ใครรวยสุด-จนสุด? มีของสะสมอะไรกันบ้าง? มีนาฬิกาอยู่กี่เรือน? มีรายได้มาจากไหน?
เร็วๆ นี้ ป.ป.ช.เพิ่งเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวม 684 ราย แบ่งเป็น สนช. 142 ราย (กรณีพ้นจากตำแหน่ง) ส.ว.แต่งตั้ง 128 ราย (กรณีเข้ารับตำแหน่ง) และ ส.ส.เลือกตั้ง 414 ราย (กรณีเข้ารับตำแหน่ง)
เวลาที่สื่อมวลชนรายงานข้อมูลการเปิดเผยบัญชี ก็มักจะรายงานสิ่งที่ตอบคำถามข้างต้นเป็นหลัก แน่นอนว่าเพราะส่วนหนึ่งมันก็น่าสนใจจริงๆ แต่ส่วนหนึ่งมันก็อาจทำให้หลายๆ คนตาร้อนผ่าวจนต้องกดเข้ามาดู
อย่างไรก็ตาม ในบัญชีทรัพย์สินที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ของประเทศนี้ต้องยื่นกับ ป.ป.ช. มาครบ 20 ปีแล้ว ยังมีข้อมูลน่าสนใจ ‘ซุกซ่อน’ เอาไว้อยู่ ทั้งที่น่าสนใจเพราะทำให้เรารู้จักตัวผู้ยื่นมากขึ้น และน่าสนใจเพราะ เอ๊ะ ทำไมดูไม่ตรงกับทรัพย์สินที่เราเข้าใจว่าผู้ยื่นมีอยู่เลยล่ะ (เช่น นาฬิกาหรูที่เคยเป็นคดีดัง 2-3 ปีก่อน)
The MATTER จะชวนไปดูกัน
ความลับของผู้ยื่น
เอาจริงๆ อาจไม่ใช่ความลับอะไร แต่เป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ยื่นซะมากกว่า ทว่าในบางกรณี เมื่อมันเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ก็เลยต้องแจ้งให้ ป.ป.ช.รับทราบ และเมื่อกฎหมายกำหนดให้ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน เลยทำให้บุคคลอื่นๆ รู้ไปโดยปริยาย
ยกตัวอย่างกรณีที่สร้างความฮือฮาในการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินล่าสุด คือกรณีของอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ผู้ควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข) ที่แจ้งไว้ในบัญชีว่าหย่าขาดจากอดีตภรรยา พร้อมเงื่อนไขให้เงิน 50 ล้านบาท ให้ค่าใช้จ่ายเดือนละ 3 แสนบาท จนกว่าจะแต่งงานใหม่ ให้ค่าปรับปรุงบ้าน และให้ห้องชุดที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
ในอดีต ก็เคยมีรองนายกฯ รายหนึ่ง แจ้งบัญชีทรัพย์สินของภรรยามากกว่า 1 คน (คนที่จดทะเบียนสมรส กับคนที่อยู่กินฉันท์สามีภรรยา) หรือเคยมี ส.ส.คนหนึ่ง แจ้งเรื่องบุตรของตน 3 คน ที่มาจากภรรยาคนละคน มาแล้ว
ที่มาความมั่งคั่ง
ในแบบฟอร์มการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. นอกจากจะกำหนดประเภทของ ‘ทรัพย์สินที่ต้องแจ้ง’ ไว้ 9 ประเภท ได้แก่ เงินสด เงินฝาก เงินลงทุน เงินให้กู้ยืม ที่ดิน โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะ สิทธิและสัมปทาน และทรัพย์สินอื่นที่มีมูลค่าเกิน 2 แสนบาท ยังกำหนดให้ผู้ยื่นต้องแจ้ง ‘ที่มาของรายได้’ อย่างคร่าวๆ ทั้งรายได้ประจำ รายได้จากทรัพย์สิน รายได้จากการขายทรัพย์สิน และรายได้อื่นๆ
นั่นทำให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ ผู้ที่หลายๆ คนรู้กันว่าเกี่ยวข้องกับวงการค้าขายสลากกินแบ่งรัฐบาลมานานนม ต้องแจ้งว่ามีรายได้จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลปีละ 3 ล้านบาท (ส่วนใครจะคิดว่าน่าจะมีรายได้มากกว่านี้นะ ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล)
แต่ข้อจำกัดของข้อมูลที่มาของรายได้ในบัญชีทรัพย์สิน ก็คือ เป็นการให้ผู้ยื่นแจ้งข้อมูลคร่าวๆ เท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องยื่นเอกสารประกอบ เช่นเดียวกับทรัพย์สิน 9 ประเภทที่ครอบครองอยู่
เช่นเดียวกับการที่กฎหมายให้ยื่นเฉพาะ 1.ตอนเข้ารับตำแหน่ง และ 2.ตอนพ้นจากตำแหน่ง (และ 3. อยู่ในตำแหน่งเดิมครบสามปี สำหรับองค์กรอิสระ เจ้าหน้าที่รัฐ และข้าราชการ) ทำให้พอจะทราบที่มาของรายได้แค่ ‘ณ เวลาที่ต้องยื่น’ เท่านั้นเอง บรรดาข้อสงสัยที่ว่าใครบางคนเป็นข้าราชการมาทั้งชีวิต แต่ทำไมมีทรัพย์สินมหาศาลน้องๆ มหาเศรษฐี ก็เลยไม่มีข้อมูลพอที่จะช่วยคลี่คลายปริศนานี้
คอนเน็กชั่น
คอนเน็กชั่นที่ว่านี้ รวมทั้งคอนเน็กชั่นทางสายเลือด เช่น เป็นเครือญาติ เป็นสามีภรรยา ยังรวมไปถึงคอนเน็กชั่นในทางธุรกิจ เช่น เคยถือหุ้นในบริษัทเอกชนเดียวกัน หรือมีการทำธุรกิจระหว่างกัน
สำหรับผู้ยื่นที่เป็นคนไฮโปรไฟล์ ใครๆ ก็รู้จักญาติโกโหติกา หรือรู้ว่าทำธุรกิจอะไรกับใครอย่างไรอยู่ ข้อมูลเหล่านี้คงไม่ใช่เรื่องใหม่หรือแปลกอะไร (ยกเว้นมีข้อมูลใหม่ๆ นอกเหนือจากที่เคยรู้กันมาก่อน) แต่สำหรับผู้ยื่นบางคนที่โลว์โปรไฟล์ เราอาจจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับคอนเน็กชั่นของบุคคลนั้นๆ มากขึ้น และน่าจะพอเป็นจิ๊กซอว์ไว้ใช้ต่อเรื่องราวต่างๆ ได้ในอนาคต
ซึ่งบางเคส เรื่องของคอนเน็กชั่น อาจนำไปสู่การตั้งเรื่องคดีทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น เอื้อประโยชน์ให้คนใกล้ชิด หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนได้
มี..ในไม่มี
ความหมายก็คือ คิดว่ามี แต่ไม่แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สิน
ระยะหลังสิ่งที่หลายๆ คนจับตาอย่างจริงจังมากขึ้น ก็คือบรรดา ‘ทรัพย์สินอื่น’ หรือพูดง่ายๆ คือของสะสมของผู้ยื่นแต่ละคน ที่ปืน พระเครื่อง เครื่องประดับหรู ถือเป็นเรื่องธรรมดา บางคนมีเครื่องบิน เรือยนต์ ภาพเขียนมูลค่าสูง ไปจนถึงเครื่องจำลองการบิน
เหตุที่ทรัพย์สินอื่นถูกจับตามากขึ้น น่าจะมาจากคดีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สมัยเป็นรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่เจ้าตัวสวมใส่นาฬิกาหรูมูลค่าสูงหลายสิบเรือน แต่กลับไม่แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินในส่วนทรัพย์สินอื่นแม้แต่เรือนเดียว นำไปสู่การถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบอยู่แรมปี และทำให้การยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งล่าสุด นาฬิกามูลค่าหลักพันหลักหมื่น ก็ถูกยื่นเข้ามาในบัญชีด้วย ทั้งที่ตามกฎหมายให้ยื่นเฉพาะทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกินกว่า 2 แสนบาทขึ้นไป
ข้อมูลอีกส่วนที่ถูกจับตามนานแล้ว คือ ‘โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง’ รวมถึง ‘ที่ดิน’ เพราะเป็นฐานข้อมูลที่สามารถใช้ตรวจสอบต่อไปได้ ว่าผู้ยื่นได้แจ้งครบหรือไม่ หรือที่แจ้งไว้ในบัญชีตรงกับสิ่งที่มีจริงๆ หรือเปล่า
อยากชักชวนให้ทุกคนเข้าไปดูบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ที่ ป.ป.ช.นำเปิดเผยกัน น่าจะช่วยให้ทุกๆ คนเข้าใจเรื่องราวต่างๆ มากขึ้นเยอะเลย
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับปี 2561 จะกำหนดตำแหน่งที่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณชนเพิ่มขึ้นจากในอดีตค่อนข้างมาก จากเดิมที่มีเพียงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. แต่ของใหม่รวมถึงองค์กรอิสระ ข้าราชการระดับสูง กรรมการรัฐวิสาหกิจ และผู้บริหารท้องถิ่น
แต่ข้อเสียของมันก็คือ การไปยกเว้นให้ผู้ที่เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินมาแล้วถ้าได้ดำรงตำแหน่งต่อก็ไม่ต้องยื่นอีก ทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผลคือ หากใครบางคนได้เป็นรัฐมนตรีต่อเนื่องไปเป็นสิบๆ ปี ก็ให้ยึดเอาบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นไว้ตั้งแต่สิบปีก่อนมาใช้ตรวจสอบ ซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลไม่มีทางอัพเดท และเปิดช่องให้มีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
อีกกรณีก็คือ การที่ ป.ป.ช.กำหนดให้การแสดงบัญชีทรัพย์สินผ่านเว็บไซต์ ทำได้แค่ 180 วันเท่านั้น หลังจากนั้นใครอยากดูให้เดินทางไปที่สำนักงาน ป.ป.ช. ที่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานเชิงตรวจสอบของภาคประชาชน เพราะสร้างอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลพอสมควร
เหล่านี้ คือเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช. ที่อาจไม่มีตัวเลขเยอะๆ ให้ชวนประหลาดใจ แต่เชื่อว่าน่าจะพอชี้เป้าให้ทุกๆ คนไปหาข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ด้วยตัวเอง
[ ปล. ใครสนใจบัญชีทรัพย์สินของบุคคลใด แนะนำให้เซฟกันไว้ก่อน เพราะอีกครึ่งปีข้างหน้า อาจไม่ปรากฎให้ค้นหาบนเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. ]