อภินิหารย้อนเวลาไม่ได้มีแค่ในละคร หากแต่ในชีวิตจริงนั้น การเมืองไทยก็มีเรื่องราวมากมาย ที่ชวนให้เราเอะใจกันว่า นี่ไม่ได้นั่งไทม์แมชชีน หรือ มีปาฏิหาร์ยพาเรากลับสู่อดีตจริงๆ ใช่ไหม?
ในวันที่ละครแนวเดินทางข้ามเวลากำลังมาแรง The MATTER ชวนทุกท่านก้าวเข้าไปสำรวจ 6 เรื่องราวการเมืองไทยในยุคปัจจุบันที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เหมือนจะย้อนกลับสู่อดีต ประหนึ่งว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนี้ เคยเป็นคู่บุพเพสันนิวาสกับสิ่งเก่าๆ ในยุคสมัยที่แล้วมา
ว่ากันว่า คู่กันแล้วย้อมไม่แคล้วกัน หรือว่าผู้นำทางการเมืองไทยปัจจุบันกำลังจะเดินย้อนกลับไปหาสิ่งที่ตัวเองรักในอดีตกันแน่นะ ทั้งเรื่องการกลับไปสู่ยุคที่นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก มีสมาชิกวุฒิสภาแบบแต่งตั้งครบครันทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ไหนจะนโยบายอีกมากมายที่คงกลิ่นอายอดีตที่หลายคนโหยหา
ฉะนั้น ออเจ้าจะรอช้าอยู่ไย ก้าวเดินตามกันมา แม้ไม่มีท่านหมื่นยืนรอคอยอยู่ที่เรือนริมน้ำ หากแต่ปรากฏการณ์ที่ก็น่าสนใจยิ่งนัก จนอดใจไม่ไหวที่จะเชื้อเชิญให้ไปดูกัน
นายกฯ คนนอก ไม่ต้องเป็น ส.ส. ก็ย่อมได้
ครั้นในอดีต หลักการที่สังคมการเมืองไทยคุ้นชินมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 แถมยังผ่านการต่อสู้ทางความคิดของกลุ่มการเมืองต่างๆ มาอย่างดุเดือด คือเรื่องว่า ‘นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.’ แต่ดูเหมือนหลักการที่ว่านี้ จะไม่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่มาจากการร่างของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
พูดง่ายๆ คือรัฐธรรมนูญฉบับที่เรากำลังใช้กันอยู่นี้ เปิดช่องให้ ‘ใครก็ได้’ ที่พรรคการเมืองเสนอชื่อขึ้นมาสามารถเป็นนายกฯ ได้ แม้ว่าเขาคนนั้นจะไม่ได้เป็น ส.ส. ก็ตาม
มีการวิจารณ์กันว่า กลไกเอื้อสู่นายกฯ คนนอกเช่นนี้จะพาประเทศไทยย้อนกลับไปถึงอย่างน้อยๆ ก็คือก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540 นู่นเลย ซึ่งก็เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วเนอะ เรโทรกันสุดๆ
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญกันมา ทั้งคณะผู้ร่างฯ และคนในรัฐบาลก็ย้ำชัดเจนมาเสมอเลยนะว่า นี่ไม่ใช่การพยายามสืบทอดอำนาจอะไรทั้งสิ้น แต่มันคือการพยายามอุดช่องโหว่เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตเหมือนที่แล้วมาต่างหากล่ะ!
ส.ว.แต่งตั้งเวอร์ชั่นเข้มข้น 100%
นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ชวนพวกเรากลับไปซึมซับบรรยากาศการเมืองเก่าๆ ในสมัยอดีตก่อน 2540
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรวมถึงเนื้อหาในกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ส.ว. กำลังเดินไปสู้เส้นทางที่ว่าต่อจากนี้ ส.ว. จะไม่มีสัดส่วนจากการเลือกตั้งอีกแล้ว โดยจะเปลี่ยนวิธี (กลับมา) เป็นการแต่งตั้ง รองนายกฯ ด้านกฎหมาย วิษณุ เครืองาม ก็เคยออกมาชี้แจงว่า ไม่อยากให้พวกเรามองว่าเป็นคนที่ คสช. แต่งตั้งหรือเป็นร่างทรงอะไรเลยนะ จริงๆ แล้วเป็นคนที่จะมาคานอำนาจกับเหล่า ส.ส. ต่างหาก ขณะที่บางฝ่ายก็มองว่า การมี ส.ว.เป็นตัวแทนคนเยอะๆ เนี่ยยังช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้กับกลุ่มต่างๆ ในสังคมอีกด้วยนะ โต้เถียงกันในสภาโดยไม่ต้องออกไปประท้วงกันแบบข้างถนนด้วย ดีจะตายไป
เรื่องน่าสนใจก็คือ แม้เราจะย้อนกลับไปใช้ระบบ ส.ว. แต่งตั้งล้วน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อำนาจของพวกเขาก็ดูเหมือนทรงพลังด้วยเหมือนกัน เช่นการเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งเรื่องการคัดเลือกนายกฯ และยังให้ผู้นำเหล่าทัพเข้าไปนั่งเป็น ส.ว. โดยอัตโนมัติอีกด้วย กลิ่นอายความย้อนยุคถือว่าแรงเบา
ยากศึกฉุกเฉิน ชายไทยล้วนเป็นกำลังพลสำรอง
เมื่อช่วงปลายปี 2558 เคยมีข่าวที่สร้างความแตกตื่นให้กับชายไทยทั่วประเทศ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง
หนึ่งในกรรมาธิการของ สนช. พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ที่ร่วมพิจารณากฎหมายนี้อธิบายเนื้อหาให้กับ iLaw ว่า กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ชายไทยทุกคนในประเทศ สามารถเป็นกำลังสำรองได้ทั้งหมด
อีกทั้งยังให้อำนาจกระทรวงกลาโหม เรียกกำลังพลสำรองมาฝึกทหารได้ แต่อาจจะต้องมีขั้นตอนต่างๆ เช่น เริ่มจากการเปิดรับสมัครกำลังพลก่อน ซึ่งถ้าหากมีคนสมัครเต็มแล้ว ก็อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องเรียกกำลังสำรองมาฝึกอีก
นอกจากนี้ ยังมีการชี้แจงด้วยว่า ไม่อยากให้ประชาชนแตกตื่นกันนะ เพราะมันคือการกลับไปเอาเนื้อหาในกฎหมายฉบับ ‘เก่าๆ’ ในอดีตมารวมใหม่เท่านั้น โดยกฎหมายเก่ามีดังนี้
-พ.ร.บ.รับราชการทหาร 2497
-พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการทหาร 2541
-พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541
-พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 2551
ประชา(รัฐ)นิยม กระตุ้นเศรษฐกิจสไตล์ คสช.
ช่วงหลังมานี้ เราได้ยินคำประกาศจุดยืนจากทั้งรัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ กันบ่อยๆว่า “ไม่เอาประชานิยม” เพราะถือว่ามันคือสิ่งที่มอมเมาประชาชน เป็นเครื่องมือของเหล่านักการเมืองในการหาเสียงให้กับตัวเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า ในรัฐบาลชุดนี้ก็เหมือนจะเดินทางย้อนเวลากลับไปเอาประชานิยมมาใช้เองรึเปล่านะ? จริงอยู่ว่าชื่อโครงการต่างๆ อาจใช้คำว่า ‘ประชารัฐ’ ซึ่งแน่นอนว่า หากลงไปดูในรายละเอียดต่างๆ ก็อาจมีความต่างกันอยู่บ้าง แต่ทำไมความรู้สึกมันกลับคล้ายๆ กับสิ่งที่รัฐบาลในอดีตเคยทำมาก่อนเลย
นโยบายที่ถูกตั้งข้อสังเกต เช่น การแจกเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย มาตรการประกันราคาสินค้าเกษตร รวมไปถึงมาตรการช็อปช่วยชาติ แต่ถึงอย่างนั้น นายกฯ ลุงตู่ ก็ได้ออกมาย้ำหนักๆ ว่านี่ไม่ใช่ประชานิยมนะจ๊ะ เพราะมันคือการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่าง รัฐ เอกชน และประชาชน แถมยังไม่ได้หวังผลทางการเมืองใดๆ อีกด้วย
ยามลมพัดหวน ประชาธิปไตยแบบไทยๆ นิยม
อาจดูเป็นคอนเซปต์ทางการเมืองที่กำลังมาแรง เป็นคำใหม่ที่เราอาจไม่คุ้นชินมาก่อน หากแต่ คำว่า ‘ประชาธิปไตยไทยนิยม’ ที่นายกฯ ออกมานำเสนอและยืนยันว่าต้องขับเคลื่อนต่อไปนั้น กลับถูกตั้งคำถามค่อนข้างหนัก ว่ามันคือการมองการมืองไทยแบบย้อนหลังสู่อดีตรึเปล่านะ
สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องโคงสร้างทางการเมืองไทย เคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า ประชาธิปไตยไทยนิยม มันมีได้สร้างอารมณ์ความรู้สึกเหมือนสมัย ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ของอดีตนายกฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
“ประชาธิปไตยไทยนิยม จะคล้ายการเมืองยุคประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยป๋าเปรม แต่จะเป็นป๋าเปรมขั้นแอดวานซ์ เพราะในเชิงโครงสร้างนั้นมันถูกเซ็ตเอาไว้ใกล้เคียงแล้ว โดยเฉพาะ ส.ว.แต่งตั้งในจำนวนเยอะๆ แต่สิ่งที่เขายังคุมไม่ได้คือ ส.ส. อีก 500 คนนั้นจะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งต้องวัดกันที้วันเลือกตั้ง
“ถ้าประชาธิปไตยแบบไทยนิยมมันเกิดขึ้นจริงๆ มันน่าจะเป็นการเมืองที่ผู้นำไม่อยากให้มีการทะเลาะกัน โดยมีแนวโน้มสูงว่าจะมีรัฐบาลแห่งชาติเกิดขึ้น”
ยุทธศาสตร์ชาติ-แผนพัฒนาเศรษฐกิจ คิดจากศูนย์กลาง
เอกสารฉบับใหญ่ๆ มีจำนวนเป็นร้อยๆ หน้า คือเนื้อหาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่รัฐบาล คสช. ประกาศออกมาเพื่อจุดมุ่งหมายที่บอกว่าต้องการพัฒนาประเทศ แต่มันก็ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความคล้ายคลึงบางประการกับ ‘แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ’ ที่ถูกริเริ่มขึ้นมาฉบับที่หนึ่ง (ปี 2504-2509) ในยุคของรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า มันสะท้อนถึงการรวมศูนย์กลางอำนาจการกำหนดทิศทาง นโยบาย ทางเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศโดยภาครัฐส่วนกลางอย่างเข้มข้น มีการตั้งคณะกรรมการด้านต่างๆ ขึ้นมาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ขณะเดียวกัน ก็ถูกตั้งคำถามอยู่เรื่อยๆ ถึงกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนว่า ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ได้ส่งเสียงไปถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่ว่านี้แค่ไหน
ไม่ว่ากระบวนการจะเป็นแบบไหน แต่ภาครัฐบาลเขาก็ย้ำนักย้ำหนามาเรื่อยๆ เลยว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี่แหละ ที่จะช่วยพาประเทศของพวกเราออกจากกับดักความขัดแย้งและปัญหาทางเศรษฐกิจไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้
ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนั้น ก็คงต้องรอดู รอเสี่ยง และรอลุ้นกันต่อไปเนอะ