“เราเป็นคนไทป์ ISFP นักผจญภัย ส่วนคุณล่ะเป็นคนไทป์ไหน? เราน่ะชอบเก็บตัวมากเลย ในขณะเดียวกันก็ชอบใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสินล่ะ แต่เวลาทำงานก็มักจะทำอะไรแบบมีแบบแผนนะ…”
ทุกวันนี้เข้าไปส่องเฟซบุ๊ก ไอจี หรือทวิตเตอร์ของใคร ก็จะเจอตัวอักษรภาษาอังกฤษสี่ตัวระบุไว้บนโปรไฟล์เต็มไปหมด อาจเป็นเพราะว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการทำ ‘แบบทดสอบบุคลิกภาพ MBTI’ นั้น ง่ายต่อการอธิบายตัวเราที่สุด ซึ่งหากใครอยากรู้จักเรา ก็เพียงแค่เสิร์ชเข้าไปดูคำอธิบายของตัวอักษรเหล่านี้ได้ แต่วันหนึ่งผลลัพธ์จากการทำแบบทดสอบนี้ดันถูกใช้ในการแปะป้ายผู้คน และส่งผลต่ออาชีพการงาน แล้วปัญหามันอยู่ที่ตรงไหนกันนะ?
ฟังก์ชันของ MBTI กับการอธิบายตัวตน
แบบทดสอบบุคลิกภาพ MBTI หรือ Myers-Briggs Type Indicator เป็นเครื่องมือชี้วัดการรับรู้และการตัดสินใจของมนุษย์ ที่สองแม่ลูก แคเธอรีน คุก บริกส์ (Katharine Cook Briggs) และ บริกส์ ไมเออร์ส (Briggs Myers) ร่วมกันพัฒนาขึ้น จากการศึกษาทฤษฎีการกำหนดบุคลิกภาพของจิตแพทย์ชาวสวิสที่ชื่อว่า คาร์ล กุสตาฟ ยุง (Carl Gustav Jung) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแนวคิดจิตวิทยาการวิเคราะห์ (Psychoanalytic)
หลังจากที่ คาร์ล ยุง ได้ศึกษาและสังเกตพฤติกรรมมนุษย์อยู่นาน เขาก็พบว่า พฤติกรรมของมนุษย์นั้นไม่ได้มีลักษณะเฉพาะเป็นของคนใดคนหนึ่ง หากแต่มีแบบแผน (pattern) ที่คล้ายคลึงกันได้ ซึ่งพฤติกรรม (preference) ที่พวกเขาแสดงออกบ่อยๆ นั่นเอง ก็คือสิ่งที่สะท้อน ‘เจตคติ’ ที่พวกเขามีต่อโลก ทำให้เกิดเป็นตัวอักษร 8 ตัว ได้แก่
E = โลกภายนอก (Extraversion) I = โลกภายใน (Introversion) บ่งบอกว่าแหล่งพลังงานของเรามาจากไหน
S = ประสาทสัมผัส (Sensing) N = ญาณทัศนะ (Intuition) บ่งบอกว่าเรามีการรับรู้ต่อโลกยังไง
T = ความคิด (Thinking) F = ความรู้สึก (Feeling) บ่งบอกว่าเราใช้อะไรประกอบกระบวนการตัดสินใจ
J = มีแบบแผน (Judging) P = ยืดหยุ่น (Perceiving) บ่งบอกว่าเรามีการปรับตัวและการจัดการกับโลกภายนอกยังไง
เมื่อจัดเรียงเป็นตัวอักษร 4 ชุด ก็จะเกิดเป็น 16 Personality Types หรือบุคลิกภาพทั้งหมด 16 ประเภท เช่น ISFP ENTP INFJ ESTJ เป็นต้น
แล้วตัวอักษร 4 ตัวนี้บอกอะไรกับเราบ้าง? เมื่อเสร็จสิ้นการทำแบบทดสอบบนเว็บไซต์ 16personalities.com ไปแล้ว เราจะเห็นประเภทบุคลิกภาพของเราโชว์ขึ้นมาบนหน้าจอ สมมติว่าได้ ISFP ก็หมายความว่าคนประเภทนี้จะรู้สึกมีพลังเมื่อได้ใช้เวลาอยู่กับโลกภายในของตัวเอง (Introversion) มีการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส (Sensing) มักใช้ความรู้สึกเป็นส่วนประกอบหลักในการตัดสินใจ (Feeling) และมีการจัดการแบบยืดหยุ่นมากกว่ามีแบบแผน (Perceiving)
นอกจากนี้แล้ว ในเว็บไซต์ยังมีการเปรียบเทียบผ่านบทบาทหน้าที่ เพื่อให้ผู้ทำแบบทดสอบเห็นภาพบุคลิกภาพแต่ละประเภทชัดขึ้น เช่น นักออกแบบ นักโต้วาที ผู้แนะนำ ผู้ไกล่เกลี่ย ผู้บริหาร ผู้ให้คำปรึกษา นักผจญภัย ผู้ประกอบการ เป็นต้น พร้อมทั้งคำอธิบายบุคลิกภาพอย่างละเอียด รวมไปถึงบอกจุดแข็ง จุดอ่อน ความสัมพันธ์ และอาชีพที่เหมาะกับประเภทนั้นๆ
ทุกวันนี้ ผลการทำแบบทดสอบ MBTI ไม่เพียงแต่จะใช้อธิบายบุคลิกภาพหรือเป็นแนวทางในการค้นหาตัวตนของใครหลายคน แต่ยังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการคัดกรองพนักงานใหม่และจัดสรรค์ระบบองค์กรในบริษัทต่างๆ อีกด้วย
เมื่อผลลัพธ์อาจเปลี่ยนไป ไม่มีอะไรถาวร
แม้แบบทดสอบ MBTI จะสะท้อนการรับรู้ การตัดสินใจ และการรับมือกับสถานการณ์ของคนแต่ละประเภทได้ก็ตาม แต่สิ่งที่ผู้คนมักจะเข้าใจผิดนั่นก็คือ เมื่อได้ผลลัพธ์ทั้งสี่ตัวอักษรออกมาแล้ว มักจะ ‘ยึดติด’ ว่าเราจะต้องเป็นคนแบบนั้นตลอดไป แต่ความจริงนั่นก็คือ ผลลัพธ์ที่ได้อาจคลาดเคลื่อนไปตามกาลเวลา ด้วยบริบทและสภาพแวดล้อมที่เราเจอ
เมื่อเวลาผ่านไป หลายคนน่าจะเคยกลับมาทำแบบทดสอบอีกครั้งหนึ่ง แล้วพบว่าเราไม่ใช่ไทป์เดิมกับที่เคยเป็นแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติอะไร เพราะอ้างอิงจากทฤษฎีอุปนิสัยของ กอร์ดอน ออลพอร์ต (Gordon Allport) นักจิตวิทยาผู้อุทิศตนเพื่อศึกษาเรื่องบุคลิกภาพ พบว่า อุปนิสัย (trait) เป็นโครงสร้างประกอบของบุคลิกภาพ ซึ่งอุปนิสัยมักไม่มีลักษณะที่ตายตัว เพราะการที่แต่ละบุคคลแสดงอุปนิสัยที่เด่นชัดออกมาน้ัน จะขึ้นอยูกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) ที่พวกเขาเจอ
ฉะนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราเจอประสบการณ์ สภาพแวดล้อม หรือชุดความคิดใหม่ๆ ที่เข้ามาท้าทายรูปแบบการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ก็อาจทำให้อุปนิสัยของเราเปลี่ยนแปลงไปได้ และจากผลสำรวจก็พบว่า 50 ของคนที่ทำแบบทดสอบ ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างจากเดิม หลังเวลาผ่านไปเพียง 5 สัปดาห์เท่านั้น
หรืออย่างในภาพยนตร์เรื่อง Inside Out ที่อุปนิสัยของตัวละครหลัก เช่น ความทะเล้น ร่าเริง พร้อมลุย ได้ส่งผลให้เกิดเกาะบุคลิกภาพต่างๆ ขึ้นมา แต่เมื่อตัวละครหลักเผชิญหน้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น การย้ายบ้าน แยกจากเพื่อนสนิท หรือเห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน ก็ทำให้อุปนิสัยของเธอค่อยๆ เปลี่ยนไป และส่งผลต่อการประกอบสร้างเกาะบุคลิกภาพของเธอด้วยเช่นกัน
ทุก Personality Types แฝงจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกันไป เมื่อถึงจุดหนึ่งที่พบว่าเราควรจะต้องปรับจุดอ่อนนั้นเพื่อประโยชน์ในการใช้ชีวิต เช่น ต้องเข้าสังคมให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะหน้าที่การงานของเราจำเป็นต้องเจอกับลูกค้าหลายคน จึงไม่แปลกที่เมื่อกลับมาทำแบบทดสอบอีกครั้ง ค่าที่ได้จะเอนเอียงไปทาง E เยอะกว่าครั้งที่แล้ว หรืองานที่ทำจำเป็นจะต้องมีแบบแผนที่ชัดเจน เป็นระบบระเบียบ ก็อาจทำให้เราได้ค่าที่เอนเอียงไปทาง P มากขึ้นก็ได้
MBTI ไม่ควรนำมาใช้ตัดสินผู้คน
อย่างที่ได้เกริ่นไปตอนต้นว่า ทุกวันนี้แบบทดสอบ MBTI ได้ถูกบริษัทหลายแห่งนำมาใช้คัดกรองพนักงานใหม่ โดยทุกปีมีคนที่ร่วมทำแบบทดสอบนี้ถึง 2 ล้านคน และบริษัทก็ยอมจ่ายเงิน 20 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อที่จะนำผลจากแบบทำสอบนี้มาคัดแยกพนักงานออกตามประเภท กำหนดโปรแกรมอบรม และกำหนดความรับผิดชอบในงานที่เหมาะสม และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีการประยุกต์ใช้โดยการจับคู่คนทำงานด้วยเคมี MBTI ที่เข้ากันได้ เช่น ISTJ เหมาะกับ ESTP เพราะคนหนึ่งวางแผน อีกคนหนึ่งปฏิบัติจริง จึงเป็นเห็นให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมหรือไม่ที่จะนำผลลัพธ์ของ MBTI มาใช้วิเคราะห์คน เนื่องจากแบบทดสอบนี้ยังมีช่องโหว่อยู่หลายจุด
ยกตัวอย่างเช่น บางคนอาจจะเคยรู้สึกว่า ทำไมอ่านของบุคลิกภาพอื่นถึงตรงกับสิ่งที่ตัวเองเป็นมากกว่ารู้สึกว่าจะตรงกว่า นั่นเพราะแบบทดสอบนี้ประมวลผลออกมาโดยการ ‘เหมาะรวม’ ให้อยู่ในตัวอักษรเดียว แม้ผลลัพธ์ของคนบางคนจะมีองค์ประกอบของสองตัวแปรในเปอร์เซ็นต์ที่ใกล้เคียงกันก็ตาม เช่น ในบางสถานการณ์คนๆ นั้นอาจใช้ Sensing ในการรับรู้โลก แต่ในบางสถานการณ์อาจใช้ Intuition แต่เมื่อผลลัพธ์ออกมาได้ S = 53% และ I = 47% แบบทดสอบก็แปะป้ายให้เลยว่าเราเป็นบุคคลประเภท S ซึ่งถ้าหากไม่ดูทั้งสองค่าประกอบกัน ก็อาจทำให้ผู้ทำแบบทดสอบคิดไปว่าตัวเองเป็นผู้ที่มักจะใช้ประสาทสัมผัสในการรับรู้โลก และมีแนวโน้มจะกำหนดพฤติกรรมของตัวเองให้เป็นไปตามผลลัพธ์ได้ ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนที่มีความ ‘ยืดหยุ่น’ ในตัวเองพอสมควร
ฉะนั้น การแปะป้ายว่าคุณเป็น I แปลว่า คุณน่าจะไม่เหมาะกับงานออกไปเจอลูกค้า ทั้งๆ ที่ผลลัพธ์ของ I ต่างจาก E ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ นั่นอาจจะเป็นการ ‘ปิดกั้นโอกาส’ ที่จะพัฒนาตัวเองในอนาคตได้
นักจิตวิทยาองค์กร มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย อดัม แกรนท์ (Adam Grant) ผู้เขียนบทความเรื่อง Say Goodbye to MBTI, the Fad That Won’t Die บนแพล็ตฟอร์มหางาน LinkedIn กล่าวว่า ตัวอักษรที่ได้จากการทำแบบทดสอบแทบไม่มีอำนาจที่จะใช้ทำนายได้เลยว่า คุณจะมีความสุขกับสถานการณ์ต่างๆ จะทำงานตรงหน้าได้ดี หรือจะมีความสุขกับชีวิตแต่งงานหรือไม่
ด้วยการนิยามผ่านตัวอักษรเพียงแค่สี่ตัว จึงทำให้การคัดกรองพนักงานในบริษัทด้วยแบบทดสอบ MBTI ยังเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมพอ เมื่อสอบถาม ณัฐพล ชัยกิตติพรเลิศ ซึ่งทำตำแหน่ง People Operations Executive ต่อการนำแบบทดสอบนี้มาใช้ในบริษัท ก็ได้ความเห็นและคำแนะนำว่า
“ทุกวันนี้ ในประเทศไทยมีการใช้ตัวชี้วัด MBTI ประกอบการคัดกรองคนเข้าทำงานจริง แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่รับทำให้ เพราะเขาอยากจะเห็นว่าคนๆ นี้มีบุคลิกภาพยังไง เข้ากับงานที่ทำหรือเปล่า เบื้องต้นก็คือแค่นี้เลย มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการคัดกรอง แต่ก็ยังมีส่วนอื่นๆ ที่ต้องดูด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่เอาตัวชี้วัดนี้มาใช้ทั้งหมด
“ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ตัวชี้วัดนี้ เพราะมาตรนี้ใช้วัดได้แค่เพียงว่า ณ ตอนนั้น คุณมีบุคลิกภาพยังไง แต่มันไม่เคยมีงานวิจัยรองรับว่ามาเอาไปใช้กับการทำงานได้จริง แล้วบุลิกภาพของคนเรามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ณ วันนี้เป็นแบบนี้ แต่อีก 3 เดือนเราก็เปลี่ยนไปเป็นอีกแบบ มันไดนามิก กลับไปทำอีกรอบหนึ่งก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว แล้วจะมีอะไรมาการันตีว่าคนที่ทำงานนั้น ณ วันนี้ อีก 3 เดือนจะเหมาะกับงานนั้น
“อีกเหตุผลก็คือ งานบางอย่างเปลี่ยนบุคลิกภาพและความคิดเราได้ แล้วเราก็ทำงานนั้นได้ดี เพราะฉะนั้น ถ้างานเปลี่ยนเราได้ แล้วจะวัดทำไมในตอนนั้นว่าคนแบบนี้เหมาะกับงานแบบไหน แล้วในส่วนของสถิติของมาตรนี้ก็ไม่ได้เหมาะกับการนำมาใช้ เพราะยังไม่ได้มีความตรงความเที่ยงขนาดนั้น มาตรที่ดีมันจะวัดได้ตรงทุกคร้ัง วัดกี่ครั้งก็ยังได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม แต่ว่าบุคลิกภาพมันทำไม่ได้ เพราะถ้าทำครั้งที่สองก็อาจจะไม่เหมือนเดิม ทำให้ตัวชี้วัดนี้ถูกตีตกไป
“ในส่วนของการจับคู่คนทำงานด้วยตัวชี้วัด MBTI ก็เป็นการนำมาประยุกต์ใช้กันเอง แต่การจะทำงานร่วมกันได้ดี ไม่จำเป็นว่าคนเราจะต้องมีบุคลิกภาพอย่างนั้นเสมอไป แค่ดูแล้วว่ามีแนวโน้มจะร่วมงานกันได้เฉยๆ อย่างที่บอกว่างานมันเปลี่ยนคนได้ จึงไม่อยากให้ตีตราว่าใครทำอะไรได้ดี เพราะบางทีเขาอาจจะเหมาะกับงานอื่นมากกว่างานนั้นก็ได้
“ดังนั้น ตัวชี้ที่สำคัญที่สุดในการคัดกรองคนก็คือ ทักษะ องค์ความรู้ ประสบการณ์ และเนื้องาน ถ้ามีสิ่งเหล่านี้แน่น มันก็ทำงานได้อยู่แล้ว บุคลิกภาพเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยเสริมเฉยๆ อาจจะทำให้อะไรๆ ง่ายขึ้น หรือทำให้ไม่ลำบากมากนัก นอกเหนือจากตัวชี้วัด MBTI ก็จะมีมาตรวัดอื่นๆ ที่บริษัทใช้คัดกรองคนเข้าทำงานที่แตกต่างกัน เป็นตัวชี้วัดว่าคนสมัครมีคุณค่าต่อองค์กรยังไง อาจผลิตมาตรวัดของตัวเองขึ้นมา เช่น คำถามในการสัมภาษณ์งาน โดยให้เหตุการณ์สมมติมาให้ตรงกับ core value ขององค์กร แต่ที่ตัวชี้วัด MBTI ดังเพราะมันใช้ง่ายและเห็นภาพชัด
“จริงๆ ตัวชี้วัด MBTI ไม่ได้ผิดอะไร มาตรนี้เหมาะกับการสะท้อนบุคลิกภาพและความคิด ‘ณ วันนั้น’ ที่เราทำ เพราะฉะนั้น ตอนใช้ควรบอกให้ชัดเจนไปเลยว่ามาตรนี้ใช้วัดเพื่อบอกว่า จริงๆ แล้วคุณมีแนวโน้มจะทำงานนี้ ณ ตอนนี้หรือไม่ ไม่ใช่ตัดสินว่าเหมาะหรือไม่เหมาะกับงานนี้”
“ตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดในการคัดกรองคน
ก็คือ ทักษะ องค์ความรู้ ประสบการณ์ และเนื้องาน”
ด้วยความที่แบบทดสอบ MBTI ยังมีความคลาดเคลื่อนของผลลัพธ์อยู่มาก จึงทำให้ควรเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นแค่ตัวชี้วัด ‘แนวโน้ม’ บุคลิกภาพของเราในช่วงระยะเวลาหนึ่งมากกว่า ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์หรือกำหนดตัวตนของใครบางคนได้ถาวร เช่น การมอบหมายงานระยะยาวให้กับพนักงาน
ทั้งนี้ การจะนำตัวชี้วัดนี้มาใช้ก็ไม่ใช่เรื่องผิด หากเรารู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะอย่างน้อยเราสามารถสังเกตวิธีคิดและมุมมองต่อโลกของเราในขณะนั้น ผ่านผลลัพธ์ของการตอบคำถามได้ แต่ต้องมองที่เปอร์เซ็นต์ของ ‘ทั้งสองตัวแปร’ ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่สรุปเป็นตัวอักษรสี่ตัว เพราะการมองทั้งสองตัวแปรควบคู่กัน จะทำให้เราเห็นว่า ในขณะนั้นเรามีความเอนเอียงในอุปนิสัยไปด้านไหนเยอะกว่า และการเอนเอียงนั้นส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานของเราอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
แต่ถ้าใครอยากทำแบบทดสอบอื่นๆ ก็มีอีกแบบทดสอบหนึ่งที่นักจิตวิทยาหลายคนแนะนำ นั่นก็คือ The Big Five Personality Traits ซึ่งเป็นแบบทดสอบที่เชื่อว่ามนุษย์มีลักษณะบุคลิกภาพ 5 ประการ ที่มักจะแสดงออกมาอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ การเปิดรับประสบการณ์ (Openness to experience) ความพิถีพิถัน (Conscientiousness) ความสนใจต่อสิ่งภายนอก (Extraversion) ความยินยอมเห็นใจ (Agreeableness) และความไม่เสถียรทางอารมณ์ (Neuroticism)
โดยแบบทดสอบนี้ได้รับความเห็นว่ามีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเป็นแบบทดสอบที่มีพื้นฐานจากการศึกษายีนส์และการทำงานของสมองที่ส่งผลต่อการกำหนดบุคลิกภาพ และมีอำนาจเพียงพอที่จะทำนายประสิทธิภาพของงานและประสิทธิผลของทีมที่ทำด้วย
และนอกจากนี้ ก็มี HEXACO หรือแบบทดสอบคุณสมบัติ 6 ประการของตนเอง หากมีเวลาก็อาจลองทำแบบทดสอบทั้งหมดดู และทำเรื่อยๆ ทุกปีหรือครึ่งปี เพื่อประกอบการทำความเข้าใจบุคลิกภาพและสำรวจความเปลี่ยนแปลงในตัวเองก็ดีนะ
ให้ตัวอักษรสี่ตัวที่ได้มา เป็นเพียงผลลัพธ์ที่สะท้อนแนวโน้มตัวตนเราใน ‘ช่วงเวลาหนึ่ง’ ไม่ใช่การกำหนดตัวตนเราทั้งหมดต่อจากนี้ เรียนรู้จากสิ่งที่มันสะท้อนออกมา ปล่อยให้ตัวเองได้เติบโตและเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม แล้วคอยปรับในจุดที่คิดว่าเป็นปัญหา ก็น่าจะเป็นชีวิตที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก