เมื่อปี 2021 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ประชาชนชาวเมียนมาทั่วประเทศ ทำการรวมตัวกันประท้วง ‘การรัฐประหาร’ ที่นำโดย มี่นอองไลง์ พลเอกอาวุโส แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5,000 คน และถูกจับกุมอีกจำนวนมาก จากการออกมาต่อต้านการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน โดยกองทัพเมียนมา
ตอนนี้เมียนมาเป็นอย่างไร มีอะไรที่เราต้องจับตามองหลังจากนี้บ้าง? The MATTER พูดคุยกับ รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นในเมียนมาหลังการรัฐประหาร
การแพร่ระบาดของสงครามกลางเมือง
วิกฤตความขัดแย้งในเมียนมาดำเนินมาครบ 4 ปี ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2025 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อ 31 มการาคม หรือ 1 วันก่อนหน้าวันครบรอบ รัฐบาลทหารเมียนมาออกมาประกาศเป้าหมายที่จะจัดการเลือกตั้งในปีนี้ ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังคงดุเดือดในหลายพื้นที่
ทั้งนี้ รัฐบาลทหารประกาศต่ออายุ คำสั่งภาวะฉุกเฉิน ไปอีก 6 เดือน ดังนั้นการเลือกตั้งในเมียนมาจะเกิดขึ้นได้ เมื่อคำสั่งดังกล่าวหมดลงไปแล้ว อย่างไรก็ดี คำถามที่หลายคนยังคงสงสัยคือ “การเลือกตั้งจะจัดขึ้นได้จริงหรือ?” เพราะในขณะนี้หลายพื้นที่ของเมียนมา ถูกฝ่ายต่อต้านยึดครองเสียส่วนใหญ่
แต่ก่อนที่เราจะพาไปหาคำตอบของคำถามข้างต้น เราขอย้อนไปตั้งวันแรกที่เกิดการรัฐประหารว่า มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง
อาจารย์ดุลยภาค เริ่มต้นกล่าวว่า หากย้อนไปเมื่อ 4 ปีก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแรกคือ การก่อตัวของ ‘สงครามการเมือง’ ที่แพร่ระบาดไปทั่วประเทศ
“ประชาชนบ้านแตกสาแหรกขาด สังคมการเมืองเมียนมา ก็ออกแบ่งออกเป็นขั้วๆ ขั้วเผด็จการทหาร ขั้วประชาธิปไตยภิวัตน์ ขั้วกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์”
นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงตัวแรกเลย ซึ่งก็คือการระเบิดของสงครามกลางเมือง แต่ถามว่ามันเป็นสิ่งที่เพิ่งเคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมาไหม คำตอบคือไม่ใช่ เพราะตั้งแต่เมียนมาได้รับเอกภาพเมื่อปี 1948 เมียนมาก็มีสงครามการเมืองมาโดยตลอด ปะทะกันประปราย มีหยุดยิง แต่การรัฐประหารครั้งนี้การเมืองเมียนมา มีการแบ่งขั้ว แบ่งฝ่าย สร้างความสูญเสียอย่างหนัก และมียุทธภพการสู้รบเป็นวงกว้างที่ขยายตัวไปทั่วประเทศ
ถัดมาที่ข้อสอง หลังการรัฐประหารที่นำโดยมี่นอองไลง์ ก็เกิดการก่อรูปชีวิตของรัฐที่หลากหลายขึ้น “ที่ผมพูดแบบนี้เพราะเมียนมาเป็นสหภาพ ที่ประกอบด้วย 7 รัฐ 7 ภาค และชาติพันธุ์บางส่วน”
เขาเสริมประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์ว่า หลังการเกิดรัฐประหาร กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มทำสงครามเพื่อขยายดินแดน เพื่อตั้งรัฐ เช่น การเดินเกมทางการเมืองของกลุ่มว้าแดง
“มันสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการก่อรูปลักษณ์ ผ่านการทำสงครามและการค้ายาเสพติด หรือยุทธศาสตร์ทางการเมืองอื่นๆ”
เพราะฉะนั้นในช่วงนี้จะเห็นเลยว่าพื้นที่ในรัฐทางเหนือ ตัวอย่างเช่น รัฐฉานจะมีกองกำลังติดอาวุธอยู่มาก ที่พอทำสงครามแล้วพวกเขาจะได้ดินแดนเพิ่ม หรืออาจมีการขยายดินแดนปกครองพิเศษเพิ่มก็ได้เช่นกัน
ขณะที่กรณีของกองทัพอาระกันในรัฐยะไข่ ก็มีการประกาศการจัดตั้ง ระบอบสมาพันธรัฐ (confederation) หมายความว่าพวกเขายังรวมตัวกับสหภาพเมียนมาอยู่ แต่เป็นการรวมตัวแบบหลวมมากๆ และในรัฐยะไข่ก็มี autonomy ในการบริหารจัดการ หรือแม้กระทั่งมีกองกำลังของตัวเองที่ชัดเจนและสูงเด่นมาก

Photo by AFP
รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา สรุปว่า “ดังนั้นเรื่องของรูปแบบรัฐสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนเลยทีเดียว ซึ่งชัดเจนมากหลังรัฐประหาร หนึ่งก็คือรัฐบาลทหารเมียนมา ที่พยายามจะรวมอำนาจรัฐบาลที่กระชับ ในดินแดนส่วนกลาง (heartland) ของประเทศ
ส่วนที่สองคือ กองกำลังชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม ที่ยกประเด็นเขตปกครองพิเศษ และการสร้างระบบสมาพันธรัฐ โดยข้อมูลจาก BBC ระบุว่า ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธมีอยู่ราว 135 กลุ่ม แต่ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มชาติพันธ์หลัก 8 กลุ่ม ได้แก่ ชาวพุทธบะหม่า ซึ่งมีจำนวน 2 ใน 3 ของประชากรในเมียนมา ส่วนกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ คะฉิ่น, ไทใหญ่, ชิน, ยะไข่, คะยา, กะเหรี่ยง และ มอญ
ส่วนที่สามคือ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นฝ่ายเมียนมาที่เรียกร้องประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ (federal democracy) ที่อยากสร้างระบอบสหพันธรัฐขึ้นมาอย่างแท้จริง ทั้งในพื้นที่ชายแดนและส่วนกลาง “ฉะนั้นแล้วกระบวนการก่อรูปลักษณ์ มี 3 ทิศทางในสหภาพเลย”
การค้าขายถูกทดแทนด้วย ‘เศรษฐกิจแบบสงคราม’
อาจารย์ดุลยภาค ให้ความเห็นต่อประเด็นเศรษฐกิจ และเรื่องปากท้องของเมียนมาในขณะนี้ว่า อยู่ในภาวะที่ผีซ้ำด้ำพลอย บ้านแตกสาแหรกขาด ประชาชนอพยพ หนีภัยการสู้รบกันอลหม่าน จนมียอดผู้ลี้ภัยและโยกย้ายถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก
เส้นทางโลจิสติกส์ถูกตัดขาด บางเส้นฝ่ายต่อต้านยึด บางเส้นรัฐบาลทหารยึด บางเส้นทั้งสองฝ่ายก็ยันกันอยู่ หรือบางเส้นกลุ่มชาติพันธุ์ยึด “เพราะฉะนั้นการส่งขนถ่ายสินค้าและบริการทั่วประเทศ ทำได้ไม่โฟลว์ ถือเป็นข้อสูญเสียทางเศรษฐกิจที่สำคัญ”
อย่างไรก็ตาม มีโอกาสสำหรับธุรกิจบางประเภทอยู่บ้าง อย่างการแจกจ่ายสินค้าที่เอื้อต่อสงคราม เช่น การค้าอาวุธ การลักลอบนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือการค้าขายสินค้ายุทธปัจจัย เช่น ผงชูรส หรือสินค้าใดก็ตามที่มีผลต่อการรักษาโรคและบาดแผลจากการสู้รบ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้มาในรูปแบบของโครงสร้างเศรษฐกิจแบบสงคราม (warfare economy) ที่ส่งผลดีกับ secter แยกย่อยเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น แต่หากเทียบภาพรวมกับโครงสร้างมหภาคในเชิงเศรษฐกิจ มันก็แย่อยู่ เพราะไม่มีเสถียรภาพต่อการลงทุน เพราะนักทุนไม่กล้าเข้ามา เนื่องจากมีการสู้รบ มีสงครามการเมือง ดังนั้นถือเป็น negative effect ที่สูงมากๆ
องค์การสหประชาชาติ (UN) ชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2020 GDP ของเมียนมาหดตัวลง 9 เปอร์เซ็นต์ และยังต้องเผชิญปัญหารอบด้าน ที่ทาง UN ระบุว่าเป็น ‘Polycrisis’ ซึ่งผสมโรงระหว่างการล่มสลายทางเศรษฐกิจ ปัญหาความยากจน และในปี 2024 ตัวเลขเงินเฟ้อแตะ 25.4 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงขบวนการดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายกลับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
การเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้
การประชุมอาเซียนนัดแรกที่จัดขึ้นในลังกาวี เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียในฐานะเจ้าภาพ ระบุว่า
“อาเซียนเข้าใจดีว่าเมียนมาต้องการจัดการเลือกตั้ง แต่อาเซียนยืนยันว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะสิ่งที่เมียนมาต้องทำเป็นอย่างแรกในตอนนี้ นั่นคือ การหยุดยิงและทุกคนยอมยุติการสู้รบ”
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า รัฐบาลทหารวางแผนจัดการเลือกตั้งใน 160-170 เมือง จากทั้งหมด 330 เมืองทั่วประเทศภายในปีนี้ ทั้งๆ ที่ตอนสำรวจสำมะโนประชากร เจ้าหน้าที่สามารถลงพื้นที่ได้ 145 เมืองเท่านั้น
“สำหรับผมการเลือกตั้งในเมียนมาเป็นไปได้ แต่ผมไม่กล้าฟันธงว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ไหม” อาจารย์ดุลยภาค กล่าว
ผมพูดอย่างนี้เพราะว่ามันมีปัจจัยและทิศทางที่สำคัญ นั่นก็คือใครก็ตามที่ควบคุม township ผู้นั้นจะมีความได้เปรียบในการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง
เขาเสริมประเด็น township ว่า ถ้าเทียบกับประเทศไทยน่าจะประมาณหน่วยปกครองอำเภอหรือตำบล ซึ่งเมียนมามี township ทั้งหมด 330 ที่ในวันนี้ฝ่ายต่อต้านยึดได้ 100 แห่ง ส่วนอีก 200 ก็ยันกันอยู่ระหว่างทหารเมียนมา
และหากจัดการเลือกตั้งตามมาตรฐานแล้ว ทั่วประเทศมันต้องเลือกตั้งได้ 330 township เพราะถือเป็นบ่อเกิดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นถ้าจะจัดเลือกตั้งต้องให้ได้ 330 หรือไม่อย่างนั้นต้องได้อย่างน้อย 200 กว่าๆ ถึงจะจัดการเลือกตั้งได้
และเขตที่ยังจัดเลือกตั้งไม่ได้ก็ค่อยมาเลือกอีกทีในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้มีเสียงปริมาณหนึ่งในการเปิดรัฐสภา และโหวตเลือกประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี เพื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งที่กล่าวมาเป็น process ในรัฐธรรมนูญปี 2008
เขาย้ำว่า ข้อเท็จจริงในขณะนี้คือ ยังไม่เกิดความไม่สงบในหลายพื้นที่ จึงจัดการเลือกตั้งไม่ได้ ผมจึงคิดว่าถ้าจะให้จัดเลือกตั้งได้ ภายใน 6 เดือนนี้ ทหารเมียนมาต้องเคลียร์ให้ได้ ต้องทำงานให้หนักในการให้ township มีความสงบ ซึ่งสำหรับผมคิดว่าฝ่ายต่อต้านไม่ยอม และคงพยายามยึด township ให้มากขึ้นด้วย เพื่อสกัดการเลือกตั้งที่ถูกควบคุมโดยทหาร
ยอดการยึด township ของรัฐบาลทหารปีที่แล้วยังหนืดอยู่ กราฟเดือนต่อเดือนมันไม่ได้พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นตอนนี้ฝ่ายค้านก็ต้องทำงานหนักขึ้นเช่นกัน ในการยึด township ให้ได้มากและรวดเร็วขึ้น
“เพราะถ้าทหารเมียนมาสามารถยึดได้มากพอที่จะจัดการเลือกตั้งได้ ฝ่ายต่อต้านก็อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเหมือนกัน”
เนื่องจากฝ่ายต่อต้านจะถูกผ่าเป็น 2 ซีก ที่จะมีกลุ่มที่บอกว่า “ยอมๆ ไปเถอะ อย่างน้อยเขาก็จัดเลือกตั้งแล้ว จะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แม้จะไม่เต็มใบก็ตาม” ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งจะสู้รบต่อ เพื่อล้างบางทหารและทำการปฏิวัติสั้น เพื่อให้มีประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม
ธงในปีนี้ของฝ่ายต่อต้านคือ การแทรกเข้าไปในดินแดนหัวใจตอนกลางของประเทศ และการบ่อนทำลายกองกำลังทหารเมียนมาให้มากขึ้น ซึ่งหากพวกเขาทำตรงนี้สำเร็จ จนทำให้ตอนกลางของเมียนมาได้รับการปลดปล่อย หรือเป็นเขตของพวกเขาได้ เช่น เมืองมัณฑะเลย์ และเมืองสำคัญอื่นๆ ตอนบนของเมียนมา
การยึดครองของกลุ่มต่อต้านจะได้รับการรับรองจากนานาชาติ เพราะสามารถสถาปนาพื้นที่ในการปกครองประเทศได้ ตรงนี้ถือเป็นอีกเกมหนึ่งที่สำคัญ ที่ผมไม่รู้ว่าฝ่ายต่อต้านจะทำได้หรือเปล่า ซึ่งต้องรอดูในปีนี้
“ตลอดปีนี้ฝ่ายต่อต้านต้องทำงานให้หนักในการยึด township เพื่อความได้เปรียบในยุทธการณ์” อาจารย์ ระบุ
อาชญากรรมข้ามชาติเฟื่องฟู ในยุครัฐประหาร

Photo by Sai Aung MAIN / AFP
The New York Times รายงานว่า ความขัดแย้งตลอดระยะ 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้เมียนมากลายเป็นหมุดหมายสำคัญของอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งการค้ามนุษย์ อาวุธ และยาเสพติด
รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา แสดงความเห็นว่า เรื่องนี้เกี่ยวโยงกับลักษณะโครงสร้างทางการเมืองของเมียนมา เนื่องจากทหารเมียนมาไม่สามารถควบคุมพื้นที่อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ส่งผลให้หลายพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณชายแดน ที่มีกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ จึงสถาปนาอำนาจนำเป็นเจ้าพ่อท้องถิ่น เป็นมาเฟีย เป็นขุนศึกชายแดนในพื้นที่ได้ พร้อมกันนั้นทิศทางการขยายอำนาจของจีนในหลายๆ มิติ ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ที่เคลื่อนตัวลงมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เขาเสริมต่อว่า จีนจึงเข้ามาในเมียนมา โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เพราะว่าเขตชายแดนตรงนั้น แถวๆ ชเวโก๊กโก่ หรือโครงการเคเคพาร์ค (KK Park) และพะย่าโต้นซู ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มีอำนาจอยู่
“พอจีนเทาเข้าไป มันมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน คือจีนเทาเขาต้องการขุนศึกกองกำลังเข้ามาคุ้มครอง เพื่อทำกิจกรรมผิดกฎหมาย ส่วนคนที่เข้าไปคุ้มครองก็อาศัยเงินจากจีนเทา สำหรับขยายกองกำลังเพิ่มเติม”
มันจึงเป็นลักษณะความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบกับไทยโดยตรง ทั้งเรื่องของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สแกมเมอร์ ยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ
เขาทิ้งท้ายว่า นอกจากเรื่องการเลือกตั้งที่ต้องจับตามอง ประเด็นที่ต้องจับตาอีกเรื่องคือนโยบายของสหรัฐฯ ว่า หลังจากนี้จะให้ความสำคัญกับเมียนมามากน้อยแค่ไหน
เพราะถ้าสหรัฐอยากต่อสู้กับจีน สนามหลักที่จะสู้กับจีนอยู่ที่เมียนมา แต่โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่งตัดทุนภาคประชาสังคม หรือหน่วยงานที่อยู่ตามชายแดน ดังนั้นจึงยังคาดเดาไม่ได้ว่าสหรัฐฯ จะเข้ามาถ่วงดุลจีน หรือว่าจะปล่อยเมียนมาและให้จีนเข้ามามีบทบาทนำ
นอกจากนี้ ก็ต้องจับตาบทบาทของไทยเองด้วย เนื่องจาก อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และประธานอาเซียน แต่งตั้งให้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นที่ปรึกษาในการช่วยมาเลเซียแก้ไขปัญหาเมียนมา ฉะนั้นแล้วหลังจากนี้ ทักษิณต้องไปเจรจากับกลุ่มอำนาจหลายกลุ่มในเมียนมา อาจจะเป็นทหารเมียนมา กองกำลังชาติพันธุ์ หรือแม้กระทั่งรัฐบาล NUG
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าจับตามองของคนไทย ว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะทำผลงานชิ้นนี้ได้ก้าวหน้าขึ้นแค่ไหนและอย่างไร”
เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของอาชญากรรมข้ามชาติ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเขามองว่า เป็นเรื่องที่กระทบกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้นต้องรอดูว่ารัฐบาลจะแก้ไขจัดการปัญหานี้อย่างไร และทางรัฐบาลเมียนมาจะมีแนวทางกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างไร