“ขาเตียงสั่น ชาวเน็ตเปิดวาร์ป อ้างสาวมือที่3”
“ลบแล้วแต่ชาวเน็ตแคปทัน อิมเมจโวยประเทศเฮงซวย”
“ชาวเน็ตจวกยับ นักท่องเที่ยวยืนขวางรถไฟถ่ายรูป”
“มหกรรมชาวเน็ต ขุดข้ามเรื่องจากต่ำตมสู่ป้าซุ่ม”
เราพบเห็นและได้ยินคำว่า ‘ชาวเน็ต’ กันอยู่บ่อยๆ ยิ่งในยุคดราม่านิยม สังคมออนไลน์ที่ว่องไวและหวือหวา ชาวเน็ตก็ดูเหมือนว่าจะพัฒนาสกิลรอบด้านและมีบทบาทสำคัญในการสร้างบทสนทนาต่างๆ ในสังคมมากขึ้น
ชาวเน็ตทำยังงั้น ชาวเน็ตว่ายังงี้ ด้วยความหลงใหลในหลากหลายความสามารถที่ชาวเน็ตมี The MATTER เลยลองสำรวจพฤติกรรมของชาวเน็ตดูหน่อย ว่าตลอดปี 2017 นี้ ชาวเน็ตทำอะไรกันบ้าง (ซึ่งพบว่ามีอะไรน่ารักๆ ชวนให้ยิ้มได้เต็มไปหมดเลย) รวมถึงลองย้อนกลับไปดูว่า ชาวเน็ตปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อไหร่ และโตมายังไง
ชาวเน็ต เฟิร์สไทม์! และพัฒนาการรอบ 10 ปี
ก่อนจะไปดูว่าปีนี้ชาวเน็ตทำอะไรกันไปบ้าง ขอชวนย้อนกลับไปดูก่อนว่า ‘ชาวเน็ต’ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ และโตมายังไง?
จากการสืบค้นข้อมูลใน NewsCenter ระบบสืบค้นข้อมูลจากหลากหลายแหล่งข่าว ‘ชาวเน็ต’ ปรากฏครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ รายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11-17 มกราคม 1998 ในคอลัมน์ ‘อินเตอร์ไซเบอร์ เปิดศักราชใหม่ ร่วมกิจกรรมรีดไขมันออนไลน์’ ตอนท้ายๆ มีข้อความว่า
“นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำจากประชากร ‘ชาวเน็ต’ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงนี้อีกมากที่มีเคล็ดลับมาแนะนำให้ผู้ที่ไม่อยากอ้วนได้สมหวัง”
และนั่นคือ ชาวเน็ต เฟิร์สไทม์!
ทีนี้เลยลองมองย้อนพัฒนาการในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาของชาวเน็ตบ้าง ปรากฏว่า ‘ชาวเน็ต’ มีการเติบโตอย่างเห็นชัดในช่วงปี 2010 เพราะคำว่า ‘ชาวเน็ต’ ที่ปรากฏในข่าว (ทั้งพาดหัวและเนื้อข่าว) เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปีก่อนหน้า (จาก 299 ข่าว/ปี ในปี 2009 เพิ่มเป็น 615 ข่าว/ปี)
จากนั้น ชาวเน็ตก็เติบโตอย่างดีเรื่อยมา จนเมื่อสองปีที่แล้ว มีการก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด คือจาก 1,560 ข่าว/ปี (2014) เพิ่มขึ้นเป็น 4,388 ข่าว/ปี (2015) ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าโตขึ้นถึง 281% และสำหรับปีที่แล้ว ก็พุ่งขึ้นไปแตะถึงหกพันกว่าข่าวแล้ว!!
ชาวเน็ต 2017
ทีนี้มาดู ‘ชาวเน็ต’ ในปี 2017 กันบ้าง ในหน้ากระดาษและหน้าจอของหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ในประเทศตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ‘ชาวเน็ต’ ปรากฏตัวในพาดหัวข่าวทั้งหมด 797 ข่าว โดยจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคมและเมษายนน้อยหน่อย (สงสัยหยุดปีใหม่และสงกรานต์กัน) แต่ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา คือตั้งแต่มิถุนายน ‘ชาวเน็ต’ ก็ดูออกจะคึกคักบนพาดหัวข่าวกันมากหน่อย
สารพัดสกิลของชาวเน็ต
ได้ลองอ่านพาดหัวข่าวที่มี ‘ชาวเน็ต’ แล้วก็ถึงกับเอามือทาบอก เฮ้ย! ช่างเป็นกลุ่มคนที่ไม่ธรรมดา เพราะดูจะทำอะไรต่อมิอะไรได้สารพัดอย่าง จนเกิดคำถามว่า ชาวเน็ตทำอะไรได้บ้าง?
จากพาดหัวข่าวในปีนี้ ชาวเน็ตผู้มากความสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ถึง 206 สกิล! แต่สิ่งที่ชาวเน็ตถนัดมากที่สุดคือการ ‘แห่’ เพราะได้กระทำการแห่ไปแล้วทั้งสิ้น 99 ข่าว รองลงมาคือการ ‘ชม’ หรือ ‘ชื่นชม’ ใครต่อใคร ส่วนการ จวก ถาม รุม วิจารณ์ และแชร์ ก็เป็นสิ่งที่รักจะทำอยู่บ่อยๆ ครั้ง
ส่วนสกิลน่ารักน่าเอ็นดูที่ชาวเน็ตมี ก็อย่างเช่น เสียงแตกได้ (อันนี้ไม่ได้แตกหนุ่มนะ หมายถึงเห็นต่างกัน) ทายชื่อเพลงได้ หัวใสได้ ถอนหงอกได้ เปิดวาร์ปได้ หรือแม้กระทั่ง ชาวเน็ตไม่แพ้ชาติใดในโลก!
เห็นชาวเน็ตชอบ ‘แห่’ กันนัก นี่ก็สงสัยว่าเขา ‘แห่’ อะไรกัน?
จากการแห่ไปแล้ว 99 ข่าว ชาวเน็ต ‘แห่แชร์’ มากที่สุด คือ 29 ข่าว (เช่น ชาวเน็ตแห่แชร์คลิปสุดหลอน..ใครเข็นเตียง!! หรือ น่ารักหนักมาก! ชาวเน็ตแห่แชร์แก๊งคุณยายวัย 80+ กินบาร์บีคิวมุ้งมิ๊งกัน 3 คน) และจริงๆ แล้วก็ ‘แห่ชม’ ในระดับใกล้เคียงกัน คือ 28 ข่าว (เช่น ปรบมือ !! ชาวเน็ต แห่ชื่นชม นร.เตรียมอุดมฯ รุ่น77 ห้อง 145 สอบติดแพทย์เกือบยกห้อง หรือ ชาวเน็ตแห่ชม’วงดนตรีจิ๋ว’ เล่น’เพื่อชีวิต’สไตล์เมทัล) ส่วนอันดับ 3 คือ ‘แห่ให้กำลังใจ’
มิตรแท้ของชาวเน็ต
สุดท้ายเลยลองมาดูว่า จากพาดหัวข่าวทั้งหมดทั้งมวลนี่ หนังสือพิมพ์ฉบับใดที่เปิดพื้นที่บนพาดหัวข่าวให้ชาวเน็ตมากที่สุด ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ ‘ผู้จัดการ’ คว้าตำแหน่งมิตรแท้ของชาวเน็ตไป ด้วยจำนวนพาดหัวสูงสุดถึง 193 ข่าว ในขณะที่ ข่าวสด มติชน และไทยรัฐ ก็มีพาดหัวข่าวที่มีชาวเน็ตอยู่เกินกว่าร้อยข่าวแล้วตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา
จริงๆ ต้องบอกว่านี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของพฤติกรรมชาวเน็ตยังมีข่าวทีวี เว็บไซต์ และกระทู้อีกนับหมื่นนับแสนที่พูดถึงชาวเน็ต
แต่ดูจากแนวโน้มแล้ว ค่อนข้างแน่นอนเลยว่าเราจะได้เห็นสกิลใหม่ๆ ของ ‘ชาวเน็ต’ อีกหลากหลายและมากมายในอนาคต รวมถึงการครอบครองพื้นที่บนสื่อต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะแห่ จะแชร์ หรือจะทำอะไร เราก็รอติดตามอยู่ด้วยรักนะจ๊ะ ชาวเน็ต!
หมายเหตุ : ข้อมูลสำหรับปี 2017 เป็นการสืบค้นจากหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทั้งหมด 9 ฉบับ คือ 1) ผู้จัดการ 2) เดลินิวส์ 3) ไทยรัฐ 4) กรุงเทพธุรกิจ 5) มติชน 6) โพสต์ทูเดย์ 7) คม-ชัด-ลึก 8) ประชาชาติธุรกิจ และ 9) ข่าวสด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2560 โดยใช้ NewsCenter และ Google News เป็นเครื่องมือในการสืบค้น