จัดโอลิมปิมแล้วไปไหน การลงทุนคุ้มค่ารึเปล่า จัดแล้วคนเมืองได้ประโยชน์ไหม ปารีสสีเขียวหน้าตาเป็นยังไง
ทั้งหมดนี้ นอกจากภาพอันอลังการ เป่าแซ็กโซโฟนในภาวะไร้น้ำหนัก ภาพสนามกีฬาในแลนมาร์กกลางกรุงปารีส อันที่จริง Paris 2024 Olympics ในอีกสามปีข้างหน้าดูจะเป็นหนึ่งในหมุดหมายของปารีสโฉมใหม่ ภายใต้ทิศทางการพัฒนากรุงปารีสที่จะมุ่งหน้าสู่เมืองสีเขียวและรูปแบบผังเมืองที่ดีกับชุมชน กับคนปารีส และดีกับโลกใบนี้ โอลิมปิกเป็นเหมือนการอวดโฉมอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังเป็นแผนก้าวหนึ่งในการพัฒนาเมืองปารีสผ่านการจัดเทศกาลกีฬาระดับโลก
จริงๆ กรุงปารีสจากเมืองแห่งความรักและวัฒนธรรม ช่วงหนึ่งก็กลายเป็นเมืองที่ค่อนไปทางเละๆ เทะๆ เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว แออัด รถติด สกปรก จนกระทั่งช่วงหลังมานี้ปารีสก็เห็นว่าเมืองมีปัญหาและอยากจะปฏิวัติปัญหาแบบเมืองๆ โดยเฉพาะภายใต้การนำของ แอนน์ ฮิดัลโก (Anne Hidalgo) นายกเทศมนตรีหญิงที่บอกว่าปารีสจะต้องดีกับคนปารีส ปารีสจะเป็นเมืองในสวน และเป็นเมืองที่รถยนต์ลดความสำคัญลง ประกอบกับแก้ปัญหาของการจัดโอลิมปิกที่มักถูกมองว่าจัดแล้วก็แล้วกัน เป็นการลงทุนขนานใหญ่ที่จบงานก็อาจจะทิ้งรอยแผล เป็นสเตเดียมร้างๆ กลางเมือง
ดังนั้น ในภาพของสนามวอเลย์บอลหน้าหอไอเฟลจึงไม่ได้เป็นแค่การสร้างภาพน่าตื่นเต้นเท่านั้น แต่โอลิมปิกปารีสจะเน้นการพัฒนาต่อยอดการลงทุนในการจัดงาน การเลือกจัดงานกลางปารีสส่วนหนึ่งมีเป้าหมายว่าเป็นการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่สำคัญกลางเมือง ทั้งยังเป็นการใช้พื้นที่ใจกลางเมือง—รอบๆ หอไอเฟลที่ปารีสตั้งใจพัฒนาขึ้นใหม่—เป็นแลนมาร์กกลางสวนและกลางเมืองที่ปลอดรถยนต์ โดย Paris 2024 Olympics นั้นจะเน้นการสร้างประโยชน์ต่อชุมชนรอบๆ รวมถึงการจัดงานโดยมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนเป็นสำคัญ
อีกสามปีเจอกัน คงเป็นหนึ่งในสิ่งที่หลายคนหวังใจและหยอดกระปุกรอไว้ ปีนี้โรคระบาดทำให้เราต้องร่วมงานผ่านหน้าจอ อีกสามปีเราต้องชนะโควิดและไปเดินอยู่บนซ็องเซลีเซ (Champs Élysées) ไปซื้อเสื้อสวยๆ ยืนดูแข่งม้ากลางสวนแบบพิกเจอร์แรสก์ (picturesque) ที่แวร์ซาย สามปีมันไม่นานเลยนะ
โอกาสนี้ The MATTER จึงชวนไปเยี่ยมชมสนามกีฬา พาไปดูคอนเซปต์ที่เมืองปารีสจะเป็นในอีกสามปีข้างหน้า เป็นการเยี่ยมชมไว้ก่อนจะถึงวันได้แพ็กกระเป๋าไปจริงๆ … พร้อมแล้ว เราเริ่มจากการสร้างหอไอเฟลกลางสวน สนามกีฬาเก๋ๆ เช่นลู่วิ่งบนแม่น้ำแซน สเตเดียมไม้รอบสนามยูโดในอาคารศิลปะเรอเนซองส์ ไปจนถึงอาคารใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อคนเมืองหลังแข่งเสร็จ และหมู่บ้านนักกีฬาที่จบงานแล้วมีงานมีการทำต่อรอบๆ
หอไอเฟลในสวนยักษ์กลางเมือง โครงการปรับปรุงก่อนโอลิมปิก
เมื่อราวสองสามปีที่แล้ว ปารีสร้างความฮือฮาด้วยการประกาศว่าจะจัดการพื้นที่กลางปารีส คือแถวๆ หอไอเฟลที่ตอนนั้นแสนจะรุงรังและวุ่นวาย ว่าเนี่ย ปารีสจะปรับกลางเมืองทั้งหอไอเฟลและสถานที่สำคัญทั้งหมดจะถูกล้อมด้วยสวนซึ่งจะกลายเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ติดอันดับโลกพร้อมจะปรับให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการเดิน ทีนี้เวลาเมืองใหญ่ๆ ทำอะไรเขาก็จะจัดประกวดการออกแบบ สำหรับปารีสที่จะปรับภูมิทัศน์กลางเมืองก็ประกวดแบบและได้ผู้ชนะไปเมื่อปลายปี ค.ศ.2019 สตูดิโอที่ชนะคือ Gustafson Porter + Bowman สตูดิโอภูมิสถาปนิกสัญชาติอังกฤษที่ถือว่ามีผลงานชั้นแนวหน้าระดับโลก เน้นนวัตกรรม พื้นที่สีเขียว ความยั่งยืน
โปรเจกต์ที่ชนะมีชื่อว่าง่ายๆ ว่า ‘OnE’ หลักการสำคัญของโปรเจกต์นี้คือการลากเส้นเชื่อมต่อพื้นที่สำคัญๆ โดยมีหอไอเฟลและแลนมาร์กรอบๆ คือ ปลาสดูทรอกาเดโร (Place du Trocadéro), ปาแลเดอชาโย (Palais de Chaillot), ปงดีเยนา (Pont d’Iéna), ช็อง-เดอ-มาร์ส (Champ de Mars) และอิกอลมิลิแตร์ (École Militaire) พอลากแล้วก็จัดการเหมือนรวมเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ และออกแบบสวน รวมถึงเส้นทางการเดินเชื่อมต่อจนกลางเมืองของปารีสนั้นกลายเป็นผืนเดียวกัน โปรเจกต์นี้จะทำให้ภูมิทัศน์รอบๆ ทั้งแต่ละสถานที่และระหว่างสถานที่เหล่านั้นกลายเป็นสวนอันร่มรื่น เป็นพื้นที่หย่อนใจ ทำให้เกิดการเดิน รวมถึงเชื่อมย่านชุมชนเข้ากับพื้นที่สาธารณะ มีลาน มีจัตุรัส ดูจากรูปคือสวยมาก มีการใช้สวนแบบคลาสสิกเข้ากับการออกแบบสวนรูปแบบใหม่ที่เน้นกิจกรรม มีการวางบันไดสเต็ป คือกลางปารีสรวมถึงข้ามแม่น้ำแซนจะกลายเป็นสวนยักษ์ของเมืองไปเลย
โอลิมปิกกลางเมือง การจัดงานเพื่อการพัฒนาหลังงานจบ
ภาพของการปรับภูมิทัศน์เชื่อมต่อหอไอเฟลเข้ากับพื้นกลางเมืองจนกลายเป็นสวนยักษ์ ก็จะเป็นภาพเดียวกันกับภาพไฮไลต์ของโอลิมปิกปี ค.ศ.2024 ซึ่งแน่นอน … เดาว่าปารีสย่อมต้องภูมิใจกับทิศทางใหม่ของปารีสที่มีสวนสาธารณะและกลายเป็นเมืองเดินได้ตามเทรนด์การพัฒนาที่ไม่ให้ความสำคัญกับรถยนต์อีกต่อไป ทีนี้เราจะเห็นว่าไอ้เจ้าพื้นที่สำคัญๆ ที่เมืองจับเชื่อมเข้าหากันทั้งหอไอเฟล, ปาแลเดอชาโย (Palais de Chaillot), ปงดีเยนา (Pont d’Iéna) และ ช็อง-เดอ-มาร์ส (Champ de Mars) ล้วนปรากฏเป็นพื้นที่แข่งขันของโอลิมปิกปี ค.ศ.2024 ทั้งสิ้น
การเลือกจัดงานในพื้นที่กลางกรุงปารีสจึงดูจะสัมพันธ์กับความพยายามเปลี่ยนแปลงปารีส—ซึ่งอันที่จริงคือการเปลี่ยนเมืองในระดับยักษ์ใหญ่ที่เมืองหลวงจะมุ่งไปสู่เมืองไร้รถยนต์—กลายเป็นเมืองสีเขียว โดยแน่นอนว่าภาพแลนมาร์กและสนามกีฬานั้นดูน่าตื่นเต้น นอกจากความตื่นเต้นแล้วปารีสยังต้องการแก้ปัญหาการจัดงานแล้วไม่ส่งประโยชน์ให้เมือง
ดังนั้น การใช้พื้นที่กลางเมืองจะนำไปสู่การปรับปรุงตัวพื้นที่ สถานที่ และภูมิทัศน์ ในขณะที่พื้นที่แข่งขันรอบนอกคือที่แซน-แซ็ง-เดอนี (Seine-Saint-Denis) ที่จะสร้างหมู่บ้านนักกีฬา ก็จะเน้นพัฒนาเปิดพื้นที่ชุมชนใหม่ มีการสร้างสนามกีฬาคือศูนย์กีฬาทางน้ำและศูนย์หน้าผาจำลองจะกลายเป็นสาธารณูปโภคของคนเมืองต่อไปซึ่งตอนแรกชานเมืองนั้นไม่มี
ตีวอลเลย์บอลหน้าหอไอเฟล
ด้านหน้าของหอไอเฟลคือสวนขนาดยักษ์ช็อง-เดอ-มาร์ส (Champ-de-Mars) สวนแห่งนี้มีภูมิทัศน์ระดับสุดยอด ด้านหนึ่งเป็นหอไอเฟล สุดปลายอีกด้านเป็นอาคารอิกอลมิลิแตร์ (École Militaire) สวนช็อง-เดอ-มาร์สนอกจากจะใหญ่แล้วยังเป็นสวนที่สวยงาม มีการวางผังแบบสมมาตร มีสนามหญ้าอันโด่งดัง โดยในการจัดโอลิมปิกมีแผนจะสร้างสเตเดียมชั่วคราวขนาด 12,000 ที่นั่ง โดยจะใช้สำหรับการแข่งขันวอลเลย์บอลและบอคเซียสำหรับพาราลิมปิกเกม โดยสวนแห่งนี้จะทำหน้าที่เชื่อมพื้นที่แข่งขันอื่นๆ ทำให้เดินเชื่อมต่อจากสนามกีฬาต่างๆ ได้ เช่นพื้นที่ที่ใช้จัดไตรกีฬา
Grand Palais สนามกีฬาในโดมกระจก
กร็องปาแล (Grand Palais) เป็นอาคารในตำนาน คือตัวมันเองเป็นโชว์เคสสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ อาคารถูกสร้างด้วยเทคโนโลยีเหล็กและกระจกที่ออกมาเป็นโดมกระจกทรงโค้งสวยงาม ทั้งตัวอาคารยังถูกใช้เป็นพื้นที่จัดนิทรรศการ จัดงานแสดงสินค้า โชว์นวัตกรรมสมัยใหม่เช่นยานพาหนะ สำหรับกร็องปาแลก็จะถูกปรับปรุงเป็นสนามกีฬาในร่ม ใช้ในกีฬาฟันดาบและเทควันโด
ล่าสุดตอนนี้ตัวอาคารกร็องปาแลก็เลยปิด แต่มีการสร้างกร็องปาแลอิฟิเมียร์ (Grand Palais Éphémère) ไว้ที่ช็อง-เดอ-มาร์สเป็นอาคารชั่วคราว เหมือนจำลองโดมกระจกของกร็องปาแลและใช้จัดนิทรรศการในช่วงที่อาคารหลักปิดปรับปรุง ซึ่งปัจจุบันเปิดให้เข้าชมแล้ว และเจ้าอาคารชั่วคราวในวันแข่งขันก็จะมีการสร้างสเตเดียมไม้ชั่วคราวและใช้แข่งยูโดด้วย
ชมแข่งยิงธนูที่ Les Invalides
เลแซ็งวาลีด (Les Invalides) หรือชื่อเดิมคือ ออแตลเดแซ็งวาลีด (Hôtel des Invalides) เป็นอีกหนึ่งอาคารที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เยี่ยมชมสำคัญ ความสวยงามของเลแซ็งวาลีดคือสวยงามตั้งแต่โดมปิดทองแท้ ลักษณะการก่อสร้างอาคารทรงสี่เหลี่ยมที่โอบล้อมลานตรงกลาง เลแซ็งวาลีดเป็นอาคารที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส เป็นโรงพยาบาลทหาร บ้านพักทหารผ่านศึก ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ทางการทหารและหอจดหมายประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ทั้งยังเป็นพื้นที่หลุมศพของนโปเลียน ในโอลิมปิกครั้งหน้า ลานหน้าเลแซ็งวาลีดที่เป็นพื้นที่หย่อนใจของชาวปารีสจะถูกใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬายิงธนู ซึ่งดูจะล้อไปกับประวัติศาสตร์ด้านการทหารด้านหลังได้เป็นอย่างดี
ลู่วิ่งลอยน้ำและลงว่ายกลางแม่น้ำแซน
ถามว่าฝรั่งเศสเตรียมเล่นใหญ่ขนาดไหน ก็เล่นขนาดที่ว่าจะจัดกีฬาลงไปในเนื้อ ในพื้นของเมือง ในปี ค.ศ.2017 ช่วงที่กำลังจะมีการประชุมคัดเลือกเจ้าภาพโอลิมปิก ในตอนนั้นปารีสแข่งกับลอสแอนเจลิสว่าใครจะจัดโอลิมปิกให้เป็นเหมือนงานโชว์ที่ใหญ่ที่สุด เมืองปารีสก็เล่นใหญ่ โชว์ศักยภาพว่าฉันทำได้จริงนะ โดยการแข่งในพื้นที่เมือง พี่แกก็จัดการติดตั้งลู่วิ่งระยะ 100 เมตรลงบนแม่น้ำแซน ในตอนนั้นปารีสก็จัดเทศกาลกีฬาย่อมๆ ที่ประกอบด้วยกีฬา 30 ประเภทซะเลย โดยมีพื้นที่สำคัญของปารีสเป็นฉากหลัง ทั้งสปริงบอร์ดที่สะพานปงอาแล็กซ็องดร์-ทรัว (Pont Alexandre III) วิ่งร้อยเมตรบนน้ำและแข่งคายักในแม่น้ำแซน ยิมนาสติกแทรมโพลีนที่เปตีปาแล (Petit Palais) หน้าผาจำลองในพาวิลลงเดอลาร์เซนอล (Pavillon de l’Arsenal) จนถึงการปิดประตูชัยเพื่อแข่งจักรยาน
แน่นอนว่าปารีสได้รับเลือกในปี ค.ศ.2024 เราน่าจะได้เห็นลู่วิ่งลอยน้ำกลางแม่น้ำแซน และมีการวางพื้นที่ริมน้ำให้เป็นสนามไตรกีฬา แปลว่าจะต้องได้เห็นการลงว่ายน้ำในแม่น้ำแซนด้วย
ศิลปะควบคุมม้าหน้าพระราชวังแวร์ซาย
งานโอลิมปิกเป็นงานใหญ่ นอกจากพื้นที่กลางปารีสแล้ว โอลิมปิกยังต้องใช้พื้นที่อื่นๆ ด้วย ซึ่งปารีสก็เลือกย่านแซน-แซ็ง-เดอนี (Seine-Saint-Denis) ย่านชานเมืองทางเหนือของกรุงปารีส คือแถวๆ นั้นเป็นย่านชุมชน และยังเป็นที่ตั้งของสตาดเดอฟร็องส์ (Stade de France) สนามฟุตบอลและรักบี้ประจำชาติ ในแถบนั้น—จริงๆ ก็ไม่ใกล้มาก—ก็พอจะนับว่าเป็นย่านๆ ได้เหมือนกัน คือมีพระราชวังแวร์ซายแบบที่พอจะเดินทางจากสนามกีฬาไปได้อยู่ แน่นอนว่าแวร์ซาย (รวมถึงสตาดเดอฟร็องส์) ก็จะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่จัดการแข่งขันด้วย แวร์ซายสวยตั้งแต่อาคารจนถึงสวนแบบคลาสสิกอันเป็นต้นแบบสวนแบบภาพวาดพิกเจอร์แรสก์ (picturesque) แวร์ซายเดิมเป็นพื้นที่สำหรับเล่นกีฬาล่าสัตว์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก่อนจะค่อยๆ กลายเป็นพระราชวังที่วิจิตรตระการตาที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้น การจัดลานแข่งขันศิลปะการบังคับม้าท่ามกลางสถาปัตยกรรมแห่งความอ่อนช้อย ก็นับว่าได้เปิดมิติพื้นที่ของศิลปะและกีฬาในศูนย์กลางอารยธรรมหนึ่งของยุโรป คุ้มค่ามาก (แต่คนจะเยอะขนาดไหน ปกติแวร์ซายคนมหาศาล)
สนามกีฬาทางน้ำและศูนย์หน้าผาจำลอง สองสนามกีฬาใหม่สำหรับเมือง
ยังอยู่กันที่ย่านแซน-แซ็ง-เดอนี (Seine-Saint-Denis) ในการจัดโอลิมปิก ปารีสก็เลยใช้การสร้างสาธารณูปโภคจำเป็นสำหรับการแข่งขันขึ้นในย่าน คือ โอลิมปิกยังไงก็ต้องการสเตเดียม ประกอบกับทางเมืองบอกว่าย่านแซน-แซ็ง-เดอนีขาดศูนย์ด้านการกีฬา ในย่านแซน-แซ็ง-เดอนีก็เลยมีการทั้งสร้างสนามและศูนย์กีฬาขึ้นใหม่ สำหรับตัวอาคารใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นโดยเฉพาะจะมีศูนย์กีฬาทางน้ำ (Olympic Aquatics Centre) สร้างขึ้นใหม่ตรงข้ามสตาดเดอฟร็องส์ (Stade de France) ตัวอาคารจะเป็นพื้นที่สำหรับการว่ายน้ำ ออกแบบใหม่โดยมีอัตราการปล่อยคาร์บอนต่ำ สร้างจากวัสดุที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากศูนย์กีฬาทางน้ำแล้ว จะมีศูนย์แข่งและศูนย์กีฬาใหม่อีกแห่ง คือ ศูนย์หน้าผาจำลองเลบูร์เก (Le Bourget Climbing Centre) เป็นศูนย์ฝึกผาจำลองแบบครบวงจรทั้งภายในและภายนอกอาคาร รวมถึงมีพื้นที่สำหรับการแข่งปีนผาทุกประเภท ศูนย์กีฬาทั้งสองแห่งจะได้รับการออกแบบโดยมุ่งสำหรับการเป็นสนามกีฬาและศูนย์กีฬาให้กับชุมชนต่อไป นอกจากสนามกีฬาสองแห่งแล้วยังมีสนามยิงปืนที่พัฒนาจากพื้นที่ทิ้งร้างเดิมด้วย
หอพักนักกีฬาสีเขียวและคอมเพล็กซ์ใหม่ ออกแบบเพื่อสร้างชุมชนหลังแข่งจบ
ไฮไลต์สำคัญและสิ่งปลูกสร้างสำคัญของโอลิมปิกคือหมู่บ้านนักกีฬา หมู่บ้านนักกีฬาของ Paris 2024 Olympics ได้รับการออกแบบโดย ดอมีนิก เพอร์โร (Dominique Perrault) สถาปนิกและนักออกแบบผังเมือง ตัวหมู่บ้านจะตั้งอยู่ในตัวเมืองแซน-แซ็ง-เดอนี ในพื้นที่ริมน้ำ ตัวหมู่บ้านจะเน้นไปที่ความยั่งยืนทั้งในแง่ของการออกแบบโดยให้ผสานลงไปกับชุมชนและพื้นที่เมือง ให้ความสำคัญกับการเปิดโล่งเพื่อเชื่อมต่อกับพื้นที่ริมแม่น้ำ ตัวโปรเจกต์จะเน้นรวมมิตรความยั่งยืนทั้งการปล่อยคาร์บอนน้อย การข่นส่งเดินทางภายในด้วยพลังงานสะอาด การมีพื้นที่ผลิตอาหาร พื้นที่สีเขียวจำนวนมาก ไปจนถึงสถาปัตยกรรมที่เน้นการเปิดโล่งเพื่อรับแสงและลมธรรมชาติ ตัวหมู่บ้านนักกีฬาจะกลายเป็นชุมชนและพื้นที่พักอาศัยต่อไป
หลายโอลิมปิกพอสร้างหมู่บ้านนักกีฬาแล้วก็ทิ้งร้าง ความเท่ในงานสร้างหมู่บ้านนักกีฬาปารีสก็คือมีโปรเจกต์ประกอบ ตรงข้ามหมู่บ้านนักกีฬาจะมีการสร้างโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ออกแบบโดย ฌ็อง นูแวล (Jean Nouvel) สถาปนิกรางวัลพริตซ์เกอร์ คอนเซปต์ของอาคารยักษ์นั้น คือ การสร้าง ‘ย่าน’ แนวตั้งขึ้นเป็นเหมือนอาคารย่านใหม่ เป็นศูนย์ที่ภายในมีสวน มีพื้นที่สาธารณะ มีย่านการค้า พื้นที่สำหรับสำนักงานและธุรกิจขนาดเล็กของคนรุ่นใหม่ มีพื้นที่สำหรับสถาบันการศึกษา คือสร้างพื้นที่ทำงานและพักผ่อนหย่อนใจขึ้นมาใหม่เลย
อ้างอิงข้อมูลจาก