ขณะที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพามนุษย์เดินทางไปพบคำตอบของความลึกลับอันหลากหลายบนโลกใบนี้ ความเชื่อบางอย่างเริ่มถูกตั้งคำถาม ศาสนาเริ่มกลายเป็นทางเลือกมากกว่าเส้นทางหลักที่ผู้คนใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจ ตัวอย่างหนึ่งคือการสำรวจของ Pew Research Center ในปี ค.ศ.2021 พบว่า เกือบ 1 ใน 3 ของชาวอเมริกัน (29%) ไม่ได้นับถือศาสนาซึ่งเพิ่มขึ้นมาจากปี ค.ศ.2007 เกือบเท่าตัว
แต่นั่นหมายความว่าคนรุ่นใหม่ หันหลังให้กับความเชื่อดั้งเดิมอย่างเรื่องดวงชะตาหรือโหราศาสตร์ด้วยหรือเปล่า ?
การเติบโตของธุรกิจสายมูฯ
การทำนายดวงชะตาเป็นศาสตร์อันเก่าแก่ที่อยู่คู่มนุษย์มาอย่างยาวนาน แม้วันเวลาผ่านไปวิทยาศาสตร์จะหาคำอธิบายให้กับหลายสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเราได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่อยู่เหนือการคาดเดาของมนุษย์ ‘การดูดวง’ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้คนยังคงใฝ่หา
ตามรายงานในปี ค.ศ.2019 พบว่าวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาตินั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มคนอายุ 18-34 ปี และในเจเนอเรชั่น Z กว่า 43% มักจะตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตจากการดูดวงหรืออ่านไพ่ยิปซี
หนึ่งในสิ่งที่สะท้อนการโอบรับเรื่องดวงชะตาของคนในยุคนี้ได้ดี คงจะเป็นธุรกิจด้านการดูดวงในปัจจุบันที่ปรากฏให้เห็นหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งวอลเปเปอร์เสริมดวง บริการดูดวงออนไลน์ในแอพพลิเคชั่น หรือ pick a card เลือกไพ่ทำนายดวงบนยูทูบที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม นอกจากนี้ งานวิจัยในหัวข้อ ‘ปัจจัยเชิงสาเหตุที่มีอิทธิพลต่อเจตนาเชิงพฤติกรรมของผู้ใช้บริการโหราศาสตร์ในประเทศไทย’ เมื่อปี ค.ศ.2016 ยังพบว่า แนวโน้มของธุรกิจโหราศาสตร์ไทยเป็นไปในทิศทางที่ขยายตัวมากขึ้น ทั้งในแง่การให้คำปรึกษาและในแง่การศึกษา
ส่วนในต่างประเทศ เว็บไซต์ ibisworld.com คาดว่าธุรกิจเกี่ยวกับโหราศาสตร์ในสหรัฐอเมริกามีมูลค่าเฉลี่ย 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และเว็บไซต์ดูดวงจากสหรัฐอเมริกาอย่าง Co-Star พบว่ายอดดาวน์โหลดส่วนใหญ่มาจากหญิงสาวอายุ 18-25 ปี นอกจากนี้บทความของ spotify ยังระบุว่าคนเจเนอเรชั่น Z มีอิทธิพลต่อการเติบโตของพอดแคสต์ดูดวงบน Spotify โดยมีบทบาทเป็นทั้งผู้ฟังและผู้ดำเนินรายการ
คำตอบในม่านหมอกของความไม่แน่นอน
“คนรุ่นใหม่มีความอยากรู้อยากเห็นโดยกำเนิดและหันมาใช้โหราศาสตร์เพราะพวกเขามีคำถามมากมายที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ในโลกความเป็นจริงที่แตกสลาย”
มิกะ วิเดนเท (Mika Vidente) และเฟร อัลเดอร์ (Fer Aldre) คู่หูผู้จัดพอดแคสต์สายมูฯ อย่าง Witch, Please ใน spotify กล่าวถึงสาเหตุที่คนรุ่นใหม่ยังคงให้ความสนใจเรื่องดวงชะตา เช่นเดียวกับเจนนิเฟอร์ ฟรีด (Jennifer Freed) นักจิตวิทยาและนักโหราศาสตร์ที่มองว่า “มนุษย์มักพยายามทำความเข้าใจการดำรงอยู่และสร้างความหมายให้กับชีวิต ซึ่งโหราศาสตร์เป็นระบบเก่าแก่ที่สุดในการพยายามทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้”
ส่วนคำอธิบายทางจิตวิทยา เคยมีการศึกษาในปี ค.ศ.1982 โดยเกรแฮม ไทสัน (Graham Tyson) ที่พบว่า ผู้คนมีแนวโน้มจะปรึกษาหมอดูหรือนักโหราศาสตร์ เมื่อพวกเขาเผชิญกับสภาวะตึงเครียด ซึ่งมักจะมาจากช่วงเวลาที่เผชิญความไม่แน่นอนของชีวิตและเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่บทความเกี่ยวกับการทำนายดวงชะตาที่ถูกตีพิมพ์เพิ่มมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ The Great Depression ในปี ค.ศ.1929
ส่วนในปัจจุบัน นอกจากโรคระบาด การเมือง สิ่งแวดล้อม และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะสร้างความตึงเครียดให้กับผู้คนแล้ว คนรุ่นใหม่ๆ ที่เติบโตมากับโลกออนไลน์ยังสามารถเข้าถึงเรื่องเครียดๆ เหล่านี้ได้ง่ายและเร็วกว่ายุคสมัยก่อน จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะหันไปพึ่งสายมูเตลูเพื่อบรรเทาความเครียดและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
เพราะปกติแล้วการดูดวงไม่ได้บอกว่าเพียงว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่หลายครั้งที่เราจะได้เล่าความทุกข์ และถามคำถามคาใจที่ไม่รู้จะไปหาคำตอบจากที่ไหน ส่วนหมอดูก็มักจะพูดถึงสิ่งที่เรากำลังคิด สภาวะที่เราเผชิญอยู่ ซึ่งช่วยสร้างความรู้สึกว่าเรากำลัง ‘ถูกรับฟังอย่างเข้าใจ’ เพราะมีคนสะท้อนความคิดและความรู้สึก (reflect and restate) ของเรา ณ เวลานั้น รวมทั้งสร้างความรู้สึก ‘ควบคุมได้’ ในสถานการณ์ที่เรามองไม่ออกว่าอนาคตจะเป็นแบบไหน ดังนั้นในอีกแง่หนึ่ง การดูดวงจึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนของความตึงเครียดและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในสังคม
มูเตลูยุคใหม่ที่เข้าถึงตัวตนของผู้คนมากขึ้น
นอกจากประเด็นความตึงเครียดในสังคมแล้ว เว็บไซต์ moderneast ได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ข้อมูลจากหลายศาสตร์บนโลกมักจะให้คำตอบในระดับสังคมหรือคำอธิบายในภาพรวมเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่การดูดวงมักจะให้คำตอบในเชิงปัจเจกมากกว่า โดยเฉพาะการดูดวงในปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงการดูแบบเฉพาะเจาะจงได้ง่ายขึ้น
จากสมัยก่อนที่มักจะเป็นการดูดวงตามจักรราศี หรือทำนายกว้างๆ (ยกเว้นจะติดต่อหมอดูแบบตัวต่อตัว) แต่ปัจจุบันคำทำนายถูกปรับให้แคบลงไปเรื่อยๆ อย่าง pick a card ที่เราสามารถเลือกหาหัวข้อที่เรากำลังสงสัย แล้วเลือกไพ่เพื่อให้ได้คำตอบของตัวเราเองได้ หรือการอ่านดวงชะตาที่คำนวณตามวันเดือนปีเกิดในแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจก การแสดงตัวตน และความหลากหลายในสังคม
การดูดวงจึงไม่ได้เป็นเพียงการหาคำตอบของเหตุการณ์ในอนาคตเท่านั้น แต่ยังบ่งบอกถึงจุดแข็ง จุดอ่อน ลักษณะนิสัยพื้นฐานที่หลายคนอาจจะนำมาใช้สำหรับทำความเข้าใจตนเองและพัฒนาตัวเอง คล้ายกับการทำแบบทดสอบบุคลิกภาพฉบับมูเตลูนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัลเบิร์ต ลี (Albert Lee) จากภาควิชาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง กล่าวว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงตอนดูดวงทุกครั้งคือการระบุสาเหตุที่ผิดพลาด โดยมองว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมาจากดวงชะตาที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะวิธีนี้มักจะส่งผลเสียต่อผู้คนมากกว่า
“เมื่อผู้คนรู้สึกว่าต้องปรับพฤติกรรมหรือเปลี่ยนทางเลือกของตัวเองแล้ว บางทีการระบุสาเหตุว่า (พฤติกรรมที่ควรเปลี่ยน) มาจากจักรราศีของตัวเองนั้น อาจเป็นวิธีที่ง่ายกว่า แต่ถ้าคุณรู้ว่าคุณกำลังหยาบคาย สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือการทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แทนที่จะโทษดวงชะตาเพียงอย่างเดียว”
หากย้อนไปที่คำถามว่าคนรุ่นใหม่ยังเชื่อเรื่องดวงหรือไม่ ภาพรวมของธุรกิจดูดวงที่หลากหลายในปัจจุบันก็พอจะทำให้เห็นภาพว่าความสนใจเรื่องดวงชะตานั้นยังไม่หายไปไหน และหลายคนก็พร้อมจะควักกระเป๋าตังค์จ่าย เพื่อหาคำตอบบนความไม่แน่นอนของชีวิต อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรจะมาคู่กับความเชื่อเหล่านี้เสมอ ก็คงจะเป็นวิจารณญาณในการรับฟัง ไม่ว่าเราจะดูดวงเพื่อความสบายใจหรือเพื่อทำความเข้าใจตัวเองก็ตาม
อ้างอิงจาก
iwutlee/Journal manager
Illustration by Manita Boonyong