“안녕하세요 ขอต้อนรับสู่กรุงโซลค่ะ”
นี่คือโพสต์ข้อความแรกบนเฟซบุ๊กของ ‘อาจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ หลังแลนดิ้งลงกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งภายหลังเมื่อเราได้ข่าวคราวว่าอาจารย์กำลังมาทำวิจัยที่นี่ เราจึงได้หาโอกาสติดต่อเพื่อพูดคุย และนัดสัมภาษณ์อาจารย์
สำหรับอาจารย์ปวิน หลายๆ คนอาจจะรู้จักเขาในฐานะนักวิชาการ เจ้าของผลงานหนังสือมากมาย หรือในฐานะผู้ลี้ภัย ม.112 ผู้ที่คอยเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่ในต่างแดน และวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเมืองไทยอยู่ตลอด หรือสำหรับฝั่งรอยัลลิสต์ อาจจะมองว่าอาจารย์ปวินคือฝั่งล้มเจ้า ที่มักชอบโพสต์ข่าวลือเกี่ยวกับการซุบซิบนินทาสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่ว่าจะรู้จักเขาในมุมไหน สิ่งที่เราต่างรู้ชัดเจนคือจุดยืนทางการเมืองของอาจารย์ ที่ต่อต้านเผด็จการจากการแสดงออก การโพสต์ รวมถึงความคิดเห็นที่สุดท้ายทำให้กลายเป็นผู้ลี้ภัย ม.112 ในที่สุด
แต่ในมุมชีวิต ประสบการณ์ การทำงานที่ผ่านมา ทั้งการเป็นนักการทูต จนผันตัวเป็นนักวิชาการ ชีวิตรัก หรือการเริ่มต้นตั้งตัวในประเทศญี่ปุ่น ไปถึงเหตุการณ์การถูกทำร้ายร่างกายนั้น อาจจะเป็นมุมที่เราไม่เคยรู้ และได้ทำความรู้จักเขามาก่อน The MATTER จึงเลือกที่จะติดต่อขอคิวบ่ายวันหนึ่งในหน้าร้อนกรุงโซลของอาจารย์ ก่อนที่จะเดินทางกลับกรุงเกียวโต ทำให้ได้มาเป็นบทสัมภาษณ์จากการพูดคุยในคาเฟ่ย่านอิแทวอน ระหว่างการจิบสตรอว์เบอร์รีลาเต้ของอาจารย์ และมัทฉะลาเต้ของผู้สัมภาษณ์นี้
ไหนๆ เราก็มาเจอกันที่เกาหลี ขอถามก่อนเลยว่า ชีวิตช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง และอาจารย์มาทำอะไรที่นี่ (โซล, เกาหลีใต้)
ชีวิตผมช่วงนี้อย่างที่เห็น ก็เดินทางบ่อยเหมือนเดิม พอ COVID-19 ดีขึ้นก็เดินทางได้มากขึ้น มันก็เลยมีงานเยอะ อย่างเดือนที่แล้วก็ไปโครงการแลกเปลี่ยนนักวิชาการที่มหาวิทยาลัย Strasbourg ชีวิตโดยทั่วไปก็ดี ส่วนที่มานี่ เรามาทำวิจัยที่นี่กับมหาวิทยาลัย Seoul National University (SNU) เราทำโปรเจ็กต์ร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาสันติภาพ (peace studies) เพราะว่าที่ SNU เป็นที่ตั้งของวารสารหนึ่งที่สำคัญคือ Asian Journal of Peacebuilding ซึ่งตั้งมาประมาณ 10 กว่าปี ผมเป็นคนแรกๆ เลยที่เขียนฉบับปฐมฤกษ์ แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ผมก็ไม่ได้ไปเขียนอะไรอีกเลย จนกระทั่งเมื่อประมาณหลายเดือนก่อนเขาติดต่อมาว่ามันครบ 10 ปี เลยอยากจะเรียกกลับมาทำโครงการร่วมกัน อันนี้ก็เลยเป็นโครงการเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาสันติภาพในแถบประเทศเอเชีย ผมก็ทำในส่วนของประเทศไทย ที่มาที่ไปของโครงการศึกษาสันติภาพในประเทศไทย ว่ามันเกิดขึ้นมายังไง พัฒนาการไปแบบไหน ปัญหามีไหม แล้วก็ทิศทางข้างหน้าจะไปอย่างไร
อยากจะถามก่อนเข้าเรื่องอื่นเลย กับข่าวใหญ่ล่าสุด คือ การแต่งงานและชีวิตหลังแต่งงาน
ชีวิตหลังแต่งงานมันก็ดี แต่มันชัดเจนว่า เราก็อยู่คนละประเทศ แต่ผมคิดว่ามันก็เป็นแบบทดสอบหนึ่ง แบบทดสอบของการที่เราอยู่คนละที่ ในส่วนของผม ถ้าถามตอนนี้ผมว่ามันเวิร์ก เผลอๆ อยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมงอาจจะไม่เวิร์ก แล้วเราก็โตเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว และเราสองคนก็มีหน้าที่ อาชีพการงานของเราที่เราไม่สามารถที่จะเดินออกจากมันไปได้ง่ายๆ
ที่บอกว่าความรักเป็นอะไรที่มันยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มันก็อาจจะเป็นคำที่หนักเกินไป มันจะยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในขนาดที่คุณจะเดินออกจากทุกอย่างเหรอ โดยที่คุณไม่มีหลักประกันในชีวิตอย่างอื่น สำหรับผมมันก็ไม่ใช่ แล้วเราก็ไม่ใช่ puppy love ในแง่ที่ว่าเป็นแฟนกัน เราขาดเธอไม่ได้ เธอขาดฉันไม่ได้ เราผ่านตรงนั้นมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็พยายามที่จะมองจากมุมมองที่มันเป็นผู้ใหญ่มากๆ ณ ตรงนี้มันเวิร์กแบบนี้ เรามีอาชีพการงานของเรา แล้วเรามาดูว่าอนาคตจะเป็นยังไง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทำไมมันถึงกลายมาเป็นประเด็นเรื่องแต่งงาน ตอนแรกผมก็ช็อก พอผมประกาศว่าผมจะแต่งงาน หนังสือพิมพ์เอาไปลงกันแบบถล่มทลาย คือกลายเป็นว่าเราอยู่ในโลกของเซเลบแล้วเหรอ เราหลุดเข้าไปอยู่ในแวดวงบันเทิงตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ประเด็นก็คือ สำหรับการแต่งงานที่ผมประกาศออกไปนั้นเพราะต้องการส่งเสริมเรื่อง same-sex marriage นั่นเป็นประเด็นว่าทำไมผมถึงทำ pre-wedding และ wedding นั่นคือจุดมุ่งหมายหลักของผม คือผมต้องการแสดงจุดยืนของผมในการส่งเสริมสมรสเท่าเทียม แล้วผมส่งเสริมสิทธิของ LGBTQ
ความรักทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปยังไง
มันก็เปลี่ยนในแง่ที่ว่าต่อจากนี้ความคิดของเรามันไม่ใช่ความคิดของเราแค่คนคนเดียวแล้ว มันไม่แยกขาด เวลาเราคิดอะไรเราก็ต้องคิดถึงคนอื่น เพราะเราไม่ได้เป็นตัวคนเดียวแล้ว เราแต่งงานแล้ว มันก็เปลี่ยน เพราะฉะนั้นการตัดสินใจอะไรต่างๆ เราต้องคิดมากกว่าเดิม เราก็ต้องคิดถึงอนาคตแล้วตอนนี้ ฉันจะเกษียณเมื่อไหร่ยังไง ฉันจะอยู่ที่ไหน ผมแฮปปี้กับที่สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ แต่ว่าอีก 3-4 ปี ผมคิดว่าในชีวิตผมอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ผมคงไม่หยุดอยู่ตรงนี้
นอกจากความรัก ชีวิตการทำงานอาจารย์เองก็เปลี่ยนไปโดยตลอด ทำอะไรมาหลายอย่างเหมือนกัน ทั้งสื่อ นักการทูต ไปจนถึงงานวิชาการ มองชีวิตการทำงานของตัวเองที่ผ่านมายังไงบ้าง
ผมก็ทำมาหลายอย่างจริงๆ อย่างที่พูดมาทั้งหมดก็ทำมาแล้วทั้งนั้น ที่มันนานที่สุดจริงๆ ในชีวิตก็คงมีแค่สองอย่าง อย่างแรกคือนักการทูต ทั้งหมด 16 ปี และนักวิชาการก็รองลงมา แล้วก็ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าจะเป็นอาชีพที่คงจะอยู่ไปกับผมจนถึงวันที่ผมเกษียณ เพราะคงย้ายไปทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เพราะเราก็เริ่มแก่แล้ว
งานพวกนี้จะว่ามันแตกต่างมันก็แตกต่าง แต่จุดร่วมก็มี คือผมไม่ได้โดดไปทำสายอื่นไปเลย ในความเป็นจริงแล้ว จากสายการทูตแล้วมาเป็นอาจารย์มันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงานที่เน้นด้านวิชาการและการวิเคราะห์ที่คล้ายๆ กัน เพราะฉะนั้นผมย้ายมาตรงนี้ผมก็รู้สึกว่ามันก็อาจจะไม่ได้เปลี่ยนเท่าไหร่ เพียงแต่ที่มันเปลี่ยนมากจริงๆ ก็คือผมคิดว่าผมมีเสรีภาพมากขึ้น จากการที่เป็นข้าราชการที่ต้องพูดตามบท แล้วคุณต้องพูดตามสิ่งที่รัฐบาลบอกให้คุณพูด แต่เป็นนักวิชาการมันเป็นอีกแบบหนึ่งไปเลย มันก็เป็นความแตกต่างที่ค่อนข้างเห็นได้ชัด
หลายคนอยากรู้เรื่องชีวิตนักการทูตของอาจารย์
ผมก็มานั่งย้อนคิดนะว่าเหมือนนาน แต่จริงๆ มันไม่นาน เพราะ 16 ปีมันรวมตอนที่ผมลาไปเรียนด้วย แล้วผมหายไปจากกระทรวงเลย 6 ปี ไปเรียนโท แล้วก็ไปเรียนต่อเอก เพราะฉะนั้นพูดง่ายๆ เหลือเวลาอยู่ในกระทรวงจริงๆ แค่ 10 ปี
10 ปีก็แบ่งอีกเป็นครึ่งๆ ครึ่งหนึ่งคืออยู่ในกระทรวงต่างประเทศ อีกครึ่งนึงผมได้ออกไปประจำการข้างนอก ที่ผมอธิบายแบบนี้ก็เพราะเอาจริงๆ ผมอยู่ไม่นาน และผมอาจจะไม่ได้รู้เรื่องความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในกระทรวง โดยเฉพาะตั้งแต่ผมลาออกมา ผมแทบจะไม่รู้ความเคลื่อนไหวในกระทรวงเท่าไหร่เลย ซึ่งรวมถึงเรื่องก็อสซิปต่างๆ ที่คนในกระทรวงชอบ แล้วคนในกระทรวงมีเรื่องให้ก็อสซิปเยอะ แต่ก็อสซิปที่อัพเดต ผมคงไม่รู้แล้ว เพราะผมไม่ได้อยู่ในกระทรวงแล้ว ผมก็จะรู้แต่เรื่องก็อสซิปตอนเป็นนักการทูตสมัยโน้นเท่านั้น มันก็สนุกนะ เราสามารถแบ่งการเป็นนักการทูตได้สองเรื่อง เรื่องแรกคือเป็นเรื่องเกี่ยวกับสาระล้วนๆ เป็นนักการทูตต้องทำอะไร อยู่ในกระทรวงแล้วทำงานอะไร เมื่อออกไปอยู่ในสถานทูตต่างประเทศต้องทำอะไร
แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ ซึ่งอันนี้เป็นอะไรที่มันตลก คือนักการทูตมันดูจนไม่ได้ ทั้งๆ ที่คุณอาจจะมาจากครอบครัวจน แต่คุณต้องห้ามแสดงว่าคุณจน เขาดูตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม เนกไทที่ผูกไปทำงาน นาฬิกาที่ใส่ ผู้หญิงเนี่ยถือกระเป๋าอะไร ขับรถอะไร มันเป็นอย่างนั้น แล้วผมก็เชื่อว่าจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนหรอก เขาถึงพูดว่าเป็นกระทรวงเจ้าขุนมูลนายมันก็จริง มันก็เลยถูกเอาไปผูกกับเรื่องเกี่ยวกับรสนิยม ไลฟ์สไตล์แบบพวกไฮโซ รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศ ที่คุณพูดได้ ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่อาจไม่มีความสามารถในภาษาต่างประเทศเลย
แล้วทั้งเรื่องความรู้ทางด้านการทูต เรื่องเกี่ยวกับการที่ได้ไปประจำการต่างประเทศ ออกไปทำงานในประเทศต่างๆ การไปรู้วัฒนธรรมประเทศอื่นๆ มันก็เลยไปบวกกับความไฮโซ ไปบวกกับสิ่งที่เรียกว่าเป็น ‘พรีวิเลจ’ มันก็เลยทำให้อาชีพนักการทูตมันถูกยกให้เป็นอาชีพในฝันของหลายๆ คน
อาจารย์มองว่ากระทรวงต่างประเทศที่อื่นเป็นยังไง หรือเป็นแค่ไทยที่มี ‘พรีวิเลจ’ แบบนี้
ผมคิดว่าในความเป็นนักการทูตมันมีพรีวิเลจในทุกประเทศ เช่น นักการทูตถือหนังสือเดินทางการทูต ได้รับ diplomatic immunity ซื้อของไม่เสียภาษี มันก็มีทุกประเทศ แต่พรีวิเลจแบบไทยมันเอาไปผูกกับชนชั้นทางสังคม ที่ผมจะพูดคือนักการทูตญี่ปุ่นไม่มีใครมองว่าเป็นไฮโซหรือเป็นพระเจ้า แต่เขาอาจจะมีพรีวิเลจอย่างอื่น ก็พรีวิเลจการเป็นนักการทูตอย่างที่ผมบอก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นนักการทูต ตายแล้ว สูงส่งจังเลย โน… แต่ของไทยมันเป็นแบบนั้น ละครกี่เรื่องๆ ที่ยกย่องสถานะนักการทูตไทย อุ๊ย เขาทำงานกระทรวง เขาเป็นท่านทูตหรอคะ
ถึงอย่างนั้นก็ถือว่า เป็น 16 ปีที่แฮปปี้กับการทำงาน?
ผมว่าผมแฮปปี้นะแรกๆ นักการทูตเป็นอาชีพแรกๆ เลยที่ผมคิดตั้งแต่ผมเป็นเด็ก ผมอาจจะไม่เหมือนกับเด็กคนอื่นเท่าไหร่ตรงที่ว่า ผมรู้ว่าผมอยากเป็นอะไรตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก ตั้งแต่มัธยมต้น ผมรู้แล้วว่าผมอยากเป็นนักการทูต ผมเริ่มรู้แล้วว่าผมสนใจ เพราะฉะนั้นผมจะโฟกัสตัวเองเพื่อจะไปทางนั้น ที่พูดอย่างนี้คืออยากจะตอบคำถามว่า เพราะฉะนั้นผมต้องแฮปปี้สิ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากทำตั้งแต่แรก แล้วผมก็ทำสำเร็จ ผมก็ได้เข้าไปอยู่ในกระทรวงต่างประเทศ เมื่อเข้าไปอยู่ในกระทรวงต่างประเทศแรกๆ เราบอกตัวเองไว้ว่า ชีวิตฉันไม่ต้องดิ้นรนแล้วนะ เพราะนี่จะเป็นอาชีพเดียว และอาชีพสุดท้ายของฉัน ก็คือบอกให้ตัวเองเติบโตในกระทรวง จนไปเป็นเอกอัครราชทูตในที่สุด แต่จริงๆ คิดอย่างนั้นก็ไม่ถูก เพราะไม่ว่าจะอยู่ในสายงานไหนมันต้องดิ้นรนทั้งนั้น
เมื่อเข้าไปปุ๊บ ผมเหมือนกับคิดว่าได้ในสิ่งที่ต้องการแล้ว แฮปปี้ในจุดหนึ่ง แต่เมื่อไปเรียนต่างประเทศมันทำให้เราเริ่มเปลี่ยนความคิด คือกระทรวงมันเปิดรับสองระดับ คือรับ C3 ที่จบปริญญาตรี และ C4 ที่จบปริญญาโท ส่วนใหญ่โดยทั่วไปคนกระทรวง วุฒิคือแค่ปริญญาโทก็พอ มันก็มีปริญญาเอกพอสมควร แต่ทุกวันนี้ผมขอย้ำว่า ปริญญาเอกในกระทรวงต่างประเทศมัน over-qualified ผมคิดว่าปริญญาเอกมันไม่จำเป็นขนาดนั้น ที่พูดก็คือวิจารณ์ตัวเองด้วย เพราะในที่สุดผมก็เรียนปริญญาเอก
อย่างไรก็ตาม มันเหมือนกับการบังคับเลยว่า คนที่เข้ารับราชการในระดับปริญญาตรี พอมาจะอยู่แป๊บหนึ่ง ส่วนใหญ่ต้องลาไปเรียนต่อ เพราะปริญญาตรีก็ไม่พอ ปริญญาโทกำลังพอดี และปริญญาเอกอาจจะเยอะไป เพราะฉะนั้นผมรู้แล้วว่าผมต้องไปเรียนต่อ ตอนไปเรียนต่อก็ไม่ได้คิดถึงเรียนปริญญาเอกด้วย ผมคิดแค่เรียนปริญญาโทแล้วกลับ แต่เมื่อเรียนไปแล้ว ผมรู้สึกว่ามันไม่พอ อยากเรียนอีก จนในที่สุดผมก็จบปริญญาเอก ซึ่งทำให้เรามองสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ได้มองโลกแบบฉาบฉวย แต่เรามองแบบที่มีคำถามอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของคนจบปริญญาเอก มันต้องมีคำถามอยู่ในหัวตลอดเวลา แล้วประการที่สอง เมื่อกลับไปทำงานเรารู้สึกว่าเรา over-qualified ว่าเพราะเราเรียนมาเยอะขนาดนี้ เราอยากทำอะไรให้มันมากกว่านี้ และประการที่สามซึ่งสำคัญที่สุด คือเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพ คือมีเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วมันเป็นจุดเปลี่ยนของผม
เมื่อผมออกไปประจำการที่สิงคโปร์ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.2003 และจะจบวาระประจำการปลายปี ค.ศ.2007 แต่รัฐประหารทักษิณเกิดขึ้นปี ค.ศ.2006 ซึ่งเมื่อรัฐประหารทุกครั้ง กระทรวงจะกลายเป็นเครื่องมือของคณะรัฐประหารหรือของทหาร แล้วกระทรวงจะต้องส่งคำแถลงการณ์ให้สถานทูตทั่วโลก อธิบายเหตุการณ์นี้กับประเทศที่เราอยู่ เช่นในกรณีของผมก็ต้องอธิบายเรื่องนี้ให้กับรัฐบาลสิงคโปร์ แล้วส่วนใหญ่ก็คือเป็นงานแก้ต่าง อันนี้เป็นรูปแบบที่เรารู้กันอยู่ ณ ตอนนั้นเป็นรัฐบาลทหารแล้ว แล้วทหารก็คงไม่ให้กระทรวงต่างประเทศด่าทหาร มันเป็นไปไม่ได้
แต่เราที่อยู่ตรงนั้นรู้สึกว่า หนึ่ง เราไม่ได้เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร สอง คุณมาบังคับให้เราพูดในสิ่งที่ฝืนใจเรา เช่น รัฐประหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐประหารมีความชอบธรรม ทักษิณคอร์รัปชั่น แล้วทหารจะรีบคืนประชาธิปไตย
ผมคิดว่าผมพูดไม่ได้ แล้วมันอึดอัดมากเลย
ขณะเดียวกัน ช่วงนั้นผมก็เริ่มเขียนบทความ ตรงนี้เป็นอะไรที่แปลก ผมเป็นคนเดียวในกระทรวงที่ตกไปอยู่ในสถานะพิเศษที่เขาไม่รู้จะทำยังไงกับผม หมายถึงว่า เป็นข้าราชการแต่ก็เขียนบทความ แต่ในบทความไม่ได้บอกว่าเป็นข้าราชการ บอกว่าผมเป็นนักวิชาการอิสระ แต่บอกชื่อ-นามสกุลจริง แต่ไม่ได้บอกว่าผมเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ แล้วบทความหลายครั้งวิจารณ์รัฐบาล
อันนี้มันไม่ healthy ตรงที่ว่า เราทำงานเป็นข้าราชการ แล้วเราก็วิจารณ์รัฐบาล แล้วผมก็เริ่มถูกต่อต้าน เริ่มมีเสียงในกระทรวงว่า ถ้าอยากด่ารัฐบาลก็ออกไปด่าสิ อันนี้ผมก็เข้าใจ ผมก็เลยต้องเถียงกับตัวเองตลอดเวลาว่าจะอยู่ตรงไหน บวกกับรัฐประหาร รวมถึงสิ่งที่ผมอยากจะพูดแล้วผมไม่ได้พูด เลยตัดสินใจว่าเมื่อประจำการหมดปุ๊บ จะเอายังไงดี เลยคุยกับผู้ใหญ่ที่กระทรวงว่าผมไม่แน่ใจว่าผมอยากเป็นนักการทูตหรืออยากเป็นนักวิชาการ ผมขอกระทรวงลาสองปีเพื่อไปคิด
ขณะลาสองปีนั้น ผมไปอยู่ในสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของสิงคโปร์ชั่วคราว แล้วผมคิดว่าผมใช้เวลาสองปีนั้นในการคิดดูว่าจะอยู่หรือจะไป กระทรวงก็ให้ผมลาสองปี พอหมดสองปีปุ๊บเราก็คิดได้แล้วว่านักการทูตไม่ใช่เราแล้ว จนวันสุดท้ายก็เลยไปคุยกับเจ้านายสิงคโปร์ว่าฉันอยากลาออกจากกระทรวง แต่ฉันลาออกไม่ได้เพราะฉันไม่มีงานรองรับ เธอจะรับฉันไหมล่ะ ถ้าเธอรับให้ฉัน full-time ฉันลาออก สุดท้ายสิงคโปร์ก็รับ นั่นเลยทำให้ผมตัดสินใจลาออก
ช่วงสองปีนั้นอาจารย์ทำอะไรบ้าง
เขียนหนังสือ ข้อตกลงแรกคือเป็นดีลที่บอกสิงคโปร์ว่า ฉันลาจากกระทรวงมาแค่สองปี ฉันอยากจะมานั่งทำวิจัยที่ศูนย์ ผอ.ศูนย์ก็คุ้นเคยกัน เพราะผมอยู่สิงคโปร์มาก่อนหน้านั้นแล้ว แล้วผมก็ไปนั่งฟังสัมมนาที่ศูนย์นั้นบ่อยตอนเป็นนักการทูต เขาก็บอกว่าเอาสิๆ ฉันให้ทุนเธอสองปี จบสองปีก็จบกัน เธอก็กลับกระทรวง แต่สองปีนี้เธอต้องเขียนหนังสือให้ฉันหนึ่งเล่ม เนื่องจากเราทำงานกับกระทรวงต่างประเทศ เลยบอกว่า ฉันจะเขียนเรื่องนโยบายต่างประเทศของทักษิณ กลายเป็นเล่ม การทูตทักษิณ นั่นแหละคือข้อตกลงสองปี
จริงๆ อาจารย์ก็เล่าบ่อยว่า ตอนทำงานทูตได้ใกล้ชิดกับสถาบัน แล้วตอนไหนคือช่วงที่เรียกว่าช่วงตาสว่างของอาจารย์ เป็นช่วงทำงานทูตหรือรัฐประหารที่อาจารย์เล่า
เรื่องตาสว่างผมคิดว่ามันเป็นกระบวนการที่ค่อยๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ คือของผมมันไม่เหมือนกับหลายๆ คนที่มีเหตุการณ์อะไรปุ๊บ แล้วพลิกเลย ของผมมันค่อยๆ เพิ่มขึ้นมา คือกระบวนการตาสว่างผมเกิดมานานมากๆ แล้ว แต่เอาเป็นว่าถ้าจะมาผูกกับเรื่องเกี่ยวกับการรับเสด็จ คือเมื่อไปอยู่ตรงนั้นแล้ว การเป็นนักการทูตคือคุณต้องเป็นรอยัลลิสต์ ไม่มีทางที่คุณจะเป็นอย่างอื่นไปได้ เพราะว่านักการทูตมีงานหลายอย่าง แต่งานสองอย่างที่เป็นงานหลักๆ คือ งานนักการทูตทั่วไป เช่นรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศที่เราไปอยู่ ช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยาก งานกงสุล การทำพาสปอร์ต ต่อวีซ่า และอีกงานคืองานรับเสด็จ
มันเป็นไปไม่ได้เลยที่อยู่ๆ จะตาสว่างแล้วลุกขึ้นมาวิจารณ์สถาบันแล้วยังอยู่กระทรวงต่างประเทศ ผมก็เลยจะบอกว่า ในตอนนั้น ถึงผมตาสว่างแล้ว ผมก็ต้องทำในหน้าที่ที่ผมต้องทำ เราไม่ได้หมายถึงว่าเราต้องออกไปวิจารณ์ หรือออกไปโปรสถาบัน ให้โปรคงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะผมก็ไม่เคย แต่ที่ทำตอนนั้นทำเพราะตำแหน่งหน้าที่มันบังคับให้เราทำ ในระหว่างรับราชการที่สิงคโปร์ ผมมีโอกาสรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ 4 องค์ ได้แก่ พระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ แล้วก็เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ในส่วนของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จเดินทางมาบ่อยที่สิงคโปร์ จุดหนึ่งมันก็เป็นการสร้างความรู้จักส่วนตัวที่ผมมีกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
อาจารย์บอกว่า รู้ว่าอยากเป็นทูตตั้งแต่เด็ก มีอะไรที่ทำให้เราอยากเป็นตั้งแต่ตอนนั้น
อย่างแรกคือผมชอบเรียนภาษาต่างประเทศ อย่างที่สอง ผมคิดว่าอยากเดินทางหรือไปใช้ชีวิตต่างประเทศ มันมีอาชีพอะไรบ้างที่ให้เราทำ ผมก็ลิสต์มาว่าอยากเป็นนักการทูต พนักงานบริการบนเครื่องบิน มัคคุเทศก์ และผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ทั้งหมดจะมีอยู่ 4-5 อาชีพ เพราะมันเกี่ยวกับการได้ใช้ภาษาต่างประเทศ แล้วได้มีโอกาสไปต่างประเทศ แต่แน่นอนในบรรดาสี่อาชีพนี้ นักการทูตก็ต้องอยู่สูงสุดบนยอดพีระมิด ผมก็เลยเลือกนักการทูตไว้ก่อน
แต่ก่อนหน้านั้นอาจารย์ได้มีโอกาสไปทำสื่อก่อนจะมาเป็นนักการทูต
มันก็จับพลัดจับผลูอีก ตอนผมเรียนปีสุดท้ายที่จุฬาฯ ตอนใกล้จะเรียนจบแล้วในอีกเดือนสองเดือน ผมก็ได้รับการติดต่อจากอาจารย์ท่านหนึ่งว่าสนใจอยากไปทำงานกับอาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล ที่ทำสื่อไหม เขากำลังหาเด็กจบใหม่มาร่วมงานอยู่ เราก็คิดว่าดีเหมือนกัน เพราะตอนนั้นที่มีคิดไว้ในใจคือต้องสอบกระทรวงต่างประเทศแน่ๆ แต่กระทรวงต่างประเทศมันจะไม่สอบจนกระทั่งปลายปี แล้วจะทำอะไรระหว่างนั้น อันดับแรกก็คือเตรียมไปเรียนต่อ แล้วตอนนั้นผมเรียนเอกฝรั่งเศส ก็สมัครไปเรียนที่มหาวิทยาลัยปารีส ผมคิดในใจว่าตอนนั้นอะไรมาก่อนก็ไป แต่เผอิญว่ามันดันมีงานนี้เสอนมา งั้นผมก็ไปทำ
เมื่อไปบริษัทของอาจารย์สมเกียรติ เค้าเสนอให้ผมเป็นผู้สื่อข่าว (วิทยุ) ของศูนย์ข่าวแปซิฟิก เราก็ตกลง ไปทำวันแรกๆ จากการที่ไม่มีความรู้เลย ลำบากเหมือนกัน แต่ผมก็ปรับตัวและรู้ว่าต้องทำอะไรบ้างในฐานะสื่อมวลชน อาทิ การไปสัมภาษณ์นักการเมือง งานแรกๆ เลยคือได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ที่รัฐสภา หลังจากนั้นผมก็ย้ายไปอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งหมายถึงต้องติดตามนายกรัฐมนตรี
ตอนนั้นคือยุคของนายกชวน หลีกภัย (รัฐบาลสมัยแรก) งานมันไม่ได้หลับได้นอนเลย คือนายกไปไหนต้องไป หมายความว่าผมต้องลงไปที่ตรังค่อนข้างบ่อย เพราะนายกฯ ไปเยี่ยมแม่ แล้วก็ไปกินไปนอนที่ทำเนียบรัฐบาล ปรับ ครม. ทีหนึ่งก็ไปนั่งที่หน้าบ้านพิษณุโลก เราก็เจอ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยนั้นเพิ่งกลับมาจากออกซฟอร์ดยังหนุ่มอยู่เลย
ผมก็ทำตั้งแต่ตอนช่วงกุมภาพันธ์ ทำไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะรอสอบเข้ากระทรวง คราวนี้ปริญญาโทก็อยากไปเรียน แต่แม่บอกว่าเอาอย่างนี้สิ จะไปเรียนเมื่อไหร่ก็เรียนได้ ไม่ลองสอบเข้ากระทรวงดูก่อนหรือ สอบไม่ได้แล้วค่อยไปเรียน แต่ถ้าสอบได้ไปเข้ากระทรวงก่อนดีไหม ถ้าไปเรียนเลยตอนนี้เดี๋ยวมันจะเสียโอกาสเข้ากระทรวง ก็โอเคได้ เพราะฉะนั้นผมก็พักเรื่องเรียน และผมก็เลยตั้งใจกับเรื่องเป็นผู้สื่อข่าว และรอสอบปลายปี พอสอบปลายปีปุ๊บ ประกาศผลสอบเดือนมกราคม ผมสอบติด ผมก็เลยออกจากผู้สื่อข่าว มันก็เป็นประสบการณ์ที่ดี เชื่อไหมว่าทุกวันนี้ผมยังติดต่อกับพี่นักข่าวบางคนที่เราทำงานด้วยกันที่ทำเนียบรัฐบาลจนทุกวันนี้
อาจารย์คิดว่าวงการสื่อเปลี่ยนไปเยอะไหม
เปลี่ยนไปส่วนหนึ่ง ตัวแปรหนึ่งก็คือโซเชียลมีเดีย แต่วิธีการถาม การสัมภาษณ์ ผมเห็นว่ามันก็ไม่ต่างจากสมัยผมเท่าไหร่ มันก็ยังเป็นคำถามเดิมๆ เป็นวิธีล้อมหน้า ล้อมหลังนายก มันเป็นวัฒนธรรมที่ผมก็เอียนเหมือนกันนะ เอียนในแง่ที่ว่า ถ้าคุณอยู่ตรงนั้น แล้วคุณไม่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเขา เขาก็ไม่ให้ข่าวคุณ มันก็เลยทำให้เราต้องประนีประนอมกับมัน คือเราจะหักดิบกับมัน ถามคำถามแบบแรงๆ เขาก็ไม่ให้ข่าวเรา แล้วไปให้สำนักข่าวอื่น และมันก็มีวิธีการที่ทำให้รู้ว่าเขาไม่แฮปปี้กับการถามคำถามเรา เช่น ในระหว่างที่อยู่กับผู้สื่อข่าวหลายคน ถ้าสมมติเขาไม่ชอบเราแล้ว ต่อให้เรายกมือเขาก็ไม่เรียกเรา ผมก็เลยคิดว่ามันเป็นการสร้างวัฒนธรรมของการประนีประนอม ซึ่งจากวันนั้นจนถึงวันนี้ผมว่ามันไม่เปลี่ยน
ถึงบอกว่าโชคดีที่มีโซเชียลมีเดีย เพราะโซเชียลมีเดียมันไม่แคร์กับการให้ข่าวแบบนี้ของนักการเมืองหรือรัฐบาล แล้วมันสามารถเขียนได้ตรงกว่า พูดง่ายๆ คือทุกคนสามารถเป็นผู้สื่อข่าวได้ อาทิ ในช่วงการประท้วง มันมีคนที่ไลฟ์จากสถานการณ์จริง ทุกคนสามารถเป็นผู้สื่อข่าวได้หมดเลย ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ข้อมูลถูกผูกขาด มันเลยทำให้เราสามารถที่จะเสนอมุมมองที่ต่างไปจากมุมมองกระแสหลักได้
พูดถึงวงการสื่อก็น่าเศร้า 20 ปีแล้ว พอประเทศไม่ก้าวหน้า วงการสื่อก็เลยก้าวหน้าไม่ได้ด้วย
แล้วก็มีนักข่าวตัวอย่างเลวๆ เอ่ยชื่อก็ยังได้ วาสนา นาน่วม คือกลายมาเป็นพีอาร์ของรัฐบาล ไม่มีคำถามไหนมาจากวาสนาที่เป็นคำถามเชิงวิพากษ์ เรากำลังคาดหวังกับโลกยุคใหม่ เราต้องการผู้สื่อข่าวที่ทำ investigative report เช่น เมื่อมีการพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับคอร์รัปชั่น เรื่องเกี่ยวกับนาฬิกา (ของประวิตร วงษ์สุวรรณ) นักข่าวต้องไปตรวจสอบ นี่ไม่มี แล้วแถมเมื่อประวิตรออกมาพบปะกับนักข่าว นักข่าวยังไปถ่ายรูปร่วมกับประวิตรอย่างสนุกสนาน แต่เพราะผมมีความคิดอย่างนี้ ผมก็เลยอยู่เมืองไทยไม่ได้ ก็เลยต้องกระเด้งออกมา
อาจารย์ก็อยู่ญี่ปุ่นมานานแล้วเหมือนกัน ชีวิตที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง
หลังจากสิงคโปร์ ก็เป็นญี่ปุ่น ตั้งแต่ ค.ศ.2012 ก็ 10 ปีแล้ว มันก็โอเค คือผมก็บ่นไม่ได้ ญี่ปุ่นกลายมาเป็นประเทศช่วยชีวิตผม เอาจริงๆ เราคิดว่าเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นกับผมทั้งหมด หลังจากรัฐประหารปี ค.ศ.2014 ที่ผมถูก คสช. เรียกปรับทัศนคติ จนกระทั่งเมื่อไม่ไปรายงานตัว ก็เลยกลายมาเป็นประเด็น กลายมาเป็นหมายจับ ยกเลิกพาสปอร์ต เป็นผู้ลี้ภัย ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นที่สิงคโปร์ ผมคงลำบากกว่านี้ เพราะสิงคโปร์ไม่แคร์เรื่องพวกนี้ แล้วไทยกับสิงคโปร์ก็ใกล้ชิดกัน สนิทกันด้วย เพราะฉะนั้นผมคิดในใจแล้วว่าถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่สิงคโปร์ สิงคโปร์คงให้ผมสองตัวเลือก หนึ่ง ฉันส่งแกกลับเมืองไทย สอง แกไปไหนก็ไปเรื่องของแก
แต่พอเป็นญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็มาช่วยชีวิตผม แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ประเทศที่อยู่ง่าย คือคนไทยคลั่งไคล้ญี่ปุ่น เพราะคุณเป็นนักท่องเที่ยว เหมือนที่ใครก็ตามคลั่งไคล้เจป๊อป แล้วผมก็เข้าใจว่าทำไมคนคลั่งญี่ปุ่น อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ความสวยงาม หรือซากุระ ผมเข้าใจ แต่การมาอยู่มันไม่ใช่การมาเที่ยว ญี่ปุ่นมันก็อยู่ยากในจุดหนึ่ง ความยากมีตั้งแต่เรื่องภาษา แล้วก็นำไปสู่เรื่องอื่น เช่น วัฒนธรรมการทำงาน มุมมองของคนญี่ปุ่น ทัศนคติต่อคนต่างชาติ แต่ผมไม่บ่น ผมบอกว่ามันยากก็ใช่ แต่ผมไม่บ่นเพราะว่ามันให้อาชีพผม แล้วผมก็แฮปปี้กับงานผมมาก มันเป็นงานที่ให้สิทธิเสรีภาพผมอย่างเต็มที่ ผมเดินทางได้ ผมทำวิจัยเรื่องไหนก็ได้ ผมก็เลยไม่บ่น
ถ้าอาจารย์เป็นนักวิชาการในไทยคงไม่มีทางเป็นแบบนี้
เป็นไปไม่ได้เลย คือเราคิดว่าไม่มีที่ทำงานที่ไหนที่มันเพอร์เฟ็กต์ในโลก เพราะฉะนั้นกับญี่ปุ่น ผมอาจจะไม่แฮปปี้ในบางเรื่อง แต่มันก็มีหลายๆ เรื่องเช่นเดียวกันที่ผมคิดว่ามันดีกว่าที่อื่น ก็อย่างที่บอก เรื่องเสรีภาพในการทำงาน เป็นต้น แต่เรื่องที่ผมคิดว่ามันลำบากก็คือ จนทุกวันนี้ผมก็ยังคิดว่าผมไม่สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมญี่ปุ่นได้แบบ 100% ภาษาญี่ปุ่นผมก็ไม่แข็งแรง ก็เลยทำให้มันยิ่งมีช่องว่างระหว่างเรากับคนท้องถิ่น แล้วก็ไม่นับเรื่องเกี่ยวกับที่ผมถูกทำร้ายร่างกาย แต่โดยรวมๆ แล้วต้องย้ำอีกทีว่าผมบ่นไม่ได้จริงๆ เพราะว่าผมก็อยู่อย่างค่อนข้างสบาย
เรื่องถูกทำร้ายร่างกาย ล่าสุดมีอัพเดตของคดีนี้ แต่กว่าจะมาถึงกระบวนการที่คนร้ายถูกลงโทษ อาจารย์ต้องผ่านอะไรเยอะใช่ไหม
เยอะ แยกเป็นสองประเด็น คือผมถูกทำร้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2019 เพิ่งมีการลงโทษเมื่อปี ค.ศ.2022 เกือบจะสามปี ประเด็นแรกคือการคืนความยุติธรรมให้ผม นั่นคือการจับตัวคนร้าย แล้วเอาไปลงโทษ ซึ่งตลอดเวลาการทำงานของตำรวจญี่ปุ่นต่างจากตำรวจทั่วโลก คือตำรวจญี่ปุ่นไม่บอกอะไรเราเลย ผมไปถาม เขาไม่บอก เพราะฉะนั้นตลอดเวลาผมรู้สึกว่าผมอึดอัด สงสัยว่าทำไมผมถึงไม่รู้เรื่องเลยว่าความคืบหน้าไปถึงไหน แล้วผมก็ได้แต่เรียกร้องหาความยุติธรรม
ประเด็นที่สองที่มันเลวร้ายพอกันเลยก็คือ มีชาวต่างชาติคนหนึ่งเอาไปพูดว่าผมแต่งเรื่อง ตรงนี้ผมโกรธกว่าประเด็นแรกด้วยซ้ำ ที่โกรธกว่าเพราะว่า ถ้าคนที่วิจารณ์เราเป็นสลิ่ม ผมจะไม่แคร์ แต่มีคนที่วิจารณ์เราบางคนเป็นพวกเดียวกับเรา แต่เนื่องจากเขาไม่ชอบเราเท่านั้นแหละ เขาก็เลยบอกว่าผมแต่งเรื่อง อันนี้ผมโกรธมาก เพราะนอกจากเราไม่ได้ความเห็นใจจากพวกเขาแล้ว ยังมาหาว่าเราโกหกอีก เพราะฉะนั้นผมได้แต่นั่งนับวันนับคืนว่าขอให้เขาจับตัวคนร้ายได้ เพราะว่าเมื่อเขาจับตัวคนร้ายได้ เรื่องมันก็จะประจักษ์
แล้วในที่สุดวันนั้นก็มาถึง ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมพูดกับผู้สื่อข่าวตลอดเวลาว่ารู้สึกยังไงกับ ณ วันนี้ที่ตำรวจจับตัวคนร้ายลงโทษแล้ว ผมก็พูดตามนี้เลยว่า “I’m so happy.” เพราะหนึ่ง ฉันได้ความยุติธรรมคืนมา และสองมันเป็นการพิสูจน์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับฉันมันเกิดขึ้นจริงๆ มันไม่ใช่การแต่งเรื่อง
กว่าจะมาถึงตอนนี้มันทำให้อาจารย์รู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตไปเลย?
ใช่ คือเนื่องจากเราไม่รู้เรื่องอะไรเลยว่ามันอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นเราตกอยู่ในช่วงของความหวาดวิตกกังวลตลอดเวลา คือช่วง 2-3 เดือนแรกตำรวจมาหาผมบ่อย แล้วก็หายไป ไม่ได้ข่าวอะไรเลย อาจจะเรียกว่าเขาติดต่อผมน้อยลงมาก ซึ่งผมรู้สึกว่ามันไม่พอในการให้หลักประกันทางด้านความปลอดภัย ตรงนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึก เราต้องอยู่กับความหวาดกลัว เพราะตราบใดก็ตามที่ยังจับตัวคนร้ายไม่ได้ ความหวาดกลัวมันยังอยู่ ถึงแม้วันนี้จับตัวคนร้ายได้แล้ว แต่ความหวาดกลัวยังไม่หมด เพราะว่าคนร้ายไม่ได้บอกว่าใครเป็นคนสั่ง แล้วการสอบสวนก็ดำเนินต่ออยู่ดี เพราะเขาต้องสอบสวนต่อว่าใครเป็นคนสั่ง
แต่มันก็เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้เคลียร์หมดในใจ?
แต่อย่างน้อยผมคิดว่าผมได้มันคืนมา 50% แล้ว ผมถือว่า ณ จุดนี้ผมแฮปปี้ ดีกว่าที่ผมไม่ได้อะไรคืนมาเลย เพราะผมเชื่อว่าถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นในเมืองไทย ผมจะไม่ได้อะไรเลย อย่างน้อยนี่ยังเป็นตำรวจญี่ปุ่น แล้วผมคิดว่าตำรวจญี่ปุ่นซีเรียสกับเรื่องนี้ เพราะว่าถ้าเชื่อในสมมติฐานของผม คนสั่งไม่ได้อยู่ญี่ปุ่นล้านเปอร์เซ็นต์ และถ้าคนสั่งอยู่ที่เมืองไทย นี่คือการละเมิดอำนาจอธิปไตยของญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่ซีเรียสมาก แล้วผมคิดว่าตำรวจญี่ปุ่นทำอะไรอย่างตรงไปตรงมา
ตำรวจญี่ปุ่นเขาไม่ได้เป็นหน่วยงานทางด้านการเมือง หมายความว่าเขาไม่แคร์ว่าการเมืองเป็นยังไง หน้าที่ของเขาคือจับตัวคนร้ายให้ได้ เพราะฉะนั้นเขาไม่แคร์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นั่นเป็นเรื่องที่กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นต้องไปหาทางแก้เอาเอง ถ้าสมมติจะมีเรื่องกระทบกับเมืองไทย แต่ไม่เกี่ยวกับตำรวจญี่ปุ่น หน้าที่เขาคือเขาต้องสามารถให้หลักประกันกับทุกคนที่อยู่ในญี่ปุ่นถึงความปลอดภัยได้ ไม่ว่าเธอจะเป็นคนญี่ปุ่นหรือไม่ ตรงนี้ต่างหากที่เรารู้สึกประทับใจ เราอาจจะอึดอัด แต่เมื่อวันนั้นมาถึง เมื่อเขาให้ความยุติธรรมเราคืนมา
นอกจากประเด็นคนที่บอกว่าอาจารย์แต่งเรื่อง หลังๆ เราเห็นถึงความสัมพันธ์ของอาจารย์กับอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ดูระหองระแหงกัน
ในความนับถือกัน มันก็มีความไม่เข้าใจกันอยู่ด้วย ผมคิดว่ามันเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับหลายๆ คน เรามีเพื่อน ก็ไม่ใช่ว่าการที่คุยกับเพื่อนสนิท เพื่อนต้องเห็นด้วยกับทุกเรื่อง มันก็อาจจะมีบ้างที่เพื่อนคุณไม่เห็นด้วย แต่ในความไม่เห็นด้วยมันเลยไปไกลถึงแค่ไม่เห็นด้วย หรือว่าเข้าใจผิดหรือเปล่า บางทีผมกับอาจารย์สมศักดิ์ก็เป็นแบบนี้ บางทีมันอยู่แค่ความเห็นไม่ตรงกัน แล้วมันก็กลายไปเป็นความเข้าใจผิด พูดง่ายๆ ผมเพิ่งออกหนังสือ ร.8 ถ้าไม่ได้อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็แย่ เพราะอาจารย์เป็นคนดูต้นฉบับให้ผม แก้ให้ผมหมด ในเรื่องนี้อาจารย์สมศักดิ์มีคุณูปการกับผมมาก ในแง่ของความเป็นอาจารย์ เขาไม่เคยสอนผม แต่ผมก็นับถือเขาเป็นอาจารย์คนหนึ่ง เขาช่วยดูงานให้
แต่บางเรื่องมันก็ไม่เมกเซนส์ คือล่าสุดที่กลายมาเป็นประเด็นเพราะว่า ผมคิดว่าวิธีการเขียนเฟซบุ๊กของอาจารย์เปลี่ยนไปเยอะ แล้วผมก็ตั้งข้อสงสัยว่านี่เป็นอาจารย์สมศักดิ์เขียนจริงๆ เหรอ เพราะอาจารย์สมศักดิ์จะเป็นคนระมัดระวังมากในการเลือกใช้คำ แต่หลังๆ เราเห็นว่าการใช้คำพูดบางคำของอาจารย์มันไม่ใช่อาจารย์ แล้วผมผิดเหรอที่ผมตั้งคำถาม เขาก็ออกมาพูดว่าผมเข้าใจผิด เขาเป็นคนเขียนเฟซบุ๊กอยู่ ก็แล้วไง ผมก็ยังมีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามในใจผมได้ต่อไป เรื่องแค่นี้ เขาเลยอันเฟรนด์ผม แล้วเขาไม่เคยอันเฟรนด์ใคร แล้วเขาพูดเองว่า เขาอันเฟรนด์ 3-4 คน เพราะเขาถือว่าต่อไปนี้คนที่เขาอันเฟรนด์ไปแล้ว ไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นเพื่อนเขาอีกได้ มันร้ายแรงขนาดนั้นกับการที่ผมไปตั้งคำถาม ตรงนี้ผมก็หงุดหงิด แต่ชีวิตผมก็ต้องไปต่อ ผมก็คิดว่าผมหงุดหงิดแล้วผมก็ปล่อยแกไปเลย
ไม่ได้มีการไปคอมเมนต์กันแล้ว?
แล้วผมสบายใจขึ้นมาก นี่มันเป็นเทคนิกเอาตัวรอดของการเล่นโซเชียลมีเดีย อะไรก็ตามที่มันหนักใจคุณมากในโซเชียลมีเดีย อย่างบางวันที่ผมตื่นมาผมเครียดมากเมื่อเห็นโซเชียลมีเดีย ก็เลือกที่จะไม่สนใจมัน ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่สนใจไปเลย แล้วผมสบายใจขึ้นมามากเลย ผมไม่ต้องมานั่งกังวลแล้วว่าอาจารย์สมศักดิ์คิดกับผมยังไง ผมไม่ต้องมานั่งตั้งคำถามว่าอาจารย์สมศักดิ์เขียนเฟซบุ๊กเองหรือเปล่า ผมไม่แคร์อีกแล้ว มันก็ไม่ใช่แค่เรื่องอาจารย์สมศักดิ์หรอก หมายถึงเรื่องคนอื่นด้วย อย่างเช่น หากสลิ่มด่าผม ก็จะ Let it go!
นอกจากอาจารย์สมศักดิ์แล้ว อาจารย์ได้ติดต่อกับผู้ลี้ภัย ม.112 คนอื่นๆ บ้างไหม
เรียกว่าส่วนใหญ่ผมรู้จักเกือบทุกคน ส่วนหนึ่งที่ผมรู้จักทุกคนเพราะว่าเกือบทุกคนผมต้องเขียนหนังสือรับรองให้เมื่อขอสถานะผู้ลี้ภัย การได้หนังสือรับรองมันมีน้ำหนักพอสมควร แล้วหนังสือรับรองจากผมก็มีน้ำหนักในแง่ที่ว่า ผมมีตำแหน่งทางการงาน และผมดันเป็นผู้ลี้ภัยด้วย ผมก็เลยมีความชอบธรรมในการเขียนจดหมาย เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่ คือผู้ลี้ภัย ม.112 ที่เรารู้จักกัน ผมบอกได้เลยว่าส่วนใหญ่ผมเขียน แล้วคุณจะไม่เชื่อเลยว่ามันมีเด็กรุ่นใหม่ที่หนีออกมาจากเมืองไทยเยอะมากที่ไม่เป็นข่าวซึ่งติดต่อผมมา ผมก็เขียนหนังสือรับรองให้ แต่มันไม่ปรากฎในสื่อ พูดง่ายๆ ผมก็รู้จักพวกเขาเกือบทั้งหมด แล้วส่วนใหญ่ก็ยังติดต่อคุยกันไปมาหาสู่กัน
เรียกได้ว่าก็เป็นกลุ่มที่เราต้องคอยติดต่อกันพอสมควร แล้วก็เยียวยากันในมุมหนึ่ง
ในจุดหนึ่งใช่ แต่จะให้อยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมงก็เป็นไปไม่ได้อีก เพราะว่าในความเป็นกลุ่มเล็กแค่ไหนก็ยังมีความแตกต่างอยู่ ในการที่เราเชื่อเรื่องเกี่ยวกับ ม.112 ว่าไม่ควรจะมีอยู่ แต่มันก็มีความเห็นแตกต่างในเรื่องอื่นๆ เพราะฉะนั้นพูดง่ายๆ ว่าอยู่ด้วยกัน คุยด้วยกันเท่าที่จำเป็น ที่เหลือต่างคนต่างใช้ชีวิต
ตอนนี้ก็เรียกได้ว่าทั่วทุกมุมโลกเหมือนกัน?
เยอะมากๆ แล้วอย่างที่ผมบอก ระยะหลังๆ ที่ผมต้องเขียนจดหมายให้คนเหล่านี้ เดี๋ยวนี้ก็เลือกไปหลายประเทศ คือแต่ก่อนจะมีแค่ 2-3 ประเทศที่ไปบ่อยๆ คือฝรั่งเศส เยอรมนี เดี๋ยวนี้มันก็กระจัดกระจายไปหมดแล้ว เดี๋ยวนี้ผมต้องมี template จดหมาย คือแค่เปลี่ยนหัวเปลี่ยนท้ายของตัวจดหมาย ก็จะได้หนังสือรับรองแบบ customised
ในฐานะที่อาจารย์เป็นคนที่ออกมาแรกๆ ตอนนี้ก็มีเยอะและแยกย้ายไปหลายประเทศมาก แน่นอนมีคนรุ่นใหม่ด้วย อาจารย์มองยังไงบ้าง
หดหู่มาก บวกกับความโกรธ ประเทศเหล่านี้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะตัวเองก็เป็นคนรับผู้ลี้ภัยมา แต่ประเทศเหล่านี้กลับทำอะไรน้อยมากในการสร้างแรงกดดันกับประเทศไทย ผมก็ไม่อยากเอามาสอนเพราะมันก็เป็นกฎเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มันคงไม่มีประเทศไหนบ้าบอถึงขนาดเลิกคบเราเพราะรู้ว่าเราไม่มีประชาธิปไตย แต่อย่าลืมว่าคนพวกนี้ต้องค้าขายกัน มันมีผลประโยชน์ต่อกัน อย่างเยอรมนี เป็นต้น มันเป็นไปไม่ได้ที่เยอรมนีจะลุกขึ้นมาประกาศสงครามกับเราเพราะเรายังมี ม.112 เพราะพวกเขายังมีผลประโยชน์กัน หมายถึงในแง่ของการทำธุรกิจ ในแง่ของการที่มีคนเยอรมันอยู่ในเมืองไทยก็ต้องอาศัยให้รัฐบาลไทยช่วยดูแลปกป้องคนเยอรมัน เพราะฉะนั้นมันมีกำแพงหลายอย่างที่ทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารกดดันรัฐบาลไทยได้ ก็เป็นเรื่องเศร้า
จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่ที่ลี้ภัยออกมา เด็กๆ ในประเทศเองก็โดนเยอะ นักกิจกรรมหน้าใหม่ๆ ด้วย
มันเป็น dilemma คือว่า ไม่มีใครออกประท้วงก็ไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงไหนบ้างในโลกโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว แล้วไม่มีการเดินขบวนหรือประท้วง ขณะเดียวกันเมื่อมีการเดินขบวนหรือประท้วง มันเป็นไปได้หรือที่จะไม่มีคนถูกจับ คราวนี้ถึงบอกว่ามันเป็น dilemma ทั้งหมด เด็กออกไปเพราะอยากเปลี่ยนแปลง แต่เด็กถูกจับ คนเชียร์หรือคนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงก็ถูกตำหนิว่าเป็นเพราะเรายุยง เด็กเลยถูกจับ อ้างสรุป เราเชียร์ให้น้องๆ ออกไปลงถนนไม่ได้เหรอ คือนี่คือความเลวร้ายของสังคมไทย พูดเรื่องนี้แล้วโกรธ คือผมได้ยินอย่างนี้ตลอดเลย มึงเชียร์มากมึงก็กลับมานำขบวนสิ แล้วมันจะเป็นไปได้ยังไง ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่ลงถนน แล้วใครจะลง ใครจะเป็นคนให้กำลังใจเด็กพวกนี้ที่ออกมา ถ้าเด็กไม่ออกมาแล้วมันจะเปลี่ยนแปลงได้ยังไง
การชุมนุมในระยะสองสามปีที่ผ่านมา พอจะมีแรงกระเพื่อมกับ ม.112 ไหม
มันมีแน่ๆ มันอาจจะไม่เร็ว ไม่ถูกใจใครใช่ไหม แต่มันมีแน่ๆ ที่ผมกล้าพูดว่ามันมีเพราะว่า ก่อนหน้าปี ค.ศ.2020 ผมเป็นคนแรกๆ ในการพูดเรื่อง ม.112 มาตลอด อาจจะควบคู่กับอาจารย์สมศักดิ์ แต่ในแง่ของการทำแคมเปญต่างประเทศผมทำมาคนเดียวตลอด แล้วตลอดเวลาผมคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ แม้กระทั่งผมทำเองผมก็ยังคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ จนกระทั่งมันเกิดการประท้วง ปี ค.ศ.2020 ที่อยู่ๆ ประเด็นสถาบันกษัตริย์ก็กลายมาเป็นเรื่องสาธารณะ เพราะฉะนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผมบอกเด็กพวกนี้เสมอว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว
มันอาจจะไม่ถึงจุดที่เราต้องการ แต่ผมคิดว่ามันมีแรงกระเพื่อมมาก มีใครบ้างจินตนาการได้ว่าก่อนปี ค.ศ.2020 จะสามารถพูดถึงเรื่องสถาบันกันได้ขนาดนี้ ไม่ยืนในโรงหนัง หรือคนเขียนคำว่า “ทรงพระเจริญ” ก็ถูกถล่มคอมเมนต์ มันไม่มี และเป็นไปไม่ได้ แต่ ณ วันนี้มันเป็นแล้ว แล้วผมบอกกับเด็กพวกนี้เสมอว่า คุณควรต้องภูมิใจในตัวเองว่า It’s happening แต่ว่าความท้าทายก็คือ เราจะเร่งยังไงให้มันไปถึงจุดนั้น ตรงนี้ไม่มีใครตอบได้
สำหรับกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส อาจารย์มองว่ากลุ่มนี้มีอิทธิพลหรือสามารถทำอะไรได้บ้างไหม
อย่างแรก ผมพูดด้วยความรู้สึกน้อยใจนิดหนึ่งว่า รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสไม่ได้รับเครดิตที่ควรจะได้ ถูกมองว่าเป็นกลุ่มก็อสซิปเจ้า แต่การก็อสซิปก็เป็นมูฟเมนต์อย่างหนึ่ง ใครว่าการก็อสซิปเป็นเรื่องไม่สำคัญ ไม่ใช่เลย มันเป็นการทำลายข้อห้าม (taboo) ของการพูดถึงเจ้า คือถ้าพูดถึงเจ้าไม่ได้คือพูดถึงเจ้าไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นก็อสซิปก็พูดไม่ได้นะ แต่เราทำมากกว่าก็อสซิป คิดดูว่ามีแพลตฟอร์มไหนบ้างในเมืองไทยที่เปิดให้คนพูดเรื่องเจ้าได้เปิดเผยแบบนี้ – ไม่มี – มันมีแพลตฟอร์มไหนที่มีคน 2.3 ล้านคน เพราะฉะนั้น กลุ่มนี้ควรได้รับเครดิต แต่ไม่มีสื่อไหนที่พูดถึงเรื่องรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสแบบจริงจังเลย
ประการที่สอง กลุ่ม 2.3 ล้านคน มันทำอะไรได้บ้างไหม อย่างหนึ่งที่ผมบอกว่าผมแฮปปี้มาก คือการส่งเสริมการคุยเรื่องเจ้าอย่างเปิดเผย ทุกวันนี้ถ้าใครยังเป็นสมาชิกอยู่ ก็ไปดูสิ มันก็จะมีการคุยกันนู่นนี่นั่น ซึ่งไม่มีในกลุ่มอื่น และประการที่สาม จนถึงทุกวันนี้กลุ่มก็ยังแอ็กทีฟ ผมก็ยังเข้าไปดูทุกวัน ผมไม่ได้เป็นแอดมินคนเดียวแล้วนะ เดี๋ยวนี้มีคนช่วยผมเยอะแยะ แต่ว่ามันไม่ได้อยู่กับที่ ยังมีความเคลื่อนไหวอยู่ในกลุ่ม เพราะฉะนั้นผมก็คิดว่ามันก็ยังดำเนินต่อไปอยู่ได้เรื่อยๆ
ส่วนที่ว่าสมาชิก 2.3 ล้านคนจะทำอะไรได้บ้างหรือเปล่า ผมไม่ได้คาดหวังไปไกลขนาดนั้น ผมไม่เคยบอกเลยว่าอยากใช้กลุ่มนี้เป็นหน่วยกล้าตาย หรือพลังขับเคลื่อนทางสังคม ผมคิดว่ามันสามารถช่วยได้ ถ้าเกิดมันมีการประท้วงบนถนน แล้วมันมีการทำออนไลน์ไปพร้อมกัน ตลาดหลวงสามารถช่วยตรงนี้ได้ แต่ผมก็ไม่รู้ว่า 2.3 ล้านคนเป็นใครบ้าง เผลอๆ ครึ่งหนึ่งอาจจะเป็นสลิ่มก็ได้ แต่ผมก็ไม่แคร์ แต่ตราบใดที่คุณอยู่ในกลุ่มแล้วคุณอ่านในสิ่งที่เราเขียน จะเป็นสลิ่มก็แล้วแต่คุณ เพราะฉะนั้นบางคนบอกว่า อุ๊ยตาย แล้วจะทำประชามติบางเรื่อง ทำไมสมาชิก 2.3 ล้านคนจากตลาดหลวงไม่เห็นมาช่วย คุณเอาสมมติฐานอะไรมาบอกว่าคน 2.3 ล้านคนทุกคนเป็น critics of the monarchy ทั้งหมด แต่ผมก็พยายามช่วยเท่าที่ทำได้ คือใครให้ผมช่วยโปรโมตอะไรในตลาดหลวง ผมช่วยหมดทุกอย่าง น้องๆ มีงานจะจัดนิทรรศการอะไรให้ผมช่วยโปรโมต ผมก็ทำ
อาจารย์เป็นคนหนึ่งที่สนุกกับการทำให้การเมืองเป็นเรื่องตลกๆ มันอาจจะดูเป็นเรื่องเล่นๆ แต่อาจารย์มองว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันต่อสู้กับเรื่องต้องห้าม (taboo) ยังไง
ผมคิดว่าการแซะหรือเสียดสี (sarcasm) มันเป็นอาวุธที่ดีมาก มันรวมหลายอย่างนะการเสียดสีใน sense of humor แบบจิกกัด มันรวม sense of criticism แล้วมันรวมความเป็น friendliness อะไรหลายๆ ผมเป็นคนที่ใช้อาวุธเรื่องการเสียดสีบ่อยมาก ผมอยากจะคิดว่าผมใช้มันได้ดีด้วย คือไม่ใช่ทุกคนที่ใช้อาวุธนี้ได้ คุณต้องเป็นคนที่หัวไว ไม่งั้นคุณคิดไม่ได้หรอก ผมคิดว่าผมเหมาะตรงนี้
ตัวอย่างเรื่องความโรแมนซ์กับคุณชัยวุฒิมาจากไหน มันมาจากคนก่อนหน้านั้น คือคุณพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ (รมต.กระทรวงดิจิทัล) ทำไมผมต้องโฟกัสที่พุทธิพงษ์ เพราะมันเป็นกระทรวงที่ปิดตลาดหลวง – ได้ คุณเกลียดฉันใช่ไหม งั้นฉันต้องชนะใจเธอ มันเป็นความคิดของตลกๆ เพราะฉะนั้น ผมก็เริ่มไปก้อร่อก้อติกกับคุณพุทธิพงษ์ เช่นไปคอมเมนต์ในเพจ เอาคนตลาดหลวงไปคอมเมนต์ จ้องจะปิดกูใช่มั้ย ได้ กูจะเอาทัวร์มาลงมึง! แน่จริงมึงปิดกูสิ! แต่คราวนี้พุทธิพงษ์อยู่แป๊บนึงก็ไป ก็กลายเป็นชัยวุฒิ ซึ่งชัยวุฒิใช้วิธีเล่นกลับกับเราด้วย ขณะที่พุทธิพงษ์ไม่เคยเล่นด้วยเลย แต่ว่ามันก็ใช้เวลาพอสมควรในการ break the ice คือชัยวุฒิก็ไม่ได้เล่นด้วยตั้งแต่แรก ด้วยความที่ผมชอบเขียนไปหลังไมค์ไปแหย่ จนกระทั่งในที่สุดเขาก็ตอบ จนกระทั่งเราไปตอบในอินสตาแกรม แล้วมันกลายเป็นเรื่องเป็นราว ยกตัวอย่างเช่นเขาไปทำบุญกับแม่เขา แล้วผมก็เข้าไปบอกว่า “ฝากสวัสดีคุณแม่ด้วยนะคะ” เขาก็ตอบมาว่า “คุณแม่ฝากถามว่าคุณปวินจะช่วยทำบุญไหม” แล้วงานแต่งงานผมเขาก็มายินดีกับผม
ที่พูดนี่ผมไม่ได้หลงอะไร คือผมไม่ได้ชอบเขาอยู่แล้ว หลงหมายถึงว่า ไม่ได้หลงในความเป็นมิตรของเขา คิดเหรอว่าเขาอยากจะมาเป็นมิตรกับผม แต่อย่างน้อยผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องเลว อย่างน้อยมันยังเป็นคำที่ผมใช้เสมอคือเป็น channel of communication ถ้ามันไม่มี channel of communication เลย ผมคิดว่ามันแย่ คือไม่คุยกัน ต่างคนต่างสะบัดหน้า แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราคุยกันเป็นเรื่องเป็นราว แต่อย่างน้อยมันลดความตึงเครียดได้ คือ ฉันรู้ว่าลึกๆ แกก็เกลียดฉัน แล้วเขาก็อาจจะพูดอย่างเดียวกันว่า รู้ว่าแกก็เกลียดฉันเหมือนกัน แต่อย่างน้อยต่อหน้าสาธารณะ เราก็ยังคงความศิวิไลซ์ไว้ในจุดหนึ่ง
และอันนี้ตลกมาก ผมเคยแกล้งเขียนแหย่คนในเฟซบุ๊กว่าชัยวุฒิมาเขียนอย่างนี้ หรือว่าจริงๆ แล้วในความเป็นเผด็จการ ชัยวุฒิก็ยังมีความเป็นมนุษย์ คือผมพยายามจะทดสอบสาธารณะว่า ถึงจะเป็นเผด็จการ แต่เขาก็ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ไหม คำตอบคนส่วนใหญ่ 90% คือไม่! มันเป็นอะไรที่เป็นเรื่องทดสอบที่ดีมาก 90% คิดว่าไม่เชื่อ หมายถึงสิ่งที่ชัยวุฒิพูดดีกับผมคือเรื่องตอแหล แต่ก็โอเค อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย มันเป็นบททดสอบที่ค่อนข้างดี ตลาดหลวงเป็นอะไรที่ดีมากๆ คุณอยากจะทดสอบอะไร คุณเขียนในตลาดหลวง คุณต้องได้คำตอบว่าคนส่วนใหญ่คิดยังไง
พูดถึงชีวิตอาจารย์ รัฐประหารทุกครั้งสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่ออาจารย์เหมือนกัน รัฐประหารครั้งแรกตอนทักษิณลาออก พอรัฐประหารครั้งนี้ก็ 112
รัฐประหารเป็นอะไรที่กระทบกับผมมากเลย ปี ค.ศ.2006 อย่างที่บอกมันก็เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่อยากจะเป็นนักการทูตอีกแล้ว พอปี ค.ศ.2014 นี่ยิ่งไปกันใหญ่เลย มันเกิดมาจากการที่ผมก็ซื่อ ซื่อตรงที่คิดว่า ฉันจะวิจารณ์ เธอทำอะไรฉันไม่ได้ ฉันอยู่ญี่ปุ่น แต่พอหลังจากนั้น พอผมโดนเรียกปรับทัศนคติ ผมเริ่มรู้แล้วว่ามันซีเรียสแล้ว ที่เราคิดในใจว่ามันทำอะไรไม่ได้ – ไม่ เขากำลังทำเราอยู่ แล้วหลังจากนั้นแป๊บหนึ่ง กระบวนการก็ไปเร็วมาก คือเรียกปรับทัศนคติ ออกหมายจับ ยกเลิกหนังสือเดินทาง ช็อกเลยตอนนั้น นั่นแหละคือรู้แล้วว่า มันซีเรียสมาก แล้วรู้เลยว่าพอถึงจุดนั้นปุ๊บ โอกาสที่เราจะกลับบ้าน มันลดน้อยลงไปแล้ว จนถึงจุดที่ผมเชื่อว่าโอกาสการกลับบ้านคือศูนย์ แต่ตอนนั้นผมยังพยายามปลอบใจตัวเองว่ามันอาจจะไม่เลวร้ายเท่าไหร่ ผมอาจจะเริ่มจากโอกาสกลับบ้าน 50 แล้วมันก็ค่อยๆ ลดลงมาเป็น 40… 30… จนกระทั่งปัจจุบันคือศูนย์ ปี ค.ศ.2014 นี่เปลี่ยนทุกอย่างในชีวิตผมเลย มันทำให้ชีวิตผม upside down
การตั้งตัวเองใหม่หลังปี ค.ศ. 2014
ก่อนหน้านั้น ผมเคยทำงานช่วยผู้ลี้ภัยมาค่อนข้างเยอะ ผมคิดว่าผมรู้ชีวิตผู้ลี้ภัยดี แต่ไม่มีใครรู้ชีวิตผู้ลี้ภัยดีจนกระทั่งเมื่อวันหนึ่งที่คุณมาเป็นผู้ลี้ภัยเอง เมื่อผมมาเป็นผู้ลี้ภัยเองผมเลยรู้ว่า เราสูญเสียทุกอย่าง มันไม่มีอะไรสูญเสียไปเยอะเท่ากับการสูญเสียครั้งนั้น ถ้าไม่นับเรื่องเกี่ยวกับการสูญเสียชีวิตของมิตรสหายทางการเมือง การสูญเสียอย่างอื่นๆ ในชีวิต เสียเงิน เสียงาน ถูกไล่ออก เสียเพื่อน เพื่อนเลิกคบ มันอาจจะดูเหมือนซีเรียส แต่ไม่มีเหตุการณ์ไหนซีเรียสเท่าการสูญเสียที่เกิดขึ้นจาก ปี ค.ศ.2014
อยู่ๆ ผมเหมือนกลายเป็นคนที่ stateless แต่ก็ไม่ใช่ เพราะผมก็ยังเป็นคนไทย แต่ไม่มีอะไรรองรับผมเลย คือเหมือนกับผมถูกผลักออกจากตึก แล้วผมก็ตกลงมาเลย ไม่มีเบาะรองรับผม แล้วผมต้องเริ่มจากศูนย์ ทุกวันนี้ก็โอเคยังพอลุกขึ้นมาได้บ้าง ยังเดินทางได้ ยังมีปากมีเสียงได้ ถ้าใช้คำว่า set up ผมคงต้อง set up อะไรหลายอย่างเลยในชีวิต ผมต้องวางแผนชีวิตผมใหม่ ผมต้องใส่ใจกับเรื่องความปลอดภัย ผมต้องรู้ด้วยว่าประเทศไหนผมไปได้ ประเทศไหนผมไปไม่ได้ แล้วผมต้องรู้ว่าผมสามารถทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนในแต่ละที่ที่ผมไป
ต่างกับตอนที่เคยเป็นนักการทูตยังไง
ฟ้ากับเหว ฟ้ากับเหวยังไงรู้ไหม เราเคยถือหนังสือเดินทางทูต วันนี้ไม่มีหนังสือเดินทางเลย แล้วหนังสือเดินทางทูตมันคือพรีวิเลจ มันฟ้ากับเหว เราเคยทำงานให้รัฐบาล ตอนนี้เราเป็นศัตรูของรัฐบาล เราเคยเป็นหนึ่งในพวกเขา ตอนนี้เราไม่ใช่แล้ว นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับการกลับบ้านไม่ได้
พออาจารย์เห็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ทำให้รู้สึกว่าวันหนึ่งเราจะทวงคืนสิทธิ์ของเราคืนมา
วันหนึ่งเราต้องทวงคืนแน่ๆ เพราะว่าตอนนี้เราก็เสียอะไรไปมากแล้ว ผมเสียอะไรไปหลายอย่างที่ผมไม่สามารถเอาคืนได้แล้วด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ นี่มันเป็นปีที่ 8 แล้ว ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ.2014-2022 ผมเสียไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่นสูญเสียเวลาที่อยู่กับครอบครัวที่เมืองไทย ผมจะได้คืนไหม อย่างอื่นผมอาจจะได้คืน พาสปอร์ตผมอาจจะได้คืนในอนาคต เกียรติยศศักดิ์ศรีอะไรอาจจะได้คืน แต่เวลาจะได้คืนเหรอ แม่ผมก็แก่ลงๆ ผมไม่ได้เจอแม่เลย เพราะฉะนั้นผมต้องทวงคืน ทวงคืนในสิ่งที่เราคิดว่าจะทวงคืนได้
แต่มากกว่าทวงคืนคือใครจะว่าผมดัดจริตก็ดัดจริต แต่ผมขอบอกว่ามันออกมาจากก้นบึ้งในหัวใจจริงๆ ทุกครั้งที่ผมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เมื่อมีการพูดถึงความเห็นของผมต่อคนรุ่นใหม่ในการประท้วง ค.ศ.2020 เป็นต้นมา แล้วเด็กถูกจับ เกือบจะทุกครั้งที่ผมสัมภาษณ์ ผมสะอึกทุกครั้ง สะอึกในแง่ที่ว่าผมต้องหยุดแล้วกลั้นไว้ ผมร้องไห้ไม่ได้เพราะว่าอยู่ต่อหน้าสื่อมวลชน ทุกครั้งที่พูดเรื่องนี้มัน emotional มาก emotional ในแง่ที่ว่า เราคิดว่าเราเคยอยากทำเรื่องนี้แต่เราทำไม่ได้ เราอาจจะทำได้ในส่วนหนึ่ง แต่ทุกวันนี้เด็กมันทำได้ เป็นอะไรที่ผมอธิบายไม่ถูกเลย
เพราะฉะนั้นตรงนี้สำหรับผมอาจจะเป็นเรื่องมากกว่าการทวงคืน แล้วผมก็ไม่ได้เคลมว่าผมเป็นคนที่สูญเสียคนเดียว ผมคิดว่ามันมีคนที่สูญเสียมากกว่าผมเยอะแยะ พูดถึงการสูญเสียชีวิตเลยก็มี เพราะฉะนั้นผมไม่สามารถที่จะพูดได้ว่าการสูญเสียของผมยิ่งใหญ่ที่สุด ผมก็เลยไม่อยากเอาตัวเองมาเป็นศูนย์กลาง
คิดว่าถ้ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในอนาคตได้ มันก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลง for them. It’s good for them. It might be good for me, but it is definitely good for them. เท่านั้นแหละ
อาจารย์อยากกลับไทยไหม
เรื่องนี้ต้องเคลียร์ก่อน อยากกลับไทยด้วยสองเหตุผล เหตุผลแรกคือเหตุผลเรื่อง legitimacy ทำไมฉันกลับไทยไม่ได้ มันเป็นประเทศบ้านเกิดฉัน ไม่เกี่ยวกับเรื่องอยากหรือไม่อยาก แต่ฉันต้องมีสิทธิ์กลับไทย แล้วถ้าฉันมีสิทธิ์ มันขึ้นอยู่กับว่าฉันอยากหรือไม่อยาก นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ฉันต้องได้สิทธิ์นั้น แต่ฉันถูกเอาสิทธิ์นั้นไป ประการที่สองกลับมาเรื่องอยาก แน่นอน มันเป็นบ้านเกิดเรา ครอบครัวเรายังอยู่ที่นั่น เรามีเพื่อน เรามีอาหารที่เราอยากกิน เรามีสถานที่ที่อยากไป ตัดออกไปแล้วนะสองเรื่อง เรื่องสิทธิ์ความชอบธรรม กับแน่นอนเรื่องที่อยากจะกลับ
แต่ถ้าถามว่า จะกลับไปอยู่ไหม คำตอบคือไม่ ถึงแม้ว่าผมได้กลับวันนี้ – ปวินกลับมาได้เลย – ผมก็จะกลับ กลับไปเยี่ยม กลับไปเที่ยว แต่ถามว่าแบงก์คอกหรือว่าไทยแลนด์เป็นบ้านผมไหม no, it will never be ผมคิดว่าชีวิตผมมูฟออนไปแล้ว แล้วการพูดอย่างนี้ไม่ใช่พูดเพราะองุ่นเปรี้ยวด้วย สลิ่มเอาไปฟัง สลิ่มก็คิดว่า แน่นอนสิ มึงพูดว่ามึงไม่อยากกลับเพราะมึงกลับไม่ได้อยู่แล้ว – โน ผมกล้าพอที่ผมจะพูดเลยว่า ถึงผมกลับได้ ณ วันนี้ผมก็อาจจะกลับ แต่ว่ากรุงเทพฯ หรือไทยไม่ใช่บ้านผมอีกแล้ว บ้านผมคือที่อื่น ผมไม่สามารถกลับไปอยู่ในสภาพแบบนั้นได้อีก ถึงแม้ว่าเมืองไทยจะเปลี่ยนไป ถึงแม้ว่าจะเป็นสังคมประชาธิปไตยก็ตาม แต่ไลฟ์สไตล์ผมเปลี่ยนไปแล้ว ผมไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ไปแล้ว แล้วผมโชคดีที่ส่วนใหญ่ผมไปอยู่ในโลกตะวันตก คือผมไม่ได้ไปอยู่ในประเทศที่มันแย่กว่าเมืองไทย ผมไปอยู่ในประเทศที่มันดีกว่าเมืองไทย แล้วผมก็ได้รับอะไรที่มันดีๆ มาจนกระทั่งผมไม่สามารถที่จะประนีประนอมกับอะไรที่มันต่ำกว่านี้ได้อีกแล้ว รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับสิทธิ สวัสดิการ เรื่องเกี่ยวกับความเท่าเทียมที่ผมได้ ผมจะไปรับอะไรที่มันต่ำกว่าทำไม ไม่เอาดีกว่า ผมอยากจะ set record ให้เคลียร์ตรงนี้ เพราะมันมีคนพูดแซะว่า กูรู้ว่ามึงก็อยากกลับ ก็แน่นอนอยากกลับ แต่เรื่องกลับไปอยู่ 100% ไม่แน่นอน
พอเห็นประเทศที่ดีกว่าหรือว่ามีเสรีภาพมากกว่า พอให้กลับไปอยู่ในไทยคงดูเหมือนยาก
ถูกต้อง เอาง่ายๆ เลย คุณอยู่ในโซล คุณก็รู้ว่ามันเป็นยังไง คำถามผมมีคำถามเดียว ในวันที่ฝนตกหนักที่กรุงเทพฯ ในวันที่เธอต้องนั่งรถเมล์ไปทำงาน ในวันที่เธอออกไปยืนแล้วฝนตก แล้วเธอก็ไม่รู้ว่ารถเมล์จะมากี่โมงเพราะมันไม่เคยบอกเธอเลย เมื่อรถเมล์มาถึงปุ๊บคนก็แย่งกันขึ้น แล้วก็เบียดเสียด แล้วเธอต้องติดอยู่บนรถเมล์ เธอต้องติดอยู่บนถนนที่รถติด จนกระทั่งทุกอย่างมันเละมอมแมมหมด แล้วเราถามตัวเองว่าทำไมฉันต้องเจอเรื่องแบบนี้ ถ้าฉันอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง ฉันไม่จำเป็นจะต้องมาผ่านเรื่องพวกนี้ ฉันมีรถไฟฟ้าใต้ดิน ฉันมีจักรยาน ฉันมีทางเท้าดีๆ ที่เดินไปได้
ที่ผมพยายามจะพูดก็คือ ชีวิตของเราทุกคนเราสมควรได้รับอะไรที่ดีกว่าได้ เท่านั้นแหละ
ทำไมคนสวีเดนถึงอยู่สบาย แล้วพอเราเป็นคนไทยเราต้องรับความซวยนี้เหรอ ไม่ ฉันไม่เอา ฉันต้องการได้ความสบายแบบนั้น แล้วมันผิดเหรอที่ฉันต้องการได้ความสบายแบบนั้น ไม่ผิด
เพราะฉะนั้นโทษใครไม่ได้หรอก เมื่อออกมาอยู่ต่างประเทศแล้ว ผมไม่ได้บอกว่าต่างประเทศคือสวรรค์ ในความเป็นจริงสวีเดนก็เป็นประเทศที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในหลายๆ เรื่อง แต่มันก็มีด้านมืดเหมือนทุกประเทศ แต่โดยรวมมันเป็นสังคมที่แคร์ประชากร แต่ไทยไม่แคร์
ปีหน้าก็น่าจะมีเลือกตั้ง พอจะมีความหวังใดๆ ไหม หรืออาจารย์มองยังไงกับการเมืองไทยในปีหน้า
พูดเรื่องนี้เอาตรงๆ นะ เบื่อและเหนื่อย เมื่อเช้าเจอข่าวของคุณทักษิณที่พูดเมื่อวานบอกว่าอยากให้เด็กกลับมากลายเป็นพลเมืองที่ดี ทำไมผมถึงพูดเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเขายังเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังหนึ่งในพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เพราะฉะนั้นโอกาสที่เขาจะมีการชนะเลือกตั้งมันก็ยังเป็นไปได้อยู่ แม้ว่าอาจจะไม่ได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน ถ้าเขาแพ้ก็เป็นเรื่องที่เลวร้าย เพราะเท่ากับเผด็จการชนะ แต่ถ้าเขาชนะมันก็ไม่ใช่ชัยชนะของเรา เพราะพอฟังสิ่งที่เขาพูดเมื่อวานแล้วเศร้าใจ นี่มันเป็นคำตอบที่ผมทั้งเบื่อและเหนื่อย
แล้วเราจะหวังอะไรจากการเลือกตั้งที่เรามีพรรคการเมืองที่วนเวียนกับผลประโยชน์ตัวเองอยู่แบบนี้ และอยู่ฝั่งประชาธิปไตยด้วย อาจจะมีพรรคก้าวไกล ก็ไปไม่สุด แล้วบ่อยครั้งก็ตกหลุมตัวเอง ก็อาจจะดีกว่าพรรคอื่นหน่อย แต่มันก็อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
เราบอกตัวเองเหมือนกันว่า เราก็โชคดีที่เราไม่ต้องไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น คือออกมออยู่นอกประเทศเลย แต่ตอบอย่างนี้ก็เป็นการตอบกำปั้นทุบดิน เอาอย่างนี้แล้วกันว่า ผมไม่ตื่นเต้นกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น แต่ถามว่าไม่มีเลือกตั้งเลยเอาไหม ก็ไม่ได้อีก มันก็ต้องมี อย่างน้อยมันก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่ง แต่อย่างการเลือกตั้งที่แล้วเมื่อปี ค.ศ.2019 มันเป็นคำตอบของเราหรอ ก็ไม่ใช่ ในที่สุดประยุทธ์ก็กลับมา แล้ว ค.ศ.2023 มันก็อาจจะเป็นรูปแบบเดียวกันอีกหรือเปล่า ถ้าประยุทธ์กลับมาอีก ก็ไม่ต้องพูดอีกเลย แต่ถ้าเกิดว่าฝ่ายเรากลับเข้ามาแล้ว แต่ถ้าเกิดฝ่ายเรามันมีจุดยืนของการที่ไม่สนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ แบบที่เราเพิ่งได้ยินคุณทักษิณพูด แล้วเราจะตื่นเต้นไปทำไม