินค่า การที่เราใช้ความรู้สึกในแง่หนึ่งก็เหมือนว่าเราจะเน้นการรับรู้คุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าสิ่งนั้นสำคัญหรือไม่ เช่นเรื่องหนึ่งๆ ที่เรารับรู้นั้นมันสำคัญกับชีวิตไหม ประเด็นนี้มันสำคัญรึเปล่า ดังนั้นพอมันมีการประเมินค่า การรับรู้ด้วยความรู้สึกก็เลยสัมพันธ์กับการคิดสัดส่วนหรือการให้เหตุผล คือ มันมีสัดส่วนการประเมิน (rational คนละเรื่องกับ reason) ดังนั้นคนที่ฟังก์ชั่นนี้นำก็จะสัมพันธ์กับแนวคิดเช่นการเข้าอกเข้าใจหรือ empathy
ญาณ – Intuition (N)
สำหรับคุณสมบัติที่เหลือคือ N และ S ยุงค่อนข้างเน้นไปที่การรับรู้ การเกิดความคิดหรือการตอบสนองที่ฉับพลันทันที สำหรับพวกที่ใช้ญาณ สัญชาติญาณ หรือจิตวิญญาณนำ จริงๆ ก็อาจจะพอนึกภาพไม่ยากคือเป็นพวกที่นึกขึ้นแล้วก็ลองทำเลย สำหรับ intuition ยุงนิยามว่าเป็นการรับรู้โดยสัมพันธ์กับจิตไร้สำนึก (transmits perceptions in an unconscious way.) คล้ายๆ มีอะไรมาบันดาลใจแล้วก็เชื่อตามสัญชาตญาณไปเช่นนั้น ซึ่งการใช้ญาณนี้ยุงเองก็บอกว่านิยามยาก แปลกประหลาด คือ ตัวมันเองไม่ใช่ลักษณะของจิตใจแบบอื่นๆ ไม่เกี่ยวกับการคิด ความรู้สึก หรือผัสสะ แต่บางครั้งญาณอาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการอื่นๆ ด้วยได้ เช่นคิดๆ อยู่ก็เกิดการหยั่งรู้ขึ้น ทีนี้ญาณจะแตกต่างกับผัสสะ (ข้อสุดท้าย) ตรงที่ พวกญาณจะเน้นการสำรวจเชิงความคิด มองหาความเป็นไปได้ต่างๆ และทำไปเลย ผัสสะจะเน้นประสบการณ์
ผัสสะ – Sensation (S)
ผัสสะหรือ sensation การรับรู้หรือฟังก์ชั่นสุดท้ายของยุง ซึ่งยุงเองก็นิยามผัสสะอย่างที่เราพอจะเข้าใจ โดยสายผัสสะจะเน้นไปที่การรับรู้ด้วยการกระตุ้น หรือมีท่าทีต่อการกระตุ้นทางกายภาพ(transmits a physical stimulus to perception.) สำหรับบุคลิกที่ใช้ผัสสะนำ ด้านหนึ่งผัสสะจะตรงข้ามกับญาณ คือ ญาณจะถูกกระตุ้นจากภายใน ส่วนผัสสะจะเน้นการตอบสนองจากภายนอก หรือการตอบสนองจากสิ่งกระทบอื่นๆ ที่ส่งผลได้ไปจนถึงภายใน (inner) หรือระดับจิตใจ โดยลักษณะจิตใจที่มีผัสสะนำนั้นก็จะต่างกับความรู้สึกที่ฟังดูแล้วใกล้เคียงกัน คือ คนที่เน้น sensation ถ้าอธิบายแบบย่นย่อก็จะเป็นแนวลงไปเจอจริง ไปปฏิบัติ ไปมีปฏิกิริยาโดยที่ไม่ได้เน้นการประเมินค่าตัดสิน พวกผัสสะจึงพอจะนิยามได้ว่าจะให้ความสำคัญกับประสบการณ์ ถ้ามีการต้องแก้ปัญหาก็อาจจะเน้นไปที่กรณีที่มีมาแล้ว ประสบการณ์หรือข้อมูลเดิมที่มีมาก่อนหน้า
สุดท้ายความเข้าใจเรื่องตัวเลข มาจนถึงการสังเกตวิธีการรับรู้โลกที่มีรูปแบบการรับรู้หรือการทำงานของจิตใจก็เป็นความพยายามเข้าใจโลกและเข้าตัวเองได้บางส่วน สำหรับการแบ่งประเภท 4 ด้านข้างต้นต้องอย่าลืมว่ากรอบคิดของยุงค่อนข้างสร้างขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 และตัวทฤษฎีเองค่อนข้างซับซ้อนขึ้นไปอีกเช่นประเภทของจิตใจแบบเน้นคิดพอไปบวกกับอินโทรเวิร์ตและเอ็กซ์โทรเวิร์ตก็จะมีคำอธิบายแนวโน้ม วิธีการรับรู้โลกที่ปลีกย่อยลงไปอีก รวมถึงว่ายุงเองก็มีฐานเป็นนักจิตวิทยาและนักทฤษฎี กรอบที่วางไว้บางส่วนสัมพันธ์กับกรอบทฤษฎี คือเน้นเข้าใจสภาวะจิตใจของมนุษย์ที่ซับซ้อนหรือสัมพันธ์กับมิติทางปรัชญาหรือจิตวิทยามากกว่าจะเน้นวางเป็นโจทย์ How to เพื่อให้นำไปนิยามตนเองได้อย่างเรียบง่าย
อ้างอิงข้อมูลจาก
Jung’s Axioms: An Introduction to Jung’s “Note on Number”
carljungdepthpsychologysite.blog
Illuatration by Kodchakorn Thammachart