หลายคนคงทราบดีแล้วว่า Oxford English Dictionary เลือกให้คำว่า post-truth หรือยุคข้ามความจริง ไปเน้นความเห็นส่วนตัวและความรู้สึกแทน เป็นคำแห่งปี (The MATTER รายงานไว้ที่นี่) ส่วน Dictionary.com ก็เลือกให้ Xenophobia เป็นคำแห่งปีเช่นเดียวกัน
คำถามก็คือ แล้วสำนักอื่นๆ ล่ะ เลือกคำไหนให้เป็นศัพท์แห่งปี เพื่อสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่ผ่านมาในปี 2016 บ้าง?
ธรรมเนียม “คำศัพท์แห่งปี” นั้นเริ่มจากเยอรมันในช่วงปี 1970 แล้วก็แพร่หลายไปยังภาษาอื่นๆ ก่อนจะได้รับความนิยมในเวลาต่อมา ซึ่งในระยะหลัง ผู้เลือกคำแห่งปีก็เริ่มสร้างสรรค์มากขึ้น และเลือกคำที่มีสีสันเพื่อเรียกความสนใจ เช่นในปี 2015 Oxford เลือกอีโมจิ ร้องไห้ด้วยความดีใจ เป็นคำแห่งปี

คำแห่งปีของ Oxford
ในปี 2016 ที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายจนอารมณ์ท่วมท้น สับสนกันไปทั้งโลกนี้ สำนักต่างๆ ต่างเฟ้นหาคำที่จะมาเป็นตัวแทนและสามารถสื่ออารมณ์ได้ครบถ้วนกันอย่างขมักเขม้น นอกจาก “Post-truth” ของ Oxford English Dictionary และคำว่า Xenophobia ของ Dictionary.com แล้ว, Cambridge English Dictionary ก็เลือกคำที่มีความหมายไปในทำนองเดียวกันคือคำว่า Paranoid หรือระแวงระวังจนเกินเหตุนั่นเอง
ในการโหวตออนไลน์ของ Merriam-Webster ดูเหมือนว่าคำว่า Fascism จะได้รับชัยชนะ แต่ Merriam-Webster กลับเลือกคำที่แตกต่างออกไปอย่างคำว่า Surreal (เหนือจริง) ให้เป็นคำแห่งปี
ส่วนดิกชันนารี Collins นั้นเลือกให้คำที่อยู่ในกระแสของสหราชอาณาจักรอย่าง Brexit ได้รับตำแหน่งนี้ไป Brexit เป็นคำที่มีคำพ่วงตามมาหลากหลายเช่น Bremain (พวกที่เชียร์ให้สหราชอาณาจักรอยู่ใน EU) Bremorse หรือ Bregrets (พวกที่เชียร์ให้ออก แล้วมาเสียใจทีหลัง) Brexperts (พวกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ)
ในฝรั่งเศสก็มีการจัดอันดับคำแห่งปีเช่นกัน โดยได้คำว่า réfugiés (ก็แปลว่านั่นแหละครับ – ผู้อพยพ) มาเป็นคำแห่งปี ในเยอรมันเป็นคำว่า postfaktisch ซึ่งก็เหมือน Post-truth นั่นเอง
ในปีนี้ สมาคมคนหูหนวกแห่งสวิตเซอร์แลนด์ได้เฟ้นหาคำแห่งปีเป็นปีแรก (โดยเป็นภาษามือ ; Sign of the Year) เป็นคำว่า Trump โดยท่าทางเป็นการปาดผมขึ้นไปด้านบน เพื่อล้อเลียนทรงผมของว่าที่ ปธน.สหรัฐอเมริกา
ส่วนในภาษาญี่ปุ่นนั้นเลือกตัวคันจิ “金” หรือทองเป็นตัวอักษรแห่งปี เพื่อสื่อถึงหลากหลายเหตุการณ์เช่นข่าวเหรียญทองที่การแข่งขันโอลิมปิกริโอ้ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หรือเสื้อสีทองของ Piko Taro
ส่วนสำนักข่าว Guardian นั้นเลือกคำที่โดนัลด์ ทรัมป์ประดิษฐ์ขึ้นมา คือคำว่า Unpresidented ที่ให้ความหมายว่าเป็น “An instance of someone being “prepared to say what most of us are thinking”, but actually saying things most of us are not thinking” (เหตุการณ์ที่บางคนเตรียมตัวจะพูดสิ่งที่พวกเราส่วนมากคิด แต่กลับไปพูดสิ่งที่เราส่วนมากไม่ได้คิด” หรือ “An irrecoverable act of folly committed by a president” (การกระทำแย่ๆ โดยประธานาธิบดี)
ส่วนนิยามที่ร้ายที่สุด ให้ความหมาย Unpresidented ไว้ว่าเป็น “Feeling of loss when a president who has neither the temperament nor the knowledge to actually be president is elected president, causing one to wonder who will actually be running the country and triggering feelings of malaise and dread”
หรือ “รู้สึกแย่ เมื่อประธานาธิบดีไม่มีทั้งความรู้ความสามารถพอที่จะเป็นประธานาธิบดี ทำให้เราเกิดสงสัยขึ้นมาว่าใครกันที่จะเป็นคนบริหารประเทศ ทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวและสิ้นหวัง”
อ้างอิงจาก
https://www.theguardian.com/us-news/2016/dec/19/unpresidented-trump-word-definition
https://theconversation.com/the-worlds-words-of-the-year-pass-judgement-on-a-dark-surreal-2016-70715