ตายแล้วจะกลายเป็นอะไร ร่างกายและอวัยวะของเรา จะยังทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ?
ประเด็นเรื่องชีวิตหลังความตาย ที่การตายจะไม่สูญเปล่าเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น ซึ่งวิธีหนึ่งที่เราทำได้ คือการบริจาคอวัยวะ หรือบริจาคร่างกาย ซึ่งที่ผ่านมาก็มักจะมีข่าวว่า ขาดแคลนอวัยวะในการปลูกถ่าย มีคนรอคิวมากมาย รวมไปถึงล่าสุดที่มีความพยายามผลักดันให้ประเทศไทย มีกฎหมายบริจาคร่างกายอัตโนมัติเมื่อเสียชีวิตด้วย
แต่การบริจาคอวัยวะจะทำได้อย่างไร ตอนยังมีชีวิตจะทำได้ไหม และข้อกฎหมายที่จะผลักดันจะเป็นยังไง? The MATTER คุยกับ นพ.วิศิษฎ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ แห่งสภากาชาดไทย ถึงสถานการณ์การบริจาคในเมืองไทย ปัญหา และอุปสรรคที่ยังเจอ รวมไปถึงความเป็นไปได้ของกฎหมายบริจาคอัตโนมัติว่าจะเป็นไปได้กับประเทศไทยหรือไม่
สถานการณ์ของการบริจาคอวัยวะในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้ก็ถือว่ายังขาดแคลน ทั้งหมดที่เราขาดแคลนอวัยวะเพราะว่า อวัยวะมันสังเคราะห์ไม่ได้ ต้องมาจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง และถ้าเราจะได้มาแบบไม่กวนใครเลย ก็คือได้จากคนที่เสียชีวิต ส่วนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อป้องกันการค้าขายอวัยวะ แพทย์สภาฯ จึงบอกว่าอนุญาตแค่เฉพาะพี่น้องตามสายเลือด หรือสามี-ภรรยาที่อยู่กันอย่างเปิดเผยท่านั้น คนอื่นทำไม่ได้
สิ่งที่เราจะได้ก็คืออวัยวะจากคนที่ตายแล้ว ซึ่งคนที่มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ ก้านสมองถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงและถาวร ที่มีวิธีตรวจทั้งหมดแล้ว แบบนี้จะเรียกว่าคนตายจากอาการสมองตาย แต่หัวใจยังเต้น เมื่อหัวใจยังเต้น เลือดทั้งหมดก็จะไปหล่อเลี้ยงร่างกาย เพราะอย่างนั้นอวัยวะยังใช้ได้ ดังนั้นคนที่จะให้อวัยวะเราได้ โดยไม่กวนถึงการดำรงชีวิต ก็คือคนที่ตายจากสมองตาย
ดังนั้นการจะได้อวัยวะจากคนที่สมองตาย อย่างแรก ต้องมีหมอที่วิจิจฉัยว่า แบบนี้คือสมองตาย ถือว่าตายแล้ว อย่างที่สองก็คือ ญาติต้องบริจาค ซึ่งการที่ญาติยอมบริจาค แนวคิดของเราก็คือต้องทำความเข้าใจ คุยกับญาติ แสดงความจำนง
ตอนนี้มีคนแสดงความจำนงบริจาคล้านกว่าคนแล้ว แต่เมื่อเราเทียบกับจำนวนประชากร 60 กว่าล้าน เราก็จะเห็นว่ามันแค่นิดเดียว ซึ่งคนที่แสดงความจำนงก็ยังไม่ได้ตาย หนำซ้ำถ้าตายแล้วต้องสมองตายด้วย ซึ่งจำนวนมันก็จะลดลงไปเรื่อยๆ
ยังมีอุปสรรคหรือปัญหาอะไรบ้าง ในการเปิดรับการบริจาคร่างกาย
ประเด็นสิทธิของร่างกาย ขณะที่คุณมีชีวิตอยู่ คุณเป็นเจ้าของอวัยวะ แต่เมื่อคุณเสียชีวิตแล้ว ศพจะเป็นสมบัติของทายาท พอจะบริจาคจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ว่าต้องขออนุญาตจากญาติ ถึงแม้ผู้เสียชีวิตจะมีบัตรแสดงความจำนงแล้ว แต่อย่างน้อยถ้ามีบัตร ญาติก็จะเข้าใจว่าคุณมีความจำนงจะบริจาค 90% ญาติก็จะยอมให้ แต่ถ้าไม่ทำบัตรไว้ ญาติก็มักจะไม่เชื่อ โดยเฉพาะกรณีสมองตาย มักจะมีคนที่คิดว่าหมออยากจะได้อวัยวะ ไม่ไว้ใจในการวินิจฉัยสมองตายของหมอ
อีกอย่างนึงก็มักจะมีความเชื่อว่า แค่นี้เขาก็ทรมานแล้ว ยังจะมาเอาอวัยวะเขาไป ลึกๆ ก็คือกลัวชาติหน้าจะอวัยวะไม่ครบ จึงไม่อยากให้ หรืออีกอย่างญาติก็จะกลัวว่า ถ้าเอาอวัยวะไป จะทำพิธีทางศาสนาช้าไปหรือเปล่า ก็จะมีปัญหาตามมา ทั้งเขาก็จะสงสัยว่าหมอเอาอวัยวะไปซื้อขายหรือเปล่า หมอได้ผลประโยชน์หรือเปล่า นี่คืออุปสรรคเรื่องความเชื่อ ที่ทำให้เราได้หรือไม่ได้อวัยวะ
ทีนี้คนที่รออวัยวะก็จะเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอนนี้เทคโนโลยีของการปลูกถ่าย มันทำได้ทุกอย่างแล้ว อย่างแขนก็ทำแล้ว มือก็ทำแล้ว ใบหน้าที่ถูกหมากัด ก็ถูกสร้างใหม่ได้แล้ว ตับอ่อน ปอด ไต หัวใจ ลำไส้เล็ก มันทำได้ทั้งตัวแล้ว ยกเว้นแค่สมอง เพราะฉะนั้นก็ไม่มีใครอยากตาย เพราะทุกอย่างปลูกถ่ายได้หมด
มันก็ทำให้จำนวนคนที่รออวัยวะเพิ่มมากขึ้น โดยตอนนี้มีประมาณ 6,400 คน และเรากำลังจะได้อวัยวะจากคน 300 คน จากจำนวนนี้ เราจะได้ประมาณคนละ 2.4 อวัยวะต่อ 1 ร่างของผู้เสียชีวิต หรือปลูกถ่ายได้ราวๆ 650 คน แต่เมื่อไหร่มันจะไปถึง 6,400 คน พอเริ่มอย่างนี้เราก็รู้แล้วว่า คนที่รอมันเพิ่มขึ้นทุกปี และคนที่ตายระหว่างรอ เฉลี่ยแล้วอาทิตย์ละ 3 คน ซึ่งเขาไม่ควรตาย แต่แน่นอนคนที่รอไต ก็ล้างไตไป แต่กับหัวใจ ตับ ปอด รอไม่ได้ ก็ต้องตายไป
ทั้งคนที่รอจำนวนหนึ่ง เมื่อรอไป เขาก็จะกลายเป็นคนที่ไม่เหมาะสมที่จะได้รับการปลูกถ่าย ถึงตอนนั้นร่างกายเขากระปิดกระปรอย ไม่สามารถทนผ่าตัดใหญ่ๆ ได้ ดังนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของคนตายอย่างเดียว แต่คนที่รอ ผ่านไประยะนึง ความเสื่อมโทรมก็เกิดขึ้น ยิ่งในเด็ก ถ้ายังไม่ใส่กระดูก ก็มีการงอ ตัวเตี้ย ร่างกายไม่พัฒนา
อีกประเด็นคือ ถ้ามีคนเสียชีวิตต้องมีคนเดินทางไปเอาอวัยวะ แต่ปัญหาคือ บางครั้งไม่มีคนไป มันมีอุปสรรคเยอะ ทั้งๆ ที่มีเครื่องบินพาณิชย์ มีเครื่องบินตำรวจ จึงมีความยากลำบากที่จะได้ หรือไม่ได้ด้วย
ตอนนี้ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะทำอะไรอยู่บ้าง
สิ่งที่เราทำอยู่อย่างแรกคือ เราพยายามทำให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าใจในเรื่องนี้ก่อน เรื่องสมองตาย คือตาย และถ้าเราเห็นว่าคนไข้สมองตายมีความจำนงบริจาคอวัยวะ ต้องดูแลคนไข้ ดูว่าคนไข้สมองตายตั้งแต่ระยะแรก เพราะว่าสมองตาย ถ้าผ่านไป 72 ชั่วโมง หัวใจจะหยุด ฉะนั้นเรามีเวลาสั้นนิดเดียวเอง จึงจะต้องดูแลคนไข้คนนี้ให้ดีตั้งแต่ต้น
หลักการของเราคือ อวัยวะที่บริจาคต้องสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยสูง คือต้องไม่เป็นมะเร็งหรือมะเร็งเม็ดเลือด ไม่เป็น 3B ไม่เป็นซิฟิลิส ไม่มีไวรัสตับอักเสบ A และ B ไม่มีเอดส์ หรือ HIV ตรงนี้ยิ่งทำให้ยาก ยิ่งกินเวลากันเข้าไปใหญ่
นอกจากแพทย์แล้ว ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือ transparent coordinator หรือพยาบาลผู้ประสานงาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเขาต้องเข้าใจเรื่องสมองตาย และต้องรู้วิธีการพูดกับญาติ เพราะปกติหมอจะมีเวลาพูดกับญาติแค่แป๊ปเดียวว่าเขาเสียชีวิตแล้ว และยังมีอีกหนทางนึงคือเลือกบริจาคอวัยวะ แต่พยาบาลจะมีเวลาคุยกับญาติมากกว่านั้น และต้องมีจิตวิทยา ต้องบอกความจริงกับญาติทั้งหมด
ซึ่งเราก็เปิดหลักสูตรอบรมพยาบาลประสานงานปีละ 2 ครั้ง เปิดมา 15 ปีแล้ว และมีพยาบาลมาอบรมกับเราแล้วประมาณ 1,300 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ปัญหาก็คือ เรามีคน เรามีคนเทรนด์ แต่พยาบาลพวกนี้ต้องทำงานหลายอย่าง ทั้งดูวอร์ด อยู่ห้องผ่าตัด ไม่สามารถมาทำงานประสานงานเรื่องบริจาคอวัยวะได้แค่อย่างเดียวจริงจัง ซึ่งถ้าเป็นไปได้ เราต้องการให้เขาได้ตามอย่างจริงจัง ว่าจะมีผู้ป่วยสมองตายบ้างไหม มีกี่วอร์ด และดูรอคุยกับหมอ คุยกับญาติ แต่ตอนนี้ระบบทำให้มันไม่มี
อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของประชาสัมพันธ์ ซึ่งเราก็พยายามทำให้ยังไงให้สังคมเข้าใจ ว่าสมองตายคือตาย ถ้าตายแล้วจะไม่ฟื้น ซึ่งตอนนี้คนก็เข้าใจมากขึ้นแล้ว ส่วนอีกประเด็นคือเรื่อง ความเชื่อที่ว่าถ้าบริจาคอวัยวะ ตายไปชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบ ซึ่งถ้าผมไปบรรยายที่ไหน ก็จะพยายามพูดเรื่องนี้ให้เข้าใจ สร้างทัศนคติ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมของไสยศาสตร์ ดังนั้นเราก็พยายามพูดในด้านของวิทยาศาสตร์ และศาสนา ว่าคนเราเกิดมา ตายไปเราไม่สามารถเอาอะไรไปด้วยได้ สุดท้ายร่างกายก็ไม่มีอะไรเหลือ หรืออย่าศาสนาพุทธเองมองว่า มีการเกิดใหม่ แต่คำถามคือ ตายแล้วเกิดเป็นอะไร สมมติเกิดเป็นกบ หัวใจที่เอาไป ก็ใหญ่เกินไปหรือเปล่า
หลังจากเราได้อวัยวะมาแล้ว ทางศูนย์ก็จะมีการจัดสรร อย่างเป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส คือไม่เลือกเชื้อชาติ วรรณะ และศาสนา ไม่เลือกฐานะ ทุกคนควรมีส่วนเข้าถึงอวัยวะอย่างเท่าเทียมกัน
สถานการณ์ในตอนนี้ อวัยวะไหนขาดแคลนมากที่สุด
มันก็ขาดแคลนทุกอวัยวะ ไต หัวใจ ปอด ตับ และที่เหลือก็ตับอ่อน แต่ที่มากที่สุดก็คือไต ที่มากเพราะคนเป็นโรคไตมาก คนเป็นเบาหวานก็มักเป็นโรคไต บ้านเราเองก็กินเค็มกันมาก คนไข้ที่รอไตจึงมีมาก ถ้าเขาล้างไตได้ ก็ไม่ตาย วันนี้มีคนไข้ที่เป็น HIV ถามว่าจะเปลี่ยนไตให้เขาไหม เราก็ต้องเปลี่ยน เพราะเขาล้างไตไม่ได้ เพราะถ้าล้าง โรคก็จะไปติดในเครื่องล้างไต เราควรจะต้องรักษาเขาเหมือนคนธรรมดา อวัยวะที่รอได้รับการเปลี่ยนมากที่สุดคือไต
โรคอื่นๆ ก็มีตับ ที่นอกจากโรคแล้ว มีเรื่องการกินเหล้า และการขาดอาหาร กินอาหารที่ไม่มีโปรตีน การขาดอาหาร หรืออ้วนเกินไป ก็ไขมันเต็มตับ พยาธิในตับ ตับแข็ง มะเร็งในตับ ทั้งหมดนี้คือคนที่ต้องเปลี่ยน และอีกอย่างคือทางเดินน้ำดีไม่พัฒนา
ถ้าเราต้องการปลูกถ่ายอวัยวะ ระบบการรอคิว การจัดสรรอวัยวะของทางศูนย์ฯ เป็นยังไง
ถ้าเข้ามาสภากาชาดไทย เรามีหลักที่เรียกว่า fundamental principle เช่น มีคุณธรรม มีมนุษยธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ มีความเป็นกลาง สิ่งสำคัญที่ศูนย์ตั้งขึ้นมาคือ ทำยังไงให้อวัยวะของคนที่ตายถูกจัดสรรอย่างเท่าเทียม สมัยก่อน ถ้าเราไม่มีตรงนี้ คนไข้ตาย ผมเป็นหมอ ก็ไปขออวัยวะจากญาติ ถ้าให้ ผมไปผ่าตัดเอาออก จะไปใส่ให้ใครก็เรื่องของหมอ มันก็นำมาซึ่งความไม่เสมอภาค นั่นจึงทำให้สภากาชาดเข้ามา
เราก็สร้างเกณฑ์ขึ้นมา เกณฑ์แรกคือ เมื่อมีการเสียชีวิตแล้ว อวัยวะควรจะเป็นของชุมชน คือคนไข้ที่ตาย ถ้าอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคนั้นควรจะได้ผลประโยชน์ต่อการตาย หรือถ้าคนไข้ตายที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลนั้นก็ควรได้ประโยชน์ที่สุด เมื่อเราใช้คอนเซ็ปต์แบบนี้ เราก็แบ่งเป็นภูมิภาค คนตายในพื้นที่ คนในพื้นที่นั้นก็ได้ผลประโยชน์ ถ้าอย่างไตมี 2 ข้าง หนึ่งข้างก็เป็นของภูมิภาคไป แต่อีก 1 ข้างจะเข้ามาตรงส่วนกลาง
เกณฑ์นี้ยังเป็นไปเพื่อลดการเดินทาง และลดความเสี่ยงอุบัติเหตุ ที่อาจจะสูญเสียทั้งอวัยวะ และบุคลากรผู้ไปเอาอวัยวะ ทั้งยังลดเวลาการจัดสรร เพราะอวัยวะต่างๆ เมื่อตัดมาแล้ว แช่ในกระติกน้ำแข็ง หัวใจจะอยู่ได้ 4 ชั่วโมง ตับอยู่ได้ 6 ชั่วโมง ปอดอยู่ได้ 8 ชั่วโมง ส่วนไตอยู่ได้ 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น อวัยวะก็ไม่ต้องอยู่ในกระติกน้ำนานเกินไป ตัดแล้วใส่ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ อวัยวะก็สมบูรณ์เท่านั้น
แต่โรงพยาบาลที่สามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้ เราก็ต้องให้ผลประโยชน์คือ จัดสรรอวัยวะให้เขาด้วย ไตมีสองข้าง ข้างนึงเข้าศูนย์ใหญ่ ส่วนอีกข้างนึงให้ทางโรงพยาบาลไป แต่ถ้าโรงพยาบาลไม่เอา หรือทำไม่ได้ ก็ส่งมาส่วนกลางจัดสรร
เกณฑ์อันที่ 2 เราบอกว่าเพื่อมนุษยธรรม เช่น คนไข้ฉุกเฉิน ที่ต้องเปลี่ยนหัวใจ ปอด และตับที่รอไม่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนต้องตายทันที เราก็จะจัดสรรให้คนกลุ่มนี้ก่อน เพราะถือเป็น super emergency
ต่อไปอีกอันเราก็บอกว่า ทุกคนเป็นตามคิว เราต้องการให้อวัยวะกระจาย ดังนั้นถ้าโรงพยาบาลไหนทำได้ ก็จะมาอยู่ในลิสต์ ต้องส่งคนที่รออวัยวะมาอยู่ในลิสต์ จะจัดสรรให้คนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์ไม่ได้ ดังนั้น ถ้าผู้บริจาคเสียชีวิตที่ จ.สุรินทร์ เราก็ต้องมาจัดกันว่า ใครจะได้หัวใจ ตับ หรือปอด ผมก็มีจัดการบินไปให้ ไปเอาแล้วก็กลับมา คนที่ไปเอา จะได้ไตข้างนึง เพราะถือว่าเขาลงทุนไปเอา พอใส่เสร็จก็ตกอันดับไปท้าย วนกันไปเป็นคิวของโรงพยาบาลที่ต้องไปเอาอวัยวะ และได้อวัยวะ
แต่สำหรับอวัยวะอย่างไต มันจะมีรายละเอียด ของระบบจัดสรรแบบ computerize scoring system โดยระบบจะให้คะแนนเพื่อหาคนที่ได้คะแนนสูงสุดที่จะได้รับการเปลี่ยนไตในรอบนั้น ซึ่งอย่างแรก ผู้ตายที่บริจาคต้องมีกรุ๊ปเลือดตรงกับผู้ที่รออยู่ กลุ่มคนที่เลือดกรุ๊ปเดียวกันก็จะได้คะแนนไป
อย่างที่ 2 คือ HLA คือการให้เนื้อเยื่อขอบโปรตีนที่อยู่ในเมล็ดเลือดขาว ซึ่งกรุ๊ปเลือดคือขอบโปรตีนที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง มันมีหลาย 10 ชนิด แต่อันใหญ่ๆ มี 5 อัน ซึ่งถ้าผู้บริจาค กับผู้รอเหมือนกันหมด 5 อัน ก็จะจัดสรรให้คนนี้เลย แปลว่าดีที่สุด แต่ถ้ามีต่างกัน คนที่ต่างกันน้อยที่สุดก็จะมีโอกาสไป และหลังจากนั้นก็จะมีคะแนนลดหลั่นกันไปตามบัญญัติไตรยางค์ ที่คอมพิวเตอร์คำนวณไว้แล้ว
ต่อไปเป็นเรื่องภูมิคุ้มกัน ที่จะคิดเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีวิธีการโดยการเอาแอนติบอดี้ของคนไข้ ไปทำปฏิกิริยากับเม็ดเลือดขาว ลองดูว่ามีโอกาสสลัดทิ้งกี่เปอร์เซ็น ยิ่งมีเปอร์เซ็นมาก แปลว่ายิ่งมีภูมิคุ้มกันเยอะ ซึ่งถ้าไปรับอวัยวะจากผู้บริจาค อาจจะใส่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รีบให้ เขาก็จะไม่ได้ใส่ซักที เพราะระหว่างรอไต ต้องให้เลือด ทำให้ยิ่งมีภูมิคุ้มกันของหลายๆ คนมา อันนี้เพื่อมนุษยธรรม ถ้าเปอร์เซ็นที่ทำปฏิกิริยามากกว่า 60% จะได้คะแนนเพิ่ม
อย่างที่ 3 คือวันที่รอคอย ถ้าคนไหนรอคอยยาวสุด ก็จะได้คะแนนเต็ม หลังจากนั้นก็ลดหลั่นกันไป
และอันที่ 4 คือ ในเด็ก ถ้าเด็กไม่ได้รับการปลูกถ่าย เขาจะมีปัญหาเรื่องของพัฒนาการ ถ้าอายุต่ำกว่า 12 เราก็ให้คะแนนไปเลย 3 คะแนน เป็นประโยชน์กับเด็ก
เมื่อรวมคะแนนกันหมดแล้ว เราเลือกมา 4 คน คนที่คะแนนดีที่สุด เพราะมีไต 2 ข้าง และมีสำรองอีก 2 คน เพื่อมาเอาเลือดของเขา ไปทำปฏิกิริยากับเม็ดเลือดขาวของผู้บริจาค ถ้ามีสีคล้ำก็จะทำไม่ได้ ไตจะเสียทันที เราก็จะให้สำรองถัดไป และหลังจากนั้น ถ้ามีไตของผู้บริจาคมาใหม่ ก็เริ่มคิดคะแนนใหม่เลย ตั้งแต่ขั้นตอนแรก
เรามีไต 2 ข้าง คนมักมีความคิดว่าอวัยวะนี้ เราสามารถบริจาคได้ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ เรื่องนี้จริงไหม
เรามีมือ 2 ข้าง ตัดออกไปมือนึงก็ทำอะไรไม่สะดวก ตาสองข้าง บอดอีกข้างก็ไม่สะดวกเช่นกัน ผมเองไม่รณรงค์ให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่บริจาคอวัยวะ แต่ผมก็ไม่ต่อต้าน เวลานี้แพทย์สภายอมให้ญาติพี่น้อง และสามี-ภรรยาที่อยู่กินกันเปิดเผย บริจาคได้ แต่จริงๆ มันก็มีปัญหา ถ้าภรรยาต้องการเปลี่ยนไต แต่สามียังไม่ยอมบริจาคให้ภรรยา ก็มีประเด็นเรื่องตวามรู้สึก หรือจริยธรรมมาเกี่ยวข้องด้วย
ผมมองว่า เราต้องรณรงค์ให้พยาบาลและหมอ ขอการบริจาคกับญาติของคนที่เสียชีวิต เพราะถ้าเราไปรณรงค์ให้คนที่มีชีวิตบริจาค โดยที่ไม่คำนึงถึงว่า เขามีการเสี่ยงอันตรายอะไรบ้าง ทั้งจากการผ่าตัด การดมยา การตรวจ เสี่ยงในอนาคต ที่เขาจะต้องมีชีวิตต่อไปด้วยไตข้างเดียว
จริงๆ การให้ไตในญาติพี่น้องขณะมีชีวิต มันจะมีกรณีที่ ภายใน 5 ปี มีจำนวน 5% ที่เกิดไตวายภายหลัง แล้วจะต้องมาปลูกถ่ายไต ซึ่งก็เคยมีหมอมาถามว่า ในกรณีนี้จัดสรรไตให้เร็วหน่อยได้ไหม เพราะว่าเขาเคยให้ไตคนอื่นมาก่อน ซึ่งสิ่งที่ทางศูนย์รับบริจาคฯ ทำคือกำลังจัดสรรไตให้กับสังคม แต่การที่คุณเคยให้กันเอง เพราะเป็นพี่น้องกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีสิทธิมาแซงคิวอีก 6,000 คนที่รออยู่ และรอมา 4-5 ปีได้ กรณีนี้ เราก็ไม่ยอมให้ได้ก่อน
ปกติทางศูนย์มีการแจ้ง หรือบอกญาติผู้บริจาคไหม ว่าอวัยวะไปปลูกถ่ายกับใคร
ไม่บอก เพราะเป็นกฎของ WHO เลยว่าเป็นเรื่องความเป็นส่วนตัว เป็นความลับ ยกตัวอย่าง ออสเตรียเคยลองทำว่า เคยอยากจะรู้ไหมว่าใครอวัยวะที่บริจาคไปอยู่กับใคร จัดให้ญาตินั่งคุยกับผู้ที่รับอวัยวะไป สุดท้ายมันออกมาว่า มีกรณีที่ลูกเขาไม่ชอบคนผิวสี แต่หัวใจกลับไปอยู่กับคนผิวสี ทำให้คนเป็นพ่อไม่มีความสุขตลอดชีวิต หรืออีกคนบอกว่า ทำไมลูกชั้นจะต้องตาย และอวัยวะไปอยู่กับคนแก่คนนี้ ทั้งๆ ที่ลูกเขาเพิ่ง 18 ปี เป็นต้น
หรือเราคิดภาพ ถ้าญาติคนที่บริจาคมาบอกกับผู้ที่รับบริจาคว่า อยากคลำหัวใจลูกฉัน อยากขอฟังเสียง อย่างนี้คนนั้นจะขาดความเป็นส่วนตัวไปเลย และเขาอาจจะมากวนตลอดเวลาได้ หรือบางครั้งก็มีกรณี ที่อยากตอบแทนญาติคนที่บริจาค ตอนนี้ถ้าคุณตอบแทนเขา แต่ต่อไปถ้าเขามาทวงบุญคุณ หรือมากวนคุณอีกภายหลัง จะทำยังไง
ปกติเราจะไม่บอก ยกเว้นเขาไปรู้กันเอง เช่น ในโรงพยาบาลเดียวกัน คนไข้สมองตาย ญาติร้องไห้อยู่ชั้นบน อีกคนอยู่ข้างล่าง ดีใจ กำลังจะได้อวัยวะ แล้วไปเจอกันในลิฟต์ อาจจะรู้โดยบังเอิญแบบนี้ได้
เป็นไปได้ไหม ถ้าเจาะจงบริจาคให้คนนึง แล้วยอมตายเพื่อคนๆ นี้ อย่างในหนัง ในละคร
การบริจาคอวัยวะคือการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ถ้าเฉพาะเจาะจงแบบนี้ไม่ได้เรียกว่าให้ ตัวอย่างเช่น แม่ตาย หรือพี่น้องตาย แล้วมีการบอกว่า มีญาติล้างไต รอเปลี่ยนอยู่ ขอได้ไหม ถ้าให้เขาถึงจะบริจาค ซึ่งมันดูดีนะว่า คนนี้ได้เปลี่ยนไต แต่เราได้หัวใจ หรือตับไปบริจาคให้คนอื่นด้วย แต่จริงๆ มันผิดหลัก เพราะคนนี้เขาไม่เคยสมัครมาอยู่ในลิสต์กับเราเลย ไม่เคยมีชื่อ เราจะจัดสรรไตให้ก็ต่อเมื่อมีชื่ออยู่ในลิสต์ ถ้าให้คนนี้ก่อนเมื่อไหร่ ก็จะมีข้อสงสัยใจตัวศูนย์บริจาคฯ
และอีก 6,000 กว่าคนที่รออยู่เอง ก็จะตั้งคำถามว่า เขาคือใคร ทำไมมาถึงได้ไตก่อน ดังนั้น ไม่ใช่มาตายแล้วให้ มันเป็นเงื่อนไขที่ลำบากใจต่อการจัดสรร
กรณีไต ชอบมีคำพูดฮิตๆ เวลาคนอยากได้เงินว่า ‘จะขายไต ไปซื้อของ’ จริงๆ มันสามารถทำได้ไหม
ทำไม่ได้ ถ้าทำก็ติดคุกแน่นอน เพราะจะมีเรื่องห้ามในสากลอย่าง การซื้อขายอวัยวะ เพราะถ้าไม่มีการห้าม คนจน คนด้อยโอกาส ก็จะเป็นเป้าหมาย และการค้าขาย ถ้าขายได้ ก็จะก่อให้เกิดอาชญากรรม ลักพาเด็ก ขโมยเด็ก หรือผ่าตัดเพื่อเงินอย่างเดียว
อย่างนี้ มันยังมีเรื่องของตลาดมืด หรือการขายอวัยวะอยู่ไหม
ถ้ามีก็จะทำในโรงพยาบาลเล็กๆ โรงพยาบาลใหญ่ๆ ทำไม่ได้แน่ๆ ทำในโรงพยาบาลเล็กๆ ก็มีปัญหาเรื่องไม่มีคนช่วย อาจจะไม่สะอาด มีอันตราย อาจจะทำลวกๆ ก็ได้ เพราะเมื่อไหร่ที่มีการซื้อขาย คำถามก็คือ กำไรมาก่อนคุณภาพ ไม่ดีก็ใส่ ใส่แล้วไม่ดี ถ้าเอาออก ก็ได้ตังค์หลายที
อีกอันคือ transparent tourism ทัศนาจรเพื่อการปลูกถ่าย เคยมีกรณีที่มีคนมาเดินทางเพื่อมาปลูกถ่าย หรือมีแต่ก่อนไปทำที่เมืองจีน มีการใช้นักโทษประหารบ้าง แต่เดี๋ยวนี้อาจจะไม่มีแล้ว หรือคนมุสลิม ที่จะไปปลูกถ่ายในปากีสถาน หรืออย่างในฟิลิปปินส์เอง ก็เป็นประเทศที่ไม่มีระบบอะไรเลย ไม่มีศูนย์หรืออะไรเลย มันเลยมีหลายรรูปแบบ ในการซื้อขายอวัยวะ
อีกอันที่น่ากลัวคือ organ trafficking ที่ถูกหลอกมาด้วยการบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง ซึ่งทั้งหมดนี้อันตราย ถ้าตราบใดเราทำระบบให้ระบบดี เราควบคุมได้ ก็จะไม่เสียชื่อในเรื่องนี้ ถ้าระบบดี มันก็พัฒนาได้
จริงๆ แต่ตัวศูนย์รับบริจาคเอง ก็มีข้อจำกัด เพราะเราไม่มีกฎหมายบังคับ เพราะสภากาชาดเป็นอาสาสมัคร ซึ่งเราไปบังคับใครไม่ได้
ตอนนี้มีการผลักดันเรื่องกฎหมายว่า จะให้ประเทศไทยเป็นแบบ presume consent คือให้บริจาคอัตโนมัติตอนเสียชีวิต คุณหมอมองว่ามันจะเป็นอย่างไร
มันมีหลายประเทศในยุโรปที่ใช้ presume consent (บริจาคอัตโนมัติเมื่อเสียชีวิต) แต่หลายประเทศที่ใช้กฎหมายนี้ ก็ไม่ได้มีอวัยวะที่ได้จากการบริจาคเพิ่มมากขึ้น ที่มาของกฎหมายนี้คือเราเห็นหลายประเทศที่เปลี่ยน เราก็อยากผลักดันบ้าง
แต่เวลานี้ เรายังเป็น inform consent (แจ้งความจำนงเมื่อบริจาค) เมื่อเราขออวัยวะ เราใช้วิธีบัตรแสดงความจำนงการบริจาค แต่ถ้าเราจะเปลี่ยนเป็นการให้บริจาคอัตโนมัติ ถ้าไม่พูดหรือประสงค์อะไร ร่างกายนั้นก็จะถือว่าบริจาคอัตโนมัติ มันก็ต้องเปลี่ยนเป็นว่า ถ้าไม่ประสงค์บริจาค ก็จะมาถึอบัตรแสดงความจำนงไม่บริจาคแทน
ซึ่งมันก็มีประเด็นที่น่าเป็นห่วง เพราะมันจะเกิดการแบ่งแยกขึ้นมา เช่นคนที่ไปทำบัตรไม่ประสงค์บริจาค เกิดเป็นโรค หรืออุบัติเหตุที่ต้องเปลี่ยนอวัยวะขึ้นมา จะมีการยอมให้อวัยวะคนนี้ไหม จะมีคนอยากให้ไหม เพราะคนนี้ไม่เคยคิดจะช่วยเหลืออะไรให้สังคม แล้วอยู่ๆ จะมาเอาไตจากสังคมได้อย่างไร อันนี้ก็มีข้อเสียอีกอัน
ในอัตราการบริจาค ทั่วโลกจะคำนวณว่า มีคนบริจาคต่อประชากร 1 ล้านคน ต่อปีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งสเปนถือเป็นประเทศที่มีคนบริจาคอันดับต้นๆ คือ 34 คน ต่อประชากร 1 ล้าน ต่อปี หลายประเทศในยุโรปอยู่ที่ประมาณ 20 กว่าคน ด้านอังกฤษเองยังไม่ถึง 20 คน เขาจึงถือว่าเขาน้อย และปีหน้า เขาก็ตั้งใจว่าออกเป็นกฎหมายบริจาคอัตโนมัติเมื่อเสียชีวิต เพราะหวังว่าอวัยวะจะเพิ่มขึ้น
ด้านประเทศไทย ของเราอัตราอยู่ที่ 4.4 ต่อประชากร 1 ล้าน ต่อปี น้อยกว่าเขาหลายเท่า แต่ถ้าเทียบในเอเชีย ถือว่าเรายังทำได้มากๆ แต่การที่จะออกเป็นกฎหมายให้บริจาคอัตโนมัติ ผมมองว่ามันมีอีกหลายเรื่องที่เราพัฒนาได้ ก่อนจะไปถึงการออกกฎหมาย แต่เราก็ไม่ได้ต่อต้านกฎหมายนี้
กฎหมายมันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ขึ้นอยู่กับการศึกษา และอาจจะมีเรื่องของศาสนาด้วย แต่สเปนเองก็พิสูจน์ในระดับนึงว่าไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของศาสนา ทั้งคนต่างชาติที่ไปอาศัยอยู่ในสเปน เรตการบริจาคอวัยวะเองก็เท่ากับคนสเปน แต่ในสเปน ช่วง 10 ปีแรกที่เขาใช้วิธีให้บริจาคอัตโนมัติ ยอดอวัยวะก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่สเปนเขาปรับโครงสร้างทั้งหมด เขามีพยาบาลประสานงานที่ดี ซึ่งของเรามีเทรนด์แล้ว แต่เราไม่สามารถบอกให้ทุกโรงพยาบาลต้องมีพยาบาลประสายงานเรื่องนี้อย่างน้อย 1 คน เราทำไม่ได้
ทั้งมันมีเรื่องโครงสร้างกระทรวงและอีกหลายๆ อย่าง ในสเปนเอง รัฐมีผลตอบแทนเป็นเงินให้กับคนทำงาน คนที่เดินทางไปเอาอวัยวะ ทั้งรัฐยังบอกว่า การปลูกถ่ายอวัยวะให้ทำในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น ไม่ทำกับเอกชน ทำให้ความเชื่อใจของประชาชนดีขึ้น และทุกๆ อวัยวะรัฐจ่ายค่ารักษา เป็นรัฐสวัสดิการ จะไตวาย ตับวาย วันนึงถ้ามีการปลูกถ่าย มีอวัยวะ คุณก็ยังไม่ตาย ความรู้สึกมันดีกว่ากันเยอะ
และใช้วิธีการบริจาคอัตโนมัติ แต่เขาก็มีการพูดคุย มีการขอกับทุกราย ถ้ามาให้ ก็ไม่เป็นไร หรืออย่างหลายๆ ประเทศ ก็ไม่ได้บังคับว่าต้องบริจาคทุกๆ อวัยวะ ถ้าบอกว่าขอบริจาคไต แต่ขอเก็บหัวใจก็ได้ ทุกรูปแบบมันมีความแตกต่างของมัน
ฉะนั้นของเรา ผมก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าทุกวันนี้ คนยังไม่ไว้ใจเรา อย่างแรกต้องทำยังไงก็ได้ให้เขาเชื่อใจเราว่าแพทย์สามารถวินิจฉัยอาการสมองตายได้อย่างถูกต้อง และเราต้องให้การศึกษา และทำประชาพิจารณ์ว่าควรทำหรือไม่ควรทำ ไม่งั้นจะกลายเป็นคนมองกฎหมายนี้แง่ลบว่าอวัยวะของเราเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน อยู่ๆ จะมาออกกฎหมาย เอาร่างกายของเราเลย ก็เหมือนถูกกฎหมายปิดปาก
ยังมีสิ่งที่น่ากังวลไหม ถ้าออกเป็นกฎหมายแล้ว
เคยได้ยินเรื่อง living will ไหม กฎหมายออกมาแล้ว ให้คนไข้เขียนไว้เลยว่า บั้นปลายสุดท้ายของชีวิต ถ้าไม่ต้องการใส่ท่อ นวดหัวใจ ปั๊มหัวใจ ให้เขียนไว้หมดเลย แต่ก็มีกรณีที่ญาติไม่เห็นด้วยกับคนไข้ บอกว่ามั่นใจได้ไงว่าพินัยกรรมเป็นของจริง แพทย์ก็ไม่กล้าทำตามที่เขียนไว้ เรื่องกฎหมายให้บริจาคอัตโนมัติเอง ก็มีเรื่องความรับผิดชอบ ต้องรอญาติก่อนไหม เอาอวัยวะออกได้เลยจริงๆ หรือเปล่า ก็น่ากังวลว่า พอเป็นกฎหมายก็ใช้บังคับได้ แต่ก็มีเรื่องที่ว่า หมอจะกล้าทำไหม
คุณหมอคิดว่า ถ้าผลักดันกลายเป็นกฎหมายแล้ว จะช่วยลดปัญหาที่ขาดแคลนอวัยวะได้ไหม
หวังว่าจะดีขึ้น แต่ว่าหลายประเทศก็ไม่ได้อย่างที่พูด มันต้องปรับระบบอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย เช่น วันนี้ ตั้งเป้าว่ามีพยาบาลประสานงานทั่วประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ข้อที่ 2 คือ ให้ความรู้แก่แพทย์และพยาบาลในการดูแลคนไข้ เราอยากจะได้จำนวนอวัยวะ จำนวนคนบริจาคมากขึ้น และจำนวนอวัยวะจะมากขึ้นได้ ส่วนหนึ่งถ้ามีการดูแลร่างกายเขาดี เราก็จะได้หลายอวัยวะ รวมถึงการคมนาคมที่ดี ในการขนส่งอวัยวะ ทั้งหมดนี้ มีเรื่องของโครงสร้างหลายๆ อย่าง ซึ่งต้องปรับทั้งหมด ไม่ใช่แค่ข้อกฎหมาย
ผมอยากเห็นคนไทยมีอวัยวะเพียงพอ และใช้ในการปลูกถ่ายได้ ลดอัตราการทุกข์ทรมาน และเสียชีวิต อยากให้คนคิดถึงการบริจาคอวัยวะ โดยที่เราไม่ต้องเอ่ยปากขอ
เวลานี้การแพทย์เราทำได้หมด ปลูกถ่ายผิวหนัง อวัยวะ หรือกระดูกที่ขาด เราก็กำลังจะทำได้ รวมถึงฟัน ใส่รากฟันเทียมที่ต้องมีกระดูก เราก็กำลังพัฒนาทำกระดูก ทุกชิ้นในร่างกายที่บริจาคจะทำให้ใช้หมดได้ทุกอย่าง ตอนนี้การแพทย์พัฒนาให้ใช้ได้หมด ก็หวังว่าการบริจาคที่มากขึ้น จะทำให้เราได้อวัยวะมากขึ้น