เกือบทั้งชีวิตของ เต๋า—ปริญญา กิจพูลลาภ เต็มไปด้วยเรื่องราวของสเก็ตบอร์ด จากเด็กตัวเล็กๆ ที่รู้จักสเก็ตบอร์ดครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 13 ปี ฝึกฝนทักษะและสะสมความสนใจเรื่อยมา จนกลายเป็นนักกีฬาสเก็ตบอร์ดอาชีพกับทีม Preduce
ชีวิตของเต๋าอยู่กับวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดมายาวนาน ไม่เพียงแค่การฝึกเล่นสเก็ตบอร์ด แต่ยังรวมไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมดูแลร้านสเก็ตบอร์ดที่โด่งดังกับ Preduce ก่อนจะออกมาเปิดร้านของตัวเองในนาม ‘9INE 5IVE Skate BKK’ บนถนนเพชรบุรี
เรามีนัดคุยกับเขาถึงเรื่องราวชีวิตที่ทุ่มเทให้กับสเก็ตบอร์ด กับคำถามว่าสเก็ตบอร์ดสำหรับเขาแล้วมันคืออะไร และสามารถพาชีวิตให้เขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไรบ้าง?
ในตอนเด็กๆ ที่เริ่มรู้จักสเก็ตบอร์ด คุณหลงใหลกับสิ่งนี้มากแค่ไหน
อินมากที่สุด ตอนนั้นผมเป็นคนตัวเล็กที่สุดในชั้น เคยสอบตกวิชาพละ แล้วก็ไม่ค่อยสังคมกับใคร สอบบาสก็ไม่ผ่าน
จำได้ว่ารู้จักสเก็ตบอร์ดจากช่วง ‘ภาพกีฬามันๆ’ ในช่องเจ็ด หลังจากนั้นผมก็พยายามไปหาซื้อสเก็ตบอร์ดในลำปาง แล้วก็ได้มาอันนึง แต่พอได้มาก็ยังเล่นไม่เป็น เล่นอยู่สักอาทิตย์หนึ่ง ผ่อนผ่านไปสักพักก็เห็นคนอื่นเขาเล่นกันที่สนามบาสแถวโรงเรียน ผมก็ไปถามว่าเขาซื้อจากที่ไหน พอรู้ว่าซื้อจากเชียงใหม่ก็ไปซื้อตาม
ตอนนั้นซ้อมเยอะไหม
ไม่มีซ้อมเลย เป็นแค่เล่นกันสนุกๆ ตอนนั้นผมอายุ 13 ปีก็มีรุ่นพี่ที่อายุประมาณ 15-16 ปี เขาเล่นก่อนเราสัก 5-6 เดือน เราก็เรียนรู้จากเพื่อนจากรุ่นพี่ นอกนั้นก็ศึกษาจากแมกกาซีนที่มีเรื่องสเก็ตบอร์ด หรือใครที่เข้ากรุงเทพก็จะเอาวิดีโอเกี่ยวกับสเก็ตบอร์ดกลับมาด้วย พวกเราก็วนกันดู เทปหนึ่งม้วนก็วนกันดูทั้งหมู่บ้านเลย ดูกันไปซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมดูเทปนึงก็วันละ 10-20 รอบ ดูวันแบบนี้ทั้งปี
แล้วครอบครัวมองความหลงใหลในสเก็ตบอร์ดของคุณยังไงบ้าง
พ่อเคยซื้อสเก็ตบอร์ดให้ ราคามันก็ประมาณ 5,000 บาท ผมก็ออกไปเล่นที่ข้างนอกกลับมาสองทุ่ม พ่อก็ด่าว่าทำไมกลับบ้านดึก ทำไมเป็นเด็กเกเร ผมก็งดเล่นไปอาทิตย์นึงแล้วก็กลับไปเล่นใหม่ (หัวเราะ) หลังจากนั้นชีวิตผมก็อยู่ที่ลานสเก็ตบอร์ดตลอดเวลา เป็นอย่างนี้จนเรียนจบมัธยมปลายเลย
ยังจำแผลใหญ่ แผลแรกที่ได้จากการเล่นสเก็ตบอร์ดได้ไหม
ผมเล่นมาได้สักปีนึง ตอนนั้นก็กระโดดขึ้น fun box แล้วก็ลื่นล้มลงมา ทำให้ข้อศอกหลุดและต้องผ่าตัด ตอนลงมาคือโคตรปวดเลย ปวดมาก ร้องลั่นตลอดระหว่างทางไปโรงพยาบาลเลย หลังจากนั้นก็ต้องใส่เฝือกไปสามเดือน พอหายดีขึ้นแล้วก็กลับมาเล่นสเก็ตบอร์ดอีกครั้ง
ฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมากๆ เลยอยากรู้ว่าทำไมคุณถึงกลับมาเล่นสเก็ตอีกครั้ง
(นิ่งคิด) ผมโตมาจากครอบครัวที่แตกแยก พ่อแม่ทะเลาะกันทุกวัน ผมเบื่อที่จะอยู่บ้านแล้วเห็นภาพที่บ้านทะเลาะกันทุกวัน เลยออกไปเล่นสเก็ตบอร์ดข้างนอก อีกอย่างหนึ่งคือ เวลาที่ผมได้เล่นสเก็ตบอร์ดแล้ว มันเหมือนกับว่าตัวเราได้ปิดสวิทช์ไฟความคิดตัวเอง ตัดความคิดต่อเรื่องภายนอกได้ เราลืมมันได้หมดเลย เหมือนลงไปดำน้ำแล้วไม่ได้ยินเสียงต่างๆ
ผมชอบเล่นสเก็ตบอร์ดแบบเร็วๆ ให้ตัวเองล้มกลิ้งลงไป มันสะใจดี คนส่วนใหญ่จะกลัวล้ม แต่ผมชอบล้ม ล้มกลิ้งแล้วอะดรีนาลีนมันหลั่ง ถ้าจะกลับไปคิดถึงตอนนั้นนะ ผมจำได้ว่า ตัวเองล้มวันละร้อยๆ รอบ มีแผลถลอกจากการกลิ้งเกือบทุกวัน
การล้มทำให้เราได้เรียนรู้ทักษะการเซฟตัวเอง ร่างกายเรามันจะจดจำว่าจะล้มแบบไหนแล้วไม่เจ็บตัวเหมือนเดิม ผมได้เรียนรู้ว่า ล้มแล้วต้องรีบลุก มันล้มมันเจ็บยังไง สุดท้ายมันก็หายได้ ฟื้นได้ การเล่นสเก็ตบอร์ดให้ได้หนึ่งท่า มันต้องใช้เวลาและความพยายาม บางท่าใช้เวลาเป็นร้อยๆ พันๆ ครั้งกว่าจะได้
สเก็ตบอร์ดทำให้เราได้วิธีคิดว่า ถึงครั้งนี้พยายามแล้วทำไม่ได้ ไม่เป็นไร ครั้งหน้าเอาใหม่ แม้ครั้งหน้าจะยังทำไม่ได้ มันก็ยังจะมีอีกล้านครั้งให้เราได้ลองทำ ยังไงก็ได้สักวัน ถึงแม้วันนี้ผมก็ยังล้มอยู่เลย
ท่าไหนที่คิดว่ายากที่สุดและยังอยากทำได้
เยอะมากเลย ผมเอ็นจอยกับท่าที่ผมทำได้มากกว่า ท่าเบสิคที่สุดก็คือ ollie มันก็คือการทำให้แผ่นไม้กระโดดขึ้นมาได้ มันเปลี่ยนทุกอย่างของการเล่นสเก็ตบอร์ดเลย ถ้าไปดูตามประวัติศาสตร์ของสเก็ตบอร์ด พอมีการกระโดดขึ้นมา มันก็ทำให้การเล่นสเก็ตบอร์ดบนโลกนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเลย
ยังจำการทำท่า ollie ในครั้งแรกได้ไหม ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร
น่าจะทำได้ตอนเริ่มเล่นได้สัก 2 อาทิตย์ เราก็เหมือนทุกคนที่หัดใหม่นะ ตอนที่ทำท่านี้ได้ครั้งแรกเราก็ถามเพื่อนว่า “เห้ย ลอยรึยังวะ” (หัวเราะ) คือตอนนั้นไม่ได้ถ่ายวิดีโอเอาไว้ มีแค่เล่นหน้ากระจกใหญ่ที่บ้าน เพื่อให้มั่นใจว่าเราทำได้แล้วจริงๆ หลังจากนั้นเราก็เอากล้องวิดีโอมาถ่ายดูตัวเองอีกด้วยนะว่า เราทำได้แล้วจริงๆ รึเปล่า
ทุกวันนี้คุณมองสเก็ตบอร์ดอย่างไร
ผมมองสเก็ตบอร์ดว่าเหมือนศิลปะ ไม่ได้มองว่าเป็นแค่กีฬาเพียงอย่างเดียว มันเหมือนการแสดงศิลปะในเวลาเราเล่น แม้ว่าคนภายนอกอาจจะดูแล้วไม่เข้าใจมูฟเมนต์ต่างๆ ก็ไม่เป็นไร
แต่บางคนมองสิ่งนี้ว่าเป็นกีฬาผาดโผน เป็น extreme sport
ผมไม่ได้มองแบบนั้น หลายๆ คนที่เล่นสเก็ตบอร์ดก็ไม่ได้เล่นแบบผาดโผน บางคนก็เล่นแบบสวยงามก็มี คำว่า extreme มันมาจากช่องกีฬา ESPN ที่เอากีฬาที่วัยรุ่นนิยมเล่นมารวมกันเป็นแนวนี้ การเล่นสเก็ตบอร์ดก็เลยถูกหลายๆ คนมองว่าเป็นกีฬาที่เน้นแต่ความผาดโผน สำหรับผมนะ จริงๆ แล้วมันเป็นได้มากกว่านั้น มีคนเล่นแนวนุ่มนวล มีทุกแนว เพราะมันเป็นการแสดงศิลปะแบบหนึ่งด้วย มันมีทั้งมิติทางวัฒนธรรมและทางความคิดด้วย
สเก็ตบอร์ดมันไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีข้อบังคับมากมาย เราสามารถเลือกได้ มันเหมือนกับกีต้าร์ คุณสามารถถือไปเล่นที่ไหนก็ได้ ใส่รถเดินทางไปไหนก็ได้ ท่าทางของสเก็ตบอร์ดต่างๆ ที่มีเป็นพันๆ ท่ามันก็เปรียบได้กับคอร์ดกีต้าร์หนึ่งคอร์ด อยู่ที่แต่ละคนจะเรียบเรียงคอร์ดเหล่านี้ออกมาในรูปแบบตัวเองยังไงบ้าง
ตอนนี้สเก็ตบอร์ดเป็นเหมือนอวัยวะหนึ่งของคุณไปแล้ว
ถ้าจะพูดให้สวยหรูก็ประมาณนั้น ผมเองก็มองว่ามันเป็นเหมือนอุปกรณ์การเดินทางได้ด้วยเหมือนกัน มันก็พาผมเดินทางไปได้ไกลมาก
เคยคิดไหมว่าสเก็ตบอร์ดมันจะพาเรามาไกลได้ขนาดนี้
ผมก็ขอบคุณสเก็ตบอร์ดนะ ในหมู่คนที่เล่นสเก็ตบอร์ดเราจะมีแฮชแท็ก Thank You Skateboarding ที่สื่อว่า เราโชคดีที่เราได้ค้นพบสเก็ตบอร์ด มันพาให้เราเจอเพื่อน เจอสังคม เจอดนตรีที่เราชอบจากในวิดีโอสเก็ตบอร์ดที่เราดู เราได้เจอรูปถ่ายสวยๆ ในแมกกาซีนสเก็ตบอร์ด เราได้เจอรูปวาดบนแผ่นสเก็ตบอร์ด คือมันพาเราไปเจออะไรใหม่ๆ เยอะมาก
เป็นโปรมา 15 ปีแล้ว อยากให้อธิบายหน่อยว่าการเป็นโปรคืออะไร สำหรับคนที่อยากเข้ามาสู่เส้นทางนี้จริงๆ
การเป็นโปรสเก็ตบอร์ดคือการเล่นเป็นอาชีพ มันคือการที่คุณมีชื่ออยู่บนแผ่นสเก็ตบอร์ดของแบรนด์ในแบรนด์นึงที่เป็นแบรนด์สเก็ตบอร์ด มีการเทิร์นโปร ของสเก็ตบอร์ดคือต้องมีวิดีโอพาร์ท เป็นมีวิดีโอที่เราทำงานกัน และเป็นเก็บการเล่นเราไว้ เป็นการเก็บทีละนิด ทีละสามวินาที ห้าวินาที สิบวินาที แล้วเรียบเรียงมาให้ได้สามนาที ทำเป็นเพลย์ลิสต์ไปเหมือนคนทำอัลบั้มเพลง บางครั้งใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้คลิปห้านาที ซึ่งวิดีโอแต่ละคลิปใช้เวลานานมากกว่าจะทำได้ มันต้องสะสมมาเรื่อยๆ
การเป็นโปรสามารถเลี้ยงชีพได้ไหม
ถ้าสำหรับผมแล้วมันก็เลี้ยงชีพได้นะครับ เราทำหลายอย่างตอนที่ไม่ได้เป็นโปรเพียวๆ อย่างเดียว แต่ถ้าตอนนี้ก็มีหลายคนที่เล่นสเก็ตบอร์ดอย่างเดียวด้วยก็มี
มาถึงเรื่องร้านนี้บ้าง ทำไมถึงมาเปิดร้านนี้
ผมอายุก็หลัก 40 แล้ว ตอนนี้เล่นได้น้อยลง มีครอบครัวที่ต้องดูแล ทำให้ต้องตัดสินใจว่าควรทำอะไรสักอย่าง จากประสบการณ์ที่เราทำงานเป็นคนดูแลร้านที่ Preduce มาก็ทำให้มีประสบการณ์และคนรู้จักในวงการนี้ด้วย เลยคิดว่าหรือเราจะเปิดร้านเล็กๆ ที่พออยู่ได้ดี หลังจากนั้นก็ชวนเพื่อนที่รู้จักกันมาร่วมกันเปิดร้านนี้
ที่มาของร้านก็คือ จริงๆ ชื่อร้านเต็มๆ คือ nineteen nightyfive มันเป็นปี (1995) ที่ผมเริ่มเล่นสเก็ตบอร์ด ชื่อมันน่ารักดี มันเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ผมเป็นผมในทุกวันนี้ มันยังเป็นสตอรี่ที่เราส่งต่อให้คนอื่นๆ ด้วย
ความสนุกในการทำร้านวันนี้คืออะไร
สิ่งที่ชอบที่สุด ผมเคยอยู่ที่ร้าน Preduce ตอนนั้นสังคมเป็นคนที่ในวงการสเก็ตบอร์ดสุดๆ เลย เมื่อก่อนเราชอบโลกใบนี้มากมันเป็นพื้นที่ที่ชอบ แต่คนอื่นก็ไม่เข้าใจวิธีคิด แต่พอมาเปิดร้านนี้ เราได้เจอลูกค้าหลายๆ แบบ ซึ่งไม่ใช่เด็กสเก็ตบอร์ดเพียวๆ มีคนหลากหลายมากขึ้นด้วย มีเรื่องที่คุยกับลูกค้าวัย 30 หรือ 40 ได้เยอะมากด้วย ร้านนี้เป้าหมายเราไม่ใช่แค่เด็กสเก็ตเท่านั้น แต่เราต้อนรับทุกคนที่อยากเล่นสเก็ตบอร์ด มันเป็นสังคมที่น่ารักดี
ช่วงเวลานี้กระแสสเก็ตบอร์ดมันกลับมาบูมมากๆ คุณเห็นตัวเองในอดีตบ้างไหม
หลายคนเลย น้องบางคนนี่ผมเดินเข้าไปกอดคอเลย คือเหมือนตัวเราตอนเด็กๆ มาก แล้วก็จะมีหลายๆ คนที่อยากรู้เรื่องสเก็ตบอร์ดมากๆ ซึ่งเหมือนเราที่เคยเจอโปรแล้วเราก็จะถามเขาเยอะมาก ซึ่งเราจะยินดีมากนะ เพราะรู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร
ถ้ามีคนรุ่นใหม่ๆ อยากมาเล่นสเก็ต เขาควรรู้อะไรบ้าง
คุณแค่มีสเก็ตบอร์ดของตัวเอง แล้วก็ออกไปเล่น แค่นั้นเลย
ถ้าเล่นไม่เป็นก็ไม่เป็นไร ผมเชื่อว่าทุกคนยินดีที่จะสอนกันและกัน