2 ปีเต็ม คือช่วงเวลานับตั้งแต่การรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมา ที่พลิกชีวิตชาวเมียนมานับล้านไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ
เช่นเดียวกับ จอ จอ (Kyaw Kyaw) และ พิว พิว (Phyu Phyu) นักศึกษาชาวเมียนมา ผู้ต้องทิ้งวิถีชีวิต ทิ้งบ้านเกิดของตัวเอง เพื่อเดินทางรอนแรม ข้ามพรมแดนมาสู่ประเทศไทย โดยมีปลายทางคือกรุงเทพฯ – โดยมีปลายทางคือการทำตามความฝัน ที่ประเทศของตัวเองมอบให้ไม่ได้อีกต่อไป
“หลังรัฐประหาร ความฝันของเรา – ทุกอย่างก็แหลกสลาย” พิว พิว (นามสมมติ) ที่ตอนนี้เป็นนักศึกษาหญิง ในหลักสูตร ป.โท สาขาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
เช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ทหารเมียนมาได้บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา และล้อมจับบุคคลสำคัญของรัฐบาลเมียนมาหลายคน อาทิ ออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi) ประธานพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) อู วิน มินต์ (U Win Myint) ประธานาธิบดีเมียนมาในขณะนั้น รวมถึงรัฐมนตรีและนักการเมืองอีกหลายคน
เช้าวันนั้น รัฐสภาเมียนมากำลังจะรับรองผลการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ที่มาพร้อมกับชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรค NLD ซึ่งคว้าที่นั่งไปได้ 83% แต่ก็ต้องจบลงด้วยการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมา ที่มี พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) กุมบังเหียน โดยอ้างว่า การเลือกตั้งเต็มไปด้วยการทุจริต
ทันทีที่เกิดการรัฐประหาร ทั้งประเทศก็หยุดชะงัก โทรทัศน์ถูกตัดสัญญาณ อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ใช้งานไม่ได้ เที่ยวบินทั้งหมดถูกยกเลิก
ตามมาด้วยสิ่งที่ พิว พิว จะบอกว่า เป็น ‘ฝันร้าย’ ของชาวเมียนมา ในช่วงเวลา 2 ปีที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับเผด็จการทหาร
2 ปี รัฐประหาร กระทบคนเมียนมานับล้าน
“คนมีพริวิเลจที่อยู่ในเมืองหลักอย่างย่างกุ้งหรือมัณฑะเลย์ บางคนไม่รู้นะว่ารัฐประหารมันไม่ดี” จอ จอ (นามสมมติ) ที่ปัจจุบันเป็นนักศึกษาธุรกิจในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของไทย เล่า
“แต่หลังจากรัฐประหาร มันก็กลายเป็นสิ่งที่ชัดเจนมากสำหรับประชาชนเมียนมาทุกๆ คน ว่ารัฐประหารครั้งนี้มันแย่”
ภายหลังจากกองทัพยึดอำนาจ ประชาชนเมียนมานับล้านก็ออกมาลงถนนประท้วง หรือนัดหยุดงานประท้วงกันอยู่เรื่อยมา แต่นานวันเข้าก็กลายเป็นการสู้รบนองเลือด ข้อมูลล่าสุดจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners หรือ AAPP) ระบุว่า มีประชาชนที่ถูกสังหารโดยคณะรัฐประหารไปแล้ว 2,940 ราย ขณะที่มีประชาชนยังถูกคุมขังอยู่ 13,763 ราย
และที่ว่า กระทบกับคนเมียนมานับล้านนั้น ก็คงจะไม่เกินจริง สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) คาดการณ์ว่า นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 2 ปีก่อน มีคนที่ต้องจากบ้าน กลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs) กว่า 1.5 ล้านคน ขณะที่มีผู้ลี้ภัยไปยังประเทศใกล้เคียง 70,000 คน
ส่วนหนึ่งในนั้น ย่อมมี จอ จอ และ พิว พิว ที่ออกเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อตามหาโอกาสทางการศึกษาที่ตัวเองควรจะได้ในประเทศบ้านเกิด แต่กลับต้องแหลกสลายลงเพราะการรัฐประหาร ซึ่งทั้งสองเล่าว่า ทำให้บรรยากาศภายในประเทศไม่ปลอดภัยสำหรับประชาชนตั้งแต่วันแรกๆ
“ในช่วง COVID-19 เราก็ต้องอยู่แต่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว แต่เราก็ยังคงออกไปข้างนอก หาความสนุกสนานในกิจกรรมกลางคืนได้อยู่ดี แต่หลังการรัฐประหาร มันไม่ปลอดภัยเท่าเมื่อก่อนแล้ว และถ้าคุณเจอตำรวจหรือถนนตามท้องถนน มันอันตรายกับคุณมากๆ คุณอาจถูกจับได้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม หรือแม้จะไม่มีเหตุผลอะไรเลยก็ตาม” จอ จอ เล่า
เช่นเดียวกับ พิว พิว ที่บอกว่า “นักศึกษาเมียนมากำลังถูกคุกคามจากรัฐประหารกันทุกคน เราไม่มีความปลอดภัยอะไรเลย เราตายได้ง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องมีเหตุผลใดๆ”
นั่นทำให้เธอ ซึ่งปลอดภัยในฐานะนักศึกษาในไทย คิดถึงคนที่ยังอยู่ในเมียนมาด้วยว่า “ถึงแม้ตอนนี้เราจะปลอดภัยในทางกายภาพ แต่ทางจิตใจไม่ใช่ แล้วลองคิดถึงคนที่อยู่ในเมียนมาดูสิ พวกเขาต้องต่อสู้ทั้งทางกายและจิตใจ”
ฝันที่สลายของคนรุ่นใหม่
หลังการรัฐประหาร ชีวิตของคนรุ่นใหม่ได้รับผลกระทบในแทบทุกทาง ชีวิตมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของเยาวชนหลายคน ก็ต้องจบลง เนื่องจากในเมียนมา มีกระแสความคิดที่ว่าการไปเรียนในมหาวิทยาลัยเท่ากับการสนับสนุนรัฐบาลทหาร ทำให้หลายคนเลือกที่จะอยู่บ้าน และเรียนด้วยตัวเองแทน ขณะเดียวกัน การสื่อสารก็เป็นไปอย่างยากลำบาก อินเทอร์เน็ตถูกตัดการเชื่อมต่อ กระทั่งหลายคนต้องหันมาใช้ VPN
การปิดพรมแดน ยิ่งสร้างความกังวลให้กับนักศึกษาว่าอาจจะไม่สามารถออกไปหาโอกาสทางการศึกษาในประเทศอื่นได้อีก นั่นจึงเป็นเหตุให้ จอ จอ และ พิว พิว ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศมายังประเทศไทยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
จอ จอ เล่าว่า เขาเลือกที่จะมาเรียน เนื่องจากคิดว่าสามารถมาไทยได้เร็วกว่าประเทศอื่น เขายังมีรุ่นพี่ที่เรียนอยู่ที่ไทยอยู่แล้ว และประเทศไทยเองก็มีค่าครองชีพที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น จึงตัดสินใจมาเรียนด้านการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในไทยโดยไม่รอทุนการศึกษา หวังจะกลับไปผลิตสินค้าขายในประเทศบ้านเกิด
ขณะที่ พิว พิว ซึ่งมาเรียนต่อด้านสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัยมหิดล คิดว่าการมาเรียนต่อที่นี่จะทำให้ใช้ประโยชน์จากความรู้เพื่อช่วยเหลือประเทศของตัวเองได้มากกว่า นอกจากนี้ เมืองเกิดของเธอยังอยู่ในภาคใต้ของเมียนมา ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศไทย จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจมาไทย โดยมีความฝันจะกลับไปทำงานด้านประชาสังคมเพื่อพัฒนาภูมิภาคของเธอ
ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าทั้งสองยังเลือกที่จะใช้ชีวิตต่อในเมียนมา
แต่สำหรับหลายคน โดยเฉพาะเพื่อนๆ ของ จอ จอ และ พิว พิว ก็ยังสู้กับรัฐบาลทหารด้วยการออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง “พวกเขายังคิดถึงประเทศกันอยู่ และถึงแม้ตัวผมจะอยู่ในไทย แต่ผมก็ยังคิดถึงประเทศตัวเองอยู่” จอ จอ เล่า แม้ตอนนี้ ในเมืองของเขาเองก็ยังคงมีการเคลื่อนไหวประท้วงดำเนินอยู่
“ในข่าวต่างประเทศ เราไม่เห็นการประท้วงแล้ว แต่ใช่ มันยังมีการประท้วงดำเนินอยู่ ขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement) ก็ยังมีอยู่”
แม้กระทั่งในวันครบรอบ 2 ปีของการรัฐประหาร นักเคลื่อนไหวและผู้ประท้วงในเมียนมาก็ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการไม่เคลื่อนไหว – นั่นคือการ ‘ประท้วงเงียบ’ (silent strike) ในเมืองหลักต่างๆ ของเมียนมา ขณะที่ห้างร้านต่างๆ ก็ปิดตัวลง เมืองอย่างย่างกุ้งกลายเป็นเมืองร้างไปชั่วขณะ หรืออย่างในกรุงเทพฯ เอง ก็มีผู้ประท้วงหลายร้อยคนมาแสดงพลังกันที่หน้าสถานทูตฯ เมียนมา
‘ฆ่าตัวตาย’ ปรากฏการณ์ที่น่ากังวลในหมู่คนรุ่นใหม่เมียนมา
แต่ในขณะที่กองทัพยังครองอำนาจ ความหวังที่จะมีประชาธิปไตยในเมียนมาก็ยังริบหรี่ ภาวะชะงักงันเช่นนี้ ทำให้คนรุ่นใหม่ในเมียนมา หรือแม้แต่ในประเทศอื่น อย่างเช่นไทยเอง ก็ต้องประสบกับปัญหาสุขภาพจิต ที่สุดท้ายอาจต้องลงเอยด้วยการฆ่าตัวตาย นี่เป็นปัญหาที่กำลังเป็นปรากฏการณ์ ซึ่ง พิว พิว และ จอ จอ หยิบยกมาเล่าให้เราฟัง
“มันมีกรณีของการฆ่าตัวตายเยอะมาก คนหนุ่มสาวทั้งหมดกำลังหลงทางและเราก็กำลังประเมินกันว่าเราจะช่วยพวกเรายังไงได้บ้าง” พิว พิว กล่าว
ขณะที่ จอ จอ เล่าถึงกรณีเมื่อไม่นานมานี้ว่า “การฆ่าตัวตาย [ในหมู่คนรุ่นใหม่ชาวเมียนมา] เป็นประเด็นที่ซีเรียสมาก แม้กระทั่งในไทย เพิ่งมีนักศึกษาเมียนมาฆ่าตัวตาย เพราะเคยได้ทุนเรียนหนังสือ แต่พอได้ยินว่าจะไม่ได้ทุนอีก เขาก็ฆ่าตัวตายและส่งอีเมลไปบอกลาพ่อแม่ ลองคิดดูสิ เขาคิดว่าการกลับไปเมียนมามันเลวร้ายยิ่งกว่าการฆ่าตัวตายเสียอีก
“ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า การกลับไปเมียนมา หมายถึงการไม่มีอนาคต”
“แม้แต่สำหรับคนที่โชคดีพอที่จะได้เรียนในไทยก็ตาม จะเกิดขึ้นในกรณีที่มีคนได้ยินข่าวว่าตัวเองจะไม่สามารถเรียนต่อในไทยได้อีกต่อไป และต้องกลับไปเมียนมา”
ประเด็นนี้มีการรายงานตรงกันในสื่อต่างประเทศและสื่อในเมียนมาเอง เช่น Frontier Myanmar รายงานโดยอ้างผู้เชี่ยวชาญสุขภาพจิต ระบุว่า ตัวเลขการฆ่าตัวตายในเมียนมาก็กำลังเพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้ว แต่ต่อมา ภายหลังการรัฐประหาร ก็กลายเป็น ‘วิกฤตสุขภาพจิต’ ที่เกิดจากเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งกระทบต่อเสถียรภาพในชีวิต และนำมาซึ่งการล่มสลายของระบบสาธารณสุข
เช่นเดียวกับ เชอร์รี โซ มยินต์ (Cherry Soe Myint) นักจิตวิทยาในย่างกุ้งที่ทำงานร่วมกับกลุ่มวิจัยสุขภาพจิตประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ที่เคยให้สัมภาษณ์กับ Al Jazeera เมื่อเดือนสิงหาคม 2021 โดยชี้ว่า หลังการรัฐประหาร ผู้ป่วยของเธอ 7 ใน 10 มีการแสดงออกถึงความต้องการที่จะฆ่าตัวตาย ขณะที่ก่อนการรัฐประหาร จะมี 2-3 กรณี ในทุกๆ 3 เดือน
การเลือกตั้ง ‘ปาหี่’ และหนทางสู่วันข้างหน้า
แล้วชาวเมียนมาต้องทำอย่างไรกันต่อ? ในระยะยาวความฝันของ จอ จอ ก็คงไม่ต่างจากชาวเมียนมาคนอื่นๆ “ผมหวังจะเห็นรัฐบาลที่ดี และมีตัวแทนจากแต่ละรัฐ แต่ละเขต ที่จะฟังเสียงประชาชนตามความต้องการและความจำเป็นของพวกเขาจริงๆ”
ขณะที่รูปแบบการปกครองที่หลายฝ่ายเห็นตรงกัน ก็คือ ‘สหพันธรัฐ’ ที่เป็นประชาธิปไตย ในเรื่องนี้ พิว พิว ชี้ว่า “เราต้องต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบด้วย ไม่ใช่คณะรัฐประหาร เราไม่ยอมรับเผด็จการในรูปแบบใดเลย ดังนั้น ถึงแม้เราจะคาดหวังให้มีสหพันธรัฐ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องสามารถควบคุมกระบวนการที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด”
ซึ่งแม้แต่ในระยะสั้น ก็ยังดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลทหารเพิ่งจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งชาวเมียนมาก็ไม่เชื่อว่า การหย่อนบัตรครั้งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย
“ผมยังไม่คิดเลยว่านี่จะเป็นไอเดียที่ดี เพราะถึงแม้การเลือกตั้งครั้งนี้จะคาดหวังให้เกิดการได้รับความชอบธรรมจากนานาชาติ ผมยังคิดว่า หลายต่อหลายประเทศจะไม่เห็นด้วย หรือให้ความชอบธรรมกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ดังนั้น ผมมองว่า มันเป็นแค่การเลือกตั้งปาหี่มากกว่า” จอ จอ กล่าว
ทางด้าน พิว พิว ชี้ให้เห็นถึงกฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งเธอมองว่า เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับการเลือกตั้งอย่างเสรี และเป็นความพยายามในการทำลายพรรคการเมือง
ในกฎหมายฉบับดังกล่าว พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องลงทะเบียนใหม่ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่กฎหมายประกาศใช้ และกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับพรรคการเมืองที่จะลงเลือกตั้งในระดับชาติ ต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 100,000 คน และต้องมีเงินทุนอย่างน้อย 100 ล้านจัต (ประมาณ 1.5 ล้านบาท)
“มันเป็นเกณฑ์ที่ทำตามไม่ได้” คือความเห็นของ พิว พิว เนื่องจากเกณฑ์ที่ออกมานั้น ถูกตั้งมาเพื่อพรรครัฐบาลทหาร ทั้งยังเป็นมาตรฐานที่สูงมาก จนพรรคการเมืองอื่นไม่สามารถทำตามได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่คุกคามแบบนี้
ในระหว่างนี้ ที่สถานการณ์ในเมียนมายังวิกฤต ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ทั้ง จอ จอ และ พิว พิว หวังให้ประชาคมนานาชาติให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะไทยในฐานะเพื่อนบ้าน ก็คือ ให้การสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ มอบความปลอดภัยแก่พวกเขา หรือมอบโอกาสที่ไม่อาจหาได้ในบ้านเกิดอีกแล้ว
ขณะเดียวกัน สิ่งที่แต่ละประเทศสามารถทำได้เลย ก็คือ การไม่ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนรัฐบาลทหารในเมียนมา
“ทุกประเทศไม่ควรให้ความร่วมมือกับรัฐบาลทหาร ในความเป็นจริง แม้รัฐบาลทหารจะไม่ได้ทำตามฉันทามติ 5 ข้อ แต่บางประเทศในอาเซียนก็ยังพยายามให้ความร่วมมือกับรัฐบาลทหารอยู่ เราต้องหยุดยั้งสิ่งนี้ เราอยากขอให้รัฐบาลไทยยุติการให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร” พิว พิว ระบุ