ประชุมแต่ละที จดนู่นนี่มาเต็มหน้ากระดาษ แต่ไม่รู้เลยว่าหัวท้ายอยู่ตรงไหน ใจความสำคัญละลายไปเส้นบรรทัดหมดแล้ว มีความพยายามแต่ว่ายังอ่อนหัด จำไม่หมด จดมันทุกอย่างคงไม่ไหว แต่เพราะสิ่งที่จดมามันต้องเอาไปใช้จริง มาเรียนรู้การจดแบบเจ๋งๆ จดให้มีประสิทธิภาพ กลับมาอ่านอีกครั้งก็ยังรู้เรื่อง
ทุกวันนี้หากเราอยากถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นตัวอักษร แน่นอนว่าการพิมพ์ไวกว่าการเขียน เพราะเราเก็บเลเวลการพิมพ์จากการใช้คีย์บอร์ดกันมาตั้งแต่ยุคที่คอมพิวเตอร์แพร่หลายมากขึ้น จนมาถึงยุคที่เราใช้คีย์บอร์ดบนสมาร์ตโฟนคล่องพอๆ กัน แม้จะสะดวกกว่า แต่การจดด้วยคีย์บอร์ดอาจจะไม่ได้ดีกว่าอย่างที่คิด เพราะการจดอะไรด้วยมือของเราเอง มันค่อนข้างมีประสิทธิภาพมากกว่าการจดด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (เอาไว้เราจะมาบอกว่าทำไมถึงดีกว่า)
การจดด้วยมือ อย่างที่เรารู้ว่ามันช้ากว่า ทำให้เราไม่อาจเก็บข้อความทั้งหมดได้ เราจึงต้องเรียนรู้การจดโน้ตอย่างมีประสิทธิภาพ เอามาใช้งานได้จริง ไม่ใช่แค่ทิ้งรอยหมึกยึกยือเต็มหน้ากระดาษ เพราะความร้อนรน ว่าแล้ว ก็มาจดกันดีกว่าว่า คนเราจดไปทำไม จดแบบไหนถึงจะดี หรือจะจดในสถานการณ์ไหน ในห้องเรียน ห้องประชุม หรือจดไอเดียที่โผล่เข้ามาในหัว
จดไปทำไม พิมพ์ไปฟังไปไม่ได้หรอ? สมัยนี้มีทั้งแท็บเล็ต แล็ปท็อป หรือแม้แต่สมาร์ตโฟนที่ติดตัวเราตลอดเวลา จะจดเองให้มันยากไปทำไม นั่งฟังคนพูดไปแล้วก็พิมพ์ไปด้วย แค่นี้ก็ไม่ต้องจดเองให้เมื่อยแล้ว
ก็เพราะว่าการจดด้วยมือมันดีกว่าจริงๆ น่ะสิ
ผลการวิจัยจาก University of California บอกว่าแล็ปท็อปเป็นตัวช่วยการจดโน้ตที่แย่เอามากๆ เพราะมันมีสิ่งรบกวนเยอะเกินกว่าที่เราจะมีสมาธิกับการฟังได้ และการเขียนด้วยมือนั้น ช่วยให้เราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ฟังได้มากกว่า
ในการทดลอง ได้แบ่งนักเรียนออกเป็นสองกลุ่มเพื่อจดเลคเชอร์จากรายการ TEDx Talks และจะมีการทดสอบท้ายคาบ กลุ่มแรกได้แล็ปท็อป กลุ่มสองได้สมุดและปากกา ใช่แล้ว ทั้งสองกลุ่มมีวิธีการจดที่แตกต่างกันตามอุปกรณ์ที่ได้ไป ผลปรากฏว่า สำหรับคำถามที่มีคำตอบแน่นอนตายตัว ทั้งสองกลุ่ม ทำได้ดีเหมือนกัน แต่สำหรับคำถามในเชิงความเข้าใจ ความคิดเห็น (conceptual question) กลุ่มที่ใช้แล็ปท็อปตอบได้น้อยกว่าอีกกลุ่มอย่างชัดเจน
จริงๆ เรื่องนี้นึกตามได้ง่ายมากๆ ลองนึกถึงเวลาเราพิมพ์อะไรสักอย่าง มันไวกว่าการเขียนแน่นอนอยู่แล้ว ทีนี้ ยิ่งเป็นการพิมพ์ตามสิ่งที่เราฟังอยู่ ความสะดวกรวดเร็วและความชำนาญของนิ้วมือ ทำให้เราพิมพ์ตามผู้พูดได้อย่างคล่องปรื๋อ เราพิมพ์ตามทันเกือบทุกคำ ใจความไม่มีตกหล่น นั่นฟังดูดีใช่ไหม?
แต่มันทำให้เราเอาแต่พิมพ์ตามทุกอย่างที่ได้ยิน
จนลืม Critical Thinking ไปหรือเปล่า?
หากเราจดด้วยมือ แน่นอนว่ามันช้ากว่า ทำให้เราตกขบวนจนจดตามทุกคำไม่ได้ แต่นี่แหละ การที่เราจดตามทั้งหมดไม่ได้ มันทำให้เราประมวลผลว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ เมื่อเราส่งสัญญาณไปที่สมองด้วยการบอกกับตัวเองว่าสิ่งนี้สำคัญนะ สมองอันชาญฉลาดจะตัดเนื้อหาที่ไม่จำเป็นออกจากความทรงจำของเราไป ตามที่หนังสือ How We Learn: The Surprising Truth About When, Where, and Why It Happens บอกไว้นั่นเอง
จดให้ดี จดยังไง ให้จดได้ อย่างมีประสิทธิภาพ
หัวใจหลักของการจดโน้ต ที่เราควรเรียนรู้จากสิ่งที่เราบอกไป คือ ‘ไม่จำเป็นต้องจดตามทุกคำพูด’ เพราะนั่นทำให้ Critical Thinking ของเราหายไป ไม่ต่างอะไรกับการพิมพ์ เตรียมปากกาและสมุดของคุณไว้ให้ดี เรามีสองวิธีมาแนะนำ
จดแบบคีย์เวิร์ด
- เรากำลังพูดถึงอะไร จดหัวข้อใหญ่เอาไว้เลย อาจจะเป็นประโยคคำถาม เช่น จะเกิดอะไรขึ้นหาก ‘บรูซ เวย์น’ ไม่มีผู้ช่วยแสนดีอย่าง ‘อัลเฟร็ด’? หรือจดเป็นคีย์เวิร์ด เช่น พ่อบ้านที่กลายเป็นพี่เลี้ยงจำเป็นของบรูซ เวย์น
- จดใจความหลัก เรื่องนี้มันจะบอกอะไรเรา จะเล่าอะไรให้เราฟัง สั้นๆ เหมือนแคปชั่นบนโซเชียลมีเดีย สักหนึ่งถึงสองประโยค
- จดเนื้อหา แนะนำให้จดแบบย่อความ คือ การเอาเนื้อหามาเรียบเรียงใหม่ตามความเข้าใจ แต่คงใจความเดิมเอาไว้ พูดให้ง่ายกว่านั้นอีก ลองจดแบบสปอยล์หนัง อะไรสำคัญ เป็นจุดพลิกผัน เป็นเหตุเป็นผล เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่อง เก็บสิ่งสำคัญเอาไว้ การอุปมาอุปมัย ตัวเลขเชิงสถิติ การยกตัวอย่าง อาจจะต้องพักไว้ก่อน ไว้เป็นเรื่องของการค้นคว้าในตอนหลังก็ไม่สาย
- หัดใช้สัญลักษณ์และคำย่อ คงสะดวกมากขึ้นหากเราไม่ต้องเขียนทุกอย่างเป็นคำไปเสียหมด ลองหาสัญลักษณ์หรือคำย่อที่เราเข้าใจมาแทนคำที่สื่อสารแทนกันได้ อย่างเช่น ส่งผลให้ แทนด้วย → คือ หมายถึง เท่ากับ แทนด้วย = เป็นต้น
- คีย์เวิร์ดไว้ค้นหาต่อ แม้จะมั่นใจว่าจดสิ่งสำคัญมาครบทุกอย่าง เข้าใจเรื่องทั้งหมดแล้ว แต่อย่าลืมว่า เรากำลังเข้าใจภาพรวมของมัน แต่รายละเอียดเราละไว้ แต่ถ้าหากเราอยากมาเติมเต็มรายละเอียดของเรื่องนี้ การค้นคว้าของเราคงง่ายขึ้น ถ้าหากเรามีคำสำคัญสำหรับการค้นหารอเอาไว้แบบไม่ต้องเดาสุ่ม
จดใส่ตาราง
หากคุณไม่มั่นใจในลายมือของตัวเองสักเท่าไหร่ การจดแบบพารากราฟอาจทำให้สับสน ลองวิธีการจดแบบมีตารางดู รับรองเวิร์กไม่แพ้กัน โดยตารางนี้ไม่ตายตัวเลย พยายามจัดรูปแบบให้ง่ายต่อความเข้าใจ และเหมาะสมกับพื้นที่ที่เราจดด้วย โดยหลักๆ คือ ต้องมีช่องดังนี้ ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ ผลที่ตามมา และหมายเหตุ สำหรับการจดอะไรเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากช่องอื่นๆ โดยเราไม่จำเป็นต้องใส่ให้ครบทุกช่อง ใส่แค่ตามเนื้อหาที่เราคิดว่าจำเป็นก็เพียงพอแล้ว
ใคร | พ่อแม่ของ บรูซ เวย์น |
ทำอะไร | เสียชีวิต |
ที่ไหน | ตรอกข้างโรงหนัง |
อย่างไร | ถูกยิงจากเหตุการณ์โดนปล้น |
เมื่อไหร่ | – |
ผลที่ตามมา | บรูซเป็นเด็กกำพร้าและต้องการกำจัดความอยุติธรรมในก็อตแธมให้สิ้นซาก |
หมายเหตุ | – |
แม้เราจะเคลมว่าการจดด้วยมือดีกว่าการจดด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ถ้าหากไม่สะดวกที่จะพกสมุดไปไหนมาไหนด้วยตลอดเวลา ลองเอาเทคนิคนี้ไปประยุกต์ใช้บนแล็ปท็อป หรือสมาร์ตโฟน ที่สะดวกใช้ก็ยังได้ เพราะสุดท้ายแล้ว ใจความของการจดอย่างมีประสิทธิภาพ คือการจดแบบทำความเข้าใจในเนื้อหา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์หรอก
ว่าแต่ .. จดไว้หรือยังว่าต้องจดยังไง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart