การใช้ชีวิตในแต่ละวันให้ผ่านไปโดยที่ยังมีสุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพใจที่ดีนั้น นับว่าเป็นเรื่องยากของคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันที่ต้องเผชิญทั้งโรคระบาด สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม การเมืองที่ดุเดือด จนบางคนเริ่มกังวลว่าเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งลืมตาดูโลก อาจต้องแบกรับภาระหนักอึ้งเช่นเดียวกับพวกเขา
ลิซา โรโชว์ (Lisa Rochow) และ คาเมรอน วีลเลอร์ (Cameron Wheeler) คู่รักในรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ถึงประเด็นนี้ โดยลิซากล่าวว่าเธอรู้ตัวว่าเธอไม่อยากมีลูกมาตั้งแต่มัธยม “ฉันรู้สึกเหมือนต้องเสียสละหลายอย่างในชีวิตเพื่อจะได้เป็นพ่อแม่ ทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย ต้นทุนทางเวลา และต้นทุนที่ต้องสละสิ่งที่ตัวเองอยากทำ” ส่วนวีลเลอร์เองก็เสริมว่า เขามักจะกังวลเรื่องการมีลูกอยู่เสมอ “พอผมเริ่มมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น และได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมเลยมองในมุมที่ ไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ตัวเองจะรับผิดชอบได้ ถ้าจะทำให้เด็กคนหนึ่งลืมตาดูโลก”
ขณะเดียวกัน ท่ามกลางสภาพสังคมที่กดดันและเปลี่ยวเหงา อาจทำให้เรามองหาความสัมพันธ์ที่ดี หรือความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ใช่ว่าคำตอบนั้นจะเป็นการแต่งงานมีลูกเสมอไป โดยเฉพาะคนรุ่นมิลเลนเนียลจำนวนมากที่เลือกต่อคิวสมัครเป็นทาสหมา ทาสแมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ แทนการมีลูก จนมีประโยคที่แซวกันเล่นๆ ว่า “Pets are the new kids, Plants are the new pets.”
เมื่อหมาแมวเริ่มเป็นมากกว่าสัตว์เลี้ยง
เดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.2020 Ypulse องค์กรที่ศึกษาวิจัยข้อมูลเชิงลึกของเจน Z และมิลเลนเนียล ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างอายุ 16-34 ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2 ใน 5 มองว่าสัตว์เลี้ยงเป็นเหมือน ‘ลูก’ ของพวกเขา และเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว สิ่งเหล่านี้ยังสะท้อนผ่านพฤติกรรมการใช้จ่าย อย่างการซื้ออาหารคุณภาพสูงให้สัตว์เลี้ยงมากกว่าอาหารที่ถูกที่สุด รวมทั้งของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง หากย้อนไปในปี ค.ศ.2014 การสำรวจของ Wakefield Research ยังระบุว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลราว 76% มีแนวโน้มจะใช้จ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยงมากกว่าเพื่อตัวเอง ส่วนคนรุ่นเบบี้บูมมอร์มีเพียง 50% เท่านั้นที่มีมุมมองดังกล่าว
นอกจากตัวเลขสถิติแล้ว ยังมีเรื่องราวของ เอมี แบล็กสโตน ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยเมน ที่เริ่มศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2008 โดยส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกที่ว่าเพื่อนๆ รอบตัวของเธอหลายคนกำลังจะมีลูกและเล่าถึงความรู้สึกอิ่มใจที่จะได้เป็นแม่คน ขณะที่แบล็กสโตนมองว่าชีวิตแต่งงานของเธอก็มีความสุขดี แต่กลับไม่อินกับความรู้สึกของเพื่อนๆ จนช่วงแรกๆ เธอเริ่มคิดว่า “นี่ฉันผิดปกติหรือเปล่านะ?”
แต่เมื่อได้สัมภาษณ์ผู้คนระหว่างทำวิจัย ก็ทำให้เธอได้เห็นตัวอย่างของกลุ่มคนที่ไม่ต้องการมีลูก แถมบางคนยังดูแลสัตว์เลี้ยงราวกับเป็นลูกของตัวเอง อย่างชายคนหนึ่งที่ลาออกจากงานเพราะสัตวแพทย์บอกว่า “สุนัขของคุณกำลังจะตาย” เขาจึงอยากใช้เวลาร่วมกับเจ้าสุนัขตัวนี้จนวินาทีสุดท้าย หรือสามีภรรยาคู่หนึ่งที่หย่าร้างกัน แล้วต้องตกลงเรื่องสิทธิการดูแลแมว และการเยี่ยมเยือนแมวของแต่ละฝ่ายเช่นเดียวกับสิทธิการเลี้ยงดูลูก
การมีลูกกับราคาที่ต้องจ่าย
สาเหตุที่คนรุ่นมิลเลนเนียลจำนวนมากตัดสินใจไม่มีลูกหรือมีลูกช้าเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้าอาจมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้หญิงมีทางเลือกมากกว่าเมื่อ 50 ปีก่อน เพราะพวกเธอไม่ต้องตั้งเป้าหมายถึงการแต่งงานมีลูกเพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิต ไปจนถึงสภาพสังคมที่ไม่ได้เอื้อต่อการมีลูกมากนัก อย่างที่ คริสติน เพอร์เชสกี (Christine Percheski) รองศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น กล่าวกับ Insider ว่า “ผู้คนมักจะชะลอการมีลูก ในช่วงที่เกิดความไม่สงบทางการเมืองและสังคม”
แต่อะไรทำให้พวกเขาเลือกที่จะดูแลสัตว์เลี้ยงแทน?
ย้อนกลับไปที่การศึกษาของ เอมี แบล็กสโตน เธออธิบายเรื่องนี้ว่า “หนึ่งในวิธีที่จะแสดงออกถึงด้านการดูแลเอาใจใส่ของครอบครัวที่ไม่มีลูก คือ การดูแลสัตว์เลี้ยง” และสัตว์เลี้ยงเปรียบเสมือนตัวแทนของความรักอันไร้เงื่อนไขที่คอยเยียวยาหัวใจในวันเหนื่อยล้าอีกด้วย ส่วนอีกเหตุผลหลัก แน่นอนว่าเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะการเลี้ยงสุนัขหรือแมวในช่วงปีแรก มีค่าใช้จ่ายเพียงหลักพันดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 30,000 บาท) ขณะที่การเลี้ยงเด็กทารกปีแรก มีค่าใช้จ่ายราวหมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 300,000 บาท) ยังไม่รวมค่าเล่าเรียน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในอนาคต ส่วนในประเทศไทยเคยมีการศึกษาในปี ค.ศ.2019 ที่พบว่า ต้นทุนการเลี้ยงดูบุตร (อายุ 0-14 ปี) 1 คน มีค่าใช้จ่ายเป็นมูลค่าที่แท้จริงรวม 1.57 ล้านบาท
นอกจากนี้การมีลูกยังจำกัด ‘อิสระทางเวลา’ เพราะพ่อแม่หลายคนคงต้องคิดหนักว่าจะไปทำงานหรือใช้ชีวิตนอกบ้านอย่างไร โดยไม่ปล่อยให้ลูกอยู่เพียงลำพัง และต้องให้เวลาดูแลเอาใจใส่ สังเกตพฤติกรรม พัฒนาการของลูกในทุกๆ วัน ขณะที่พวกเขาสามารถปล่อยให้เจ้าแมวหรือน้องหมาอยู่ในบ้านได้ หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายในการจ้างคนมาดูแลสัตว์เลี้ยงนั้นค่อนข้างประหยัดกว่าการจ้างพี่เลี้ยงเด็ก
เหตุผลข้างต้นทำให้หนุ่มสาวยุคใหม่บางคนไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ‘พร้อม’ จะดูแลเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาอย่างสมบูรณ์ได้ อีกทั้งรัฐไม่ได้สนับสนุนการดูแลบุตรที่เพียงพออย่างในบางประเทศ เช่น ฟินแลนด์ที่มีสวัสดิการชุดอุปกรณ์สำหรับเด็กแรกเกิด และเงินช่วยเหลือรายเดือนสำหรับผู้ปกครอง
นอกจากนี้ค่านิยม ‘การมีลูกให้ทันใช้’ หรือ ‘ลูกต้องดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า’ ได้ลดน้อยลงไปกว่าสมัยก่อน เพราะคนหนุ่มสาวจำนวนมากมองว่าสวัสดิการเหล่านี้ควรเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่เมื่อรัฐไม่สามารถจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ได้เพียงพอและครอบคลุม การมีลูกสำหรับพวกเขา จึงต้องคิดล่วงหน้าถึงการรับผิดชอบชีวิตเด็กคนหนึ่งไปหลายสิบปี และการรับผิดชอบชีวิตวัยชราของตนเองไปพร้อมๆ กัน
สัตว์เลี้ยงและภาพจำลองของครอบครัว
อีกมุมหนึ่งของคนที่เลี้ยงสัตว์ แต่ยังไม่มีลูก อาจไม่ใช่เพื่อทดแทนกันโดยสิ้นเชิง แต่เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับทักษะการเลี้ยงลูกเบื้องต้น เช่น การส่งเสียงเห่าหอนร้องหงิงๆ ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ของสุนัข จนเจ้าของต้องตื่นขึ้นมายามดึกนั้นคล้ายกับกับทารกที่มักจะปลุกพวกเขาด้วยเสียงร้องไห้ในยามค่ำคืน
นอกจากนี้สำหรับคู่รักบางคู่ การดูแลสุนัขหรือแมวร่วมกันอาจเหมือนการจำลองภาพครอบครัว ลองสวมบทบาทเป็นพ่อแม่ ทำให้เราได้รับรู้ว่าอีกฝ่ายจะดูแลและรับมืออย่างไรเมื่อเกิดปัญหาบางอย่างขึ้น เช่น น้องหมาน้องแมวได้รับบาดเจ็บ
ไม่เพียงการจำลองภาพของครอบครัวในอนาคต สัตว์เลี้ยงยังช่วยให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของคน ๆ หนึ่งเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ เพราะเคยมีผลการศึกษาหนึ่งที่พบว่าเจ้าหมาช่วยลดระดับความเครียด และเพิ่มคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) ให้กับมนุษย์ได้ แถมสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ยังช่วยกระตุ้นให้คนทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น การพาสุนัขออกไปเดินเล่น ทำให้เราได้ขยับร่างกาย หรือแม้แต่การวิ่งไล่คว้ารองเท้าคู่โปรดกลับคืนมา เพราะเจ้าสุนัขกำลังคาบไปกัดเล่นอย่างเมามัน แถมบางครั้งสัตว์เลี้ยงก็กลายเป็นตัวกลางเชื่อมสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือแม้แต่คนในบ้านให้เกิดบทสนทนาเล็กๆ และหันหน้ามาพูดคุยกันมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว
แม้สัตว์เลี้ยงกับมนุษย์จะไม่สามารถทดแทนกันได้อย่างสิ้นเชิง แต่ก็นับว่าสัตว์เลี้ยงเป็นทางเลือกอันแสนลงตัวและตอบโจทย์ สำหรับคนหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยภาระหนักอึ้ง แต่ยังก็อยากดูแลและโอบรับความรักท่ามกลางสถานการณ์อันตึงเครียดในปัจจุบัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon