การเข้าถึงยาที่ไม่ครอบคลุม ยาบางตัวแพง กลายเป็นภาระ ผู้ป่วยซึมเศร้าบางคนจำเป็นต้องหยุดรักษาตัวเอง : เหล่านี้คือประเด็นที่ถูกพูดถึงเกี่ยวกับการเข้าถึงยาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสภาพจิตใจ (mental health)
เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ประจำปี 2567 สิริลภัส กองตระการ สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขว่า ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตยาเสพติดมากกว่า ‘ปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่น’ ที่ตามจริงแล้วก็วิกฤตไม่ต่างกัน โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า
หากอ้างอิงข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปี 2565 ไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสะสม ในประเทศกว่า 1.5 ล้านคน (หรือความจริงอาจจะมากกว่านั้น) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอย่างน้อย 4,000 คน ต่อปี แต่งบประมาณที่จัดสรรให้กับกรมสุขภาพจิต ตีเป็น 1.8% จากงบกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2567 เท่านั้น
ทั้งที่การเข้าถึงบริการสาธารณสุขยังค่อนข้างจำกัด ประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาอย่างครอบคลุม จนกลายมาเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับไว้เอง เช่น ผู้ป่วยบางคนจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชียาหลัก ทำให้ต้องจ่ายส่วนต่างเอง
จนนำมาสู่การถกเถียงกันถึงประเด็น ‘ยาจิตเวช’ โดยเฉพาะยารักษาโรคซึมเศร้าว่า แต่ละสิทธิการรักษาพยาบาลได้ยาที่มีคุณภาพต่างกัน ดังนั้น The MATTER จึงขอรับหน้าที่เป็นผู้คลี่คลายข้อสงสัยดังกล่าวว่า แต่ละสิทธิได้รับยาแตกต่างกันจริงหรือไม่ และสาเหตุสำคัญของปัญหาดังกล่าวคืออะไรกันแน่
ยาต้านเศร้าใน ‘บัญชียาหลักแห่งชาติ’
บัญชียาหลักแห่งชาติ คือ รายการยาที่ประชาชนผู้มีสิทธิประกันสุขภาพของภาครัฐ เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม และ สวัสดิการข้าราชการ ซึ่งภาครัฐจะสนับสนุนค่ายา ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง
เท่ากับว่า ประชาชนที่ใช้สิทธิตามที่ระบุข้างต้น จะได้รับยาจากบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งยาต้านเศร้าที่อยู่ในบัญชีนี้มีทั้งหมด 7 ชนิด โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
- ยากลุ่ม SSRIs เป็นยารักษาโรคซึมเศร้าที่ช่วยเพิ่มระดับสารเซโรโทนินในสมอง เพื่อทำให้สุขภาพจิต อารมณ์ มีสมาธิดีขึ้น ถือเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย และไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง ดังนั้น ยากลุ่มนี้มักถูกนำมาใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้าในขั้นแรกๆ ซึ่งมีทั้งหมด 2 ตัวคือ ฟลูออกเซตีน (Fluoxetine) และ เซอร์ทราลีน (Sertraline)
- ยากลุ่ม TCAs เป็นยาช่วยลดอาการที่เกิดจากโรคซึมเศร้า ที่ยาต้านเศร้ากลุ่มอื่นรักษาไม่ได้ นอกจากนั้น ยังช่วยรักษาอาการหรือโรคอื่นๆ อีกด้วย เช่น อาการปัสสาวะรดที่นอน ย้ำคิดย้ำทำ และภาวะแพนิคกำเริบ ทำให้ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก จึงไม่ค่อยถูกนำมาใช้รักษาอาการซึมเศร้าในขั้นแรก โดยมีทั้งหมด 4 ตัว ได้แก่ นอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline) อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) โคลมิพรามีน (Clomipramine) และ อิมิพรามีน (Imipramine)
- ยากลุ่ม TeCAs และ NaSSA มีเพียงยาไมแอนเซอรีน (Mianserin) เป็นยาที่ช่วยรักษาโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคนอนไม่หลับ
ซึ่งยาต้านเศร้าในบัญชียาฯ จะมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไป เช่น อาเจียน เบื่ออาหาร และน้ำหนักขึ้น แต่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ลมชัก โรคไต อาจจะใช้ยาเหล่านี้ไม่ได้
ยาราคาถูก-ฟรี ความหวังของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
ผลสำรวจผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจาก Rocket Media Lab พบว่า ผู้ป่วย 1 ใน 3 เสียเงินค่ารักษาอย่างน้อย 21% ของรายได้ แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคทางจิตเวชจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิการรักษาพยาบาลก็ตาม โดยผู้คนให้ความเห็นประมาณว่า เพื่อลดความวุ่นวายจากการรอคิว หรือยาจากบัญชียาฯ ไม่ตอบโจทย์ มีผลข้างเคียงเยอะ
อย่างไรก็ดี ความต้องการอันดับ 1 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ชำระค่ารักษาเอง คือ ต้องการยาราคาถูกหรือฟรี ด้วยการให้ภาครัฐเพิ่มยาจิตเวชที่มีคุณภาพไปในบัญชียาหลักแห่งชาติมากกว่านี้ เพราะการใช้ยานอกฯ มีค่าใช้จ่ายสูง
“อยากให้เบิกได้ โดยไม่จำกัดตัวยา เพราะแพ้ยาในระบบ ทำให้จำเป็นต้องจ่ายค่ายานอกระบบที่ราคาแพงกว่า” ผู้ตอบแบบสอบถามคนหนึ่งระบุ
นพ.ปิยะวัฒน์ เด่นดำรงกุล คณะกรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยเคยให้ความเห็นประมาณเดียวกันว่า “ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ตอบสนองต่อยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ต้องใช้ยาที่อยู่นอกบัญชีที่มีราคาสูง”
“การจ่ายยาของแพทย์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แพทย์บางคนใช้ยาในบัญชียาหลัก บางคนก็ชอบใช้ยานอกบัญชี จึงตอบยากว่า มีสัดส่วนเท่าใด แต่ผมมักจะใช้ยาในบัญชีเป็นหลัก เพราะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยานอกบัญชีมีไม่เกินร้อยละ 5 เพราะยาในบัญชีมีผลข้างเคียงหรือใช้ไม่ได้ผลเท่านั้น” นพ.พนม เกตุมาน กล่าว
แต่เขาก็เห็นว่า ควรเพิ่มยาในบัญชียาแห่งชาติให้มากขึ้น เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาในบัญชียาฯ ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายระหว่างยาในบัญชีกับนอกบัญชีต่างกันมากหลายเท่าตัว
ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องยาที่มีปัญหา แต่ทรัพยากรสาธารณสุขด้านจิตเวชในไทยยังมีปัญหาอีกมากมาย โดยองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ระบุว่า อัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก และ ข้อมูลจากรายงานจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชของ กรมสุขภาพจิต ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ชี้ว่า ไทยมีจิตแพทย์รวม 845 คน คิดเป็นจิตแพทย์ 1.28 คนต่อประชากร 1 แสนคน
การรับมือกับผู้ป่วยซึมเศร้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
จิตแพทย์ส่วนใหญ่มองว่า แนวทางในการลดจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ต้องเริ่มต้นจากการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว หรือการทำให้เศรษฐกิจเติบโต และการลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ แต่การเพิ่มยาที่มีประสิทธิภาพลงในบัญชียาฯ จะถือเป็นอีกทางเรื่องหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาของผู้ป่วยซึมเศร้าได้เร็วที่สุด
เนื่องจากปัญหาการเพิ่มจำนวนจิตแพทย์ยังมีข้อจำกัด เพราะกระบวนการผลิตจิตแพทย์ทำได้ยากและใช้เวลานาน หากเปรียบเทียบกับสาขาอื่นๆ เช่น ศัลยศาสตร์ ที่สามารถผลิตบุคลากรได้ปีละ 30 คน
และเมื่อไม่นานมานี้ (25 ธันวาคม) ภาคประชาชนและกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า ยื่น 7 ข้อเสนอถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วยจิตเวช ข้อเสนอจากทางกลุ่ม เช่น บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ หรือ การเพิ่มยาต้านเศร้า-ยาจิตเวช 4 ตัว เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ
ได้แก่ โอแลนซาปี (Olanzapine) อะริพิพราโซล (Aripiprazole) เวนลาฟาซีน (Venlafaxine) และ เมทิลเฟนิเดต (Long acting Methylphenidate) ซึ่งยาเวนลาฟาซีนเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้ารุนแรง
ภาคประชาชนกล่าวว่า ยาเหล่านี้เป็นยาจำเป็นสำหรับผู้ป่วยบางคน และยังมีคุณภาพดีกว่ายาที่มีอยู่ในระบบขณะนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ก่อนหน้านี้ (25 มิถุนายน 2566) สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตฯ เดินทางไปที่ สปสช.เพื่อยื่นขอเสนอการบรรจุยา 7 รายการ เข้าบัญชียาฯ ซึ่งมียาที่เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า 2 รายการ ได้แก่ เวนลาฟาซีน และ เอสซิตาโลแพรม (Escitalopram) ทั้งนี้ รมว.สาธารณสุข ย้ำว่า จะผลักดันให้ยารักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีคุณภาพ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ
จึงกลายเป็นข้อสังเกตว่า การเพิ่มยาต้านเศร้าที่มีประสิทธิภาพลงไปในบัญชียาหลักแห่งชาติ อาจจะเป็นทางแก้ไขปัญหาที่ดีและรวดเร็วที่สุด ในการให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีอาการที่ดีขึ้น และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
อ้างอิงจาก