คิดบวก มองโลกในแง่ดี อดทนให้มากพอ ถ้าทำได้ คุณก็จะประสบความสำเร็จ แต่ถ้าใครบางคนพยายามมากแค่ไหน แต่ก็ไม่ไปถึงฝัน นี่เป็นเพราะเขาหรือเธอนั้นไม่เก่งพอ หรือเพราะโลกนี้กำลังทำร้ายตัวเขากันแน่?
ในปัจจุบันเรามักเห็นอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจมากขึ้น หรืออาจเป็นความรู้สึกของผู้คนในยุคสมัยนี้ ที่ทำให้เราได้ยินคำพูดอย่าง อาการหมดไฟ เป็นโรคซึมเศร้า เป็น imposter syndrome มองตัวเองไม่เคยดีพออยู่เสมอ ผู้คนที่มองไม่เห็นความฝัน เหนื่อยกับการวิ่งตามความสำเร็จ อยากนอนไปวันๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่หากเกิดขึ้นกับคนหลายคน และนั่นก็อาจจพิสูจน์ได้ว่าปัญหาความรู้สึกเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่คือปัญหาสังคม โดยมีอุดมการณ์แบบโลกสัจนิยมแบบทุน ที่อยู่เบื้องหลัง
เมื่อทุนนิยมเกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจเรา หนังสือ เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์ หนังสือเล่มใหม่ของ ศ.สรวิศ ชัยนาม ชวนพาเราไปสำรวจข้อคิดเห็นและข้อสังเกตว่า ทุนนิยมกำลังทำให้อัตราของภาวะซึมเศร้าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างไร การโจมตีหรือกล่าวโทษผู้คนในฐานะปัจเจกเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร หรือทำไมเราถึงรู้สึกตัวเองด้อยค่าในโลกที่ถามหาความสำเร็จจากผู้คนมากขนาดนี้
The MATTER หยิบหนังสือไปพูดคุยกับอาจารย์สรวิศเกี่ยวกับโลกสัจนิยมแบบทุนที่ส่งผลต่อสุขภาพใจของเรา ปัญหาของทุนนิยม และวิธีการต่อสู้และมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในอนาคต ว่าถ้าไม่ใช่ทุนนิยม แล้วจะเป็นระบบใดได้บ้าง หรือเราจะอยู่กับโลกทุนนิยมนี้ต่อไปอย่างไร
อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า โลกสัจนิยมแบบทุน (Capitalist Realism) ว่าคืออะไร
ผมจะอธิบายตามแนวคิดแบบ มาร์ก ฟิชเชอร์ (Mark Fisher) ตามในหนังสือ เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์ ที่ก็เขียนเกี่ยวกับความคิดของเขาในเรื่องนี้เลย โลกสัจนิยมแบบทุน หรือ Capitalist Realism เปรียบเหมือนอุดมการณ์ มันเป็นความเชื่อ อาจรวมถึงทัศนคติด้วยซ้ำที่มองว่าทุนนิยมคือคำตอบสุดท้ายของเรา ที่มองว่ามันไม่มีวิถีทางอื่นใดนอกเหนือจากทุนนิยม ซึ่งก็หมายความว่าไม่มีอะไรใหม่ที่จะมาทดแทนทุนนิยมหรือเป็นทางเลือกนอกเหนือจากทุนนิยมได้
แล้วก็โลกสัจนิยมแบบทุนก็จะพยายามเสนอว่า คุณจะชอบหรือไม่ชอบทุนนิยมมันไม่ใช่เรื่องสำคัญ ประเด็นคือคุณต้องอยู่กับทุนนิยมให้ได้ คล้ายๆ กับช่วงหนึ่งที่ฮิตพูดกันว่า keep calm and carry on ก็คือคุณจะชอบไม่ชอบก็เรื่องของคุณอะ แต่ก็ต้อง keep calm และดำเนินชีวิตต่อไปให้ได้ อยู่กับมันให้ได้
โลกสัจนิยมแบบทุนเนี่ยมาควบคู่กับความคิดความเชื่อที่ว่ามุมมองที่อาศัยชนชั้นมาเป็นกรอบวิเคราะห์ทางสังคม หรือที่เน้นชนชั้นในการเปลี่ยนแปลงสังคมมันไม่มีความสำคัญอีกแล้ว ดังนั้นก็ทิ้งเรื่องชนชั้นในฐานะเครื่องมือในการวิเคราะห์สังคม เปลี่ยนแปลงสังคม ช่างแม่ง ไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว และถ้าทุนเป็นคำตอบสุดท้าย นั่นก็หมายความว่าโครงการทางการเมืองหรือโครงการทางสังคมใดๆ ที่เน้นการปลดปล่อยหรือการปลดแอก สิ่งเหล่านี้ก็ไม่สำคัญอีกเช่นเดียวกัน เพราะว่ามันไม่มีซึ่งความจำเป็นที่จะต้องไปท้าทายหรือขัดง้างกับทุน
ดังนั้น ถ้าชนชั้นทางสังคมไม่สำคัญ ทุนนิยมไม่สำคัญ ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของคุณมันก็กลายเป็นเรื่องของคุณ คุณต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ เพราะโครงสร้างทางสังคมไม่ได้มีผลต่อชีวิตคุณ หรือไม่ใช่สิ่งสำคัญ
เพราะงั้น มันก็มีทางเลือกอยู่สองทาง ทางแรกก็คือโทษตัวเอง
ฉันล้มเหลวในชีวิตเพราะตัวฉันเองเท่านั้น หรือสอง
ถ้าคุณไม่โทษตัวเอง คุณก็ต้องหาใคร อะไรบางอย่าง
หรือกลุ่มที่จะโทษหรือโยนความผิดไปให้
อย่างบางคนอาจโทษพวกต่างด้าว พวกหนักแผ่นดินทั้งหลาย ที่ทำให้ชีวิตคุณไม่มีความสุขหรือล้มเหลวเป็นต้น อันนี้ก็จะมาในทำนองนี้ก็แล้วกัน
สุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้อย่างไร
อันนี้ก็เป็นคำถามที่ใหญ่ อาจตอบได้ในหลากหลายระดับละกัน ผมคิดว่าประเด็นแรกเลยก็คือสิ่งที่ Fisher เน้นเสมอ เวลาพูดถึงสุขภาพจิตหรือโรคซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้าทั้งหลายเนี่ย เขาจะบอกว่าเรื่องส่วนตัวไม่เคยเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ ซึ่งหมายความว่า บางทีปัญหาที่คิดว่าเป็นปัญหาส่วนตัวเนี่ย แต่กลายเป็นว่ามันค่อนข้างหาได้ทั่วไป ค่อนข้างแพร่หลาย เกิดขึ้นกับหลายๆ คน ดังนั้นนี่จึงไม่ได้แค่เป็นปัญหาของเรา แต่มันอาจเป็นปัญหาสากลหรือปัญหาของสังคม เป็นต้น แต่ผมคิดว่าหัวใจอันหนึ่งคือการการมองเรื่อง ‘ความเป็นส่วนตัว’ หรือ ‘ตัวตน’ ของเรา ที่เรามักจะลืมไปว่า สิ่งที่ไม่ใช่เราหรือสิ่งที่รอบตัวเรา มันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ประกอบสร้างความเป็น ‘ตัวตน’ ของเรา คือความเป็นส่วนตัวของเรา ถ้าคิดกว้างๆ ก็คงเป็น ภาษา ขนบ วัฒนธรรม กฎหมาย บรรทัดฐานทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้ประกอบสร้างตัวเราขึ้นมา
ในหนังสือของผม ผมเลยเน้นเรื่องสิ่งที่เรียกว่าทุน สิ่งที่เรียกว่างาน สิ่งที่เรียกว่าความเชื่อ วาทกรรมที่เรียกว่า self-help พึ่งพาตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองทั้งหลายเหล่านี้ มันส่งผลต่อความเป็นส่วนตัวและตัวตนของเราอย่างไร หรือมันอาจคุกคามความเป็นส่วนตัวของเราอย่างไร งานของผมเลยต้องศึกษาสภาพแวดล้อมทางวัตถุด้วย เพราะสิ่งเรานี้มันประกอบสร้างตัวตนของเราขึ้นมา
สิ่งเหล่านี้ก็เลยไปโยงเข้ากับทุนก็ได้ การเมืองก็ได้ ซึ่งก็กลับมาที่คำถามว่าการเมืองมันมีไว้เพื่ออะไร การเมืองมีไว้เพื่อรักษาสัจนิยมแบบทุน ‘การเมือง’ มันมีไว้เพื่อรักษาสถานภาพเดิมที่ความเหลื่อมล้ำมีแต่เพิ่มมากขึ้น ที่ช่องว่างทางสังคมมีแต่เพิ่มมากขึ้น ที่ชีวิตเปราะบางมากขึ้น ที่สถานภาพทางสังคมนั้นท้าทายไม่ได้และตายตัว ที่ปล่อยให้ทุนทำงานอย่างเสรีโดยปราศจากการควบคุมในทุกๆ ด้านเลย ตั้งแต่การสุขภาวะ สุขภาพ การศึกษา ยันที่อยู่อาศัย
สรุปแล้ว ’การเมือง’ มีไว้เพื่อสร้างชีวิตมนุษย์ที่ดีขึ้น
หรือ ‘การเมือง’ มีไว้เพื่อให้ทุนนั้นสะสมตัวเอง
แล้วก็ไหลเวียนอย่างไม่ติดขัด เป้าหมายของการเมืองมันคืออะไร
ถ้ามันเป็นไปเพื่อทุน แน่นอนว่าก็ส่งผลทางลบสู่ตัวตนของฉัน แต่ถ้าการเมืองมันขัด มันชน มันพยายามจะคานกับทุน ก็น่าจะส่งผลดีต่อตัวตนของฉัน
ไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อนมาก ถ้าชีวิตเปราะบางในสังคมที่เหลื่อมล้ำมากๆ อาจต้องเป็นหนี้เป็นสินมากมายเพื่อดำรงชีวิต เพราะว่าในทุกๆ ด้านมันก็ค่อนข้างตรงไปตรงมาว่ามันจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายและจิตของคนคนหนึ่งหรือกลุ่มคนหนึ่งๆ อย่างไร เท่ากับว่าถ้าเรื่องส่วนตัวไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ นั่นก็หมายความว่า มันเป็นเรื่องที่หาได้ทั่วๆ ไป เป็นเรื่องที่หาได้ในคนหมู่มาก และอาจในบางชนชั้นเป็นพิเศษด้วยซ้ำด้วย
ทำไมอยู่ๆ โลกทุนนิยมที่มันอยู่กับเรามาก็นาน 500 ปี เพิ่งแสดงผลลัพธ์ของอัตราความเจ็บป่วยทางจิตที่เกิดสูงขึ้นในยุคสมัยนี้
จุดเน้นของหนังสือผม ผมไปเน้นที่ในช่วงร่วมสมัยของเราละกัน ก็คือราวๆ เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา แต่จริงๆ ผมคิดว่าทุนเอง ตลอด 500 ปีที่ผ่านมาก็คุกคามกายและจิตของเราเป็นอย่างมาก อย่างเช่นการค้าทาส ก็คุกคามร่างกายและจิตใจของทาสเป็นอย่างมาก หรือจักรวรรดินิยม ก็คุกคามร่างกายและจิตใจของผู้คนมากมายที่อยู่ใต้อำนาจจักรวรรดิ คนทั้งเมืองที่ถูกฆ่าถูกต้อน ถูกควบคุม กดขี่มากมาย รวมถึงแน่นอนในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมก็มีโรงงานนรกมากมายที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับร่างกายและจิตใจของผู้คน
แต่สิ่งที่ผมเน้นในหนังสือก็คือ ในโลกตะวันตกช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา มันเห็นถึงจุดเปลี่ยนอะไรบางอย่าง จากการเปลี่ยนรูปแบบของเศรษฐกิจ ใหญ่เลยตามวิชาการก็คือ เศรษฐกิจในแบบฟอร์ด (Fordism) ไปสู่เศรษฐกิจในแบบหลังฟอร์ด พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันมีความเป็นเสรีนิยมใหม่มากขึ้น เข้มข้นมากขึ้น และการเปลี่ยนผ่านมาเป็นเสรีนิยมใหม่อันนี้ ก็เลยทำให้ชีวิตเปราะบางมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น อำนาจแรงงานถ้าเทียบกับทุนเนี่ยก็ถูกทำให้อ่อนแอลงเป็นอย่างมาก และแน่นอน รวมถึงการสิ้นสุดของสงครามเย็น การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ ทำให้ทุนนั้นไม่มีคู่แข่งใดๆ แล้วการไม่มีคู่แข่งใดๆ กลับกลายเป็นผลเสียต่อผู้คนมากมาย เพราะว่ามันกลายเป็นปราศจากการควบคุม
ในหนังสือผมก็พยายามจะเน้นว่าในยุคเศรษฐกิจแบบฟอร์ดในโลกตะวันตก อย่างน้อยมันก็มีเวลาที่เรียกว่า ‘ยุคทองของทุนนิยม’ ช่วงค.ศ. 1945 ไปสู่ค.ศ. 1970 นี่คือยุคของรัฐสวัสดิการที่ค่อนข้างเข้มแข็ง นี่คือยุคของที่เป็นการประนีประนอมระหว่างชนชั้น ก็คือชนชั้นทุนประนีประนอมกับชนชั้นแรงงาน เพราะว่าเกรงกลัวอำนาจของชนชั้นแรงงาน และก็เกรงกลัวว่าถ้าไม่ยอม ไม่ประนีประนอมกับแรงงานเนี่ย มันจะมีการปฏิวัติของสังคมไปในทิศทางของสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ได้ แน่นอนว่าในช่วงเวลานั้นก็มีภัยคอมมิวนิสต์ที่ทำให้ฝั่งทุนจะต้องยอมประนีประนอมกับแรงงาน ยอมให้จ่ายภาษี ภาษีเงินได้ ภาษีต่างๆ ในฐานสูง เพื่อเอาไว้โอบอุ้มรัฐสวัสดิการ แต่หลังจากนั้น พอเข้าสู่ยุคหลังฟอร์ด เข้าสู่เสรีนิยมใหม่ ฝั่งทุนก็เลิกสิ่งเหล่านี้ เรียกว่าเป็นช่วงเอาคืนของฝั่งทุนก็แล้วกัน ก็คือ กูยอมประนีประนอมกับมึงมาสองสามทศวรรษแล้ว พอแล้ว ได้เวลาเอาคืนแล้ว
ก็เลยเกิดยุคของเสรีนิยมใหม่ แรงงานถูกทำให้อ่อนแอลง ทุนประนีประนอมน้อยลง และรัฐสวัสดิการถูกรื้อถอนในโลกตะวันตก หรือถูกทำให้อ่อนแอลง และอะไรอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้เลยกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดว่า เมื่อชีวิตคนเปราะบางมากขึ้น แรงงานอ่อนแอมากขึ้น รัฐสวัสดิการถูกทำให้อ่อนแอลง
สิ่งเหล่านี้มันส่งผลในด้านลบต่อสุขภาพจิต
สิ่งเหล่านี้มันนำไปสู่อัตราการเพิ่มขึ้นของโรคซึมเศร้า
แปลว่าจริงๆ แล้ว รัฐสวัสดิการมันเคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้และได้ผลใช่ไหม
มันมองได้หลายทาง แต่อาจจะเน้นว่า รัฐสวัสดิการช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่ 20 มันเกิดขึ้นในสภาวะอะไรบางอย่างที่อาจไม่สามารถหวนคืนกลับได้ เพราะมันมีสงครามเย็น มันมีภัยคอมมิวนิสต์ มันมีช่วงที่แรงงานเข้มแข็ง มีชนชั้นนายทุนในโลกตะวันตกหวาดกลัวแรงงาน กลัวแรงงาน กลัวสังคมนิยม กลัวภัยคอมมิวนิสต์ เพราะเป็นยุคหลังสงครามโลก ก็เลยยอมประนีประนอม ซึ่งสภาพแวดล้อมเช่นนี้ บริบทเช่นนี้ มันไม่สามารถหวนคืนกลับไปได้ โดนเฉพาะมองจากฝั่งปัจจุบันที่แรงงานอ่อนแออย่างมาก ที่ทุนไม่ยอมประนีประนอมกับแรงงาน ความเหลื่อมล้ำมันเห็นชัดเป็นอย่างมาก และทุนก็ไม่ได้กลัวแรงงานในปัจจุบันเหมือนในอดีต และมันก็ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเหนือจากทุนนิยม หรือที่ออกมาท้าทายทุนนิยม อันนี้ก็คงเป็นประเด็นแรก
อย่างที่สองเราก็อาจมองได้ด้วยซ้ำว่า รัฐสวัสดิการก็คือการประนีประนอมระหว่างชนชั้น ก็คือวิธีที่จะช่วยรักษาให้ทุนนิยมนั้นอยู่ต่อไปได้ ซึ่งไม่ได้บอกว่ามันไม่ได้ส่งผลดีต่อทุกคน มันส่งผลดีอย่างมาก ส่งผลดีต่อแรงงานมาก มีข้อดีมากมาย แต่เป้าหมายของมันไม่ใช่เพื่อไปให้พ้นจากทุนนิยม เป้าหมายของมันเพื่อให้ทุนนิยมอยู่รอดต่อไปได้ โจทย์ที่สำคัญก็คือ ถ้าเราคิดว่าเราควรจะไปพ้นทุนนิยม ถ้าเราคิดว่าเราควรที่จะมีโครงการทางการเมืองที่จะปลดแอก การเมืองเพื่อที่จะปลดปล่อยใดๆ เราก็ต้องพยายามที่จะคิดเพื่อจะไปพ้นความคิดในแบบรัฐสวัสดิการในแบบทศวรรษที่ 20 ด้วย ก็แค่เน้นว่า ใช่ มันส่งผลดีต่อแรงงานมากมาย แต่ก็อย่างที่บอกว่า ถ้ามองจากปัจจุบันเนี่ยมันจะเป็นไปได้แค่ไหน ในเมื่อเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์มันเปลี่ยนไปมากแล้ว
ในสังคมที่มันยิ่งเหลื่อมล้ำสูงเนี่ย ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นด้วยใช่ไหม
ก็มีงานจำนวนหนึ่ง รวมถึงมุมมองของ WHO ด้วยซ้ำที่มองว่า สุขภาพจิตกับความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคมนั้นสัมพันธ์กัน ดังนั้น ถ้าคุยกับพวกนักระบาดวิทยาจำนวนหนึ่ง เขาก็จะพยายามเสนอว่า อัตราของผู้ป่วยซึมเศร้านั้นจะเพิ่มมากขึ้นตามอัตราของความเสื่อมของสังคม ยิ่งสังคมเหลื่อมล้ำมากขึ้นเท่าไรก็จะมีผู้คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น หรือจริงๆ ก็มากกว่านั้นที่ป่วยและมีปัญหาด้านสุขภาพมากขึ้นกว่าสังคมที่มีความเท่าเทียมกันมากกว่า ตั้งแต่โรคอ้วน ติดยา ติดเหล้า อะไรมากมาย ดังนั้น อันนี้ก็มีตัวเลข มีสถิติของฝ่ายนักระบาดวิทยาที่ใช้เป็นข้อมูลเพื่อสนับสนุนมุมมองนี้ได้
หรือคิดในแบบสังคมวิทยา หรือในแบบ common sense เลย ก็ค่อนข้างเป็นไปได้ ว่ายิ่งสังคมเหลื่อมล้ำมากเท่าไร ก็อาจมีความเครียดมากขึ้น คนเครียดมากขึ้น เพราะคนข้างล่างก็รู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมชีวิตได้ แล้วก็รู้สึกไร้ค่า แล้วก็ในสังคมที่เหลื่อมล้ำ คนทุกคนก็อาจกังวลกับสถานะตัวเอง พวกชนชั้นนำก็คอยกังวลว่า คนที่อยู่ชั้นล่างนั้นยกย่องตัวเองหรือเปล่า เคารพตัวเองหรือเปล่า หรือในสังคมที่เหลื่อมล้ำนั้นก็อาจหมายความว่า คนต้องคอยแข่งขันและเปรียบเทียบกันและกันตลอดเวลา ฉันสูงกว่าเขาหรือเปล่า เขาสูงกว่าฉันแค่ไหน หรือไม่ก็ถ้าสังคมมันเครียดมาก คนแข่งขันมาก ก็อาจมีคนจำนวนหนึ่งที่ถอนตัวออกจากสังคม เพราะมันไม่ไหวแล้ว ต่อสู้ไม่ไหวแล้ว มันเครียดเกินไป รวมถึงอาจไปติดสารเสพติด ติดเหล้า เพื่อทำให้รับมือกับความเครียดหรือความกังวลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
มองง่ายๆ มันก็สร้างความเชื่อมโยงได้ไม่ยากว่า
ยิ่งสังคมเหลื่อมล้ำเท่าไรก็ยิ่งมีอัตราของ
ผู้ที่เป็นผู้ป่วยซึมเศร้ามากขึ้นด้วย
ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนผิดหรือโยนความผิดไปให้คนอื่น การโยนความรับผิดชอบไปที่ปัจเจกมันเกิดขึ้นทั่วโลก หรือว่าจริงๆ แล้วในสังคมไทยมันดูเยอะกว่าปกติ?
อันนี้ผมไม่แน่ใจจริงๆ นะ แต่ผมคิดว่ามันน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ก็คือเวลาสักประมาณในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา แล้วก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าสนใจที่ในขณะที่สังคมเหลื่อมล้ำมากขึ้น หรือชีวิตเปราะบางมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการทำงานของทุน เมื่ออำนาจชนชั้นมันอยู่ในพรรคทุน หรือมันเทไปฝั่งทุนเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็ทำให้แรงงานอ่อนแอมากขึ้น และสิ่งเหล่านี้เลยกลับกลายเป็นว่า เราเน้นโทษตัวเองมากขึ้นกับปัญหาที่เราประสบ
หรือจริงๆ เรื่องอีกอันหนึ่งที่อยากจะพูดด้วยก็คือ ในขณะที่หลายทศวรรษที่ผ่านมา สภาพการทำงานมันแย่ลงอย่างมาก แต่ช่วงเวลาเดียวกันมันก็กลับมีวาทกรรมที่บอกว่า เราต้องรักในงานที่เราทำ เราต้องมี passion ในงานที่เราทำ ในทำนองนี้ มันคือกลับกลายเป็นว่า ยิ่งเราสูญเสียการควบคุมชีวิตเรา อาจเป็นจากปัจจัยเพราะเศรษฐกิจ การเมือง หรือทุน ไปมากเท่าไร ตรงกันข้าม เรายิ่งโทษตัวเองมากขึ้น เรายิ่งรู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบกับชีวิตเรามากขึ้น
เพราะว่าทุนมันพยายามกดดันให้เราแข่งขัน ทำตัวเองให้ดีที่สุด หรือประมาณว่าทำให้ตัวเรารู้สึกว่าเราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ซึ่งมันก็กดดันด้วยใช่ไหม
ใช่ครับ ก็คือทุนทำให้เราไม่สามารถควบคุมชีวิตการทำงานของเราได้ ทำให้เราในฐานะแรงงานนั้นอ่อนแอ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้ชีวิตเราเปราะบางมากขึ้น ทำให้เราเป็นหนี้สินมากมายเพื่อความอยู่รอด เดี๋ยวนี้งานเดียวมันไม่พอแล้วที่เราจะดำรงชีวิต ที่จะทำให้เราอยู่รอด เราต้องเป็นหนี้ด้วยซ้ำ และทั้งหมดทั้งปวง ต่อให้ทุนมันทำเช่นนี้แล้ว แต่สุดท้ายทุนก็บอกว่าตัวมันไม่ผิดอะ สุดท้ายแล้วทุนก็บอกว่าถ้าชีวิตคุณยังเปราะบางอยู่ ยังยากจนอยู่ ยังเป็นหนี้สินท่วมหัวเนี่ย มึงก็ต้องโทษตัวเอง เพราะว่าคุณไม่มีงานทำ คุณไม่ขวนขวายเอง ผมไม่ชอบคำกล่าวนี้เลย สังคมมันมีวิกฤติหรือเปล่า แล้วสังคมมันมีวิกฤติเยอะจะตาย วิกฤติแล้ว วิกฤติเล่า แล้วเราก็เอาแต่พร่ำบอกว่า ถ้าเราฉลาด ถ้าเราหาโอกาสในวิกฤติได้ เราก็จะรอด นี่เหมือนเป็นการโทษปัจเจกหรือเปล่า มันเป็นการโทษ การปัดภาระ หรือโยนความรับผิดชอบให้ปัจเจกเกินไปหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ ปัญหาทางสังคม เป็นปัญหาของเศรษฐกิจการเมืองไม่ใช่หรือ แต่ทำไมถึงบอกว่าเศรษฐกิจการเมืองมันสร้างวิกฤติก็จริง แต่สิ่งที่จะแก้ไขได้ถึงขึ้นอยู่กับปัจเจกที่จะหาโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองให้ประสบความสำเร็จ
คือคนชอบพูดว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ อะไรทำนองนี้ เราต้องเน้นเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน ซึ่งมันไม่จริงเสียทีเดียว คือบางทีสิ่งที่เกิดขึ้นนอกตัวเรานั้นมันส่งผลมาสู่ตัวเรา มีนักจิตวิทยาฝ่ายขวาที่ชื่อ จอร์แดน ปีเตอร์สัน (Jordan Peterson) เขาชอบพูดว่า “เราต้องปัดกวาดบ้านของเราให้เรียบร้อยก่อน ก่อนที่จะออกไปเปลี่ยนแปลงสังคม หรือเปลี่ยนแปลงโลก” แต่ประเด็นก็คือ โลกภายนอกต่างหากที่สามารถส่งผลและทำให้เราไม่สามารถปัดกวาดบ้านเราให้เรียบร้อยได้ คือถ้าเน้นแต่ตัวเอง เน้นแต่พัฒนาตัวเอง มันก็จะพยายมกลบปัญหาสังคม แล้วทำให้มีแต่ปัญหาของปัจเจก ปัญหาส่วนตัว
ซึ่งถ้าลองเอามาทาบกับสิ่งที่รัฐไทยพยายามจะบอกหรือสื่อสารกับคนในสังคมตลอดเวลา เช่นในช่วง COVID-19 สั่งให้ประชาชนตั้งการ์ดสูง ต้องระวังตัวเอง เท่ากับว่ารัฐไทยเองก็มีอุดมการณ์ในการตอบสนองต่อทุนมากกว่าจะไปคัดง้างกับทุนใช่ไหม
นี่คือการโยนความรับผิดชอบไปให้ปัจเจก ที่พูดเหมือนกับก็แค่สวมหน้ากาก รักษาระยะห่างทางสังคม ล้างมือบ่อยๆ ก็โอเคแล้ว แต่มันมากกว่านั้นหรือเปล่า มันอยู่ที่นโยบาย การใช้อำนาจของรัฐ การบังคับใช้กฎหมายหรือเปล่า เป็นเรื่องการนำเข้าวัคซีน การกระจายวัคซีน การเร่งฉีดให้กับประชาชนมากกว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องของการไม่สวมหน้ากาก การไม่ล้างมือบ่อยๆ และการไม่รักษาระยะห่างทางสังคม หรือการ์ดตกนั่นเองใช่ไหม
สองก็คงเป็นว่า ใช่ มันก็ขึ้นอยู่กับทุน เพราะว่าทุนมันต้องไหลเวียน ทุนมันจะสะสมได้มันก็ต้องไหลเวียน และการไหลเวียนของทุนส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับการไหลเวียนของผู้คนด้วย หลักๆ ก็คงเป็นว่า จะทำหน้าที่เพื่อให้ทุนนั้นสะสมไปได้อย่างต่อเนื่อง หรือจะมีมาตรการใดๆ เพื่อรักษาชีวิตทุกคน เป็นต้นละกัน
คราวนี้มันก็จะมีมาตรการใดๆ ของรัฐที่จะช่วยปกป้องผู้คน และชีวิตผู้คนในช่วงโควิด มันก็คงไม่ใช่แค่วัคซีนที่สำคัญ เงินช่วยเหลือต่างๆ ก็คงสำคัญ แต่มันก็ควรมีอะไรอีกมากมาย เช่น การพักชำระหนี้เป็นต้น พักชำระค่าเช่าเป็นต้น ช่วงกี่เดือนก็ว่าไป หรือในสเปนมั้ง ในช่วงปีที่แล้วเนี่ย โรงพยาบาลเอกชนทำให้คนสามารถเข้าถึงโรงพยาบาลได้ เป็นต้น มันก็มีอะไรอีกมากมายที่รัฐสามารถทำได้ นอกเหนือจากเรื่องวัคซีน การนำเข้าวัคซีนอย่างเร่งด่วน มันทำได้อีกเยอะแยะเลย เพียงแต่ว่าการทำสิ่งเหล่านั้นเนี่ยมันย่อมขัดกับผลประโยชน์ของทุน
ในหนังสือพูดประมาณว่า โรคซึมเศร้ามันช่วยให้เราเริ่มตั้งคำถามกับทุนนิยมมากขึ้น ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
ตอบแบบตรงไปตรงมา คือถ้าทุนนั้นมันล้ำเข้ามาในอาณาบริเวณของชีวิตของเรา ถ้าทุนนั้นมันครอบคลุมไปทั่วโลก ถ้ามันไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเหนือจากทุนนิยมที่เป็นคำตอบหนึ่งเดียวของเราแล้ว การที่ผู้คนมีภาวะเป็นโรคซึมเศร้านี้มากขึ้นก็ไปสัมพันธ์กับการที่เราไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเหนือไปจากทุนนิยม มันสัมพันธ์กับอำนาจของทุนที่เบ็ดเสร็จในปัจจุบัน
ฝั่งที่เชียร์ทุนสายสัจนิยมก็จะบอกว่านี่คือคำตอบสุดท้าย ฝ่ายที่เชียร์ทุนที่ไม่ใช่สายสัจนิยมก็จะบอกว่า ทุนนิยมจะนำพาอนาคตที่ดีมาสู่เรา ความก้าวหน้าและต่างๆ นานา แต่โรคซึมเศร้าเหมือนกับเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เราตั้งคำถามได้ว่า เฮ้ย มันไม่ได้ดีขึ้นกับคนส่วนใหญ่เลยนะ มันไม่ดีขึ้นกับคนจำนวนมากเลยนะ ทำไมเราต้องยอมรับระบบนี้ ถ้าการยอมรับระบบนี้มันหมายความว่าเราต้องยอมรับการที่สุขภาพจิตเราถูกทำลาย
ผมอาจเน้นหรือเสนอเช่นนี้ด้วยซ้ำว่า ยิ่งทุนเจริญงอกงามมากเท่าไร ยิ่งทำลายสุขภาพจิตเรามากขึ้น ยิ่งทำให้เราซึมเศร้าและหมดไฟมากเท่านั้น
ถ้าการทำให้แรงงานรู้สึกแย่ลง รู้สึกไม่ดี สุขภาพจิตไม่ดี แล้วมันส่งผลต่อคุณภาพงานหรือกำไรของทุนที่จะได้ ทำไมทุนนิยมถึงกดให้คนรู้สึกแบบนี้
โอเค ผมคิดว่า ด้านหนึ่งก็ต้องเข้าใจว่า หัวใจของทุนนิยมมันคือการสร้างผลกำไรใช่ไหม หัวใจของทุนคือการสะสมทุนและทำให้ปัจจัยนั้นไหลเวียนอย่างต่อเนื่องอย่างไม่ติดขัด งั้นหัวใจของทุนก็คือการสร้างผลกำไร แต่คราวนี้ หัวใจของทุนมันไม่ใช่การสร้างมนุษย์ที่ดี หัวใจของทุนมันไม่ใช่การทำให้คนอยู่ดีกินดี สิ่งเรานี้เป็นแค่ผลพลอยได้ ซึ่งอาจจะบังเอิญเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าแรงงานนั้น บุคคลนั้นสามารถควบคุมทุนได้มากน้อยแค่ไหน มีอำนาจในการควบคุมทุนได้มากน้อยแค่ไหน มีอำนาจในการต่อรองกับต้นทุนได้มากน้อยแค่ไหน
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ อย่าลืมว่าสุขภาพจิตที่พัง ก็เป็นผลดีต่อทุนด้วยนะ เพราะนี่คือนิคมอุตสาหกรรมพันล้าน ทั้งในฝั่งของโรงพยาบาล คลินิกบำบัดอะไรมากมาย รวมถึงในฝั่งของอุตสาหกรรม self-help ที่บอกให้เราต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องพึ่งตัวเอง พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น อันนี้ก็ได้อานิสงส์จากสุขภาพจิตที่ถูกคุกคาม จากใจที่ถูกทำให้ย่ำแย่ลงเป็นต้น
ถ้าคนส่วนใหญ่เริ่มมองเห็นว่าทุนนิยมมันส่งผลต่อตัวเราอย่างไร แล้วทำไมทุนนิยมมันก็ยังดำเนินของมันต่อไปได้อยู่แบบนี้ โดยที่เราก็ก้มหน้าก้มตาทำงานของเราต่อไป
ประเด็นแรก ในสังคมไทยนั้น ผมไม่แน่ใจว่าเราต่อต้านทุนนิยมมากน้อยแค่ไหน ผมก็ขอทิ้งไว้เป็นคำถามละกัน เพราะว่าถ้าพูดเรื่องการต่อต้านเผด็จการ อันนี้อาจจุดติด แต่ถ้าเบอกว่าเราต่อต้านทุนนิยม ผมคิดว่าสังคมไทยส่วนใหญ่ยังอาจไม่ยอมรับแนวคิดนี้เท่าไหร่ เพราะก็จะตั้งคำถามว่า เอ๊ะ เป็นสังคมนิยมเหรอ? เอ๊ะ เป็นคอมมิวนิสต์เหรอ? และอะไรอีกมากมาย ผมก็เลยไม่แน่ใจว่าเราเห็นถึงปัญหาของทุนนิยมมากน้อยแค่ไหน
ปัญหาคือแรงงานส่วนหนึ่งที่เคยเห็น เขาก็ไม่ได้ต่อต้านทุนนิยม เขาแค่ต่อต้านรัฐบาลที่อ่านเศรษฐกิจไม่เป็น หรือรัฐบาลที่บริหารเศรษฐกิจอย่างบกพร่อง ก็คือมองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทุนนิยม แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้บริหารเศรษฐกิจ ปัญหามันคือคอร์รัปชั่น ถ้าไม่มีการคอร์รัปชั่นในประเทศ ถ้านักการเมืองไม่ฉ้อฉลเนี่ย ประเทศเราก้าวหน้าพัฒนาไปแล้ว และปัญหาไม่ได้อยู่ที่รูปแบบเศรษฐกิจที่เราใช้ แต่ปัญหามันคือรัฐบาล คือการคอร์รัปชั่นหรือระบบราชการว่าเป็นปัญหามากกว่า
แล้วก็จะมีสายที่มองว่า ทุนนิยมมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกทุนนิยมแบบไหน มองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทุนนิยม ปัญหามันคือรูปแบบศูนย์รวมที่เราใช้ ซึ่งมันฟังดูดี แต่ปัญหาคือใครเลือกมาวะ แล้วการที่เลือกทุนนิยมได้มันก็ต้องสร้างอำนาจมากมายถึงจะเลือกทุนนิยมได้ แล้วโจทย์ก็คือ ทำไมเราต้องเลือกแค่ทุนนิยมล่ะ ผมก็เลยแอบรู้สึกว่า โลกสัจนิยมแบบทุนในประเทศหรือในสังคมไทยยังค่อนข้างเข้มข้นมากกว่าในต่างประเทศ เช่นในหมู่ของเยาวชนรุ่นใหม่ที่อเมริกา
แต่ถ้าตอบปัญหาให้ตรงกว่านี้ว่า ทำไมเราไม่ค่อยได้ต่อต้านทุนนิยม
ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะเราไม่มีเวลาว่างอะ นึกออกไหม
เราทำงานตลอดเวลา เพราะชีวิตกลายเป็นงาน ตื่นมาเราไม่มีสิทธิที่จะไม่ทำงาน เพราะถ้าไม่ทำงานเราก็อดตาย งานก็กินเวลาส่วนใหญ่ของเราไปแล้ว โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีสารสนเทศ มีสมาร์ทโฟน ที่ทำให้เราเริ่มงานได้ตั้งแต่ตื่นนอน งานมันกินเวลาชีวิตเรามากขึ้น ทำให้เรามีเวลาว่างน้อยลง เมื่อมีเวลาว่างน้อยลง เราก็มีเวลาที่จะวิพากษ์ ต่อต้าน หรือถกเถียง และสร้างอะไรใหม่ๆ น้อยไปด้วย
อีกอย่างคือ คนจำนวนหนึ่งอาจรู้สึกว่า ทุนมันไม่ได้กดขี่หรือมันไม่ได้บีบบังคับผู้คนเสียทีเดียว ต้องเข้าใจว่าทุนนิยมมันค่อนข้างแตกต่างจากระบอบอื่นๆ ทุนนิยมมันแตกต่างจากเผด็จการหรือเผด็จการทหาร ทุนนิยมมันต่างจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มันมีอำนาจที่กดทับโดยตรงอย่างเห็นได้ชัด แต่หลายคนก็รู้สึกว่าเขายังมีเสรีภาพอยู่ ทุนมันไม่ได้เบียดเบียนเสรีภาพของเขา และเขายังเป็นปัจเจกอยู่ได้ เพราะทุนทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นปัจเจก ซึ่งแตกต่างจากชาตินิยมหรือระบอบอื่นๆ
อย่างชาตินิยมนี่มันดึงให้คนเราเป็นชนชาติใช่ไหม เราเป็นส่วนหนึ่งของชาติ เราต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้มากมาย มีกฎเกณฑ์ ตรงกันข้ามกับทุนนิยมที่ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นแค่ปัจเจก ที่เราต้องแสวงหาผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น
ดังนั้น เราก็รู้สึกว่าแค่ทำงานของเราไป เแค่บริโภคของเราไป แค่แสวงหาผลประโยชน์ของเราไป มันไม่มีอะไรมากดทับเรา เพียงแต่ว่าสิ่งเดียวที่เรามองไม่เห็นในการทำเช่นนั้นก็คือ เรากำลังรับใช้การสะสมทุนอยู่ และเป็นการถูกครอบงำ หรือการรับใช้ทุนที่เห็นได้ยากกว่าการอยู่ภายใต้อำนาจในลักษณะอื่น มองไม่เห็นว่าทุนนิยมนั้นมีปัญหาและเบียดเบียนเราอย่างไร
อธิบายในแบบทฤษฎีหน่อย ก็คือทุนนิยมเป็นความรุนแรงแบบ ‘วัตถุวิสัย’ ในขณะที่ความกดดันแบบ ‘อัตวิสัย’ มันเห็นได้ชัดอะ มีคนกระทำอย่างชัดเจน แต่ความรุนแรงภายใต้ทุนนิยมหลายๆ ครั้ง มันเป็นความรุนแรงที่เรามองไม่เห็น ที่ห่างไกลจากชีวิตเรา แต่ทำให้ชีวิตเราดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นเหมือนกัน
อย่างเราไปซื้ออาหารกิน เราไม่เห็นว่ามันกลายเป็นอาหารได้อย่างไร เราไม่เห็นถึงกระบวนการปลูกผัก เราไม่เห็นถึงกระบวนการฆ่าสัตว์ กระบวนการปลูกผักที่อาจใช้สารเคมีเป็นอย่างมาก ทำลายสภาพแวดล้อม ไม่เห็นอุตสาหกรรมการฆ่าสัตว์ที่โหดร้ายรุนแรง และก็เป็นการขูดรีดแรงงาน เราก็แค่ซื้อเสื้อผ้าที่เราใส่ เราก็แค่ซื้อของมากมาย เราก็แค่สร้างความพึงพอใจให้เรา แต่เราไม่เห็นถึงกระบวนการผลิตของมันทั้งหมดว่ามันรุนแรงแค่ไหน อันนี้ก็อาจทำให้ทุนดูน่าพอใจขึ้นมา ว่าเราก็มีทางเลือกจากสินค้ามากมาย
หรือตอบในอีกแบบหนึ่งก็อาจเป็นว่า ทุนอาจแตกต่างจากระบอบอื่น ซึ่งมันก็คล้ายๆ กับโลกสัจนิยมแบบทุน ก็คือเราไม่ต้องเชื่อมัน จริงๆ ทุนไม่ได้คาดหวังให้คนส่วนใหญ่ศรัทธาในตัวมันด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าคุณก็แค่บริโภคต่อไป แค่ทำงานต่อไป คุณไม่ต้องศรัทธาในตัวทุนนิยม คุณไม่ต้องเชื่อว่าทุนนิยมมันเป็นระบบที่ดีที่สุด แต่คุณก็แค่ต้องใช้ชีวิตของคุณในฐานะปัจเจกต่อไป ทำงาน เป็นหนี้ สืบพันธุ์ ผ่อนนู่นผ่อนนี่ ซื้อของ บริโภคอะไรมากมาย คุณก็แค่ต้องใช้ชีวิตในแบบปัจเจกของคุณต่อไป ในหัวของคุณอาจวิจารณ์ทุนก็ได้ อาจต่อต้านทุนก็ได้ แต่ทุนมันก็อยู่ได้ด้วยช่องว่างอันนี้ ต่อให้ในหัวเราต่อต้านทุนนิยม แต่ในทางปฏิบัติ การกระทำของเรา เราก็ต้องพึ่งมันต่อไป ในการทำงานของเรา ในสินค้ามากมายที่เราบริโภค ซึ่งอันนี้ก็แตกต่างจากระบอบอื่นๆ คืออย่างบางประเทศเราต้องศรัทธาในท่านผู้นำ ถ้าเราวิจารณ์ท่านผู้นำเราก็ติดคุกได้ บางประเทศต้องศรัทธาชาติ ถ้าเราเผาธงชาติก็เรื่องใหญ่ ติดคุกได้เลย
เพราะงั้นทุนนิยมก็แตกต่างจากสิ่งเหล่านี้ เพราะมันไม่ได้บังคับให้เราเชื่อ
ซึ่งทุนนิยมทำให้คนต่างเจเนอเรชั่น มองต่างกัน ทั้งในเรื่องความอดทน ความเข้มแข็งต่างๆ ด้วยไหม
มันก็คือบริบทที่คุณไม่อดทน คุณไม่เข้มแข็งพอ ดังนั้นคุณเลยล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตใช่ไหม ถ้าสู้มากกว่านี้ อดทนมากกว่านี้ คุณก็จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้
ในด้านหนึ่งละกัน ผมว่าก็ใช่มั้งว่าเราก็คงต้องพยายาม ต้องอดทน ต้องขยัน แต่คือมุมมองเช่นนี้อาจทำให้ปัจเจกแค่บางคนสามารถประสบความสำเร็จได้ ผมไม่เถียงนะ แต่มันไม่ใช่ทางออกของชนชั้นแรงงาน ไม่ใช่ทางออกของคนส่วนใหญ่ เพราะว่าระบบทุนนิยมมันไม่สามารถตอบสนองคนส่วนใหญ่ได้อยู่แล้ว มันตอบสนองทุน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ หรือของแรงงาน
อาจขยายต่อไปก็คือ เรื่องความอดทน ความพยายาม จะชอบโยงเข้ากับการศึกษา คุณต้องขยันเรียน เรียนหนังสือให้ดี แล้วคุณจะได้งานที่ดี เป็นความเชื่อทั่วไป ตั้งใจเรียนให้ดี เรียนช่วงประถมดี มัธยมดี มหาวิทยาลัยดี เราก็จะได้งานที่ดี การเรียนก็อาจตอบสนองในระดับปัจเจกได้ แต่อย่าลืมว่า การจะมีงานที่ดีทำหรือไม่มีทำ มันขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจการเมืองด้วย ก็คือทุนนิยมนั่นแหละ ที่เป็นสิ่งที่สร้างงาน เพราะงั้น ถ้าทุนนิยม ถ้าเศรษฐกิจผลิตงานที่แย่ ผลิตแต่งานไร้ค่า งานฝ่ายบริการที่ค่าแรงห่วย คุณจะเรียนสูงแค่ไหน คุณก็อาจไม่มีงานทำ และคุณอาจต้องไปทำงานแย่ๆ ที่ค่าแรงน้อย
สมมติคุณจบปริญญาเอกด้านด้านอิเล็กตรอนนิวเคลียร์มา คุณจบเอกด้านนักปรัชญา สุดท้ายคุณต้องไปขับ Grab เพราะตัวเลือกงานที่ทุนนิยมสร้างมีเท่านี้ คุณก็ได้ค่าแรงเท่ากับคนที่เรียนต่ำกว่าคุณ คุณก็ได้ค่าแรงเท่ากับคนขับ Grab ทั่วไปที่ไม่ต้องเรียนสูงเลย เพราะงั้น ตัวที่สำคัญก็ขึ้นกับว่าวงจรเศรษฐกิจนั้นๆ ผลิตงานประเภทไหนด้วย และผลิตงานที่ดีมากแค่ไหน แต่ส่วนใหญ่มันมักผลิตงานพาร์ตไทม์ งานชั่วคราว งานที่ได้ค่าแรงต่ำ งานบริการมากมายที่เปราะบาง ฟรีแลนซ์อะไรมากมายเยอะมากกว่างานที่ดี
โจทย์ก็คือใช่ คุณขยัน คุณอดทนแค่ไหนก็ตาม
ถ้างานส่วนใหญ่ที่ถูกผลิตออกมาเป็นงานพาร์ตไทม์
และงานที่ห่วยน่ะ คุณก็ได้ทำแค่เท่านั้นแหละ ไม่ใช่เหรอ
จริงๆ สิ่งนี้มันเป็นปัญหาของสังคมด้วยนะ ไม่ใช่ปัญหาของปัจเจกที่คนคนหนึ่งไม่ประสบความสำเร็จ มันไม่ใช่เฉพาะตัวเขา ไม่ใช่เพราะเขาไม่อดทน ไม่ขยัน ไม่เข้มแข็ง แต่เป็นเพราะเศรษฐกิจการเมือง สิ่งที่อยู่รอบตัวเขาด้วย เพราะมันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ปัญหาทางสังคม’ นะ มันไม่ใช่มีแค่สิ่งที่เรียกว่า ‘ปัญหาปัจเจก’ กลับไปที่ก็เหมือนบอกว่าคุณก็แค่รู้จักที่จะปัดกวาดเก็บกวาดบ้านให้เรียบร้อย คุณก็จะออกเผชิญหน้าโลกภายนอกได้ประสบความสำเร็จ ใช่ไหม แต่ประเด็นก็คือปัญหาภายนอก ปัญหาของโลกต่างหากที่ส่งผลมาถึงความสามารถในการปัดกวาดบ้านของคุณให้เรียบร้อย
ในยุคนี้ก็จะมีเรื่องของคนที่ไม่มีความฝัน รู้สึกว่าเราไม่ได้อยากพัฒนาตัวเอง เรื่องความฝันมันเกี่ยวข้องกับทุนนิยมไหม
ความฝันของทุนนิยมจะผูกอยู่กับการได้การมีในอนาคต คือเดี๋ยวมันจะมีอะไรใหม่ที่ดีขึ้น เดี๋ยวเราจะได้อะไร เราจะบริโภคอะไรที่ดีขึ้น เป็นต้น เพราะงั้น ความฝันของทุนนิยมจึงมักผูกติดอยู่กับการมีมากขึ้น การได้สิ่งใหม่ สิ่งที่ดีขึ้น เพราะนั่นคือคำมั่นสัญญาของทุนนิยมว่ามันจะประทานสิ่งใหม่ๆ สิ่งดีๆ ทำให้ชีวิตคุณสะดวกสบายและดีขึ้น แต่ก็อย่าลืมว่า หลายๆ ครั้งความฝันแบบทุนนิยมมันก็ทำร้ายตัวเราด้วยนะ การมีความฝันบางทีก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นผลดี โดยเฉพาะความฝันในแบบทุนนิยม เช่น ฝันว่าถ้าฉันคิดบวก รู้จักพัฒนาตัวเอง สะสมต้นทุนในชีวิต ใฝ่เรียน ใฝ่พัฒนาตัวเองต่างๆ ฉันก็จะประสบความสำเร็จ และฉันก็จะได้และมีทุกอย่างที่ฉันอยากได้และมี อันนี้ก็เป็นความฝันง่ายๆ แต่ถ้าคนที่ได้ดู Parasite (ชนชั้นปรสิต) มันก็คือความฝันของลูกชายคนโต ที่สุดท้ายฝันว่าเดี๋ยวฉันจะขยันทำงานนะ แล้วฉันก็จะไปซื้อคฤหาสน์หลังนั้นและปลดปล่อยพ่อฉันออกมา อันนี้คือความฝันที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โอกาสเกิดขึ้นแทบจะริบหรี่เลยด้วยซ้ำ และมันก็เป็นความฝันที่ทำร้ายตัวเขาด้วยซ้ำ และเป็นความฝันที่ทำให้เราดำรงอยู่ในทุนนิยมที่เหลื่อมล้ำต่อไปได้
โจทย์คือ เราอาจต้องมีความฝันในลักษณะที่แตกต่าง ความฝันที่เห็นความคิด ความสัมพันธ์ในลักษณะใหม่ๆ ที่แตกต่าง และที่ทุนไม่สามารถกลืนกินได้ หรือที่ทุนไม่สามารถดึงมาเป็นส่วนหนึ่งที่รับใช้ทุนได้ แต่อันนี้ก็อาจเป็นสิ่งที่นามธรรมนะ เพราะมันก็ยาก เพราะหลายๆ ครั้งที่ทุนก็มักชอบดึงสิ่งที่ต่อต้านทุน และนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทุน นำเข้ามารับใช้ทุน เช่นสัญลักษณ์ของความขบถที่ต่อต้านจักรวรรดินิยม ที่ต่อต้านทุนนิยม อย่าง เช กูวารา (Che Guevara) ก็ถูกนำมาขายสินค้ามากมาย ขายเสื้อยืดขายอะไรมากมาย
การคิดบวก (positive thinking) สิ่งนี้มันเกิดขึ้นเพราะทุนด้วยเหมือนกันใช่ไหม
มันมาในจังหวะที่แรงงานอ่อนแอ ถูกทำลายลง รัฐสวัสดิการถูกรื้อถอนลง ชีวิตคนเปราะบางมากขึ้น แต่แทนที่จะทำให้คนมองไปข้างนอก และพยายามที่จะปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางด้านวัตถุที่มีผลต่อชีวิตของเขา ทุนพยายามบอกให้เขากลับมองเข้าไปข้างใน และไปหมกมุ่นกับความคิดและจิตใจของตัวเอง ว่าที่ชีวิตฉันไม่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นเพราะตัวฉันหรือเปล่า เป็นเพราะฉันคิดบวกไม่พอหรือเปล่า เพราะว่าถ้าฉันคิดดี ฉันก็จะดึงแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต ฉันก็จะมีกำลังใจ ฉันก็จะต่อสู้ชีวิตได้ ถ้าฉันคิดแย่ ฉันก็ดึงแต่สิ่งแย่ๆ เข้ามาในชีวิต
การคิดบวกเลยกลายเป็นปัญหา มันทำให้คุณเปลี่ยนปัญหาทุกอย่างเป็นปัญหาของปัจเจก และมองว่ามันไม่มีปัญหาของสังคม อย่างที่บอกว่า บางทีปัญหามันไม่ได้อยู่แค่ในความคิดของเราเท่านั้น ปัญหามันคือสภาพแวดล้อม มันคือภายนอก มันคือเศรษฐกิจการเมือง เช่น คุณไม่พอใจในงานของคุณ แต่ไม่มีอำนาจในการต่อรองอะไรเลย เพราะค่าแรงมันแย่ ชั่วโมงทำงานมันเยอะ คุณแทบจะควบคุมชีวิตคุณไม่ได้เลย เพราะคุณทุ่มชีวิตให้งาน ประเด็นคือวิธีการแก้ก็คือการคิดบวก คิดในสิ่งที่ดีๆ การคิดในแต่ละวันในแง่ดี พยายามหาคำพูดสวยๆ แรงบันดาลใจมาติดข้างฝาโต๊ะทำงานของคุณ มาฟังในสิ่งที่ช่วยให้คุณคิดบวก ตกแต่งโต๊ะทำงานของคุณ แทนที่คุณจะไปจัดตั้งสภาแรงงานต่อรองอำนาจ ต่อรองให้กับแรงงานในบริษัทของคุณ และแรงงานในอุตสาหกรรมของคุณ คุณจะทำอย่างไร การคิดอยางหลังเนี่ยมันน่าจะส่งผลดีต่อแรงงานของคุณและตัวของคุณมากกว่าหรือเปล่า
ช่วงหลังในหนังสือที่เขียน เป็นบทวิเคราะห์ ‘ลัดดาแลนด์’ ทำไมถึงเรื่องหนังเรื่องนี้
จริงๆ ผมชอบเอาภาพยนตร์ ทฤษฎี ปรัชญามาจับคู่กัน เพราะมันขยายให้เห็นถึงปัญหาในปัจจุบัน ให้เห็นความร่วมสมัยรวมถึงผมก็สอนภาพยนตร์และการเมืองมา 20 กว่าปีแล้วด้วย
หนังสือสองเล่มก่อน ที่ชื่อว่า ดิสโทเปียไม่สิ้นหวัง และทำไมต้องตกหลุมรัก? ผมใช้หนังตระกูล dystopia มาวิเคราะห์ เล่มนี้เลยเปลี่ยนแนวหนัง มาใช้หนังสยองขวัญหรือหนังผี เพราะว่าก็จะมาในสายที่มองว่า เรากำลังอาศัยอยู่ในภาพยนตร์สยองขวัญอันเดียวกัน ซึ่งภาพยนตร์สยองขวัญอันนั้นชื่อว่า ‘ทุนนิยม’ ทีนี้ก็จะมีหนังสยองขวัญมากมายที่วิเคราะห์ในลักษณะนี้ว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่สารหรือภาพยนตร์นั้นเจอไม่ใช่ความสยดสยอง ไม่ได้เกี่ยวกับผีเสียทีเดียว แต่มันพยายามให้เห็นถึงความสยดสยองของทุนนิยมต่างหาก ก็เลยมีหนังมากมาย หรืออันนี้ก็อาจเป็นทริกหนึ่งในการชมภาพยนตร์สยองขวัญก็ได้ว่า ความสยดสยองที่แท้จริงในเรื่อง ไม่ใช่ผี อสูรกายใดๆ ทั้งสิ้น แต่คือหนังพยายามจะสื่อสารอะไรให้เราเห็นถึงความรุนแรงและความโหดร้ายของทุนนิยม
ผมก็เลยพยายามจะเลือกหนังสยองขวัญหนึ่งเรื่อง มาจบที่ภาพยนตร์ไทยคือลัดดาแลนด์ ผมใช้เรื่องนี้เพราะว่ามันคือหนังสยองขวัญที่ทำให้เห็นถึงความโหดร้ายของทุนนิยม สองก็คือมันก็ตอบโจทย์แนวคิดบางอย่างเรื่องโลกสัจนิยมแบบทุน
แปลว่า ภาพยนตร์ สามารถเอามาเล่าเพื่อเป็นภาพสะท้อนสังคมได้ด้วย?
ใช่ครับ แต่จริงๆ ก็ขึ้นอยู่กับคนตีความ ส่วนตัวผมจะเป็นสายที่ไม่ค่อยสนใจว่า เจตนารมณ์ของผู้กำกับคืออะไร ไม่ค่อยสนใจว่าผู้กำกับตั้งใจสื่อสารว่าอย่างไร และต้องการนำเสนอหรือสะท้อนอะไร หรือวิพากษ์วิจารณ์อะไร แต่ผมแค่บอกว่า ด้วยกรอบทฤษฎีบางอย่างหรือกรอบความคิดบางอย่าง พอเรานำมาจับคู่กับภาพยนตร์นั้นแล้ว เราสามารถตีความว่าภาพยนตร์นั้นว่ากำลังวิพากษ์สังคมอย่างไร กำลังสร้างประเด็นปัญหาอะไรที่ทำให้เราขบคิดเกี่ยวกับปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในทิศทางใดเสียมากกว่า อาจเป็นข้อเสียของผมมั้ง เพราะผมเน้นให้ความสำคัญกับความคิดและทฤษฎีมากกว่า
มีหนังเรื่องไหนอีกไหมที่เกี่ยวข้องกับทุนนิยมที่อาจารย์อยากแนะนำ
มีเยอะแยะมากเลย ถ้าแบบพูดโดยที่ไม่ต้องอธิบายก็มากมาย อย่าง Cloud Atlas ก็ได้ หรือThe Social Network Contagion ก็ได้นะ ผมคิดว่ามันก็ทำให้เราเข้าใจ COVID-19 ได้ดี เรื่อง Us หรือ Joker ก็ได้ อีกอันเป็นเกี่ยวกับหนังเรื่องระบบสาธารณสุขที่ถูกทำให้เป็นเอกชนที่ไปพูดกับอุตสาหกรรมประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ชื่อว่า Repo Men และหนังเกาหลีอย่าง Parasite, Burning, The Office เป็นต้น
จริงๆ หนังที่ปราฏในดิสโทเปียไม่สิ้นหวังก็ได้ อย่าง The Lobster, Lost in Translation หนังตระกูลซอมบี้อย่าง Train to Busan, Seoul Station หนังจีนของผู้กำกับจีน Jia Zhangke ก็ได้ Wong Kar-Wai ก็ได้ แต่หลักๆ ก็คือ ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญก็คือกรอบที่ผู้ชมนำมาใช้ตีความ และพยายามดึงสารที่ผู้กำกับก็อาจไม่ได้นึกถึง และอาจไม่ได้คิดถึง และคนส่วนใหญ่อาจไม่ได้คิดถึงด้วยซ้ำ
ทั้งหมดที่เราคุยกันพอจะพูดได้ไหม ทุนนิยมเป็นตัวร้ายของสังคม
ถ้าตอบแบบมาร์กซิสม์ลก็คงจะเป็นว่าด้านหนึ่งก็ต้องชื่นชมทุนนิยม และชนชั้นกระฎุมพีด้วยซ้ำ ว่าเป็นระบบที่ productive ที่สร้างอะไรใหม่ๆ ออกมา นำพาสินค้าของใหม่ๆ ที่ทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง มาร์กก็จะเตือนเราตลอดเวลาว่าการทำเช่นนี้ราคามันสูงมาก พูดง่ายๆ ว่า ด้านบวกของทุนนิยม นวัตกรรม สินค้า ความใหม่ พลวัตต่างๆ มันแยกไม่ออกจากด้านลบของมัน คือความยากจน การกดขี่ การขูดรีด ความรุนแรงในหลากหลายระดับ และโจทย์ของมาร์กก็คือมันเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน
ประเด็นก็คือเราจะทำได้ดีกว่านี้ไหม เราจะสามารถสร้างระบบที่ทั้ง productive, innovative และ creative ที่ไม่ทำลายล้างหรือส่งผลเสียเทียบเท่าทุนนิยมได้ไหม อันนี้ก็เป็นความฝันของมาร์กเลยนะ แต่ถ้ามองจากปัจจุบัน เราก็สามารถถามได้ว่าทุนนิยมในยุคปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่เนี่ย มันยังสร้างสรรค์ มันยัง productive เหมือนที่มาร์กมองไหม มันยังส่งผลดีเทียบเท่า มันยังมีแง่บวกเหมือนในแง่ของมาร์กหรือเปล่า อันนี้คือสิ่งที่ผมตั้งคำถามก็แล้วกัน ซึ่งผมคิดว่าไม่ ผมคิดว่าไม่ creative ไม่ productive เหมือนแต่ก่อน มันรุนแรงมากขึ้นด้วยซ้ำ มันกำลังกลายพันธุ์ไปสู่อะไรที่แย่ลง หรือมันมีแนวโน้มอะไรบางอย่างในทุนนิยมที่ไม่ใช่การสร้างออริจินัลแล้ว แต่มีแนวโน้มแบบ neo-fuedalism หรือศักดินาใหม่ พูดง่ายๆ ว่าเป็นไปได้หรือเปล่าว่า ด้วยแนวโน้มแบบนี้ ทุนนิยมกำลังกลายพันธุ์ไปสู่อะไรที่เลวร้ายกว่าทุนนิยมไหม
ถ้าพูดให้ชัดๆ สำหรับผมแล้ว แบบไม่เกรงใจเลยก็คือ นึกถึงคำของนักทฤษฎีการเมืองชาวอเมริกันท่านหนึ่งที่ชื่อว่า โจดี้ ดีน (Jodi Dean) เธอบอกว่า ‘Capitalism is the end of the world’ คือทุนนิยมคือจุดจบของโลก
อันนี้ก็โยงเข้ากับปัญหาของสภาพแวดล้อมของเราได้ คือมีสองมุมมอง ว่าเรายุคในยุคของมนุษย์ยุค anthropocene เพราะเรานี่แหละที่ทำลายสิ่งแวดล้อม มันเป็นธรรมชาติของเรา เราใช้ทรัพยากรเกินตัว เพราะความต้องการของเราไม่สิ้นสุด งั้นเราก็โทษไปที่มนุษย์ว่าทุกคนต้องรับผิดชอบเท่าๆ กัน พอๆ กัน ไม่สำคัญว่าจะรวยจะจน มาจากประเทศพัฒนาหรือด้อยพัฒนา คือมนุษยชาติทั้งหมดที่ต้องรับผิดกับหายนะทางธรรมชาติ หรือพูดง่ายๆ ว่าวันสิ้นโลกที่กำลังจะมาถึง
แต่ผมกลับมองว่าอันนี้ไม่ค่อยน่าเชื่อเท่าไร กลับมองว่าเป็นมุมมองของ anthropocene ที่ไม่ใช่แค่ ‘มนุษย์’ แต่เป็น ‘มนุษย์ที่อยู่ในทุนนิยม’ มันคือกระบวนการสะสมทุนที่ไม่มีวันสิ้นสุด ที่ต้องไหลเวียนตลอดเวลา และเพิ่มมากขึ้นและเร็วขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ทำลายสภาพแวดล้อม สร้างหายนะมากมาย ดังนั้นมันไม่ใช่มนุษย์ในฐานะเผ่าพันธุ์ แต่มันเป็นมนุษย์ที่ถูกคาดหวังให้คิดและกระทำในลักษณะซึ่งอยู่ใต้ทุนนิยม ต้องคอยสะสมทุน ต้องคอยแข่งขัน ต้องมีมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น
และที่สำคัญก็คือ ทุนนิยมคือจุดจบของโลก แต่มันไม่ใช่ทุกคนที่จะพบจุดจบเดียวกัน เพราะอย่างข่าวที่มหาเศรษฐีทั่วโลกเริ่มเตรียมความพร้อมรับมือกับวันสิ้นโลกที่เขาคิดว่ากำลังจะมาถึง กว้านซื้อที่ดินมากมาย มีโรงปั่นไฟฟ้า สร้างน้ำประปาเป็นของตัวเอง มี bunker มีบ้านพักอาศัยต่างๆ และเริ่มแสวงหาหน่วยรักษาความปลอดภัยส่วนตัว และเริ่มคิดว่าโอเค กูจะควบคุมและรักษาความปลอดภัยของกูอย่างไรดี พยายามยึดครองทุกอย่างที่คุณมี หรือพยายามกีดกันทุกคนไม่ให้เข้ามาในที่ของคุณ เป็นต้น อันนี้ก็เป็นภาพสะท้อนของ 1% หรือ 0.1% ของโลก ว่าเขาเตรียมความพร้อมแล้วนะ สำหรับวันสิ้นโลก เขาคิดว่าเราไม่ได้ลงเรือลำเดียวกัน พูดง่ายๆ ว่าหายนะวันสิ้นโลกเป็นของสำหรับพวกมึง ไม่ใช่สำหรับพวกกู
ผมคิดว่าเวลาที่เรามองว่าเราอยู่ในยุคของทุน และทุนคือจุดจบของโลกเนี่ย มันก็ทำให้เราตั้งคำถามได้ว่า เมื่อสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายมากขึ้นเนี่ย มันจะส่งผลกระทบอย่างไม่เท่าเทียมกันนะ คนรวยหรือรวยที่สุดก็จะสามารถรับมือได้ หรืออย่างง่ายๆ เลย อย่างในอเมริกา เดี๋ยวนี้พายุในหลายปีหลัง เฮอริเคนที่พัดเขามาในอเมริกาตามมลรัฐโดยเฉพาะฝั่งแอตแลนติก เรียกว่าแรงขึ้นทุกปี แทบจะเป็น category 5 ซ้ำซ้อนกันหลายปีหลังมานี้ และพวกแรกที่สามารถหนีออกจากเมืองได้ก็คือคนรวย คือพายุซัดเข้ามา กูก็ไปอยู่ที่อื่นแล้ว เพราะกูมีบ้านพักตากอากาศในพื้นที่อื่นๆ หรือพูดง่ายๆ ว่ากูจะปกป้องบ้านกูให้แข็งแรงจนรับมือกับเฮอริเคนระดับนั้นได้ งั้นโจทย์ก็คือ กูรับมือได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถออกนอกเมืองได้ คนส่วนใหญ่ไม่สามารถมีเงินพอที่จะทำให้บ้านของพวกเขาเข้มแข็งมากขึ้น หรือพร้อมที่จะรับมือกับพายุ
ในการเน้นว่ามันเป็นปัญหาของทุน
และทุนคือจุดจบของโลกมันก็ทำให้เราเห็นว่า
ชนชั้นนั้นสำคัญ
ชนชั้นมีส่วนเป็นอย่างยิ่งในการที่จะกำหนดว่าใครจะรอดและไม่รอด ว่าใครจะทนทุกข์ทรมานและไม่ทนทุกข์ทรมาน ผมก็เลยมาชวนคิดนะ หรือเรียกแขก หรือเรียกตีนนะ คือผมอยากชวนให้คิดต่อในแนวคิดที่ว่าทุนนิยมเป็นจุดจบของโลกครับ
ถ้าอย่างนี้ ยังพอมีหวังที่จะเห็นวิธีการข้ามระบบทุนนิยมไหม มีเส้นทางไหนที่โลกจะเดินไปถึงได้บ้าง
อาจพูดเว่อร์ๆ แล้วกัน ถ้ายังอยากมีอนาคต อยากมีอะไรใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกและสังคม เราก็คงต้องสนใจในการเมืองที่ปลดแอก การปลดปล่อยทั้งหลายที่พยายามทำให้เราว่ายทวนกระแสทุนต่อต้านทุน และพยายามที่จะทดลองความคิดใหม่ๆ ในรูปแบบที่แตกต่างและท้าทายทุน ผมแอบรู้สึกว่า ถ้าเราอยากมีอนาคตที่แตกต่าง เราอาจต้องคิดในรูปแบบของที่กว้างที่สุดก็คือ โลกและสังคมหลังทุนนิยมจะเป็นอย่างไรใช่ไหม แต่อย่างที่บอกว่า หลังทุนนิยมเนี่ยอาจเลวร้ายกว่าทุนนิยมก็ได้
แต่หลังทุนนิยมก็อาจจะน่าอยู่มากกว่าทุนนิยมก็ได้เช่นกัน โดยเฉพาะถ้าพัฒนาหรือคิดต่อจากยุคของผู้คนก่อนหน้านี้ที่พยายามแหวกว่ายออกจากทุนนิยม และพยายามสร้างๆ ระบบอื่นๆ นอกจากทุนนิยม พวกสายสังคมนิยมก็มีมากมายใช่ไหม สายสังคมนิยมประชาธิปไตย พวกสายคอมมิวนิสต์ก็มี สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นทรัพยากรที่เรายังเรียนรู้จากพวกเขาได้ และได้แรงบันดาลใจอะไรบางอย่างจากเขาได้ แน่นอนมันยาก ส่วนหนึ่งเพราะว่าฉากแรกเลยก็คือว่า อย่างน้อยในสังคมไทย เราก็พยายามที่จะคลายและทำให้โลกสัจนิยมแบบทุนมันอ่อนลง และเห็นถึงปัญหาของทุนนิยมตั้งแต่ฐานของมัน และพยายามกระตุ้นจินตนาการให้เราพยายามคิดแบบใหม่
แล้วในทางกลับกัน ถ้าเกิดเรายังต้องอยู่ในโลกทุนนิยม ในปัจจุบันตอนนี้ เราจะช่วย หรือแก้ปัญหา หรือเริ่มต้นได้อย่างไรบ้าง
จริงๆ ก็อยากมีเป็นไกด์ไลน์ชัดๆ ให้นะ แต่ก็ลองคิดเร็วๆ ละกันว่าจะเริ่มต้นอย่างไรได้บ้าง ประเด็นแรกก็คงเป็นว่า อาจต้องพยายามเลิกโทษตัวเองให้น้อยลง พยายามสร้างความเข้าใจว่า ปัญหาที่เราประสบในชีวิตมันไม่ใช่ปัญหาของปัจเจก มันเป็นปัญหาที่คนอื่นๆ ในสังคมพบเจอด้วย เป็นปัญหาสากลหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาของฉันแค่ตัวฉัน อันนี้ก็ต้องพยายามวิเคราะห์ไปในระดับนั้น
สองก็คือจะพยายามออกห่าง และต้องวิพากษ์สิ่งต่างๆ ที่ทำให้เราเน้นโทษตัวเอง เช่น สุดท้ายแล้วการคิดบวกไม่ได้ส่งผลดีมาสู่เราเลย สุดท้ายแล้วแนวคิดว่าเราเป็นทุนมนุษย์ที่เราต้องคอยสะสมทุนต่างๆ คอยสะสมประสบการณ์ สะสมต้นทุนในด้านสังคม วัฒนธรรม คอยฝึกฝนพัฒนาตัวเองตลอดเวลา สุดท้ายเราจะประสบความสำเร็จ แต่เราต้องอดทนและขยันหมั่นเพียร คิดว่าความคิดเช่นนี้สุดท้ายแล้วมันทำร้ายตัวเรามากกว่าหรือเปล่า เราต้องมองให้เห็นว่ามุมมองเช่นนี้มันอาจช่วยปัจเจกได้ แต่ไม่ช่วยปัญหาทางสังคม หรือชนชั้นแรงงานแน่ๆ
แล้วก็พยายามทำให้เราเข้าใจหรือมองให้ได้ว่า ทุนนิยมมันอยู่ได้ด้วยความไม่พอใจของเรา พูดง่ายๆ ว่าทุนนิยมนั้นขายความพึงพอใจ มันหลอกล่อเราว่าสินค้าอันใหม่ออกมาแล้ว เราจะพอใจยิ่งกว่าเก่า เป็นต้น แต่สุดท้ายไม่ใช่เช่นนั้น เพราะมันอยู่ได้ด้วยความไม่พอใจของเรา ถ้าเราเริ่มพอใจในสินค้าที่บริโภค และเริ่มพอใจในสินค้าที่เรามี เราก็อาจบริโภคน้อยลง เราก็อาจไม่เปลี่ยนใหม่ตลอดเวลาตามกระแส อย่างพอรุ่นใหม่ออกมา เราก็ไปซื้อขาย เราอาจจะอยู่กับสินค้าสิ่งที่เรามี เราอาจเน้นการซ่อมแซมของมากกว่าการเปลี่ยนใหม่
หรืออาจพยายามสร้างความเข้าใจว่าสินค้าของเรามาจากไหนอะ ทำไมมันถึงถูกผลิต มันมาได้อย่างไร และพยายามโยงใยตัวเราเข้ากับตัวผู้ที่ถูกกดขี่ และถูกทำให้ผลิตสินค้าให้เราบริโภค ไม่งั้นใหญ่กว่านั้นก็คงเป็น พยายามผลักดันสหภาพแรงงาน พยายามเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองเพื่อการปลดแอกและการปลดปล่อย ช่วยสร้างความเสมอภาคในสังคม ลดลำดับชั้นและลำดับขั้นในสังคมให้น้อยลง เรียกร้องการปฏิรูปในด้านเศรษฐกิจ ด้านแรงงานทั้งหลายที่จะขัดง้างกับทุน และเพิ่มอำนาจของแรงงาน
โจทย์ก็คงเป็นว่า มันคงต้องเกิดขึ้นในหลากหลายอาณาบริเวณ และในหลากหลายมณฑลใช่ไหม ว่าในความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนอื่น ในมุมมองที่เรามีกับความรักในการบริโภคของเรา ในมุมมองที่เรามีกับงานเราก็ได้ อาจตั้งคำถามได้ว่า ทำไมเราต้องรักงานที่เราทำ ทำไมเราต้องมี passion ในงานที่เราทำ อันนี้มันเป็นหนทางของการถูกบี้และทำให้เราหมดไฟหรือเปล่า ถ้าตามนักเขียนชื่อ Sarah Jaffe ว่า ‘work won’t love you back’ คือการรักงานมันคือการรักเขาข้างเดียวอะ มันเหมือนเรารักใครสักคนแล้วเขาไม่ตอบสนอง ไม่รักคุณกลับ การรักงานมีแต่การอุทิศให้มันมากขึ้น การรักงานมีแต่การเรียกร้องให้เราอุทิศและเสียสละให้มันมากขึ้น แทนที่จะรักงาน เราไปรักคนจริงๆ ไหม มันจริงหรือเปล่าว่าเราต้องรักงานเรา เราถึงจะทำได้ดี งานมีไว้ให้ทำเพื่อให้ได้เงินเดือนหรือเปล่า ไม่ได้มีให้รัก เพื่อให้เรามีเงินพอและมีเวลาว่างที่จะไปทำสิ่งอื่นๆ ที่มีคุณค่าที่แท้จริงหรือเปล่า