ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ว่าคณะรัฐประหารนั้น จะอยู่นาน 1 ปี หรือยาวถึง 5 ปี และไม่ว่าคณะรัฐประหารนั้น จะมี ‘มือกฎหมาย’ ที่เชี่ยวชาญมากเพียงใด ช่วงเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากคณะรัฐประหาร กลับเข้าสู่สภาวะปกติมักจะมีปัญหาเสมอ
หนังสือ How Democracies Die ของ Steven Levitsky และ Daniel Ziblit หนังสือขายดี เมื่อปี 2561 สรุป ‘จุดจบ’ ของระบอบอำนาจนิยมไว้ว่า สิ่งที่อันตรายที่สุดคือการ ‘รวบอำนาจ’ ทุกอย่างไว้ที่ตัวเอง ละเลยระบบ ‘แบ่งแยกอำนาจ’ เพิกเฉยต่อกลไกตรวจสอบ ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม ยิ่งเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลอำนาจเบ็ดเสร็จเข้าไปยุ่มย่ามกับกระบวนการยุติธรรม พร้อมกับไม่ได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ เมินเฉยต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในที่สุด ไม่ว่า ‘อำนาจ’ นั้น จะฝังรากลึกขนาดไหน ก็มีโอกาสสูงที่สุดท้าย อำนาจที่ได้มาจะมีอันต้องอันตรธานหายไป
ย้อนกลับไปเมื่อ 27 ปีที่แล้ว หลังจากรัฐประหารวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ได้ไม่ถึง 2 เดือน คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งมี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด บิดาของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกและเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติคนปัจจุบันเป็นประธาน ก็แต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ รวม 20 คน โดยให้ มีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี นักกฎหมายชั้นเซียนเป็นประธาน โดยมี ‘คนหนุ่ม’ ในวันนั้นอย่าง วิษณุ เครืองาม ด็อกเตอร์กฎหมายจากสหรัฐอเมริกา และ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีต ส.ส. นครราชสีมา จากพรรคปวงชนชาวไทยร่วมร่างรัฐธรรมนูญด้วย
หลังยึดอำนาจใหม่ๆ แพตเทิร์นสำคัญก็คือการรีบเร่ง ‘เข็น’ รัฐธรรมนูญออกมา เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง และบอกกับชาวโลกว่าจะออกจากภาวะผิดปกตินี้ให้เร็วที่สุด
นายกรัฐมนตรีที่ รสช. แต่งตั้งอย่าง อานันท์ ปันยารชุน ซึ่งมาจากภาคธุรกิจและเคยเป็นนักการทูตมาก่อน รู้ดีว่าทั้งนักลงทุน ทั้งรัฐบาลต่างชาติไม่ชอบสภาวะผิดปกติแบบนี้ หากจะปล่อยเวลาให้ลากยาวออกไปก็มีแต่รัฐบาลจะเสียชื่อเอง เขาจึงตัดสินใจทิ้งระยะห่างจาก รสช. และไม่ไปยุ่งกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ
กลางปี 2534 แม้รัฐธรรมนูญจะยังไม่คลอด พรรคสามัคคีธรรม พรรคทหารร่างทรงของ รสช. ก็ตั้งเรียบร้อยเพื่อพร้อมทำหน้าที่เป็น ‘พลังดูด’ อดีต ส.ส. ดูดอดีตรัฐมนตรีที่ถูก รสช. รัฐประหาร และดูดแม้กระทั่งผู้ที่ถูกตรวจสอบทรัพย์สินกรณี ‘ร่ำรวยผิดปกติ’ ให้ย้ายมาร่วมกับพรรคทหารด้วยข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้
ในห้วงเวลานั้น หลายคนเริ่มรู้แล้วว่ามีโอกาสสูงที่ รสช. จะสืบทอดอำนาจต่อ โดยนายกรัฐมนตรีคนต่อไป หน้าตาน่าจะคล้ายกับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. และแกนนำ รสช. แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธมาตลอด เพราะรัฐธรรมนูญของมีชัยนั้น ได้เปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอก ตามบริบทของการเมืองที่ทหารเป็นใหญ่ พร้อมกับสอดไส้การสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการให้ รสช. เป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว., การให้ ส.ว. มีอำนาจเทียบเท่า ส.ส. และให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ หนึ่งในแกนนำ รสช. ให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯ คนต่อไปควรมาจากทหาร โดยเหตุผลสำคัญคือเพื่อป้องกันการปฏิวัติ และหากอยากให้บ้านเมืองสงบ นายกฯ ควรจะต้องมาจากทหาร
แต่สิ่งที่ รสช. ไม่ได้ประเมินคือ การเมืองไทยมี ‘ตัวแปร’ ที่คาดไม่ถึงเสมอ ในรอบนี้คือ กลุ่มที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ได้ ‘ดีล’ ด้วยอย่างพรรคพลังธรรม ของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง รวมไปถึงพันธมิตรเก่าอย่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ต่างก็จับมือต้าน รสช. กันอย่างหลวมๆ
ผลการเลือกตั้ง วันที่ 22 มีนาคม 2535 พรรคสามัคคีธรรม ได้รับเลือกมากเป็นอันดับที่ 1 การจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคราษฎร จึงเกิดขึ้น และคนที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จึงควรจะเป็น ณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม มากกว่าคนอื่น
แต่ดูเหมือนว่าผู้อยู่เบื้องหลังจะรู้ดีว่าชื่อของณรงค์มีปัญหา ไม่อาจรับตำแหน่งได้ ทางเลือกของ ‘คนนอก’ จึงเกิดขึ้น จนในที่สุด 5 พรรคการเมืองก็ตัดสินใจชู พล.อ.สุจินดา เป็นนายกฯ เป็นอันสมใจ พล.อ.สุนทร ผู้วางหมากตั้งแต่แรก
ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายค้านก็ดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งเช่นเดียวกัน พรรคที่ได้เสียงมากสุดของฝ่ายนี้คือพรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต เช่นเดียวกับพรรคพลังธรรมของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ สื่อมวลชนในขณะนั้นประเมินตรงกันว่า รัฐบาลนี้น่าจะไปเร็วกว่าที่คิด
จุดเริ่มต้นของจุดจบเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พล.อ.สุจินดา ตัดสินใจ ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ ขึ้นรับตำแหน่งนายกฯ พร้อมกับกล่าวโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นพวกฝักใฝ่ ‘ลัทธิคอมมิวนิสต์’ ท่ามกลางเสียงโห่ในสภา ทั้ง พล.อ.ชวลิต และ พล.ต.จำลอง ก็ลงสู่สนามการเมือง ‘นอกสภา’ ร่วมกับบรรดาเครือข่ายนักศึกษา-นักวิชาการ และบรรดา ‘นักธุรกิจ’ ที่มาชุมนุมพร้อมกับโทรศัพท์โมโตโรล่า ราคาเครื่องละเป็นแสนบาท จนกลายเป็นที่มาของชื่อ ‘ม็อบมือถือ’
ปัญหาก็คือ บรรดาคณะ รสช. ที่ถืออำนาจรัฐอยู่ประเมินกำลังของกลุ่มต้านต่ำเกินไป เพราะเพียงไม่กี่วัน การอดข้าวอดน้ำประท้วงของ พล.ต.จำลอง ก็กลายเป็นการชุมนุมใหญ่ ซึ่งหลังฉากก็คือสมรภูมิรบของทหาร 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งคือผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองอย่าง พล.อ.สุจินดา และกองทัพ เป็นฝ่ายนำ
อีกขั้วหนึ่ง มีทั้ง พล.อ.ชวลิต และ พล.ต.จำลอง ซึ่งได้รับการเปิดเผยภายหลังว่า จำลอง ไม่ใช่คนเดียวที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดยุทธศาสตร์ แต่ยังมี พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนเตรียมทหาร จปร.7 ของจำลอง คู่แค้นกับรุ่น จปร.5 ซึ่งอยู่ในฟากฝั่งผู้มีอำนาจรัฐด้วย
พล.อ.พัลลภ ให้สัมภาษณ์หลังจากนั้นอีก 10 ปีเศษว่า เขาเป็นคนวางแผน ‘เผา’ สน.นางเลิ้ง ซึ่งกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจใช้อาวุธหนักกับผู้ชุมนุม จนลุกลามกลายเป็นเหตุ ‘พฤษภาทมิฬ’ เพราะหลังจากนั้น ทั่วกรุงเทพฯ ก็อยู่ในสภาพจลาจล เมื่อแก๊งมอเตอร์ไซค์ลึกลับ (ซึ่งมีบางพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง) ก็ปฏิบัติการ ‘แก้แค้น’ ทหาร วิ่งว่อนไปทั่วกรุง ส่วนกองทัพบกก็จัดตั้งหน่วยไล่ล่า และใช้ ‘กระสุนจริง’ จัดการทุกคนที่อยู่ในข่ายก่อความไม่สงบ ผลก็คือหลายคนที่เสียชีวิต ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับแก๊งมอเตอร์ไซค์เลย
ไม่กี่วันต่อมา ภาพทหารจัดการกับผู้ชุมนุมด้วยกระสุนจริง ภาพการ ‘เผา’ กรมประชาสัมพันธ์ และกองสลากกินแบ่งรัฐบาลก็ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ในที่สุด คืนวันที่ 20 พฤษภาคม รสช. ก็หมดอำนาจลง หลังจากทีวีแพร่ภาพการเข้าเฝ้าฯ ที่สวนจิตรลดาของ พล.ต.จำลอง และ พล.อ.สุจินดา จนตามมาด้วยการลาออกจากตำแหน่งของ พล.อ.สุจินดา ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งนายกฯ ได้เพียง 47 วันเท่านั้น
เป็นอันปิดฉากการเข้ามายุ่งกับการเมืองของทหาร แม้จะถูกวางแผนเป็นอย่างดี มีทั้งรัฐธรรมนูญ มีทั้งพรรคการเมือง และมีทั้งเสียง ส.ส. สนับสนุนจากหลายพรรค
บทเรียนของเหตุการณ์ช่วงปี 2534-2535 นำไปสู่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อสร้างระบบการเมืองให้เข้มแข็ง และสร้างระบบตรวจสอบ ‘นักการเมือง’ ผ่านองค์กรอิสระ จนออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อไม่ให้ทหารเข้ามายุ่งกับระบบการเมืองอีก
การเมืองไทยเหมือนจะหยุดนิ่ง ระบอบประชาธิปไตยเหมือนจะเดินหน้าต่อได้ แต่ 14 ปีหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ทหารก็กลับมาอีกครั้งในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พร้อมกับชูธงเดิมคือต้องต่อสู้กับ ‘คอร์รัปชั่น’ แต่เพิ่มบทเรียนใหม่ว่าด้วยการสร้างมวลชนที่ ‘สนับสนุน’ ทหาร และมวลชนผู้รักความสงบ
ต่างก็แต่เพียงรอบ รสช. นั้น ทหารใช้เวลาแค่ 2 ปี ก็จากไป แต่ในรอบหลัง พวกเขาใช้เวลานาน 13 ปี ในการสู้กับศัตรู ซ้ำยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในสงครามนี้ต่อไปเรื่อยๆ ราวกับว่าความ ‘ไม่สงบ’ คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสรณะ และทหารเป็นสิ่งจำเป็นที่อยู่คู่การเมืองไทย นั่นหมายความว่า หากไม่อยากได้นักการเมืองโกงก็มีหนทางเดียวคือต้องให้ทหารสืบทอดอำนาจต่อ เพื่อจัดการกับการ ‘คอร์รัปชั่น’
แต่คำถามที่พวกเขาลืมตอบก็คือ ในระบอบที่ดำรงอยู่นี้ไม่มีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นเลยหรือ?
ประวัติศาสตร์ได้ทำให้เห็นแล้วว่า แม้จะมีรัฐธรรมนูญเป็นของตัวเอง แม้จะมีอำนาจในมือมาก และรู้สึกว่าการสืบทอดอำนาจเป็นเรื่องที่ควบคุมได้นั้น เมื่อมีตัวแปรมากขึ้น เมื่อมีผู้คนเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น และเมื่อ ‘อยู่นาน’ จนมีศัตรูที่มองไม่เห็นมากขึ้น รวมถึงยังมีสิ่งแปลกปลอมอย่างการสื่อสารสมัยใหม่ที่พวกเขาเข้าไม่ถึงนั้น สุดท้าย อำนาจที่คิดว่ามั่นคงนั้น ก็อาจ ‘เสื่อม’ เร็วกว่าที่คิด
และก็เป็นประวัติศาสตร์อีกเช่นกันที่ทำให้ได้รู้ว่า เมื่อใดก็ตามที่คณะทหารคิดว่าตัวเองมีอำนาจล้นฟ้า เมื่อนั้นคือช่วงเวลาอันแสนเปราะบาง ในที่สุด พอถึงเวลาจะพัง ก็พังโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น