งานล้นมือจนทำไม่ทัน โปรเจกต์ก็เยอะจนอดหลับอดนอน ไหนจะต้องเตรียมตัวสอบกันข้ามวันข้ามคืนอีก สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เหล่านิสิตนักศึกษาต้องเผชิญจนเกิดภาวะเครียดหนัก ซ้ำอาจารย์ที่พวกเขาหวังให้เป็นที่พึ่งก็กลับมองว่า พวกเขาอ่อนแอ สอนกันแบบนี้มาทุกรุ่น ทำไมเด็กยุคนี้กลับทำไม่ได้
แต่ความเครียดของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นวัยใดก็ตาม ไม่ใช่แค่เรื่องเล็กน้อย ตรงกันข้ามการปล่อยให้ใครคนหนึ่งเป็นทุกข์ และต้องเผชิญกับความเครียดสะสมไปเรื่อยๆ กลับจะยิ่งส่งผลร้ายต่อสุขภาพของพวกเขา และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
The MATTER ขอชวนมาฟังเสียงของเหล่านิสิตนักศึกษาชั้นปริญญาตรี ที่กำลังเผชิญกับความเครียดอยู่ลำพัง และความเห็นจาก วิภาดา แหวนเพชร อาจารย์ผู้สอนวิชาทักษะแห่งความสุข จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อให้เข้าใจว่า พวกเขาไม่ใช่คนอ่อนแอ และมหาวิทยาลัยควรหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะต้องสูญเสียกันไปมากกว่านี้
ยิ่งห่างห้องเรียน ยิ่งเครียดทวีคูณ
งานล้นจนไม่มีเวลานอน โปรเจคก็ถาโถมจนแทบไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น แถมตารางสอบก็บี้มาตามมาติดๆ จนสุขภาพจิตของแต่ละคนยิ่งย่ำแย่ นี่คือความเครียดจากภาระงานที่หลายคนต้องเผชิญสมัยเรียนมหาวิทยาลัย
แต่ยิ่งปัจจุบัน การเรียนการสอนมันย้ายจากห้องเรียนมาสู่บ้าน โปรเจคเตอร์ที่อาจารย์เคยใช้สอนกลายเป็นแค่หน้าจอสี่เหลี่ยมของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนที่เคยนั่งทำหน้างงเวลาฟังอาจารย์สอนอยู่ข้างๆ ก็อยู่ห่างกันไปคนละที่ ตามมาตรการสอนออนไลน์ในช่วงที่มีโรคระบาด สถานการณ์นี้ยิ่งทำให้นิสิตนักศึกษาหลายคนเผชิญกับความเครียดแบบทวีคูณ
“ปกติก็มีโปรเจคเยอะอยู่แล้ว แต่พอช่วง COVID-19 ก็ยิ่งเยอะเข้าไปอีก เหมือนอาจารย์ไม่รู้ว่าจะวัดประเมินผลยังไง” เจนนิเฟอร์ (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปี 3 ที่เรียนสายบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งกล่าว
ด้วยวิชาที่ต้องเรียนเรื่องการบริหารจัดการ ทำให้เธอต้องทำงานกลุ่มกับเพื่อน ในยุคที่ทุกคนเรียนออนไลน์ กลายเป็นว่า นอกจากจะงานหนักแล้ว เธอยังต้องเจอปัญหาในการแบ่งงาน คุยงานกับเพื่อนไปด้วย เพราะการทำงานกลุ่มผ่านทางออนไลน์ ไม่สะดวกเท่ากับตอนเจอหน้ากัน
“เราสนิทกับเพื่อนคนนึง ไม่เคยมีปัญหาเรื่องงานกันมาก่อน แต่พอเจอ COVID-19 ก็คุยกันน้อยลง ทุกอย่างติดขัดไปหมด พอเอาเรื่องนี้ไปปรึกษาอาจารย์ เขาก็รับรู้นะ แต่หาทางแก้ไขให้ไม่ได้ แล้วบอกว่า มันต้องเป็นแบบนี้ไปก่อน เพราะสเกลงานมันใหญ่ ต้องทำหลายคน”
ไม่ใช่แค่เรื่องงานเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการสอบที่ทำให้เธอยิ่งเครียดเข้าไปอีก เจนนิเฟอร์เล่าว่า หากสอบที่มหาวิทยาลัยจะมีเวลาในการทำข้อสอบ 2 ชั่วโมงเต็ม แต่พอต้องมาสอบออนไลน์ อาจารย์ก็ปรับให้เหลือ 1 ชั่วโมง แล้วจำกัดเวลาคำถาม เช่น ข้อนึงให้เวลา 10 นาที เสร็จแล้วให้เขียนในกระดาษ แล้วก็ให้เอาคลิปหนีบมา record ที่หน้าจอที่นักศึกษาเปิดไว้ เพื่อให้อาจารย์แคปหน้าจอไว้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ถ้านักศึกษาส่งไฟล์คำตอบไปให้อาจารย์ คำตอบจะคงเดิม นักศึกษาไม่สามารถแก้ไขคำตอบได้ หากในไฟล์มีคำตอบที่ถูกแก้ไขไป จะถือว่าเป็นการทุจริต
“มันยิ่งทำให้เราเครียดมาก พอเวลามันน้อย เราก็ลน เพราะพอเราเสร็จแล้วก็ต้องรีบไปหาเชือกกับคลิปหนีบมาตรึงคำตอบให้อาจารย์ดู ไม่มีเวลาตั้งสติเลย แล้วแปบเดียวอาจารย์ก็จะบอกว่า ‘ข้อต่อไป’ แล้ว”
เช่นเดียวกับ อล (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปี 4 ที่เรียนคณะสายสุขภาพของมหาวิทยาลัยชื่อดัง เล่าว่า สิ่งที่ทำให้เธอเครียด คือการทำงานที่ต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนมากเกินไป แต่ละวันเธอต้องคอยดูแลผู้ป่วยและส่งสรุปของทุกเคสให้อาจารย์อีกที ทำให้เธอรู้สึกว่ารับมือกับงานทั้งหมดไม่ไหว จนเครียดจากการที่ไม่มีเวลาว่างไปพักผ่อน
ยิ่งกว่านั้น การตัดคะแนนก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก หลายวิชาพากันตั้งเกณฑ์คะแนนให้เกรด A อยู่ที่คะแนน 85-90 (จากเดิมตัดที่ 80 คะแนน) แต่ถ้าได้ต่ำกว่า C+ ก็ต้องเรียนซ้ำ และยังมีคะแนนของรายงานที่ฉบับนึงมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน ถ้าต้องแก้ไขจุดนึงก็จะถูกหักไป 0.5 คะแนน ถ้าได้น้อยกว่า 7 คะแนนจะถือว่าไม่ผ่าน ต้องทำมาใหม่ ซึ่งอลมองว่า การตัดเกณฑ์คะแนนแบบนี้ยิ่งทำให้เธอเครียดมากขึ้น
“บางทีทำงานไป เรียนไป สอบไป อาจารย์ก็เหมือนนึกอะไรได้ก็สั่งๆ มา ทั้งๆ ที่งานเราก็เยอะอยู่แล้วเหมือนดิสคัสกันแล้วอาจารย์ก็นึกออกว่า ‘อุ้ย หัวข้อนี้ก็น่าสนใจนะ ลองไปหามานะ’ เพิ่มงานให้ตรงนั้นเลย เราก็ปฏิเสธไม่ได้ แล้วเขามีวิธีการตัดเกรดที่ไม่ได้มาตรฐาน”
พอถามว่า เป็นอย่างนี้ทุกวิชาหรือเปล่า อลก็ตอบว่า “แทบจะทุกวิชาที่เป็นอย่างนี้ บางคนก็ต้องไปเรียนซ่อม ไม่ก็เรียนใหม่กับน้องซึ่งต้องรอไปอีกปีนึง”
ยิ่งกว่านั้น ยังมีการฝึกงานเข้ามาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยด้วย ซึ่งอลบอกว่า เธอต้องฝึกงานตั้งแต่ 8.00-16.00 น. แล้วกลับมาอ่านหนังสือ ทำงานอื่นต่อ บางทีช่วงสอบปลายภาค ก็ยังมีงานเพิ่มคือให้นักศึกษาสรุปเคสที่ทำมาทั้งเทอม พร้อมพรีเซนต์เคสที่สนใจด้วย
“มันมีงานที่ต้องทำเยอะมาก ต้องไปหาข้อมูล นอนตี 3-4 แล้วก็นอนไม่หลับ ต้องโด๊ปยาพาราฯ เยอะๆ แถมต้องตื่นมา 6 โมง มาเข้าเคสตอน 7 โมงก็มี ไหนจะไปฝึกงานอีก เป็นออฟฟิศซินโดรมด้วย”
ขณะที่ มะม่วง (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปี 4 ที่เรียนสายสุขภาพจากอีกมหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า ปกติเธอต้องเรียนตั้งแต่ 8.00-16.00 น.ทุกวันจันทร์-ศุกร์ มีทั้งเรียนเลคเชอร์ และปฏิบัติ แต่ในช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนัก เธอต้องหยุดเรียนทุกอย่างไปเพราะเป็นการเรียนแบบปฏิบัติ รอมาเรียนอีกทีที่มหาวิทยาลัย และพอมหาวิทยาลัยเปิด เธอก็ต้องเรียนตั้งแต่ 8.00-17.00 น.ทุกวัน แถมยังต้องไปลงชุมชนเพื่อศึกษาในทุกวันเสาร์ เวลา 8.00-16.00 น.ด้วย
“แต่ที่เป็นมาตลอดตั้งแต่ก่อน COVID-19 คือตารางสอบที่ติดกัน เช่น วิชานึงสอบจันทร์ อีกวิชาสอบพุธ อีกวิชาสอบศุกร์ แต่อังคารกับพฤหัสก็มีเรียน ทำให้ไม่มีเวลาอ่านหนังสือเลย เหนื่อยมาก เนื้อหาที่จะสอบก็เยอะมาก บางตัวสอบเลคเชอร์ 7-8 บท แต่ละบทมีสไลด์ร้อยกว่าหน้า ช่วงสอบเลยมีหลายครั้งที่ต้องอ่านโต้รุ่งไปเลย หรือนอนแค่ชั่วโมงเดียว หรือตั้งปลุกตีสามมาอ่านหนังสือ พอนอนน้อยก็ส่งผลต่อสุขภาพ”
ความเข้าใจต่อตัวนักศึกษา คือสิ่งที่ขาดหายไป
งานและตารางสอบที่อัดแน่น ล้วนเป็นผลจากความเข้าใจต่อตัวนิสิตนักศึกษาของอาจารย์แต่ละคน ซึ่งมีผลต่อความเครียดของนักศึกษาด้วยเช่นกัน หลายคนจึงเลือกที่จะพูดปัญหาที่เกิดขึ้นกับอาจารย์โดยตรง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาจริงๆ
“เราคุยกับเพื่อนว่า เครียดจากอาจารย์คนนั้น คนนี้ แล้วก็จับมือกันไปคุยกับอาจารย์ ถ้าไปกันทั้งรุ่นเขาจะฟัง แต่ถ้าไปคนเดียวหรือสองสามคน เขาจะไม่ฟัง” อลกล่าว
ถึงอย่างนั้น อลก็มองว่า อาจารย์จะแก้ เพราะนักศึกษาไปกดดันให้แก้ แต่ตัวอาจารย์เองก็ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำส่งผลอย่างไร เช่น วันนึงอาจารย์ส่งข้อความมาบอกนักศึกษาว่า พรุ่งนี้จะสอบ ตอนเวลา 23.00 น. ในช่วงปิดเทอม และจะสอบตอน 19.00 น. ซึ่งพอเด็กบอกว่า ไม่สะดวก อาจารย์ไม่เข้าใจว่าทำไมทำไม่ได้ และตอบกลับมาว่า ‘ในเมื่อทุกคนไม่อยากสอบก็บอกมาละกันว่าจะทำยังไงกับคะแนนที่หายไป’
“อาจารย์เขารู้นะว่าเด็กเครียด เพราะในทุกๆ รุ่นก็จะมีเด็กที่ซิ่วไปเนื่องจากเครียดอยู่แล้ว มีเด็กไปพบจิตแพทย์ เป็นซึมเศร้าทุกรุ่น แต่เขาไม่ได้ทำอะไร เพื่อนเราเป็นซึมเศร้า พอไปบอกอาจารย์ เขาก็เห็นใจนะ บอกว่า ‘สู้ๆ นะ’ แต่ไม่ได้ช่วยอะไร”
ขณะที่เจนนิเฟอร์เล่าเสริมว่า ที่คณะของเธอจะมีอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ชอบส่งข้อความมาช่วง 22.00-23.00 น. เป็นข้อความในเชิงกดดันนักศึกษา เช่น ช่วงก่อนสอบ อาจารย์จะส่งข้อความมาบอกว่า พาร์ทเขาจะเป็นเปเปอร์ แล้วจะส่งข้อมูลที่เกี่ยวกับข้อสอบให้อ่านก่อน 1 วัน ตารางสอบคือ 9 โมงเช้า แต่อาจารย์ส่งข้อมูลมาให้ตอนช่วงตี 3 ทำให้หลายคนนอนไม่หลับ เพราะกังวล อาจารย์คนอื่นก็ปรามไม่ได้ เพราะอาจารย์คนนี้เป็นคนหนัวหน้า มีอิทธิพลเหนือคนอื่นๆ
“ทุกคนในเอกเครียดหมด ด้วยสภาพแวดล้อมแล้วอาจารย์ก็กดดัน เขาส่งข้อความมาตลอดว่า เขาตรวจคะแนนมาแล้วครึ่งเอก มีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์น่าจะติด F กันประมาณ 20 กว่า ก็จะส่งมาอย่างนี้ แล้วเพื่อนก็เครียดกัน มีหลายคนมากที่เขาย้ายคณะไป หรือไม่ก็เป็นโรคซึมเศร้า”
ยิ่งกว่านั้น ความเครียดยังส่งผลต่อสุขภาพของนักศึกษาด้วย กรณีของเจนนิเฟอร์ เมื่อปีก่อนเธอป่วยเป็นโรคกระเพาะทะลุ ร่างกายไม่รับสารอาหาร กินแล้วจะอาเจียน ซึ่งอาการมากำเริบในช่วงก่อนสอบ เป็นช่วงเวลาที่ไม่มีใครกินข้าวลง
“ช่วงนั้นสิ่งเดียวที่เรากินได้คือ โอริโอ้ กลายเป็นว่า เราไม่กินข้าว จะกินแค่โอริโอ้ช่วงใกล้สอบ พอมีวันนึงที่ไม่ไหว ก็ไปโรงพยาบาลเลย หมอบอกว่า สาเหตุมาจากการที่เรากินอาหารไม่ตรงเวลาและความเครียดที่เรากดดันตัวเอง”
ความเครียดในวัยเรียน เป็นสิ่งที่ทับซ้อนจากหลายปัญหา
“ความเครียดของพวกเขาเป็นสิ่งที่ซับซ้อน”
คำกล่าวจาก มะขวัญ-วิภาดา แหวนเพชร อาจารย์ผู้สอนวิชาทักษะแห่งความสุข จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเล่าว่า ตั้งแต่เปิดสอนวิชานี้มา 4 ปี มีเด็กที่พยายามฆ่าตัวตายไปแล้ว 7 คน ซึ่งโชคดีที่สามารถช่วยไว้ได้ทัน แต่จากการสอนที่ให้นักศึกษาเขียนไดอารี่บันทึกความรู้สึก ยิ่งทำให้เห็นชัดว่าความเครียดของพวกเขาซับซ้อนกว่าที่หลายคนมอง
“หลายคนเข้ามาเรียนในคณะที่ฝัน แต่พบว่า เขาไม่ได้ชอบมันขนาดนั้น และเขาก็ยังพบไปอีกว่า เขาไม่รู้ว่าด้วยซ้ำว่าชอบอะไรอยู่ แต่จะซิ่วก็ไม่ได้ เพราะเกรงใจพ่อแม่ที่ส่งเงินมาให้เขาตั้งเยอะแล้ว มันเป็นความคาดหวังที่เขาแบกรับว่าพ่อแม่เป็นอย่างนี้ ฉันจะต้องเลี้ยงและดูแลพ่อแม่ให้ได้ ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะเลี้ยงหรือดูแลพ่อแม่ให้ได้หรือเปล่าด้วยซ้ำ”
เธอยังเล่าอีกว่า ช่วงเวลาที่นักศึกษาเลือกจะกรีดข้อมือหรือกินยาเพื่อจบชีวิต มักเป็นช่วงสอบ ซึ่งเป็นเวลาที่ทุกอย่างถาโถมเข้ามา แล้วจะทำให้นักศึกษาเกิดความเครียดตลอดเวลาว่า ‘เรากำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่เป็นอยู่มันใช่จริงๆ ใช่ไหม แต่จะซิ่วก็ซิ่วไม่ได้ พ่อแม่ส่งเงินมาให้เยอะแล้ว ทำยังไงดี เราเหมือนลูกอกตัญญูเลย แล้วนี่เรียนไปจะหางานได้จริงหรือเปล่า ในสภาพเศรษฐกิจอย่างนี้’
“เขามีความคิดความรู้สึกนะ เหมือนผู้ใหญ่พยายามทำให้เขาเป็นเครื่องจักร ‘ก็เรียนไปสิ จบไปก็หางานทำ’ ทุกอย่างดูเป็น 1 2 3 แต่ว่าในมิติของมนุษย์มันไม่ใช่อย่างนั้น”
“คำว่า ‘ก็เรียนไปสิ’ มันไม่ใช่สิ่งที่อยากเรียนด้วยซ้ำ เราเคยเจอเด็กที่จะฆ่าตัวตายเพราะว่าเขาไม่ได้อยากเรียนในคณะนี้ แต่พ่อแม่อยากให้เรียนมากๆ พ่อแม่จะให้เรียนให้ได้ แล้วก็หาว่าลูกอ่อนแอ แค่นี้ก็ทำไม่ได้”
ยิ่งในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์ เธอยิ่งมองว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่เด็กรุ่นนี้ทุกข์หนักยิ่งขึ้น เพราะปกติเวลาเครียด โมโห ไม่พอใจ ก็แค่หันไปหาเพื่อนเพื่อระบายได้ แต่เมื่อต้องเรียนออนไลน์ กลายเป็นว่า หลายคนต้องแบกรับความรู้สึกทั้งหมดนี้อยู่คนเดียว
“การนั่งอยู่หน้าจอ 7-8 ชั่วโมง แล้วเผชิญสิ่งเหล่านั้นอยู่คนเดียว นั่นคือสิ่งที่เขาแบกรับอยู่”
ครูมะขวัญเสริมด้วยว่า ในช่วงปีสองปีมานี้ แม้แต่เด็กที่สุขภาพจิตดีก็ยังย่ำแย่ไปด้วย แถมยังมีปัจจัยเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เพิ่มเข้ามาอีก เพราะการนั่งเรียนในบ้าน ทำให้ทะเลาะกับคนในบ้านได้ง่ายมาก ปกตินักศึกษาอยู่หอ เขายังมีอิสระ ได้ไปเที่ยวกับเพื่อน ได้เรียนรู้ชีวิตวัยรุ่น แต่พอกลับมาเรียนออนไลน์ที่บ้าน มันคือนั่งเรียนอยู่แล้วเจอพ่อเจอแม่ ซึ่งบางทีพ่อแม่ไม่เข้าใจว่าลูกนั่งทำอะไรอยู่นักหนา ก็จะเริ่มเกิดปากเสียงกัน
ครูมะขวัญสอนอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่วิชาที่เธอสอนเป็นวิชาเกี่ยวกับจิตใจเพียงหนึ่งเดียวในคณะสายวิทยาศาสตร์ ทำให้เธอได้ยินเสียงจากนักศึกษาที่ตัดพ้อว่า อาจารย์มักไม่ฟังด้วยซ้ำว่า นักศึกษาเหนื่อย และอาจารย์มักจะมองว่า รุ่นอื่นเขาก็ทำกันได้ ทำไมจะทำแบบเดิมไม่ได้ล่ะ
“จริงๆ ฝั่งอาจารย์ก็รู้สึกไม่มั่นคงนะ การที่ต้องขึ้นไปยืนต่อหน้าคนประมาณ 80 คน เขาก็กลัวเหมือนกันที่จะถูกตัดสิน ถูกมองไม่ดี เขาเลยต้องกด ต้องใช้อำนาจเพื่อให้รู้สึกมั่นคง เลยจะมีหลายครั้งที่อาจารย์พลาดใช้อำนาจมากเกินไปกับเด็ก จนมันไปทำร้ายเด็ก ซึ่งเราคิดว่า นี่เป็นสิ่งที่อาจารย์ต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่ตรงนั้นยังไงให้เป็นมิตรกับพวกเขา”
หลายคนอาจเผลอมองไปว่า ความเครียดของคนที่ยังอยู่ในวัยเรียน เป็นแค่เรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนที่เติบโตมาเผชิญโลกการทำงานแล้ว ซึ่งมีสารพัดปัญหาถาโถมเข้ามา แต่ครูมะขวัญมองว่า ความเครียดของวัยไหนก็เป็นเรื่องใหญ่ของวัยนั้น
“ความเครียดของเด็ก ป.2 กับผู้ใหญ่อายุ 30 อาจจะเท่ากันก็ได้ ผู้ใหญ่ต้องอย่าลืมว่า เราเรียนรู้เครื่องมือในการจัดการปัญหาและความเครียดจากประสบการณ์ชีวิต ผู้ใหญ่ก็พูดได้เพราะเขามีเครื่องมือนี้ในการจัดการปัญหาชีวิต สมมติ เด็กอายุ 20 เรียนรู้เครื่องมือมาแล้ว 2 อัน แต่ผู้ใหญ่เรียนรู้มาแล้ว 5 อัน คนที่เรียนมาแล้ว 5 อันก็ง่ายที่จะมองว่า ทำไมแค่นี้ยังทำไม่ได้ กากมาก”
“เราว่ามันเทียบกันไม่ได้จริงๆ ยิ่งเด็กเหล่านี้เจอปัญหาที่เยอะกว่ายุคของผู้ใหญ่บางคนเคยเจอ ในวัยที่เรามีเครื่องมือ 2 เรารับปัญหาแค่ 1 ก้อน แต่เด็กเหล่านี้กำลังเผชิญถึง 3-4 ก้อน โรคระบาดที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้เขาเครียดและกลัว เด็กปกติก็ไม่ไหว เพราะเขากลัวตายเหมือนกัน เขาก็กลัวจะไปติดโควิดแล้วจะทำให้ใครตาย เขามีความกลัวนี้อยู่ในใจตลอดเวลา และเขาจัดการไม่ได้ ผู้ใหญ่อาจจะเคยผ่านประสบการณ์ความตาย มีเครื่องมือจัดการกับอารมณ์นี้ แต่เด็กเหล่านี้ เขาเหมือนคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น แต่กลับถูกโยนลงทะเล”
“เด็กยุคนี้เจอปัญหาที่ซับซ้อนกว่าเรา เขาไม่ได้อ่อนแอ เขาสู้อย่างถึงที่สุดแล้ว และเขาอยากให้เราเห็นใจและช่วยซัพพอร์ทเขาหน่อย เพราะเขาเป็นแค่เด็ก จะไปเอาอะไรจากเขานักหนา”
อย่าละเลยเสียงของนิสิตนักศึกษา
การรับฟัง เป็นทางออกที่ดีที่สุดที่หลายคนต้องการ ทั้งคนที่คอยรับฟังเมื่อนักศึกษาเครียด และมหาวิทยาลัยที่รับฟังปัญหาของเด็ก พร้อมนำไปแก้ไขปัญหาจริงๆ
มะม่วง เล่าว่า เธออยากให้มหาวิทยาลัยใส่ใจกับสิ่งที่นักศึกษาพูดหรือประเมินไป อย่างกรณีของเธอ เจออาจารย์ที่สอนไม่ดี ซึ่งเป็นมาตั้งแต่รุ่นก่อนๆ และแต่ละรุ่นก็ประเมินไปแล้ว แต่ก็ยังเหมือนเดิม ทำให้เธอยิ่งรู้สึกว่าประเมินไปก็เท่านั้น
“อาจารย์บางคนที่เราบอกเขาว่า เหนื่อย เครียด เขาก็จะตอบกลับมาว่า ‘ตอนทำงานเครียดกว่านี้อีก’ ‘อาจารย์ก็มีเรื่องเครียดของตัวเองเหมือนกัน’ ‘อาจารย์ก็เคยผ่านมาแล้ว’ เขาไม่ได้เข้าใจเราเลย ไม่ได้สนใจความเครียดของเราขนาดนั้น พูดไปก็ไม่ได้ช่วยอะไร เขาแค่ทำยังไงก็ได้ให้เราเรียนจบทันเวลา หนักแค่ไหนก็ยัดไป ให้เราเรียนให้ทัน”
เช่นเดียวกับ เจนนิเฟอร์ที่เล่าถึงมหาวิทยาลัยของตัวเองว่า เวลามีเรื่องร้องเรียนไป ส่วนมากเรื่องจะไปไม่ถึง ไม่รู้ว่าเรื่องไปหยุดตรงไหน หรือบางทีอาจจะไปถึง แต่ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่สนใจก็ปัดออก เสียงนิสิตนักศึกษากลายเป็นแค่เสียงเล็กๆ ที่ไม่ถูกฟัง เพราะเขาฟังอยู่แค่ผู้ใหญ่ด้วยกันเอง
นอกจากนี้ เธอยังมองว่า จะเป็นเรื่องดีมากๆ หากมหาวิทยาลัยมีหน่วยงานมาประเมินความเครียดของนักศึกษา หรือมีสถานที่ให้คำปรึกษาที่พร้อมให้เด็กเข้าปรึกษาอยู่ตลอด และประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้เด็กเข้าถึงง่าย ก็เป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้
ขณะเดียวกัน อลเสริมว่า มหาวิทยาลัยของเธอก็ปฏิบัติต่อนักศึกษาแต่ละคณะไม่เท่ากัน เมื่อเพื่อนที่เรียนอยู่คณะแพทยศาสตร์ สามารถเข้ารับการปรึกษาจากอาจารย์หมอที่เป็นจิตแพทย์เพื่อบำบัดจิตใจได้ทุกเดือน แต่คณะอื่นๆ กลับต้องไปเข้าระบบโรงพยาบาลเองเหมือนผู้ป่วยนอกทั่วไป ทั้งที่สิ่งนี้ควรจะเป็นสวัสดิการให้กับนักศึกษาทุกคน
“มันไม่จำเป็นต้องให้เราเป็นโรคเครียดหรือโรคซึมเศร้าก่อน ค่อยไปพบจิตแพทย์ เราควรเข้าถึงได้ตลอด ไม่ใช่ให้แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ”
อย่างไรก็ดี หลายมหาวิทยาลัยก็ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และได้จัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพจิตขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเครียดของนักศึกษาแล้ว แต่อลกล่าวว่า ศูนย์ดูแลสุขภาพจิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเธอ ตั้งอยู่ที่วิทยาเขตนึง แต่นักศึกษาแต่ละคณะ เรียนกระจัดกระจายต่างวิทยาเขตกันไป ทำให้ไม่สะดวกต่อการไปใช้งานที่ศูนย์ดังกล่าว
มะม่วงเองก็เสริมว่า มหาวิทยาลัยของเธอมีศูนย์ดูแลสุขภาพจิตนักศึกษาเช่นกัน แต่ปัญหาหลักคือการประชาสัมพันธ์ที่ไม่เพียงพอ จนทำให้หลายคนไม่รับรู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่ในมหาวิทยาลัย รวมถึง มุมมองของผู้ปกครองหลายคนที่ยังคิดว่า ความเครียดเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งเธอมองว่า ศูนย์ดูแลสุขภาพจิตของมหาวิทยาลัยสามารถช่วยให้ข้อมูลต่อผู้ปกครอง ผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร
ขณะที่ ครูมะขวัญมองว่า แม้หลายมหาวิทยาลัยจะพยายามจัดตั้งศูนย์นี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานของเหล่านักศึกษาอยู่ดี ซึ่งปัญหาที่เธอได้ยินจากเหล่านักศึกษาอยู่บ่อยครั้งคือ นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยคิวยาวมาก นักศึกษาบางคนกำลังจะตายวันนี้ แต่คิวปรึกษากลับต้องรอไปอีก 6 เดือนข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่า อาชีพนี้จำเป็นมากและควรจะมีในทุกคณะ ทุกสถาบัน
นอกจากนี้ เธอยังมองว่า หากแต่ละคณะมีการจัดการสอนวิชาจัดการความเครียดให้กับนักศึกษา อย่างน้อยเทอมละคาบ จะยิ่งทำให้นักศึกษามีเครื่องมือในการจัดการความเครียดได้ดีขึ้น
ครูมะขวัญเสริมอีกว่า ตอนนี้มหาวิทยาลัยตื่นตัวกับคำว่า ‘โรคซึมเศร้า’ เยอะขึ้นแล้ว แต่สิ่งที่ต้องแก้คือ อยากให้แก้ความคิดที่ว่าเด็กอ่อนแอ เพราะหากคิดแบบนี้ มหาวิทยาลัยก็จะไม่ค่อยอยากทำอะไรให้เด็ก แม้ว่าหลายที่จะกระตือรือร้นแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งที่ทำได้อีกเยอะมากๆ เช่นกัน
“มันต้องมองว่าเด็กเขามีชีวิตจิตใจ และเขากำลังเผชิญปัญหาอย่างมาก และนี่คือความซับซ้อนและยาก มันเป็นหนึ่งในโจทย์และความยาก มันเป็นวิชานึงที่เด็กทุกคนควรจะได้เรียนรู้ วิชาจัดการความเครียดตัวเอง เป็นเรื่องเร่งด่วน ถ้าเราเห็นว่าสิ่งนี้มีความสำคัญเท่าวิชาฟิสิกส์ แคลคูลัส ถ้ามหาวิทยาลัยเห็นสิ่งนี้ได้ ทุกอย่างก็จะเกิดขึ้น”
“นักศึกษาคือบุคลากร คือทรัพยากรของเราที่ต้องมาช่วยดูแลด้วยกัน”