หน้าที่ของ ส.ส. คืออะไร แล้วการเมืองในสภายังมีความหมายอยู่ไหม?
หลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา อย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ สร้างความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวังกับการเมือง จนทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า สภายังคงศักดิ์สิทธิ์อยู่ไหม ส.ส. มีอำนาจหน้าที่อะไรหรือเปล่า
The MATTER ไปพูดคุยกับ จิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เพื่อพูดคุยถึงเบื้องหลังการทำงาน หลังเธอยกกรณีเหมืองทองอัครา ที่มีการใช้ ม.44 ในยุคสมัย คสช. จนนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ขึ้นมาอภิปราย จนกลายเป็นหนึ่งใน ส.ส.พรรคฝ่ายค้านที่โดดเด่นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา และตั้งคำถามว่า การเมืองในสภายังมีความหมายอยู่ไหม
เล่าให้ฟังหน่อยว่ามาทำงาน ส.ส.ได้อย่างไร
จริงๆ น้ำคลุกคลีงานการเมืองมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะว่าคุณพ่อเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมา จนกระทั่งผันตัวมาเป็น ส.ส.ตอนปี 2544 ลงครั้งแรกสังกัดพรรคความหวังใหม่ ตอนนั้นน้ำอยู่ประมาณ ป.5-6 ก็มีโอกาสตามคุณพ่อไปลงพื้นที่อยู่ตลอด หรือแม้กระทั่งเวลามีประชาชนมาร้องเรียนเรื่องต่างๆ ที่สำนักงาน เราเองก็นั่งฟังเวลาที่คุณพ่อคุยกับชาวบ้าน เพราะฉะนั้น เราจะซึมซับการทำงานทางการเมืองของคุณพ่อมาตลอด ตั้งแต่ช่วงนั้นก็เริ่มมีความคิดว่าอยากจะเจริญรอยตามคุณพ่อตั้งแต่ช่วงเด็กๆ เลย
หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้เรียนต่อ แล้วพอกลับมาก็ยังเห็นสภาพของประเทศไทยที่ในช่วงอายุของน้ำ 30 ปี เราเจอกับการทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง เราก็เห็นว่าประเทศไทยยังลุ่มๆ ดอนๆ ในเรื่องของการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งคุณพ่อน้ำเองไม่ใช่เป็นแค่นักการเมือง แต่ว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย ตอนนั้นก็ได้เป็นแกนนำ นปช. เราเองก็มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสการต่อสู้ของประชาชนในครั้งนั้นเหมือนกัน
เราเห็นความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นคือ นักต่อสู่ฝั่งประชาธิปไตยค่อยๆ หดสั้นหายไปเรื่อยๆ ทั้งถูกดำเนินคดีบ้าง ทั้งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองบ้าง เราก็เลยมีความรู้สึกว่า เราอยากจะเข้ามาทำงานให้ประชาชน
แล้วพอได้เข้ามาทำ รู้สึกอย่างไรบ้าง เหมือนกับที่คิดไว้ไหม
เราเคยเห็นการทำงานที่ต้องสัมผัสกับประชาชนในส่วนของการทำงานพื้นที่ แต่ว่าในส่วนของการทำงานสภาเอง เราก็ดูจากสื่อต่างๆ ทางหนังสือพิมพ์ ทางโทรทัศน์ พอมาเป็นตัวเองที่ต้องเข้ามาทำงานตรงนี้จริงๆ แรกๆ มันก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจเหมือนกัน เพราะปกติเราเป็นผู้ชมอย่างเดียว พอต้องมาปฏิบัติหน้าเอง ก็ถึงทราบว่ามันมีหลายอย่างที่ต้องเตรียมตัวมาก โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน และ เป็น ส.ส.เขตด้วย มันต้องมีการแบ่งเวลาในการทำงานในสภาและพื้นที่อย่างลงตัวมากที่สุด
ในสภาเองก็ต้องเตรียมตัวทุกทาง เพื่ออภิปราย เพื่อที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่ในพื้นที่เองก็มีประชาชนที่เราต้องดูแลอยู่ ทั้งสองอย่างนี้มันเชื่อมโยงกัน เวลาเราลงพื้นที่เองก็ได้เห็นปัญหาของชาวบ้าน ได้นำมาสะท้อนในสภาต่อ
เห็นเคยพูดว่า มุมมองกับอาชีพนักการเมืองที่ก่อนหน้านี้ มองอีกแบบหนึ่ง ตอนนี้มองอีกแบบหนึ่ง อยากให้เล่าหน่อยว่าก่อนหน้านี้มองยังไง แล้วตอนนี้มองยังไง
ตอนเด็กๆ เราจะรู้สึกว่านักการเมืองค่อนข้างดูเป็นผู้มีอิทธิพล ผู้มีอำนาจ ดูเข้าถึงยากมาก เรารู้สึกว่าเราค่อนข้างจะห่างกับนักการเมือง แต่พอที่คุณพ่อเข้ามาทำงานการเมือง คุณพ่อเป็นคนเปลี่ยนมุมมองของเราว่าจริงๆ
แล้วนักการเมืองก็คือคนธรรมดาคนหนึ่งที่เข้ามาทำงานทางการเมือง ไม่ใช่คนวิเศษ หรือคนไหนที่เข้ามาแล้วมีอำนาจบาตรใหญ่ หรือทำงานที่ไม่ใด้ยึดโยงกับประชาชน เราคิดว่ามันเป็นตำแหน่งที่ถ้าเราเข้ามาแล้ว เราสามารถที่จะทำได้ดี คือตั้งแต่วันนั้นที่ทำให้เรารู้สึกว่าการเมืองมันไม่ใช่เรื่องไกลตัว แล้วก็นักการเมืองไม่ใช่คนที่น่ากลัวอีกต่อไป
คิดว่าทำไมคนถึงมีภาพจำที่ว่าอาชีพนักการเมือง มันเป็นอาชีพที่ใหญ่โต น่ากลัว เข้าถึงยาก
เรามองว่าส่วนหนึ่งมันคือการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชน เราจะเห็นอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐฯ หรืออังกฤษ เราจะเห็นว่าประชาชนเอง เขาทำงานรับใช้ประชาชน แต่ว่าอย่างประเทศไทย จะเป็นเพราะว่าเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา แล้วที่ผ่านมามันมีการทำรัฐประหารหลายครั้งมาก เพราะฉะนั้นพอเรากำลังพัฒนา ประชาชนกำลังเรียนรู้ ก็จะถูกดึงกลับมา
มันเป็นความพยายามของฝั่งรัฐประหาร ฝั่งระบอบเผด็จการที่พยายามจะทำให้ประชาชนมองนักการเมืองเป็นผู้มีอิทธิพล เป็นคนคอร์รัปชัน หรือทำให้ประชาชนหมดหวังในระบอบรัฐสภา ไม่อยากจะพึ่งพิงระบบรัฐสภา แต่อยากให้หันไปพึ่งพิงอำนาจนอกระบบ
เพราะฉะนั้นมันก็เลยเป็นการต่อสู้ของสองก้อนความคิดที่ทำให้ตอนนี้ประชาชนบางกลุ่ม ก็ยังมองอยู่ว่านักการเมืองคือกลุ่มคนที่ดูไม่น่าไว้วางใจ ดูแล้วเป็นคนที่ห่างไกลจากประชาชน ดูแล้วคอร์รัปชัน มันคือการสร้างความรับรู้อะไรแบบนี้เอาไว้
แล้วพอได้มาเป็น ส.ส. มองว่าหน้าที่ของ ส.ส.คืออะไร
ส.ส.หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยตำแหน่งคือฝ่ายนิติบัญญัติ ที่เข้ามาดูแลในเรื่องของการกลั่นกรองกฎหมายต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน ส.ส.เองคือมาจากการเลือกตั้ง ก็คือมาจากประชาชน เพราะฉะนั้นการทำงาน หลักๆ ของเราก็คือยึดโยงกับประชาชน ยึดโยงกับประโยชน์ของประเทศชาติ การที่จะเป็น ส.ส.ที่ดีได้ คุณต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนก่อน ถึงจะเป็น ส.ส.ได้
ที่ผ่านมา การเลือกตั้งหลายครั้ง พิสูจน์แล้วว่าแม้จะเป็นเศรษฐีมาจากไหนก็ตาม แต่ถ้าคุณไม่สามารถจะไปนั่งในใจประชาชนได้ คุณก็ไม่สามารถใช้เงินซื้อเขาได้เลย ยิ่งประชาชนในภาคอีสานเองที่หลายคนเคยได้ปรามาสเอาไว้ว่า เงินซื้อได้ แต่ว่าพอยิ่งผ่านไปแล้ว ประชาชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ ทำให้การซื้อเสียง มันไม่มีผลอีกต่อไปแล้ว ประชาชนได้ตระหนักรู้แล้วว่าผลประโยชน์ที่เขาได้จากนโยบายที่ดี มันมีค่ามากกว่าเงินไม่กี่ร้อยบาทที่คนเคยบอกว่าซื้อเขาได้
ถึงจะบอกว่า นโยบายดี ในภาคปฏิบัติเองก็ต้องทำให้ได้ด้วย พร้อมกับมีกระแสคำถามว่า จะทำได้จริงไหม ตรงจุดนี้คิดเห็นยังไงบ้าง?
มันแบ่งเป็น 2 ส่วน ถ้าในนโยบายใหญ่ก็คือเป็นนโยบายที่ทางพรรคการเมืองออกมา เราต้องผ่านการวิจัย ผ่านการเก็บข้อมูลต่างๆ แล้วออกเป็นนโยบายภาพใหญ่ออกมา เพื่อที่จะขับเคลื่อนประเทศ และนั่นก็ต้องหมายความว่า เราต้องเป็นรัฐบาลด้วย ขณะเดียวกัน ตอนนี้เองพรรคเพื่อไทย แม้จะมีรัฐธรรมนูญ 60 ที่มันไม่ได้เอื้อที่จะให้พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงเยอะที่สุด แต่ก็ปรากฎว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นพรรคการเมืองที่ยังได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุด แต่ว่าด้วยกลไลที่วางไว้ มันทำให้เราไม่สามารถที่เป็นรัฐบาลได้ ก็เลยต้องมาเป็นฝ่ายค้าน เพราะฉะนั้นหน้าที่ตอนนี้คือ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นรัฐบาล เป็นฝ่ายค้าน เราก็ยังทำหน้าที่ในการที่จะพยายามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้ดีที่สุด
วิธีการที่จะทำให้ประชาชนเชื่อใจ คือเราต้องเคารพประชาชน เราพยายามเข้าใจประชาชน ด้วยการลงพื้นที่สม่ำเสมอ บางครั้งการที่เห็นว่าไปงานบุญ งานบวช งานศพ อะไรต่างๆ หลายท่านอาจจะมองว่า เป็นงานที่ไม่มีประโยชน์อะไรกับพื้นที่ แต่จริงๆ แล้วเวลาเราไปงานแบบนี้ เราสัมผัสกับประชาชนโดยตรง แล้วประชาชนเองก็ไม่ได้เก้อเขินที่จะพูดคุยกับเรา บางครั้งปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ มันสะท้อนผ่านการลงพื้นที่ในลักษณะนี้
เรารวบรวมปัญหามาสะท้อนในสภาเพื่อผลักดันการแก้ปัญหา แม้ว่าเราจะไม่ใช่รัฐบาล แต่ว่าปัญหาเหล่านั้นก็สามารถมาผลักดันในสภาเพื่อที่จะให้รัฐบาลได้รับทราบถึงปัญหาและนำไปแก้ไขต่อไปได้
พูดถึงการเป็นฝ่ายค้าน อย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา อยากให้เล่าเบื้องหลังการอภิปรายหน่อย
การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นญัตติที่สำคัญที่สุดของพรรคฝ่ายค้านในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล คือเราเองได้โอกาสได้อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกก็คือ 2563 แต่ตอนนั้นอภิปรายเรื่องความล้มเหลวในด้านเศรษฐกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ปรากฎว่าหลังการอภิปรายครั้งนั้น มีข้อมูลหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศที่ประชาชน นักวิชาการ หรือสื่อมวลชนได้แชร์ข้อมูลมา เราเองก็เริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงนั้นมาเลย แต่ว่าตอนนั้นก็ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องเหมืองทองอัครา มันก็มีหลายๆ ประเด็นเหมือนกัน เราก็เก็บแยกเป็นโฟลเดอร์เอาไว้เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาด้วยการตั้งคณะทำงานเล็กๆ ขึ้นมา มีไม่กี่คน เพื่อที่จะติดตามประเด็นต่างๆ เตรียมไว้สำหรับอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ที่สุดท้ายมาเป็นเรื่องเหมืองทองอัครา เพราะว่าเรามีข้อมูลเอกสารต่างๆ ที่เพียงพอต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ เราต้องการที่จะสะท้อนถึงสิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามซุกไว้ใต้พรม โดยใช้ข้อมูลหลักฐานในการอภิปราย ไม่ได้ต้องการใช้วาทกรรมหรือการสาดโคลนใส่กัน เพราะฉะนั้นข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
พอดีว่าเรื่องเหมืองทองอัครามันมีข้อมูล มีเอกสารลับราชการทั้งในประเทศและเอกสารลับระหว่างประเทศที่ใช้อ้างอิงในการอภิปรายได้ แล้วก็ผ่านการตรวจสอบที่ชัดเจนแล้วว่าเป็นเอกสารที่เชื่อถือได้ ซึ่งเหมืองทองอัคราเคยได้มีการอภิปรายไปแล้วใน 2 วาระใหญ่ๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนรับรู้รับทราบอยู่แล้ว มีข้อมูลอยู่ระดับหนึ่ง เราตัดสินใจเลือกหยิบมาอภิปรายก็เพราะว่ามันมีความคืบหน้าที่ไม่เคยมีการพูดถึงมาก่อนในสภาแห่งนี้ แล้วก็มีข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างที่คิดว่า เปิดเผยไปแล้วน่าจะทำให้ประชาชนได้เห็นข้อเท็จจริงของเรื่องมากขึ้น
ตั้งแต่เกิดเรื่อง มีการใช้มาตรา 44 มันมีความเสียหายเกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน อย่างแรกๆ คือพอปิดเหมืองไปปุ๊บ คนที่ทำเหมืองก็ตกงานทันทีพันกว่าชีวิต เศรษฐกิจชุมนุมที่ถูกทำลายไป แล้วรวมถึง FDI ต่างๆ การลงทุนจากต่างประเทศที่หดหายไปในช่วงนั้น เพราะว่าไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารและใช้มาตรา 44 ในการเข้าไปจัดการบริษัทเอกชน ก็มันมีความเสียหายในลักษณะนี้เกิดขึ้น แต่ประการสำคัญคือว่า เรื่องเหมืองทองอัตรา มันมีใบเสร็จออกมาแล้วชัดเจน คือถึงแม้ว่าเรื่องมันจะยังไม่จบเรียบร้อย ยังไม่มีคำชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการ แต่ว่ามันมีการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อใช้จ่ายในการต่อสู้คดีไป 600 กว่าล้านบาท
เรามองว่า มันไม่ยุติธรรมกับคนไทยที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย คือการใช้มาตรา 44 มันคือมีคนเดียวที่ใช้ได้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การที่ พล.อ.ประยุทธ์มาใช้งบประมาณแผ่นดินในการต่อสู้คดี หรือแม้แต่การพยายามที่จะยกเอาทรัพย์สินของประเทศไปให้บริษัทเอกชนเพื่อแลกกับการถอนฟ้อง เราว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเปิดโปง เพื่อหยุดพฤติกรรมนั้น ไม่ให้ประชาชนกับประเทศต้องกลายเป็นตัวประกัน
ถ้าเราไม่อภิปรายในตอนนี้ ความเสียหายมันอาจจะมากกว่านี้ก็ได้ มันอาจจะไม่ใช่แค่ที่ดิน 4 แสนไร่ ที่ทางไทยไปยกให้บริษัทเอกชนต่างชาติเพื่อสำรวจแร่ แต่มันจะมีอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ที่ดินที่รอการอนุมัติอีกประมาณเกือบ 6 แสนไร่ ถ้ารวมกับ 4 แสนไร่ มันก็เกือบล้านไร่ ที่ที่เราจะต้องให้เขาเพื่อแลก ก็เลยคิดว่าประเด็นเหมืองทองอัคราเป็นประเด็นที่มีข้อมูลชัดเจนและเป็นสิ่งที่ต้องพูดตอนนี้ เพื่อจะหยุดพฤติกรรมของพล.อ.ประยุทธ์ แล้วก็รัฐบาลที่พยายามจะเอาประเทศชาติ เอาประชาชนเป็นตัวประกัน เพื่อให้ตัวเองรอดจากคดีนี้
แล้วกับคำตอบที่ทางรัฐบาลชี้แจงกลับมา คิดเห็นยังไงบ้าง
ถ้าเรียนตามตรงก็ผิดหวังอยู่นะ เพราะว่าก่อนหน้านั้นก็อ่านข่าว คือได้ยินข่าวว่าทางรัฐบาลเองไปเตรียมการซักซ้อมในการชี้แจงประเด็นไปถึงขั้นไปเปิดโรงแรมกัน ซักซ้อมการตอบประเด็นต่างๆ แต่ที่เราผิดหวังมากๆ ในประเด็นเหมืองทองอัคราคือ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ที่ลุกขึ้นชี้แจง ไม่ได้ตอบคำถามเราเลยแม้แต่คำถามเดียว แล้วก็เป็นการพูดตามโพยที่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่เขียนมาให้ ที่บอกว่าพูดตามโพยเพราะว่าเราอภิปรายไปหมดแล้วว่าเราพูดถึงประเด็นนี้ว่าอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วคำถามเราคืออะไร แต่เขาก็ย้อนสิ่งที่เราพูดอีกทีหนึ่งซึ่งไม่ได้ตอบคำถามอะไรเลย
คำถามที่ถามไปหลักๆ ง่ายมาก แค่ว่าสรุปแล้วทางรัฐบาลเองจะสู้คดีจนถึงที่สุดแบบไปตายเอาดาบหน้า หรือคุณจะเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ให้เขาถอนฟ้อง หรือว่าถ้าคุณต้องเอาผลประโยชน์ไปให้เขาถอนฟ้อง มันต้องให้ถึงเท่าไร เขาถึงจะยอมถอนฟ้อง
อีกคำถามหนึ่งก็คือว่า ถ้าจะสู้จนถึงที่สุดแล้วเราแพ้ สรุปแล้วจะเอาเงินใครจ่าย จะเป็นเงินภาษีประชาชนหรือว่าจะเป็นเงินส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งไม่มีใครตอบคำถามนี้เลย แล้วเราก็ได้ตั้งข้อสังเกตไปแล้วว่าตั้งแต่มันมีคดีขึ้นมา รัฐบาลเองก็ไม่เคยมาชี้แจงเลยว่าบริษัทคิงส์เกตเอง เขาเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินเท่าไร รัฐบาลก็ไม่ตอบ แต่ใช้วิธีบอกว่า ที่ผ่านมาก็มีแต่คนมากล่าวอ้างว่าจะเสียหายเท่านั้นเท่านี้ซึ่งก็ไม่เป็นความจริง แต่ก็ไม่ได้บอกว่าเราจะเสียหายเท่าไร เพราะฉะนั้นมันคือการตอบแบบหลบหลีก แล้วก็มีการไปอ่านกลอน บ้างก็ตอบคำถามเป็นเชิงชี้แจงโยบายมากกว่า แล้วก็มีการไปพาดพิงถึงบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ครม. ไม่ได้เป็นผู้ถูกอภิปรายเลย เพราะฉะนั้นมันเหมือนเป็นการหลบหลีกที่จะตอบคำถามโดยตรงมากกว่า
พอเป็นอย่างนี้ ก็เกิดคำถามขึ้นจากทางประชาชนว่า สภายังมีความหมายอยู่ไหม ในเมื่อสุดท้ายแล้ว ผลการลงมติไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ก็ยังลงมติไว้วางใจรัฐบาลกันต่อ
ถ้าเราย้อนกลับไปก่อนหน้าที่เราจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 คือก่อนหน้านั้น ประเทศไทยถูกปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาจากการทำรัฐประหาร ในตอนช่วงนั้นเองการที่ คสช.บริหารประเทศ มันไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้เลย แม้แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เองก็เป็นสนช.ที่มาจากการแต่งตั้ง การบริหารช่วงนั้น การออกกฎหมายสำคัญต่างๆ ผ่าน 3 วาระรวดอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่มีเสียงทัดทานใดๆ เกิดขึ้น
แต่ตอนนี้พอเรามีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ถึงแม้ว่ามันจะยังไม่ใช่รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ แต่เรามองว่าอย่างน้อยการมีอยู่ของระบบรัฐสภา มันก็เป็นเครื่องมือ เป็นกลไกสำคัญที่ใช้ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล
ที่ผ่านมาจะเห็นหลายๆ อย่างเช่น พ.ร.บ.งบประมาณ ที่เมื่อก่อนตอนมี สนช.อยู่ มันผ่าน 3 วาระ โดยที่ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงในการพิจารณา พอเป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้ง เราใช้เวลาพิจารณากันนานมาก มีชั้นกรรมาธิการที่ตรวจสอบกันค่อนข้างเข้มข้น อย่างกรณีของเรือดำน้ำที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า จัดซื้อในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนกำลังเดือดร้อน ทางพรรคฝ่ายค้านก็ได้ช่วยกันตรวจสอบเปิดโปง จนสุดท้ายทำให้รัฐบาลต้องชะลอการซื้อเรือดำน้ำออกไป นี่คือความสำเร็จของระบบรัฐสภาในการตรวจสอบ
หรืออย่างประเด็น CPTPP ที่รัฐบาลพยายามผลักดันประเทศไทยให้เข้าร่วมในการเจรจา แต่พอมีเสียงสะท้อนจากประชาชนว่า เรายังไม่รับรู้ถึงข้อดีข้อเสียของมันชัดเจนเลย การเข้าร่วมมันจะทำให้ไทยเสียเปรียบหรือไม่ อย่างไร พรรคฝ่ายค้านก็ยื่นญัตติเพื่อให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ จนสุดท้ายการเข้าร่วม CPTPP ก็ต้องชะลอออกไปก่อน เพราะว่าเรามองว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน ยังมีอีกหลายส่วนที่เราต้องปรับปรุงก่อนที่เราจะตัดสินใจว่าเราจะเข้าร่วมหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงบทบาทของรัฐสภาในการที่จะเข้ามาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ถึงแม้ว่ามันจะยังไม่ใช่รัฐบาลที่พูดได้ว่าเป็นประชาธิปไตย
ส่วนเรื่องของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มันเป็นกลไกการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ แต่การเปิดโปงพฤติกรรมของรัฐบาลด้วยการใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านี้ อย่างกรณีของเหมืองทองอัครา พอเปิดเรื่องนี้ออกไป มันทำให้หยุดพฤติกรรมของรัฐบาลได้ว่าคุณพยายามที่จะเอาประเทศ เอาประโยชน์ของประเทศแลกเปลี่ยน ตอนนี้ประชาชนรับรู้รับทราบแล้วนะว่าคุณกำลังทำสิ่งนี้อยู่ น้ำเชื่อว่ามันจะทำให้รัฐบาลทำอะไรในที่มืดได้ยากขึ้น เพราะเราดึงเขามาอยู่ในที่สว่างแล้ว ประชาชนเห็นแล้ว ได้ร่วมกันจับตาตรวจสอบแล้ว นี่คือผลประโยชน์แรกของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ความหมายของคำว่า ‘อำนาจนิติบัญญัติ’ ในมุมของคุณคืออะไร
เรามีหน้าที่ในการที่จะตรวจสอบ ถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาล แล้วอำนาจนิติบัญญัตินี้ มันเป็นอำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน เพราะฉะนั้นการตรวจสอบของเราก็คือตรวจสอบโดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ผลประโยชน์ของฝ่ายค้าน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของฝ่ายรัฐบาล แต่มันคือผลประโยชน์ของประชาชนแล้วก็ประเทศชาติ
ฝ่ายนิติบัญญัติเอง มันมีกลไกหลายอย่างที่ใช้ในการตรวจสอบรัฐบาลได้ผ่านการทำงานหลายๆ อย่าง เช่น การตั้งกระทู้สด การตั้งกระทู้ทั่วไปในชั้นกรรมาธิการเอง หรือแม้แต่การอภิปรายในวาระต่างๆ เหล่านี้มันคือการทำงานที่มันเป็นเครื่องมือของฝ่ายนิติบัญญัติที่ใช้ในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล แต่หัวใจของมันก็คือแค่ว่า ทำอย่างไรก็ได้ที่เป็นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
แต่พรรคเพื่อไทยเองก็อยู่มานานแล้ว ปัญหาต่างๆ ก็มีมานานแล้วเช่นกัน คิดว่า สามารถทำงานเพื่อสร้างเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน
ต้องเรียนก่อนว่า พรรคเพื่อไทยเอง เคยเป็นไทยรักไทย ถูกยุบเป็นพลังประชาชน แล้วก็เป็นเพื่อไทย คือเราผ่านการต่อสู้ร่วมกับประชาชนเพื่อให้ฝั่งประชาธิปไตยสามารถที่จะเกิดหน้าต่อไปได้มาอย่างยาวนาน หลายสิบปี ที่ผ่านมาคนที่อยู่ฝั่งประชาธิปไตย อยู่กับพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน จนเป็นเพื่อไทยปัจจุบัน มีหลายท่านที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยืนหยัดอยู่ฝั่งนี้ แล้วก็ถูกจับกุมคุมขัง ขาดอิสรภาพ
เรามีนายกถึง 2 ท่านที่ถูกทำรัฐประหาร จนสุดท้ายไม่สามารถอยู่ประเทศไทยได้ แต่ก็ยังมี ส.ส.อีกหลายท่าน ผู้ใหญ่ในพรรคอีกหลายท่านที่ไม่ยอมไปไหน ยืนหยัดอยู่กับพรรคเพื่อไทยร่วมกับพี่น้องประชาชน นี่คือสิ่งหนึ่งที่เรายืนยันได้ว่า พรรคเรามีอุดมการณ์อยู่ฝั่งประชาธิปไตยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มันเป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่า เรายังมั่นคงต่อสู้ร่วมกับพี่น้องประชาชน
พรรคเพื่อไทยแม้ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือต้องมาเป็นฝ่ายค้าน เราก็ต้องปรับตัวเยอะเหมือนกัน เมื่อก่อนเราเป็นรัฐบาลที่ทำงานนโยบายมาตลอด พอเป็นฝ่านค้านเอง เราก็ไม่ให้การเป็นฝ่ายค้านมันเป็นอุปสรรคในการทำงานของเรา ไม่ว่าจะอยู่บทบาทไหน ไม่ว่าจะรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เราเองมีหน้าที่ต้องทำงานให้กับประชาชน เพราะฉะนั้นพรรคเพื่อไทย แล้วก็พรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรค ก็ยังมุ่งมั่นที่จะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้นเหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา
แต่การที่ประเทศไทยเราเดินมาถึงจุดที่มันจะเกิดวิกฤตในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม มันมีจุดสำคัญคือตัวรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มันไม่ได้เอื้อกับการพัฒนาประเทศของเรา ก็เป็นวาระหนึ่งที่พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้าน พยายามต่อสู้มาโดยตลอด แต่เราก็เห็นว่ารัฐบาลพยายามที่จะบิดพลิ้วตลอดเวลา พยามยามยื้อไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่อันนี้ก็ต้องยกเครดิตให้กับพี่น้องประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว ที่มีพลัง ส่งพลังกดดันเข้ามาถึงผู้มีอำนาจแล้วก็ทางฝั่งรัฐบาลกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เอง
ถึงอย่างนั้น ตอนนี้เพดานของสังคมก็ถูกดันไปสูงมากๆ จนมีการตั้งคำถามกับพรรคเพื่อไทยเองเหมือนกันว่า ถึงจะอยู่มานาน แต่ก็ “สู้ไปกราบไป” มองเรื่องนี้ว่ายังไงบ้าง?
อย่างที่เรียนว่า ตั้งแต่ไทยรักไทยจนเป็นเพื่อไทยในปัจจุบัน มันหลายสิบปีมาแล้วที่เราพิสูจน์ว่า แม้จะถูกกระทำอย่างไหน พรรคเพื่อไทยได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะร่วมต่อสู้ไปกับพี่น้องประชาชน
ทีนี้มันก็มีประเด็นอ่อนไหวในสังคมเกิดขึ้นว่า มีการดันเพดานออกไปให้สูงขึ้นในการที่จะพูดถึงสถาบันฯ ก็ต้องเรียนว่า โดยพื้นฐานแล้วเรามองว่า สังคมต้องเปิดกว้างให้การพูดถึงสถาบันฯ สามารถที่จะกระทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยยึดหลักสิทธิเสรีภาพของยึดหลักสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ในขณะเดียวกันประเด็นนี้ น้ำมองว่าเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก เพราะว่ามันมีประชาชน 2 ฟากฝั่ง ที่เห็นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คือฝั่งหนึ่งมองว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูป มีการปรับเปลี่ยน อีกฝั่งหนึ่งมองว่าห้ามแตะต้องเลย เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดเป็นความขัดแย้งขึ้นในสังคมไทย
ความขัดแย้งนี้ เราจะสามารถหาทางแก้ไข โดยที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้อย่างไร นี่คือเรื่องสำคัญว่าพอมันมีปัญหาแบบนี้ พอเราหาทางแก้ที่คนจะสามารถยอมรับร่วมกันได้ มันก็ต้องกลับไปถามประชาชนส่วนใหญ่แล้ว สรุปคุณอยากที่จะให้มันออกมารูปแบบไหน อยากจะให้มีการแก้ไขปฏิรูป หรือว่าจริงๆ แล้วไม่อยากให้มีการปรับเปลี่ยนอะไรเลย
เรามองว่า ควรตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกของประชาชน ที่จะให้ ส.ส.ร. เข้ามามีบทบาทในการที่จะดูว่าจริงๆ แล้วมันควรที่จะมีการปฏิรูปหรือแก้ไขไหม (ผ่านทางกลไกการแก้รัฐธรรมนูญ – ผู้เขียน) หรือจริงๆ แล้วมันไม่ควรตอนนี้ หรือถ้าแก้ไข ต้องแก้ไขมากน้อยแค่ไหน ถึงจะเหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน อันนี้คือน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ แล้วก็ทุกฝ่ายสามารถที่จะยอมรับได้ พอมี ส.ส.ร. แล้วมีการทำประชามติ ก็แสดงว่าเรื่องนี้มันถูกร่างถูกพิจารณาโดยประชาชน แล้วก็ยอมรับโดยประชาชน ทีนี้พอผลออกมาเป็นอย่างไรมันก็จะเป็นกติกาที่ทุกคนต้องยอมรับร่วมกันแล้ว
อย่างเรื่องสถาบันกษัตริย์เอง แต่ก่อนในสภาก็ไม่ได้ถูกพูดถึงเลย อยากรู้ว่า ส.ส.สามารถผลักดันเพดานไปกับสังคมได้แค่ไหน?
เรามองว่า ทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ หลายภาคส่วนต้องปรับเปลี่ยนตามความเปลี่ยนแปลงของโลกไป ดังนั้น ในเรื่องของสถาบันเองก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งเหมือนกันที่จริงๆ แล้วสังคมควรจะเปิดกว้าง สภาเองก็ควรที่จะเปิดกว้าง สามารถที่จะพูดถึงได้ไนแง่ที่ว่ามันต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงอะไรหรือไม่ตามความเปลี่ยนแปลงกระแสโลกที่มันเกิดขึ้น
คืออย่างน้อยเราควรมีพื้นที่สำหรับการถกเรื่องนี้ จะแก้หรือไม่แก้ จะปรับหรือไม่ปรับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มันควรมีพื้นที่ที่เราจะสามารถพูดถึงได้ อย่างน้อยก็เพื่อให้เราเห็นว่าการพูดถึงแบบนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด เพราะทางผู้ชุมนุมก็พูดว่า การพูดถึงประเด็นนี้ไม่ได้ต้องการจะล้มล้าง แต่เป็นการมาถกกันว่ามันควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนอะไร เพื่อให้ทันกับโลก ทันเหตุการณ์ สุดท้ายแล้วก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันก็คือเพื่อให้สถาบันสามารถที่จะธำรงอยู่คู่สังคมไทยไปได้ โดยที่ทันโลกทันเหตุการณ์ ประชาชนเองก็ยังรักเคารพสถาบันเหมือนเดิม อันนี้คือสิ่งที่ผู้ชุมนุมสะท้อนมา เราก็คิดว่ามันควรจะมีพื้นที่เหล่านี้สำหรับคนที่จะพูดถึงได้อย่างปลอดภัย
กับตอนนี้ที่สถานการณ์หลายๆ อย่างที่มันไม่เป็นไปตามขั้นตอน ไม่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย มองว่ามันยังมีความหวังอยู่ไหมกับประเทศนี้ แล้วในฐานะที่เป็น ส.ส. ยังสามารถทำอะไรต่อไปได้อีกไหม
ประชาธิปไตยเราลุ่มๆ ดอนๆ เคยมีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ก็ถูกการรัฐประหารดึงลากกลับไป ทำให้ประเทศไทยกลับสู่การปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการ แต่ในขณะที่มีความพยายามของกลุ่มผู้มีอำนาจบางกลุ่มที่จะดึงประเทศถอยหลังกลับไป มันก็มีกลุ่มพลังของประชาชน คนหนุ่มสาวเอง หรือประชาชนทั่วไปที่ยังหวงแหนประชาธิปไตย ก็พยายามที่จะต่อสู้ ดึงประเทศกลับมาให้อยู่ในที่ที่เหมาะที่ควร
เพราะฉะนั้นเราจะเห็นการต่อสู้ของสองกลุ่มนี้มาโดยตลอดระยะเวลาตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่ง หลายคนก็มองว่าเรามีพัฒนาการที่ค่อนข้างล่าช้า เพราะว่ามันมีการรัฐประหารมาโดยตลอด แต่ที่เราไม่เป็นระบอบเผด็จการร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็เพราะว่าพลังของประชาชนที่ได้ช่วยกันรักษาไว้ หวงแหนประชาธิปไตย พยายามต่อต้าน ต่อสู้กับระบอบเผด็จการอยู่
ระบอบรัฐสภาเองก็เป็นกลไกหนึ่งเหมือนกันที่เราพยายามที่จะยืนหยัดต่อสู้รักษาไว้ให้ระบอบนี้ ได้ทำงานในการที่จะช่วยพี่น้องประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เมื่อประชาชนดึงเอาประเทศกลับมาสู่การเลือกตั้งมาได้ อันนี้ตอนนี้มันมีการเลือกตั้งแล้ว มันมีระบอบรัฐสภาแล้ว หน้าที่ของคนทำงานในรัฐสภาคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชน เรามีหน้าที่ต้องพยายามรักษาระบบนี้เอาไว้ให้เป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนให้มากที่สุด โดยการทำงานอย่างเข้มข้นพยายามใช้ตำแหน่งหน้าที่ของเราในการทำงานรับใช้ประชาชนในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล เพื่อที่จะให้ประชาชนได้เห็นข้อเท็จจริงต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นในประเทศไทยของเราผ่านการทำงานทั้งในการอภิปรายในวาระสำคัญ การตั้งกระทู้ถามในชั้นกรรมาธิการเองก็ตาม
เผด็จการพยายามทำให้เราหมดหวังในระบอบรัฐสภา แต่หน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็คือต้องทำให้ประชาชนมั่นใจในระบอบนี้ แล้วก็พร้อมที่จะเดินต่อสู้ไปด้วยกันทั้งในสภา นอกสภา ทำงานควบคู่กันไป เพราะฉะนั้น หลายๆ ประเทศกว่าที่จะผลัดเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยได้ มันใช้เวลานานพอสมควร ประเทศไทยเราเองก็มีกลุ่มพลังของคนรุ่นใหม่ มีพลังของประชาชนที่ยังหวงแหนประชาธิปไตย ที่นับวันมันก็จะขยายออกไปเรื่อยๆ แล้วทุกวันนี้เราก็ยังมีโซเชียลมีเดียที่ประชาชนสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น ทำให้รัฐบาลไม่สามารถปิดหูปิดตาประชาชนได้อีกแล้ว
เราก็ยังยืนหยัดที่จะต่อสู้ในระบบรัฐสภาเพื่อจะเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนในส่วนนี้ แล้วก็ประชาชนเองที่เคลื่อนไหวอยู่ข้างนอกเอง เราก็เชื่อว่าถ้ายังสามารถที่จะรักษาการต่อสู้ที่เป็นแบบสันติวิธี ก็อาจจะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนควบคู่กันไป
วันหนึ่งเราก็ต้องมีหวัง ทุกที่ที่กว่าประเทศจะเป็นประชาธิปไตยได้เราต้องมาจากความหวัง แต่ความหวังนั้นก็คือเราลงมือทำมันด้วย เพื่อเชื่อว่าวันหนึ่งยังไงประชาชนต้องเป็นฝ่ายชนะ