ฉันเคยมีปัญหาเรื่องเซ็กซ์ ฉันคิดว่าฉันหายแล้ว
เดินทางมาถึงซีซั่นสุดท้ายแล้วสำหรับซีรีส์ที่ชวนคนทั้งโลกมาตั้งคำถามถึงความสำคัญของเพศศึกษา และอันที่จริงก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า สื่อบันเทิงหนึ่งเรื่องจะสามารถนำเสนอประเด็น ทั้งเรื่องเซ็กซ์ ความหลากหลายทางเพศ ครอบครัว รูปแบบความสัมพันธ์ ฯลฯ ได้มากกว่าที่ระบบศึกษาของหลายๆ ประเทศจะให้ได้
ในวาระที่โอทิสและผองเพื่อนโรงเรียนมัวร์เดล ไม่สิ คาเวนดิชกำลังจะบอกลาคุณผู้ชมทางหน้าจอ The MATTER ขออาสาพาทุกคนไปร่วมสำรวจและทำความเข้าใจกันอีกครั้งกับ 8 บทเรียนเร่งรักที่ซีรีส์เรื่องนี้ช่วยให้เราเข้าใจตัวเองและคนรอบข้างมากกว่าที่เคย
ความต้องการทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ
น้อยครั้งที่หัวข้อความต้องการทางเพศจะถูกพูดถึงอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาในสังคมไทย แต่ใน Sex Education กลับเน้นย้ำอยู่เสมอว่า ความต้องการทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นกับมนุษย์แทบทุกคน
- ฮอร์โมนและอารมณ์
“การช่วยตัวเองคือเรื่องปกติและดีต่อสุขภาพ”
เป็นสิ่งที่จีน มิลเบิร์น แม่ของโอทิสอธิบายให้ลูกชายเข้าใจ และตลอดทั้ง 4 ซีซั่น ผลงานจากเน็ตฟลิกซ์ก็ทำให้ผู้ชมเข้าใจว่า ความต้องการทางเพศเกิดขึ้นจากฮอร์โมนในร่างกาย ทั้งยังเป็นเรื่องปกติเมื่อมนุษย์ก้าวเข้าสู่วัยรุ่นเต็มตัว นอกจากนี้ อารมณ์ความรู้สึก สิ่งเร้ารอบข้าง รวมถึงเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันล้วนส่งผลต่อความต้องการทางเพศทั้งสิ้น มันจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจเพื่อให้ทุกคนที่เติบโตเป็นวัยรุ่นครั้งแรกรู้เท่าทันตัวเอง ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ หรือที่แน่ๆ มันย่อมดีกว่าการมองข้ามและหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยถึงเรื่องนี้ดังที่ตัวละครเมฟ ไวลีย์ได้พูดไว้ในซีซั่น 3 ตอนที่ 4 ว่า
“เราไม่ควรต้องอายที่มีความต้องการทางเพศ”
- คนพิการก็มีความต้องการทางเพศ
เป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก เพราะไม่บ่อยนักที่สื่อจะหยิบยกความรักและความต้องการทางเพศของผู้พิการมานำเสนอ โดยตั้งแต่ซีซั่นที่ 2 เป็นต้นมา ตัวละครอย่างไอแซคที่รับบทโดยจอร์จ โรบินสัน (George Robinson) คือภาพแทนของผู้พิการที่ต้องดำเนินชีวิตบนรถเข็น โดยซีรีส์สร้างความเข้าใจกับผู้ชมว่า แม้จะเป็นผู้พิการบางคนจะที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายช่วงล่างได้ เขาก็ยังมีความต้องการทางเพศและอยากมีเซ็กซ์ไม่ต่างจากคนอื่นๆ บางส่วนบนเรือนร่างของเขายังคง ‘รู้สึก’ ขอเพียงคนรอบข้างใจกว้างมากพอที่จะทำความเข้าใจ
และนอกจากการชูเรื่องราวที่ช่วยให้คนส่วนมากเข้าใจผู้พิการมากขึ้น การที่ผู้สร้างเลือกจอร์จ ซึ่งเป็นผู้พิการในชีวิตจริงมารับบทนี้ก็ตอกย้ำถึงความเท่าเทียมที่ซีรีส์ต้องการสื่อทั้งในและนอกจออีกด้วย
Sex คือเรื่องที่ควรสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่บอกให้หักห้ามใจ
- การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและยินยอมกันทั้ง 2 ฝ่าย
เรื่องหนึ่งที่ Sex Education กล่าวกับคนดูอย่างสม่ำเสมอคือการขอความยินยอมอย่างชัดเจนทุกครั้งก่อนมีเซ็กซ์ เพราะต่อให้ฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่ ทั้งที่ใจอยาก อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ควร ‘คิดเอาเอง’ ว่าทำได้ ซึ่งในซีซั่น 4 ตอนที่ 2 โอทิสก็ได้ให้คำแนะนำแจ็กสันที่กำลังมีความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดว่า
“นายกับเธอควรขอความยินยอม ซึ่งก็คือการถามเพื่อให้อีกฝ่ายยินยอมด้วยความยินดี ไม่ใช่มีเซ็กซ์กันแค่เพราะอีกคนไม่ได้ห้าม”
นอกจากนี้ ซีรีส์ยังใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์ด้วย เช่น ความพยายามในการสื่อสารว่าการใช้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องจำเป็น การกินยาคุมฉุกเฉินไม่ใช่เรื่องผิดหรือน่าอาย หรือในซีซั่น 2 ตอนที่ 6 ก็มีการให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสวนล้างก่อนการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เป็นต้น
- การคุยกับคู่นอนว่าอยากมีเซ็กซ์แบบไหน
ในซีซั่น 1 ตอนที่ 2 มีคู่รักที่ผิดใจกันเพราะไม่เข้าใจรสนิยมการมีเซ็กซ์ของอีกฝ่าย ซึ่งโอทิสที่เพิ่งเริ่มเปิดคลินิกเพศศึกษาในโรงเรียนได้แนะนำให้ทั้งคู่เปิดใจคุยกันตรงๆ เพราะต้นตอของปัญหาอาจไม่ใช่ความต้องการของแต่ละฝ่าย ทว่าอาจเป็นเพราะความเขินอายที่จะร้องขออย่างจริงใจ
ท้ายที่สุด คู่รักคู่นี้ก็เข้าใจตรงกันว่า สิ่งที่ฝ่ายหญิงต้องการคือการดับไฟขณะมีเซ็กซ์ ขณะที่ฝ่ายชายอยากเห็นร่างกายเปลือยเปล่าของคู่นอน นำไปสู่การตกลงหาตรงกลางร่วมกัน
นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการถามไถ่คู่นอนของเราว่าต้องการมีเซ็กซ์แบบไหน เพราะเซ็กซ์ที่มีคุณภาพย่อมเกิดจากการพูดคุยและทำความเข้าใจ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่คาดหวังและรู้สึกสบายใจกันทั้ง 2 ฝ่าย
- จุดสุดยอด
การเสร็จของเพศหญิงไม่ใช่สิ่งที่ถูกพูดถึงบ่อยนัก กระนั้นในซีรีส์ก็พยายามชี้ให้เห็นว่า ผู้ชายส่วนหนึ่งยังมีความเข้าใจที่ผิด โดยคิดว่าขนาดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำให้ผู้หญิงถึงจุดสุดยอด ทั้งที่จริงๆ สิ่งที่สำคัญกว่าซึ่งตอนที่ 1 ของซีซั่น 3 บอกกับเราอาจจะเป็นปุ่มกระสัน (clitoris) ของเพศหญิง อีกทั้งการถึงจุดสุดยอดก็อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเป้าหมายหลักของการมีเพศสัมพันธ์เสมอไป
ทางฝั่งของเพศชาย แม้จะมีการให้ความรู้เรื่องจุดสุดยอดอย่างแพร่หลายในโลกอินเทอร์เน็ต แต่ซีรีส์ก็ยังเพิ่มเติมแง่มุมในเรื่องของการเสร็จทางทวารหนัก (Anal Sex) ไว้ด้วย โดยในซีซั่น 4 ตอนที่ 2 ซีรีส์ได้ฉายภาพไปที่ตัวละครแจ็กสันที่เข้าใจมาตลอดว่าตัวเองเป็นเพศชายที่มีความรู้สึกต่อเพศหญิง (Heterosexual) แต่การถึงจุดสุดยอดทางทวารหนักก็ทำให้เขาเริ่มสับสนในตนเอง ก่อนที่โอทิสจะอธิบายให้ฟังว่า
“เพศวิถีไม่ใช่สิ่งตายตัว และมันปกติมากที่จะตั้งคำถาม แต่อันที่จริงผู้ชายที่ชอบผู้หญิงหลายคนก็ชื่นชอบที่จะให้คู่รักคลึงต่อมลูกหมากเช่นกัน”
ความงดงามของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
- การค้นหาตัวตนของ LGBTQ+
“ความกลัวของพ่อไม่ช่วยอะไร มันทำให้ผมรู้สึกอ่อนแอ”
“แต่ทำไมลูกต้อง…ต้องแต่งตัวเยอะขนาดนี้”
“นี่คือตัวตนของผม”
“พ่อไม่อยากให้ลูกเจ็บปวด”
“ยังไงผมก็เจ็บปวดอยู่ดี แล้วมันดีกว่ามั้ย ถ้าผมจะเจ็บ แต่ยังได้เป็นตัวเอง”
อาจจะพอพูดได้ว่า Sex Education เป็นหนึ่งในซีรีส์ซึ่งมีตัวละคร LGBTQ+ มากที่สุดเรื่องหนึ่ง โดยทีมเขียนบทก็ทำการบอกเล่าเส้นทางการค้นหาตัวตนของคนหลายกลุ่ม โดยบทสนทนาข้างต้นอยู่ในซีซั่นแรกที่ตัวละครเอริคกำลังค้นหาตัวตนและการยอมรับจากคนในครอบครัว นอกจากนี้ อีกหลายตัวละคร เช่น อดัมก็พยายามทำความเข้าใจการเป็นไบเซ็กชวลของตัวเอง หรือในซีซั่นล่าสุด ตัวละครคาล โบว์แมนก็อยู่ในช่วงเรียนรู้เกี่ยวกับการเทคฮอร์โมนเพศชายและเริ่มวางแผนผ่าตัดหน้าอก ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่ยังไม่มีการให้ความรู้มากเท่าที่ควรในสังคมไทย
- Asexual: เพศที่ถูกมองข้าม
อันที่จริง ในซีซั่น 2 ตอนที่ 4 ก็เคยมีการเผยให้เห็นด้านที่โดดเดี่ยวแปลกแยกของตัวละครเอเซ็กชวลหรือบุคคลที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศมาแล้ว และว่ากันตามความเป็นจริง สังคมยังไม่มีการสร้างความเข้าใจในเรื่องคนกลุ่มนี้อย่างเพียงพอ หรือที่เลวร้ายที่สุดคือคนบางกลุ่มยังไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าเพศนี้มีอยู่จริง จนในซีซั่นสุดท้าย ผู้สร้างก็เลือกที่จะเพิ่มตัวละครอย่างโอ ที่ยอมทำทุกวิถีทางเพื่อปกปิดเพศวิถีของตัวเองเพราะไม่อยากเป็นตัวประหลาดในสายตาคนอื่น นับเป็นการตีความตัวละครที่ช่วยให้เราเข้าใจว่า เอเซ็กชวลก็เป็นเพียงคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความต้องการและรสนิยมเป็นของตัวเอง สิ่งที่เขาหรือเธอชื่นชอบอาจจะต่างจากคนอื่น ทว่าก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด
- อาจถึงเวลาที่ศาสนาต้องโอบรับความหลากหลายทางเพศ
สถาบันหนึ่งที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการแสดงตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศคือศาสนา ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ ไม่ใช่ทุกศาสนาและนิกายที่อนุญาตให้ LGBTQ+ เป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการสำรวจตัวตน รากเหง้าของครอบครัว ตลอดจนศาสนาคริสต์ของเอริคช่วยให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความท้าทายในการอยู่ร่วมกันของ 2 สิ่ง ทว่าในชีวิตจริงก็อาจจะยังคิดไม่ตกว่า แล้วฉันควรทำอย่างไร ถ้าศาสนาที่นับถือไม่ยอมรับฉันในแบบที่ฉันเป็น
การรับฟังและโอบกอดของครอบครัว
- ความเข้มงวดสู่การเก็บกด
อดัมและพ่อเป็นตัวอย่างชั้นดีที่ทำให้ผู้ชมตระหนักว่า ความเข้มงวดของบุพการีอาจส่งผลให้ลูกที่พ่อแม่อยากให้เติบโตมาอย่างดีมีพฤติกรรมเก็บกด อดัมต้องใช้เวลาถึงซีซั่นสุดท้ายกว่าจะกล้าเปิดใจกับผู้เป็นพ่อตรงๆ ว่า พ่อทำให้เขาไม่หลงเหลือความมั่นใจในตัวเอง คิดว่าตัวเองห่วยตลอดเวลา และทุกครั้งที่อดัมก่อความผิดพลาด สิ่งแรกที่เขาคิดคือพ่อจะผิดหวังในตัวเขาหรือไม่
อย่างไรก็ดี เราก็ต้องให้ความชอบธรรมกับผู้เป็นพ่อด้วย เพราะพ่อของอดัมถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวที่มีพ่อเข้มงวด(กว่า) และมีพี่ชายที่ข่มเหงรังแกเขาไม่เว้นวัน แต่กระนั้น เราก็รู้ดีว่านี่ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะช่วยให้สิ่งที่เขากระทำต่ออดัมเป็นเรื่องยอมรับได้ เราเพียงอยากชี้ให้เห็นว่า รูปแบบการเลี้ยงดูเป็นสภาพแวดล้อมซึ่งส่งผลต่อเนื่องเป็นทอดๆ จากรุ่นปู่ย่า รุ่นพ่อแม่ สู่รุ่นลูก และดีไม่ดีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่คนเป็นผู้ปกครองไม่แม้กระทั่งใส่ใจก็อาจทำให้เด็กคนหนึ่งมีปมไปชั่วชีวิต หากว่าเขาไม่ได้รับการเยี่ยวยาที่ทันท่วงที
- ครอบครัวไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของพ่อ แม่ ลูก
ในตอนที่ 5 ของซีซั่น 1 Sex Education ได้พาเราไปสำรวจครอบครัวของแจ็กสันที่ไม่ได้ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก แต่เป็น แม่ แม่ และลูก ซึ่งเป็นภาพที่ย้ำว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศก็สามารถสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ได้เช่นเดียวกัน ครอบครัวไม่จำเป็นต้องมีพ่อกับแม่เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ลูกน้อย เพราะไม่ว่าจะเป็นพ่อกับพ่อ แม่กับแม่ หรือจะเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใดก็แล้วแต่ ทุกคนก็สามารถประคับประคองบุตรหลานจนเติบโตได้อย่างสมวัยไม่บกพร่อง หากมีความพร้อมและความเข้าใจที่มากพอ
- การสร้างความเชื่อใจคือสิ่งสำคัญ
ในซีซั่นที่ 4 แม่ของคาลซึ่งเคยแสดงท่าทีตกใจตอนที่ลูกสาวคัมเอาต์เป็นครั้งแรกกำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกกลับมาเปิดใจคุยกับเธออีกครั้ง ซีรีส์แสดงให้เห็นว่า แม้จะเป็นคนในครอบครัว การฟื้นฟูความเชื่อใจที่เสียไปแล้วก็จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลา ทว่าด้วยพยายามที่มากพอ เว้นจังหวะให้อีกคนเยียวยาความรู้สึกของตัวเอง ไม่แน่วันหนึ่งความไว้ใจก็อาจกลับสู่ครอบครัวจนบ้านกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยอีกครั้ง และอีกทางหนึ่ง ความสัมพันธ์ของแม่ลูกคู่นี้ก็สะท้อนให้ผู้ชมเห็นว่า ครอบครัวเป็นสายใยที่เปราะบาง ดังนั้น ทุกคนก็ควรใส่ใจและไม่ตัดสินเมื่อสมาชิกบอกเล่าความรู้สึกลึกๆ ให้เราฟัง
โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการให้ความรู้เพศศึกษา
- โอบรับไม่ใช่บังคับ
การควบคุมนักเรียนด้วยการวิธีบังคับ นอกจากจะทำให้นักเรียนรู้สึกต่อต้านในใจแล้ว ยังไม่เป็นผลดีต่อการให้ความรู้เด็กในระยะยาวด้วย ในซีซั่นที่ 3 ซึ่งโรงเรียนมัวร์เดลมีข้อห้ามมากมาย ทั้งเครื่องแบบ เครื่องประดับ การแต่งหน้า ไปจนถึงรูปแบบการลงโทษที่สร้างความอับอายถึงขั้นที่ลิลลี่ ไอเกิลฮาร์ตขอขังตัวเองอยู่ในห้องและไม่มาโรงเรียน ได้กลายเป็นเรื่องที่น่าขบคิดสำหรับบุคลากรของสถานศึกษาในโลกความจริงว่า เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคืออะไรกันแน่ ถ้าหากหลายสิ่งหลายอย่างย่ำแย่จนนักเรียนไม่อยากมาเรียน สิ่งที่ควรทำคือการลงโทษให้หลาบจำหรือโอบกอดและเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับยุคสมัย
- ส่งเสริมตรงจุด-ปลูกฝังเข้าใจ
แง่มุมหนึ่งที่ Sex Education ทำให้คนดูรู้สึกอบอุ่นใจคือการที่ครูบางคนในโรงเรียนพยายามส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ศักยภาพตามที่ตัวเองถนัด เมฟได้รับคำแนะนำจนได้ไปเรียนต่อยังสหรัฐอเมริกา ในขณะที่อดัมผู้เชื่อว่าตัวเองไม่มีด้านดี ก็สามารถพาสุนัขไปลงแข่งจนชนะรางวัลพิเศษในตอนสุดท้ายของซีซั่นที่ 3
ยิ่งไปกว่านั้น อีกหนึ่งพันธกิจที่โรงเรียนควรบรรลุให้ได้คือการปลูกฝังความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สุขศึกษา เพราะการสอนให้เด็กได้รู้จักกับร่างกายและความต้องการของตัวเองคือส่วนสำคัญในการเติบโตของมนุษย์คนหนึ่ง และสิ่งที่เหนี่ยวรั้งการเติบโตนี้ก็คือการบังคับให้เด็กอยู่ในกรอบและยัดเยียดค่านิยมว่า การมีเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่น่ากลัว เช่นเดียวกับในตอนที่ 6 ของซีซั่น 3 ที่เมฟได้บอกไว้ว่า
“คุณทำให้เซ็กซ์เป็นเรื่องน่ากลัว แต่ไม่เห็นต้องกลัว มันอาจเป็นเรื่องสนุกและสวยงาม…คุณควรจะสอนเราถึงวิธีมีเซ็กซ์อย่างปลอดภัย ไม่ใช่สั่งให้เราหักห้ามใจ เพราะวิธีนั้นใช้ไม่ได้”
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับน้องชายน้องสาว
- มันไม่ได้เบี้ยว มันพิเศษไม่เหมือนใคร
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ชายส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับขนาดของอวัยวะเพศ และหลายคนรู้สึกกังวลจนหมกมุ่นอยู่กับการเปรียบเทียบขนาดของตัวเองกับผู้อื่น ในซีซั่น 3 ตอนที่ 1 มีบทสนทนาซึ่งนักเรียนคนหนึ่งพูดไว้ว่า
“ฉันอยากให้ของฉันตรงกว่านี้ มันเลี้ยวไปด้านหน้านิดนึง มันเบี้ยวนั่นแหละ”
“มันไม่ได้เบี้ยว มันพิเศษไม่เหมือนใคร” คือสิ่งที่โอทิสตอบกลับ
คำพูดของโอทิสทำให้เราเข้าใจว่า อวัยวะเพศของทุกคนต่างกันออกไปในแบบของตัวเอง อาจจะจริงที่ว่าขนาดคือหนึ่งในปัจจัยของการมีเซ็กซ์ แต่ปัจจัยที่สำคัญกว่ามากคือการสื่อสารอย่างเข้าใจของคนที่กำลังสบตากัน เพราะพื้นฐานของการมีเซ็กซ์ที่ดีคือความปลอดภัย ความรู้สึก และการยินยอมพร้อมใจของคนสองคนหรือหลายคน หาใช่ตัวเลขที่บ่งชี้ว่าจู๋ของคนนั้นคนนี้มีเส้นรอบวงกี่เซนติเมตร
และเช่นเดียวกัน จิ๋มเองก็เป็นสิ่งที่หลายคนเข้าใจผิดและหลงคิดว่าต้องมีสีแบบนั้นจึงจะดี ต้องมีลักษณะแบบนี้จึงจะสวย ทั้งที่ในความเป็นจริง ลักษณะของอวัยวะเพศหญิงมีหลากหลายรูปแบบ แทนที่จะกังวลว่ามันควรจะเป็นอย่างไร เราควรภูมิใจที่มันพิเศษไม่เหมือนใครและดูแลมันให้ถูกสุขอนามัยมากที่สุด
- ความผิดปกติของอวัยวะเพศ
น่าจะเป็นหัวข้อท้ายๆ ที่ถูกพูดถึงใน Sex Education โดยในซีซั่นที่ 4 ตัวละครแจ็กสันพบว่าตัวเองมีก้อนเนื้อบริเวณองคชาต สำหรับใครหลายคน การพบสิ่งผิดปกติซึ่งเกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศคือเรื่องน่าอายและน่ากลัว จึงทำให้การพบแพทย์กลายเป็นตัวเลือกที่หลายคนเบือนหน้าหนีตรงข้ามกับแจ็กสันที่เลือกจะไปหาหมอทันทีที่พบก้อนเนื้อ
อย่างน้อยที่สุด การกระทำของตัวละครในเรื่องน่าจะช่วยเพิ่มความกล้าให้กับคนในโลกความจริง แจ็กสันทำให้เรารู้ว่า การไปพบแพทย์ ต่อให้เป็นเรื่องของจุดซ่อนเร้นก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ และยิ่งตรวจได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลดีเท่านั้น เพราะหากปล่อยไว้ อาการที่ควรจะรักษาได้ง่ายก็อาจเรื้อรังจนยากที่จะเยียวยา
การถูกคุมคามทางเพศไม่ใช่ความผิดของเหยื่อ
“แต่งตัวแบบนี้อันตรายนะ ใส่เสื้อผ้าให้มันมิดชิดหน่อย”
ปี 2023 แล้ว แต่คนบางกลุ่มยังออกมากล่าวโทษว่า ผู้ที่แต่งตัวเปิดเผยสมควรแล้วที่จะถูกข่มขืน ซึ่งในความเป็นจริง ไม่ว่าเราจะแต่งตัวอย่างไรก็ไม่มีใครมีสิทธิมาคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศเราได้ ผู้ถูกกระทำไม่ใช่สาเหตุของการคุกคามทางเพศ
ในซีซั่น 2 ตอนที่ 4 เอมีโดนชายแปลกหน้าช่วยตัวเองให้ดูบนบัส เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงจนเธอไม่กล้าขึ้นบัสอีกเลยหลังจากนั้น กระทั่งเรื่องราวค่อยๆ เผยว่า ไม่ใช่แค่เธอที่มีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศ และที่น่าเศร้าคือทั้งที่เหยื่อไม่ได้ทำอะไรผิด แต่กลับต้องทนทุกข์ทรมานเพราะมีภาพในอดีตตามหลอกหลอน
แผลใจของเอมีต้องใช้เวลาและแรงสนับสนุนในการเยียวยาเช่นเดียวกับผู้ที่มีประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศในโลกความจริง และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เขาและเธอจะสามารถก้าวผ่านความปวดร้าวคราวนั้นได้ และหวังว่าผู้ไม่หวังดีทั้งหลายจะได้รับบทลงโทษอย่างที่สมควรจะเป็น
แรงกดทับของคนเป็นแม่
- การทำแท้งอาจดีกว่าการมีลูกเมื่อไม่พร้อม
เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงตั้งแต่ซีซั่นแรก เมื่อเมฟพบว่าตัวเองท้อง และไปขอร้องให้โอทิสมารับหลังการผ่าตัด แม้บริบทในเรื่องจะมีการตั้งคำถามถึงหลักศีลธรรมไม่ต่างจากสังคมไทย ทว่าสิ่งที่แตกต่างสิ้นเชิงคือการเข้าถึงการทำแท้งนั้นดูจะทำได้ง่ายและทั่วถึงมากกว่าประเทศเราหลายเท่าตัว
โอฬาริก มุสิกวงศ์ นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช (เวชศาสตร์การเจริญพันธ์) เคยให้สัมภาษณ์กับ The Coverage ว่า ถึงตอนนี้ประเทศไทยจะให้การทำแท้งเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างถูกกฎหมายและมียายุติที่ปลอดภัยแล้ว แต่เราก็ยังพูดได้อย่างเต็มปากว่า ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะเลือกเข้าคลินิกทำแท้งเถื่อนก่อน เพราะไม่รู้ว่ามีสถานที่ใดบ้างที่จะสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้
คำพูดของโอฬาริกตอกย้ำอย่างข่มขื่นถึงความด้อยประสิทธิภาพในการกระจายความรู้สู่ผู้ที่ท้องไม่พร้อม และทำให้พวกเธอต้องเผชิญทั้งความเครียดและความเสี่ยงอย่างไม่จำเป็น
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร
ถูกบอกเล่าผ่านตัวละครจีน มิลเบิร์นในซีซั่นที่ 4 ซึ่งภาวะนี้เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้รับการให้ความสำคัญมากเท่าที่ควร และยังมีผู้เป็นแม่อีกมากที่กำลังประสบปัญหา แต่ยังไม่รู้ว่าควรหาทางออกอย่างไร
- ภาวะมีบุตรยากสู่ความเครียดของคนเป็นแม่
ในซีซั่นที่ 3 ตอนที่ 5 การเข้าไปปรึกษาเรื่องการทำเด็กหลอดแก้วของครูใหญ่อย่างโฮป แฮดดอนช่วยให้คนดูเล็งเห็นถึงปัญหาของผู้หญิงที่มีสามารถมีลูกได้ โดยนอกจากจะเป็นความผิดหวังส่วนตัวแล้ว การไม่สามารถมีลูกได้ด้วยตัวเองอาจส่งผลโดยตรงต่อชีวิตคู่ หรือถ้าเป็นประเทศไทยอาจรวมถึงญาติของตนเองหรือฝั่งสามี ส่งให้ตอนนี้เป็นหนึ่งตอนที่ตีแผ่ได้เป็นอย่างดีถึงสภาวะกดดันของผู้ที่อยากเป็นแม่ แต่ไม่สามารถเป็นได้โดยธรรมชาติ
อ้างอิงจาก