เวลาเราเห็นเด็กๆ เดินอยู่ในเมือง ในบริบทบ้านเราเช่นกรุงเทพฯ เรามักรู้สึกตกอกตกใจว่าทำไม เด็กๆ ถึงมาเดินอยู่ในเมืองโดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล ในแง่นึงคือเราเองรับรู้กันอยู่โดยนัยว่า เมืองของเราเป็นพื้นที่อันตราย แค่ผู้ใหญ่เองออกไปผจญภัยยังมีข้อคำนึงมากมาย แต่ล่าสุดที่ Netflix เอารายการ Old Enough! กลับมาฉายอีกครั้ง เราก็เลยได้เห็นภาพเด็กๆ ที่เดินทำภารกิจอยู่ในเมืองใหญ่ได้อย่างปลอดภัย
เอาเข้าจริง ภารกิจใน Old Enough! บางภารกิจก็โหดไปหน่อย เด็กก็เด็กเกิ๊น บางอันให้ไปเอาปลา เดินไปทำร่วงไป บางคนพูดยังไม่เป็นประโยค แต่ส่วนใหญ่ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ถ้าเรานึกถึงเรื่องราวของเด็กๆ เช่นในการ์ตูนชินจัง เราก็จะเห็นว่าเด็กโรงเรียนอนุบาลนั้นใช้ชีวิตอยู่นอกบ้าน อยู่บนพื้นที่เมืองที่เป็นพื้นที่เล่นอันใหญ่โต และเด็กๆ ได้เป็นส่วนหนึ่งของเมือง บางตอนก็จะมีตัวละครในเรื่องเช่นชินจังหรือไอย์จังได้ฝึกฝนความรับผิดชอบด้วยการไปซื้อของหรือเอาของไปส่งด้วยตัวเอง
สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นเสมอ คือ ส่วนใหญ่การที่เด็กๆ สามารถออกไปทำนู่นทำนี่ในเมืองได้ เป็นเพราะเมืองนั้นๆ มีความเป็นย่าน และเป็นเมืองที่สามารถเดินได้ เดินได้อย่างปลอดภัย มีทางเท้าที่เหมาะสม และที่สำคัญคือการมีระบบที่ผู้คน ‘มองเห็น’ เด็กๆ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เมืองและทุกคนทำหน้าที่สอดส่องและร่วมกันดูแล ตั้งแต่การหยุดรถให้และยื่นมือเข้าช่วยเหลือ พื้นฐานสำคัญของเด็กๆ เช่นโรงเรียนและพื้นที่เล่นเป็นสิ่งที่เด็กๆ จะได้รับการฝึกฝนตั้งแต่การเดินไปโรงเรียนและการสร้างวัฒนธรรมที่ทำให้เมืองปลอดภัยกับเด็กๆ
‘เดินไปโรงเรียน’ ผังเมืองและและนโยบายเก่าแก่ของญี่ปุ่น
เบื้องต้นที่สุดของเมืองที่ปลอดภัย โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่เป็นกลุ่มเปราะบางและต้องการการดูแลเป็นพิเศษ สาธารณูปโภคพื้นฐานของเมืองก็ต้องปลอดภัยก่อนตั้งแต่คุณภาพทางเท้า จุดข้ามถนน สำหรับเด็กญี่ปุ่น สิ่งที่เด็กๆ ทำคือการเดินไปโรงเรียน มีรายงานว่ามีนักเรียนไม่ถึง 2% ที่นั่งรถบัสไปโรงเรียน
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เด็กเกือบทั้งหมดเดินไปโรงเรียน ส่วนหนึ่งคือญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ออกนโยบายเพื่อการเดินไปโรงเรียนมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1953 ด้วยการออกกฎหมายว่า จะต้องมีโรงเรียนประถมในระยะไม่เกิน 4 กิโลเมตร และโรงเรียนมัธยม (junior high) ในระยะ 6 กิโลเมตร จากบ้านของเด็ก
ในระดับปฏิบัติ ญี่ปุ่นจะมีการกำหนดแผนที่ของย่านและเส้นทางแนะนำจากทางสมาคมผู้ปกครอง(National Parent Teacher Association) คือ เป็นการทำงานร่วมกันของสถาบันการศึกษาและชุมชน โดยทางสมาคมนอกจากจะออกเส้นทางที่ปลอดภัยสำหรับการเดินไปโรงเรียนแล้วยังไปทำงานร่วมกับเมืองเพื่อสร้างเส้นทางที่ปลอดภัยในการเดินไปโรงเรียนด้วย บางโรงเรียนจะไปขอจัดพื้นที่เฉพาะเพื่อปิดการจราจรในช่วงเวลาที่เด็กๆ เดินไปหรือกลับจากโรงเรียน
เมืองที่เด็กเป็นเหมือนลูกเหมือนหลาน
ที่พิเศษไปกว่านั้น การสร้างเส้นทางเดินไปโรงเรียนสำหรับนักเรียนประถมที่ญี่ปุ่นคือการที่สมาคมจะไปทำงานร่วมกับชุมชน สมาคมจะไปขอความร่วมมือกับบ้านหรือร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่ที่เด็กๆ จะเดินผ่าน โดยบางครั้งจะมีการไปขอชาวบ้านที่เกษียณอายุแล้วให้ช่วยเป็นหูเป็นตา ช่วยจับตาดูและคอยให้ความช่วยเหลือกับเด็กๆ สำหรับเด็กๆ เองการเดินไปโรงเรียนและรับผิดชอบสวัสดิภาพก็จะเป็นการฝึกฝนที่สำคัญอย่างหนึ่ง มีระบบการดูแล เช่น ติดสัญลักษณ์เพื่อให้คนอื่นทราบว่าเป็นนักเรียนที่เริ่มเดินไปโรงเรียน มีการวางเส้นทางสำคัญ รวมถึงการฝึกให้เข้าใจสิ่งที่ต้องทำพื้นฐานเพื่อความปลอดภัยตั้งแต่ช่วงอนุบาล เช่น การข้ามถนน การให้สัญญาณ การเดินไปไหนมาไหนเป็นกลุ่ม ไปจนถึงการขอความช่วยเหลือ
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในรายการภารกิจเด็กน้อย หรือในการ์ตูนเรื่องอื่นๆ เราจะเห็นว่าผู้ใหญ่ในเมืองจะไม่ตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กถึงไม่มีคนดูแล แต่จะถามว่าเด็กนั้นมาทำอะไร ต้องการอะไร และจะช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้เด็กๆ นั้นทำสิ่งที่ตัวเองต้องทำ และเดินทางกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย ในบางตอนของ Old Enough! ก็จะมีการพูดถึงเมืองที่คุณลุงคุณป้าที่ทำหน้าที่ช่วยให้เด็กๆ เติบโตอยู่ในพื้นที่เมืองได้อย่างแข็งแรงและปลอดภัย
นอกจากการฝึกฝนเรื่องความรับผิดชอบและการดูแลตัวเองแล้ว การเดินไปโรงเรียนของญี่ปุ่นยังเป็นต้นแบบการพัฒนาและการส่งเสริมการพัฒนาเมืองปลอดภัยโดยมีเด็กๆ เป็นส่วนหนึ่งที่เมืองมองเห็น ในประเด็นเล็กๆ ที่มีผลดีคือประเด็นเรื่องสุขภาพและความอ้วนของเด็กๆ
สนามเด็กเล่นขนาดใหญ่
นอกจากการมีโรงเรียนใกล้บ้าน มีวัฒนธรรมที่ทำให้เด็กๆ ใช้พื้นที่เมืองและผู้ใหญ่มองเห็นเด็กๆ ทั้งจากหน้าบ้านและจากบนรถยนต์แล้ว พื้นที่เล่นก็ดูจะเป็นอีกพื้นที่สำคัญที่ทำให้เด็กๆ มองเห็นและใช้เมืองอันกว้างใหญ่เป็นสนามเด็กเล่นอันอิสระของตัวเอง
หนึ่งในฉากที่เรามักจะเห็นไม่ว่าจะเป็นในชินจังหรือโคทาโร่อยู่คนเดียวก็คือ ภาพของสนามเด็กเล่น สนามเด็กเล่นเล็กๆ ถือเป็นผลของการพัฒนาจากการฟื้นฟูภัยพิบัติที่มองเห็นเด็กๆ เป็นศูนย์กลาง คือในปี ค.ศ.1923 ญี่ปุ่นเจอกับแผ่นดินไหวใหญ่ในเขตคันโต ในทศวรรษหลังจากนั้นคือ ค.ศ.1923–1931 โตเกียวต้องสร้างเมืองขึ้นใหม่และหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ คือ การสร้างสวนหรือสนามเด็กเล่นขนาดเล็กกระจายลงทั่วโตเกียว โดยจะวางสนามเด็กเล่นเล็กๆ นั้นไว้ใกล้ๆ กับที่ตั้งของโรงเรียนประถม จากทิศทางการฟื้นฟูทำให้โตเกียวมีสวนขนาดเล็กเกิดขึ้นราว 52 สวน เป็นพื้นที่ของกิจกรรมสันทนาการ หรือกระทั่งเป็นจุดหลบภัยและรวมพลของเมืองใหญ่ด้วย
นอกจากสวนแล้ว พื้นที่สำคัญเช่นพื้นที่ธรรมชาติก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เด็กๆ ได้ใช้ในการเล่นในชีวิตประจำวัน เราจะเห็นภาพของทุ่งที่อยู่ไม่ไกลจากย่านพักอาศัย เห็นพื้นที่ริมน้ำ เห็นต้นไม้ เห็นสรรพสัตว์ที่เด็กๆ ได้ออกไปวิ่งเล่นกับพื้นที่ธรรมชาติที่แทรกตัวอยู่ภายในเมือง
สุดท้าย เด็กๆ เองก็ถือเป็นอีกหนึ่งสมาชิกของเมือง บ้างก็มองว่าเด็กเองก็มีสิทธิในเมือง (right to the city) และเมืองเองก็ควรจะต้องพัฒนาและนับรวมเด็กๆ เข้าไว้ในพื้นที่โดยที่เด็กๆ ควรสามารถใช้ชีวิตตามลำพังได้ตามสมควรอย่างปลอดภัยอยู่ในเมืองใหญ่แห่งนี้
ทว่า ญี่ปุ่นเองก็มีปัญหา หรือกระทั้งซีรีส์ Old Enough! เองก็นำไปสู่การถกเถียง เช่นประเด็นเรื่องความปลอดภัยของเด็กๆ หรือบางประเด็นที่ควบคุมไม่ได้เช่นการลักพาหรือการหลอกลวงเด็กๆ จากการที่เราอาจจะไว้ใจทั้งเมืองและทั้งเด็กๆ ในวัยที่อาจจะเด็กเกินไป แต่โดยรวมแล้ว เมืองที่ปลอดภัยกับคนทุกเพศทุกวัย และการมองเห็นเด็กที่ควรจะสามารถวิ่งเล่นในเมือง บนถนนที่มีระบบป้องกัน ในเมืองที่มีวัฒนธรรมในการเคารพกัน ไปจนถึงพื้นที่ธรรมชาติที่นำไปสู่การเรียนรู้ก็น่าจะเป็นการพัฒนาที่น่าเอาอย่าง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan