แม่น้ำโขงแล้ว ปลาตาย และหายไป ชาวบ้านแถบริมฝั่งโขงประกอบอาชีพไม่ได้
เป็นที่รู้กันว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำหลักสายสำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ ที่ไหลผ่านหลายประเทศ มีทรัพยากร และสัตว์ตามธรรมชาติมากมายไปหมด
แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง จากการสร้างเขื่อน กักเก็บน้ำ และปล่อยน้ำอย่างไม่เป็นธรรมชาติ จนเรียกได้ว่า วิกฤตธรรมชาติในแถบลุ่มแม่น้ำโขง
The MATTER มาพูดคุยกับ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.มหาสารคาม ผู้เชี่ยวชาญและติดตามสถานการณ์ในแม่น้ำโขงมาเป็นเวลานาน ถึงเรื่องเขื่อนที่เกิดขึ้น ผลกระทบจากการมีเขื่อน ว่าเขื่อนยังจำเป็นไหมในปัจจุบัน และปัญหาจากเขื่อนที่เกิดขึ้น จะแก้ไขได้อย่างไร ?
เรารู้ว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายที่ใหญ่มาก อยากให้อาจารย์เล่าว่า ในแม่น้ำนี้มีระบบนิเวศน์อะไรที่สำคัญบ้าง
เราถือว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดสายนึงของโลก ติด 1 ใน 3 ด้วย ถ้าคิดเป็นเฉพาะพื้นที่ต่อชนิดพันธ์เราก็เป็นอันดับ 1 ของโลก อย่างปลามีมากกว่า 1,000 ชนิดพันธุ์ บางชนิดไม่พบที่อื่นในโลก เช่น ปลาบึก ก็เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และพบเฉพาะที่แม่น้ำโขง นอกจากนั้นยังมีสัตว์น้ำอย่างอื่นอีกมากมาย
ทีนี้ระบบนิเวศน์ที่สำคัญก็คือว่า ทางตอนบนของแม่น้ำเกิดจากหิมะละลาย และแถบแม่น้ำโขงตลอดสายทางตอนบนลงมาจนถึงชายแดนไทย-ลาว ไปจนถึงชายแดนลาว-กัมพูชาก็จะมีแก่งกลางแม่น้ำมากมาย แก่งเหล่านี้ก็มีระบบนิเวศน์ที่สำคัญก็คือพันธุ์พืช มีป่าน้ำท่วม ซึ่งป่าน้ำท่วม ในหน้าแล้ง เมื่อน้ำลดจะเติบโต ผลิใบ ออกดอก ออกผล
ถ้าเป็นบริเวณที่เป็นพรมแดนไทย- ลาวในภาคอีสาน เราเรียกว่า ป่าปากไคร้ เพราะมีต้นไคร้อยู่เยอะ ในกัมพูชาก็มีผืนป่าน้ำท่วมขนาดใหญ่เต็มไปหมดเลย ตั้งแต่ชายแดนลาว-กัมพูชาลงไปจนถึงทะเลสาบกัมพูชา ส่วนในเวียดนามก็จะเป็นสันเลน ซึ่งแม่น้ำโขงจะไหลออกไป 8 สายลงทะเลจีนใต้ เป็นพื้นที่ราบแม่น้ำท่วมถึง
พอถึงหน้าฝน เมื่อฝนตกลงมาแม่น้ำสาขาต่างๆ รวมถึงแม่น้ำโขงในประเทศจีน จะทำให้เกิดน้ำในลำน้ำโขงยกระดับขึ้นเรื่อยๆ ป่าที่เติบโตในฤดูแล้งก็จะจมอยู่ใต้น้ำเหล่านี้จะเป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำต่างๆ และจะกระตุ้นให้ปลาอพยพจากแม่น้ำโขงตอนล่างขึ้นไปตอนบน ปลาบางชนิดอพยพไกลกว่า 1,800 กิโลเมตร เพื่อไปหากินและวางไข่ทางตอนบน อพยพจากกัมพูชาขึ้นมาไทย ระยะทางไกลมาก
ปลาอพยพเป็นวงจรชีวิตที่สำคัญของสัตว์น้ำ มันจะถูกกระตุ้นให้อพยพจากธรรมชาติ จากการที่ฝนตกลงมา เมื่อปลากินพืชอพยพมาก่อน ปลาที่กินสัตว์ก็จะอพยพตามมา เมื่อถึงฤดูแล้งสัตว์เหล่านี้ก็อพยพกลับ บางส่วนก็ไปในแม่น้ำลึกเหมือนเดิม
ทั้งปลาเหล่านี้ก็อพยพไปยังแม่น้ำสาขาด้วย เพราะแม่น้ำสาขาในลุ่มน้ำโขงมีเยอะแยะเลย แล้วปลาก็จะเข้าไปวางไข่ตามแม่น้ำกก แม่น้ำปิง แม่น้ำสงคราม แม่น้ำเลย แม่น้ำมูล ในอดีตถ้ายังไม่มีเขื่อนปลาพวกนี้ก็จะอพยพมาจากแม่น้ำโขง มาถึงอีสาน
ตอนนี้มีการพูดถึงเขื่อนมากขึ้น เรารู้ว่ามีเขื่อนเยอะมากมาย สถานการณ์เขื่อนในแม่น้ำโขงตอนนี้ เป็นอย่างไรบ้าง
เวลาพูดถึงเขื่อนผมแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ผมพูดถึงลุ่มน้ำโขง อันนี้ขีดความหมายของมันมากกว่าแม่น้ำโขง ลุ่มน้ำโขงนี่เป็น river basin เลย
ส่วนแรก คือ ในยุคสงครามเย็น ซึ่งก็ต้องย้อนไปในปี พ.ศ. 2500 กว่าๆ เป็นต้นมา อันนี้คือการสร้างเขื่อนในยุคแรก มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เช่นเขื่อนน้ำงึมในลาว แล้วก็เขื่อนต่างๆ ในภาคอีสานของไทย ซึ่งก็เกิดขึ้นภายใต้ภาวะที่อเมริกาต้องการให้ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นทุนนิยม เขื่อนโดยส่วนใหญ่ก็สนับสนุนการสร้างโดยอเมริกา และก็พันธมิตรของอเมริกา เช่นญี่ปุ่น
ส่วนที่ 2 เป็นยุคของการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศจีน จริงๆ มันก็เกิดควบคู่กับส่วนที่ 3 คือเกิดในช่วงสงครามเย็นเริ่มสงบ และข้อตกลงกันเรื่องชายแดนที่ตกลงกันได้แล้ว แล้วก็เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นภูมิภาคเดียวกัน
ในส่วนของจีน เขามีนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง อันนี้ก็เป็นที่มาของการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน ในประเทศจีนเรียกแม่น้ำโขงว่าแม่น้ำล้านช้าง มีการสร้างเขื่อนไปแล้ว 11 เขื่อน และมีแผนจะสร้างอีก 3 เขื่อน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานให้กับการพัฒนาของจีนในยูนนาน
จริงๆ โครงการนี้ รวมถึงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือเชิงพาณิชย์ด้วย ก็เป็นความร่วมมือของ 4 ประเทศนำโดย จีน และมีพม่า ลาว ไทย เข้ามาร่วมด้วย
ในส่วนที่ 3 คือ การสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง อย่างที่ผมบอกไปลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างในช่วงแรกจะกั้นแม่น้ำสาขา และมีในลาว คือ เขื่อนน้ำงึม ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นเขื่อนในประเทศไทย
หลังจากยุคสงครามเย็นก็มีการเข้าไปลงทุนสร้างเขื่อนในประเทศลาว ซึ่งลาวก็มีนโยบาย ‘Battery of Asia’ เป็นโครงการพลังงาน อันนี้เกิดขึ้นหลังจากประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้ก่อตั้งกลุ่ม The Greater Mekong Subregion (GMS) ด้วย ก็คือ ลาวก็ต้องกลายเป็นพื้นที่ผลิตพลังงาน มีการลงทุนสร้างเขื่อนโดยต่างชาติจำนวนมากในลาว รวมทั้งทุนไทยที่ข้ามไปลงทุนในลาว ไฟฟ้าส่วนใหญ่ก็มาขายให้ประเทศไทย อย่างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ก็เป็นทุนเกาหลี กับทุนไทยไปลงทุน
จีนเองก็มาลงทุน เช่น สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาขาในประเทศลาว นอกจากนั้นยังมีการวางแผนจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างด้วย ก็มีทั้งเขื่อนในลาว เขื่อนบริเวณพรมแดนไทย-ลาว แล้วก็เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในกัมพูชา
3 ประเทศนี้ต้องการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง และเขื่อนแรกที่สร้างเสร็จในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างก็คือ ’เขื่อนไซยะบุรี’ ซึ่งสร้างในประเทศลาว และทุนไทยไปลงทุน อีกเขื่อนนึงก็เป็นเขื่อนดอนสะโฮงของลาว ที่อยู่ก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลเข้าสู่กัมพูชา
ภาพรวมก็จะเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะพูดถึงก็คือ เขื่อนที่กั้นแม่น้ำสาขา อันนี้ก็เป็นตัวการที่เกิดขึ้นมานานแล้ว สองก็คือเขื่อนตอนบนในประเทศจีน 11 เขื่อน และมีแผนจะสร้างอีก 3 เขื่อน และเขื่อนในที่กั้นแม่น้ำสายหลักตอนนี้สร้างไปแล้ว 2 เขื่อนคือ ไซยะบุรี และดอนสะโฮง
ซึ่งตอนนี้ ในแม่น้ำโขงสายหลัก ตั้งแต่จีนลงมา สร้างไปแล้ว 13 เขื่อน ที่เหลือที่กั้นแม่น้ำสาขาก็จะอยู่ในแม่น้ำภาคอีสานของไทย ในลาวบ้าง และบางส่วนก็อยู่ในเวียดนาม
การสร้างเขื่อนส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างไรบ้าง
ส่วนที่กั้นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงก็สร้างปัญหา เพราะว่าปกติ ปลาจะอพยพจากแม่น้ำโขงสายหลัก ขึ้นมาหากิน และวางไข่ในแม่น้ำสาขา ตรงนี้ มันทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำสงครามอุดมสมบูรณ์มาก ทีนี้บางเขื่อนมันไปสร้างกั้นปากแม่น้ำเลย ซึ่งจะอยู่ใกล้ๆ กับที่แม่น้ำสาขาบรรจบกับแม่น้ำโขง อันนี้ก็จะทำให้ตัดวงจรอพยพของปลา และก็ปิดตายแม่น้ำทั้งลุ่มน้ำ คนหลายล้านคนเดือดร้อน
กรณีของปากน้ำมูล ก็สร้างกั้นบริเวณเหนือที่แม่น้ำมูลบรรจบกับแม่น้ำโขง มันทำให้การประมงล่มสลาย และปิดตายแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในอีสาน ลุ่มน้ำมูล แม่น้ำชี คนไม่มีปลากิน เพราะปลามันอพยพผ่านปากน้ำมูลไม่ได้ บันไดปลาโจน (ที่ช่วยให้ปลาอพยพผ่านสิ่งกีดขวาง) ก็ไม่ช่วย
ส่วนแม่น้ำสายหลัก ผมจะพูด 2 ส่วน ส่วนแรก คือ เขื่อนในจีนที่กักเก็บน้ำไว้เยอะมาก เพราะเขามีตั้ง 7 เขื่อน และเขื่อนเหล่านี้ สิ่งที่สำคัญก็คือ การที่ทำให้น้ำในฤดูน้ำ หรือวัฎจักรการไหลของน้ำไม่เหมือนในธรรมชาติ เช่น ปกติหน้าแล้ง จะมีพืชในน้ำ ซึ่งฤดูนี้มันจะไม่ถูกน้ำท่วม และจะเติบโต เขียวชอุ่ม แต่จีนกลับปล่อยน้ำลงมา ท่วมพืชเหล่านี้ การกักเก็บน้ำและปล่อยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ทำให้เกิด Water Fluctuation หรือว่าการไหลของน้ำในแม่น้ำโขงผันผวน
ปกติน้ำโขงมันจะขึ้นในฤดูฝน ขึ้นทีละนิดไป และเต็มฝั่งตอนฤดูน้ำหลากเต็มที่ และน้ำก็จะค่อยๆ ลด ไปถึงเดือนมีนา-เมษา แต่หลังจากมีการสร้างเขื่อนจีน น้ำขึ้น-ลงรายชั่วโมงเลย และผลกระทบนี้ มันจะเกิดขึ้นหนักแถบบริเวณที่อยู่ใต้เขื่อนจีน แถบเชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น ไปจนถึงพรมแดนไทย-ลาวในภาคอีสาน และกัมพูชา เป็นผลกระทบจากที่จีนกักเก็บน้ำ
ในช่วงฤดูแล้ง พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงยังมีความสำคัญต่อชาวบ้าน เพราะว่าชาวบ้านมาทำเกษตรริมโขง บางพื้นที่มันไม่ใช่แค่เศรษฐกิจยังชีพ คือไม่ใช่แค่ปลูกผักกินอย่างเดียว แต่ยังเป็นอุตสาหกรรมด้วย เช่นแถบหนองคาย บึงกาฬ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกมะเขือเทศที่ดีที่สุดในประเทศ 50% ของมะเขือเทศในประเทศก็ปลูกจากเกษตรริมโขง เป็นสินค้าส่งออก เกษตรพวกนี้ไม่ต้องใช้สารเคมีเลย เพราะหน้าฝนถูกน้ำท่วม น้ำก็เอาธาตุอาหารมาตกตะกอน ทำให้เพาะปลูกพืชได้ดี
ดังนั้นเวลาเขาปล่อยน้ำลงมาในฤดูแล้ง มันก็ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อแปลงเกษตรของชาวบ้าน บางทีเครื่องสูบน้ำก็เสียหายหนักมาก หรือแม้แต่เรือของชาวประมงที่จอดไว้ก็ลอยหายไปตามน้ำ เพราะน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนมันแรงมาก
ระบบนิเวศน์อีกอันนึงที่สำคัญที่ผมต้องพูดก็คือ ปกติในฤดูแล้ง ในช่วงนี้น้ำจะแห้งแล้ว ปลาก็จะอพยพขึ้นริมฝั่งแม่น้ำโขง และตามแก่งก็จะมีหาดหิน หาดทราย มีดอน หรือเกาะ หาดทรายพวกนี้สำคัญมาก เพราะเป็นถิ่นอาศัยของนกแม่น้ำโขง นกจำนวนมากมาหากิน เล่นน้ำ และจะวางไข่ในช่วงนี้ ไปจนถึงเดือนพฤษภา
ก่อนที่แม่น้ำโขงจะขึ้นอีก ลูกนกก็จะโตเต็มที่ ช่วยตัวเองได้แล้ว แต่เขื่อนในจีนที่ปล่อยมาไม่เป็นธรรมชาติก็จะท่วมรังนก ท่วมไข่ของนกไว้ ซึ่งประชากรนก ถ้ามันหายไป มันจะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ เพราะไม่มีนกที่จะมาล่าศัตรูพืช เพราะฉะนั้นในระยะยาว เกษตรกรจะต้องใช้สารเคมีเยอะ เพราะแมลงก็จะระบาดได้ จากการที่ไม่มีนกที่ล่าแมลง อันนี้คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น และเรียกได้ว่าเกิดขึ้นมานานแล้ว
เห็นข่าวว่า ปีที่แล้ว แม่น้ำโขงแห้งแล้งที่สุดในรอบ 50 ปี
อันนี้ก็เป็นข้อมูลในเรื่องของน้ำฝน แต่ว่าจริงๆ แล้ว การแล้งขนาดนี้ ถ้าจีนไม่สร้างเขื่อน ไม่กักน้ำ น้ำในแม่น้ำโขงก็จะเยอะกว่านี้ และเยอะกว่าค่าเฉลี่ย ไม่รุนแรงขนาดนี้ เพราะว่าระบบน้ำในแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาขาสัมพันธ์กัน ถ้าแม่น้ำโขงน้ำน้อย มันก็จะดึงน้ำจากแม่น้ำสาขาลงไปด้วย
พอดึงน้ำจากแม่น้ำสาขาลงไป ก็จะเกิดภัยแล้งตามมา น้ำประปาในลำน้ำสาขาบางที่ไม่มีเลย มาจากน้ำโขงแห้ง เพราะจีนกักเก็บน้ำ
แต่ผมก็ต้องพูดถึงอีกเขื่อนหนึ่ง ซึ่งเราจะพูดถึงแค่เขื่อนจีนไม่ได้ คือเขื่อนไซยะบุรี ที่เป็นตัวการหลักในแม่น้ำโขงตอนล่างที่ทำให้เกิดความแห้งแล้ง นับตั้งแต่มีการทดลองเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า เดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 ที่เราเห็นปลาตายจำนวนมาก อันนี้ก็อยู่ที่ท้ายเขื่อนไซยะบุรี ทั้งการกักน้ำ ปล่อยน้ำ ตามที่เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ยังกระตุ้นทำให้เกิดการอพยพของปลาผิดฤดู บางที่น้ำแห้งเพราะกักเก็บน้ำไว้ พอเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ปลาก็อพยพขึ้น ทั้งๆ ที่ไข่ในท้องยังไม่พร้อมที่จะผสมพันธุ์
มันอพยพเพราะการกระตุ้นของมนุษย์ แต่น้ำมันน้อย ยังไม่ใช่ฤดู ก็ถูกจับจำนวนมาก ที่สำคัญมันไม่สามารถวางไข่และผสมพันธุ์ตามวงจรชีวิตของมันได้
อีกอย่างคือเขื่อนที่กั้นตามแม่น้ำสายหลักเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า สภาวะหิวตะกอน คือตะกอนถูกกักเก็บไว้เหนือเขื่อนมากกว่า 90% ผลที่ตามมาคือ มันไม่มีธาตุอาหารในน้ำ ทำให้แม่น้ำโขงเปลี่ยนสี เปลี่ยนเป็นสีครามเหมือนน้ำทะเล เกิดขึ้นบริเวณเขื่อนไซยะบุรีเป็นหลักเลย
ถ้าเป็นเขื่อนจีน เขาจะกักน้ำไว้ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือ เชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น เดือนสิงหาเขาก็โดน น้ำเขาก็แห้ง แล้วพอเขาปล่อยน้ำลงมา หรือว่าน้ำเหลือน้อย มันก็ถูกกักโดยเขื่อนไซยะบุรีอีกทีนึง เขื่อนไซยะบุรีก็จะบอกว่าเขาเป็นเขื่อนที่น้ำไหลผ่าน แต่การไปสร้างแท่นคอนกรีต ก็คือการยกระดับน้ำ จะมีอ่างเก็บน้ำหรือไม่ก็ตาม มันก็จะมีน้ำอยู่ในเขื่อนไซยะบุรีเยอะมาก เดือนตุลา – ธันวา จะมีเยอะมาก ในขณะที่ท้ายเขื่อนจะไม่มีเลย
เห็นก่อนหน้านี้ อาจารย์ออกมาพูดถึงเรื่องปลาบึกในแม่น้ำโขงจะสูญพันธ์ด้วย
องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN จัดให้ปลาบึกเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด เพราะว่าแม่น้ำโขงทางตอนบน ซึ่งอยู่ท้ายเขื่อนจีน น้ำขึ้นลงไม่ปกติ ซึ่งส่งผลต่อวงจรการอพยพของปลาบึก ปกติแล้วท้ายเขื่อนของจีนเป็นพื้นที่ที่ปลาบึกไปวางไข่ ไปถึงบริเวณชายแดนลาวกับพม่าที่ใกล้จีน อันนี้ ถ้าน้ำไม่ไหลตามธรรมชาติ ปลาก็เกิดความสับสน
ในส่วนของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ปลาบึกก็ต้องอพยพจากข้างล่างด้วย ตอนนี้มันก็ลำบาก เราพบว่าปลาบึกหาพบยากมาก แถวเชียงของเคยจับปลาบึกได้ ตอนนี้ก็ห้ามจับแล้ว พรมแดนไทย-ลาวก็เหมือนกัน แล้วตัวมันใหญ่มาก ที่เคยจับได้คือ 282 กิโลกรัม ยาว 3 เมตร ซึ่งบันไดปลาโจน หรือลิฟต์ปลามันไม่ได้ออกแบบมารองรับปลาบึก มันรองรับปลาตัวเล็กๆ
จากที่อาจารย์พูดมา มันสร้างผลกระทบเยอะมาก ถ้าอย่างนั้น เขื่อนยังจำเป็นไหม
เขื่อนไม่มีความจำเป็นแล้ว ตอนนี้เราพูดถึงการสร้างเขื่อน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ทางเลือกในการผลิตกระแสไฟฟ้าตอนนี้ มันมีเยอะแยะมากมายที่รักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ทำลาย และทำให้เกิดปัญหาต่างๆ กันมา แต่ก็ไม่เลือกที่จะใช้ เลือกที่จะสร้างเขื่อนแทน เพราะเขื่อนมันง่าย แค่ลงทุนสร้างเขื่อนกั้นน้ำ และปั่นไฟ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ในต่างประเทศเขาถือว่าล้าสมัยแล้ว
ฉะนั้นในยุโรป อเมริกา เขาทยอยรื้อเขื่อนทิ้ง ทั้งเขื่อนเล็ก-กลาง-ใหญ่ก็รื้อ ในญี่ปุ่นก็ยกเลิกการใช้เขื่อน เพราะหลักๆ ต้องการฟื้นฟูแม่น้ำ และระบบนิเวศ รวมถึงถ้าเทียบกันแล้ว ในทางเศรษฐศาสตร์ ประโยชน์ที่ได้จากปลาในแม่น้ำมันสูงกว่าไฟฟ้ามาก แต่บ้านเรา สิ่งที่เสียไป หรือเรื่องพวกนี่ยังไม่ถูกนำมาคิดคำนวณ ถ้าเรานำมาคำนวนจริงๆ เขื่อนก็ไม่ควรถูกสร้างแล้ว เพราะต้นทุนมันสูงลิบลิ่ว
ในกรณีที่แย่ที่สุด ที่จะเกิดขึ้น หากเรายังมีเขื่อนอยู่ คืออะไร
ตอนนี้ชาวบ้านไม่มีปลากิน อันนี้ความมั่นคงทางอาหารสูญเสียไปอย่างสิ้นเชิงเลย ความแห้งแล้งก็จะรุนแรงมากขึ้น ไม่ใช่แค่แม่น้ำสายหลักที่มีปัญหา แต่การที่แม่น้ำโขงแห้ง มันดึงน้ำจากแม่น้ำสาขาลงไปด้วย และความแห้งแล้ง มันจะขยายเป็นระดับภูมิภาค เป็นลุ่มน้ำเลย
ฉะนั้นอีสานก็จะแห้งแล้งมากขึ้น รวมถึงเกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม เพราะว่าเวลาน้ำถูกดึงลง น้ำใต้ดินก็จะถูกดึงลงมาด้วย และน้ำใต้ดินเต็มไปด้วยเกลือ บางที่น้ำในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงตอนที่ถูกดึงลงเยอะก็ยังกร่อยเลย เช่น แม่น้ำสงคราม
ที่ผ่านมาก็มีการต่อสู้ เรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ เป็นผลไหม
ไม่ได้ผลเลย เขาไม่ฟัง เพราะนี่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับทุน รัฐมีนโยบายที่เอื้อให้กับทุนมากกว่าที่จะสนใจชีวิตความเป็นอยู่ชาวบ้าน
แสดงว่า รัฐไม่ได้มองว่าการมีเขื่อนเป็นปัญหา
ใช่ เพราะว่ารัฐไม่ได้เดือดร้อน ประชาชนคือคนเดือดร้อน รัฐคิดแต่ว่าจะขายไฟฟ้า หรือเอามาขายต่อได้กำไร เขาไปคิดในทำนองนั้นมากกว่า อย่างตอนนี้เราเกิดวิกฤต COVID-19 ไฟฟ้าก็เหลือเกินความจำเป็น เหลือเกิน 40% แล้ว และทุนอุตสาหกรรมต่างๆ ก็จะย้ายฐานการผลิตกลับประเทศตัวเอง ถ้าเราเทียบกันตอนนี้ ถ้าธรรมชาติไม่ถูกทำลาย ก็ยังมีปลา ชาวบ้าน 2 ฝั่งโขง ชาวบ้านในภาคอีสาน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เขาก็ยังมีปลากิน อาหารมันสำคัญกว่า
เห็นว่า มีการร่างแผนยุทธศาสตร์แม่น้ำโขง 10 ปีขึ้น มันจะมาช่วยแก้ปัญหาในแม่น้ำโขงได้ไหม
ยุทธศาสตร์แม่น้ำโขง 10 ปี ของ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เขาเสนอให้ชะลอการสร้างเขื่อนออกไป ซึ่ง MRC ก็มี 4 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย แต่ไทยก็ไม่ฟัง ก็ยังซื้อไฟฟ้าจากลาว ลาวเองก็สร้างเขื่อน ทุนไทยก็ไปลงทุนสร้างเขื่อนในลาว เอาไฟฟ้ากลับมาขายไทย ซึ่ง 2 ประเทศสมาชิกก็ไม่ได้เคารพ MRC เลย รายงานยุทธศาสตร์นี้ก็ไม่มีใครฟังกันเลย ถ้าฟังกันเราคงไม่เดือดร้อนขนาดนี้
จากที่ฟังอาจารย์เล่ามา มันก็เห็นว่า ปัญหาไม่ได้มาจากแค่เขื่อนจีนอย่างเดียวรึเปล่า
ใช่ ทุนไทยก็ด้วย รัฐบาลไทยด้วย รัฐบาลลาวด้วย จีนก็เป็นส่วนหลักส่วนนึง เพราะที่สร้างเขื่อนช่วงแม่น้ำโขงตอนบนก็เกือบจะครึ่งหนึ่งของแม่น้ำทั้งหมด แต่ว่าปัญหามันก็ไม่ใช่จากจีนอย่างเดียว ถูกผสมโรงด้วยเขื่อนไทย สัญชาติลาวด้วย แต่ว่านักสร้างเขื่อนไทยก็จะโยนกันไปว่า ปัญหาอยู่ที่จีน และเรามีเทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ถ้ารัฐไทยเริ่มจัดการ อย่างน้อยก็จะแก้ปัญหาได้ในระดับนึงด้วยใช่ไหม
ใช่ อย่างน้อยเขื่อนกั้นแม่น้ำสายหลัก ในลุ่มแม่น้ำตอนล่างก็จะไม่เกิด เขื่อนในลาวหลักๆ ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านในลาว ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ หรือเกิดขึ้นก็ยาก
เรื่องนี้ไทยไม่สามารถแก้ปัญหาได้ประเทศเดียวหรือเปล่า นอกจากไทยแล้ว ประเทศอื่นๆ ต้องทำอย่างไร
เราต้องร่วมมือกัน เราต้องเลิกสร้างเขื่อนได้แล้ว และต้องให้ความสำคัญกับระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อม รัฐบาลไทยก็ไม่ควรไปซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ไปสนับสนุนทุน ควบคุมทุนของตัวเองให้ทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน อันนี้รัฐบาลไทยทำได้
ตอนนี้พูดตรงๆ เอาแค่เขื่อนไซยะบุรี เราก็ไม่มีตัวเลขการปล่อยน้ำ หรืออะไรเลย ทำได้แค่วัดจากน้ำอย่างเดียว แต่ว่ามันก็ไม่มีการพูดถึงว่าจะทำอย่างไร ในการที่จะบริหารเขื่อน โดยไม่ทำให้คนเดือดร้อน ไม่มีการพูดถึงเลย
กลไกระหว่างประเทศ อย่างอาเซียน หรือการรวมกลุ่มต่างๆ จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ไหม
กลไกมันมี 3 ระดับ ระดับแรกคือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ใน 4 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง พม่าก็ไม่ค่อยเกี่ยว ส่วนจีนก็ไม่สนใจ เขาไม่เข้าร่วมด้วย เขาก็แค่แชร์ข้อมูลเรื่องน้ำ ในเรื่องแม่น้ำโขงสายหลัก เขาก็อ้างว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสาขาด้วยซ้ำไป ที่ไหลผ่านประเทศเขา ตอนต้นปีที่ปล่อยน้ำขึ้นมา เขาก็บอกว่า เป็นบุญคุณด้วยซ้ำ ปล่อยน้ำมาช่วย ทั้งๆ ที่เขากักน้ำไว้มากที่สุด
อีกหนึ่งกลไกก็คืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งก็มี 6 ประเทศในลุ่มน้ำโขง รวมจีนด้วย แต่อันนี้ก็เน้นแต่เศรษฐกิจเป็นหลักเลย แผนพิมพ์เขียวของ GMS มันไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม GMS Summit ก็คุยแต่เรื่องเศรษฐกิจ
สุดท้ายคือ อาเซียน ซึ่งก็ไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่นัก แทบจะไม่สนใจเลย 3 เสาใหญ่ในอาเซียน เขาก็ไปสนใจเรื่องเศรษฐกิจ ขณะที่ด้านความมั่นคงของมนุษย์ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมเขาไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่นัก
ในสถานการณ์ที่อาจารย์บอกว่า ต่อสู้มานาน และจะลำบากมากขึ้น เราจะอยู่กับการที่แม่น้ำมีเขื่อนไปยังไง
ความลำบากมันอยู่ที่ชาวบ้าน 2 ฝั่งโขง ที่พึ่งพาอาหารจากทรัพยากรนี้ เพราะทรัพยากรในแม่น้ำถูกทำลาย ปลาจับไม่ได้ มันก็เป็นเหตุผลนึงที่ทำให้เกิดการอพยพแรงงานระดับล่างในภูมิภาคนี้ คนกัมพูชา คนลาวจำนวนมาก พอทรัพยากรเขาถูกทำลาย เขาก็ต้องมากลายเป็นแรงงานราคาถูกในประเทศไทย หรือแรงงานระดับล่างสุด ผมไปทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในกัมพูชา ติดกับลาวในแถบบริเวณแม่น้ำโขง ผมก็พบว่าคนในหมู่บ้านจับปลาไม่ได้ เขาก็อพยพมาเป็นแรงงานราคาถูกหมดเลย แต่ตอนนี้เกิดวิกฤต COVID-19 มันก็ไม่มีทางเลือก พวกเขาต้องกลับบ้าน ก็กลับไปอดตาย
แสดงว่าแนวโน้มของแม่น้ำโขงในอนาคต จะไม่ดีขึ้น มีแต่แย่ลงไป
ผมคิดว่าอนาคตในตอนนี้ที่มีอยู่แทบจะเรียกว่าขั้นวิบัติแล้ว ทั้งที่เขื่อนในจีน 11 เขื่อน และในประเทศลาว อย่างในปี พ.ศ. 2540 ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากต้มยำกุ้ง แรงงานในอีสานกลับบ้านจำนวนมาก
แต่เขาก็ไม่อดตาย เขาก็ยังหาปลาได้ เอาปลาไปแลกข้าว แต่ตอนนี้มันไม่เหมือนเดิมแล้ว